ฟอร์ดชวนรำลึกประวัติศาสตร์วิทยุในรถไปกับ ‘ฟอร์ด เฮอริเทจ วอลต์’

ฟอร์ดชวนคนรักรถมาร่วมรำลึกถึงประวัติศาสตร์ของวิทยุในรถยนต์เนื่องในโอกาสวันวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติ 25 กุมภาพันธ์ของทุกปี กับเรื่องราวความเป็นมาของระบบความบันเทิงบนรถยนต์ในคลังประวัติศาสตร์ออนไลน์ ‘ฟอร์ด เฮอริเทจ วอลต์’  

ทราบหรือไม่ว่า ก่อนที่วิทยุจะมาอยู่บนหน้าจอทัชสกรีนของระบบความบันเทิงในรถยนต์ดังเช่นปัจจุบัน เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้ว วิทยุบนรถนั้นมีขนาดใหญ่กินพื้นที่เบาะหลังทั้งหมดการแข่งขันอันดุเดือดของวงการเครื่องเสียงในรถยนต์เริ่มต้นจากการออกอากาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปี พ.ศ. 2463 ของสถานีวิทยุกระจายเสียง KDKA ทำให้ผู้ฟังรับทราบข่าวสารได้รวดเร็วกว่าการอ่านหนังสือพิมพ์ ทั้งยังทราบข่าวสารขณะเดินทางได้อีกด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ผู้ผลิตรถยนต์หลายรายจึงเริ่มติดตั้งวิทยุแบบพกพาได้ แต่เป็นวิทยุที่มีขนาดใหญ่เทอะทะ และมีราคาสูงถึง 1 ใน 5 ของราคารถยนต์

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี ผู้ผลิตรถยนต์ค้นพบวิธีรับมือกับปัญหาคลื่นวิทยุแทรกแซงการจุดระเบิดในเครื่องยนต์และปัญหาขนาดแบตเตอรี่ที่ใหญ่เกินไปได้ มีการพัฒนาเสาอากาศและรวมวิทยุเข้าไปอยู่ในแผงหน้าปัดรถยนต์ได้ อย่างเช่น วิทยุในช่องเก็บของด้านหน้าอันโด่งดังของฟอร์ด และในปี พ.ศ. 2476 ผู้ผลิตรถยนต์ 31 ใน 33 รายได้จำหน่ายรถยนต์ที่มีวิทยุและเสาอากาศเป็นทางเลือกเสริมสำหรับผู้ซื้อ ขณะที่ฟอร์ดเริ่มออกแบบวิทยุติดตั้งตามสั่งขายพร้อมกับรถยนต์ผ่านผู้จำหน่าย

ในปี พ.ศ. 2472 ชาร์ลส์ โธมัส ผู้จัดการห้องปฏิบัติการเสียงของฟอร์ด (Ford Acoustical Laboratory) ได้ทดลองติดตั้งวิทยุบนรถฟอร์ด Model A ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากถังน้ำมันที่อยู่ด้านหลังแผงหน้าปัดรถทำให้เขาต้องติดวิทยุใต้พื้นรถ และติดตั้งไม้จูนเสียงขึ้นมาเหมือนกับเกียร์ที่อยู่ระหว่างขาคนขับ ถึงแม้จะเป็นเพียงการทดลองเบื้องต้น แต่ก็เป็นแนวทางให้ฟอร์ดพัฒนารถต้นแบบขึ้นมาได้

วิทยุติดรถเครื่องแรกของฟอร์ดผลิตขึ้นโดยบริษัท Grigsby-Grunow ในปี พ.ศ. 2475 หลังจากรถฟอร์ด V8 ในตำนานเปิดตัวไม่นาน โดยวิทยุรุ่น Majestic 111 เป็นวิทยุที่ทำงานด้วยมอเตอร์ มีเครื่องรับวิทยุแบบซูเปอร์เฮทเทอร์โรดายน์ (superheterodyne receiver)  แบบ 6 หลอด มีระบบควบคุมเสียงอัตโนมัติ และมีฟีเจอร์ที่ช่วยลดเสียงรบกวนระหว่างเปลี่ยนคลื่นวิทยุ ในปี พ.ศ. 2477 ฟอร์ดติดตั้งวิทยุขนาดกะทัดรัดจาก Philco และได้ร่วมกันพัฒนาเครื่องรับสัญญาณที่ ออกแบบให้ติดตั้งบริเวณกลางแผงหน้าปัดรถยนต์แทนที่เขี่ยบุหรี่ ความต้องการวิทยุบนรถเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ.2475 ฟอร์ดได้ติดตั้งวิทยุบนรถที่จำหน่ายในอเมริกาไปกว่า 25,000 เครื่อง และเพิ่มเป็นกว่า 200,000 เครื่องในปี พ.ศ. 2478 ความนิยมของวิทยุในรถยนต์แพร่หลายอย่างรวดเร็ว โดยฟอร์ดนับเป็นผู้นำทั้งด้านการออกแบบและพัฒนาเทคโนโลยีวิทยุบนรถยนต์

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเครื่องรับสัญญาณวิทยุเกิดขึ้นในทศวรรษที่ 1950  นับจากการเริ่มติดตั้งวิทยุบนรถในทศวรรษที่ 1930 โดยพัฒนาขึ้นอย่างจริงจังและรวดเร็ว ตั้งแต่การใช้หลอดแก้วขนาดเล็ก ไปจนถึงระบบ 12 โวลต์ การนำทรานซิสเตอร์มาใช้เป็นแอมปลิไฟเออร์ จนถึงการใช้วงจรแบบผสม การนำวงจรพิมพ์มาใช้ และเปลี่ยนเป็นวิทยุทรานซิสเตอร์ในท้ายที่สุด ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 ถึง 1970 วิทยุได้มีวิวัฒนาการขึ้นอีกครั้งด้วยการเพิ่มตัวเลือกเครื่องรับสัญญาณวิทยุแบบ AM/FM พร้อมเครื่องเล่นเทป และระบบค้นหาช่องสัญญาณ AM/FM และในปีพ.ศ. 2516 มีเครื่องเล่นสเตอริโอเทปเพิ่มเข้ามา ตามด้วยวิทยุ AM/FM สเตอริโอที่ใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์พร้อมกับเครื่องเล่นเทป 8 แทร็กแบบควอดราโซนิก (quadrasonic) ในปี พ.ศ. 2522 จากนั้นเป็นต้นมา ระบบเครื่องเสียงบนรถก็มีส่วนประกอบอื่นๆ เพิ่มขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ท เครื่องเล่นซีดี ช่องต่อ MP3 และระบบสตรีมมิ่งแบบไร้สายอันเป็นที่ฮือฮา อย่างไรก็ตาม วิทยุ AM/FM ยังไม่หายไปไหนฟอร์ดจึงได้รวบรวมข้อมูล และรูปภาพเกี่ยวกับความเป็นมาของวิทยุบนรถฟอร์ดมาให้ได้ชมกัน


โดย นรินทร โชติภิรมย์กุล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Toyota Gazoo Racing Thailand 2024 สนามที่ 4 จ.เชียงใหม่ แข่งสุดมันส์ Night Show สุดอลังการ

นายณัทธร ศรีนิเวศน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด พร้อมด้วย นายวีรพงศ์ ฤทธิ์รอด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่

“มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” พร้อมจัดยิ่งใหญ่ส่งท้ายปี

แขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41” เผยว่า “ปีนี้จัดงานภายใต้แนวคิด “จิตวิญญาณแห่งนวัตกรรม…ยานยนต์ล้ำอนาคต

บีวายดี และ เรเว่ ผนึก ช่อง 3 ลงพื้นที่อุทกภัยเชียงราย

บีวายดี บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำที่มุ่งมั่นสร้างนวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต นำโดยนายเคอ ยู่ปิน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท บีวายดี ออโต้ (ประเทศไทย) จำกัด