ใครที่รู้ภาษาอังกฤษ ก็จะรู้ว่า Progress แปลว่า ‘ก้าวหน้า’
และคำว่า ก้าวหน้า ก็มักจะถูกให้ค่าในแง่บวก
จริงๆ แล้ว Progress มันมีความหมายตรงตัวเลย นั่นคือ ก้าวไปข้างหน้า หรือก้าวต่อไปในทิศทางที่ไม่ใช่ด้านหลัง และถ้าคิดให้ดีๆ การก้าวไปข้างหน้าไม่จำเป็นต้องดีหรือเจริญเสมอไป แม้กระทั่งการทำงานหรือเขียนวิทยานิพนธ์ที่เขียนไปได้เรื่อยๆ ก็มักใช้สำนวนว่า ‘Work in Progress’ ซึ่งไม่จำเป็นว่างานหรือวิทยานิพนธ์ฉบับนั้นจะต้องดี เพียงแต่เมื่องานก้าวหน้า ก็หมายความว่ามันเพิ่มจำนวนปริมาณไปได้เรื่อยๆ ส่วนจะเพิ่มคุณภาพด้วยหรือไม่นั้น ก็ไม่แน่เสมอไป ขณะเดียวกัน นัยของคุณภาพก็มีปัญหาอีกว่า เอาอะไรเป็นเกณฑ์วัด เพราะกลุ่มอาชญากรค้ายาเสพติดที่กำลังดำเนินการไปได้เรื่อยๆ ตามแผนที่วางไว้ อาจจะเรียกว่างานกำลังเดินก้าวหน้าทั้งปริมาณและคุณภาพก็ได้
การคิดค้นทดลองทางวิทยาศาสตร์ก็เช่นกัน จะตีความว่าก้าวหน้าหรือไม่ ดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ใช้วัด
สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่ ‘ก้าวหน้า’ อย่างรวดเร็วในโลกปัจจุบันอาจจะนำพาให้มนุษย์ตกต่ำ ลดทอนความเป็นมนุษย์ หรือลดทอนความสัมพันธ์ทางสังคมที่เคยแน่นแฟ้นอบอุ่นลงไป
จริงอยู่ มนุษย์อาจจะมีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น อย่างที่เขาใช้คำว่า ‘ปัจเจกบุคคลนิยม’ (Individualism) มนุษย์เป็นอิสระไม่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน เพราะเทคโนโลยีช่วยอำนวยความสะดวกให้ การทำนาในปัจจุบันไม่ต้องพึ่งพาการลงแขก เพราะรถไถรถหว่านจัดการให้เสร็จ ขอให้มีรถหรือมีเงินจ้างเท่านั้น แม้มนุษย์จะอิสระจากมนุษย์ด้วยกันเองมากขึ้น หรือแทบจะไม่ต้องพึ่งกันเลยก็ตาม แต่เทคโนโลยีกลับทำให้มนุษย์ต้องพึ่งพาระบบเทคโนโลยีมากขึ้น และอาจมากกว่าที่เคยต้องพึ่งพามนุษย์ด้วยกันเองก็ได้ ที่สำคัญคือ การพึ่งพามนุษย์ด้วยกันยังสามารถต่อรองกันได้ แต่การพึ่งหรือเป็นทาสเทคโนโลยีนั้นไม่ต้องพูดถึง ไม่มีใครสามารถต่อรองกับมันได้เลย
การต่อรองไม่ได้หมายถึงมีมาตรฐานเดียว ซึ่งจะมองให้ดีก็ได้ มองให้แย่ก็ได้อีกเช่นกัน แต่การต่อรองกันและกันระหว่างมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งอาจจะเกิดความสงสารเห็นใจมนุษย์คนหนึ่งได้ ทำให้เกิดสองมาตรฐาน ซึ่งก็เช่นเดียวกัน มันมีทั้งแง่ดีและไม่ดี
การที่มนุษย์มีสองมาตรฐาน บ่งบอกถึงความอ่อนไหวในการรับรู้ถึงสภาวะเฉพาะของมนุษย์คนอื่น ขณะเดียวกัน มนุษย์ที่อ่อนไหวและมีสองมาตรฐานก็แสดงให้เห็นถึงสภาวะเฉพาะของความเป็นมนุษย์ของเขาผู้นั้นที่แตกต่างจากมนุษย์คนอื่น แต่จะดีหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับว่าสองมาตรฐานนั้นก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมหรือไม่
แต่ไม่ว่าจะยุติธรรมหรืออยุติธรรม ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ มันแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนที่เครื่องจักรหรือเทคโนโลยีไม่สามารถมีให้ได้
จากประเด็นข้างต้น ทำให้นึกถึงข้อถกเถียงที่นักคิดสมัยโบราณเคยตั้งขึ้นมาระหว่างปัญหาความยุติธรรมที่อยู่ภายใต้การตัดสินของ ‘คนที่ดีที่สุด’ กับ ‘กฎที่ดีที่สุด’ ว่าอย่างไหนจะดีกว่ากัน
ถ้าพิจารณาในกรณีของคนและกฎ โดยยังไม่ต้องพูดถึงคนที่ดีที่สุดหรือกฎที่ดีที่สุด จะพบว่า คนย่อมดีกว่าตรงที่ยืดหยุ่นได้ ไม่ตายตัวเถรตรงเหมือนกฎ แต่ในกรณีของกฎ กฎย่อมดีกว่าคน ตรงที่กฎไม่เคยหวั่นไหว และรับสินบนไม่เป็น
แต่กระนั้น ถ้ากลัวความอ่อนไหวยืดหยุ่นของคน ก็ต้องกลัวความตายตัวของกฎด้วย
ถ้าในกรณีของคนที่ดีที่สุดกับกฎที่ดีที่สุดล่ะ? อันไหนจะให้ความยุติธรรมได้ดีกว่ากัน
กฎที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร? กฎที่ดีที่สุดน่าจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ถูกออกแบบให้ครอบคลุมกรณีต่างๆ หรือกรณียกเว้น ได้แก่ ความแตกต่างของบทลงโทษระหว่างหญิงหม้ายยากจนลูกสามขโมยขนมปังจากร้านค้า กับเศรษฐีนีขโมยขนมปังจากร้านค้า แต่การออกแบบให้ครอบคลุมทุกกรณีน่าจะเป็นเรื่องยาก
คนที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร? คนที่ดีที่สุดน่าจะได้แก่คนที่มีปัญญาคิดได้รอบด้าน คิดได้เอง มีคุณธรรม สามารถคิดให้ทัน และเหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยนไปได้ ที่สำคัญ คนที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นคนที่ใช้และตีความกฎที่ดีที่สุดได้ดีกว่าคนที่ด้อยปัญญาและคุณธรรม และคนที่ดีที่สุดก็น่าจะเป็นคนที่สามารถใช้และตีความกฎที่ไม่สมบูรณ์ได้ดีกว่าคนที่ด้อยปัญญาและคุณธรรมอีกด้วย
แต่ระหว่างคนกับกฎ กฎนั้นจีรังอยู่ยั้งยืนยงกว่าคน แต่ไม่ว่าจะเป็นกฎหรือคนที่ดีที่สุดหรือไม่ก็ตาม คนในรุ่นต่อๆ มาย่อมทันสมัยกว่ากฎ หรือสามารถทำให้กฎที่อยู่มานานทันสมัยและเกิดประโยชน์ได้
เรื่องที่เคยได้ยินกันคือ มีพระ 2 รูป เดินมาถึงฝั่งน้ำ พบสีกาท้องแก่คนหนึ่งยืนอยู่ต้องการที่จะข้ามลำธาร แต่ก็กลัวจะล้มจมน้ำไป เพราะนอกจากครรภ์แก่แล้ว เธอยังว่ายน้ำไม่เป็น พระรูปหนึ่งจึงตัดสินใจอุ้มนางข้ามน้ำไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้โดยปลอดภัย ต่อมา พระอีกรูปหนึ่งจึงถามพระรูปแรกนั้นว่า ท่านอุ้มสีกาได้อย่างไร ผิดวินัยของสงฆ์ พระรูปนั้นตอบกลับด้วยอาการสงบว่า เราได้วางสีกาผู้นั้นตั้งแต่ถึงฝั่งแล้ว ท่านยังไม่วางดอกหรือ?
ผู้มีปัญญาและทรงคุณธรรมจริงๆ ย่อมสามารถใช้กฎในลักษณะนี้ได้ แต่ก็อีกแหละ หากปล่อยให้มีการตีความและยกเว้นกฎ จะรู้ได้อย่างไรว่าใครคือผู้มีปัญญาและทรงคุณธรรมจริงๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ อาจจะมีคนจำนวนมากที่อ้างแบบนั้นในการทำผิดกฎ แต่ครั้นจะให้เคร่งต่อกฎอย่างเถรตรงเกินไป ก็มีปัญหาอยู่ดี
เราอาจจะออกแบบให้สมองกลคิดได้อย่างที่ว่ามาทั้งหมดนี้ แต่กระนั้น มันดูจะมีเพียง 2 แบบให้เลือก นั่นคือ ระหว่างให้สมองกลคิดถกเถียงในแบบไดอะเลคติก (หลักการที่เชื่อว่า การต่อสู้ขัดแย้งของสองสิ่งที่ตรงกันข้ามจะนำมาซึ่งสิ่งใหม่) จนไม่มีจุดจบ กับ การกำหนดจุดหมายปลายทางไว้ให้แน่นอน
แต่ถ้ากำหนดจุดหมายปลางทางไว้ตายตัว มันก็จะลงเอยเป็นกฎที่ตายตัวอยู่ดี!
ตกลงแล้ว เราจะสามารถออกแบบเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้คิดได้เหมือนมนุษย์ หรือมนุษย์ควรจะไปลอกเลียนแบบเทคโนโลยี และในที่สุดแล้ว อะไรคือเกณฑ์ที่เหมาะสมที่จะใช้วัดสิ่งที่เรียกว่า Human Progress หรือ The Progress of Humankind? ความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เผยเบื้องหลัง 'คนดังต้านระบอบทักษิณ' รวมตัว ประเดิมงานแรกลุย ป.ป.ช.
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เพื่อประเทศชาติและความยุติธรรม
'วรงค์' เซ็งเสียเวลา 1 ชั่วโมง อุตส่าห์ตั้งใจฟัง 'อิ๊งค์' แถลงผลงาน
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า#แถลงนโยบายไม่ใช่ผลงาน
'ทักษิณ' สื่อสารถึง 'สนธิ' : 'การทำอย่างเดิม ก็ไม่จำเป็นต้องเหมือนเดิม'
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
'ณัฐวุฒิ' ดับกลางอากาศ! 'เจี๊ยบ-สาวกส้ม' แห่แชร์คลิปตาสว่างหลงเชื่อ 'ไอ้เต้น' มา 20 ปี
นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล หรือ “เจี๊ยบ” อดีตสส.ก้าวไกล โพสต์คลิปวิดีโอความเห็นของผู้ที่เคยสนับสนุน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกฯ
เอาแล้ว! เปิดชื่อ 'บิ๊กเนม' รวมตัวก่อการโค่นระบอบทักษิณ3?
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส.พัทลุง โพสต์รูปภาพพร้อมข้อความระบุว่า ”นัดกินข้าวคุยกัน
นายกฯอิ๊งค์ ยืนยันจุดยืนรัฐบาล ไม่มีเจตนาแทรกแซงกองทัพ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า เรื่องนี้มีความคิดเห็นต่างกันอยู่แล้วก็ต้องรับฟังทุก