(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในรายงานลงวันที่ 27 สิงหาคม 1932 (พ.ศ. 2475) ของพันโท อองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตทหารบกและทหารเรือประจำสยาม ประจำสถานอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำสยาม มีความว่า
“พระบรมวงศานุวงศ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตรับสั่งให้นำรถเพียง 3 คันจากรถทั้งหมดของพระองค์ในบางกอกไปมาเลเซีย ขณะนี้ พระองค์เสด็จประพาสชวา และดูเหมือนว่าจะเลื่อนการเสด็จยุโรปอย่างไม่มีกำหนด
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร (กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน) ซึ่งถูกหนังสือพิมพ์โจมตีอย่างรุนแรง ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว (อ้างอิง รายงานฉบับที่ 29A วันที่ 11 สิงหาคม 2475) ทั้งไม่ถูกควบคุมตัวในวัง และร่วมเสวยพระกระยาหารค่ำที่สโมสรโรตารี่อย่างเสรีเมื่อไม่กี่วันก่อน
รัฐบาลชุดใหม่ มีการตัดสินใจที่บ่งบอกถึงภารกิจของรัฐบาลใหม่ออกมาในแต่ละวัน แต่การตัดสินใจเหล่านี้ไม่ได้ให้ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของแผนการโดยรวมที่มาใช้อย่างเป็นระบบ การตัดสินใจดังกล่าวแตกต่างกันไปแต่ละวัน เช่น โครงการชลประทานในพื้นที่ภาคเหนือ การซ่อมแซมระบบคลองจำนวนมากในบางกอก เพื่อให้สอดคล้องกับสมญานาม ‘เวนิสตะวันออก’ สิ่งหนึ่งที่เราพอจะพูดได้ถึงโครงการเหล่านี้คือ ต้องใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลดูจะไม่มี นอกจากนั้น ยังอาจโต้แย้งได้ว่า ไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วนแต่อย่างใด มาตรการอื่นๆที่สำคัญน้อยกว่านั้น ได้แก่ การให้ข้าราชการเลิกใส่ชุดผ้านุ่งเปลี่ยนมาสวมกางเกางแบบยุโรปแทน มาตรการเช่นนี้ที่ดูภายนอกเหมือนไม่สำคัญ กลับก่อให้เกิดความวุ่นวายครั้งใหญ่ พันเอกผู้บัญชาการกรมสรรพาวุธ ผู้อยากปฏิรูปจนเกินเหตุ ทำให้มาตรการซึ่งรัฐบาลประเมินว่าจะทำหรือไม่ทำ ก็ได้กลายเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำทันที และด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรงจากผู้ใต้บังคับบัญชา ในขณะเดียวกัน พวกพ่อค้าชาวจีนที่ขายผ้าเพื่อตัดเย็บผ้านุ่งต่างก็โวยวายว่า มาตรการใหม่นี้จะจบลงด้วยการทำให้พวกเขาสิ้นเนื้อประดาตัว
อีกมาตรการหนึ่งที่รัฐบาลใหม่น่าจะนำมาใช้และลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ คือ การประกาศว่า นับแต่นี้ไป ให้เสื้อทหารมีกระดุม 7 เม็ดจากเดิม 5 เม็ด
จากตัวอย่างดังกล่าว ดูเหมือนรัฐบาลชุดใหม่จะแสดงถึงเจตนารมณ์ที่ดีมากกว่าวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล มาตรการต่างๆที่รัฐบาลใช้หรือประกาศอย่างเป็นทางการตลอด 2 เดือนมานี้ ดูจะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นการปฏิรูปที่ไม่สำคัญอะไรและทำได้ทันที ประเภทที่สอง เป็นการประกาศโครงการสำคัญๆ....ที่อาศัยระยะเวลาเพื่อทำให้เป็นจริง อาจเป็นได้ว่าที่กระทำการเช่นนี้ก็เพื่อถ่วงเวลาระหว่างที่รัฐบาลกำลังทำงานอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์อยู่
อย่างไรก็ตาม มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่ควรสังเกตคือ พระยาศรีวิศาลวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนปัจจุบัน ประกาศไว้ในสุนทรพจน์ที่กล่าวต่อสโมสรอัสสัมชัญ (สโมสรนักเรียนเก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ) ในฐานะผู้มีอำนาจรับผิดชอบว่า จำเป็นอย่างที่สยามจะต้องรักษาสัมพันธไมตรีอันดีกับมหาอำนาจยุโรปทั้งสอง ซึ่งขนาบข้างสยามอยู่ นั่นคือ ทั้งสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส (อ้างอิง รายงานหนังสือพิมพ์ฉบับที่ 31 หน้า 1) (อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าทราบจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือว่า เมื่อไม่นานมานี้ ดูเหมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะส่งจดหมายเวียนไปยังหน่วยงานต่างๆทุกหน่วย เพื่อขอลดจำนวนที่ปรึกษาหรือข้าราชการชาวยุโรป ซึ่งทำงานให้รัฐบาลสยามให้ได้มากที่สุด)
รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พลเอก ประเสริฐสงคราม (น่าจะเข้าใจผิด เพราะยศสูงสุดของพระยาประเสริฐสงครามคือ พลตรี/ผู้เขียน) เพิ่งถูกแทนที่ด้วยรัฐมนตรีว่าการก็คือ พลเรือเอก พระยาราชวังสัน ผู้แทนสยามประจำองค์การสันนิบาตชาติ ณ กรุงเจนีวา ซึ่งเพิ่งเดินทางกลับมายังสยาม ถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเรา เพราะรัฐมนตรีคนใหม่พูดภาษาฝรั่งเศสได้คล่องแคล่ว และชื่นชอบฝรั่งเศส
ในการสนทนากับพระยาราชวังสันเมื่อวานนี้ ข้าพเจ้าจับความได้ 2 เรื่องสำคัญคือ เขาเห็นด้วยกับการลดกำลังพลในกองทัพสยามปัจจุบันและการต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างเต็มประสิทธิภาพ ข้าพเจ้ายืนกรานไปว่า ต่อเรื่องนี้ เขาจะได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากรัฐบาลแห่งอินโดจีน”
บทสรุป แม้เหตุการณ์โดยผิวเผินจะดูเงียบสงบ แต่รัฐบาลชุดใหม่ก็ยังคงรู้สึกไม่มั่นคง และยังคงใช้รถถังกับรถหุ้มเกราะติดปืนกลคุมสถานการณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าบอกเขาว่า ทุกสิ่งทุกอย่างดูจะสงบเรียบร้อย ตอบกลับมาว่า ‘อาจเป็นความเงียบสงบก่อนพายุถล่ม’ อย่างน้อย สิ่งนี้ก็พิสูจน์ว่า ความวิตกกังวลยังคงอยู่
อองรี รูซ์”
--------------------
รายงานลงวันที่ 24 กันยายน 1932 (พ.ศ. 2475)
“เหตุการณ์สำคัญในรอบเดือน เหตุการณ์สำคัญเพียงอย่างเดียวในเดือนนี้ คือ การประท้วงของนักเรียนโรงเรียนอัสสัมชัญและเซนต์คาเบรียลจำนวน 2,000 คน เมื่อวันที่ 9 กันยายน ซึ่งตามหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่ตั้งข้อสังเกต ดูจะเป็นการลอกเลียนแบบฉบับย่อส่วนจากการปฏิวัติเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน กล่าวคือ ใช้รถคล้ายรถทหารอย่างเดียวกันบรรทุกกลุ่มผู้ประท้วง แล้วเคลื่อนขบวนรถบรรทุกเหล่านี้อย่างเอิกเกริกผ่านตัวเมือง สั่งให้บาทหลวงลดค่าธรรมเนียมการศึกษา ให้หยุดทำงานในวันสำคัญทางพุทธศาสนา และให้นักเรียนบางคนที่เพิ่งถูกไล่ออกกลับมาเรียนใหม่ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันศุกร์ คณะบาทหลวงมีเวลาให้คำตอบจนถึงวันจันทร์หน้า เช้าวันเสาร์ บาทหลวงปิดโรงเรียนทั้งสองแห่งโดยไม่บอกกล่าวอะไร ให้บรรดานักเรียนประจำกลับบ้าน ยกเลิการสั่งซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคและเครื่องเขียนจากห้างร้านต่างๆ และให้ครูอาจารย์หยุดพักผ่อน เช้าวันจันทร์มีข้อความติดไว้ที่ประตูใหญ่ แจ้งให้ผู้ปกครองทราบว่า โรงเรียนปิดทำการ ‘โดยไม่มีกำหนด’ ท้ายที่สุด นักประท้วงรุ่นเยาว์ก็ไม่ได้รับการเห็นชอบจากส่วนใหญ่ มีการคาดคะเนกันกว้างๆว่า พวกเขารู้สึกเสียหน้า และแม้แต่สังคมสยามเองก็ตำหนิการกระทำเช่นนี้
จะคิดว่าการประท้วงของนักเรียน ซึ่งจำนวนหนึ่งในสี่อายุไม่ถึง 10 ขวบเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ได้ แต่เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าต้องมีบางสิ่งบางอย่างอยู่เบื้องหลัง บางคนมองว่าเป็นการประท้วงครั้งแรกของขบวนการต่อต้านต่างชาติที่ไม่เปิดเผย ซึ่งดูจะเริ่มหมดความอดทน นับแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ และเมื่อยังไม่กล้าโจมตีข้าราชการยุโรปโดยตรง ก็คงโยนหินถามทาง โดยมุ่งเป้าไปยังองค์กรที่ชาวยุโรปบริหารจัดการมากกว่า อย่างไรก็ตาม การประท้วงครั้งนี้ไม่มีลักษณะที่เป็นทางการเลย บางคนคาดหวังด้วยซ้ำไปว่า รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งเป็นรัฐบาลฆราวาสโดยแท้ จะไม่มีวันสนับสนุนบรรดาบาทหลวง ด้วยเหตุนี้ การโจมตีบาทหลวง จึงทำได้โดยไม่เสี่ยงอะไรเลย
อีกกลุ่มหนึ่งมองว่า การประท้วงครั้งนี้ น่าจะมีสมาชิกบางคนของรัฐบาลเป็นผู้จุดประกายเพื่อจะสร้างปัญหาใหม่”
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
(พันโท อองรี รูซ์มีความสามารถทางด้านภาษา สามารถพูดได้หลายภาษา ได้แก่ เยอรมัน สเปน ลาว เวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษาไทย. ข้อความทั้งหมดในส่วนของนายพันโท อองรี รูซ์ ข้างต้น มาจาก การปฏิวัติสยาม ๒๔๗๕ ในทัศนะของพันโท อองรี รูซ์, Henri Roux เขียน พิมพ์พลอย ปากเพรียว แปล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน: 2564) หน้า 128-130, 137-138).
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ดร.เสรี ซูฮก ‘ทักษิณ’ ใหญ่จริงๆไม่มีใครกล้าทำอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่าฟังปร
'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว
นายกฯ ยันไร้แผนปรับครม. ตอนนี้พรรคร่วม-รมต.ไม่มีใครดื้อ ไม่เสียใจ 'ทักษิณ' พูดนำก่อน
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายปรับลดค่าไฟตรงนี้ถือเป็นหลักประกันเก้าอี้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานด้วยหรือไม่ ว่า อันนี้ไม่ทราบเลยว่าทำไม
‘สรวงศ์’ โต้รัฐบาลรับลูกพ่อนายกฯ อ้างเป็นแค่วิสัยทัศน์อดีตผู้นำ
ทำเนียบรัฐบาล นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร การกา
‘รังสิมันต์’ ตบหน้ารัฐบาลไร้ประสิทธิภาพช่วย 4 ประมงไทย
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชาย