สงครามครั้งใหม่ในต้นปี 2022 ของมหาอำนาจทางกองทัพอย่างรัสเซียที่กำลังถาโถมกำลังกองทัพเข้าใส่ยูเครน ประเทศที่ต่างชั้นในศักยภาพการทำสงครามกับรัสเซีย กำลังปรากฏให้นักวิเคราะห์ทางการทหารทั่วโลกได้ศึกษาแนวคิดและกลยุทธ์ในการทำสงครามระหว่างคู่ขัดแย้งกันอย่างกว้างขวาง หากแต่การวิเคราะห์จะลุ่มลึกไปทางไหน ก็สุดแล้วแต่ความเชี่ยวชาญเฉพาะจริงๆ ของคนๆ นั้น ที่จะนำพาผลการวิเคราะห์ไปในแง่มุมที่ตนเองถนัด ด้วยการมองปรากฏการณ์ของสงครามครั้งนี้ มีหลากหลายแง่มุมที่สามารถนำมาศึกษาวิเคราะห์ได้ ซึ่งถ้ามองในมุมการวิเคราะห์ว่า เหตุใด ผู้นำรัสเซียคนนี้ จึงกล้าตัดสินใจใช้กำลังกองทัพของชาติเข้าปฏิบัติการต่อยูเครนอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงว่าปูตินจะใช้กำลังอย่างสายฟ้าแลบ เพราะคิดว่าประธานาธิบดีปูตินจะทำเพียงแค่แสดงกำลังกองทัพอันเกรียงไกล โดยวางกำลังหลักแสนเข้าประชิดชายแดนยูเครน พร้อมซ้อมรบกับพันธมิตรอย่างเบลารุสที่อยู่ทางเหนือของยูเครน เพื่อกดดันให้ NATO ให้คำมั่นว่า จะไม่รับยูเครนเป็นสมาชิก อันเป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์หลักของรัสเซียในหนนี้ หากแต่ว่าหาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อสหรัฐฯ และพันธมิตร NATO พยายามตีฆ้องร้องป่าวว่าจะสนับสนุนยูเครนหากรัสเซียตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้าโจมตียูเครน โดยเฉพาะการสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมทั้งยุทธปัจจัยต่างๆ มากมายให้กองทัพยูเครน และยั่วยุด้วยการวางท่าทีที่แข็งกร้าวต่อรัสเซีย โยเฉพาะผู้นำยูเครนที่พยายามเรียกร้องการสนับสนุนทางทหารของ NATO ต่อยูเครน
และแล้วสงครามที่แท้จริงก็เกิดขึ้นอย่างที่หลายคนไม่อยากให้เกิดท่ามกลางวิกฤตโลกที่ถาโถมมาอย่างมากมายก่อนหน้านี้ แต่เมื่อเป้าประสงค์เชิงยุทธศาสตร์ของรัสเซียที่จะชนะโดยไม่ต้องรบนั้นล้มเหลว ประธานาธิบดียูเครนจึงตัดสินใจใช้กำลังกองทัพของเขาเข้าบังคับเอากับฝ่ายตรงข้ามเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และปัจจัยที่สนับสนุนให้ผู้นำรัสเซีย กล้าทำสงครามยุคนี้ ก็เป็นเพราะประเมินแล้วว่ามหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ เริ่มทีท่าทีที่อ่อนลงอย่างมากต่อปฏิบัติการทางทหารในต่างแดน โดยเฉพาะการถอนกำลังทหารสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถานในยุคประธานาธิบดีไบเดน ซึ่งเป็นผู้นำสหรัฐฯ คนปัจจุบัน จนกระทั่งกองกำลังตาลีบันสามารถรุกคืบเข้าครอบครองอัฟกานิสถานอย่างเป็นเสร็จเด็ดขาดจนถึงทุกวันนี้ และการถอนกำลังทหารของสหรัฐฯ ครั้งนั้น ก็ดูจะไมต่างอะไรกับเมื่อกองทัพสหรัฐฯ ถอนกำลังออกจากกรุงไซง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้ ซึ่งสร้างความอับอายไปทั่วโลก ประกอบกับการขึ้นมาครองตำแหน่งประธานาธิบดีของโจ ไบเดน ก็เพิ่งจะมาดำรงตำแหน่งนี้ไม่นาน ในขณะที่คนอย่างปูติน เป็นผู้นำรัสเซียมาอย่างยาวนานมาก ชั้นเชิงลีลาในปฏิสัมพันธ์ระหว่างประเทศของปูติน จึงคิดว่าไม่เป็นสองรองใคร ประกอบกับอาวุธทำลายล้างสูงอย่างนิวเคลียร์ที่รัสเซียมีมากลำดับต้นของโลก ปูตินจึงประเมินว่า น่าจะเป็นอาวุธทางยุทธศาสตร์ป้องปราม ไม่ให้ชาติ NATO เข้ามายุ่งในสงครามครั้งนี้ และนี่คือปัจจัยสนับสนุนสำคัญให้ปูตินกล้าลงมือก่อสงครามครั้งนี้
คำถามสำคัญที่น่าสนใจมีอีกว่า ทำไมผู้นำรัสเซียตลอดระยะเวลาในการเป็นผู้นำ เขาถึงมุ่งหน้าในการรัสเซียกลับมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในโลกหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย คำตอบที่น่าเป็นไปได้ก็คือว่า ปูตินเคยเป็นสายลับ KGB เก่าของสหภาพโซเวียต ซึ่งเขาเจ็บปวดต่อการล่มสลายของชาติในครั้งนั้นอย่างฝังลึกมาโดยตลอด ความล่มสลายของชาติมหาอำนาจอย่างสหภาพโซเวียตเป็นเพราะน้ำมือของสหรัฐฯ และพันธมิตร ในขณะที่รัสเซียตกต่ำลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจและความเป็นผู้นำโลก ในทางกลับกันองค์การป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) ซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการคานอำนาจของสหภาพโซเวียต ก็ยังดำรงคงอยู่จนถึงทุกวันนี้ ทั้งยังแผ่ขยายอิทธิพลทางทหารในภูมิภาคนี้อย่างต่อเนื่อง เหล่านี้คือปัจจัยอีกประเด็นหนึ่งที่ผู้นำรัสเซียเปิดเกมสงคราม เพื่อทวงคืนความยิ่งใหม่มาสู้รัสเซียเหมือนครั้งก่อนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
และเมื่อทำสงครามแล้ว สิ่งที่ชวนคิดกันต่อไปก็คือ รัสเซียคิดว่าน่าจะปิดเกมเร็ว เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองระหว่างประเทศ หากแต่แท้ที่จริงแล้ว สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อมาหลายวัน ทำให้รัสเซียถูกรุกกลับทางการเมืองระหว่างประเทศที่ต่างเห็นใจยูเครนมากขึ้นตามลำดับ ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า รัสเซียประเมินศักยภาพของยูเครนต่ำไป ปูตินน่าจะคิดว่า ทันทีที่กองทัพรัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธและส่งกำลังกองทัพภาคพื้นดินเข้าถาโถมเข้าใส่ ยูเครนน่าจะถอยร่นและยอมแพ้ในไม่ช้า แต่ยูเครนได้เตรียมทุกอย่างไว้มากกว่าที่รัสเซียคาดคิด ยูเครนได้ผสมผสานยุทธวิธีในการทำสงคราม ที่เรียกว่า สงครามหลายมิติ (Multi Dimensional War) ทั้งการใช้กำลังทหารหลัก สู้รบแบบยุคก่อน พร้อมๆ กับการใช้กำลังกองโจร ที่มุ่งเน้นตัดการส่งกำลังให้หน่วยรบเป็นหลัก แบบเดียวกับนักรบเวียดกงที่ทำเอากองทัพสหรัฐฯ เพลี่ยงพล้ำต่อการแยกแยะทหารกับพลเรือน แทรกปนในรูปแบบพลเรือน ทั้งปรากฏภาพประชาชนมือเปล่าทั้งผู้หญิงและเด็กยืนต่อต้านขวางรถถังรัสเซียอย่างกล้าหาญ อีกทั้งยังเป็นการทำลายขวัญของทหารรัสเซียไปด้วยในตัว และพ่ายแพ้ต่อการทำปฏิบัติการข่าวสารทางยุทธศาสตร์ (Strategic Information Operation) ผ่านสื่อ Social ยุคใหม่ ที่ยูเครนนำมาประยุกต์ใช้อย่างค่อนข้างได้ผล ควบคู่กับการทำสงครามยุคใหม่ที่ใช้สงครามไซเบอร์ (Cyber Warfare) ตอบโต้กับการใช้สงครามไซเบอร์ (Cyber Warfare) ของรัสเซียอย่างเข้มข้น
ในขณะที่รัสเซียยังคงใช้หลักนิยมทางทหารในการทำสงครามแบบยุคก่อนเป็นหลัก โดยเริ่มจากการโจมตีด้วยอาวุธยิงสนับสนุนอย่างขีปนาวุธ แล้วติดตามด้วยกำลังภาคพื้นดินเพื่อหมายจะยึดครองพื้นที่แบบยุทธวิธีดั้งเดิม ที่ต่างจากยุทธวิธีทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ ในยุทธการพายุทะเลทรายในอิรักในครั้งก่อน ที่สหรัฐฯ ใช้ขีปนาวุธมุ่งทำลายเป้าหมายเรดาห์ให้ราบคาบ ซึ่งเรดาห์ทางทหารเปรียบเสมือนตาของอาวุธต่อสู้อากาศยาน ก่อนที่จะใช้อากาศยานโจมตีต่อระบบควบคุมบังคับบัญชาและอาวุธยิงสนับสนุนระยะยาวอื่นๆ ของฝ่ายตรงข้าม จนเชื่อมั่นได้ว่า หากใช้กำลังภาคพื้นดิน เคลื่อนพลเข้ายึดครองพื้นที่เป้าหมายสำคัญๆ แล้ว ชีวิตทหารของกองทัพจะได้รับความปลอดภัยมากที่สุด ซึ่งในทางทหารเรียกว่า การอนุรักษ์กำลังรบ เพราะสหรัฐฯ เคยได้รับความเจ็บปวดจากบทเรียนในสงครามเวียดนาม จนกระทั่งต้องพ่ายแพ้ต่อสงครามข่าวสาร (IO) ของฝ่ายเวียดนามและนำมาซึ่งการเรียกร้องของคนอเมริกันที่ต้องการให้ถอนทหารออกมาเนื่องจากไม่อยากเห็นลูกหลานของพวกเขาต้องบาดเจ็บล้มตายอีกต่อไปแล้ว หากแต่สมรภูมิหนนี้ รัสเซียยังไม่สามารถครองอากาศได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งที่รัสเซียใช้ทั้งเฮลิคอปเตอร์ เครื่องบินโจมตี ทำการโจมตีทำลายระบบป้องกันภัยทางอากาศ ระบบเรดาร์แจ้งเตือนของยูเครนไปได้มาก แต่ก็ยังปรากฏการสูญเสียกำลังทางอากาศอยู่ หรือจรวดต่อสู้อากาศยานประทับบ่า นั่นก็หมายความว่า ระบบเรดาห์ของยูเครนยังสามารถล่องหนหลบหลีกการโจมตีของรัสเซียได้อย่างน่าทึ่ง
การสนับสนุนยุทโธปกรณ์ทางทหารของพันธมิตรยูเครน ที่หลั่งไหลมาทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว อาทิ เนเธอร์แลนด์ส่งเครื่องยิงลูกระเบิดต่อสู้รถถังจำนวน 400 ชุดให้ยูเครน โดยคาดว่าน่าจะเป็น Panzerfaust 3 และส่งอาวุธต่อสู้รถถังของตนเอง 1,000 ชุด พร้อมจรวด Stinger อีก 500 ชุดให้ยูเครน และฝรั่งเศสส่งอุปกรณ์ป้องกันตนเองและอุปกรณ์เก็บกู้ระเบิด และอนุญาตให้เอสโตเนียส่งปืนใหญ่ให้กับยูเครน เป็นต้น หากแต่ในทางทหารแล้ว จะเข้าใจกันดีว่า อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารนั้น ไม่สามารถส่งให้แล้วทหารในกองทัพอื่นๆ นั้น จะใช้ได้เลย เพราะอาวุธทางทหารจำต้องมีการฝึกการใช้อย่างชำนาญจึงจะมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เชื่อว่า ประเทศที่ให้การสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหารโดยเฉพาะอาวุธที่มีเทคโนโลยีสูง จะต้องมีการส่งทหารเจ้าของยุทโธปกรณ์นั้นไปช่วยสนับสนุนการใช้สิ่งเหล่านั้นด้วย ซึ่งนั่น ก็หมายความว่า กองทัพรัสเซียไม่ได้สู้กับกองทัพยูเครนเพียงลำพัง เหล่านี้จึงเห็นได้ว่า ยุทธวิธี ยุทธการ และยุทธศาสตร์การสู้รบในสงครามครั้งนี้ ลุ่มลึก หลากหลายเกินกว่าที่จะวิเคราะห์อย่างพื้นๆ ได้ หากว่าฝ่ายใดผสมผสานการสู้รบได้อย่างกลมกลืนให้เกิดสงครามหลายมิติ (Multi Dimensional War) ที่สอดคล้องกับภาวะของโลกในยุค 2022 ได้อย่างแท้จริงแล้ว แม้จะเพลี่ยงพล้ำในระดับยุทธวิธี แต่อาจได้รับชัยชนะในระดับยุทธศาสตร์ในที่สุด
เสือตัวที่ 7
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...
นโยบายและกฎหมายรัฐบาลดิจิทัล (ตอนที่ 2) : ถอดบทเรียนกฎหมาย เสนอแนะการขับเคลื่อนและปรับปรุง
จากตอนที่แล้ว ซึ่งเกริ่นนำใจความสำคัญของกฎหมาย 2 ฉบับ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติการบริหารงานและให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล (พ.ศ. 2562) และ พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ (พ.ศ. 2565)
เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2
รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า
วิปริตธรรม .. ในสังคม!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง