ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน: เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ กับ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 (ตอนที่ 6: พรรคประชาธิปัตย์ในวิกิพีเดีย)

 

ในช่วงการเลือกตั้งขณะนี้ หากคุณครูตามโรงเรียนมัธยมอยากจะให้นักเรียนได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพรรคการเมืองเพื่อจะปูทางไปสู่การมีส่วนร่วมทางการเมืองตัดสินอนาคตประเทศผ่านการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเมื่อนักเรียนอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ คุณครูอาจจะให้นักเรียนทำรายงานสั้นๆเกี่ยวกับพรรคการเมืองต่างๆที่ลงสมาชิกพรรคลงสมัครับเลือกตั้ง  ในการทำรายงานของนักเรียนสมัยนี้ ก็คงจะไม่พ้นเริ่มต้นจากการเปิดกูเกิลและมักจะหนีไม่พ้นเห็นชื่อพรรคการเมืองนั้นๆที่อยู่นำเสนอโดยวิกิพีเดีย

และเมื่อเปิดดู พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะพบคำอธิบายว่า

“พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม”

นักเรียนก็คงจะคัดลอกข้อความดังกล่าวแปะลงไปในรายงานของตน และเมื่อนำมาส่งคุณครูแล้ว คุณครูจะตรวจความถูกต้องอย่างไร ?

ก่อนอื่น ทั้งครูและนักเรียนจะต้องทราบก่อนว่า วิกิพีเดีย คือ สารานุกรมชนิดหนึ่ง ถ้ายังไม่รู้ว่าสารานุกรมคืออะไร ก็คงต้องอธิบายให้ทราบว่า ในการสื่อสารผ่านทางกระดาษหรือหนังสือ สารานุกรมคือ หนังสือที่รวบรวมความรู้ทุกแขนง หรือเฉพาะแขนงใดแขนงหนึ่ง มักเรียงตามลำดับอักษร คล้ายพจนานุกรม แต่จะต่างตรงที่พจนานุกรมจะอธิบายศัพท์ เช่น พจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ก็จะเป็นการให้คำแปลศัพท์จากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย เช่น ant แปลว่า มด เป็นต้น  แต่ถ้าอธิบายศัพท์ในภาษาเดียวกัน ก็จะอธิบายว่า มด เป็นชื่อแมลงหลายชนิดในวงศ์ Formicidae ส่วนท้องปล้องที่ ๑ หรือ ปล้องที่ ๑ และปล้องที่ ๒ ซึ่งติดกับอกคอดกิ่ว ด้านหลังซึ่ปล้องท้องดังกล่าวมีโหนกสูงขึ้น อาจจะโค้งมนหรือเป็นแผ่นแบน ลักษณะนี้ทําให้มดแตกต่างไปจากต่อ แตน และ ปลวก เป็นต้น

สารานุกรมกับพจนานุกรมจะต่างกันตรงที่พจนานุกรมจะเน้นไปที่ภาษาและศัพท์ ในขณะที่สารานุกรมจะอธิบายประเด็นเรื่องราวต่างๆ 

ปกติ เวลาใครหรือสถาบันใดจะทำสารานุกรมขึ้นมา ก็จะต้องระดมผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญมาเขียนอธิบายประเด็นต่างๆ ซึ่งอาจจะเน้นไปที่สาขาใดสาขาหนึ่ง เช่นสารานุกรมทางรัฐศาสตร์ และก่อนจะตีพิมพ์ออกมาก็มักจะมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนถึงความถูกต้องแม่นยำของคำอธิบาย และจะลงชื่อสถาบันเพื่อให้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ หรือมีคณะผู้จัดทำเพื่อความน่าเชื่อถือและความรับผิดชอบ

แต่สารานุกรมของวิกิพีเดียต่างจากสารานุกรมทั่วไป คือ เปิดเสรีผู้คนเข้ามาเขียนอธิบายเรื่องนั้นๆได้อย่างเสรี และใส่อ้างอิงข้อความที่อธิบายตามมาก็ได้ เพื่อความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลที่นำมาเขียนอธิบาย หรือหากไม่ใส่อ้างอิง ทางวิกิพีเดียก็จะมีข้อความกำกับว่าข้อความนี้ “ต้องการอ้างอิง”

ข้อดีของการเป็นสารานุกรมเสรีของวิกิพีเดีย เช่น

1. อาจจะได้ข้อมูลจากคนที่รู้รายละเอียดในเรื่องนั้นๆมากกว่านักวิชาการ เช่น คนในเหตุการณ์หรือในเรื่องราวนั้นๆที่นักวิชาการยังสำรวจไปไม่ถึง

2. นักวิชาการคนอื่นๆที่รู้เรื่องนั้นๆ แต่ไม่มีโอกาสได้เขียนเรื่องนั้นในระบบสารานุกรมกระดาษหรือแบบปิด

3. การทำสารานุกรมแบบปิดอาจจะอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาล หรือระบบเซนเซอร์ตรวจสอบอย่างใดอย่างหนึ่ง การมีพื้นที่เปิดจะทำให้ได้ข้อมูลและมุมมองที่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมใดๆ

แต่เมื่อเสรี ก็ย่อมมีข้อเสีย นั่นคือ ใครจะมาเขียนอธิบายอะไรก็ได้ และหากใส่อ้างอิงที่ค้นหายาก ก็ทำให้คนอ่านไม่สามารถไปค้นได้ หรือเป็นอ้างอิงภาษาที่ไม่ได้ใช้กันทั่วไป คนที่ไม่รู้ภาษานั้นก็ยากที่จะทำความเข้าใจ แม้ว่าบางทีวิกิพีเดียจะมีบริการแปลให้ก็ตาม

อย่างเช่นข้อความที่ขึ้นต้นอธิบายพรรคประชาธิปัตย์ว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” มีอ้างอิงถึงสี่รายการ นั่นคือ

ก.  "Demise of the Democrat Party in Thailand".                 

ข.  "Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". GlobalSecurity.org. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020. Of the four ruling coalition parties in 1987, the Democrat Party was considered to be somewhat liberal, despite its beginning in 1946 as a conservative, monarchist party.   

ค. "Thailand's main political parties". Al Jazeera. 3 July 2011. สืบค้นเมื่อ 16 May 2020. Prime Minister Abhisit Vejjajiva's ruling Democrat Party was founded in 1946. It is conservative, pro-monarchy and establishment, backed by the military and most of the Bangkok-based elite.                         

ง. Bunbongkarn, Suchit (1999), "Thailand: Democracy Under Siege", Driven by Growth: Political Change in the Asia-Pacific Region, M.E. Sharpe, p. 173, ISBN 9780765633446             

คงเป็นการยากสำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ตามโรงเรียนไทยทั่วไปที่จะตามไปดูว่าอ้างอิงทั้งสี่รายการนี้ได้พูดถึงพรรคประชาธิปัตย์แบบนั้นจริงๆหรือไม่

อุปสรรคประการแรกคือ ความขี้เกียจ  ประการที่สองคือ ภาษา                 

โดยส่วนใหญ่ ตามโรงเรียนทั่วไป ครูที่สอนสังคมศึกษาหรือประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่ถนัดภาษาอังกฤษ เมื่อทั้งครูและนักเรียนไม่สันทัดภาษา จะไปตรวจสอบว่าแหล่งอ้างอิงเขียนข้อความที่ว่านั้นได้อย่างไร ? 

สมมุติว่า ไม่มีปัญหาด้านภาษา และไม่ขี้เกียจ และตามไปอ่านข้อความตามรายการอ้างอิงแล้ว และสมมุติว่า มีข้อความที่ว่า พรรคประชาธิปัตย์ “ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษ์นิยม” จริงๆ  เราจะรู้ได้อย่างไรว่า แหล่งอ้างอิงนั้นกล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หากไม่มีใครเข้ามาเขียนแย้งหรืออธิบายเป็นอย่างอื่น ! 

ขณะเดียวกัน เราจะตรวจสอบสถานะความน่าเชื่อถือของแหล่งอ้างอิงนั้นได้อย่างไร ?

เช่น สองรายการแรกที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงไปในตอนก่อนๆ นั่นคือ  "Demise of the Democrat Party in Thailand". ที่เป็นบทความหนังสือพิมพ์สั้นๆของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) ที่สังกัดองค์กรที่มีชื่อว่า Council on Foreign Relations และบทความที่สองเรื่อง "Democrat Party (DP) / Phak Prachathipat". ที่ไม่ได้บอกชื่อบุคคลผู้เขียน แต่ลงไว้ว่าเป็นองค์กรชื่อ Globalsecuity.org 

ที่นี้ หากคุณครูและนักเรียนค้นตามไปจนเจอบทความและองค์กรที่รับผิดชอบการเผยแพร่บทความนั้น แล้วยังไงต่อ ? 

เราจะตรวจสอบสถานะความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้นได้อย่างไร ?

เพราะเมื่อค้นเพิ่มเติมไปแล้ว โดยเบื้องต้น ก็จะพบคำอธิบายองค์กรซึ่งเขียนโดยองค์กรนั้น หรืออีกนัยหนึ่ง คำอธิบายตัวเองโดยตัวเอง

แล้วใครจะเขียนถึงตัวเองว่า ไม่น่าเชื่อถือบ้างหละครับ ?!               

มิพักต้องถามว่า จะมีครูและนักเรียนสักกี่คนจะฝ่าอุปสรรคภาษาและความขี้เกียจจนไปอ่านข้อเขียนที่เป็นแหล่งอ้างอิงนั้นๆ  และยังจะค้นคว้าต่อถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้นๆต่อไปอีก

และหากค้นคว้าถึงแหล่งข้อมูลที่ประเมินความน่าเชื่อถือขององค์กรนั้น ที่ไม่ใช่ที่องค์กรนั้นๆเขียนขึ้นเอง ก็จะพบแหล่งประเมินอีกมากมาย จนไม่รู้ว่าจะเชื่อแหล่งไหนดี ดีไม่ดีแหล่งประเมินนั้นก็ถูกสร้างโดยองค์กรนั้นๆเสียอีก   

เพราะการสร้างอะไรๆขึ้นบนโลกออนไลน์ในกูเกิล มันยากเสียที่ไหน               

และที่สำคัญคือ คนประชาธิปัตย์เองสักกี่คนจะเข้ามาดูตัวเองในวิกิพีเดีย จะมีสักกี่คนที่ให้ความสำคัญกับเรื่องราวของตัวเองที่คนอื่นสร้างหรือตีตราให้  และเมื่อปล่อยไป ไม่สนใจ มันก็จะลงเอยตามคำที่ว่า “อดีตกำหนดปัจจุบัน ปัจจุบันกำหนดอนาคต ใครกำหนดปัจจุบัน กำหนดอดีตและอนาคต”

ใครในปัจจุบันเป็นผู้กำหนดความหมายของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตได้ ก็จะทำให้คนในปัจจุบันเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความเป็นมาเช่นนั้น และจะส่งผลต่อความเป็นไปของพรรคในปัจจุบันและอนาคต 

ผู้เขียนเคยกล่าวถึง Council on Foreign Relations ไปแล้วว่าเป็นองค์กรอะไร คราวต่อไป จะได้กล่าวถึง Globalsecuity.org และพากันไปดูการกล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์ของ Al Jazeera                        

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.เอ้' เรียก 'ทีมกทม. ปชป.' ประชุมวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร เรียกประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และคณะทำงานพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเชิญ น.ต. สุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าพรรค

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

'อดีตแม่ยกปชป.' เตือน 'ทักษิณ' พาดพิง 'ชวน' ถือว่าคิดผิด เชื่อใกล้จบอนาคตในเร็ววันนี้

นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489

'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา