ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี
“5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม
…..รายงานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ก็กล่าวถึงบรรยาการศแห่งการประนีประนอมภายหลังการยึดอำนาจไว้เช่นกัน โดยเฉพาะที่เป็นความเข้าใจที่ว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับการเปลี่ยนแปลงการปกครองในครั้งนี้ เพราะทรงมีพระราชดำริในเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้ว
ผู้แทนของคณะกรรมการราษฎรได้ไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และหลังจากนั้น มีการออกแถลงการณ์ระบุว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงให้การสนับสนุนการกระทำของคณะราษฎร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ไม่ทรงสามารถ
ดำเนินการได้ทันท่วงที คณะราษฎรตระหนักว่า พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์
ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ยิ่งใหญ่ และจะทรงช่วยเหลือราษฎรชาวสยาม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับสถานการณ์ใหม่ ประชาชนทั่วไปอยู่ในความสงบและระบบราชการโดยทั่วไปให้การยอมรับรัฐบาลใหม่ การควบคุมตรวจสอบหนังสือพิมพ์ได้ถูกยกเลิก...
รายงานอัครราชทูตอังกฤษกล่าวถึงกลุ่มอำนาจใหม่ว่าประกอบด้วยทั้งกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มที่หัวไม่รุนแรง เป็นที่เข้าใจกันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกลุ่มหัวไม่รุนแรงซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของคณะกรรมการราษฎรและสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งประชากรส่วนใหญ่ที่รวมไปถึงชุมชนพ่อค้าชาวจีนในสยาม มีความปรารถนาที่จะให้มีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เหมาะสม นั่นคือ ตามแบบอย่างหรือใกล้เคียงกับแนวทางของอังกฤษ
ส่วนกลุ่มหัวรุนแรงนั้นเชื่อกันว่า ต้องการจัดตั้งสาธารณรัฐ ระบบโซเวียต หรือระบบที่ใกล้เคียงอย่างใดอย่างหนึ่งที่จะเป็นไปได้ คนเหล่านี้เป็นคนกลุ่มน้อย และแม้บางคนจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้มีความสามารถมากกว่าคนทั้งปวง แต่อังกฤษก็มองว่ามีลักษณะ “ดิบ” (raw) และขาดประสบการณ์
เรื่องสำคัญที่เชื่อกันว่าจะเป็นสิ่งที่ชี้อนาคตของสยามภายใต้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือ รัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการร่างอยู่ขณะนั้น
อัครราชทูตอังกฤษได้รับทราบจากนายโมกราส์ อัครราชทูตฝรั่งเศส ซึ่งได้พบกับพระยาศรีวิศารวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ว่าการดำเนินการเรื่องนี้ในชั้นแรกมีการพิจารณาถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน แต่ในที่สุด ความเห็นของฝ่ายหัวไม่รุนแรงก็ได้รับการยอมรับ นายโมกราส์ย้ำว่า สิ่งสำคัญคือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงเห็นชอบด้วย อัครราชทูตอังกฤษเองได้พบกับพระยาศรีวิศารวาจาในเวลาต่อมา และได้รับการยืนยันว่า การร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จปลายเดือนพฤศจิกายน 1932 ที่สำคัญคือ ได้มีการตกลงยอมรับกันในหลักการสำคัญแล้วอย่างน่าพอใจยิ่ง โดยเฉพาะในแง่ที่ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและผู้ที่มีความคิดสุดขั้วจะให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่วมกันได้ พระยาศรีวิศารวาจากล่าวด้วยว่า คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญถวายรายงานการดำเนินการแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นระยะๆ เมื่อได้เข้าเฝ้าหลังจากที่ได้จัดทำร่างแรกเสร็จสิ้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็มีพระราชปรารภเกี่ยวกับพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ โดยทรงเห็นว่า ควรจะจัดขึ้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคมอย่างยิ่งใหญ่ และให้เชิญคณะทูตมาร่วมในพระราชพิธีด้วย อัครราชทูตอังกฤษมีข้อสังเกตเกี่ยวกับพัฒนาการที่เกิดขึ้น ซึ่งแสดงถึงบรรยากาศทางการเมืองขณะนั้น
