คณะกู้บ้านกู้เมือง (กบฏบวรเดช) ได้ยื่นข้อเรียกร้อง ๖ ข้อต่อรัฐบาลพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา หนึ่งในนั้นคือ ต้องการให้รัฐบาล “ต้องจัดการทุกอย่างที่จะอำนวยผลให้ประเทศสยามมีพระมหากษัตริย์ปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วกัลปวสาน” สาเหตุที่ต้องเรียกร้องเช่นนั้นมีหลายสาเหตุ (ดู ตอนที่ ๑-๔) แต่รวมความได้ว่า คณะกู้บ้านกู้เมืองไม่มั่นใจว่ารัฐบาลจะมีระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายสำหรับรูปแบบการปกครองของประเทศอย่างแท้จริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่พันเอก พระยาพหลฯได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา แล้วจัดตั้งรัฐบาลของตนขึ้นและเชิญหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาประเทศไทย หลังจากที่ลี้ภัยออกนอกประเทศไป
สาเหตุของความขัดแย้งที่ทำให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมต้องลี้ภัยสืบเนื่องมาจากเค้าโครงเศรษฐกิจที่เขาเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณากำหนดเป็นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อไป ได้เกิดข้อโต้แย้งต่อเค้าโครงเศรษฐกิจของเขา ขณะเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็มีพระบรมราชวินิจฉัยตอบโต้เหตุผลของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมที่อ้างความจำเป็นที่จะต้องใช้เค้าโครงเศรษฐกิจดังกล่าวเพราะราษฎรอยู่ในสภาพอดอยากแร้นแค้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงอ้างงานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนที่ทำการศึกษาสภาพชีวิตชนบทของไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๔ ว่า ราษฎรในชนบทไม่ได้อดอยากแร้นแค้นอย่างที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกล่าวไว้ในเค้าโครงเศรษฐกิจ
งานวิจัยของศาสตราจารย์ซิมเมอร์แมนมีความน่าเชื่อถือเพียงไร ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในตอนที่ ๙-๑๑ และถ้าใครมีคำวิจารณ์ต่องานวิจัยของซิมเมอร์แมนว่าไม่ถูกต้อง ช่วยมานำเสนอด้วย จะเป็นประโยชน์ต่อวงการวิชาการอย่างยิ่ง เพราะอย่างในงานวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์คลีย์เรื่อง “Reinventing Siam: Ideas and Culture in Thailand, 1920-1944” ของ Arjun Subrahmanyan ปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ที่เป็นงานในแนววิพากย์ก็ยังอ้างอิงข้อมูลของซิมเมอร์แมน
นอกจากนั้น ในพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมนำมาอ่านในที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังมีพระราชวินิจฉัยของพระองค์ต่อหลัก “การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมได้เสนอให้รัฐบาล “จัดให้แรงงานราษฎรได้ใช้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น การเก็บภาษีอากรโดยทางอ้อม เป็นจำนวนคนหนึ่งวันละเล็กๆน้อยๆ ซึ่งราษฎรไม่รู้สึก ฯลฯ” การจัดแรงงานราษฎรให้เป็นประโยชน์นั้น หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะให้ราษฎรเป็น “ข้าราชการ” เพราะ “ราษฎรไทยชอบทำราชการ” [1] โดยหลวงประดิษฐ์มนูธรรมเสนอให้รัฐบาลซื้อที่ดินไร่นาจากชาวไร่ชาวนาและเปลี่ยนให้เป็นลูกจ้างรัฐบาลโดยมีสถานะข้าราชการ
ข้อความในพระราชวินิจฉัยตอบต่อข้อเสนอของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมข้างต้น คือ
“การที่จะคิดประกันความสุขสมบูรณ์ดังนี้นั้น ตามจริงย่อมเป็นของดีแน่ แต่ตามธรรมดาของประกันย่อมจะต้องสละสิ่งใดสิ่งหนึ่งแลกเปลี่ยนเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ ตามแบบนี้ผู้ประกันจะต้องเสียอะไรแลกเปลี่ยนแรงงาน และการเสียภาษีวันละเล็กละน้อยเท่านั้นละหรือที่จะเป็นค่าแลกเปลี่ยน ข้าพเจ้าอยากจะว่าค่าประกันความสุขสมบูรณ์อันนี้ คือ ต้องสละเสรีภาพเสียละกระมัง การเป็นไทยจะกลายเป็นทาสเสียละกระมัง เพราะตามที่ปราฎในประเทศรัสเซีย ซึ่งก็ใช้วิธีประกันแบบนี้เหมือนกัน ราษฎรต้องประกันความสุขด้วยเสรีภาพของเขา และยอมตนเป็นทาสรัฐบาล เมื่อได้อ่านวิธีดำเนินการตามโครงการเศรษฐกิจที่เขียนมานี้ทั้ง ๒ ภาค ซึ่งเป็นวิธีการเหมือนกับที่ใช้อยู่ในรัสเซียนี้แล้ว ก็ไม่มีทางอันใดอื่นที่จะเห็นได้ นอกจากว่าการมั่นคงต้องเป็นไปตามรูปเดียวเสียเป็นแน่ ก็เมื่อการประกันความสุขสมบูรณ์นี้ อาจะต้องแลกด้วยเสรีภาพความเป็นไทยแล้ว ก็จะเป็นการยากสักหน่อย ที่จะเลือกยินดีสละออกประกันหรือว่าไม่เห็นยากอะไรที่จะสละเสรีภาพ” [2]
ส่วนประเด็นที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรมคิดว่า “ราษฎรไทยชอบทำข้าราชการ” จึงไม่น่าจะรู้สึกว่าถูกบังคับหรือจะต้องสละเสรีภาพะนั้น ข้อความในพระราชวินิจฉัยตอบ คือ
“ความข้อนี้อาจเป็นจริงได้ แต่ไม่ใช่จริงอย่างตลอด เพราะเหตุว่าความหมายของราษฎรให้คำว่า ‘ข้าราชการ’ นั้นมิได้หมายตรงดังที่ผู้เขียน (ในที่นี้ หมายถึง หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) หมาย ‘ข้าราชการ’ ตามความจริงของราษฎรนั้น (ข้าราชการ) คือ ผู้นั่งชี้นิ้วอำนวยการงาน หรือผู้นั่งโต๊ะเป็นเสมียน กินน้ำชาและงานเบาๆในประเภทเช่นว่านี้ ข้าราชการเช่นนั้น ข้าพเจ้ายอมรับว่า ราษฎรอยากเป็นจริง เพราะสบายดี ไม่ต้องเหนื่อยยากอันใด แต่ถึงกระนั้นเอง ก็ยังไม่เป็นการจริงทั้งสิ้น เพราะมีราษฎรหลายคนที่ไม่พึงประสงค์จะเป็นแม้แต่เสมียน เขาชอบประกอบการอาชีพทำการเป็นอิสระ ดั่งนี้ มักมีจำนวนอยู่มากไม่น้อย ข้าราชการที่ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) ถึงนั้นมี ๒ ชั้นคือ ข้าราชการนั่งโต๊ะ และข้าราชการออกแรงขุดิน ข้าราชการประเภทหลังนั้น เชื่อแน่ว่า ไม่มีใครอยากเป็นเลย จะมีอยู่น้อยเต็มที
ดูตัวอย่างกรรมกรว่างงานที่อยากได้งานทำ กรรมกรพวกเหล่านั้น กรรมกรพวกเหล่านั้นมาบอกว่า ว่างงานและอยากเข้าทำงานอย่างเอิกเกริก และแสดงว่าได้งานประเภทใดก็เอา แต่ครั้นรัฐบาลจัดการหางานขุดดินทำถนนให้ ก็ไม่มีใครเอา ทั้งนี้ ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่เขาประสงค์นั้นคือ ตำแหน่งข้าราชการนั่งโต๊ะหรือมีหน้าที่ยืนหมุนโน่นเปิดนี่ สำรวยๆเท่านั้น
พวกที่อยากเป็นข้าราชการนั้น โดยมากเป็นผู้ที่ได้รับการศึกษาและตีราคาตัวของตัวสูงเกินไปที่จะไปทำนา ชอบเป็นแต่ชั้นเสมียนนั่งซดน้ำชา และนั่งเถียงคารมในข้อกฎหมายเท่านั้น
แต่ราษฎรส่วนมาก จริงๆนั้น เชื่อว่ามีน้อยคนที่อยากเป็น ดูตัวอย่างทหารที่ถูกเกณฑ์เข้ามารับราชการเหล่านั้น ก็เป็นข้าราชการพร้อมบริบูรณ์ และมีปัจจัยทั้ง ๔ ข้อเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตอย่างบริบูรณ์ แต่ถึงกระนั้น ก็ปรากฏว่าหนีอยู่เนืองๆมิได้ขาด
ก็ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) จะตั้งสหกรณ์และให้ราษฎรเป็นข้าราชการ ขุดดินออกแรงให้สหกรณ์ และบังคับให้อยู่ใต้วินัยของข้าราชการ ซึ่งถ้าผิดหรือเกียจคร้าน ก็จะถูกลงโทษได้หลายสถาน เสี่ยงดูก็คงไม่ต่างกับกรมทหารนัก
ดั่งนี้แล้ว ผู้เขียน (หลวงประดิษฐ์มนูธรรม) นึกหรือว่า ราษฎรจะพากันมีความปิติยินดี พอใจ และไม่มีการหลีกเลี่ยงดังเช่นความเป็นไปในกรมทหาร การบังคับให้ราษฎรรับราชการเป็นทหาร ๒ ปีนั้น ไม่สู้กระไร ไม่ทารุณเกินไป แต่การที่จะให้ราษฎรต้องรับการขุดดินและอยู่ใต้วินัยคล้ายทหารตลอดชีวิตแล้ว ออกจะหนักมือไปสักหน่อย” [3]
พระราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อลักษณะนิสัยใจคอของราษฎรชาวไทยในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ จะถูกต้องเพียงไรนั้น ท่านผู้อ่านและนักวิชาการทางประวัติศาสตร์สมัยนั้นคงต้องตัดสินเอง
[1] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 279-280.
[2] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 282.
[3] ชัยอนันต์ สมุทวนิชและขัตติยา กรรณสูตร, เอกสารการเมือง-การปกครองไทย พ.ศ. 2517-2477, โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, (กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช, 2518), หน้า 283.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 46: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 34): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 45: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 33): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 43: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 32): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”
รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490