ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 19)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึง บทที่สิบ อันเป็นบทที่ว่าด้วย “ยุคทมิฬ ศาลพิเศษ” หลักการสำคัญในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลพิเศษ พ.ศ. 2481 คือ ให้สิทธิรัฐบาลตั้งกรรมการศาล จ่าศาล และอัยการศาลได้ตามแต่รัฐบาลจะแต่งตั้งบุคคลใดก็ได้  ให้ทำหน้าที่ฟ้องร้อง พิจารณาคดี และพิพากษาตัดสิน คำตัดสินของศาลพิเศษให้ถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาหรือจำเลยจะจัดหาทนายช่วยแก้ต่างมิได้    การให้อำนาจศาลพิเศษอย่างมากมายล้นเหลือและเด็ดขาดเช่นนั้น ผู้รับมอบอำนาจคือ รัฐบาล กรรมการศาลจะกระทำการใดๆได้ทั้งสิ้น แม้ว่าจะผิดกระบวนความยุติธรรมของโลกนี้ เช่น จำเลยจะขอคัดสำนวนฟ้องเพื่อทราบความผิด จะได้คิดหาเหตุผลความจริง แถลงหักล้าง ก็กระทำมิได้ ถ้ากรรมการปฏิเสธ กรรมการจะไม่เชื่อฟังคำพยานจำเลย แม้ว่าจะมีเหตุผลหักล้าง พยานโจทก์แตกสิ้นเชิงก็ได้ ทั้ง ๆ ที่ธรรมดาสามัญชนเห็นว่า ปราศจากความจริง

สำรวจ กาญจนสิทธิ์ กล่าวว่า

“การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างปกปิดอำพรางประชาชนมิให้สนใจ เป็นเวลานานเดือนแล้วเดือนเล่า แต่ภายในคุก ผู้ต้องหาซึ่งกลายเป็นจำเลยได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสสากรรจ์         

ร้อยโทเจียม เอี่ยมคะนุช จำเลยคนหนึ่งป่วยเป็นวัณโรค คงจะได้รับเชื้อมาก่อนนานแล้ว เมื่อถูกคุมขังในบริเวณแคบ อบอ้าว ปราศจากอากาศดีหายใจถ่ายเท จึงมีอาการกำเริบและหนักขึ้นทุกระยะ ในวันไปศาลครั้งแรก ก็ฝืนใจโขยกเขยกไปขึ้นรถด้วยอาการอันแสนจะทรมาน ใบหน้าซูบซีดเพราะมิได้รับการรักษาพยาบาล  ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรม ในที่สุด ก็ถึงแก่กรรมไปด้วยความทรมาน หลังจากได้รับทราบความผิดตามข้อกล่าวหาในคดีเป็นเวลาไม่กี่วัน

พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีสมัยแรกประชาธิปไตย ป่วยเป็นโรคเหน็บชาขนาดหนัก เนื่องด้วยถูกกักขังในพื้นที่แคบๆ อากาศชื้น พื้นเย็น ไม่ได้รับการผ่อนผันออกกำลังเดิน ประกอบด้วยร่างกายบอบบางจึงได้รับความทรมานอย่างหนัก

พ.ต.ต. ขุนนามนฤนาท แม้จะมีร่างกายสมบูรณ์เพียงไร แต่เมื่อหมดเสรีภาพในอันจะรักษาสุขภาพให้ทรงอยู่ตามเดิมได้ ก็ล้มเจ็บในที่กักขังนับแต่สถานีตำรวจ ต้องนอนเปล อาการเพียบขณะที่โยกย้ายมาเรือนจำลหุโทษ

รายที่หนักที่สุด ถึงแก่ความตายเพราะไม่มีนายแพทย์รักษา คือ

ร.ท. บุญลือ โตกระแสร์ ได้ป่วยเป็นไข้นอนซมอยู่ในห้องปราศจากการดูแลของแพทย์พยาบาล แม้ผู้คุมซึ่งควบคุมใกล้ชิดพวกจำเลยด้วยกันทนไม่ไหว ได้ร่วมกันเขียนคำร้องขอให้รีบส่งแพทย์มาตรวจ ทางราชการได้รับคำร้องไปแล้ว แต่ไม่ปรากฏว่ามีแพทย์มาตรวจรักษา ปล่อยให้ ร.ท. บุญลือ นอนทุรนทุรายตามยถากรรมเหมือนสุนัขข้างถนน คุณละมัย แจ่มสมบูรณ์ จำเลยผู้มีเมตตาและเสียสละ ขออนุญาตผู้คุมย้ายตนเองเข้าไปนอนรักษาพยาบาลร่วมกับ ร.ท. บุญลือในห้องเดียวกันเพื่อดูอาการใกล้ชิด ก็ไม่ได้รับอนุญาต เป็นอันว่า ร.ท. บุญลือต้องถูกทอดทิ้งจากเจ้าหน้าที่เรือนจำและแพทย์โดยเด็ดขาด เหมือนจะแกล้งให้ตายไปเอง

จำเลยทั้งปวงมีความห่วงกังวล ร.ท. บุญลืออย่างยิ่ง ได้ช่วยกันเร่งรัดติดตามคำร้องที่เสนอไปแล้ว เพราะอาการ ร.ท. บุญลือ เพียบหนักขึ้นทุกชั่วโมง

สามวันล่วงไป นายแพทย์ประจำเรือนจำจึงได้มาตรวจอาการ สามวันที่ใช้เป็นเวลาตามหมอมารักษาพยาบาลเป็นเวลาที่ ร.ท. บุญลือต้องทรมานกับอาการโรคที่คุกคามกำเริบทุกระยะ เป็นเวลาเงินเวลาทองของเขา เพราะโรคไทฟอยด์และปอดบวมไม่รอเวลา ชักช้าไปเพียงชั่วโมงสองชั่วโมง ก็แก้ไขเยียวยาให้ฟื้นคืนมาได้ยาก ฉะนั้นเวลาสามวันที่ใช้ในการตามนายแพทย์จึงเป็นเวลาที่เขาเดินไปสู่ความตายคราวละนาที-ชั่วโมง-วัน รวมสามวัน ตายไปทีละน้อยๆ

นายแพทย์มาถึง อาการเข้าขั้นโคม่าเป็นตายเท่ากันเสียแล้ว แม้จะหามตัวไปแดนพยาบาล แต่จะมีประโยชน์อะไร เขาสิ้นใจเสียแล้วในบ่ายวันพบแพทย์นั่นเอง

สมใจนึกท่านผู้กุมอำนาจการเมืองแล้ว ที่ปรารถนาจะเห็นคนคนนี้สูญสิ้นไปจากโลก เขาตายแล้ว !

พวกที่กำลังต้องขัง รอการพิจารณาและพิพากษาตัดสินมีความรู้สึกอย่างไร โปรดฟังคุณพายัพ โรจนวิภาค บรรยายไว้ในหนังสือ ‘ยุคทมิฬ’ บางตอนดังนี้

การอยู่ในห้องขังตลอดวันตลอดคืน เป็นสิ่งที่เพราะความกลัดกลุ้ม บางครั้งความกลัดกลุ้มเบื่อหน่ายคืบไปสู่จุดระเบิดของมัน บุคคลที่อัดความกลัดกลุ้มของตนไว้ไม่อยู่ ก็ระบายออกด้วยวิธีตะโกนด่าเอะอะ แสดงความเคียดแค้นที่ชีวิตต้องประสบอุบัติการณ์อันไม่เคยนึกฝันมาก่อน บางคนเรียกผู้คุมเข้ามาหา พูดจาไถ่ถามแล้วด่าส่งไปกับผู้คุมนั้น จบคำด่าไปแล้วมิหนำ ยังแถมท้าเสียอีกด้วย ‘ไปบอกมันเถอะ บอกมันว่า คนอย่างอั๊วไม่มีอะไรจะต้องกลัวอีกแล้ว !  จะเอาอั๊วไปยิงเป้า ไปฆ่าแกงอะไร….เชิญทีเดียว ! ได้ทั้งนั้น !’

อารมณ์ร้ายเกิดขึ้นสุดขีด ปราศจากความเกรงกลัวอำนาจใดๆ ทั้งสิ้น

แม้แต่ความตาย เช่นนี้สติซึ่งปราศจากการควบคุมคงกระเจิดกระเจิง เพราะถูกกักขัง ถูกกดดัน ถูกข่มเหงทางจิตใจโดยภาวะรอบด้าน       

อีกตอนหนึ่ง คุณพายัพ โรจนวิภาต วาดภาพได้ว่า

….เมื่อเวลาล่วงไปเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน เป็นปี เรื่องที่จะพูดคุย ก็กลายเป็นเรื่องเก่า เล่าใหม่ และซ้ำซากไป ลงท้ายคู่สนทนาต่างนั่งนิ่งอยู่ในกรงห้องขังตรงกันข้าม----กรงใครกรงมัน และมองตากัน ขั้นต้น การมองตาอาจไม่มีความหมาย แต่ความเบื่อหน่ายกับความกลัดกลุ้มช่วยเพิ่มความหมายให้ คือเกิดสงสัยว่าทำไมเขาจึงมองเราบ่อยๆ มองด้วยประสงค์อะไร และเมื่อมองกันหนักๆเข้า คนหนึ่งตะโกนถามว่า ‘คุณมองผมทำไม ?’  อีกฝ่ายชักฉุนตอบว่า ‘ก็ไม่ให้ผมมองไปทางนั้น....จะให้ผมมองไปทางไหนล่ะ ?’   ต่อจากนี้ ข้อโต้เถียงก็บังเกิด..  

‘ที่มองถมเถไป ทำไมจะต้องจ้องเอาจ้องเอา ?’

…..ความกลัดกลุ้ม อึดอัด ทำให้มนุษย์หัวอกเดียวกันต้องทะเลาะเบาะแว้งกันดุจศัตรูไปได้ชั่วขณะ การถูกกักกันไว้ภายในบริเวณที่จำกัดเป็นเวลานานๆ  เป็นการทำลายประสาทมนุษย์ให้เสื่อมลง  ปราศจากสติควบคุม มีอภินิหารเปลี่ยนแปลงความรู้สึกนึกคิดไปสู่ทางต่ำได้แน่นอน

ยิ่งกว่านั้น มันทำให้สติมนุษย์วิปลาสไปได้อย่างง่ายดาย เช่นในรายหม่อมเจ้าวงศ์นิรชร  เนื่องจากถูกกักขังสิ้นอิสรภาพ ทรงกลัดกลุ้มอย่างยิ่ง พระองค์ได้ยื่นคำร้องต่อผู้บัญชาการเรือนจำ ขอให้ลงโทษ ร.ต.อ. น้อม เทวคุปต์ในฐานะที่ร่วมคบคิดกันปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าสู่วรกายของพระองค์

พระอาการกิริยาของท่านวงศ์นิรชร บางคราประทับพระสติลอยอยู่องค์เดียว ไม่คบหาพูดจากับใคร แต่บางคราวจะทรงพระสรวลขึ้นโดยไม่มีเหตุผล หนักขึ้นไปอีก ถึงขนาดตีหัว ร.ต.อ. น้อม เทวคุปต์แตก ทรงกล่าวหา ร.ต.อ. น้อมในข้อเดิม ‘ปล่อยกระแสไฟฟ้า’ เข้าวรกายพระองค์

คุณพายัพ โรจนวิภาต กล่าวว่า ‘คุกทำให้หม่อมเจ้าวงศ์นิรชรทรงสูญเสียสัมปชัญญะนับแต่นั้น’

----------------

หม่อมเจ้านิรชร เทวกุล เป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมกรมตำรวจภูบาลหรือ ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ในปัจจุบันพระองค์แรก

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