นี่ดูเหมือน.....จะบ่งบอกถึงบรรยากาศแห่งความสมานฉันท์และลงรอยกัน (harmony)
และสถานการณ์ทางการเมืองที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวคงจะไม่ทรงมีพระราชดำริที่จะให้มีการจัดพระราชพิธียิ่งใหญ่ หากบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญไม่ต้องพระราชหฤทัย ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงคิดว่า ยกเว้นจะเกิดเหตุเสื่อมถอยอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้นมาแล้ว อันตรายจากการเกิดวิกฤตการณ์เกี่ยวกับการสละราชสมบัติและการที่จะเสด็จพระราชดำเนินออกนอกประเทศ ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ก่อนหน้านั้น ได้ผ่านพ้นไปแล้ว นั่นแสดงว่า [สยาม] จะก้าวพ้นไปอีกช่วงหนึ่ง
ในการรับรู้และความเข้าใจของชาติตะวันตกนั้น เมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายเมื่อถึงเดือนตุลาคม 1932 ความมั่นใจก็เริ่มจะกลับคืนมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชพิธีวันปิยมหาราชเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม โดยที่ในวันนั้น มิได้เกิดเหตุวุ่นวายหรือเสียเลือดเนื้ออย่างใดขึ้นอย่างที่คาดคะเนกันตามข่าวลือต่างๆ ที่มักจะมีอยู่เป็นประจำ และเพื่อที่จะส่งเสริมให้เกิดบรรยากาศที่ดีขึ้นนี้ต่อไปอีก รัฐบาลก็ประกาศว่า ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา คือ วันที่ 8 พฤศจิกายน จะมีการประดับไฟตามอาคารที่ทำการต่างๆ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเพียง 1 สัปดาห์ รัฐบาลได้ประกาศว่า จะไม่จัดงานเฉลิมพระชนมพรรษา รวมทั้งจะไม่มีการประดับไฟ เพราะต้องการประหยัดตามสภาพเศรษฐกิจขณะนั้น และให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ อัครราชทูตอังกฤษกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ดังนี้
ทั้งหมดนี้อาจเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็เป็นเรื่องแน่ชัดว่า แสดงถึงการคลี่คลายของสถานการณ์ การฟื้นฟูสัมพันธภาพสมานฉันท์ระหว่างพระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว และคณะราษฎร ข้าพเจ้าไม่มีอะไร จะกล่าวเป็นการเฉพาะในเรื่องนี้ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้เป็นเพียงผลจากความตกลงยอมรับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก่อให้เกิดความปรารถนาที่จะฟื้นฟูสถานะของพระมหากษัตริย์ให้กลับคืนมาในแง่ของความเคารพรักของประชาชนที่มีต่อพระองค์ เมื่อวันก่อนนี้ มีการประกาศว่า
หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระองค์ ได้มีพระราชปฏิสันถานด้วยเป็นเวลาถึง 1 ชั่วโมง เป็นไปได้ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะกลับจากการเข้าเฝ้าด้วยความคิดที่เปลี่ยนไป แต่ไม่ว่าอย่างไรข้าพเจ้าไม่สงสัยเลยว่า การกลับมาแสดงความเคารพต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในครั้งนี้ เป็นผลจากดำริของกลุ่มความคิดสุดขั้วมากกว่าจะเป็นดำริของกลุ่มหัวไม่รุนแรง พวกหลังนี้เขลาหรือเขิน (timid) เกินกว่าจะกล้าเสนออะไรแบบนั้น แต่ก็น่าเสียดายที่การยกย่องเชิดชูพระมหากษัตริย์ที่แสดงอยู่ขณะนี้ มิได้เป็นจริงเท่าใดนัก หากแต่ดูแทบจะเป็นการประจบประแจงสอพลอ (unctuous) เกินไปมากกว่า
รายงานอุปทูตสหรัฐ คือ นายพอตเตอร์ (Kennot F. Potter) ในช่วงเดียวกันนี้ยืนยันบรรยากาศแห่งการประนีประนอมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงได้รับการถวายรายงานเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญโดยตลอด และได้ทรงให้ความเห็นชอบแล้วอย่างไม่เป็นทางการเมื่อการดำเนินงานเรื่องนี้เสร็จสิ้นในเดือนพฤศจิกายน 1932 ตามที่ได้คาดหมายไว้
เมื่อถึงช่วงนั้นคณะผู้แทนชาติตะวันตกต่างๆ ก็ได้รับคำแปลร่างรัฐธรรมนูญ และสาระสำคัญของร่างก็ปรากฏในรายงานของคณะทูตด้วย”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร