รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ
หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์
สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก
สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา
สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร
หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
นิคม จารุมณี ผู้ศึกษาเรื่องกบฏบวรเดช ได้ให้ความเห็นสรุปไว้ว่า “..ความพยายามของพวกกบฏที่จะผลักดันให้ผู้ก่อการทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์บางอย่างในขณะนั้น อาจถือได้ว่า เป็นความพยายามที่จะต่อรองและช่วงชิงอำนาจขั้นสุดท้ายจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกษัตริย์นิยม …ความขัดแย้งทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่าง พ.ศ. 2475-2477 นั้น แท้จริงแล้วเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ หาใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใดแล้วสิ้นสุดลงดังที่นักวิชาการอื่นๆได้ให้ความเห็นไว้”
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478 โดยมี สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้าฃ
ความเป็นมาเป็นไปของกบฏนายสิบนี้ ผู้เขียนจะอาศัยงานที่ชื่อว่า ความเป็นมาแห่งระบอบประชาธิปไตยของไทย ของผู้เขียนที่ใช้นามปากกาว่า “วิเทศกรณีย์ (สมบูรณ์ คนฉลาด)”
วิเทศกรณีย์ได้เล่าเหตุการณ์กบฏนายสิบไว้ในบทที่ 41 อันเป็นบทที่เขาตั้งชื่อตรงๆเลยว่า “กบฏนายสิบ” และในตอนต้นของบทที่ 41 เขาได้กล่าวถึงกรณีกบฏบวรเดชไว้ด้วยดังนี้
“แม้ว่ากบฏพระองค์เจ้าบวรเดช จะได้ถูกฝ่ายรัฐบาลทหารปราบปรามอย่างย่อยยับอับปาง จนถึงกับหัวหน้ากบฏต้องหลบหนีออกนอกประเทศ และที่สุด พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถึงกับถูกยิงตายอย่างทารุณ แต่กระนั้นก็ยังมีผู้คบคิดที่จะทำการปฏิวัติอยู่เสมอ โดยวัตถุประสงค์และความมุ่งหมายที่จะสถาปนาระบบ ‘รอยัลลิสม์’ ขึ้นมาอีก ทั้งๆที่การปกครองระบบนี้เป็นระบบการปกครองที่ล้าสมัย และทั้งในยุโรปและเอเซีย ก็เกือบจะไม่มีประเทศใดอยู่แล้วที่ใช้ระบบการปกครองระบบนี้….”
ดูเผินๆ ความเห็นของวิเทศกรณีย์ต่อสาเหตุของการเกิดกบฏบวรเดชดูจะไม่ต่างจากที่นิคม จารุมณีได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า กบฏบวรเดช เป็น “ความพยายามที่จะต่อรองและช่วงชิงอำนาจขั้นสุดท้ายจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกษัตริย์นิยม” เพราะคำว่า ‘รอยัลลิสม์’ แปลว่า “กษัตริย์นิยม” ได้ แต่นิคมไม่ได้กล่าวว่า กลุ่มกบฏบวรเดชต้องการเปลี่ยนแปลงกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่กษัตริย์นิยมในความเข้าใจของนิคมน่าจะหมายถึงการให้ความสำคัญกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในระดับที่มากกว่าที่รัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลหยุหเสนาให้ความสำคัญ
ขณะเดียวกัน ในการอธิบายกบฏบวรเดชของวิเทศกรณีย์ ที่เขาได้เขียนไว้ในบทที่ 21 ซึ่งเขาก็ตั้งชื่อตรงๆว่า “กบฏบวรเดช” ในการอธิบายสาเหตุของการก่อกบฏของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช วิเทศกรณีย์กลับมิได้กล่าวถึงความต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์แต่อย่างใด แต่อธิบายด้วยเหตุผลที่ไม่ต่างจากที่นิคมได้กล่าวไว้
วิเทศกรณีย์ได้กล่าวถึงสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่อไปว่า “ถึงแม้ว่าการปกครองระบบนี้ จะเป็นการปกครองที่ไร้เสียจากเสรีภาพ, เสมอภาค, ภราดรภาพ แต่ถึงเช่นนั้นก็ดี ยังมีบุคคลสนใจใฝ่ฝันอยู่เสมอที่คิดจะสถปานาลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราช”
กระนั้น เขาก็มิได้เห็นว่า หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประเทศจะปกครองในระบบประชาธิปไตย แต่กลับเป็นคณาธิปไตย เพราะเขาเห็นว่า “..ตลอดเวลา 6-7 ปีของระบบประชาธิปไตยชนิดหัวสวมมงกุฎ ท้ายสวมหัวมังกร นับตั้งแต่วันปฏิวัติ คือตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา การรณรงค์ต่อสู้ระหว่างลัทธิสมบูรณาญาสิทธิราชกับลัทธิคณาธิปไตย ได้เป็นไปอย่างฉกาจฉกรรจ์รุนแรงยิ่ง และมีการนองเลือดขึ้นเป็นครั้งแรก นับว่าเป็นโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าสลดใจเป็นที่สุด ที่ชนชาวไทยได้รับมาจากวันปฏิวัติ”
วิเทศกรณีย์เห็นว่า ความผิดพลาดนี้เกิดจาก “พวกคณะราษฎร์นั่นเอง เพราะว่าการปฏิวัติครั้งแรกนั้น เป็นการปฏิวัติที่ไม่สมบูรณ์ คณะปฏิวัติไม่ยอมให้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงแก่ปวงชน แต่ให้ประชาธิปไตยอย่างจอมปลอม และก็เนื่องจากประชาธิปไตยอันจอมปลอมนี้แหละ จึงเป็นมูลเหตุให้เกิดการปฏิวัติกันเรื่อยๆมา และเมื่อมีการปฏิวัติกันเรื่อยๆมา ความเป็นประชาธิปไตยโดยนิตินัยและพฤตินัย ก็มืดมนเข้าทุกทีจนไม่มีทั้งประชาธิปไตยโดยนิตินัยและพฤตินัยอะไรเลย ข้าพเจ้ามีความเห็นในทรรศนะของข้าพเจ้าว่า ถ้าคณะราษฎร์ได้ให้ประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเสียแต่ในชั้นแรกแล้ว การปฏิวัติ รัฐประหาร กบฏ จลาจล จะเกิดขึ้นอย่างฟุ่มเฟือยมิได้เลย ‘การปฏิวัติที่ไม่สมบูรณ์ ก็เท่ากับขุดหลุมฝังศพตัวเองนั่นเอง’ ดังที่นักปราชญ์ชาโตบริยังด์ กล่าวไว้”
และวิเทศกรณีย์ได้กล่าวถึงกบฏนายสิบไว้ว่า
“กลิ่นไอของกบฏบวรเดชยังมิทันที่จะจางไป การสละราชสมบัติของพระปกเกล้าฯ ก็ยังวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ ทั้งในด้านหนังสือพิมพ์และประชาชน ยังมิทันที่มันจะสิ้นสุดยุติลงไป ก็กลับปรากฏว่า บรรดาหนังสือพิมพ์ได้เสนอข่าวเกรียวกราวเอิกเกริกไปในทำนองว่า รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้เข้าทำการจับกุมบรรดานายทหารชั้นประทวนจากกรมกองทหารต่างๆในพระมหานคร โดยข้อกล่าวหาของทางราชการตำรวจในบัดนั้นว่า มีแผนการสังหารโหดบุคคลสำคัญๆของรัฐบาล
บุคคลสำคัญๆในวงการรัฐบาลตามแผนการสังหารโหดของนายทหารชั้นประทวนกลุ่มนี้นั้นคือ บุคคลแรกคือ พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม หลวงอดุลย์เดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาทิตย์ ทิพอาภา ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากรวรวรรณ ที่ปรึกษาสำนักนายกรัฐมนตรี
สำหรับเจ้าคุณพหลฯ นายกรัฐมนตรีนั้น คณะปฏิวัติสังหารโหดมีแผนแต่เพียงว่า จะจับกุมเอาตัวไว้เป็นประกัน ไม่ปรารถนาจะคิดสังหารโหดแก่พระยาพหลฯ เพราะถือว่าเป็นบุคคลผู้ที่ใม่มีความสำคัญมากมายนักในกลุ่มพวกคณะราษฎร์ การปฏิวัติครั้งนี้ นายทหารชั้นประทวนลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า หากมีผู้ใดขัดขวาง หรือแสดงตัวเป็นอุปสรรคในการปฏิวัติครั้งนี้ ก็ให้จัดการกับบุคคลนั้นอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะรุนแรงได้”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร