ในเค้าโครงเศรษฐกิจ หลวงประดิษฐ์มนูธรรมใช้คำว่า “พวกหนักโลก (social parasite)” อยู่หลายครั้ง ผู้คุ้นเคยกับแนวความคิดของสองนักคิดผู้ให้กำเนิดลัทธิคอมมิวนิสต์อย่างมาร์กซและเอ็งเงิลส์ (Marx and Engels) จะพบว่า ในงานของมาร์กซและเอ็งเงิลส์ก็ใช้คำว่า parasite อยู่มาก (ผู้สนใจโปรดดู ตอนที่ ๑๗)
อย่างไรก็ตาม นอกจากมาร์กซและเอ็งเงิลส์ ยังมีนักคิดชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งที่ใช้คำว่า parasite ในงานของเขามากพอสมควร นั่นคือ ชาร์ลส ฟูริเยต์ (Charles Fourier) ซึ่งมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1772-1837 ในขณะที่มาร์กซมีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1818-1883
ฟูริเยต์ได้ชื่อว่าเป็น นักคิดสังคมนิยมยุคแรกๆและเป็นหนึ่งในนักคิดสังคมนิยมอุดมคติ (utopian socialism) ที่ทรงอิทธิพลมาก และในงานของเขาจะพบการใช้คำว่า parasite อยู่พอสมควร [1] (ผู้สนใจดูรายชื่อข้อเขียนของฟูริเยต์ที่มีคำว่า parasite โปรดดู ตอนที่ ๑๘)
เราคงต้องมาดูว่า ฟูริเยต์ใช้คำว่า parasite อย่างไร ?
ในข้อเขียนที่ชื่อ On Trade (ว่าด้วยการค้า) ฟูริเยต์ได้กล่าวถึง พ่อค้าคนกลางในฐานะที่เป็น parasite (หรือพวกหนักโลกของหลวงประดิษฐ์ฯ) คนพวกนี้พร้อมที่จะกักตุนสินค้า เพื่อจะให้ได้ราคาขายที่สูงขึ้น พ่อค้าคนกลางจะปล้นทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคผ่านการคาดการณ์เก็งกำไร แทนที่จะเป็นคนกลางซื้อขายอย่างเปิดเผยตรงไปตรงมา [2]
และในข้อเขียนเดียวกันนี้ ฟูริเยต์กล่าวว่า ในศตวรรษที่ผ่านมา มีศาสตร์ใหม่ที่ชื่อ เศรษฐศาสตร์ ได้ยกย่องและให้เกียรติคนที่ทำอาชีพเหล่านี้ ได้แก่ พนักงานขายของตามบ้านที่ขายสินค้าที่น่าสงสัยในคุณค่าหรือคุณภาพว่าดีจริงตามโฆษณา (ที่ทุกวันนี้ เราจะพบเห็นการโฆษณาขายสินค้าประเภทนี้เป็นจำนวนมากตามสื่อต่างๆที่ประกาศว่า ถ้าซื้อเดี๋ยวนี้จะลดราคามหาศาลแถมให้สินค้าเพิ่มด้วย/ผู้เขียน), นักซื้อขายหุ้นที่เป็นคนกลางระหว่างโบรกเกอร์ในตลาดหุ้น, ผู้หากินกับการปล่อยกู้ดอกเบี้ยสูง, ผู้ผูกขาด ฯ ซึ่งในสายตาของฟูริเยต์ พวกนี้คือ parasite [3]
ต่อมาในข้อเขียนที่ชื่อ Fashion and Parasitism ฟูริเยต์กล่าว่า ในห้าสิบปีที่ผ่านมานี้ ได้มีกระแสแห่งความผันผวนที่ให้การพาณิชย์มีอิทธิพลสำคัญต่อพัฒนาการของการเมือง นักการเมืองน่าจะฉลาดมากกว่านี้ถ้าพวกเขาไม่ไปให้การสนับสนุนต่อการพาณิชย์ การซื้อขายหุ้นและการเก็งกำไร และให้การสนับสนุนแก่อุตสากรรมการผลิต ซึ่งการพาณิชย์ การซื้อขายหุ้นและการเก็งกำไรถือเป็นศัตรูธรรมชาติของอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลาย เพราะการพาณิชย์ถือเป็นอาชีพที่เกาะคนอื่นกิน ไม่ต่างจาก พระ ทหาร ทนายความ ฯลฯ การลดทอนการประกอบอาชีพทั้งหลายเหล่านี้จะต้องเป้าหมายสำคัญของระบบการเมืองที่ดี และการเติบโตและอิทธิพลที่เพิ่มมากกขึ้นของชนชั้นพ่อค้านี้กระทำอันตรายต่อการอุตสากรรมมากกว่าพระและทนายความ [4]
ฟูริเยต์แสดงความรังเกียจต่อชนชั้นพ่อค้าอย่างยิ่ง โดยเขาได้กล่าวไว้ใน Fashion and Parasitism ว่า การพาณิชย์ในช่วงกึ่งศตวรรษที่ผ่านมาเติบโตและมีอิทธิพลมาก แม้กระทั่งกษัตริย์และชนชั้นสูงก็ต้องเข้าสู่การค้าและการแข่งขันทางการค้า เขากล่าวว่า ครั้งหนึ่งในอดีต กษัตริย์ทรงภาคภูมิใจในความเป็น “พ่อของประชาชน” แต่ในไม่ช้า กษัตริย์ทั้งหลายจะหันมาภาคภูมิใจกับการได้รับการขนานนามว่าเป็น “พ่อค้า” มากกว่า....และกษัตริย์จะเปลี่ยนจากการขอบคุณพระเจ้ามาเป็นขอบคุณการค้า และการแข่งขันทางการค้าระหว่างฝรั่งเศสและอังกฤษที่นำไปสู่ล้มราชบัลลังก์ และการแข่งขันการค้าน้ำตาลและกาแฟได้นำพระเจ้าหลุย์แห่งฝรั่งเศสและชนชั้นสูงไปสู่แท่นประหาร [5]
ใน the Vices of Commerce (ความชั่วร้ายของการพาณิชย์) เจ้าหน้าที่ที่คอยเก็บภาษีอากรสินค้านำเข้าหรือส่งออกก็ถือว่าเป็นพวก parasite ไม่ต่างจากพวกโจรสลัดที่ปล้นจากพวกเดินเรือ พวกโจรสลัดคือพวกที่ปล้นในท้องทะเล ส่วนเจ้าหน้าที่ภาษีอากรคือพวกที่ปล้นบนบก ความเลวร้ายของพวก parasite นั้นมักจะไม่ปรากฏให้เห็นชัดเจน แต่สร้างความสับสนเสียหายอย่างมหันต์
และใน On Trade ฟูริเยต์กล่าวถึงอิทธิพลของการค้าที่มีต่อหลากหลายชนชั้น ทำให้ชนชั้นต่างๆต้องก่ออาชญากรรมผ่านการเป็น parasite ไม่เว้นแม้แต่กษัตริย์และสันตะปาปา [6]
จากข้างต้น จะเห็นได้ว่าการใช้คำว่า parasite ในความคิดของฟูริเยต์มีทั้งส่วนที่เหมือนกับการใช้เคำว่า parasite ของมาร์กซและเอ็งเงิลส์ เพราะมาร์กซและเอ็งเงิลสไม่ปฏิเสธว่า กลุ่มอาชีพที่ฟูริเยต์กล่าวถึงนั้นเป็น parasite ของสังคม
แม้ว่านักคิดสังคมนิยมยุคแรกอย่างฟูริเยต์และนักคิดคอมมิวนิสต์อย่างมาร์กซและเอ็งเงิลส์จะใช้คำว่า parasite อยู่บ่อยๆ และแม้ว่าฟูริเยต์จะใช้คำว่า parasite ในงานของเขาก่อนมาร์กซและเอ็งเงิลส์ และมีอิทธิพลต่อความคิดของมารกซ์และเอ็งเงิลส์ แต่เอ็งเงิลส์ยืนยันถึงความแตกต่างระหว่างความคิดของฟูริเยต์กับความคิดของเขาและมาร์กซ โดยกล่าวว่า “ในระบบทั้งหมดที่ยังคงมีความสำคัญอยู่ทุกวันนี้ มีเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่ไม่เป็นคอมมิวนิสต์ นั่นคือ ระบบของฟูริเยต์ “ [7] และ “ต้องอย่าลืมว่า ฟูริเยต์ไม่ใช่คอมมิวนิสต์” [8]
ฟูริเยต์สามารถยอมรับกษัตริย์และสันตะปาปาได้ตราบเท่าที่ทั้งสองไม่หลงหรือตกอยู่ใต้อิทธิพลของการค้าพาณิชย์ ด้วยเหตุนี้ ฟูริเยต์จึงไม่ได้ปฏิเสธการปกครองแบบราชาธิปไตย เพราะเขาชื่อว่าแนวคิดเรื่องฟาลังซ์หรือชุมชนสหกรณ์ในอุดมคติของเขาสามารถนำมาใช้ได้ภายใต้ระบบการเมืองใดก็ได้ รวมทั้งการปกครองแบบราชาธิปไตย [9]
แต่แนวคิดคอมมิวนิสต์ของมาร์กซและเอ็งเงิลส์ไม่มีพื้นที่ใดๆให้กับกษัตริย์ ราชาธิปไตยและศาสนาการใช้คำว่า parasite ของมาร์กซและเอ็งเงิลส์จึงรุนแรงและเข้มข้นกว่าของฟูริเยต์
อาจเป็นไปได้ว่า การใช้คำว่า parasite ในเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯจะมีระดับความเข้มข้นไม่ต่างจากของฟูริเยต์ การใช้คำว่า parasite หรือพวกหนักโลกของหลวงประดิษฐ์ฯรวมหรือยกเว้นพระมหากษัตริย์ ? เพราะหลวงประดิษฐ์ฯได้กล่าวถึง “พวกหนักโลก (social parasite)” ไว้ว่า
“ในประเทศไทยนี้ มีบุคคลที่เกิดมาหนักโลก อาศัยบุคคลอื่นกินมีจำนวนไม่น้อย กล่าวคือ ตนไม่เป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ หรือการใด ให้เหมาะสมแก่แรงงานของตน อาศัยเครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ของผู้อื่น หรือบางทีก็ทำงานเล็กๆน้อยๆ เช่น ในกรุงเทพฯหรือในหัวเมือง เมื่อสังเกตดูตามบ้านของคนชั้นกลางหรือของผู้มั่งมีแล้ว ก็จะเห็นว่าผู้ที่อาศัยกินมีอยู่เป็นจำนวนมาก...ไม่มีวิธีใดดีกว่าที่รัฐบาลจะจัดประกอบเศรษฐกิจเสียเอง และหาทางที่จะบังคับให้ราษฎรประเภทนี้ทำงาน จึงจะใช้แรงงานของผู้หนักโลกนี้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้” [10]
และที่แน่ๆคือ ระบบการทำนารวมของหลวงประดิษฐ์ฯแตกต่างจากระบบฟาลังซ์ของฟูริเยต์มาก และในความคิดของฟูริเยต์ไม่มีเรื่องการทำนารวม แต่ระบบการทำนารวมในสังคมสมัยใหม่เกิดขึ้นครั้งแรกในโซเวียตรัสเซียในสมัยของสตาลิน ก่อนหน้าที่หลวงประดิษฐ์ฯจะเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจเป็นเวลาเพียง 10 ปี
ระบบนารวมในโซเวียตเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างจากระบบนารวมของหลวงประดิษฐ์ฯอย่างไร ? โปรดติดตามตอนต่อไป
_________________________________________
[1] Charles Fourier Archive, https://www.marxists.org/reference/archive/fourier/.
[2] Charles Fourier Archive, “On Trade,” https://www.marxists.org/reference/archive/fourier/.
[3] Charles Fourier Archive, “On Trade,” https://www.marxists.org/reference/archive/fourier/.
[4] Charles Fourier Archive, “Fashion and Parasitism,” https://www.marxists.org/reference/archive/fourier/.
[5]Charles Fourier Archive, “Fashion and Parasitism,” https://www.marxists.org/reference/archive/fourier/.
[6] Charles Fourier Archive, “On Trade,” https://www.marxists.org/reference/archive/fourier/
[7] “Of all the systems which are still of any importance today, the only one which is not communistic is that of Fourier,..” Frederick Engels, “Speeches in Elberfeld,” in Marx and Engels Collected Works, Volume 4, Marx and Engels 1844-45, (Lawrence & Wishart Electric Book: 2010). p. 263.
[8] “It must not be forgotten that Fourier was not a Communist.” Frederick Engels, “On Trade,” in Marx and Engels Collected Works, Volume 4, Marx and Engels 1844-45, (Lawrence & Wishart Electric Book: 2010), p. 207.
[9] “Charles Fourier, French philosopher” https://www.britannica.com/biography/Charles-Fourier
[10] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 291-292.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 37): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 36): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490