สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
มีคนจำนวนมากเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศในช่วงเป็นหัวหน้ารัฐบาลมา 7 ปีว่าจะเปลี่ยนแปลงประเทศครั้งใหญ่ “ให้คนไทยจากมีรายได้ปานกลางเป็นผู้มีรายได้สูง” ในทรรศนะของเราผู้เขียนเห็นว่าเป็นคำใหญ่ยิ่งกว่าพวกกลุ่มทะลุฟ้าทะลุแก๊สทั้งหลาย ไม่รู้ว่าชาติไหน (ชาตินี้หรือชาติหน้า) ประเทศของเราจะไปถึงจริงไหม!!! ตามรายงานของ The credit suisse global wealth report 2018 ระบุว่า คนไทยร้อยละ 1 ถือครองความมั่งคั่งหรือมีสินทรัพย์รวม ร้อยละ 66.9 (คนอีกร้อยละ 99 ถือครองเพียงร้อยละ 33.1) เท่านั้น นับว่าสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก (รัสเซียอันดับ 2 คนร้อยละ 1 ถือครองฯ 57.1 อันดับ 3 ตุรกี คนร้อยละ 1 ถือครองฯ 54.1 อินเดียอันดับ 4 คนร้อยละ 1 ถือครองฯ 51.5) และการสร้างกับดักแห่งหนี้ (debt trap) ของประเทศ ทั้งหนี้สินของครัวเรือนและหนี้ของประเทศ ก็สุดคณานับเกินกว่าร้อยละ 60 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาติไปไกลแล้ว จนเราต้องหันมาสนใจ “คนสร้างกับดักหนี้” เพื่อปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงแบบถ้วนทั่วกันได้หรือยัง
ทำไมเราผู้เขียนถึงหันกลับมาสนในเรื่องการทุจริตใน "หลักประกันแห่งหนี้” (การประกันภัยและสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์) ที่เหล่าผู้ก่อกรรมทำเข็ญได้ก่อไว้ให้คนไทยผ่านระบบการกำกับดูแล (ภาษากฎหมาย) ของระบบราชการอันล้าหลัง (โดยเฉพาะนายทะเบียนสหกรณ์หรืออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์) บรรดาสหกรณ์กว่า 6,000 แห่งในประเทศ มีประชากรซึ่งเป็นสมาชิกกว่า 11 ล้านคน ถ้าคิดครัวเรือน เฉลี่ยแล้ว 3-4 คนก็ตกราว 35 ล้านคนขึ้นไป ตอนนี้ผู้คนเรียกร้องขั้นสูงสุด ให้ยกเลิกหนี้สิน (รัฐบาลตอบไม่มีทาง) ให้ลดเงินต้นลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง(รัฐบาลนายทุนก็จะตอบว่า มีทางอยู่บ้างเฉพาะบางรายเป็นนายทุนลงมาหรือคนขั้นกลาง (นายทุนน้อย) ที่กู้เงินธนาคารและไฟแนนซ์ทั้งในประเทศหรือต่างประเทศมาอย่างที่เรียกขานว่า “แฮร์คัท”) ให้ยกเลิกไม่เก็บดอกเบี้ยหรือคิดดอกเบี้ยขั้นต่ำเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปีเหมือนปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้งใน "กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน” (จัดตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติการงบประมาณ พ.ศ.2502) และกองทุนใหม่ “พระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ พ.ศ.2558 เพื่อไปหนุนช่วยกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ อันเกิดจากวิกฤตต้มยำกุ้ง (รัฐบาลนายทุนจะตอบให้จบเรื่องเช่นเดียวกับแฮร์คัทในข้อที่ผ่านมา) ไม่มีคำตอบแม้ว่าครูจะขอลดเงินต้นและดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 0.01 มาอย่างต่อเนื่องยาวนานมากว่า 10 ปีแล้วก็ตาม
ดังนั้น บทบาทในตอนชราภาพจึงพุ่งความสนใจไปที่คนในระบบกฎหมายของกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯ กรรมการสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) และกรรมการธนาคาร และสมาชิกครูผู้กู้ทั้งหลาย (กว่า 3 ล้านคนในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์กว่า 1,450 แห่ง) ขณะนี้ได้พาครู 78 คนฟ้องเรื่องหนี้ธนาคารออมสินต่อศาลทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ในข้อหาเรียกเก็บเงินเมื่อครูกู้เงิน 6 แสน หรือ 1.2 ล้านบาท หรือ 3 ล้านบาทเรียกเก็บเงินรายละ 2 พัน 4 พัน 6 พัน และ 1 หมื่นบาทโดยมิชอบและนำไปตั้งกองทุนใน สกสค.โดยมิชอบแล้วนำไปทุจริตในโครงการโซลาร์เซลล์ 2.5 พันล้านบาท โรงไฟฟ้าจากขยะในโครงการหนองคายน่าอยู่ 800 ล้านบาท และโครงการก่อสร้างศูนย์พัฒนาครูที่เชียงใหม่ 79 ล้านบาท ศาลทุจริตฯ กลางได้ประทับรับฟ้องแล้วตามคดีหมายเลขดำที่ อท 70/2564
มาเริ่มกันที่การกู้เงินที่มากที่สุดผ่านระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ มีคณะกรรมการฯ 15 คน มีวาระ 2 ปี ในช่วงนี้จะมีบุคคลที่กำลังทำเรื่องหนี้สินครูอยู่พวกหนึ่งเรียกว่า “คณะกรรมการแก้ไขปัญหาหนี้สินข้าราชการครูฯ” ตามคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ สป 566/2564) ใน 29 คนนี้นายสุทธิชัย จรูญเนตร ประธานกรรมการได้โพสต์ข่าวว่า “ครูเป็นหนี้สหกรณ์ถึง 9 แสนล้านบาท” และมีกรรมการคนหนึ่ง (ขอปกปิดไว้ก่อน) ได้อภิปรายคณะกรรมาธิการฯ วุฒิสภาทำนองว่าครูที่เป็นหนี้จำนวนมหาศาลเดือดร้อนไม่ถึงร้อยละ 1 จนทำให้ครูเมื่อเห็นคำสั่งนี้ต้องทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการทันที และในที่สุดคณะกรรมการฯ ก็น่าจะลงกรอบเดิมๆ โดยมีผลสรุปข้อหนึ่งว่า ให้มีการรวมหนี้โดยนำเม็ดเงินจากธนาคารแห่งหนึ่งดอกเบี้ยในอัตราไม่สูงนัก แล้วเอามาผ่านระบบสหกรณ์ (เอาหนี้มารวมที่สหกรณ์แห่งเดียวตกรายละราว 3-10 ล้านบาท) แล้วปล่อยกู้ คงจะใช้คนค้ำประกันร่วม 10 คน (แทบไม่มีคนค้ำ) หรือทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองเงินกู้ เราผู้เขียนยืนยันอย่างหนักแน่นว่าครูยังจำได้ใช้ไหมว่าได้ชำระเงินจำนวนมหาศาล ค่าประกันฯ ไปในโครงการเงินกู้ ช.พ.ค. กับธนาคารออมสินให้กับบริษัทประกันภัยฯ แล้วพวกกลุ่มผีดูดเลือดครูก็ได้รับค่าคอมมิชชั่นกันถ้วนหน้า
มาเริ่มกันที่การทำมาหากินเรื่อง “หลักประกันหนี้สินที่กู้” จากการประกันภัย (ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย) และการตั้ง "สมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์” ตามพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 หลายพันแห่งขึ้นราวดอกเห็ด (เข้าใจว่ากรมและกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไม่มีสถิติจำนวนรวมทั้งประเทศหรือ!!!)
คงต้องเริ่มจาก “ความผิดกฎหมาย” การประกันภัย และกฎหมายอื่น รวมทั้งกฎหมายลูกกันก่อน ถ้านายทะเบียนสหกรณ์ทำตามอำนาจหน้าที่ตรวจสอบกว่า 1,450 สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ไม่ล่าช้าเกินสมควร จะพบกับมูลค่าความเสียหายกว่า 1 แสนล้านบาท
1.ต้องเริ่มจากดูว่าสหกรณ์ (กรรมการฯ และเจ้าหน้าที่) ทำประกันภัยก่อนว่าท่านผู้ชักชวน ชี้ช่อง จัดการให้สมาชิกทำประกันฯ มี “ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต”(มาตรา 18 และ 68 แห่งพระราชบัญญัติการประกันชีวิต พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม) หรือ “ในอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัย” (ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535) หรือหนังสือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ 2120/564 ลงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 หรือไม่ สมาชิกสหกรณ์ทุกคนเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาตามมาตรา 2(4) สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์ตามสิทธิของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 41 (2) ต่อพนักงานสอบสวนยังสถานีตำรวจฯ ได้ทั่วประเทศ แล้วสถานีแห่งนั้นจะโอนการแจ้งความของท่านยังสถานที่เกิดเหตุที่รับผิดชอบ (ลองเปิดกูเกิลดู) หรือจะฟ้องศาลอาญาทั่วไปโดยตรงก็ได้ โทษตามกฎหมายประกันชีวิต (ส่วนใหญ่จะทำกัน) ตามมาตรา 91 และการเป็นตัวแทนบริษัท ต้องระบุว่าเป็นของบริษัทใดด้วย (มาตรา 68) และความรับผิดปรากฏในมาตรา 73/3 นิติบุคคลซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตต้องร่วมรับผิดในความเสียหายที่บุคคลซึ่งได้รับการแต่งตั้งหรือมอบหมายได้ก่อขึ้นจากการกระทำการเป็นนายหน้าประกันชีวิตของนิติบุคคล ไม่ว่าผู้นั้นจะได้รับใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิตหรือไม่ก็ตาม” (ถ้าผิดกฎหมายจริง จะต้องคืนค่าเบี้ยประกันชีวิตไปย้อนหลังทั้งหมดเงินเป็นล้านๆ จะต้องร่วมรับผิดด้วย) สำรวจแล้วพบว่า ส่วนใหญ่ของกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ไม่มี “ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต” ครูนักต่อสู้ผู้กล้าคนแรก” ที่แจ้งความร้องทุกข์คือนางนวรัตน์ ชูทุ่งยอ จากสหกรณ์ฯ ครูขอนแก่น
2.ต้องดูถ้ากรรมการฯ หรือเจ้าหน้าที่รับบุคคลภายนอก(รับทั้งสมาชิกในครอบครัว สมาชิกสามัญ สมาชิกสมทบ และบุคคลภายนอก) สำรวจแล้วพบว่า สหกรณ์จำนวนหนึ่งนำบุคคลภายนอกมาทำประกันชีวิต ผิดกฎหมายตามหนังสือกรมส่งเสริมสหกรณ์ที่ กษ 1101/830 เรื่อง ห้ามสหกรณ์ดำเนินธุรกิจประกันชีวิต ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2545 และขัดต่อวัตถุประสงค์การจัดตั้งสหกรณ์ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในหมวดของการจัดตั้งและการจดทะเบียนสหกรณ์ (เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก มิใช่บุคคลภายนอก) ท่านร้องเรียนไปยังนายทะเบียนสหกรณ์ (อธิบดีกรมสงเสริมสหกรณ์) หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์หรือสหกรณ์จังหวัดนั้นๆ เพื่อสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่อง (ความหมายต้องยกเลิกการกระทำเช่นนั้นเสีย) ตามมาตรา 22 (2)-(3)-4
3.ต้องดูว่าสหกรณ์นั้นๆ มีระเบียบฯ หลักประกันเงินกู้ว่าต้องทำประกันภัย แล้วต้อง (แอบทำหนังสือมอบอำนาจรับค่าสินไหมทดแทนโดยสหกรณ์หักเพื่อชำระหนี้ ที่เหลือจึงตกถึงรายชื่อตามกรมธรรม์ กรมธรรม์สำคัญมากท่านได้รับหรือไม่ (ส่วนใหญ่บริษัท หรือสหกรณ์จะไม่ส่งให้ถึงตัวสมาชิกโดยตรง) มีระเบียบฯ การเก็บเบี้ยประกันชีวิต(แบบกลุ่ม) ล่วงหน้า หรือระเบียบฯ สวัสดิการโครงการประกันภัย (แบบกลุ่ม) สำหรับสมาชิกและครอบครัวสมาชิก หรือมีประกาศสหกรณ์เรื่องการประกันชีวิต ประกันภัยกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ หรือมีประกาศสหกรณ์เรื่องผลการพิจารณาการประกันชีวิต ประกันภัยกลุ่มสมาชิกสหกรณ์ฯ หรือมีหนังสือของสหกรณ์ทวงถามหรือแจ้ง (ให้ทราบและปฏิบัติ) ความคุ้มครองประกันคุ้มครองสินเชื่อ หรือหนังสือยินยอมหักเงินประกัน (ของสหกรณ์ฯ ครูมหาสารคาม) ระเบียบหรือหนังสือทั้งหมดเหล่านี้จะระบุถึงการทำประกันภัย การรับค่าสินไหมทดแทนให้สหกรณ์รับไปเท่าจำนวนหนี้ก่อน ที่เหลือถึงจึงจ่ายให้ตามรายชื่อที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ (การรับเงินสหกรณ์อาจไม่มีใบสำคัญจ่ายเงินให้เรา) ประเด็นทั้งหมดนี้อาจฝ่าฝืนกฎหมายประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ (ปพพ.) ในมาตราต่างๆ (ดังข้อ 5) อย่างนี้ให้นำทุกอย่างไปแจ้งความร้องทุกข์ได้ยังพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจฯ ว่าสหกรณ์ที่ชักชวน ชี้ช่อง จัดการให้เราทำประกันโดยไม่มี “ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต” (เพื่อคุ้มครองสินเชื่อ) (ตามมาตรา 18 อ้างแล้ว) และร้องไปยังนายทะเบียนฯ และรองนายทะเบียนสหกรณ์ให้ปฏิบัติการมาตรา 22 (1)-(4) ทำสองอย่างไปพร้อมกันได้เลย
4.การเรียกเก็บเงินรายเดือนโดยไม่มีใบเสร็จแต่แนบข้อความจำนวนเงินไปใบเสร็จรับเงินของสหกรณ์ (ประจำเดือน) แล้วหักเงินชำระรายเดือนโดยไม่มีใบเสร็จ สหกรณ์จะเลือกใช้หมุนเงินของสหกรณ์โดยขออนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ก้อนใหญ่มาก (ลงมติฝ่าฝืนกฎหมาย) เตรียมไว้ให้บริษัทประกัน แล้วมาเรียกเก็บรายเดือนจากสมาชิก มาให้บริษัทประกันเป็นงวดๆ ไปก่อน และหลายแห่งใช้วิธีให้สมาชิกกู้เงินยืมเงินเพื่อเสียค่าประกันโดยไม่มีใบเสร็จรับเงิน หรือใบสำคัญรับเงิน (บางแห่งอาจมีในสำคัญฯ) ให้ร้องไปยังนายทะเบียนฯ หรือรองนายทะเบียนสหกรณ์ หรือร้องกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ให้มาตรวจสอบบัญชี (สหกรณ์ต่างๆ พากันเกรงกลัวมาก) หรือผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์ (เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่) ทำตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ใหม่ล่าสุดปี 2563 (เชื่อแน่ต่อไปนี้ จะมีสมาชิกสหกรณ์พากันร้องผ่านฯ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ)
5.ตรวจสอบตัวเองโดยถามตนเองว่า “ได้ลงลายมือชื่อ” ในแบบของบริษัทประกันฯ เพื่อขอทำประกันหรือไม่ (เกือบทั้งหมดจะตอบว่าไม่ได้ลงลายมือขื่อ) ถ้าเช่นนั้นสมาชิกทั้งหลายก็ถูกสหกรณ์ฯ “สมอ้าง” เอารายชื่อเราไปทำประกันชีวิต (เพื่อคุ้มครองสินเชื่อ) โดยสหกรณ์ฯ ใส่รายชื่อผู้รับประโยชน์ (เมื่อสมาชิกถึงแก่กรรม) แทน สิทธิในค่าสินไหมทดแทนนั้นตกแก่ผู้รับประโยชน์ ซึ่งอาจเป็นคู่สมรส ผู้สืบสันดาน หรือทายาทตามที่ระบุไว้ในสัญญา (ผิดกฎหมายหรือไม่ ท่านคิดเอา) และการทำประกันชีวิตถือเป็น “สิทธิเฉพาะตัว” บุคคลที่มาทำให้สัญญาประกันฯ ต้องมี “ใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันชีวิต” กฎหมายใช้ความว่า ชักชวน ชี้ช่อง จัดการ (ทำนองนี้) ถ้าไม่มีใบอนญาตฯ ไม่มีสิทธิทำประกันให้สมาชิก แต่บรรดากรรมการและเจ้าหน้าที่สหกรณ์ฯ ชอบสมอ้าง น่าจะฝ่าฝืน ปพพ.มาตรา 149 ไม่ผูกสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการก่อเกิดของสัญญาระหว่าง “คำเสนอ” กับ “คำสนอง” (ปพพ. มาตรา 354-359) และ ปพพ.มาตรา 171 สมาชิกผู้กู้มีเจตนาอันแท้จริงหรือไม่ (การแสดงเจตนานั้นให้เพ่งเล็งเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษร) อยู่ในการแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน อาจฟ้องเป็นคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายได้ และร้องไปยังนายทะเบียนหรือรองนายทะเบียนสหกรณ์
คราวนี้มาถึงสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ (ชื่อตัวย่อมากมายจำไม่หวาดไม่ไหว) ขึ้นกับนายทะเบียนกลางสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์หรืออธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และนายทะเบียนประจำท้องที่ (นายก อบต.หรือนายกเทศมนตรี) ถ้านายทะเบียนตรวจสอบจริงเชื่อว่ามูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท สมาชิกสมาคมต้องตรวจสอบดังนี้ โดยเริ่มจากการสังเกตดูว่ามี “ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน” ด้วยภาษาไทย ชัดเจนติดตั้งไว้หน้าสำนักงาน (มาตรา 17) หรือดูในประกาศราชกิจจานุเบกษาว่ามีชื่อ (สมาคม) ตรวจดูประกาศโดยนายทะเบียนกลาง (มาตรา 12) สำหรับการตั้งสาขาจะกระทำมิได้ (ที่มาตั้งอยู่ในสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ ไม่เรียกว่าสาขาหรือศูนย์ ต้องตีความโดยผู้มีอำนาจ (มาตรา 9) และที่สำคัญที่สุดมาตรา 24 การกระทำผิดดูได้ไม่ยากเลย เพียงแต่สมาชิกทุกคนได้รับหนังสือเชิญประชุมใหญ่หรือไม่ ถ้าไม่ได้รับจะส่งไปทางอินเทอร์เน็ตไปยังหน่วยงาน (ก็ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดูตัวอย่างคำสั่งนายทะเบียนประจำท้องที่เทศบาลตำบลปรุใหญ่ที่ 1/2563 เรื่องการเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีและการเพิกถอนการแต่งตั้งกรรมการชุดที่ 11) นายพิชัย สมพงษ์ กับพวกเพียง 11 คนที่ร้องไปยังนายทะเบียนกลางว่าไม่ได้รับหนังสือเชิญทางไปรษณีย์เมื่อไปตรวจสอบกับไปรษณีย์ไม่มีส่งไป นายทะเบียนประจำฯ ก็สั่งเพิกถอนแล้ว)
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่เพราะไม่สามารถพิจารณาอนุมัติบัญชีรายได้ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของสมาคม และเลือกตั้งคณะกรรมการได้(มาตรา 22) และในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 นายทะเบียนกลางตีความเคร่งครัดมาก เมื่อท่านไม่ได้รับหนังสือเชิญประชุมใหญ่ทั้งสามัญและวิสามัญล่วงหน้า 7 วัน ก็สั่งเพิกถอนให้เสมอ เรื่องที่ชวนสงสัยคือการเก็บเงินค่าสงเคราะห์ (ศพ) ล่วงหน้าสามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่ที่ประชุมใหญ่กำหนดและต้องกำหนดในข้อบังคับ(เท่านั้น มาตรา 30 วรรคห้า) การที่สมาชิกจะฟ้องศาลเองก็ได้ตามสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (4) หรือแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนฯ เพื่อส่งอัยการและศาล เหมือนดังหญิงแกร่งคนที่สองแห่งเมืองมหาสารคามนางคำหยาด ศรีบุญเรือง (มาเดี่ยว) ขอให้ตรวจสอบงบบัญชีรายได้ และงบดุลในปี 2561-2563 ของสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สหกรณ์ออมทรัพย์ครูมหาสารคาม จำกัด (สส.มค.) เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 มีการโต้แย้งเรื่องรายได้ รายจ่าย และงบดุล (มาตรา 52 (3)) กันอยู่ในขณะนี้
มูลเหตุที่เกิดวิกฤตในสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งระบบเช่นนี้ ในความเห็นของเราผู้เขียนเห็นว่า “เกิดจากการแสวงหาหลักประกันเงินกู้” ทั้งสิ้น ประกอบนายทะเบียนสหกรณ์มักจะละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องปฏิบัติ หรือการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าเกินสมควร (ศาลปกครอง) และอาจเข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา (อายุความ 15 ปี) หลักประกันที่สร้างขึ้นเป็นกับดักหนี้สินไม่รู้จบสิ้นในชาตินี้ ขนาดนายทะเบียนยังอุตสาห์มีคำเตือนมาถึงสหกรณ์ทุกแห่งว่าตามหนังสือกรมที่ กษ 1108/10467 ลงวันที่ 30 กันยายน 2547 เรื่อง คำแนะนำเกี่ยวกับการให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์ (เงินกู้ประเภทใดประเภทหนึ่งสหกรณ์สามารถให้กู้หลายสัญญาได้ แต่ทั้งนี้ยอดรวมของเงินกู้ทุกสัญญาต้องจำกัดอยู่ในวงเงินกู้ของประเภทนั้นๆ) และนายทะเบียนคนกล้าในปัจจุบัน (นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ) ยังได้มีหนังสือที่ กษ 1115/2422 ลงวันที่ 16 เมษายน 2564 ซักซ้อมฯ กรณีสหกรณ์ปล่อยเงินกู้ให้แก่สมาชิกหรือสหกรณ์อื่นเกินวงเงินกู้ที่กำหนดในระเบียบสหกรณ์
จึงอยากจะขอความร่วมมือในการยับยั้งวิบัติการณ์ครั้งนี้โดยให้สหกรณ์จังหวัดในฐานะรองนายทะเบียนตรวจสอบอย่างจริงเป็นประการแรก (นายทะเบียนเตือนมาแล้วกว่า 16 ปีใน พ.ศ.2547) อย่างที่สอง อยากให้นายทะเบียนทำหนังสือให้สหกรณ์จังหวัดตรวจสอบระบบบัญชีสหกรณ์ว่าเงินโบนัสที่ประชุมใหญ่อนุมัติเป็นเงินจำนวนมากเช่น 15-20 ล้านบาท สหกรณ์นั้นๆ เอาไปจ่ายเป็นเสมือนเข้าใจได้ว่าเป็นการซื้อเสียงเลือกตั้งให้กับผู้แทนสมาชิกหรือไม่ (กรณีเหม็นเน่าที่กาฬสินธุ์รายละ 7.5 พันบาทจนต้องฟ้องศาลในปี 2564) และสาม อยากให้ตรวจสอบการเงินของการประกัน หรือแชร์ลูกโซ่ต่างๆ “ปรากฏอยู่ในงบการเงินของสหกรณ์” (หรือไม่) หรือการไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้สมาชิกรายบุคคล แต่บางปีไปขอตั้งงบประมาณจ่ายให้บริษัทประกันล่วงหน้าโดยขออนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ เป็นต้น
อีกไม่นานนักจะเกิดวิกฤตการณ์ครั้งใหญ่ในคลื่นลูกที่สาม “หลักประกันเงินกู้” ไม่เพียงแต่เกิดในสหกรณ์ และสมาคมฌาปนกิจฯ เท่านั้น แต่มันจะเกิดกับมวลสมาชิกครูและประชาชนที่ถูกรุมเร้าจากกับดักหนี้ครัวเรือนอันเป็นวิบัติการณ์ครั้งใหม่ในสังคมไทยด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้
’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?
MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .