ความเป็นอิสระของสื่อจากนักการเมือง

 

การที่บ้านเรามีกฎหมายห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการสื่อ เพราะต้องการรักษาความเป็นอิสระของสื่อจากอิทธิพลเงินทุนของนักการเมืองหรือพรรคการเมือง

ขณะเดียวกัน ภายใต้ความเป็นอิสระ หากสื่อหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวต่างๆจะมีจุดยืนที่สนับสนุนพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง น่าจะถือว่าเป็นเสรีภาพของสื่อนั้น ตราบเท่าที่สื่อทุกสื่อมีอิสระและความเท่าเทียมกันที่จะสนับสนุนพรรคการเมืองหรือจุดยืนทางการเมืองที่ตนเห็นด้วย และที่สำคัญคือ ต้องมาจากอุดมการณ์ความเชื่อของสื่อนั้นเอง ไม่ใช่เป็นเพราะมีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้น  หรือให้เงินสนับสนุนหรือซื้อพื้นที่โฆษณาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ตัวอย่างที่นักการเมืองเข้าไปมีอิทธิพลต่อสื่อหนังสือพิมพ์คือ กรณีที่ลินคอล์น ประธานาธิบดีอเมริกันผู้โด่งดังและได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง ได้ทำการซื้อหนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันชื่อ “Freie Presse” ที่ตกอยู่ในสถานะลำบากทางการเงิน และให้นายธีโอดอร์ แคนิสเซียส  (Theodore Canisius) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์นั้นทำหนังสือพิมพ์หัวใหม่ขึ้นมาชื่อ Illinois Staats-Anzeiger  และมีการทำสัญญาว่า หนังสือพิมพ์จะต้องออกเป็นรายสัปดาห์และจะต้องสนับสนุนพรรครีพับลิกกัน  และหลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดี  ลินคอล์นได้ยุติการเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์นั้น และจากการที่นายธีโอดอร์ แคนิสเซียส  ได้ทำหน้าที่รับใช้อย่างจงรักภักดีในการสนับสนุนการเลือกตั้งของเขา  ลินคอล์นจึงได้แต่งตั้งให้เขาไปดำรงตำแหน่งทางการทูตเป็นกงสุลพิเศษประจำกรุงเวียนนา  (Peter Brusoe, “That time George Washington bought an election with 160 gallons of booze (and other Presidents’ Day stories)” February 12, 2016,  Bloomberg Government, https://about.bgov.com/blog/that-time-george-washington-bought-an-election-with-160-gallons-of-booze-and-other-presidents-day-stories/)

และในประเทศอย่างสวีเดน เดิมที หนังสือพิมพ์กับพรรคการเมืองต่างๆมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกัน ในความหมายที่ว่า หนังสือพิมพ์สนับสนุนจุดยืนหรือแนวทางของพรรคการเมือง และพรรคการเมืองก็สนับสนุนหนังสือพิมพ์ ดังนั้น หนังสือพิมพ์สวีเดนจึงมีจุดยืนล้อไปกับพรรคการเมืองต่างๆในสวีเดน เช่น มีหนังสือพิมพ์แนวเสรีนิยม อนุรักษ์นิยม สังคมประชาธิปไตย และที่ออกมาหลังสุดในต้นศตวรรษที่ยี่สิบคือ หนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนสนับสนุนพรรคเกษตรกรที่เป็นพรรคที่จัดตัวเองอยู่ระหว่างกลางของพรรคฝ่ายซ้ายและขวาในการเมืองสวีเดน   

ต่อมา ในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อระบบการแข่งขันกันเองระหว่างหนังสือพิมพ์ที่มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกันนั้นต้องเผชิญกับระบบการตลาด ที่หนังสือพิมพ์จะอยู่รอดได้ต้องอาศัยการขายพื้นที่โฆษณาในหนังสือพิมพ์ ทำให้เกิดปัญหาที่หนังสือพิมพ์ไม่สามารถจะรักษาจุดยืนทางการเมืองได้  เมื่อหนังสือพิมพ์แต่ละหัวไม่สามารถรักษาจุดยืนของตนได้ สภาวะความหลากหลายที่เคยมีอยู่นั้นก็ทำท่าจะเหือดหายไป อีกทั้งนักการเมืองหรือพรรคการเมืองสวีเดนก็ไม่ได้มีนโยบายที่จะทุ่มเงินของตนลงไปกับสื่อด้วย   

ดังนั้น เพื่อที่จะให้หนังสือพิมพ์มีความเป็นอิสระและรักษาจุดยืนทางการเมืองของตนไว้ได้  สวีเดนจึงได้ริเริ่มให้มีระบบกองทุนช่วยเหลือสื่อสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์ (press subsidies system) ขึ้นในปี ค.ศ. 1971 เพื่อช่วยให้หนังสือพิมพ์สามารถคงความหลากหลายและอยู่รอดได้ท่ามกลางสภาวะปัญหาการตลาดที่ผันผวน ทำให้สวีเดนสามารถรักษาระบบที่หนังสือพิมพ์แต่ละหัวยังสามารถสนับสนุนพรรคการเมืองของตนได้ต่อไป

ปัจจุบัน กองทุนช่วยเหลือหนังสือพิมพ์หรือสื่อของสวีเดนก็ยังคงมีอยู่ แต่พัฒนาให้ทันสมัยมากขึ้น โดยเพิ่มการสนับสนุนช่วยเหลือหนังสือพิมพ์ที่เผยแพร่ด้วยระบบดิจิตอลด้วย นอกเหนือจากการสนับสนุนหนังสือพิมพ์ที่ตีพิมพ์เผยแพร่ทางกระดาษ

ในช่วงปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2563) กองทุนช่วยเหลือสื่อมีการจัดสรรให้เงินช่วยเหลือโดยตรงแก่สื่อหนังสือพิมพ์และสื่ออื่นๆเป็นจำนวน 102 ล้านยูโร (3,806,904,679.80 บาท)  โดยแบ่งเป็นเงินช่วยเหลือสื่อหนังสือพิมพ์ประมาณร้อยละ 75 และสื่ออื่นๆประมาณร้อยละ 25

หนังสือพิมพ์ที่เข้าเกณฑ์ขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนช่วยเหลือสื่อจะต้องมีการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งและมีผู้บอกรับเป็นสมาชิกโดยจ่ายค่าสมัครชิกอย่างน้อย 1,500 ฉบับ ซึ่งเกณฑ์นี้ใช้ทั้งกับสื่อที่เป็นกระดาษและดิจิตอล และจำนวนเงินช่วยเหลือที่กองทุนจะให้นั้น จะคำนวณจากยอดการเป็นสมาชิกและความถี่ในการตีพิมพ์เผยแพร่

นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว กองทุนนี้ยังให้เงินช่วยเหลือสื่ออื่นๆ เช่น เวปไซต์ วิทยุและโทรทัศน์ ด้วย

ขณะเดียวกัน เป้าหมายหลักของกองทุนนี้คือ การสนับสนุนหนังสือพิมพ์ที่ประสบปัญหาเศรษฐกิจในการแข่งขันในระบบตลาด นอกจากเงินช่วยเหลือโดยตรงแล้ว ยังมีการช่วยเหลืออื่นๆอีกด้วย เช่น การลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้หนังสือพิมพ์ที่พิมพ์เผยแพร่ในรูปของกระดาษ การช่วยเหลือและลดค่าส่งในการกระจายหนังสือพิมพ์             

ปัจจุบัน กล่าวได้ว่า การเป็นเจ้าของกิจการสื่อหนังสือพิมพ์ในสวีเดนเกือบทั้งหมดแทบจะไม่มีความเกี่ยวข้องหรือมีสายสัมพันธ์อันใดกับพรรคการเมืองหรือนักการเมือง ยกเว้นสื่อออนไลน์อิสระเล็กๆเท่านั้นที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับพรรคการเมือง ส่วนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มีจำนวนมากขึ้นก็เป็นของมูลนิธิอิสระที่อาจจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองอยู่บ้าง

นอกจากระบบกองทุนช่วยเหลือสื่อจะช่วยให้สื่อต่างๆในสวีเดนมีความเป็นอิสระแล้ว ตัวนักสื่อสารมวลชนเองก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะหากตัวสื่ออยู่ได้โดยอิสระ แต่ตัวคนในสื่อขาดความเป็นมืออาชีพ ก็ยากที่สื่อจะอิสระได้

กล่าวได้ว่า สื่อสารมวลชนสวีเดนมีความเข้มแข็งมากขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 1960 หลังจากที่เริ่มมีการเรียนการสอนวิชาสื่อสารมวลชนขึ้นในสวีเดน  และจะเห็นได้ว่า นักสื่อสารมวลชนที่มีบทบาทแข็งขัน ส่วนใหญ่จะร่ำเรียนมาทางการสื่อสารมวลชนโดยตรง  มีความเข้าใจในอุดมการณ์ของความเป็นสื่ออย่างแน่วแน่ชัดเจน นั่นคือ คนเป็นสื่อจะต้องทำตัวเหมือนสุนัขเฝ้าระวัง (a watchdog) มีสถานะเป็นฐานันดรที่สามในสังคม 

กลับมาที่บ้านเรา  การมีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ห้ามไม่ให้เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นสื่อนั้น ก็คงยังต้องมีอยู่ต่อไป เพราะถ้าไม่ห้าม ก็จะมีนักการเมืองเข้าไปซื้อกิจการหรือถือหุ้นสื่อและมีอิทธิพลต่อสื่อได้

แต่ภายใต้กฎหมายดังกล่าว ก็ยังมีช่องโหว่อยู่ดี เพราะทุกวันนี้ เราก็รู้ๆกันอยู่ว่า แม้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้เป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นสื่อ แต่ญาติใกล้ชิดอย่าง แม่ พี่ น้อง ฯลฯ ก็เข้าไปถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของกิจการอยู่ดี และอย่างที่รู้ๆกันอยู่ว่า ระบบเครือญาติของเรายังแน่นแฟ้นเข้มแข็งขนาดไหน สายเลือดตัดไม่ขาด ดังนั้น ควรคิดหาทางอย่างอื่นในการทำให้สื่อทุกประเภทปลอดจากการถูกครอบงำทางการเมือง และที่สำคัญคือ คนในสื่อจะต้องมีจรรยาบรรณวิชาชีพพอที่รายงานนำเสนอข้อเท็จจริงและหลากหลายเพื่อความเป็นธรรม หรือความแฟร์ทางการเมือง     

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง

'สุริยะ' ชี้ 'วิโรจน์' พูดให้ดูดี ไม่สนนามสกุลเดียวกับ 'ธนาธร' ก็จะตรวจสอบ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม กล่าวกรณีฝ่ายค้านออกมาระบุว่าเตรียมจองคิวอภิปรายไม่ไว้วางใจกระทรวงคมนาคมว่า เป็นการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะตรวจสอบรัฐบาลถือว่าเป็นเรื่องปกติ