'อนุทิน-ภูมิใจไทย' อ่านสัญญาณ-วิเคราะห์สถานการณ์ รัฐบาลอยู่ครบเทอมหรือไม่ อยู่ที่...?

การขับเคลื่อนทางการเมืองของ พรรคภูมิใจไทย ภายใต้การนำของ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ถูกจับตามองมากขึ้นเรื่อยๆ  จากหลายบริบททางการเมือง เช่นการที่มีกระแสข่าวว่ามี ส.ส., นักการเมือง และอดีต ส.ส.หลายคนจากหลายพรรคการเมืองสนใจจะเข้าไปสังกัดพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งรอบหน้าที่จะมีขึ้น ขณะเดียวกัน พรรคภูมิใจไทยที่เป็นพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่มี ส.ส.มากเป็นอันดับสอง รองจากพรรคพลังประชารัฐ ก็ถูกมองว่าจะเป็นตัวแปรสำคัญทางการเมืองหลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกลางปีนี้ ที่ฝ่ายค้านหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องล้มพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลางสภาให้ได้ แต่ อนุทิน-หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย บอกไว้ก่อนหน้านี้ รวมถึงเคยมีข่าวว่าเคยวิเคราะห์การเมืองให้พลเอกประยุทธ์ฟังว่า รัฐบาลจะฝ่าด่านศึกซักฟอกอภิปรายไม่ไว้วางใจกลางปีนี้ไปได้ เพราะมีเสียง ส.ส.ที่จะโหวตไว้วางใจให้ฝ่ายรัฐบาลเกินกึ่งหนึ่งแน่นอน  

รัฐบาลจัดตั้งมาได้ด้วยการมีเสียงข้างมากในสภา ไม่ว่าจะมาด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียวหรือการรวมตัวของหลายพรรค แล้วมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน  เพราะฉะนั้น ถ้ารัฐบาลจะไปก็คือได้รับเสียงสนับสนุนน้อย แต่ในเมื่อเราตั้งเป็นรัฐบาลได้ ก็คือเคยมีเสียงข้างมากมาแล้ว แต่คนที่ทำให้รัฐบาลมีเสียงลดน้อยลง  ก็คือคนของฝ่ายรัฐบาล คนที่จะทำร้ายรัฐบาลได้ที่น่ากลัวที่สุด ก็คือคนในรัฐบาล แต่ใครอยากจะทำก็ทำ  ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย

บทสัมภาษณ์พิเศษครั้งนี้ เราพูดคุยและซักถามการวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองต่อจากนี้ กับ อนุทิน-หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย โดยเมื่อถามว่า ประเมินเสถียรภาพรัฐบาลจนถึงขณะนี้อย่างไร คิดว่ารัฐบาลจะอยู่ครบเทอมสี่ปีหรือไม่ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ตอบกลับว่า ผมประเมินตามหลักวิทยาศาสตร์โดยนำตัวเลขมายืนยัน ซึ่งคนที่จะทำให้รัฐบาลล้มได้ ก็คือคนในรัฐบาล ไม่ใช่คนนอก  ซึ่งการที่รัฐบาลจะล้ม ล้มจากอะไร ก็มีหนึ่ง-นายกรัฐมนตรียุบสภา สอง-นายกรัฐมนตรีลาออก สาม-นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีได้ สี่-พรรคร่วมรัฐบาลทะเลาะเบาะแว้งกันอย่างรุนแรง จนทำให้เกิดปัญหาเรื่องการไว้วางใจกันในสภา

คือหากรัฐบาลจะไปก็ไปด้วยเหตุผล 4 ข้อข้างต้น  ซึ่งหากเราประคับประคองสถานการณ์ไม่ให้มันเกิดขึ้น  พยายามที่จะเข้าใจกัน รับฟังกัน ให้เกียรติกันให้มากที่สุด  ทำงานด้วยความซื่อสัตย์ อย่าทำผิดกฎหมาย อย่าระแวงกันเอง อย่าทิ่มแทงหลังกันเอง รัฐบาลไม่มีวันที่จะล้มไปได้

ที่ผ่านๆ มาทั้งหมดในประวัติศาสตร์ ไปเช็กดูได้  รัฐบาลทุกรัฐบาลพังเพราะจากข้างใน ไม่ใช่พังเพราะข้างนอก เท่าที่ผมจำความได้ ไม่เคยเห็นรัฐบาลชุดไหนพังเพราะปัจจัยภายนอก มันต้องเริ่มมาจากปัจจัยภายในทั้งสิ้น คนที่มีศักยภาพในการทำลายล้างรัฐบาลคือคนในรัฐบาล

คนที่จะทำร้ายรับาล

ที่น่ากลัวที่สุดคือคนในรับาล

-แต่ดูแล้วไม่มีสัญญาณหรือร่องรอยว่าจะพังจากข้างใน?

ก็ต้องดูที่คนกดสัญญาณ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลคือคนกดสัญญาณ ซึ่งถ้าเรากดสัญญาณพร้อมกัน โดยกดกันเป็นจังหวะ ถึงเวลาคนนั้นกด คนนี้กด ไม่แย่งกันกด ไม่ไปกดปุ่มผิด มันก็ไม่เป็นปัญหา และเรายอมรับกติกาทุกอย่างได้ ก็ประคับประคองให้มันพ้นไปได้ตลอดรอดฝั่ง 

คำว่ารัฐบาลก็คือ จัดตั้งมาได้ด้วยการมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะมาด้วยพรรคการเมืองพรรคเดียว หรือการรวมตัวของพรรคการเมืองหลายพรรค แล้วมีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะไป ก็คือต้องได้รับเสียงสนับสนุนน้อย แต่ในเมื่อเราตั้งเป็นรัฐบาลได้ ก็คือเราเคยมีเสียงข้างมากมาแล้ว แต่คนที่ทำให้รัฐบาลมีเสียงลดน้อยลงก็คือคนของฝ่ายรัฐบาล

คนที่จะทำร้ายรัฐบาลได้ที่น่ากลัวที่สุด ก็คือคนในรัฐบาล แต่ใครอยากจะทำก็ทำ แต่ไม่ใช่พรรคภูมิใจไทย  หากทำไปเที่ยวหน้า ถ้าเราทำไปแบบไม่มีกฎเกณฑ์ เที่ยวหน้าก็ไม่มีใครร่วมกับเรา ไม่มีใครไว้ใจเรา ดังนั้นเราก็ต้องประคับประคองให้มันผ่านไป แล้วถึงเวลาเลือกตั้งก็ว่ากัน  ถึงเวลาเลือกตั้งใครดีใครอยู่ ไม่ใช่ว่าอยู่พรรครัฐบาลด้วยกัน แล้วถึงเวลาคุณมาหลบซ้ายหลบขวา หลบหน้าหลบหลังให้เรา ไม่มีครับ ก็เหมือนกับตีกอล์ฟ ให้ซี้กันขนาดไหนก็ต้องแข่งขันกัน ทุกคนก็ต้องทำอย่างสุดความสามารถเพื่อให้ได้เข้ามาทำงาน 

-ตัวเลข ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถึงตอนนี้มีเสียงอยู่เท่าใดกันแน่ หากไม่นับ ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทย?

คือต้องนับโดยนิตินัยก่อน คือนับจากคนที่เป็น ส.ส.ในปัจจุบันที่เป็นฝ่ายรัฐบาล นับยังไงก็ยังเกิน ส่วนพฤตินัยอีกเรื่องหนึ่ง พฤตินัยคืออาจมีคนที่เขาอาจบอกว่า ถ้ารัฐบาลทำดีเขาก็พร้อมสนับสนุน อย่างกฎหมายกัญชาแบบนี้เป็นต้น ส.ส.ฝ่ายค้านก็มาร่วมสนับสนุน ฝ่ายรัฐบาลก็สนับสนุนเพราะเป็นเรื่องของประชาชน มันก็จะมีแบบนี้

แต่ผมดูทางด้านนิตินัยว่าคนไหนฝ่ายรัฐบาล คนไหนฝ่ายค้าน ก็พบว่าเกินกึ่งหนึ่ง ก็อยู่ที่ประมาณ 245 คน  กับ 209 คน อันนี้คือทางนิตินัย ที่ห่างกันร่วม 36 เสียง  ถือว่าเป็นรัฐบาลที่มีความมั่นคง แล้วตอนรัฐบาลชุดนี้เข้ามาตอนช่วงแรก ฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านเสียงห่างกันแค่สองเสียง ช่วงแรกตอนนั้นประมาณ 253 เสียง เพราะช่วงดังกล่าวยังไม่มีการยุบพรรคการเมือง ไม่มีการตัดสิทธิ์การเมือง ตอนนี้ความแข็งแกร่งของรัฐบาลก็เพิ่มมากขึ้น แต่หลักสำคัญอยู่ที่ว่าทำงานหรือไม่ เพราะรัฐบาลไปด้วยวาระตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าไม่ทำงานประชาชนก็ไม่เลือกกลับเข้ามา และหากทำอะไรที่มันไม่เข้าท่าก็โดนอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วหากตอบไม่ได้ก็ไม่ได้รับเสียงไว้วางใจ ก็ต้องออก เพราะมีระบบ check and balance อยู่

-คนประเมินกันว่ากลางปีนี้อาจเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมือง ทำให้หน้ากระดานการเมืองเปลี่ยนแปลง?

ผมอยู่กับตัวเลข จะไปหรือไม่ไปอยู่ที่ว่าตัวเลขนิ่งหรือไม่ แต่หากดูจากทุกวันนี้ก็น่าจะนิ่ง เพราะว่านายกรัฐมนตรีก็ฟังพรรคร่วมรัฐบาล พรรคร่วมรัฐบาลผลักดันกฎหมายก็ผ่าน ผลักดันนโยบายก็ผ่าน นายกรัฐมนตรีก็สนับสนุนให้รัฐบาลทำสิ่งที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง อย่างที่บอกคำว่ารัฐบาลคือผู้ที่ครองเสียงข้างมากในสภา ถ้ารัฐบาลไม่มีปัญหา สภาก็จะไมมีปัญหา แค่นั้นเอง

-เห็นมีข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคภูมิใจไทยมีการแบ่งงานแบ่งโซนรับผิดชอบพื้นที่เลือกตั้งของแกนนำพรรคกันแล้ว?

การแบ่งหน้าที่ให้ผู้ใหญ่ของพรรครับผิดชอบดูแลพื้นที่การเลือกตั้งตามภาคต่างๆ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะพรรคการเมืองเป็นที่่ซึ่งมีสมาชิกพรรคมาจากทุกภาคของประเทศ จึงเป็นที่รู้กัน เช่นหากใครในพรรคมาจากภาคเหนือแล้วมีอาวุโสสูงสุด ก็เป็นผู้ดูแลผู้สมัคร ส.ส.ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งภาคอื่นๆ ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคอีสาน  ภาคใต้ ภาคกลาง ก็เป็นเรื่องของการบริหารองค์กร

และปัจจุบันเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไม่ว่าจะยืดอายุรัฐบาลชุดปัจจุบันไปได้นานขนาดไหน ก็ไม่เกินมีนาคม  2566 ที่ก็คือครบสี่ปีหลังการเลือกตั้งเมื่อมีนาคม  2562 และเวลาก็ผ่านไปรวดเร็ว ตอนนี้ก็เดือนมีนาคม 2565 แล้ว อีกไม่กี่อึดใจก็จะเข้าสู่เดือนมีนาคม 2566  ที่ก็คือช่วงเวลาที่ยาวที่สุดแล้ว ซึ่งก็ประมาณหนึ่งปีเศษ ที่ก็ไม่มีทางที่อายุของสภาจะยาวกว่านั้น ทำให้พรรคการเมืองก็ต้องมีความพร้อมตลอดเวลา

หากเรามีความพร้อมก็จะได้ไม่ต้องทำอะไรฉุกละหุก หรือทำอะไรโดยปราศจากการคิดไตร่ตรองให้รอบคอบ  เพราะเมื่อมีความพร้อมมาก ก็ยิ่งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนให้เชื่อใจเราได้ ว่าพวกเราทำงานให้กับพวกเขาได้ แล้วเราก็จะได้รับความไว้วางใจกลับคืนมา

-ช่วงหลังดูเหมือนพรรคภูมิใจไทยเนื้อหอมเป็นพิเศษ ได้ข่าวมีคนกำลังจะย้ายมาอีกหลายคน หลังล่าสุดก็เพิ่งมีสามอดีต ส.ส.พลังประชารัฐย้ายเข้ามา  ทำไมคนถึงอยากเข้าภูมิใจไทย?

คิดว่าสิ่งที่ทางพรรคพยายามสร้างขึ้นมาให้เป็นแบรนด์ของพรรคภูมิใจไทย หรือให้เวลาที่เอ่ยคำว่าพรรคภูมิใจไทยแล้ว ประชาชนเขาจะมีคำที่ผุดขึ้นมาในความคิดของเขาว่า "พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคการเมืองที่ทำได้ในสิ่งที่เคยพูดไว้" พูดอะไรไปแล้วทำหมด ผลักดันทุกอย่างโดยไม่ได้มีความเกรงกลัวต่อแรงกดดันใดๆ และเป็นพรรคการเมืองที่รักษาคำพูด มีวินัยในการเป็นพรรคการเมืองที่ปฏิบัติหน้าที่ในรัฐสภา ปฏิบัติหน้าที่ในการเป็นคณะรัฐมนตรี มีความเป็นปึกแผ่น มีความแน่นแฟ้น

ทั้งหมดคือปัจจัยบวกสำหรับพรรคภูมิใจไทย ในท่ามกลางการเมืองที่มีความขัดแย้ง หรือการทะเลาะเบาะแว้ง  แต่พรรคภูมิใจไทยไม่เคยมีเรื่องต่างๆ เหล่านั้นเกิดขึ้น แต่ตรงกันข้าม ไม่ว่าสถานการณ์จะดีจะร้ายอย่างไร นโยบายต่างๆ ของพรรคภูมิใจไทยยังสามารถขับเคลื่อนได้ โดยที่ไม่ต้องไปอ้างถึงเรื่องสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ ทางด้านโควิด เราผลักดันนโยบายทุกอย่างไปได้ รวมถึงการกล้าตัดสินใจของคนในพรรคภูมิใจไทยที่ไปร่วมทำงานในคณะรัฐมนตรี เราก็ผลักดันในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ผลักดันทุกเรื่อง รวมถึงปกป้องประโยชน์ของบ้านเมืองในการที่จะไม่ให้สิ่งที่จะก่อให้เกิดความเสียหายกับบ้านเมืองกับผู้เสียภาษี เราก็ไม่ให้เข้ามาเอาเปรียบคนไทย ไม่ให้เข้ามาเอาประโยชน์ของประเทศได้

สิ่งเหล่านี้คือธรรมชาติของคนภูมิใจไทย คือคนของภูมิใจไทยมีความพร้อมในชีวิตของตัวเองแล้ว ประสบความสำเร็จในด้านชีวิตส่วนตัว ชีวิตครอบครัว มีความพร้อมที่จะมาทำงานรับใช้บ้านเมืองแทบทุกคน สิ่งที่สมาชิกพรรคภูมิใจไทยต้องการ ก็คือได้ทำประโยชน์ให้กับส่วนรวม เพราะในด้านการใช้ชีวิต การสร้างความมั่นคงให้กับตนเองและครอบครัวส่วนใหญ่ผ่านมาหมดแล้ว ทุกคนอยู่อย่างดีกันเกือบหมดแล้ว แต่เมื่อมีความรู้ความสามารถที่จะทำประโยชน์ต่อส่วนรวม เขาก็เข้ามาทุ่มเททำงาน โดยไม่ต้องมีอะไรห่วงกังวล เราเจอวิกฤตการณ์ เจอความกดดัน เจอสิ่งที่มันร้ายๆ เราก็ยืนหยัดอยู่ได้ ชี้แจงได้ และปกป้องประโยชน์ของบ้านเมือง และผลักดันสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองโดยไม่ต้องเกรงใจใคร ถ้าเกรงใจก็เกรงใจประชาชน เกรงใจบ้านเมือง เราก็ทำแบบนี้กันมาตลอด สำหรับพรรคภูมิใจไทยคือทำให้เห็น ที่เป็นประเพณีของพรรค

-ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย พรรคตั้งเป้า ส.ส.หลังการเลือกตั้งรอบหน้าไว้กี่ที่นั่ง?

เราใช้การทำงานอย่างหนัก การใส่ใจ การผลักดันการทำงานของเรา ผลักดันนโยบายของพรรคภูมิใจไทยให้เป็นผลสำเร็จ ความขยันขันแข็งของ ส.ส., รัฐมนตรี และสมาชิกพรรค เราเอาตรงนั้นสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ถ้าประชาชนเห็นว่าเราทำงานหนักมากเพียงพอ  ตรงกับความต้องการของเขา หากเราทำงานได้ดี เขาก็อาจจะเลือกเรากลับเข้ามา ภูมิใจไทยเราคิดแบบนี้ เราถึงมีความมั่นใจและมีความเป็นปึกแผ่น อย่างสมมุติเราทำงานกันอย่างขยันขันแข็ง เราบอกว่าเราทำกันดีแล้ว ทำเต็มที่แล้ว แต่พอถึงช่วงเลือกตั้ง หากเราไม่ได้รับเลือกกลับเข้ามา คำตอบก็คือเราอาจยังไม่ได้ทำเต็มที่ในสายตาประชาชน เราต้องบอกตัวเราเองว่า ที่เราคิดว่าเราทำเต็มที่แล้ว แต่ในสายตาประชาชน เขาอาจมองว่าเรายังทำไม่เต็มที่

ดังนั้นถ้ามีโอกาสเราก็ต้องปรับปรุงตัว เราต้องทำทุกวันให้ดีที่สุด ทำให้ประชาชนเห็นว่าเราทำประโยชน์ให้เขา  ทำประโยชน์ให้บ้านเมืองมากที่สุด ก็ไม่ต้องกลัวอะไร หากเรามีความพร้อมเราจะไม่กลัว อย่างบางทีถามพวกบรรดาผู้แทน เขาก็บอกว่าบางทีแทบจะบอกได้เลยว่าคนคนนี้มีโอกาสจะได้รับเลือกตั้งกลับเข้ามา หรือดูแล้วคนคนนี้สอบตกแน่ หรือคนนี้ดูแล้วโอกาสจะได้หรือไม่ได้อยู่ที่  50-50 อย่างตอนเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาล่าสุดเมื่อช่วงเดือนมีนาคม 2562 ที่ภูมิใจไทยได้ ส.ส.มา 51 คน  ก่อนหน้านั้นผมประเมินว่าพรรคจะได้ ส.ส.ประมาณ 50  คน ก็ประเมินคลาดไปแค่คนเดียว แต่ก็ถือว่าผมประเมินได้ใกล้เคียงมากที่สุด เพราะประเมินโดยใช้หลักเรื่องของวิทยาศาสตร์มาประเมิน เวลาผมประเมินสถานการณ์อะไร  ผมเอาประสบการณ์ เอาความมั่นใจในตัวเองออก โดยจะใช้การคำนวณ อย่างตอนเลือกตั้งใหญ่ปี 2554 ผมประเมินว่าพรรคภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.ประมาณ 34 คน ผลก็ออกมาว่าได้ 34 คนตรงตามที่ประเมินเลย

-การผลักดันนโยบายต่างๆ ของพรรคภูมิใจไทยที่เคยหาเสียงไว้ เช่น กัญชาทางการแพทย์ การแก้ปัญหาหนี้กองทุน กยศ. ถึงตอนนี้ที่ได้ขับเคลื่อนไปมีความพอใจมากน้อยแค่ไหน?

อยากให้สิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นตัวพูดแทน อย่างตอนนี้ คำว่ากัญชาไม่ได้อยู่ในกฎหมายว่าเป็นยาเสพติด เพราะตั้งแต่มีกฎหมายยาเสพติดมา กัญชาก็คือยาเสพติดมาหลายสิบปี แต่เมื่อมีการค้นพบสิ่งที่เป็นประโยชน์จากกัญชา เราก็ทำให้ส่วนนั้นไม่เป็นยาเสพติด แต่ส่วนใดที่ยังเป็นโทษยังถือว่าผิดกฎหมายอยู่ เราไม่ได้ปล่อยให้คนนำกัญชาไปใช้เสพจนมีผลต่อจิตประสาท เราไม่อนุญาตให้ทำแบบนั้น แต่เรานำส่วนที่ดีที่เป็นประโยชน์ของพืชกัญชามาส่งเสริม มาสร้างสินค้าสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ มาทำยารักษาโรค ทำสมุนไพรไทย เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชน ให้เป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความโดดเด่นของประเทศไทย 

จาก มี.ค.ถึงช่วงก่อนสงกรานต์

แนวโน้มสถานการณ์โควิด?

เราเปลี่ยนประเด็นการพูดคุย จากประเด็นการเมืองมาที่เรื่องของงานในกระทรวงสาธารณสุข โดยเมื่อถาม อนุทิน-รมว.สาธารณสุข เพื่ออัปเดตสถานการณ์โควิดในประเทศไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร หลังช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยยังอยู่ที่กว่าสองหมื่นคนติดต่อกันตลอดทั้งสัปดาห์     อนุทิน-รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ย้ำว่า ไวรัสโควิดสายพันธ์โอมิครอนไม่รุนแรงเท่ากับอาการโควิดสายพันธุ์เดลตาที่เราได้เคยประสบมา ดังนั้นแม้จะมีคนติดเชื้อมากขึ้นในช่วงนี้ แต่เราก็ยังมีการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ควบคุมสถานการณ์ได้ เพียงแต่ที่เชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอนติดง่าย ซึ่งแพทย์ก็บอกว่าที่ติดง่ายเพราะเชื้อมันลงไปไม่ลึก ติดอยู่บริเวณตอนบนของระบบทางเดินหายใจ ก็ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ง่ายขึ้น

การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือฉีดวัคซีนให้ครบ ถ้าให้ดีก็คือมารับวัคซีนเข็มสามและเข็มสี่ เพื่อบูสเตอร์โดสที่จะทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากขึ้น โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ในช่วงนี้ที่มีประมาณ 30-40 คน มากกว่า  80 เปอร์เซนต์ คือไม่ได้รับวัคซีนตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และเป็นโรคประจำตัวอื่นๆ  เป็นผู้ที่มีอายุมาก และปฏิเสธการรับวัคซีน ซึ่งคนที่ได้รับวัคซีนครบ 3 เข็มหรือ 4 เข็ม โอกาสที่จะเสียชีวิตก็จะลดน้อยลงไป

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดในประเทศไทยต่อจากนี้ จะอยู่ที่จำนวนเท่าใดในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของประชาชน โดยหากเราไปเน้นในเรื่องของตัวเลขการติดเชื้อแต่ละวัน การที่จะทำให้ไม่มีการติดเชื้อเลยก็คือการล็อกดาวน์ การใช้มาตรการที่เข้มข้นซึ่งเราผ่านจุดนั้นมาแล้ว  เราคิดว่าการที่คนไทยได้รับวัคซีนเป็นส่วนใหญ่และความรุนแรงของสายพันธ์โอมิครอนก็ไม่ได้รุนแรงมาก เราก็พยายามที่จะหาจุดที่มันลงตัวเพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด เศรษฐกิจเดินได้ การทำมาหากินทำได้ การติดเชื้อแม้จะยังมีอยู่แต่ก็มีวัคซีนป้องกัน มียาที่จะรักษาและมีการรณรงค์ให้ประชาชนใช้วิธีการป้องกันตนเอง ที่เขาเรียกว่า Universal Prevention  for COVID-19 คือให้นึกอยู่ตลอดเวลาว่า หากเราก้าวเดินออกจากบ้านเมื่อไหร่ความเสี่ยงก็บังเกิด ยิ่งห่างบ้านมากเท่าไหร่ความเสี่ยงก็ยิ่งมากขึ้น หากทุกคนคิดแบบนี้หมดก็จะป้องกันตัวเองได้ การแพร่เชื้อก็จะลดน้อยลง เราต้องทำให้ทุกอย่างดำเนินต่อไปได้ ภายใต้กรอบความปลอดภัยที่เรารักษาสถานการณ์ได้ ไม่ให้เกิดความรุนแรง

-จากสถานการณ์โควิดในเวลานี้ หากไปถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเดือนเมษายน สถานการณ์น่าจะดีขึ้นหรือไม่?

พูดลำบาก ประเทศไทยเรามีเทศกาลเยอะ สังเกตได้เลยว่าพอพ้นช่วงเทศกาลก็จะมีการติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น เพราะเราไม่จำกัดการเดินทาง การติดเชื้อที่จะกระจายไปก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น แต่หากเราไปจำกัดการเดินทาง ก็จะไปก่อความเดือดร้อน ทำงานไม่ได้ ค้าขายไม่ได้ ก็ลำบากอยู่ดี แต่ตอนนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ผู้คนส่วนใหญ่ส่วนมากด้วยได้รับวัคซีนแล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ใช่คนที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง ซึ่งหากเราต่างคนต่างได้วัคซีนแล้วมีการป้องกันตัวเองตลอดเวลา โอกาสแพร่เชื้อมันไม่มี ก็ต้องเชื่อว่ายิ่งเวลาทอดผ่านไปสถานการณ์ก็น่าจะดีขึ้น ส่วนการรักษาก็ยังไม่มีรายงานของเชื้อดื้อยา ทุกคนยังได้รับการรักษาได้รับยา แล้วก็หายภายในระยะเวลาไม่เกินสิบวัน เราถึงปล่อยให้มีความคล่องตัวในการดำเนินชีวิต

-แผนรักษาผู้ป่วยโควิดแบบ OPD หรือการรักษาแบบผู้ป่วยนอก ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่เรียกกัน เจอ-แจก-จบ รักษาจ่ายยาตามอาการ ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม จะมีผลกระทบต่อประชาชนอย่างไรหรือไม่?

ก็เป็นมาตรการที่ต้องการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชน และลดความแออัดของการใช้เตียงในโรงพยาบาล ลดการใช้ทรัพยากรในการดูแลรักษาพยาบาล ให้จำนวนเตียง จำนวนแพทย์และยาเวชภัณฑ์ มีไว้สำหรับรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกระดับได้ โดยบางทีเราป่วยไข้ เราไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาลทุกคราว โรคโควิด อัตราส่วนของอาการมันค่อนข้างจะนิ่งมานานแล้ว ก็คือมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ไม่มีอาการเลย ที่เขาเรียกว่าคนไข้สีเขียว ประมาณ 10-15 เปอร์เซ็นต์ คือคนที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง และ 5 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ที่มีอาการหนัก  โดยผู้ที่มีอาการหนักไม่ได้เกิดจากโควิดอย่างเดียว แต่ว่า เขาจะมีข้อจำกัดเรื่องสุขภาพ มีอุปสรรคในการดำรงชีวิต  เช่นมีโรคประจำตัวร้ายแรงอย่าง โรคไต โรคมะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งแม้เขาอาจจะได้วัคซีน แต่การสร้างภูมิคุ้มกันของเขาก็ทำได้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าคนปกติ เมื่อเรารู้ถึงรูปแบบของโควิดและได้พยายามบริหารจัดการให้ผู้ป่วยในระดับต่างๆ ได้รับการดูแลรักษา เพื่อให้สิ่งที่มีอยู่ในโรงพยาบาลมีความพร้อมสำหรับคนที่จำเป็นต้องเข้ามาจริงๆ

ดังนั้น แนวทาง OPD ประชาชนจึงไม่ได้รับผลกระทบใดๆ แน่นอน และเขาสามารถดูแลรักษาตัวเองได้โดยไม่มีความกดดัน เพราะเราใช้ระบบต่างๆ เช่น  Home Isolation หรือ HI หรือการกักตัวที่บ้าน ที่ทำให้ก็ได้อยู่ที่บ้านซึ่งสามารถประกอบกิจวัตรประจำวันปกติได้ ไม่ต้องไปอยู่ที่โรงพยาบาลหลายวัน แต่หากอาการหนักหน่อยก็มี Hospitel รองรับ แต่ถ้าหนักขึ้นมาอีก ก็มาที่โรงพยาบาล แต่หากหนักกว่าหนักอีกก็ใช้ห้องไอซียู  หากเราไม่คัดกรองประเภทของผู้ป่วยเลย ทุกคนสามารถเข้าโรงพยาบาลได้หมด โรงพยาบาลก็จะเต็มไปด้วยผู้ป่วยสีเขียว โดยที่หากว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงก็จะมีปัญหาเรื่องการจัดหาเตียงหาห้องให้เขา ก็จะทำให้เกิดความสูญเสียเพิ่มมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สิริพงศ์” รับเรื่องร้องเรียนจากศูนย์สิทธิผู้บริโภค โซนกรุงเทพฯ เหนือ ยัน 3 ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค - พ.ร.บ.อาหาร - พ.ร.บ.ความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า รอฝ่าย กม.พรรค ภท.พิจารณา

ที่ทำการพรรคภูมิใจไทย นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย รับหนังสือร้องเรียนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) นำโดยนางกนกวรรณ ด้วงเงิน ประธานโซนกรุงเทพฯ เหนือ พร้อมคณะศูนย์สิทธิผู้บริโภค จากเขตหลักสี่ จตุจักร ดอนเมือง สายไหม บางเขน และลาดพร้าว ได้ยื่นหนังสือ 3 ฉบับ อาทิ

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...

“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง

ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา

'ทักษิณ' แจงไปตีกอล์ฟ ไม่มีอะไรต้องเคลียร์ 'อนุทิน' เป็นเรื่องธรรมดาลิ้นกับฟัน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปรากฎภาพตีกอล์ฟร่วมกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสารัชถ์ รัตนาวะดี

ไม่ใช่อีแอบแล้ว แนวทางชัดขนาดนี้! 'สุขุม' อ่านเกม 'ภูมิใจไทย' ปมโหวตประชามติแก้ รธน.

ต่อประเด็นเรื่องการโหวตประชามติแก้ไข รธน. ที่พรรคภูมิใจไทย โหวตต่างจากพรรคแกนนำรัฐบาล ขณะที่พรรคร่วมบางพรรค ไม่ร่วมโหวต ซึ่งทาง สส.เพื่อไทย มองเป็นอีแอบ

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า