อนาคตของ 'ไฟใต้' จะดับด้วยการ 'พัฒนา' หรือด้วยการใช้กำลังอาวุธ

ขึ้นปีงบประมาณใหม่ ไฟใต้ เบ่งบานในพื้นที่ จ.นราธิวาส ทั้งใน อ.ยี่งอ, บาเจาะ, จะแนะ และสุไหงปาดี ลามไปถึงการวางระเบิดเสาไฟฟ้าบนถนนสายสุไหงปาดี-สุไหงโก-ลก และเชื่อว่าการก่อเหตุร้ายจะลุกลามเข้ามายัง จ.ปัตตานี และพื้นที่อื่นๆ ตลอดทั้งเดือนตุลาคม 2564 นี้ นี่เป็นการ วิเคราะห์ สถานการณ์ของ ไฟใต้ แบบรายเดือน ซึ่งจะมีการก่อเหตุทุกเดือน ก็เท่ากับ ไฟใต้ ยังเกิดขึ้นตลอดไป และหากยังไม่มี นโยบาย ที่ถูกต้องมาเป็นตัวกำหนด ไฟใต้ ก็จะเป็น สงครามประจำถิ่น ตลอดปี และตลอดไป  

นโยบายในการดับ ไฟใต้ ที่ดำเนินมาตั้งหลายปี มีหลักๆ ด้วยกัน 3 เรื่องใหญ่ๆ ที่นำไปสู่การ ดับไฟใต้ นั่นคือการดับ ไฟใต้ ด้วยการพัฒนา ซึ่งหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบคือ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ที่มีบทบาทในการ บูรณาการ กับภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานของรัฐ องค์กรเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชน  

ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่ในด้านการรักษาความสงบ ป้องกัน ปราบปราม ขบวนการแบ่งแยกดินแดน มีอยู่ 2 แนวทางที่ทำการ ขับเคลื่อน เพื่อการดับ ไฟใต้ นั่นคือการใช้วิธีการ เจรจา กับฝ่ายแบ่งแยกดินแดนที่มี บีอาร์เอ็น เป็นผู้นำ ซึ่งการใช้แนวทางในการ เจรจา ทำกันมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ที่เป็นการ เจรจา และเปิดเผยให้สังคมได้รับรู้ เริ่มตั้งแต่ 10 ปีก่อน สมัยที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็น นายกรัฐมนตรี  

และอีกแนวทางหนึ่งของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือการดับ ไฟใต้ ด้วย ยุทธวิธี ทางทหารภายในพื้นที่ ซึ่งมีการก่อความไม่สงบ เช่น การปิดล้อม ตรวจค้น จับกุม นำคนผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และหากมีการต่อสู้ก็จบลงด้วยการ วิสามัญ ซึ่งเป็นความชอบธรรมทางกฎหมาย  

วันนี้จะติดตามการดับ ไฟใต้ ก็จะเห็นว่ามีการ ขับเคลื่อน ไปพร้อมๆ กันทั้ง 3 แนวทาง ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันคือ การ ยุติ สงครามแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดขึ้นและ คาราคาซัง นานนับ 100 ปี  

งานด้านการใช้การพัฒนาเพื่อดับ ไฟใต้ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ขับเคลื่อนอยู่นั้น จะมุ่งเน้นไปที่ปัญหาของความยากจน ความเหลี่ยมล้ำในสังคม ด้วยการพัฒนาอาชีพ สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ดึงกลุ่มทุนเข้ามาลงทุนให้มากที่สุด เพื่อให้คนว่างงานได้มีงานทำ พัฒนาการค้าชายแดน และการท่องเที่ยว ที่สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่  

ปีงบประมาณใหม่นี้ ศอ.บต.กำลังขับเคลื่อนการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้แบบ พลิกโฉมหน้า ด้วยการใช้การวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือในการทำข้อมูลประชากรในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในข่ายของ คนจน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงครบถ้วน เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีข้อมูลจำนวนคนจน จำนวนครัวเรือนที่ยากจน แต่ยังไม่มีการลงรายละเอียดว่าเป็นความจนในด้านไหน  

เช่น จนในด้านอาชีพ จนในด้านการศึกษา จนในด้านสุขภาพ, จนในด้านของรายได้ จนในด้านสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นคนจน 5 ประเภท ของภาคใต้ และจะมีฐานข้อมูลจากเลข 13 หลัก และเลขที่บ้านเป็นหลักฐาน เพื่อง่ายต่อการดำเนินการในการแก้ปัญหาของคนจนที่ค้นเจอ  

เป็นการค้นหาคนจนแบบ ชี้เป้า คนจนอยู่ที่ไหน ต้องไปค้นหาให้เจอ และต้องตั้งโจทย์ว่า สาเหตุของความจนมาจากอะไร และจะแก้อย่างไร โดย ศอ.บต.ได้มอบหมายให้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ดำเนินการในการลงพื้นที่เพื่อการค้นหาคนจนแบบชี้เป้า แบบต้องหาให้เจอ ต้องมีหลักฐาน ซึ่งขณะนี้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ 3 แห่ง ได้ดำเนินการแล้วใน จ.นราธิวาส ในพื้นที่ อ.เมือง, สุไหงปาดี และสุคิริน  

โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกส่งต่อให้กับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ที่สุด และนำมาใช้ประโยชน์ในการแก้ปัญหา โดย ศอ.บต.เป็น แม่งาน ในการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทุกกระทรวง โดยมีกำลังสำคัญในพื้นที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และพัฒนาชุมชน เป็นต้น  

โดยจะมีการให้ความสำคัญกับทุนเดิมในพื้นที่ซึ่งมีอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาจากทุนเดิมก็จะทราบว่าควรจะพัฒนาอย่างไร และจะนำไปสู่แบบบูรณาการประจำปีของงบประมาณในปี 2565 ซึ่งต่อไปหน่วยงานในพื้นที่หน่วยไหนทำอะไร มีแผนพัฒนาอย่างไร แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร ศอ.บต.ต้องรับรู้ และมีการ บูรณาการ ด้วยกัน มิใช่ต่างหน่วยต่างทำ ต่างคนต่างเดิน และซ้ำซ้อนทับซ้อนกันอย่างที่เคยเกิดขึ้น  

และการพลิกโฉมการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ใน มิติใหม่ คือ จะใช้งานวิจัยและนวัตกรรมให้มากขึ้น โดยสำนักวิจัยแห่งชาติ (วช.) จะเป็นหน่วยงานที่จัดหางบประมาณเพื่อให้คนในพื้นที่ ซึ่งมีความรู้ เป็นปัญญาชน เป็นปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ และอื่นๆ ทำการวิจัยในปัญหาต่างๆ ที่เป็นปัญหาของพื้นที่ โดยให้คนในพื้นที่เป็นผู้วิจัยและนำเสนองานวิจัยให้กับ ศอ.บต. โดย ศอ.บต.จะเป็นผู้กำหนดเงื่อนเวลาของงานวิจัยต้องใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือน ยกตัวอย่างเช่น ไปวิจัยว่า ในสถานการณ์ของ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรียกว่าเป็นยุคของ นิวนอร์มอล เราจะอยู่อย่างไร เป็นต้น  

ต่อไปนี้ปัญหาของคนในพื้นที่ จะเป็นหน้าที่ของคนในพื้นที่เป็นผู้กำหนด โดย ศอ.บต.กับ วช.เป็นผู้วางกรอบชี้เป้าให้ บ้านเกิดของท่านจะเป็นอย่างไร ท่านต้องการเห็นอย่างไร ท่านจะต้องมีส่วนในการกำหนด หน้าที่ของ ศอ.บต.คือศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น เจ้าภาพ เพื่อขับเคลื่อนการ บูรณาการ แบบ จริงๆ จังๆ  

แต่..ในการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนที่จะเกิดขึ้นตามแผนพัฒนาเดินหน้าจังหวัดชายแดนภาคใต้โฉมใหม่ ต้องอิงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ แผนแม่บท, พหุวัฒนธรรม และปรัชญาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ร.9 การเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาเป็นด้านหลัก  

นี่คือบางส่วนบางตอนที่เป็นการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จะใช้นโยบาย พลิกโฉมจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยการพัฒนา เพื่อที่จะบอกว่า ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้จะจบอย่างไรอยู่ที่คนในพื้นที่ต้องการ  

สำหรับในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้านั้น ปีงบประมาณใหม่ ในนโยบายเดิม เพราะ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ย้ำมาโดยตลอดว่า เราเดินมาถูกทางแล้ว ดังนั้นจึงยังคงเดินหน้าในเรื่องของการนำคนกลับบ้าน การใช้เวทีของ สล.2 และ สล.3 ที่มีนโยบาย นักรบพบรัก กล้วยและแอปเปิล ซึ่งเป็น ไอเดีย ของ พล.ท.ธิรา แดหวา แม่ทัพน้อยที่ 4 ที่เป็นผู้กำกับดูแล ศูนย์สันติวิธี ด้วยการเน้นการ พูดคุย ในพื้นที่เป็นด้านหลัก  

ส่วนการ เจรจา กับตัวแทนของบีอาร์เอ็น ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งมีการ ยุติ ไปเพราะ สถานการณ์ของ โควิด-19 โดยมีเพียงการ พูดคุย นอกรูปแบบระหว่างกันนั้น ก็ต้องฟังดูว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงคนใหม่ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม จะมีนโยบายอะไรใหม่ๆ หรือยังเป็นนโยบายเดิมที่กำกับการแสดงโดย "แม่ทัพเมา" - พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และอดีตหัวหน้าคณะ พูดคุย ซึ่งปฏิเสธที่จะไม่คุยกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มอื่นๆ ยกเว้นบีอาร์เอ็นเท่านั้น  

แต่...กลุ่มบีอาร์เอ็นที่มีรายชื่อในโต๊ะของการ พูดคุย ณ วันนี้ ซึ่งสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น อาจจะเป็นบีอาร์เอ็นก็จริง แต่เป็นบีอาร์เอ็นที่ไม่มีตำแหน่งแห่งหนในขบวนการแล้ว ดังนั้นการเจรจากับบีอาร์เอ็นกลุ่มนี้ก็อาจจะไม่มีมรรคมีผลที่จะทำให้ ไฟใต้ สามารถ ยุติ ลงได้ด้วยการ เจราจา ก็แเป็นได้  

หรือสุดท้ายแล้วการดับ ไฟใต้ ยังต้องใช้ บริการ กำลังเจ้าหน้าที่และอาวุธในการใช้ความรุนแรง ภายใต้อำนาจของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จนกว่าบีอาร์เอ็นจะอ่อนแรง หรือจนกว่าบีอาร์เอ็นจะสร้างมวลชนได้ในจำนวนที่ต้องการ และสร้างสถานการณ์ให้ ต่างชาติ เข้ามาเป็น คนกลาง ในการตัดสินปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้  

ก็ต้องจับตามองว่า การใช้แผนพลิกโฉมการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต.จะทำให้มวลชนละทิ้ง ขบวนการบีอาร์เอ็นได้หรือไม่ เพราะการแพ้-ชนะในสงครามแบ่งแยกดินแดนนั้น มวลชนคือผู้ชี้ขาด ถ้าบีอาร์เอ็นไม่มีมวลชนสนับสนุน ไม่มีงบประมาณ ไม่มีที่พักพิง ไม่มีผู้ส่งเสบียงอาหาร ก็เหมือน ตะเกียง ที่ขาดน้ำมัน สุดท้ายก็ย่อมที่จะดับไปเอง. 

เมือง ไม้ขม รายงาน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘บิ๊กทิน’ ยันการข่าวไม่ล้มเหลว แม้บึ้มไล่หลัง ‘ผบ.ทบ.’ สั่งคุมเข้มไฟใต้

โฆษกรมว.กลาโหม เผย บิ๊กทิน สั่งติดตามไฟใต้ใกล้ชิด เชื่อการข่าวไม่ล้มเหลว แม้บึ้มไล่หลัง ผบ.ทบ. สั่งดูแลผู้บาดเต็มที่ ย้ำหน่วยงานความมั่นคง เสริมจุดบอด

เหลียวหลังแลหน้า 92 ปี ปชต. กรีดดีลลับอันตราย! รัฐบาล มีโอกาสอยู่ครบเทอม

ตั้งแต่สัปดาห์หน้าเป็นต้นไป การเมืองในรัฐสภาทั้งสภาล่างคือสภาผู้แทนราษฎร และสภาสูงคือวุฒิสภา ที่ตอนนี้ผ่านกระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

เอาแล้ว! ทูตสหรัฐส่งหนังสือจี้ 'เศรษฐา' เร่งซื้อเอฟ-16

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือถึงนายกฯ เร่งเครื่องโค้งสุดท้ายดัน เอฟ-16 เสนอเงินกู้ยืม 9 ปีแต่เสียดอกเบี้ย -การค้าต่างตอบแทนกับไทย ก่อน ทอ. ฟันธงเลือกแบบในเร็วๆ นี้

โครงการร้อยใจธรรม ร้อยอำเภอ.. ถวายเป็นพระราชกุศล ในมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เริ่มย่างเข้าสู่กาลมหามงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ใน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว.. ครบ ๖ รอบ ๗๒ พรรษา