(ข้อเขียนนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 14 ปีที่แล้ว วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ก่อนที่พี่น้องเสื้อแดงจะเข้าชื่อกันเป็นจำนวนถึง 3.5 ล้านคน และส่วนหนึ่งได้รวมตัวกันที่สนามหลวงยื่นฎีกาที่พระบรมมหาราชวัง และราชเลขาธิการแถลงการได้รับฎีกา และส่งให้รัฐบาลพิจารณาถวายความเห็นประกอบพระราชดำริต่อไป ผู้เขียนหวังว่า ข้อเขียนเหตุการณ์ในอดีต อาจจะช่วยให้เราเข้าใจปัจจุบันได้บ้าง ไม่มากก็น้อย)
แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะชี้แจงว่า การล่ารายชื่อถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษแก่ทักษิณ ชินวัตรเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์การขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ก็ดูเหมือนว่าผู้ริเริ่มความคิดดังกล่าวก็ยังคงเดินหน้าล่ารายชื่อต่อไป ขณะเดียวกันก็มีการปล่อยข่าวออกมาทั้งสองกระแส นั่นคือ ทั้งทักษิณไม่เห็นด้วยและทั้งทักษิณไม่ขัดข้อง ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า แนวโน้มที่เป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นคือ
หนึ่ง เมื่อล่ารายชื่อได้เป็นจำนวนล้านชื่อแล้ว ก็ประกาศโชว์บัญชีรายชื่อให้สื่อมวลชนรับรู้ และหลังจากดูทิศทางลมขณะนั้นแล้ว แกนนำผู้รวบรวมรายชื่อจะกลับลำไม่ยื่นถวายฎีกา โดยอ้างว่าแม้ว่าจะมีรายชื่อเป็นจำนวนล้านชื่อแล้วก็ตาม แต่เจ้านายคือทักษิณ ชินวัตรไม่ต้องการให้ระคายเบื้องพระยุคลบาท จึงสั่งห้ามในที่สุด แต่กระนั้น ก็ได้แสดงพลังให้เห็นต่อสาธารณะแล้วว่า มีประชาชนนับล้านสนับสนุนทักษิณให้ได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งจำนวนล้านคนที่ได้มาก็เพียงพอที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทางการเมืองต่อรัฐบาลและสถาบัน แถมตัวทักษิณเองหรือเหล่าแกนนำลูกน้องยังสามารถสร้างเครดิตให้กับตัวทักษิณและพลพรรคได้อีกด้วย
สอง ล่ารายชื่อไม่ถึงล้าน แต่แอบอ้างว่าได้ถึงล้าน แต่ก็ประกาศไม่ถวายฎีกา โดยอ้างเหมือนข้อหนึ่งเพื่อสร้างเครดิต
สาม ล่ารายชื่อได้ไม่ถึงเป้าที่คาดหวังไว้ แต่ก็ไม่เปิดเผยตัวเลข แต่ก็ออกมาประกาศว่าขอยุติการถวายฎีกา เพราะไม่ต้องการให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นี่ก็ได้เครดิตไปกินอีก
ผู้เขียนคิดว่า มีโอกาสมากที่ในที่สุดแล้ว จะไม่มีการถวายฎีกา หากถวายไปจริงๆแล้ว ฝ่ายทักษิณจะเสียมวลชนที่สนับสนุนไป แต่ถ้าได้รายชื่อมาเป็นหลายสิบล้านมากเสียจนไม่ต้องห่วงเรื่องเสียมวลชน การถวายฎีกาก็อาจจะเกิดขึ้น ซึ่งก็จะเป็นไปตามที่ทักษิณได้กล่าวไว้เมื่อตอนที่พี่น้องเสื้อแดงชุมนุมที่สนามกีฬาราชมังคลาฯเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว นั่นคือ การขู่กรรโชกสถาบันฯ โดยอ้างว่าตนจะสามารถกลับเมืองไทยได้โดยพระบารมีหรือไม่ก็พลังของพี่น้องประชาชน
แต่ถ้าได้รายชื่อไม่มากพอ การถวายฎีกาย่อมสุ่มเสี่ยง เสี่ยงแรกคือ เสี่ยงเสียเครดิตจากสังคม เสี่ยงที่สองคือ หากสถาบันฯมีคำตอบอะไรออกมาที่สวนทางกับข้อเรียกร้อง และมีเหตุผลที่อธิบายได้ดี การถวายฎีกาจะกลับกลายเป็นบูมเมอแรงตีกลับพวกทักษิณ พี่น้องประชาชนที่ลงรายชื่อถวายฎีกาด้วยความรู้สึกรักและเทิดทูนสถาบันจริงๆ ก็อาจจะหันมาฟังสถาบันฯ และเริ่มเห็นว่า ทักษิณคือตัวปัญหา ทั้งนี้ไม่นับพี่น้องประชาชนที่นิยมทักษิณอย่างหัวปักหัวปำและพร้อมที่จะเลือกทักษิณ หากมีการต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง
กล่าวได้ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงเป็นพระประมุของค์แรกหรือปฐมกษัตริย์แห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ (constitutional monarchy) หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในฐานะที่พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกที่เป็นประมุขของระบอบการปกครองใหม่ (รัชกาลที่เจ็ดมีช่วงเวลาน้อยมาก ส่วนรัชกาลที่แปดก็มีผู้สำเร็จราชการแทนฯ และก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน) พระองค์จึงทรงต้องเป็นผู้วางรากฐานบทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้ระบอบใหม่ ไม่สามารถอิงกับบทบาทพระมหากษัตริย์พระองค์ก่อนๆได้มากนัก เพราะก่อนหน้าพระองค์ ล้วนแต่เป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolute monarchy) ทั้งสิ้น ถึงแม้จะยังทรงยึดในทศพิธราชธรรมและจารีตประเพณี แต่ก็ทรงต้องประยุกต์และปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย
การถวายฎีกาในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ย่อมแตกต่างจากการถวายฎีกาในระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เพราะในระบอบประชาธิปไตยฯ อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจสูงสุดเป็นสิทธิอันสมบูรณ์ขององค์พระมหากษัตริย์ เมื่อตัดสินอย่างใดแล้ว ถือเป็นที่สุด ต้องเป็นไปตามนั้น ไพร่ฟ้าข้าราษฎรต้องน้อมรับ ไม่ว่าจะพอใจหรือไม่ก็ตาม แต่ในระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าจะยังให้มีการถวายฎีกา แต่กระนั้น คำตัดสินของพระองค์ก็อาจจะไม่ทรงพลังเด็ดขาดเหมือนในสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น การถวายฎีกาในเรื่องที่เป็นปัญหาวิกฤตการเมืองร้ายแรงอย่างในกรณีของทักษิณจึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเปราะบางอย่างยิ่ง
ในทั้งสองระบอบการปกครอง การถวายฎีกาอาจจะช่วยเสริมสร้างพระบารมีหรือลดทอนพระบารมีได้ แล้วแต่ว่าคำตัดสินฎีกานั้นจะเป็นที่พอใจหรือไม่ของมหาชน แต่ในระบอบประชาธิปไตย หากการตัดสินฎีกาเป็นที่ไม่พอใจของมหาชน ก็ย่อมนำไปสู่การลดทอนพระบารมี และสามารถส่งผลในแง่ลบได้มากกว่าในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยเหตุผลที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย
อย่างไรก็ตาม สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่ก็ดำเนินมาเป็นเวลาถึงหกสิบกว่าปี และได้ผ่านวิกฤตการเมืองครั้งสำคัญหลายครั้งหลายครา มีการปรับตัวปรับบทบาทมาโดยตลอด อันจะก่อให้เกิดแบบแผนสำหรับองค์พระมหากษัตริย์พระองค์ต่อๆไปอีกหลายรัชกาล โดยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเป็นแบบแผนที่สถาบันทางการเมืองอื่นๆจะต้องพิจารณาให้เกิดสมดุลทางการเมืองที่เหมาะสมด้วย ไม่มากและไม่น้อยจนเกินไปในแต่ละสถาบันต่างๆ
ผู้เขียนมิบังอาจจะล่วงรู้ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้น หากเกิดมีการถวายฎีกาขึ้นจริงๆ แต่เชื่อมั่นว่า ประสบการณ์ตลอดหกสิบกว่าปีที่ผ่านมาของการเป็นปฐมกษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่จะทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงสามารถวางแบบแผนแนวทางสำหรับการพิจารณากรณีปัญหานี้ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองใหม่นี้ได้ และแน่นอนว่า ถ้าหากผ่านพ้นวิกฤตการเมืองครั้งนี้ไปได้ ก็ถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งสำคัญสำหรับความสำคัญอันขาดไม่ได้ของการดำรงไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยต่อไปอีกนาน
แต่กระนั้น ภายใต้กระแสความเป็นสมัยใหม่ ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ปัญหาวิกฤตการเมืองใหม่ๆย่อมจะต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอ ซึ่งประชาชนที่รู้เท่าทันย่อมต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องปรกติ พระมหากษัตริย์ไทยอีกหลายรัชกาลในระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญที่สืบต่อจากปฐมกษัตริย์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯก็ทรงย่อมต้องพิสูจน์พระปรีชาญาณและพระบารมีของแต่ละพระองค์เองด้วย นอกเหนือไปจากแบบแผนที่พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบันได้ทรงสร้างไว้จากบทเรียนและอุปสรรคต่างๆที่น่าจะถือได้ว่ารุนแรงและเข้มข้นที่สุด เพราะเป็นรัชกาลแรกภายใต้กระแสการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ณัฐวุฒิ’ แจงปมถูกตั้งเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ อาจทำ ‘อิ๊งค์‘ ตกเก้าอี้
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า มีทั้งนักร้องและกลุ่ม
'ทักษิณ' ฟิตจัด ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ. 3 วัน 9 เวที พื้นที่ภาคอีสาน
สำหรับตารางการลงพื้นที่ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงผู้สมัครนายกองค์การบริการส่วนจังหวัด (อบจ.) พรรคเพื่อไทย (พท.) ในพื้นที่ภาคอีสานช่วงเดือนม.ค.นี้
คปท. บุก 'แพทยสภา' ให้กำลังใจ ยึดมั่นจรรยาบรรณ พิสูจน์ความจริง ไม่ฟอกผิด 'นักโทษเทวดา'
ที่อาคารมหิตลาธิเบศร กระทรวงสาธารณสุข นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) นายนัสเซอร์ ยีหมะ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ดร.ใจเพชร กล้าจน ตัวแทนกองทัพธรรม นายอานนท์ กลิ่นแก้ว ตัวแทนศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึง นายกแพทยสภาและกรรมการแพทยสภา เรื่อง ขอให้ยึดมั่นในจรรยาบรรณแพทย์
เอาแล้ว 'อิ๊งค์' มีสิทธิ์หลุดเก้าอี้นายกฯ เซ่นตั้ง 'เลี้ยบ' นั่งรองประธานที่ปรึกษาของนายกฯ
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า “รัดแน่นกว่าเดิม”
อ.แก้วสรร ออกบทความ ‘ความรับผิดชอบ’ ในคดีชั้น 14
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ เผยแพร่บทความเรื่อง “ความรับผิดชอบ”ในคดีชั้น ๑๔ โดยมีเนื้อหา ดังนี้