รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้า
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ
หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์
สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก
สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา
สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร
หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
เราจะมาดูว่า มูลเหตุทั้งหกนี้มีรายละเอียดอย่างไร และเป็นจริงมากน้อยเพียงไร ผู้เขียนได้กล่าวถึง มูลเหตุที่หนึ่งถึงมูลเหตุที่หก โดยมูลเหตุที่หก คือ การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร และพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร ซึ่งได้กลาวไปบ้างแล้ว ในตอนนี้จะขอกล่าวต่อไป
จากวิทยานิพนธ์เรื่อง “กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476” ของนิคม จารุมณี (วิทยานิพนธ์ปริญญาโท อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2519) กล่าวว่า
“….เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้พันเอก พระยาศรีสิทธิสงครามโกรธแค้นพันโทหลวงพิบูลฯมาก ดังที่พลโทประยูร ภมรมนตรีเล่าไว้ว่า
‘….ต่อมาอีก 2-3 วัน ท่านเจ้าคุณศรีสิทธิสงครามมาหาข้าพเจ้าที่บ้านบางซื่อ หน้าเหี้ยมเกรียม ตาแดงก่ำเป็นสายเลือด นั่งกัดกรามพูดว่า หลวงพิบูลสงครามเล่นสกปรก หลอกเอาท่านมาทำลายป่นปี้เพื่อสร้างตนเอง ท่านจะต้องจำกัด จะต้องฆ่าหลวงพิบูลสงคราม แต่จะต้องดูเหตุการณ์ไปก่อน ถ้าหลวงพิบูลล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินเมื่อใด ท่านเป็นลงมือเด็ดขาด...’
อาจสรุปได้ว่า ความขัดแย้งและการกระทบกระทั่งด้วยมูลเหตุส่วนตัวของพลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชและพระยาศรีสิทธิสงคราม อันมีต่อคณะราษฎรนั้น ได้เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่นำไปสู่การเกิดกบฎในวันที่ 11 ตุลาคม 2476 ในที่สุด”
นิคม จารุมณีได้กล่าวถึงเหตุการณ์กบฏบวรเดชไว้ว่า “เหตุการณ์ในเดือนมิถุนายน 2475 (การยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน 2475/ผู้เขียน) มิได้เป็นจุดสิ้นสุดแห่งความขัดแย้งทางการเมือง แต่เป็นเพียงการเริ่มต้นของการต่อสู้ขัดแย้งอันยืดเยื้อระหว่างองค์พระมหากษัตริย์และผู้ที่จงรักภักดีต่อพระองค์ฝ่ายหนึ่ง กับกลุ่มผู้ก่อการ (คณะราษฎร) อีกฝ่ายหนึ่ง...ทั้งๆที่กบฎบวรเดชสิ้นสุดลงในเวลาอันสั้น แต่ก็มีผลที่ตามมาอีกมากมายหลายอย่าง กบฎบวรเดชไม่เพียงแต่สะท้อนถึงความรู้สึกเป็นปฏิปักษ์ที่ซ่อนเร้นอยู่ ระหว่างกลุ่มต่างๆในขณะนั้น แต่ได้มีผลสำคัญที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอื่นๆอีกหลายอย่างด้วยกัน กบฏบวรเดชมีส่วนที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 และมีผลทำให้อำนาจของผู้ก่อการมั่นคงแข็งแรงยิ่งขึ้น โดยได้ทำลายกลุ่มผู้ต่อต้านไม่เห็นด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็เป็นผู้ซึ่งมิได้เกี่ยวข้องกับพวกกบฏโดยตรง
กบฏบวรเดชซึ่งแม้ว่าจะเกิดขึ้นอยู่ได้เพียง 14 วันเท่านั้น แต่ก็จะต้องถือว่าเป็นสงครามกลางเมืองที่ขยายขอบเขตกว้างขวางเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย (และยังถือว่าเป็นครั้งเดียวจนถึงปัจจุบัน/ผู้เขียน) ชีวิตนับร้อยๆชีวิตต้องสูญเสียไปในสมรภูมิ บุคคลประมาณ 50 คนถูกตัดสินพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต 44 คนถูกปล่อยเกาะในฐานะที่เป็นนักโทษการเมือง ในขณะที่คนอื่นๆอีกประมาณ 100 คนถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิด และสูญเสียสิทธิอื่นๆซึ่งพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยพึงมีไป เพราะเหตุการณ์ครั้งนั้น
เมื่อพิจารณากบฎบวรเดชจากทัศนะดังกล่าวนี้ ความพยายามของพวกกบฏที่จะผลักดันให้ผู้ก่อการทำการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์บางอย่างในขณะนั้น อาจถือได้ว่า เป็นความพยายามที่จะต่อรองและช่วงชิงอำนาจขั้นสุดท้ายจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกษัตริย์นิยม นอกจากนี้ กบฎบวรเดชยังชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งควรจะมีการต่อสู้และความรุนแรงเมื่อเดือนมิถุนายน 2475 แต่มิได้เป็นไปเช่นนั้น กลับคลี่คลายขยายตัวมาเป็นความขัดแย้งรุนแรงถึงจุดสุดยอดเมื่อเดือนตุลาคม 2476
……..ความขัดแย้งทางการเมืองในประวัติศาสตร์ไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่าง พ.ศ. 2475-2477 นั้น แท้จริงแล้วเป็นเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงต่อกันเป็นลูกโซ่ หาใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทันทีทันใดแล้วสิ้นสุดลงดังที่นักวิชาการอื่นๆได้ให้ความเห็นไว้”
------------
จากข้อความของนิคม จารุมณีที่ว่า กบฏบวรเดช “อาจถือได้ว่า เป็นความพยายามที่จะต่อรองและช่วงชิงอำนาจขั้นสุดท้ายจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกษัตริย์นิยม” ผู้เขียนเชื่อว่า น่าจะมีนักวิชาการและผู้อ่านจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่า จริงหรือที่กบฎบวรเดช
เป็นความพยายามที่จะต่อรองและช่วงชิงอำนาจขั้นสุดท้ายจากกลุ่มอนุรักษ์นิยม และกษัตริย์นิยม ?
ผู้เขียนเห็นว่า เราต้องไม่ลืมว่า เป้าหมายของกบฏบวรเดชที่แสดงออกผ่านเอกสารข้อเรียกร้องที่เป็นทางการ (ดู กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ 39/163, เรื่องคำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฎ) ได้แก่ “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปาวสาน” และ “การเลือกตั้งผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ต้องถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือก”
ตีความได้ว่า ในทัศนะของกลุ่มกบฏบวรเดช การเมืองขณะนั้นยังมิได้เป็นการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง หรือไม่แน่ใจว่าเป้าหมายสูงสุดของการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ของคณะราษฎรที่เป็นรัฐบาลอยู่ขณะนั้นคือ การปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไปไกลกว่านั้น นั่นคือ ระบอบสาธารณรัฐ
อีกทั้งการที่รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 มิได้ให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเลือกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การปกครองไม่เป็นไปตามระบอบพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ในขณะที่รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาและคณะเห็นว่า รัฐธรรมนูญและการปกครองขณะนั้นเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
นั่นคือ แต่ละฝ่ายเห็นต่างและเข้าใจต่างกันว่า ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของสยามควรจะเริ่มต้นอย่างไร หรือควรเปลี่ยนผ่านจากระบอบเก่าสู่ระบอบใหม่อย่างไร
ซึ่งความขัดแย้งเห็นต่างของรัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาและกลุ่มกบฏบวรเดชนี้ น่าจะมีรากฐานมาตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว ดังที่ ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพลให้ได้ข้อสังเกตว่า “ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว..และแผนการของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องระบอบการปกครอง รวมตลอดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับสตีเวนส์-ศรีวิสารวาจา มีลักษณะเป็นโครงการของการเปลี่ยนผ่านสู่ ‘ระบอบใหม่’ ทั้งคู่ ความแตกต่างอยู่ที่ว่า ‘ระบอบใหม่’ นั้นมีเป้าหมายที่ไม่เหมือนกัน (เน้นและทำตัวเอียงโดยผู้เขียน) แต่มีการใช้วลีภาษาไทยแทนคำว่า ‘Constitutional Monarchy’ ให้ดูคล้ายกัน โดยที่สองฝ่ายไม่ได้พูดจากันให้เข้าใจตั้งแต่แรกว่า มันคืออะไรกันแน่ ความขัดแย้งจึงตามมา” (ม.ร.ว. พฤทธิสาณ ชุมพล, ประชาธิปก ประชาธิปไตย, สำนักพิมพ์จุฬาฯ, 2560, หน้า 139-140)
และผู้เขียนเห็นว่า ส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันก็ยังเป็นผลที่เกิดขึ้นตามมาจากความเห็นต่างเกี่ยวกับเป้าหมายที่ไม่เหมือนกันของ ‘ระบอบใหม่’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 และจะว่าไปแล้ว 92 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองยังไม่ถือว่าเป็นพัฒนาการที่ยาวนานอะไร เมื่อเปรียบเทียบกับพัฒนาการของระบอบการเมืองการปกครองของประเทศที่ประชาธิปไตยตั้งมั่น ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตยแบบอเมริกัน สหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส
ขณะเดียวกัน ก็ไม่แน่ใจว่า โจทย์ทางการเมืองในปัจจุบัน ยังจะเป็นเรื่องการเห็นต่างต่อเนื้อหาสาระของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือจริงๆแล้ว เป็นเรื่องการเห็นต่างว่าระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นระบอบที่เหมาะสมสำหรับประเทศ ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'อิ๊งค์' ยัน ทักษิณ-เพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้งอบจ. เป็นไปตามกฎหมาย
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในฐานะหัวหน้
หนาว! คำร้องยุบพรรคเพื่อไทย อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริง
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่
'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ
‘ทักษิณ’ กับการติดคุกครั้งใหม่!
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการพิเศษ ศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง “คุณ ทักษิ
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร