ไทยในสายตาต่างชาติ: สมัยรัชกาลที่เจ็ด (ตอนที่ 4)

 

ผู้เขียนขอนำความเห็นของต่างชาติที่มีต่อเรื่องราวการเมืองไทยตั้งแต่ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองจนถึงการเมืองหลังเหตุการณ์กบฏบวรเดช โดยใช้งานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือเรื่อง “ฝรั่งมองไทยในสมัยรัชกาลที่ 7: ตะวันออกที่ศิวิไลซ์ ?” ของผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. ธีระ นุชเปี่ยม อดีตคณบดี คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

หลังจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ไม่นาน นายวอเตอร์โลว์ (S.P. Waterlow) อัครราชทูตอังกฤษได้รายงานไปยังเซอร์ออสเตน แชมเบอร์เลน (Sir Austen Chamberlain รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอังกฤษ มีความตอนหนึ่งว่า

“โดยรวมแล้ว ข้าพเจ้าได้รับความแปลกใจอย่างยินดีและพอใจจากกรุงเทพฯ และชาวสยาม ข้าพเจ้าได้คาดหวังไว้ก่อนหน้านี้ว่า จะได้พบรัฐบาลที่ฉ้อฉลและหย่อนยานไร้ประสิทธิภาพไม่มากก็น้อยในนครซึ่งปราศจากสุขลักษณะ หากไม่ก็ชุกชุมด้วยโรคร้ายเลยทีเดียว รัฐบาลที่ดำรงอยู่ท่ามกลางการคบคิดแก่งแย่งชิงดีในราชสำนัก เบียดบังผลประโยชน์ด้วยวิธีการดั้งเดิมจากประชากรที่ไม่เคลื่อนย้ายและเกียจคร้านเฉื่อยชา และยังดำรงอยู่ได้ก็โดยอาศัยที่ปรึกษาชาวยุโรปไม่กี่คน ข้าพเจ้าไม่ได้รับทราบอะไรเลยที่ปีนังที่จะทำให้ข้าพเจ้าหวังสิ่งใดที่ดีกว่านี้ ตรงกันข้าม ความคิดที่น่าหดหู่ที่สุดเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านต่างๆของกรุงเทพฯ และของสยามโดยทั่วไปมีอยู่มากกว่าทั้งที่นั่นและในส่วนอื่นๆของสเตรตส์เซตเทิลเมนตส์ (Straits Settlements/อาณานิคมของจักรวรรดิบริติชในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประกอบด้วยดินแดนที่เป็นรัฐปีนัง ดินดิง (ส่วนหนึ่งของรัฐเปรัก) รัฐมะละกา สิงคโปร์ และลาบวนในปัจจุบัน/ผู้เขียน) แต่ภาพเช่นนี้เป็นประเภทความจริงเพียงครึ่งเดียวที่บิดเบือนความเป็นจริงอย่างได้ผล  ความเกียจคร้านเฉื่อยชา ความฉ้อฉล ความหย่อนยานไร้ประสิทธิภาพ ที่เป็นผลมาจากความคิดและจิตวิญญาณแบบตะวันออก เมื่อนำมาใช้กิจการในทางปฏิบัติ มีอยู่จริงๆ และแพร่หลายอยู่ทั่วไป แต่สภาพเช่นนี้ ก็ได้ถูกแก้ไขไปเป็นส่วนใหญ่โดยจารีตแห่งการทำงานหนักและเอาจริงเอาจัง  ซึ่งได้ก่อให้เกิดผลน่าสนใจขึ้นแล้วในหน่วยงานบริหารจำนวนมาก และเป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าไม่คิดว่าชาวสยามได้รับความยอมรับเพียงพอ  นครหลวงแห่งนี้มีแหล่งที่มีผู้คนอยู่กันอย่างหนาแน่น ทั้งที่เป็นคนท้องถิ่นดั้งเดิมและคนจีน ในแหล่งเช่นนี้ ชีวิตก่อกำเนิดทั้งบนผืนน้ำและบนบกในลักษณะที่น่าฉงนฉงายสำหรับชาวตะวันตก แต่ผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่เช่นนั้น ก็อาจมีความพึงพอใจกับมันมากกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในสลัมของเราก็เป็นได้   กระนั้นก็ตาม กรุงเทพฯมิได้ปราศจากสุขลักษณะ และได้จัดการอย่างประสบผลสำเร็จกับอหิวาตกโรค ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีการระบาดสูงสุดเมื่อเข้าพเจ้าเดินทางมาถึง

กรุงเทพฯมีสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนใหญ่ที่บ่งบอกถึงการมีอารยธรรม ไม่ว่าจะเป็นถนนที่ใช้การได้ แสงไฟฟ้า รถรางไฟฟ้า หรือการประปาที่น่าชมเชย เพียงแต่ยังไม่มีระบบระบายน้ำ ในแง่นี้ ในบางด้าน แหล่งตั้งรกรางของอังกฤษในดินแดนตะวันออกยังล้าหลังกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ เช่น การมีรถรางไฟฟ้าและแสงไฟฟ้ามานานกว่า 3 ปีแล้ว จริงๆแล้ว ทุกเรื่องมีหลักฐานบ่งชี้สภาพความมีชีวิต ชีวาแห่งพลังและการดำริริเริ่ม ตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดอาจจะได้แก่ การพัฒนาระบบรถไฟ (ขณะนี้ มีการวางรางรถไฟไว้แล้วกว่า 3,000 กิโลเมตร)…..สิ่งที่ขาดไปคือการมีถนน ไม่ใช่ทางรถไฟมากกว่านี้ และก็อาจจะเป็นที่สงสัยว่า การสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ๆ – อันเป็นกิจกรรมซึ่งในสายตาของชาวสยามมีคุณประโยชน์ในแง่ของการเป็นสิ่งตกแต่งหน้าร้านอย่างดี - จะมีการดำเนินงานมากไปหรือไม่ และรากฐานทางเศรษฐกิจของกิจการนี้ ดีจริงๆหรือไม่ แต่ถึงกระนั้น สิ่งที่ได้มีการดำเนินการไปแล้วในด้านนี้ นับว่าโดดเด่นเป็นสำคัญอย่างแน่นอนสำหรับประชากรที่อยู่ในเขตร้อน อันเป็นเขตที่พลังเกิดขึ้นเป็นระยะๆ และการใช้ความพยายามอย่างมั่นคงต่อเนื่องเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ” ((F 3158/78/40) “Mr. Waterlow to Sir Austen Chamberlain, 30 June 1926”, p. 1)

และรายงานประจำปีโดยอัครราชทูตอังกฤษในปีเดียวกัน (1926) ยังได้กล่าวอีกว่า “....ชาวสยามไม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีความสันทัดในเรื่องการค้าแม้แต่น้อย และนอกจากการทำเกษตรกรรมแท้ๆอย่างง่ายๆแล้ว ก็แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะกล่าวถึงอาชีพอื่นใด ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำ หรือการรับจ้างก่อสร้าง รวมทั้งกิจการอุตสาหกรรมหลัก คือการสีข้าว ซึ่งหากไม่อยู่ในมือคนจีนโดยสิ้นเชิง เช่นเดียวกับเหมืองแร่ดีบุก ก็อาศัยแรงงานจีน” (Annual Report, 1926, p. 18)

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2470 (1927) อุปทูตสหรัฐประจำสยามได้รายงานสถานการณ์ในสยามว่า

“ข้าพเจ้าทราบจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ว่า ในสยามมีเครือข่ายสมาคมและองค์การ ซึ่งดำเนินการเผยแพร่การโฆษณาชวนเชื่อของคอมมิวนิสต์ ผู้ที่ควบคุมกำกับการดำเนินงานดังกล่าวนี้ คือ คนจีนกวางตุ้ง ซึ่งจำนวนมากถูกส่งมาสยามในฐานะนักเคลื่อนไหวที่มีคุณสมบัติสมบูรณ์ในการเผยแพร่ความคิดบอลเชวิก...หลักการของรัฐบาลชาตินิยมทางใต้ (กว่างตง) ของจีน ได้แก่ การต่อต้านต่างชาติ (โดยเฉพาะอังกฤษ) ต่อต้านศาสนาคริสต์ ต่อต้านจักรวรรดินิยม ต่อต้านระบอบกษัตริย์ และต่อต้านทุนนิยม....                                   

การโฆษณาชวนเชื่อจากกว่างตงดูจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนจีน [ในสยาม] เท่านั้น เพราะการแพร่หลายของการโฆษณาชวนเชื่อไปสู่ชาวสยามที่เป็นคนท้องถิ่นเป็นไปได้น้อยมาก ชาวสยามเหล่านี้ส่วนใหญ่ ยกเว้นขุนนาง ข้าราชการ และเสมียนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ล้วนอาศัยอยู่ในชนบท และโดยทั่วไป ก็เป็นเจ้าของผู้ดำเนินกิจการบนที่ดินแปลงเล็กๆของตนเอง.....การมีอยู่ของคนจีนจำนวนมากในสยามและเป็นผู้ที่ไม่ผสมกลมกลืนแม้กระทั่งอย่างไม่เป็นทางการกับประเทศ [ที่ตนพำนักอาศัยอยู่] กลับเป็นเรื่องที่ชาวสยามไม่ได้กังวลสนใจเท่าใดนัก...” (Letter to the Secretary of State, February 16, 1927”, p. 2, U.S. Documents)

ส่วนในกรณีของฝรั่งเศส พันโทอองรี รูซ์ (Henri Roux)  ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารประจำสยามระหว่าง ค.ศ. 1931-1936 ได้กล่าวในรายงานของเขาว่า

“...[ชาวจีนกลุ่มแรก] (กลุ่มพ่อค้าและคนจีนที่อยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว) มีจำนวนน้อยมาก (และส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนคอมมิวนิสต์) อีกกลุ่มหนึ่งมีจำนวนมาก (กลุ่มที่อพยพเข้ามาใหม่) เป็นคนลากรถ กุลีท่าเรือ พ่อค้าข้าวต้มหาบเร่ คนงานในโรงงาน และคนใช้ตามบ้าน คนจำนวนมากในกลุ่มนี้เพิ่งอพยพเข้ามาเมื่อไม่นานมานี้ เมื่อปีที่แล้ว พวกเขายังเดินทางเข้าสยามเป็นจำนวน 10,000 ถึง 12,000 คนต่อเดือน และแม้จะมีการขึ้นภาษีผู้อพยพ แต่พวกเขาก็ยังอพยพกันมาเป็นจำนวนถึง 2,000 ถึง 3,000 คน

ชาวจีนกลุ่มที่สอง ซึ่งมาจากเมืองกว่างตุ้งและไหหนานโดยเฉพาะนี้ ได้รับการปลูกฝังลัทธิคอมมิวนิสต์ช่วงที่ยังอยู่ในประเทศจีน อนึ่ง ในกรุงเทพฯ ชาวจีนอาศัยอยู่ทุกหนทุกแห่ง ถ้าหากวันหนึ่ง ชาวสยามหยุดงานประท้วงขึ้นมา อาจจะไม่มีใครสังเกตก็ได้ แต่ถ้าชาวจีนหยุดงานขึ้นมาบ้าง ก็จะเป็นภัยพิบัติอันใหญ่หลวง จะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำแข็ง ไม่มีรถราง ไม่มีสินค้า ไม่มีข้าวต้มตามท้องถนน...[คนเหล่านี้] ยังรักษาองค์กรของเขาไว้ มีวัด โรงเรียน มีระเบียบวินัย อย่างน้อยก็ในชุมชนของพวกเขา และในลักษณะหนึ่ง ก็ตั้งเหมือนกับตั้งรัฐบาลของพวกเขาเองในสยาม”  (Henri Roux, “activité communiste au Siam, 25 janvier 1933” เอกสารชั้นต้นฝรั่งเศส หน้า 240-241).

ความเห็นของพันโทอองรี รูซ์ ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารฝรั่งเศสประจำสยามสะท้อนความเห็นของนายดอร์เมอร์ (C.F. Dormer) เจ้าหน้าที่การทูตของอังกฤษที่รายงานไปถึงนายเฮนเดอร์สัน (Mr. A. Henderson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเมื่อสามปีก่อน (1930) โดยนายดอร์เมอร์ได้กล่าวว่า ชาวจีนเป็น “กระดูกสันหลัง (backbone) ของสยาม” ((F 5880/5880/40) “Mr. Dormer to Mr. Henderson, 16 September 1930”, British Documents, p. 12)

จากข้อความของอังกฤษและฝรั่งเศสเกี่ยวกับชาวจีนในสยามสมัยนั้น  ในบริบทสมัยนี้ ถ้าเปลี่ยนจาก “จีน” เป็น “พม่าหรือกะเหรี่ยง” ก็ยังใช้ได้  แต่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับภัยคอมมิวนิสต์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี

นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ

นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก