ไม่ว่าลุงป้อมจะเขียนจดหมายเล่าความหลังเรื่องความปรารถนาของลุงตู่ที่จะลงการเมืองในปี พ.ศ. 2562 อย่างไร แต่ที่แน่ๆคือ กว่าลุงตู่จะตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐก็ล่อเข้าไปวันสุดท้ายของการรับสมัครของ กกต. นั่นคือ วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 8 กุมภาฯปีนั้น หลายคนก็ลุ้นกันตัวโก่งว่า ตกลงแล้ว ลุงตู่จะลงสนามเลือกตั้งแน่หรือไม่
แต่สนามเลือกตั้งปีนี้ ลุงตู่แกไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตั้งแต่ไก่โห่ ที่ว่าไก่โห่ เพราะสภาผู้แทนราษฎรก็ยังไม่ได้ยุบหรือครบวาระ แต่ลุงตู่แกก็ไปสมัครเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ อันเป็นครั้งแรกในชีวิตของแกที่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง และคิดว่า แกคงไม่เปลี่ยนใจในวินาทีสุดท้ายไม่ยอมเป็นแคนดิเดทให้รวมไทยสร้างชาติ เพราะถ้าทำอย่างนั้น บอกได้เลยว่า ตายยกรัง และนักการเมืองทั้งหลายที่ย้ายไปรวมไทยสร้างชาติคงเลิกคบลุงตู่ไปอีกสิบชาติ
ในตอนที่แล้ว ได้เล่าว่า ในปี พ.ศ. 2562 หลังจากทูลทูลกระหม่อมทรงรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคไทยรักษาชาติและไปสมัครที่ กกต. เวลา 09.10 น. หลังจากนั้นเพียง 5 นาที ในเวลา 09.15 น. พลเอกประยุทธ์ก็ประกาศรับเป็นแคนดิเดทตามมาติดๆ
ทำให้ตอนนั้นมีข้อสันนิษฐานได้ว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลุงตู่ตัดสินใจรับการเสนอรายชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐคือ การที่ทูลกระหม่อมรับการเสนอชื่อของพรรคไทยรักษาชาติ เป็นไปได้ว่า หากไม่มีปัจจัยทูลกระหม่อม ลุงตู่อาจจะไม่ลง และจะปล่อยให้นักการเมืองว่ากันไปตามประสานักการเมือง
แต่ที่ต้องลง เพราะหากไม่ลง มีความเป็นไปได้สูงว่า ทูลกระหม่อมจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เพราะอะไรถึงเป็นไปได้สูง ?
ถ้ายังจำกันได้ ตอนนั้น มีพรรคการเมืองที่อยู่ในเครือเดียวกัน อันได้แก่ เพื่อไทย เพื่อชาติ และไทยรักษาชาติ โดยมีศัพท์อธิบายการแบ่งภาคกันตั้งพรรคต่างๆทั้งๆที่เป็นพวกเดียวกันก็คือ “แตกแบงค์” เพื่อรับมือกับระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว คะแนนไม่ทิ้งน้ำ และสูตรหารบัญชีรายชื่อที่ซอยย่อยยิบ ที่ทำให้พรรคใหญ่อย่างเพื่อไทยอาจจะไม่ได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพราะได้ ส.ส. เขตเต็มแม็คแล้ว การแตกแบงค์จะช่วยให้ได้ ส.ส. มากขึ้น ขณะเดียวกัน ในบางพื้นที่ บางพรรคก็ไม่ส่งคนลงสมัครเพื่อเปิดทางให้พรรคพันธมิตรที่เป็นแบงค์ย่อย
ผมยังจำได้ดีว่า ตอนกลางวันของวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 หลังจากที่ข่าวทูลกระหม่อมรับเป็นแคนดิเดทให้พรรคไทยรักษาชาติแพร่กระจายไปทั่ว มีลูกศิษย์ลูกหาของผมที่เป็นพี่น้องเสื้อแดงภาคอีสานบ้าง ภาคเหนือบ้างต่างพากันโทรมาหาผมและถามว่าเป็นเรื่องจริงหรือเปล่าที่ทูลกระหม่อมเป็นแคนดิเดทไทยรักษาชาติ
ที่จริงไม่รู้ว่าจะต้องมาถามผมอีกทำไม เพราะผมกับพวกเขาต่างก็รู้เรื่องจากแหล่งข่าวเดียวกันนั่นแหละ ผมก็ได้แต่ตอบไปว่า น่าจะจริง เพราะเห็นเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ
พวกเขาที่เป็นพี่น้องเสื้อแดงทั้งภาคอีสานและภาคเหนือต่างบอกว่า ดีใจมากที่ทูลกระหม่อมลง และบ้านเมืองจะได้ปรองดองสงบเสียที และต่างพากันชื่นชมสรรเสริญไปถึงเบื้องบนว่า หลังเลือกตั้ง บ้านเมืองจะสงบเพราะบารมีพระองค์ท่าน พวกเขาตีความไปเองว่า การที่ทูลกระหม่อมลงเล่นการเมืองโดยรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยรักษาชาตินั้น เบื้องบนหรือในหลวงรัชกาลที่สิบน่าจะทรงทราบ และเมื่อทรงทราบแล้ว และไม่ทรงขัดข้อง ก็แปลว่า พระองค์ทรงสนับสนุนไทยรักษาชาติด้วย และเมื่อสนับสนุนไทยรักษาชาติซึ่งเป็นพรรคแตกแบงค์พันจากเพื่อไทย ก็แปลว่า สนับสนุนฝ่ายคุณทักษิณและพี่น้องประชาชนเสื้อแดง
ปฏิเสธไม่ได้หรอกครับว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการตีความเข้าข้างตัวเองเช่นนั้น ก็น่าจะไม่ต่างจากที่คนจำนวนหนึ่งในฝ่ายเสื้อเหลืองพันธมิตรฯและกปปส. เคยตีความเข้าข้างตัวเองไปต่างๆนานาเกี่ยวกับเบื้องสูง ยกเว้นบางกรณีที่ชัดเจน เช่น กรณีงานศพน้องโบ
ลูกศิษย์เสื้อแดงของผมที่อีสานและเหนือต่างยืนยันกับผมว่า เมื่อเป็นอย่างที่พวกเขาเข้าใจ พวกเขาก็ตัดสินใจง่ายมากว่าจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้พรรคใดระหว่างเพื่อไทย เพื่อชาติและไทยรักษาชาติ นั่นคือ พวกเขาจะลงให้ไทยรักษาชาติเพื่อหวังให้ทูลกระหม่อมได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประชาชนชาวไทยทั้งประเทศ
แต่สำหรับลุงตู่ การรับเป็นแคนดิเดทของทูลกระหม่อมน่าจะเป็นปัญหาสำคัญสำหรับลุงตู่และการเมืองไทย เพราะนั่นหมายถึงชัยชนะถล่มทลายของฝ่ายคุณทักษิณ อีกทั้งจะสร้างปัญหาความยุ่งยากในกระบวนการทางรัฐสภา ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลโดยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้ทูลกระหม่อม
อีกทั้งในการลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรีของทั้งสองสภา หากฝ่ายเพื่อไทยและพรรคการเมืองที่รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนราษฎร และต้องรอเสียงจากวุฒิสภาเติมเต็มให้ได้เสียง 376 เสียง วุฒิสมาชิกจะกล้าไม่ลงคะแนนให้ทูลกระหม่อมหรือ ? เพราะการลงพรรคไทยรักษาชาติของทูลกระหม่อมได้ก่อให้เกิดข้อสงสัยและการตีความไปต่างๆนานาเกี่ยวกับเบื้องสูง
พูดง่ายๆก็คือ แม้นพรรคในฝ่ายเพื่อไทยจะได้ ส.ส. ไม่เกินครึ่งสภา แต่ก็อาจจะได้เสียงสนับสนุนของวุฒิสภาจนถึง 376 เรียกว่ามีโอกาสสูงมากที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปคือทูลกระหม่อมแต่ถ้าได้เสียงเกิน 250 วุฒิสภาก็ยิ่งยากที่จะไม่ลงคะแนนให้
นอกจากนี้ ไม่ว่าลุงตู่หรือคนทั่วไปไม่ว่าจะเสื้อสีอะไร ย่อมอดคิดไม่ได้ว่า การที่ทูลกระหม่อมลงไทยรักษาชาตินั้นย่อมต้องเกี่ยวข้องกับคุณทักษิณอย่างแน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่คุณทักษิณจะไม่รู้เรื่องอะไรเลย
เป็นไปได้หรือไม่ว่า การลงพรรคไทยรักษาชาติของทูลกระหม่อมเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ลุงตู่ต้องลงแข่งเป็นนายกรัฐมนตรีในโควต้าของพรรคพลังประชารัฐ เพราะลุงตู่ไม่ยอมรับการเล่นเกมแบบนี้ของคุณทักษิณ ซึ่งถือว่าลุงตู่ใจถึงและกล้ามากๆที่จะตัดสินใจรับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐเพียงไม่กี่นาทีต่อมาหลังจากที่ทูลกระหม่อมลงสมัคร
ที่ว่าใจถึงและกล้ามาก ก็เพราะว่า หากการลงสมัครของทูลกระหม่อมหมายถึงมีสัญญาณไฟเขียวจากเบื้องบน ก็แปลว่า ลุงตู่พร้อมแข่งภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว และจะนำมาซึ่งการแตกแยกในกองทัพตามมาด้วย เพราะอะไรคงไม่ต้องสาธยาย
ถ้าจะถามว่าลุงตู่รู้ล่วงหน้าหรือไม่ว่า ทูลกระหม่อมจะลงสมัคร สันนิษฐานว่า ไม่น่ารู้ เพราะแม้แต่นักการเมืองชั้นนำของพรรคเพื่อไทยก็ไม่น่ารู้ เพราะถ้ารู้ คนอย่างคุณหญิงสุดารัตน์และท่านอื่นๆก็ไม่น่าจะยอมอยู่ในรายชื่อแคนดิเดทสามชื่อของพรรคเพื่อไทย โดยรู้ทั้งรู้ว่าตนถูกใช้เป็นแค่หมากตัวล่อเท่านั้น
ขณะเดียวกัน ผมก็ไม่เชื่อว่า การลงสมัครของทูลกระหม่อมจะเป็นการริเริ่มโดยลำพังของพระองค์เอง โดยไม่มีใครทูลเชิญ คนที่ทูลเชิญจะเป็นใครนั้น ไม่สามารถตอบได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าเดากันได้
คนที่วางแผนดังกล่าวนี้ ย่อมคิดแล้วว่า แผนนี้มีแต่ได้กับได้ ถ้าจะเสียก็น้อยมาก
ได้กับได้คืออะไร ? และเสียน้อยมากที่ว่านี้เสียอะไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป หรือในระหว่างที่รอตอนต่อไป ท่านอาจจะลองจินตนาการดูเองก่อนก็ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไปอีกพรรค! ราชกิจจาฯ ประกาศสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งเรื่อง พรรคเสมอภาคสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ACT เปิด '10 ทุจริต อบจ.' เสียหาย 377 ล้าน เฉพาะอุบลฯ โกงถึง 42 คดี
ACT เปิดข้อมูล '10 ทุจริตจัดซื้อจัดจ้าง' อบจ. ตั้งคำถาม 'ป.ป.ช.' ทำไมคดีน้อยแค่หลักสิบ สวนความเชื่อประชาชน งบท้องถิ่นโกงกันอื้อ
ดร.เสรี ถามพรรคการเมืองฝ่าย ‘อนุรักษ์นิยม’ จะรวมกันกี่โมง?
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า ส้มเลือ
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร