รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ไม่ใช่จุดเริ่มต้นความคิดการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง

 

ในบทความ  “ ‘รธน. 2489’ แม่แบบการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง” ของ อิทธิพล โคตะมี ที่เผยแพร่ในเวปไซต์สถาบันปรีดี พนมยงค์ (วันที่ 26 ตุลาคม 2564 https://pridi.or.th/th/content/2021/10/878) ต้องการสื่อว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เป็นแม่แบบการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง 

จริงอยู่ที่ รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 ไม่มีการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง  และรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดกำหนดให้แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง ดังปรากฏในมาตรา 24,  29 และ 66 ที่ไม่ให้สมาชิกพฤฒสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ

แต่จริงๆแล้ว ควรจะกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดให้แยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง มากกว่าจะกล่าวว่าเป็น “แม่แบบ”  เพราะมีแม่แบบมาก่อนหน้านี้

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้เกริ่นไว้ว่า แม่แบบหรือต้นแบบทางความคิดที่ต้องการให้แยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองเริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ซึ่งปรากฎในรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476   แต่ถ้าค้นคว้าหลักฐานประวัติศาสตร์อย่างถี่ถ้วนแล้ว จะพบว่า  แม่แบบที่แท้จริงในการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองได้เกิดขึ้นก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ (outline of a new constitution) ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นายเรย์มอนด์ บี. สตีเวนส์ (Raymond B. Stevens) และพระยาศรีวิศาลวาจายกร่างขึ้นและสำเร็จเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2474 [1]

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้กำหนดให้มีการแยกสมาชิกสภานิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมจากข้าราชการ ดังข้อความที่กำหนดคุณสมบัติของสมาชิกสภานิติบัญญัติในฉบับร่างที่ว่า

“Qualifications of members of the Council.

They must be Siamese nationals and at least 30 years of age, able to read and write and must pay a certain amount of tax.  No elected member shall at the same time hold any other Government position.” [2]

(สมาชิกสภานิติบัญญัติจะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี สามารถอ่านออกเขียนได้ และเสียภาษีตามจำนวนที่กำหนดไว้  ไม่มีสมาชิกสภานิติบัญญัติที่ได้รับเลือกตั้งคนใดจะดำรงตำแหน่งอื่นใดในรัฐบาล”

แต่คุณอิทธิพล โคตะมี อาจจะแย้งได้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แยกข้าราชการประจำออกจากการเมืองเพียงผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติเท่านั้น แต่ไม่ได้ห้ามรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มิได้ห้ามรัฐมนตรีเป็นข้าราชการประจำ

แต่ความคิดที่ต้องการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภานิติบัญญัติก็มิได้เกิดขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 อยู่ดี   หากย้อนกลับไปดูรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476 จะพบว่า มีการเสนอให้มีการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง ดังที่ผู้เขียนจะยกข้อความในรายงานการประชุมสภาฯดังกล่าวมาให้เห็นเป็นประจักษ์ ดังต่อไปนี้:

“พระยาศรีวิศาลวาจา แถลงว่า  เรื่องนี้ (เรื่องข้าราชการประจำเป็นข้าราชการการเมืองในเวลาเดียวกันได้หรือไม่/ผู้เขียน) ได้สอบสวนดูแล้วว่า ในนานาประเทศเขาทำกันอย่างไร ปรากฏว่า เขาแบ่งข้าราชการออกเป็นข้าราชการประเภทการเมืองและประเภทข้าราชการประเภทประจำนั้น เขาห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างหนึ่งอย่างใดเลย ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติของประเทศต่างๆ ประเทศที่ออกกฎหมายห้ามนั้นก็มีประเทศเดียวคือ Cuba  ส่วนประเทศอื่นๆไม่ได้ออกกฎหมายห้ามประการใดเลย  แต่เขาก็มีระเบียบ มีจดหมายเวียนแนะนำข้าราชการประเภทประจำการไม่ให้เกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะถือว่าความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับข้าราชการนั้นไม่ผิดเพี้ยนกันกับระหว่างนายจ้างลูกจ้าง และเป็นธรรมดาที่ลูกจ้างจะต้องปฏิบัติการให้เป็นที่พอใจแก่นายจ้าง ด้วยเหตุนี้ ตามเกณฑ์ที่เขาทำในต่างประเทศ ถ้าเขาเห็นว่า ข้าราชการคนใดเกี่ยวข้องกับการเมืองเกินความพอใจแล้ว ตามธรรมดา เขาก็ขอให้ออกคือปลดเสีย อันเป็นความมุ่งหมายที่จะไม่ให้ข้าราชการประจำเกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อความมั่นคงแห่งตำแหน่งหน้าที่ของตน ในอันที่จะรับราชการสืบไป ก็และเพื่อความมั่นคงเช่นนี้ จึ่งไม่ควรให้ข้าราชการประเภทประจำเกี่ยวข้องกับการเมือง มิฉะนั้นแล้ว เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรีคนใด ข้าราชการประจำก็ต้องเปลี่ยนตามไปด้วย อีกประการหนึ่ง มาตรา ๑๑ แห่งรัฐธรรมนูญ สภานี้ก็ได้รับรองและเราก็ได้พูดกันมากแล้วว่า ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปนั้นอยู่เหนือการเมือง และส่วนผู้แทนราษฎรนั้น เมื่อผู้ใดไม่ได้อยู่ในตำแหน่งประจำในราชการก็ดำรงอยู่ได้” [3]

………….

พระยาศรีวิศาลวาจา ได้กล่าวอีกด้วยว่า “…………ถ้าผู้ใดอยากเข้าการเมือง ก็ควรลาออก เพราะข้าราชการประจำนั้น ก็ทำงานเพื่อหวังในความมั่นคง และถ้าข้าราชการประจำเกี่ยวข้องกับการเมืองเสียแล้ว ก็ไม่มีประเทศใดดำรงอยู่ได้...” [4]

ในการอภิปรายถกเถียงในเรื่องดังกล่าวนี้ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476 หลวงประดิษฐ์มนูธรรมผู้มีบทบาทสำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 อันเป็นฉบับที่อิทธิพล โคตะมีกล่าวถึงในฐานะ “แม่แบบการแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง” ได้แถลงต่อเรื่องนี้สองครั้ง ครั้งแรกกล่าวว่า “ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ ไม่ได้คัดค้านในเรื่องที่จะห้ามข้าราชการเกี่ยวข้องการเมือง ประเด็นไปอยู่ที่ว่า คำสั่งรัฐมนตรีชนิดนี้ในทางกฎหมายใช้ได้หรือไม่”  ครั้งที่สอง กล่าวว่า “ปัญหาว่ารูปการที่จะห้ามข้าราชการเข้าสมาคม จะต้องแยกพิจารณาว่าเข้าสมาคมการเมืองอย่างหนึ่ง และสมาคมธรรมดาอย่างหนึ่ง ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า จะต้องออกพระราชบัญญัติหรือไม่”  [5] จากคำแถลงทั้งสองนี้ของหลวงประดิษฐ์ ไม่ได้แสดงให้เห็นถึงทีท่าที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านอย่างชัดเจนของเขาต่อการแบ่งแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง  แต่คำแถลงทั้งสองของหลวงประดิษฐ์เป็นความเห็นต่อสถานะของคำสั่งรัฐมนตรีว่าจะสามารถใช้บังคับในทางกฎหมายได้หรือไม่ และจะต้องออกเป็นพระราชบัญญัติหรือไม่

แม้ว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476 จะเห็นด้วยในหลักการการแบ่งแยกข้าราชการประจำออกจากการเมือง แต่มีมติด้วยเสียงข้างมาก ๓๘ ต่อ ๑๑ ว่า “ควรจะต้องออกเป็นกฎหมายห้าม”  และไม่สามารถใช้เพียงคำสั่งกระทรวงหรือให้เป็นวิธีปฏิบัติ แต่ต่อมา ก็ไม่ได้มีการเสนอร่างกฎหมายนี้แต่อย่างใดจนเกิดการเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองในอีก 7 เดือนต่อมา

โดยข้อที่สาม ใน หกข้อเรียกร้องของคณะกู้บ้านกู้เมืองคือ

“๓. ข้าราชการซึ่งอยู่ในตำแหน่งประจำการทั้งทหารและพลเรือนต้องอยู่นอกการเมือง เว้นแต่ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งซึ่งมีหน้าที่ในการเมืองโดยตรง แต่ความข้างต้นนั้นไม่ตัดสิทธิในการที่ข้าราชการประจำการจะนิยมถือลัทธิการเมืองใดๆที่ชอบด้วยกฎหมาย  แต่ห้ามมิให้ใช้อำนาจหรือโอกาสในตำแหน่งหน้าที่เพื่อสนับสนุนเผยแผ่ลัทธิที่ตนนิยม หรือเพื่อบังคับขู่เข็ญโดยทางตรงหรือทางอ้อมให้คนอื่นถือตามลัทธิที่ตนนิยมนั้นเป็นอันขาด

ตำแหน่งฝ่ายทหารตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารเรือลงไปต้องไม่มีหน้าที่ทางการเมือง” [6]

แต่พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีได้ทำหนังสือตอบ ทูล พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช หัวหน้าคณะกู้บ้านกู้เมือง โดยมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า “….คณะรัฐมนตรีได้ประชุมตกลงกันว่า คณะรัฐบาลนี้เป็นคณะซึ่งเคารพนับถือต่อรัฐธรรมนูญ...ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดทุกประการ...เพราะฉะนั้น คำขอของท่านก็เป็นอันตกไป....” [7]

และในขณะนั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอยู่ด้วย


[1] “An Outline of Changes in the Form of the Government,”  ใน แผนพัฒนาการเมืองไปสู่การปกครองระบอบ “ประชาธิปไตย” ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว, สถาบันพระปกเกล้า จัดพิมพ์ในงานพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว วันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕, พิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. ๒๕๔๕, รวบรวมโดย สนธิ เตชานันท์, หน้า 198-200.

[2]   “An Outline of Changes in the Form of the Government,” เพิ่งอ้าง, หน้า 200.

[3] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476, หน้า 942.

[4] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476, หน้า 944-945.

[5] รายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 58 (สมัยสามัญ) วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2476, หน้า 945, 949.

[6] กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ ๓๙/๑๖๓, เรื่องคำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ อ้างใน นิคม จารุมณี, กบฏบวรเดช พ.ศ. ๒๔๗๖, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๙,  หน้า 180-181.

[7] กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ ๓๙/๑๖๓, เรื่องคำขอหรือคำขาดและคำแถลงการณ์หรือใบปลิวของพวกกบฏ อ้างใน นิคม จารุมณี, กบฏบวรเดช พ.ศ. ๒๔๗๖, วิทยานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๑๙,  หน้า 182.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.เสรี ประกาศวางมือ! เลิกอุ้ม เลิกแบก ลั่นพอกันทีนักการเมืองพรรค์นั้น

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่สาร โพสต์เฟซฐบุ๊กระบุว่า ขอตัดคำว่า อุ้ม แบก เชียร์ ออกจากพจนานุกรมชีวิต ในการ

‘ทยา’ มาแล้ว! ลั่นอย่าเหมา ‘กปปส.’ ไม่ยึดมั่นอุดมการณ์

สืบเนื่องจากกระแสคัดค้าน นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งเป็นอดีตแกนนำกปปส. ต่อต้่นระบอบทักษิณ แต่ปราก

อ้อ! คนเดียวกัน เอกนัฏ-แกนนำกปปส.-เลขาฯรทสช.-ว่าที่รมต.ในรัฐบาลลูกสาวทักษิณ

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เมื่อผลประโยชน์หล่นใส่ นักการเมืองก็พร้อมที่จะทรยศประชาชน

เตือนอย่าประมาท 'บุคคลลึกลับ' เบื้องหลังนักร้องยื่นยุบเพื่อไทย เขย่านายกฯแพทองธาร!

มีผู้ร้องต่อกกต. ขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิ์ทางการเมืองนายกอุ๊งอิ๊ง ฐานยอมให้นายทักษิณครอบงำพรรค โดยผ่านทางอดีตนายกเศรษฐา ให้แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญ

เสียดายเคยชื่นชม 'แม่ยก' รับไม่ไหวภาพ 'สส.ปชป.' พินอบพิเทา 'ทักษิณ'

นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์