แม้ว่า คำกล่าวที่ว่า “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” จะเป็นคำกล่าวของคุณสมศักดิ์ เทพสุทินที่กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (พ.ศ. 2560) ในครั้งที่ยังเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ [1] แต่คำกล่าวนี้สามารถใช้ย้อนหลังไปถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ได้ด้วย และจะว่าไปแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยเป็นต้นแบบของ “รัฐธรรมนูญดีไซน์มาเพื่อพวกเรา”
ผู้เขียนได้อธิบายให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 และรัฐธรรมนูญ 2489 ถูกออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจแก่กลุ่มการเมืองที่มีอำนาจอย่างไร [2] รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ส่งผลให้เกิดการสืบทอดอำนาจทางการเมืองเป็นเวลาถึง 13 ปี หลังจากจอมพล ป พิบูลสงคราม ได้สูญสิ้นอำนาจทั้งทางด้านการเมืองและการทหารในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง [3] ส่วนการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 นั้นต้องสะดุดลงจากการเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หากไม่เกิดรัฐประหาร 2490 การสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2489 จะอยู่ในอำนาจไปอย่างน้อย 6 ปี นั่นคือตั้งแต่ พ.ศ. 2489-2495 เพราะกลไกสำคัญที่ส่งผลต่อการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีในรัฐธรรมนูญ 2489 คือ พฤฒสภา ที่มีสิทธิ์ให้เสียงสนับสนุนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร ในทำนองเดียงกันกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่สองมีสิทธิ์ให้เสียงสนับสนุนผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่หนึ่งในรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475
ที่ว่าการสืบทอดอำนาจทางการเมืองของกลุ่มการเมืองที่ได้ประโยชน์จากการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2489 จะอยู่ในอำนาจไปอย่างน้อย 6 ปี ก็เพราะรัฐธรรมนูญ 2489 กำหนดให้พฤฒสภาชุดแรกมีวาระหกปี โดยพฤฒสภาชุดแรกจะยังไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนตามที่กำหนดไว้มาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2489 ได้กำหนดในบทเฉพาะกาล มาตรา 90 ให้พฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ดำรงตำแหน่งก่อนจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 และสภาผู้แทนราษฎรชุดดังกล่าวเป็นชุดที่สนับสนุนให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วก่อนหน้าที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489
เมื่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุนนายปรีดีมาก่อน และยังเป็นผู้เลือกสมาชิกพฤฒสภา ปรากฎการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นก็คือ ‘พฤฒสภาก็คือสภาของนายปรีดี พนมยงค์’ [4] อีกทั้งรัฐธรรมนูญ 2489 ยังกำหนดให้พฤฒสภามีความสำคัญเป็นหลัก นั่นคือ มาตรา 63 กำหนดไว้ว่า “ให้ประธานพฤฒสภาเป็นประธานของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และให้ประธานสภาผู้แทนเป็นรองประธาน”
ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการหยั่งเสียงเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนต่อไปหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2489 และมีการเลือกพฤฒสภาได้แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่นายปรีดี พนมยงค์จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งในวันที่ 7 มิถุนายน 2489
แต่หลังจากการสืบทอดอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์และกลุ่มการเมืองของเขาได้เพียง 2 วัน รัฐบาลของนายปรีดี พนมยงค์ก็ต้องเผชิญวิกฤตการณ์ร้ายแรง นั่นคือ การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และนายปรีดี พนมยงค์ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลผู้ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรีได้เสด็จสวรรคต และเมื่อมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราวตามรัฐธรรมนูญ คณะผู้สำเร็จราชการฯก็ได้อนุญาตให้เขาลาออก [5]
เมื่อนายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 11 มิถุนายน ที่ประชุมพฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรจึงประชุมเพื่อสรรหานายกรัฐมนตรีคนต่อไป และที่ประชุมทั้งสองสภาได้ประกาศให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป [6]
กระนั้น นายปรีดี พนมยงค์และคณะรัฐมนตรี คณะที่ 16 ดำรงตำแหน่งอยู่ได้เพียงสองเดือน (11 มิถุนายน 2489 – 23 สิงหาคม 2489) คณะรัฐมนตรีคณะที่ 16 ก็ต้องสิ้นสุดลง เพราะเหตุที่นายปรีดี พนมยงค์นายกรัฐมนตรีได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเนื่องด้วยตรากตรำทำงานฉลองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาพอสมควร รู้สึกว่าสุขภาพเสื่อมโทรมลง ไม่สามารถจะปฏิบัติภารกิจของรัฐได้เต็มที่ จึงได้ลาออกเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2489 [7] โดยนายปรีดี พนมยงค์ได้กล่าวต่อที่ประชุมสภาฯว่า “ข้าพเจ้ามีเรื่องที่จะแจ้งให้ทราบ คือว่าเมื่อเช้านี้ ข้าพเจ้าได้ยื่นใบลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ข้าพเจ้ามีเหตุผลก็คือว่า ข้าพเจ้าได้ตรากตรำทำงานสนองคุณประเทศชาติมาเป็นเวลาอันสมควรแล้ว...” [8]
ในช่วงก่อนที่นายปรีดีจะขอลาออกจากตำแหน่งในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้เกิดกระแสข่าวว่า การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเกิดมีสาเหตุจากการปลงพระชนม์ และเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรี รัฐบาลนายปรีดีจึงต้องแก้ไขสถานการณ์โดยการประกาศภาวะฉุกเฉินและตรวจข่าวในวันที่ 12 กรกฎาคม และได้มีการจับกุม ส.ส. ฝ่ายประชาธิปัตย์ 3 คน ได้แก่ นายโชติ คุ้มพันธุ์ นายประยูร อภัยวงศ์ และนายเลียง ไชยกาล ในข้อหาให้รายกรณีสวรรคต เพราะสาเหตุปรากฎหลักฐานขึ้นว่า นายเลียง ไชยกาล ใช้คนไปตะโกนในโรงภาพยนตร์ว่า ปรีดีฆ่า [9]
แม้ว่า นายเลียง ไชยกาล จะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองสังกัดประชาธิปัตย์ แต่น่าสังเกตว่า ต่อมา นายเลียงได้แยกออกจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วไปร่วมมือกับรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามอย่างแน่นแฟ้น หลังรัฐประหาร พ.ศ. 2490 และได้เป็นรัฐมนตรีกระทรวงสำคัญติดต่อกันหลายสมัยในรัฐบาลจอมพล ป. จนกระทั่งจอมพล ป. พิบูลสงครามหนีออกนอกประเทศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2500 ด้วยสาเหตุที่มีประชาชนจำนวนนับแสนออกมาประท้วงการเลือกตั้งสกปรกของพรรคเสรีมนังคศิลาของจอมพล ป.
หลังจากที่นายปรีดีลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พฤฒสภาและสภาผู้แทนราษฎรได้สนับสนุนให้หลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้นำทางการเมืองฝ่ายนายปรีดีขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนต่อมาได้ถูกรัฐประหารที่นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 โดยคณะรัฐประหารมีข้ออ้างในการทำรัฐประหาร คือ 1. ความเดือดร้อนของประชาชนจากการขาดแคลนข้าวบริโภค 2. ปัญหาเศรษฐกิจเสื่อมโทรมภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 3. การบริหารงานของรัฐบาลหย่อนสมรรถภาพ 4. กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 5. การอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์ และ 6. ความไม่พอใจของกลุ่มทหารบกจากการไม่ได้รับการดูแลจากการเลิกทัพจากเชียงตุง และกรณีถูกลดบทบาทด้อยกว่าเสรีไทย [10]
และในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 คณะรัฐประหารได้แต่งตั้งให้จอมพล ป. พิบูลสงครามดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และได้เชิญ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบกับต่างประเทศ ต่อมาวันที่ 29 มกราคม 2491 ได้มีการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรตามบทเฉพาะกาล พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมากที่สุด นายควง อภัยวงศ์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง สหรัฐอเมริกาและอังกฤษต่างรับรอง แต่หลังจากนายควง อภัยวงศ์ บริหารประเทศมาเพียง 1 เดือน ก็ถูกคณะรัฐประหารบังคับให้ลาออก และเชิญจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและดำรงตำแหน่งนายกฯ ยาวนานไปอีก 10 ปี [11]
กล่าวได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้แผนการการสืบทอดอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์และพรรคพวกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ต้องล้มเหลวคือ การรัฐประหารในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2490 และสารตั้งต้นของการทำรัฐประหารคือ กรณีสวรรคตและข่าวลือโจมตีนายปรีดีเกี่ยวกับกรณีสวรรคต
และการทำลายแผนการสืบทอดอำนาจของนายปรีดีและพวกภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ส่งผลให้จอมพล ป. ได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้งและเป็นนายกรัฐมนตรีสืบทอดอำนาจยาวนานตั้งแต่ พ.ศ. 2491-2500
ถ้ากรณีสวรรคตเป็นอุบัติเหตุหรือเป็นการอัตวินิบาตกรรม ก็นับเป็นโชคร้ายสำหรับชาวไทยทั้งมวล และโดยเฉพาะสำหรับชีวิตทางการเมืองของนายปรีดี
แต่ถ้าคิดอีกมุมหนึ่ง กรณีสวรรคตอาจจะไม่ใช่อุบัติเหตุหรือการอัตวินิบาตกรรม แต่เกิดจากแผนการทำลายการสืบทอดอำนาจยาวนานของนายปรีดี เพื่อการกลับมาครองและสืบทอดอำนาจของผู้เสียประโยชน์จากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489
บุคคลที่เคยสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญมาก่อนย่อมตระหนักดีถึงการสูญเสียอันยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นจากการสืบทอดอำนาจผ่านรัฐธรรมนูญโดยบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ตัวเอง
[1] กล่าวในวันเปิดตัวเข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันอาทิตย์ที่18 พ.ย.2561 https://www.komchadluek.net/scoop/352831
[2] ผู้สนใจโปรดดู https://www.thaipost.net/columnist-people/507101/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/ยังไม่ตายก็อยู่กันไป/510969/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/513843/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/517674/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/521445/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/525272/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/ยังไม่ตายก็อยู่กันไป/533002/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/529417/; https://www.thaipost.net/columnist-people/ยังไม่ตายก็อยู่กันไป/533002/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/537274/ ; https://www.thaipost.net/columnist-people/541450/
[3] ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530, หน้า 41-60.
[4] ดำรงค์ อิ่มวิเศษ, การร่างรัฐธรรมนูญฉบับพุทธศักราช 2489 และการเมืองภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, พ.ศ. 2530, หน้า 178.
[5] https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/64662
[6] https://www.soc.go.th/?page_id=5825
[7] https://www.soc.go.th/?page_id=5825 และ ดู รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/วันที่ 21 สิงหาคม 2489 https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73186
[8] https://www.soc.go.th/?page_id=5825 และ ดู รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1/วันที่ 21 สิงหาคม 2489 https://dl.parliament.go.th/handle/20.500.13072/73186
[9] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, แผนชิงชาติไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์สมาพันธ์: 2534), หน้า 56.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยเบื้องหลัง 'คนดังต้านระบอบทักษิณ' รวมตัว ประเดิมงานแรกลุย ป.ป.ช.
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เพื่อประเทศชาติและความยุติธรรม
'วรงค์' เซ็งเสียเวลา 1 ชั่วโมง อุตส่าห์ตั้งใจฟัง 'อิ๊งค์' แถลงผลงาน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า#แถลงนโยบายไม่ใช่ผลงาน
'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ
เอาแล้ว! เปิดชื่อ 'บิ๊กเนม' รวมตัวก่อการโค่นระบอบทักษิณ3?
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า ”นัดกินข้าวคุยกัน
นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก