ประวัติศาสตร์ของปัจจุบัน: เรื่องพรรคประชาธิปัตย์ กับ การเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 (ตอนที่ 3: รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย Joshua Kurlantzick)

 

สมัยก่อนใครอยากจะรู้ว่าพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแบบไหนและมีความเป็นมาอย่างไร คงต้องไปค้นตามห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเพื่อค้นหาหนังสือและงานวิจัยที่กล่าวถึงพรรคประชาธิปัตย์  แต่สมัยนี้ คงจะเริ่มกันที่วิกิพีเดียในกูเกิลเสียเป็นส่วนใหญ่ และพรรคประชาธิปัตย์ตามข้อมูลในวิกิพีเดีย ก็เริ่มต้นว่า “พรรคประชาธิปัตย์ (ย่อ: ปชป.) เป็นพรรคการเมืองไทยที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นในฐานะพรรคฝ่ายกษัตริย์นิยม และปัจจุบันเป็นพรรคฝ่ายอนุรักษนิยม” โดยมีเชิงอรรถอ้างอิง 4 รายการ โดยรายการแรกเป็นบทความเรื่อง "Demise of the Democrat Party in Thailand" (มรณกรรมของพรรคประชาธิปัตย์) เป็นข้อเขียนของ Joshua Kurlantzick (โจชัว เคอร์แลนต์ซิค) เป็นบทความความยาวขนาด 45 บรรทัด เผยแพร่ในบล๊อกโพสต์ (blogpost) ทางอินเตอร์เนทวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 (December 9, 2013 12:47 pm)

ในบทความนี้  โจชัว เคอร์แลนต์ซิคได้กล่าวว่า “เมื่อชนชั้นกลางและคนชนชั้นแรงงานในชนบทมีพลังมากขึ้น คนประชาธิปัตย์ก็เริ่มเป็นอนุรักษ์นิยมมากขึ้น มีความคิดแบบชนชั้นนำไม่ฟังเสียงประชาชนทั่วไปมากขึ้นและเป็นปฏิปักษ์กับประชาธิปไตยมากขึ้น”

แต่ก่อนที่คนประชาธิปัตย์หรือคนที่เชียร์ประชาธิปัตย์จะด่วนตัดสินว่า คุณเคอร์แลนต์ซิคมีอคติ เป็นพวกทักษิณหรือเป็นพวกเสื้อแดง  ขอให้อ่านบทความเรื่อง “Tanks Roll in Thailand” (รัฐประหารในประเทศไทย) ที่เขาเขียนและเผยแพร่ในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2549 (https://www.washingtonpost.com/archive/opinions/2006/09/24/tanks-roll-in-thailand/d07cd2df-5634-4888-ab63-02b0d3330c1d/)  ห้าวันหลังรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งในขณะนั้น คุณเคอร์แลนต์ซิคมีอายุ 30 ปี

ในบทความดังกล่าว คุณเคอร์แลนต์ซิคได้กล่าวว่า

เมื่อผมมาเมืองไทยในช่วงฤดูร้อน พ.ศ. 2547 เรื่องราวของทักษิณ ชินวัตร คือเขาเป็นนายกรัฐมนตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง  วิกฤตเศรษฐกิจในเมืองไทยที่เป็นผลจากวิกฤตการเงินเอเชียนในช่วงปลายทศวรรษ 2533 ก็ได้กลับฟื้นคืนมา มีนักลงทุนต่างชาติกลับมาลงทุนในประเทศ ตลาดหุ้นเติบโตและมีการจับจ่ายบริโภคสูงมาก ตามร้านอาหารหรูย่านขุมวิท จะเห็นชนชั้นกลางระดับสูงในชุดเลิศหรูนั่งทานทาปาส (tapas) และดื่มไวน์ราคาแพง           

ทักษิณได้เดินทางไปประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างภาคภูมิใจ และโอ้อวดว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค และโฆษณาตัวแบบ ‘ทักษิโณมิกส์’ (Thaksinomics) ให้ประเทศอื่นๆเอาอย่าง        

การเมืองก็ดูจะดำเนินไปได้ตามรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเวลาเกือบสิบห้าปีที่ไม่มีรัฐประหาร ทำให้ประเทศสามารถสร้างประชาธิปไตยที่แข็งขัน โดยในปี พ.ศ. 2540 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาค                 

แต่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ก็อยู่ได้ไม่นาน โดยในช่วงต้นปีนี้ (ต้นปี พ.ศ. 2549/ผู้เขียน) ผู้คนนับหมื่นได้มารวมตัวกันบนท้องถนนขับไล่ทักษิณ ระบบการเมืองของไทยได้พังทลายลง การก่อความไม่สงบทางใต้กลายเป็นสงคราม  เศรษฐกิจเริ่มดิ่งเหว  และสถานการณ์มาถึงจุดวิกฤตเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  เมื่อเกิดการทำในสิ่งที่ย้อนยุค นั่นคือ ทหารทำรัฐประหาร ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2533         

จริงๆแล้ว การเห็นภาพทหารติดอาวุธในชุดพรางเดินลาดตระเวนตามถนนต่างๆในกรุงเทพดูเป็นเรื่องที่น่าตกใจ เพราะภาพแบบนี้น่าจะเหมาะกับพม่าหรือมอริทาเนียมากกว่าจะเป็นภาพที่เห็นในเมืองที่เต็มไปด้วยศูนย์การค้า ที่เต็มไปด้วยของแบรนด์เนมอย่างวิตตองและชาแนล

แต่ความตกต่ำของประเทศที่มีอนาคตอันสดใสนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วอย่างที่เห็น เพราะตั้งแต่ทักษิณได้รับเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2544  เขาได้ทำลายสถาบันประชาธิปไตยต่างๆของไทยลงอย่างช้าๆ และนโยบายเศรษฐกิจต่างๆของเขา แม้ว่าจะประสบความสำเร็จตอนเริ่มต้น แต่เขาก็เอาอนาคตของประเทศมาจำนอง (หรืออีกนัยหนึ่งคือ ใช้เงินอนาคต/ผู้เขียน)  ผลที่ตามมาก็คือ เมื่อเขาจำเป็นที่ต้องระดมการสนับสนุนจากผู้ที่มีหัวประชาธิปไตยในสัปดาห์ที่แล้ว (ช่วงเกิดรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549/ผู้เขียน) ก็มีคนเพียงน้อยนิดที่จะอยู่ข้างเขา

ทักษิณเข้าสู่การเมืองในฐานะเจ้าของกิจการโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ เขาได้โฆษณาตัวเองในฐานะที่เป็นผู้นำซีอีโอ ที่ตัดสินใจอย่างรวดเร็วเด็ดขาด ภาพลักษณ์ของคนที่ร่ำรวยที่สุดส่งผลให้เขาเป็นที่นิยม โดยเฉพาะในประเทศที่เคยชินแต่กับการเมืองภายใต้รัฐบาลผสมที่ขับเคลื่อนอะไรได้ช้าและมีแต่ความแตกแยก อีกทั้งเขายังมีนโยบายประชานิยมต่างๆที่จะผันเงินของรัฐไปสู่พื้นที่ในชนบท สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้เขาชนะการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2544 และ พ.ศ.2548                   

แต่ทักษิณดูเหมือนจะไม่เคยเข้าใจประชาธิปไตยที่ต้องมีฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล เขาไม่เคยเข้าใจว่า เขาไม่สามารถจะทำอะไรก็ได้เหมือนการสั่งการในองค์กรธุรกิจของเขา  ในทางตอนใต้สุดของประเทศ ที่เป็นถิ่นของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม ที่มีความไม่พอใจมายาวนานต่อคนพุธที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ  ทักษิณสั่งยกเลิกองค์กรที่มีไว้เพื่อรับฟังการร้องเรียนของคนในพื้นที่ และเข้าควบรวมอำนาจเหนือสถานการณ์ในภาคใต้ในแบบที่เกือบจะเบ็ดเสร็จ             

ในกรุงเทพ บริษัทของครอบครัวของทักษิณได้ซื้อสถานีโทรทัศน์ที่เสรีที่สุดของประเทศ (ITV ทีวีเสรี/ผู้เขียน)  และไล่ผู้สื่อข่าวที่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ออก และใช้สำนักงานปราบปรามทุจริตการฟอกเงินของรัฐบาลเข้าข่มขู่ผู้รายงานข่าวอื่นๆ  และมีการไล่ข้าราชการที่ตั้งคำถามกับนโยบายของเขาออก รวมทั้งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้นำกองทัพที่มีหัวปฏิรูป  และแต่งตั้งคนที่ใกล้ชิดเขาไปลงในตำแหน่งสำคัญๆในองค์กรอิสระต่างๆ ที่จริงๆแล้วควรจะต้องเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระจากรัฐบาล โดยองค์กรอิสระเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540    อีกทั้งยังมีการตั้งข้อกล่าวหาปลุกปั่นยุยงต่อคนที่วิจารณ์เขา และเขาได้ทำลายอำนาจศาลอย่างเปิดเผย   

ขณะเดียวกัน นโยบายเศรษฐกิจต่างๆของเขาก็มักจะถูกออกแบบมาให้เอื้อประโยชน์แก่อาณาจักรธุรกิจโทรคมนาคมของเขา แม้ว่า แรงจูงใจจากระบบการเงินทักษิโณมิกส์จะนำพาให้เศรษฐกิจก้าวกระโดด แต่ก็ทิ้งให้ประเทศต้องจมอยู่กับหนี้สินมหาศาล และล้มเหลวในการสร้างอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง ที่จะสามารถแข่งขันกับเศรษฐกิจของจีนหรือประเทศอื่นๆในเอเชียได้

ในเดือนมกราคม (พ.ศ. 2549/ผู้เขียน) ครอบครัวของเขาได้ขายหุ้นกิจการโทรคมนาคมให้กับบริษัทสิงคโปร์ในมูลค่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐโดยไม่ได้เสียภาษีเลย ในการศึกษาของมหาวิทยาลัยแวนเดอร์บิลท์ในปี พ.ศ. 2546 พบว่า แปดในสิบกลุ่มบริษัทในประเทศไทยมีคนของตนอยู่ในคณะรัฐมนตรีของทักษิณที่มีการเชื่อมต่อกับบริษัทของพวกตน

และยิ่งเขามีอำนาจมากขึ้น เขาก็ยิ่งโจมตีศัตรูของเขามากขึ้น เขาโจมตีองค์กรสื่ออิสระที่ยังคงเหลืออยู่   เขาปฏิเสธที่จะรับฟังเสียงเรียกร้องให้ประนีประนอมในกรณีปัญหาภาคใต้ ที่ความโกรธแค้นได้กลายเป็นความรุนแรงที่ขยายตัวในวงกว้าง  กลับกัน เขาอาจจะแอบปล่อยให้หน่วยล่าสังหารปฏิบัติการในทางใต้  เกิดการหายตัวไปของผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน  เพียงสองปีที่ผ่านมา ผู้คนในภาคใต้กว่า 1,200 คนเสียชีวิต ด้วยฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ   

การปฏิบัติการกวาดล้างของรัฐบาลในภาคใต้ยิ่งทำให้ปัญหาเลวร้ายขึ้น  ในตอนค่ำของทุกวัน ในสามจังหวัดภาคใต้  จะรู้สึกเหมือนอิรัคมากกว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่เป็นประชาธิปไตยสมัยใหม่  ตามสี่แยกหลัก จะมีทหารพร้อมปืนกลหนักนั่งอยู่ในกำบังกระสอบทราย และมีทหารที่หยุดรถและตรวจค้นผู้โดยสาร  ส่วนในเส้นทางที่ไม่ใช่เส้นทางหลัก  ผู้ก่อความไม่สงบก็จะแอบซุ่มยิงตำรวจและวางระเบิดอาคารสถานที่ราชการ

ในที่สุด การกระทำของทักษิณก็เป็นสิ่งที่เกินกว่าจะรับได้  นายทหารและชนชั้นนำทางการเมืองไม่พอใจกับการโกงและการใช้อำนาจโดยไม่ถูกกฎหมาย (corruption) อย่างเห็นๆของทักษิณ พวกเขาได้กล่าวกับผมว่า กองทัพต้องสูญเสียทหารในภาคใต้โดยไม่มีแผนการใด  และที่เลวร้ายกว่านั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯที่เป็นที่เคารพของประเทศ  ได้ทรงมีพระราชดำรัสอย่างอ้อมๆวิจารณ์ทักษิณในเดือนธันวาคม ปีที่แล้ว แต่เขาก็ไม่ฟัง

ทักษิณควรจะให้ความเคารพต่อองค์พระมหากษัตริย์ ที่ได้รับการยกย่องประดุจเทพของประเทศไทย  ด้วยทรงนำพาประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองมาหลายครั้งในหลายทศวรรษที่ผ่านมาแต่ทักษิณดูเหมือนจะไม่ให้ความสนใจพระมหากษัตริย์ และแม้ว่าคนจนยังคงรักทักษิณอยู่ แต่การประท้วงตามท้องถนนได้ปะทุขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม ซึ่งเป็นการประท้วงที่ไม่มีความรุนแรงในการชุมนุมประท้วงครั้งหนึ่ง คนกรุงเทพนับหมื่นรวมตัวกันที่ท้องสนามหลวง สวมเสื้อยืดล้อเลียนทักษิณ เต้นไปตามเพลงที่ต่อต้านทักษิณ ตะโกนข้อความต่างๆ และนั่งทานของกินเล่นกัน           

กระนั้น การประท้วงตามท้องถนนอาจจะทำให้กองทัพมีความมั่นใจที่จะเข้าแทรกแซง โดยเฉพาะหลังจากที่ทักษิณชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในเดือนเมษายน (การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549/ผู้เขียน) ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่ยังมีข้อถกเถียงกันอยู่รัฐประหารที่นำโดย พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน  ผู้บัญชาการทหารบกและเป็นพันธมิตรกับทางในวัง คณะรัฐประหารใส่สีที่เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ และต่อมา พระมหากษัตริย์ทรงรับรองการเปลี่ยนรัฐบาลของพลเอกสนธิ

หลังเกิดรัฐประหาร เห็นได้ชัดว่า พวกเสรีนิยมที่โดดเด่นของประเทศก็ไม่ได้ออกมาตอบโต้การทำรัฐประหารมากเท่าไรนัก  แม้ว่าทักษิณจะชนะการเลือกตั้งมาสามครั้ง (พ.ศ. 2544, 2548, 2549/ผู้เขียน) และองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์กรสิทธิมนุษยชน (Human Rights Watch) ต่างประณามการทำรัฐประหารของพลเอกสนธิ  อดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัยก็กล่าวว่า ‘ในฐานะนัการเมือง เราไม่สนับสนุนรัฐประหารแต่...ทักษิณเป็นต้นเหตุของวิกฤต’

ขณะนี้ ประเทศไทยกำลังอยู่ในสถานะที่หมิ่นเหม่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง  รัฐบาลทหารสัญญาว่าจะตั้งพลเรือนให้เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ และกำหนดให้มีการเลือกตั้งในปีหน้า แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารก็ประกาศกฎอัยการศึกและจับกุมนักเคลื่อนไหวที่พยายามจะประท้วงการทำรัฐประหาร

จากการเอาทักษิณออกไป กองทัพอาจจะได้ผู้นำที่มีแนวโน้มต่อต้านประชาธิปไตย และการทำรัฐประหารก็ได้ฉีกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ลงไปแล้ว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกคาดหวังว่าจะเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้กองทัพเข้ามีมีบทบาทในการเมือง พลเอกสนธิเองก็เคยกล่าวไว้ปีที่แล้วว่า ‘ ปัญหาการเมืองก็ควรแก้ด้วยนักการเมือง’             

และหากมีการเลือกตั้งอีกครั้ง และทักษิณก็น่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งอย่างชอบธรรมอีก เพราะเขายังเป็นที่นิยมในหมู่คนยากจน  มันก็จะเป็นเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองที่จะดำเนินต่อเนื่องไป เหมือนอย่างที่เกิดขึ้นกับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างฟิลิปปินส์ ซึ่งมันจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดที่เกิดขึ้นกับประเทศที่มีอนาคตสดใส

    

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ดร.เอ้' เรียก 'ทีมกทม. ปชป.' ประชุมวางยุทธศาสตร์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รับผิดชอบกรุงเทพมหานคร เรียกประชุมสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และคณะทำงานพรรคในพื้นที่กรุงเทพฯ พร้อมกับเชิญ น.ต. สุธรรม ระหงษ์ รองหัวหน้าพรรค

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

'อดีตแม่ยกปชป.' เตือน 'ทักษิณ' พาดพิง 'ชวน' ถือว่าคิดผิด เชื่อใกล้จบอนาคตในเร็ววันนี้

นางกาญจนี วัลยะเสวี หรือ ติ๊งต่าง เจ้าของฉายาไฮโซสปอร์ตคลับและแกนนำกลุ่ม ชาวไทยหัวใจรักสงบ อดีตแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความว่า

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489

'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา