เว้นวรรครัฐประหาร (ตอนที่ ๓)

 

ตอนที่แล้ว ได้กล่าวสาเหตุที่การเมืองไทยในช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๐๑-๒๕๑๔ ปลอดรัฐประหารเพราะฝ่ายที่มีศักยภาพในการทำรัฐประหารเป็นผู้ครองอำนาจเอง นั่นคือ อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรีจอมพลถนอม กิตติขจร  ส่วนช่วงระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๐-๒๕๓๔ ปลอดรัฐประหารเพราะมีนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหาร นั่นคือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ แต่กระนั้น ก็มีความพยายามทำรัฐประหารถึง ๒ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลเอกเปรมสามารถต้านทานกระแสความพยายามทำรัฐประหารได้สำเร็จคือ

ก. ปัจจัยสถาบันพระมหากษัตริย์   ข. ปัจจัยความไม่เป็นเอกภาพภายในกองทัพ  ค. ปัจจัยภาพลักษณ์ของพลเอกเปรมที่ได้รับการยอมรับจากสังคมว่าเป็นผู้นำที่ซื่อสัตย์มีประวัติใสสะอาด  อย่างไรก็ตาม การเมืองภายใต้พลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรียังอยู่ในสภาวะที่เรียกขานกันว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” เพราะพลเอกเปรมไม่ได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและไม่ได้รับการเสนอโดยพรรคการเมืองเหมือนในกรณีรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๖๐ ได้กำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อและลงมติให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยรัฐสภา จะต้องเป็นบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไว้ในตอนสมัครรับเลือกตั้ง

หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕  การเมืองไทยปลอดรัฐประหารเป็นเวลาถึง ๑๔ ปี การปลอดรัฐประหารในการเมืองไทยระหว่าง พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๙ แตกต่างจากช่วงปลอดรัฐประหารสองช่วงก่อนหน้า เพราะไม่ได้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นนายทหารที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อีกทั้งกองทัพก็ถอยห่างจากการเมืองเพราะภาพลักษณ์ตกต่ำจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ทำให้นักการเมืองพรรคต่างๆสามารถต่อสู้ช่วงชิงในการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตย

ช่วงเวลา ๑๔ ปีนี้เป็นช่วงแห่งความต่อเนื่องและเสถียรภาพทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าช่วง “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”  ส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจขยายฐานกว้างมากขึ้นของประชาชนส่วนใหญ่ด้วย  อีกทั้งหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬยังได้เกิดปรากฎการณ์ทางการเมืองที่สำคัญดังต่อไปนี้ 

หนึ่ง ในช่วงที่บทบาทของกองทัพลดน้อยถดถอยลง  บทบาทของพรรคการเมืองและนักการเมืองโดดเด่นขึ้น รวมทั้งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นระหว่างนักการเมืองกับประชาชนที่เป็นฐานเสียงส่งผลให้เกิดการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งที่นักการเมืองต้องลงทุนในลักษณะต่างๆ กับประชาชนส่วนใหญ่เพื่อให้ได้คะแนนเสียงชนะพรรคคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อเสียง ระบบอุปถัมภ์และในที่สุดคือ นโยบายประชานิยมในทุกรูปแบบ

สอง การเลือกตั้งได้กลายเป็นเดิมพันสำคัญทางการเมืองและธุรกิจมากขึ้นกว่าในสมัยพลเอกเปรมที่เป็น “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ไม่ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรีจะต้องได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  และกองทัพยังมีอิทธิพลในทางการเมืองอยู่มาก ส่งผลให้ “คนนอก” ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาโดยตลอด แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การชนะเลือกตั้งของพรรคการเมืองย่อมหมายถึงการได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรค

สาม บทเรียนจากรัฐบาลพลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ ที่ถูกทำรัฐประหารโดยกองทัพเพราะมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรง และรัฐประหารโดย รสช. ได้รับการตอบรับจากสังคมในช่วงแรก แต่เพราะเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. ๒๕๓๕ และภาพลักษณ์ในด้านลบของทหารได้กลบภาพการทำรัฐประหารล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่ทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างเอิกเกริก  ได้นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬได้นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่มุ่งแก้ปัญหาที่เป็นเงื่อนไขให้เกิดความชอบธรรมในการทำรัฐประหารในสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย และแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง

ซึ่งคุณจีรนันท์ สิทธิกัน ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวไว้อย่างละเอียดชัดเจนว่า “การเกิดขึ้นของรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๖ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่เรียกขานกันว่า รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นั้น ก็เพื่อต้องการที่จะปฏิรูปการเมือง เพราะในขณะที่ใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ ๑๕ นั้น การเมืองมีปัญหาใหญ่ๆ อยู่ ๒-๓ ประการด้วยกัน นั่นคือ

๑. การเมืองมีลักษณะเป็นการเมืองของนักการเมือง พลเมืองเจ้าของประเทศซึ่งเป็นผู้เลือกตั้งผู้แทนราษฎรมีสิทธิเสรีภาพน้อยและไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางการเมืองเลย การเมืองของนักการเมืองหรือที่เรียกขานกันว่าระบอบประชาธิปไตยแบบมีผู้แทน  (representative democracy) ซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น การบิดเบือนนโยบายที่ทำจริงไปจากนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น           

๒. การเมืองไม่ได้รับความเชื่อถือโดยทั่วไปทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะความไม่สุจริตของระบบการเมืองจึงทำให้ฝ่ายการเมืองขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และเป็นสาเหตุนำไปสู่การทำรัฐประหารในเวลาต่อมา ความไม่สุจริตในระบบการเมืองเป็นที่ทราบกันทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่การซื้อเสียงในการเลือกตั้งเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง การถอนทุนโดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่ประกอบกับระบบตรวจสอบและการควบคุมการใช้อำนาจไม่ดีพอทำให้เกิดการทุจริตได้ง่าย และไม่สามารถปราบปรามการทุจริตให้หมดสิ้นไปได้ 

๓. เป็นการเมืองที่รัฐสภาและรัฐบาลขาดเสถียรภาพและความต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีขาดสภาวะผู้นำทั้งรัฐบาลและรัฐสภาขาดประสิทธิภาพในการบริหารงานแก้ปัญหาบ้านเมือง เนื่องจากเกิดจากการเป็นรัฐบาลผสมกันหลายพรรค ทั้งนี้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่มีกลไกในการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐสภาบ่อยครั้งก่อให้เกิดเรื่องความมั่นใจและความเชื่อถือในความต่อเนื่องของนโยบายอย่างมากสำหรับชาวต่างประเทศและนักธุรกิจ

สี่ การปรับตัวของพรรคการเมืองในกระแสประชาธิปไตยของไทยในช่วงที่เริ่มมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่มุ่งปฏิรูปการเมือง เริ่มมีองค์กรอิสระที่กำกับการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้พรรคการเมืองบางพรรคหันไปใช้นโยบายประชานิยมที่ให้ประโยชน์เฉพาะหน้าและไม่ยั่งยืน รวมทั้งหันไปใช้วิธีการที่แยบยลมากขึ้นในการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย  ส่งผลให้เกิดวิกฤตการเมืองไทยครั้งสำคัญรุนแรงที่ส่งผลกระทบมาจนถึงปัจจุบัน

ห้า ปรากฏการณ์ทางการเมืองในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ ๒๕๓๕” ได้ส่งผลให้นักรัฐศาสตร์อย่าง เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้สร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายและทำความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าวขึ้น นั่นคือ “ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตย”  ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยได้สะท้อนสภาพปรากฏการณ์ทางการเมืองไทยระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๓-๒๕๓๖ อันเป็นที่การเมืองไทยอยู่ระหว่างภายใต้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่มีการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างรุนแรงจนเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้เกิดรัฐประหาร และความพยายามสืบทอดอำนาจของฝ่ายทหาร แต่ก็ต้องจบลงด้วยการลุกฮือต่อต้านจากประชาชนที่ประกอบไปด้วยชนชั้นกลางเป็นส่วนใหญ่ โดยความขัดแย้งและความรุนแรงดังกล่าวยุติลงได้ด้วยสถาบันพระมหากษัตริย์  ทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยของ อเนก เหล่าธรรมทัศน์ ได้อธิบายว่า ความไม่มั่นคงลงตัวของระบอบประชาธิปไตยนับแต่ต้นทศวรรษ ๒๕๒๐  (อันเป็นช่วงที่เรียกว่า “ประชาธิปไตยครึ่งใบ”) จนกระทั่งกลางทศวรรษ ๒๕๓๐ (ที่มวลชนคนชั้นกลางลุกขึ้นขับไล่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช.) เป็นผลมาจากคนชั้นกลางในเมืองและชาวนาชาวไร่ในชนบท ซึ่งเป็นฐานความชอบธรรมให้กับการประชันขันแข่งทางการเมืองระหว่างคณะทหารและพรรคการเมือง มีโลกทัศน์ต่อ “ประชาธิปไตย” แตกต่างกัน จนกล่าวได้ว่า คนชนบทเป็นผู้ “ตั้ง” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานเสียง” ส่วนใหญ่ของพรรคการเมือง  ขณะที่คนชั้นกลางเมืองเป็นผู้ “ล้ม” รัฐบาล เพราะเป็น “ฐานนโยบาย” ของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลผ่านสื่อมวลชน การเรียกร้องกดดันรัฐบาล ไปจนถึงการเชื้อเชิญให้ทหารเข้าแทรกแซงการเมืองโดยการรัฐประหารยึดอำนาจ การสำนึกรู้และความเข้าใจ “ประชาธิปไตย” ที่ต่างกันนี้จึงกลายเป็นมูลเหตุให้การเมืองไทย “เหวี่ยงไปมาระหว่างเผด็จการที่ล้าหลังกับประชาธิปไตยที่ขาดความชอบธรรม”

และการที่จะก้าวพ้นจากสภาพสองนคราประชาธิปไตยได้ก็คือ การแสวงหามาตรการให้ชั้นกลางไม่เพียงเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล หากยังเป็นฐานเสียงของพรรคและนักการเมืองด้วย ในทางกลับกัน ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานในชนบทไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากยังเป็นฐานนโยบายได้เช่นกันด้วย และจากทฤษฎีสองนคราประชาธิปไตยนี้ ผู้เขียนเชื่อว่า พรรคไทยรักไทยได้นำไปประยุกต์สร้างยุทธศาสตร์ในการกำหนดนโยบายทางการเมืองที่ “แสวงหามาตรการให้ชั้นกลางไม่เพียงเป็นฐานนโยบายของรัฐบาล หากยังเป็นฐานเสียงของพรรคและนักการเมืองด้วย ในทางกลับกัน ต้องทำให้ผู้ใช้แรงงานในชนบทไม่เป็นเพียงฐานเสียง หากยังเป็นฐานนโยบายได้เช่นกันด้วย”  อันส่งผลให้เกิดการเติบโตทางการเมืองของพลังประชาชนของผู้ใช้แรงงานในชนบท รวมทั้งที่เติบโตเป็นชนชั้นกลางระดับล่างในเมืองออกมาสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล  ขณะเดียวกันก็มีชนชั้นกลางระดับสูงจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลพรรคไทยรักไทยด้วย

หก  นอกจากยุทธศาสตร์ในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่นำมาซึ่งคะแนนเสียงเลือกตั้งสนับสนุนพรรคไทยรักไทยจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยแล้ว  ผลพวงจากรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ที่ต้องการลดจำนวนพรรคการเมืองในสภาได้เสริมให้เหลือพรรคการเมืองใหญ่ไม่กี่พรรคเท่านั้น อันนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นความขัดแย้งระหว่างพรรคใหญ่สองพรรคอันได้แก่ พรรคไทยรักไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งแม้ว่าแต่ละพรรคจะมีฐานเสียงที่จงรักภักดีกระจายทั่วไปตามกลุ่มชนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันไปแล้ว ฐานเสียงของแต่ละพรรคยังแบ่งไปตามภูมิภาคอีกด้วย นั่นคือ โดยส่วนใหญ่แล้ว พรรคไทยรักไทยมีฐานเสียงในภาคเหนือและภาคอีสาน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์มีฐานเสียงเข้มแข็งในภาคใต้   ส่งผลให้ประชาชนที่ออกมาสนับสนุนและต่อต้านนอกจากจะแบ่งไปตามกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสังคมแตกต่างกันไปแล้ว ยังแบ่งออกไปตามฐานเสียงในภูมิภาคภายใต้อารมณ์ความรู้สึกแบ่งแยกแบบภูมิภาคนิยมอย่างเข้มข้นชัดเจนอีกด้วย ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองรุนแรงเข้มข้นมากขึ้น และปรากฏการณ์ที่ประชาชนออกมาสนับสนุนและต่อต้านจำนวนมากก็เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเมืองไทย  (ต่อตอนหน้า)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อนุทิน' ยันไม่ได้พูดเอาหล่อ ภูมิใจไทยค้านกม.สกัดรัฐประหาร ขอไม่โต้ 'ทักษิณ'

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แซวว่านายอนุทินชิงหล่อกรณีคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม

เหลี่ยมจัด! 'หัวเขียง' ขอปรับแก้ 24 จุด กม.สกัดรัฐประหาร ก่อนดันเข้าสภาฯอีกรอบ

นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมสส. พรรคถึงเรื่องการเตรียมถอนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ว่า ตนมีปัญหาสุขภาพมาตั้งแต่ช่วงเดือนเม.ย. ถึงต.ค. 67

วิสุทธิ์พลิ้ว! ปมกฎหมายยึดอำนาจกองทัพ

'วิสุทธิ์' ลั่นพรรคไหนก็ไม่เอาด้วยทั้งนั้น 'รัฐประหาร' ยอมรับ ร่าง กม.'ประยุทธ์' จัดระเบียบกลาโหม หลายคนติงให้ถอนมาปรับปรุง ชี้บางพรรคยังไม่เห็นของ 'เพื่อไทย' เลยไม่สบายใจ แต่ต้องคุยกัน

'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 ร่างกม.ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค

'ประเสริฐ' มั่นใจ 'เพื่อไทย' ไม่โดนปฏิวัติรอบ 3 เหตุ สังคมโลกเปลี่ยนไป ชี้ ร่างกฎหมายของ 'ประยุทธ์' ยังไม่ผ่านที่ประชุมพรรค

'ธนกร' ดีดปาก 'ปิยบุตร' เลิกเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม

'ธนกร' สวน 'ปิยบุตร' หยุดเสี้ยมปม กม.จัดระเบียบกลาโหม ยัน สส.ฟังเสียงประชาชน ปัดมีใบสั่งจากชนชั้นนำ ย้ำชัด กองทัพเป็นความมั่นคงของชาติทุกมิติ ชี้หากทำผิดก็อยู่ยาก ป้องกันรัฐประหารไม่ได้