ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 25: การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

 

ผู้เขียนขอหยิบยกรายงานจากสถานทูตอื่นๆที่มีต่อเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อจากตอนที่แล้ว โดยผู้เขียนได้คัดลอกมาจากหนังสือ ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ของ ธีระ นุชเปี่ยม จัดทำโดยมูลนิธิประชาธิปก-รำไพพรรณี

“ประเด็นสุดท้ายที่จะพิจารณาในส่วนนี้ คือ ประเด็นเกี่ยวกับสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบปกครองใหม่ แม้ว่ารายงานสถานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์จะระบุว่า สถานะของพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่เช่นเดิม รายงานสถานอัครราชทูตอังกฤษกลับเห็นว่า ‘แม้พระมหากษัตริย์จะยังทรงมีฐานะเป็นประมุขแห่งรัฐ (head of state) แต่ในทางปฏิบัติ อำนาจอยู่ในองค์กรที่ได้กล่าวไปข้างต้น [สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎร]  ดังนั้น  ในรายงานสรุปสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญชั่วคราว อุปทูตอังกฤษจึงย้ำว่า แม้ว่าพระมหากษัตริย์จะยังทรงมีสถานะเช่นนั้น แต่ ‘อำนาจที่แท้จริง’ (real power) ได้ถูกริดรอนไปจากพระองค์แล้ว  อย่างไรก็ดี อัครราชทูตอังกฤษได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นเรื่องนี้

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นเสมือนนักโทษ แต่เท่าที่เราสามารถจะกล่าวได้นั้นก็ต้องบอกว่า ประชาชนโดยทั่วไปยังจงรักภักดีต่อพระองค์  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นทรัพย์สินที่ทรงอำนาจ (powerful asset) เกินกว่าที่พวกเขา [คณะราษฎร] จะยอมเสี่ยงที่จะให้พระองค์ถูกดึงไปเป็นผู้นำของกลุ่มตรงข้าม ข้าพเจ้า [นายดอร์เมอร์] ได้รับการบอกกล่าวมาว่าสำหรับประชาชนในจังหวัดต่างๆ นั้น การได้ตระหนักว่า ‘พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงดำรงอยู่’ (the King is still there) ก็เป็นการเพียงพอแล้ว และคนเหล่านี้ก็จะไม่สนใจว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอื่นใดอีกหรือไม่

------------

5.2 ตะวันตกมองการเริ่มต้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในสยาม                  

การที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวตัดสินพระทัยไม่ต่อต้านการรัฐประหารและทรงยอมรับระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (แม้จะทรงไม่เห็นด้วยกับคณะราษฎรในประเด็นที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยภายใต้ระบอบนี้อยู่หลายเรื่อง ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาขัดแย้งในเวลาต่อมา)  ประกอบกับการผ่อนคลายท่าทีลงของคณะราษฎร  ถือได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการประนีประนอม ซึ่งทำให้การเริ่มต้นการปกครองระบอบนี้ดูจะดำเนินไปไปได้ด้วยดี  ในตอนนี้ เราจะพิจารณาการรับรู้และความเข้าใจของตะวันตกเกี่ยวกับเหตุการณ์ สถานการณ์ และบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างๆ ในช่วงนี้ในแนวทางเดียวกับตอนที่ 5.1           

ในการรับรู้และความเข้าใขของอังกฤษ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติภายหลังการยึดอำนาจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 1932  อัครราชทูตอังกฤษยืนยันว่า ได้รับทราบว่า เมื่อมีแถลงการณ์โจมตีราชวงศ์ทางวิทยุกระจายเสียงหลังการรัฐประหาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ใน-ขณะนั้นยังประทับอยู่ที่หัวหิน ได้แสดงพระราชประสงค์ที่จะเสด็จออกจากสยามในทันที  อัครราชทูตยังระบุว่า ได้รับทราบด้วยว่ามีการเตรียมการที่จะให้พระโอรสของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ซึ่งในขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง 8 พรรษา ขึ้นเป็นองค์รัชทายาท (Heir Apparent) เพียงแต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้ทรงทักท้วงเรื่องการสละราชสมบัติไว้ จึงทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเปลี่ยนกลับมาที่พระราชประสงค์เดิมที่จะเสด็จกลับพระนคร

แม้ว่าเราจะได้เห็นต่อไปว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงละทิ้งพระราชดำริที่จะสละราชสมบัติไปโดยสิ้นเชิง  แต่ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว และมีการจัดตั้งคณะผู้ปกครองบริหารประเทศแล้ว สถานการณ์ทั่วไปก็เริ่มดีขึ้น รัฐบาลใหม่ (สภาผู้แทนราษฎรและคณะกรรมการราษฎร)  ซึ่งแต่งตั้งโดยคณะราษฎร เริ่มงานอย่างจริงจังในเดือนกรกฎาคม 1932  เมื่อถึงช่วงนี้ ก็กล่าวได้ว่า สถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติ รายงานของสถานอัครราชทูตเนเธอร์แลนด์ระบุว่า

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยอมรับสถานการณ์ใหม่ ประชาชนอยู่ในความสงบ 

และส่วนราชการต่างๆ โดยทั่วไปก็เห็นชอบกับรัฐบาลใหม่ มีการยกเลิกการควบคุมตรวจสอบหนังสือพิมพ์...มีการแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ...[และ] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ให้การต้อนรับผู้แทนการทูตต่างๆ และกล่าวว่าปัญหาความยากลำบากที่ใหญ่ที่สุดได้ผ่านไปแล้วและทุกอย่างจะพัฒนาไปอย่างมั่นคง

อัครราชทูตอังกฤษยืนยันในเรื่องนี้โดยกล่าวว่า แม้จะเคยรายงานว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในสถานะที่เปรียบเสมือนนักโทษ (virtual prisoner) แต่เมื่อถึงขณะนี้ ‘….พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอยู่ในสถานะที่ผ่อนคลายมากขึ้น (easier)’  อัครราชทูตอังกฤษอ้างบุคคลระดับสูงในราชสำนัก ซึ่งเป็นผู้ที่ให้ข้อมูลแก่เขาว่า ‘….สมาชิกระดับนำของคณะกรรมการราษฎรเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ พระตำหนัก [ที่หัวหิน] 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์เพื่อกราบบังคมทูลหารือ...ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่ายเป็นไปด้วยดีอย่างที่สุด’  นอกจากนั้น ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งรวมทั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัตนวิศิษฏ์ และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้เข้าเฝ้ากราบบังคมทูลทุกวันโดยเสรี (แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเองจะเสด็จพระราชดำเนินออกนอกพระราชฐานน้อยมาก และยังไม่ทรงปรารถนาที่จะพบกับชาวต่างชาติก็ตาม)   รายงานของผู้ช่วยทูตพาณิชย์ (commercial attache) ประจำสถานอัครราชทูตสหรัฐ คือ นายบรูกฮาร์ต (Charles R. Brookhart)  ได้ช่วยย้ำการรับรู้และความเข้าใจของตะวันตกเกี่ยวกับสถานการณ์ในสยามขณะนั้น ดังนี้

...อาจกล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงยอมรับสถานการณ์ทั้งหมดแล้วอย่างเห็นได้ชัด และเต็มพระทัยอย่างยิ่งที่จะทรงอยู่ในราชสมบัติต่อไปบนพื้นฐานใหม่ของรัฐบาลโดยรัฐธรรมนูญ  ตามที่ได้กำหนดเค้าโครงไว้โดยผู้ที่เข้ามามีอำนาจควบคุมอยู่ในขณะนี้ จริงๆ แล้ว เป็นที่เชื่อกันโดยทั่วไปในหลายวงการในกรุงเทพฯ ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพอพระราชหฤทัยอย่างยิ่งเกี่ยวกับแนวทางที่กำหนดขึ้นนี้ และพัฒนาการเท่าที่ผ่านมาก็สอดคล้องอย่างชัดเจนกับพระราชดำริในเรื่องแนวทางในอนาคตที่ดีที่สุดสำหรับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักร วิธีการจริงๆ ซึ่งทำให้ทั้งหมดนี้เป็นความสำเร็จขึ้นมาได้อาจจะไม่เป็นที่สบพระทัยเท่าใดนัก แต่โดยรวมแล้ว เราก็มีแนวโน้มจะเชื่อว่า พระองค์เต็มพระทัยที่จะดำเนินไปบนพื้นฐานของปัจจุบันโดยไม่ทรงต่อต้านขัดขวาง และจะไม่ทรงเห็นด้วยกับขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้านเพื่อประโยชน์ของราชวงศ์

ไม่ว่าพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงยอมรับและพอพระราชหฤทัย ‘อย่างยิ่ง’ ตามที่นายบรูกฮาร์ต ระบุ (บันทึกของเขาใช้คำว่า ‘entirely happy’)  หรือไม่ก็ตาม  แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ช่วยทูตพาณิชย์สหรัฐได้กล่าวไว้ ที่เราจะเห็นต่อไป คือ พระองค์มิได้ทรงเห็นด้วยที่จะให้มี ‘ขบวนการเคลื่อนไหวต่อต้าน’ เพื่อพระองค์หรือราชวงศ์อย่างแน่นอน อีกสิ่งหนึ่งที่รายงานฉบับนี้ระบุไว้ว่า จะต้องรอดูต่อไปคือ การปฏิบัติต่อพระบรมวงศานุวงศ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการยึดทรัพย์และการควบคุมจำกัดความเคลื่อนไหวของเจ้านายต่างๆ”

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร