เรื่องของลุงตู่กับตัวแบบในประวัติศาสตร์การทำรัฐประหาร

 

สตอรี่ของลุงตู่กับประวัติการทำรัฐประหารนี้ ผู้เขียนขอย้อนเวลากลับไปในประวัติศาสตร์พอสมควร คงยังจำกันได้ว่า หลังลุงตู่ทำรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ใหม่ๆ ผู้คนก็ลุ้นกันอยู่ว่าลุงตู่จะใช้สูตรไหนเกี่ยวกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 

เพราะในประวัติการทำรัฐประหารบ้านเรา หลังรัฐประหาร การได้นายกรัฐมนตรีมีหลายสูตรอยู่ เป็นอย่างไรลองมาดูกัน                         

รัฐประหารครั้งแรก เดือนมิถุนายน 2476 (รัฐประหารครั้งนี้จะเป็นครั้งที่เท่าไรแน่ ยังเป็นที่ถกเถียง แต่ไม่ขอกล่าวในทีนี้ เพราะมันจะยาว)  คีย์แมนที่ทำรัฐประหารคือ หลวงพิบูลสงคราม (ทหารบก) กับหลวงศุภชลาสัย (ทหารเรือ)  และหลวงพิบูลสงครามเป็นคีย์แมนคนสำคัญกว่าหลวงศุภชลาสัย   แต่ใช้ชื่อพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และยกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหาร เพราะตัวหลวงพิบูลฯไม่มีบารมีพอจะเป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่มีอำนาจพอที่จะทำรัฐประหาร 

รัฐประหารครั้งนี้เข้าข่าย คีย์แมนทำ แต่ให้ผู้ใหญ่เป็นหัวหน้า และตัวเองไม่เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ให้ผู้ใหญ่เป็น                                 

ต่อจากรัฐประหารมิถุนายน 2476 คือ รัฐประหารพฤศจิกายน 2490  ข้อมูลบอกว่าพลโทผิน ชุณหะวัณเป็นคีย์แมนและเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ให้นายควง อภัยวงศ์เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐประหารครั้งนี้เข้าข่าย คีย์แมนทั้งทำและเป็นหัวหน้า แต่ตัวเองไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเลยตลอดชีวิต       

แต่ที่น่าสังเกตคือ หลังรัฐประหาร 1 วัน พลโทผินได้ไปเชิญจอมพล ป. ให้มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย และหลังจากนายควงเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่สามเดือน มีการเลือกตั้ง ปรากฎว่ากลุ่มการเมืองของนายควงชนะเลือกตั้ง นายควงจึงได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกในเดือนกุมภาพันธ์ 2491 แต่เป็นได้แค่สองเดือน พลโทผินและคณะรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 ก็มาจี้บังคับให้นายควงลาออก แต่คราวนี้พลโทผินและคณะได้พากันยกให้จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี                           

ฟังๆดูแล้ว รัฐประหารพฤศจิกายน 2490 น่าจะเป็นรัฐประหารที่สลับซับซ้อนพอสมควร  เพราะทหารที่ทำรัฐประหาร (พลโทผิน) ทำเสร็จไปเชิญให้ทหารอีกคนมาดำรงตำแหน่งสูงสุดทางการทหาร (จอมพล ป.) และตั้งพลเรือนให้เป็นนายกรัฐมนตรี (นายควง) แต่ไปๆมาๆ ทหารที่ทำรัฐประหารก็ไล่นายควงออกไป และยกให้จอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี               

ทำให้สงสัยว่า ตกลง จริงๆแล้ว จอมพล ป. อยู่เบื้องหลังการทำรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 ตั้งแต่ต้นหรือเปล่า ? แต่ที่ไม่ผลีผลามเป็นตั้งแต่หลังรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 เนื่องจากชื่อเสียงตัวเองยังแย่อยู่หลังพาไทยไปร่วมกับญี่ปุ่นและแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง จึงรอดูจังหวะไม่ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเองทันทีหลังรัฐประหาร แต่ค่อยๆคืบคลานหาจังหวะ ดังนั้น แม้ว่าชื่อพลโทผินจะปรากฏให้เห็นว่าเป็นคีย์แมนและหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ตัวจริงเสียงจริงที่เป็นไอ้โม่งอยู่เบื้องหลังคือ จอมพล ป.

ต่อมา รัฐประหารพฤศจิกายน 2494  หรือการทำ “รัฐประหารตัวเอง”  ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นั่นคือ จอมพล ป. พิบูลสงครามทำรัฐประหารยึดอำนาจจากตัวเองที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว แล้วให้ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีอีก และรายชื่อคณะรัฐประหารไม่ปรากฎชื่อของจอมพล ป. เลย  แต่ใครๆก็รู้ว่า จอมพล ป. อยู่เบื้องหลังรายชื่อเหล่านั้น รวมทั้งอยู่เบื้องหลังพลตำรวจโทเผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ผู้ที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาความสงบภายใตทั่วราชอาณาจักร           

ดังนั้น จริงๆแล้ว รัฐประหารพฤศจิกายน 2494 ตัวเองแหละทำเองแล้วก็เป็นเอง เพียงแต่ไม่ยอมให้ชื่อตัวเองปรากฏให้เห็นว่าเป็นคนทำ

และถ้าพิจารณารัฐประหารพฤศจิกายน 2494 แล้วย้อนกลับไปรัฐประหารพฤศจิกายน 2490  ยิ่งจะทำให้สมมุติฐานที่ว่า จอมพล ป. อยู่เบื้องหลังรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 มีน้ำหนักมากขึ้น และถ้าย้อนกลับไปรัฐประหารมิถุนายน 2476 ด้วยแล้ว จะเห็นได้ว่า จอมพล ป. (หลวงพิบูลฯ) คือ คีย์แมนของรัฐประหารครั้งแรกและอีกสองครั้งต่อมา กล่าวได้ว่า จอมพล ป. เป็นคนแผนสูง ทำได้เนียน แต่ก็เนียนน้อยลงในปี 2494

ต่อมารัฐประหารกันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์เป็นคีย์แมนและเป็นหัวหน้าคณะ แต่หลังจากทำเองแล้ว ก็ไม่ได้รีบเป็นเอง แต่ยกให้พลเรือนคือ นายพจน์ สารสินเป็นนายกรัฐมนตรีเหมือนสมัยรัฐประหาร 2490 ที่ยกให้นายควงเป็นจนถึงเลือกตั้ง

แต่การเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2500 ต่างจากปี 2491 ตรงที่พรรคการเมืองที่เป็นเครือข่ายของจอมพลสฤษดิ์ชนะเลือกตั้ง กระนั้น จอมพลสฤษดิ์ก็ยังไม่ยอมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ให้ทหารลูกน้องคือ พลโทถนอม กิตติขจรเป็น  แต่ในที่สุด ในเดือนตุลาคม 2501 จอมพลสฤษดิ์ก็ชวนพลโทถนอมที่เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น ยึดอำนาจจากพลโทถนอม แต่จอมพลสฤษดิ์แอ่นอกใช้ชื่อตัวเองเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารต่างจากจอมพล ป. ซึ่งไม่เคยมีชื่อปรากฎบนกระดาษว่าเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารเลยแม้แต่ครั้งเดียว  และหลังจากทำเองครั้งที่สอง คราวนี้จอมพลสฤษดิ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีเอง

สรุปแล้ว ถ้าแยกรัฐประหาร 2500 กับ รัฐประหาร 2501 ออกเป็นหนังคนละเรื่อง ก็จะมองรัฐประหาร 2500 ว่า ทำรัฐประหาร แล้วไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่รัฐประหาร 2501 ทำแล้วเป็น                             

แต่ถ้าให้การทำรัฐประหารกันยายน 2500 กับรัฐประหาร 2501 เป็นหนังเรื่องเดียวกัน ก็จะเข้าข่าย ทำเอง เป็นหัวหน้าเอง  แต่ไม่เป็นเองทันที แต่ต่อมาค่อยเป็น

ต่อมารัฐประหาร 2514 ซึ่งเป็นการทำรัฐประหารตัวเองครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ นั่นคือ จอมพลถนอม กิตติขจรทำรัฐประหารตัวเอง และกล้าใช้ชื่อตัวเองเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร และหลังทำเอง ก็เป็นเอง

ต่อมารัฐประหารตุลาคม 2519   คีย์แมนที่ทำรัฐประหาร ไม่ได้เปิดชื่อว่าเป็นหัวหน้าคณะ แต่มีชื่อเป็นลำดับที่สองต่อจากหัวหน้าคณะรัฐประหาร แต่ตัวหัวหน้าไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเองเหมือนตอนหลวงพิบูลฯกับพันเอกพระยาพหลฯในปี 2476  แต่คณะรัฐประหารในปี 2519 ยกให้พลเรือน นายธานินทร์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ต่อมาในเดือนตุลาคม 2520  คีย์แมนคนเดิมในปี 2519 ทำรัฐประหารโดยให้หัวหน้าคนเดิมในปี 2519 เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารในปี 2520 แต่คราวนี้ คีย์แมนเปิดตัว เป็นนายกรัฐมนตรี                 

ดังนั้น ถ้าไม่แยกรัฐประหารตุลาคม 2519 จากรัฐประหารตุลาคม 2520 แต่มองเป็นหนังเรื่องเดียวกัน ก็จะเข้าข่ายทำเอง ให้คนอื่นเป็นหัวหน้า ไม่เป็นเองทันที แต่ต่อมาค่อยเป็น               

ต่อมาคือ รัฐประหารกุมภาพันธ์ 2534 ก็เช่นกัน ถ้านับเป็นหนังสั้น ก็เข้าข่ายคีย์แมนที่ทำรัฐประหารไม่เป็นหัวหน้า และไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ให้พลเรือนคือ นายอานันท์ ปันยารชุนเป็น แต่ถ้าเป็นหนังยาวมาถึงหลังเลือกตั้งที่คีย์แมนมาเป็นนายกรัฐมนตรีเอง ก็เข้าข่ายทำเอง ให้คนอื่นเป็นหัวหน้า ไม่เป็นเองทันที แต่ต่อมาค่อยเป็น

ส่วนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เข้าข่ายเหมือนกับรัฐประหารพฤศจิกายน 2490 นั่นคือ ทำเอง เป็นหัวหน้าเอง แต่พลเอกสนธิ บุญรัตกลินไม่เป็นนายกรัฐมนตรีเองเลย (จนน่าจะ) ตลอดชีวิต

ส่วนรัฐประหารวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เข้าข่าย ทำเอง เป็นหัวหน้าเอง และเป็นนายกรัฐมนตรีเองทันที   

รัฐประหารของลุงตู่ ที่ตัวเองเป็นคีย์แมนทำเอง เป็นหัวหน้าเอง และเป็นนายกรัฐมนตรีเองโดยทันทีนั้นถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การทำรัฐประหาร เพราะก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะมีรัฐประหารที่เข้าสูตร  “ตัวเองเป็นคีย์แมนทำเอง เป็นหัวหน้าเอง และเป็นนายกรัฐมนตรีเองโดยทันที” มีอยู่หนเดียว นั่นคือ รัฐประหาร 2514 ของจอมพลถนอม ซึ่งต่างจากของลุงตู่ตรงที่จอมพลถนอมทำรัฐประหารตัวเอง  แต่ลุงตู่ไม่ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจตัวเอง

แต่รัฐประหารของลุงตู่จะคล้ายรัฐประหาร 2501 ของจอมพลสฤษดิ์ตรงที่หลังรัฐประหาร หัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากรัฐประหารที่ดำรงตำแหน่งยาวนานถึง 5 ปี แต่จะต่างกันตรงที่การที่จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ครองตำแหน่งเกิน 5 ปีเพราะถึงแก่อสัญกรรมไปเสียก่อน แต่ลุงตู่เป็นมา 5 ปีแล้วตัดสินใจให้มีการเลือกตั้ง และได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกเกือบครบวาระของสภา 4 ปี               

แต่ที่น่าสนใจคือ ในการเลือกตั้งปี 2562 กว่าลุงตู่จะตัดสินใจรับเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีให้พรรคพลังประชารัฐก็ล่อเข้าไปวันสุดท้ายของการรับสมัครของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  แต่ในการเลือกตั้งคราวนี้ ยังไม่ยุบสภา คณะกรรมการการเลือกตั้งยังไม่เปิดรับสมัคร แต่ลุงตู่ตัดสินใจเข้าเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติตั้งแต่ไก่โห่เมื่อเทียบกับปี 2562

ถ้าอ่านจดหมายลุงป้อมในเฟซบุ๊กวันที่ 13 มกราคม 2566  จะเข้าใจว่าในปี 2562 ลุงตู่แกอยากจะไปต่อมากๆ..........แต่จริงแค่ไหน ไว้คุยกันต่อตอนหน้า (แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้ ปี 2566 ลุงตู่อยากจะไปต่อจริงๆ)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”

รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น

ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)

ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร