ม. มหานคร ผนึกรัฐและเอกชน หนุน "อาชีวะ" รุกพัฒนากำลังคนรองรับตลาด EV

จากการเติบโตมาในครอบครัว วิศวกร นักวิชาการ และทหาร จึงหล่อหลอมและจุดประกายให้ ผศ. ดร. ภานวีย์  โภไคยอุดม หรือ อาจารย์ตั้ว ก้าวสู่เส้นทางในบทบาทของความเป็นวิศวกร และอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ จนปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมและผลิตนักนวัตกรที่มีคุณภาพ เพื่อช่วยกันพัฒนาประเทศและยกระดับจากประเทศกำลังพัฒนาให้ขยับขึ้นมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว


ผศ. ดร. ภานวีย์  โภไคยอุดม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลากว่า 33 ปี MUT ขึ้นชื่อว่าเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี นักศึกษาที่จบจาก MUT จึงเป็น “บัณฑิตพร้อมใช้” ซึ่งเป็นที่ต้องการและยอมรับของผู้ประกอบการในภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งนี้ เพราะแนวการเรียนการสอนของ MUT ไม่ใช่แค่การให้องค์ความรู้ที่เป็นทฤษฎีอยู่ในตำราเรียนเท่านั้น แต่ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงมีการนำแนวคิดเชิงอุตสาหกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้ในหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และฝึกทักษะภาคปฏิบัติเหมือนอยู่ในสถานการณ์การทำงานจริง โดยในปี 2563 MUT ได้เปิด Mahanakorn Institute of Innovation (MII) และ "บริษัทนวัตกรรมมหานคร"  ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์ปฏิบัติการแห่งการจัดการด้านงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ผลิตผลงานต่าง ๆ ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ร่วมกับองค์กรภาครัฐและเอกชนมาอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน  

กระแสการใช้รถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงในประเทศไทย รัฐบาลก็ให้การสนับสนุนการใช้รถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าและผลักดันให้ไทยเป็นฐานการผลิต EV ในภูมิภาคนี้  MUT จึงเล็งเห็นว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องผลิตช่างยานยนต์สายนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต ในปลายปี 2564 MUT ได้ร่วมกับสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ทำ “โครงการพัฒนาระบบนวัตกรรม” ทำการวิจัยและออกแบบชุดฝึกยานยนต์เพื่อสร้างทักษะระดับเริ่มต้น ให้กับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนทั่วประเทศ เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้ ได้มีความรู้และทักษะที่พร้อมปฏิบัติงานได้จริงในอนาคต MUT ยังคงทำการวิจัยและพัฒนาชุดฝึกยานยนต์ EV อย่างต่อเนื่อง และได้มีการหารือกับบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไทย (BEV และ xEV Leader) ที่มีความชำนาญอย่างสูงในการพัฒนาผลิตช่างยานยนต์สายนี้ และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จนนำไปสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ออกแบบ และผลิตอุปกรณ์ชุดฝึกยานยนต์สมัยใหม่จากรถยนต์จริงในระดับ Advance และพัฒนาชุดบทเรียน บททดสอบเพื่อสร้างทักษะให้แก่นักเรียน นักศึกษา ในสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาภาครัฐ ที่เรียนในสาขาวิชาชีพนี้ เรื่องนี้มีผลทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่เรียนมาไปต่อยอดให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ใช้ระบบเครื่องยนต์สันดาปภายในกำลังเปลี่ยนถ่ายไปสู่รถยนต์พลังงานไฟฟ้า 100 % หรือ EV (Electric Vehicle) นวัตกรรมรักษ์โลกที่ทุกคนรอคอย

การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อพัฒนาและยกระดับความรู้และทักษะของผู้เรียนในสถาบันอาชีวศึกษาของรัฐให้ทันกับเทคโนโลยียานยนต์ยุค EV ในปัจจุบันและอนาคต โดยหน้าที่หลักของ MUT คือการพัฒนาออกแบบและสร้างชุดฝึกยานยนต์ EV ระดับ Advance ดังนั้น MUT จึงเป็นตัวกลางในการประสานงานกับทั้งเกรท วอล มอเตอร์ และ สอศ. เราได้ส่งทีมนักวิจัยและคณาจารย์ของ MUT เข้าร่วมหารือเพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ตลอดจนทักษะที่ต้องติดตั้งให้กับช่างเทคนิคและเข้าฝึกอบรมกับทีมช่างผู้ชำนาญการด้านยานยนต์ไฟฟ้า และวิศวกรของเกรท วอล มอเตอร์  และนำข้อมูลเหล่านั้นมาหารือกับ สอศ. อีกทางหนึ่ง เมื่อตกผลึกแนวคิดทั้งหมดแล้ว MUT จึงออกแบบและสร้างชุดฝึกให้   เหมะสมและสอดคล้องกับการสร้างทักษะมืออาชีพ เพื่อใช้สำหรับนักเรียน นักศึกษาที่เรียนในสาขานี้ ได้มีองค์ความรู้และทักษะที่จำเป็นในการประกอบอาชีพช่างยานยนต์ไฟฟ้าได้ต่อไปในอนาคต และยังสามารถใช้เป็นพื้นฐานความรู้เพื่อศึกษาต่อเพื่อเป็นวิศวกรต่อไป


ชุดฝึกยานยนต์เพื่อสร้างทักษะระดับเริ่มต้นที่ MUT ออกแบบ ได้ถูกนำไปใช้กับ วิทยาลัยเทคนิคของรัฐแล้วขณะนี้จำนวน 10 แห่ง MUT คาดว่าชุดฝึกยานยนต์เพื่อสร้างทักษะระดับเริ่มต้นที่ MUT ออกแบบ จะมีการนำไปใช้เพิ่มอีก ในอนาคตอันใกล้ นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่น ๆ ที่จะนำนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าไปต่อยอดและสร้างสรรค์ทางด้านวิชาการและเชิงพาณิชย์ เพื่อสนับสนุนองค์กรของภาครัฐและเอกชน อาทิ โครงการชุบชีวิตแบตเตอรี่เก่ารถยนต์ไฮบริดกลับมาใช้ใหม่ ซึ่ง MUT ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพหลังกระบวนการแล้ว สามารถกลับมามีประสิทธิภาพการใช้งานได้สูงสุด 80% (ขึ้นอยู่กับสภาพแบตเตอรี่ที่นำมาเข้ากระบวนการ) โครงการเปลี่ยนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาบกลุ่มพาณิชย์ (เช่น รถตู้ รถกระบะ รถสองแถวเล็ก) ไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ประชาชนจะประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในยุคที่เชื้อเพลิงมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากผลิตภัณฑ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าแล้ว ยังมีงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการทหาร เช่น การผลิตหุ่นยนต์เพื่อเก็บกู้วัตถุระเบิดขนาดเล็ก D-EMPIR version 4 ให้กับ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า  นำไปใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และชุดฝึกจำลองการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เป็นต้น

MUT ยังให้ความสำคัญในการพัฒนาชุมชน โดยมีแนวคิดที่จะเปิดหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น ๆ เกี่ยวกับเรื่องแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ให้กับผู้ประกอบการธุรกิจอู่ซ่อมรมยนต์ ช่างซ่อมรถ หรือบุคคลที่สนใจ แบตเตอรี่ เป็นหัวใจสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ซึ่งในอนาคตอีก 5 ปี ข้างหน้าแนวโน้มของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจะมาแทนที่รถยนต์เครื่องสันดาปอย่างแน่นอน ดังนั้น การพัฒนาความรู้และทักษะของบุคลากรเพื่อเตรียมพร้อมรับกระแสการเติบโตของตลาด EV ได้อย่างยั่งยืน เป็นภารกิจสำคัญที่ MUT ภูมิใจทำอย่างยิ่ง MUT มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เรามีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วควบคู่ไปกับตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ท่ามกลางกระแสยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังมาแรง MUT ได้มีการเพิ่มหลักสูตรเสริมทักษะความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้า เข้าไปในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น วิศวกรรมไฟฟ้า วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ดังนั้น นักศึกษาที่เรียนในสาขาเหล่านี้สามารถประกอบอาชีพเป็น EV Engineer ได้ โดยไม่ต้องเจาะจงเรียนด้านวิศวกรรมยานยนต์เท่านั้น  ความคาดหวังในอนาคตของผมคือ อยากให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง แต่เต็มเปี่ยมด้วยคุณภาพและ เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำยอดนิยมด้านวิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทย


 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ล้างภาพจำเดิม ๆ กับ 5 ข้อ เลือกกระบะที่ใช่ ให้เป็นการเดินทางแบบเฟิร์สคลาส

ภาพจำเดิม ๆ ที่ติดตาและประสบการณ์ที่ฝังลึกในใจ ว่ารถกระบะเป็นพาหนะเน้นใช้งานเชิงพาณิยช์ ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์เพื่อ

“ซูซูกิ” เปิดแคมเปญ รับต้นปี SUZUKI ERTIGA SUPER FLASH DEAL เริ่มต้น 555,000 บาท

นายทาดาโอะมิ ซูซูกิ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ซูซูกิเตรียมพร้อมในการรุกตลาดรถยนต์ปี 2568

มาสด้า แต่งตั้ง ธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ เป็นประธานคนใหม่

มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ประกาศแต่งตั้ง นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหารและประธาน

มิตซูบิชิ จัดแคมเปญ รถเก่า เราก็ดูแล เฉพาะรถยนต์มิตซูบิชิที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป

บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด มอบแคมเปญสุดพิเศษ ‘รถเก่า เราก็ดูแล’สำหรับลูกค้ารถยนต์มิตซูบิชิทุกรุ่นที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป