ในปี พ.ศ. 2474 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จประพาสสหรัฐอเมริกา และทรงพระราชทานสัมภาษณ์แก่นายแฮโรลด์ เอน. เดนนี (Harold N. Denny) ต่อมานายเดนนีได้เขียนบทสัมภาษณ์ดังกล่าวภายใต้หัวข้อ “พระมหากษัตริย์ได้ทรงวางโครงการที่จะให้มีการออกเสียงลงคะแนนเพื่อทดลองประชาธิปไตย” (https://www.nytimes.com/1931/04/28/archives/suffrage-for-siam-is-planned-by-king-to-test-democracy-fatherly.html) และตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์คไทม์ฉบับวันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2474
ในตอนก่อนๆ ผู้เขียนได้นำเสนอการแปลบางส่วนของพระราชดำรัสสัมภาษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ พร้อมกับมีความเห็นเพิ่มเติมไป และจะขอนำเสนอพระราชดำรัสของพระองค์ในตอนนี้ต่อไป
หลังจากที่นายเดนนีได้กราบบังคมทูลถามเรื่องหลักการปกครองของไทย, เป้าหมายสูงสุดของพระมหากษัตริย์ในการปกครองประชาชนของพระองค์, เสรีภาพของประชาชน และประเด็นต่างๆที่พระองค์มีความสนพระทัยในสหรัฐอเมริกา นายเดนนีได้ถามเกี่ยวกับเรื่องศาสนา
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงมีพระราชดำรัสอธิบายว่า ผู้ชายในวัยหนุ่มจะบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา เพื่อเรียนรู้ฝึกฝนตัวเองในพุทธศาสนา ซึ่งพระองค์ก็ทรงไม่ต่างจากชายไทย พระองค์ก็ทรงผนวชเป็นเวลาสี่เดือน
พระองค์ยังทรงอธิบายอีกว่า “หนึ่งในหลักการเกี่ยวกับศาสนาของไทยคือ เราจะไม่กล่าวว่า มีศาสนาใดดีกว่าศาสนาใด ทุกศาสนาเหมือนกัน เราจะไม่ดูแคลนศาสนาใด เราจะปล่อยให้ประชาชนเลือกศาสนาที่ประชาชนชอบที่สุด แนวความคิดเกี่ยวกับศาสนาของเราคือ การสอนให้ประชาชนทำดี มันไม่สำคัญว่าจะเรียกว่าพระผู้เป็นเจ้าสอนเราหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ อิทธิพลตะวันตกจึงไปด้วยกันได้ดีกับพุทธศาสนา”
ในด้านการศึกษา นายเดนนีได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงปฏิรูประบบการศึกษาให้เป็นแบบตะวันตก และพระองค์ทรงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงเชื่อว่า อิทธิพลตะวันตกในด้านการศึกษาจะมีแต่ผลดีในประเทศของพระองค์
พระองค์ทรงอธิบายว่า “ระบบการศึกษาแบบตะวันตกเปิดโลกทัศน์ของผู้คน ประชาชนต้องการที่จะรู้จักความคิดและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆทั้งหลายของตะวันตก เราแนะนำประชาชนให้ตรึกตรองความคิดใหม่ๆเหล่านี้ให้ดีและจะยังไม่รับความคิดใหม่ๆจนกว่าจะแน่ใจว่าเป็นประโยชน์ และพวกเขาก็ทำเช่นนั้น”
นายเดนนีกล่าวว่า การรับอิทธิพลตะวันตกในประเทศไทย เห็นได้จากการที่สตรีชาวไทยแต่งกายตามแบบสตรีชาวยุโรปและรวมทั้งทรงผม
นายเดนนีกล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงพระสรวลดัง และทรงตรัสว่า การรับอิทธิพลตะวันตกของสตรีชาวไทยนั้น “ประสบความสำเร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นกับสตรีเหล่านั้นคือ พวกเธอดูสวยงดงาม....”
นายเดนนียังได้เล่าไว้ด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเล่าถึงความสนใจที่ชาวไทยมีต่อภาพยนตร์อเมริกันและพระองค์ทรงพระสรวลอย่างมีความสุขเมื่อทรงนึกย้อนถึงชาร์ลี แชปลินในภาพยนตร์เรื่อง “City Light” ที่พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรชมที่ห้องชมภาพยนตร์ส่วนตัว
ใครที่เคยดูภาพยนตร์เรื่อง “City Light” ของชาร์ลี แชปลิน ก็คงจะมีอารมณ์ความรู้สึกประทับใจอย่างที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงรู้สึก เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ตลกที่มีฉากที่ขบขันมากหลายฉาก ที่ผู้เขียนคิดว่าตลกที่สุดและเชื่อว่าคงมีหลายคนคิดเช่นเดียวกันก็คือ ฉากชกมวย ที่ชาร์ลี แชปลินชอบแอบไปหลบหลังกรรมการ และแม้ว่าจะเป็นเรื่องตลก แต่ก็กินใจจนอดหลั่งน้ำตาไม่ได้ ใครที่ยังไม่เคยดู ก็ควรจะดู และจะพบว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ แม้จะเป็นพระมหากษัตริย์ แต่พระองค์ก็เป็นคนที่มีอารมณ์ความรู้สึกร่วมกับคนธรรมดาทั่วไปยามเมื่อได้ดูภาพยนตร์ตลกที่ซาบซึ้งกินใจ
เมื่อนายเดนนีได้ถามถึงการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศในยามที่พระองค์ต้องเสด็จประพาสต่างประเทศ พระองค์ทรงกล่าวว่า พระองค์ทรงโปรดฯให้สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธเป็นผู้สำเร็จราชการฯ โดยเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธฯจะทรงทำรายงานทุกเรื่องถวายพระองค์ทุกเดือน และพระองค์จะทรงตัดสินพระทัยและบริหารราชการแผ่นดินผ่านทางโทรเลขหากมีเรื่องสำคัญนอกเหนือจากเรื่องปกติ และในฤดูร้อนที่จะถึงนี้ พระองค์ทรงคาดว่าจะได้มีพระราชดำรัสกับพระเชษฐาผ่านโทรศัพท์ทางไกล
นายเดนนีได้กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯได้ทรงเล่าถึงระบบตุลาการของประเทศไทยโดยละเอียด ซึ่งนายเดนนีพบว่า ไม่ต่างจากระบบตุลาการของสหรัฐอเมริกาที่มีศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ยกเว้นไม่ได้ตัดสินโดยคณะลูกขุนอย่างในระบบของสหรัฐอเมริกา และแม้ว่าในทางทฤษฎี ความยุติธรรมทั้งหลายจะมาจากพระมหากษัตริย์ พระองค์สามารถที่จะหักล้างคำพิพากษาใดๆได้ แต่พระองค์ก็จะไม่แทรกแซงคำตัดสินของศาล
ในการส่วนของการปกครองนั้น พระองค์ได้ทรงกล่าวว่า ประเทศไทยแบ่งออกเป็นจังหวัดต่างๆ และแต่ละจังหวัดก็จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดที่แต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์เป็นผู้ดูแล และแต่ละจังหวัดแบ่งออกเป็นส่วนต่างๆ โดยส่วนกลางที่มีพื้นที่ใหญ่จะปกครองดูแลโดยเทศบาล และพระองค์ได้ทรงกล่าวถึงแผนการที่จะให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้ง
“เรากำลังมีแผนที่จะให้มีกฎหมายเทศบาลใหม่ที่จะให้มีการทดลองเลือกตั้ง ภายใต้กฎหมายนี้ ประชาชนจะมีสิทธิ์เลือกสมาชิกสภาเทศบาล ตอนนี้มันยังเป็นโครงการอยู่ ยังไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย มันเป็นความเห็นของข้าพเจ้าที่จะให้เริ่มมีการเลือกตั้งในระดับเทศบาล ข้าพเจ้าเชื่อว่า ประชาชนควรจะมีสิทธิมีเสียงในกิจการท้องถิ่นของพวกเขา เรากำลังพยายามที่จะให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ประชาชน ข้าพเจ้าคิดว่า มันจะเป็นสิ่งที่ผิดพลาดสำหรับเราที่จะมีการปกครองแบบรัฐสภาจนกว่าประชาชนจะได้เรียนรู้ที่จะใช้สิทธิ์เลือกตั้งผ่านประสบการณ์ในการปกครองท้องถิ่นเสียก่อน”
นายเดนนีได้บันทึกว่า พระองค์ได้ทรงกล่าวชัดเจนว่า การให้สิทธิทางการเมืองแก่ประชาชนเป็นสิ่งที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ริเริ่มเอง และพระองค์ทรงกล่าวว่า “ในประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆจะต้องมาจากข้างบนเอง ไม่ใช่จากการกดดันจากข้างล่าง”
ซึ่งพระราชดำริที่พระองค์ได้ทรงกล่าวแก่นายเดนนีในปี พ.ศ. 2476 สอดคล้องกับข้อความในพระราชบันทึกในปี พ.ศ. 2470 เรื่อง “Democracy in Siam” ที่ผู้เขียนเคยนำเสนอไว้ในตอนก่อนที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงกล่าวว่า ประชาธิปไตยในประเทศไทยควรเริ่มจากการให้ประชาชนได้ฝึกใช้สิทธิเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลและมีสิทธิมีเสียงในกิจการท้องถิ่นซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและเข้าใจได้ง่ายก่อน และถ้าได้ผลดีก็จะค่อยขยับขยายไปสู่การเลือกตั้งระดับชาติและมีรัฐบาลที่มาจากตัวแทนของประชาชน และปัญหาสำคัญคือ ความไม่อดทน ความใจร้อนที่จะส่งผลเสียต่อการวางรากฐานประชาธิปไตยในประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 42)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้แสดงให้เห็นถึงการปกครองภายใต้คณาธิปไตยสืบทอดอำนาจของคณะราษฎรตลอดระยะเวลา 13 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2476-2489
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น