ธรรมาภิบาลกับความสำนึกรับผิดชอบในสังคมไทย

23 ก.พ. 2565 – แม้ว่ารัฐบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขจะได้เพียรพยายามรณรงค์ให้ประชาชน ระมัดระวังการติดเชื้อและการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนเริ่มการ์ดตก การจราจรคับคั่ง มีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่ม งานเลี้ยงสังสรรค์ ตลาดสด ซึ่งดูเหมือนจะสวนทางกับการสิ่งที่รัฐบาลพยายามดำเนินการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาด  ในขณะที่ความเชื่อด้านฝั่งตะวันตกทั้งฟากฝั่งยุโรปและอเมริกาในการลดมาตรการคุมเข้มต่างๆ ลงจนผู้คนตัดสินใจใช้ชีวิตเกือบเป็นปกติแม้ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงมีอยู่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่คนไทยเริ่มแบ่งขั้วความคิดความเชื่อเรื่องระบบสาธารณสุขซึ่งถือเป็นระบบย่อยระบบหนึ่งในระบบสังคม

ระบบสาธารณสุขยึดโยงกับระบบเศรษฐกิจ การเมือง ระบบการศึกษา และระบบครอบครัว ที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบสังคมนอกเหนือจากระบบความเชื่อและศาสนา คนไทยส่วนหนึ่งรวมถึงนักวิชาการ ข้าราชการ นักการเมืองเชื่อว่าการนำแนวคิดของทางตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับประเทศของเราจะเสริมสร้างและพัฒนาสังคมให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีมีสุข เช่นเดียวกับเมื่อประมาณ  30 ปีที่แล้วที่ข้าราชการและนักวิชาการเริ่มนำธรรมาภิบาลมาเป็นแนวทางหนึ่งของการพัฒนานโยบายสาธารณะ

ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance  ถูกเริ่มนำมาพัฒนาระบบราชการช่วงปี พ.ศ. 2535 สมัยของรัฐบาลท่านอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้ริเริ่มเสนอแนวคิดนี้ และต่อมามีการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ในสมัยของท่านชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรีอีกท่านหนึ่งและต่อมา ได้มีการต่อยอดออกเป็นพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546  โดยตัดคำว่า “สังคม” ตามระเบียบเดิมออกไป และมุ่งเน้นวางแนวปฏิบัติให้ข้าราชการยึดถือเพื่อการปฏิบัติหน้าที่เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนแต่หากกลับไปเหลียวดูระเบียบฯ เดิมสักนิดกันแล้วจะเห็นได้ว่าผู้ออกระเบียบฯ ต้องการจัดให้มีหรือส่งเสริมให้สังคมไทยอยู่บนพื้นฐานของหลักสำคัญอย่างน้อย 6 ประการ คือ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า  ซึ่งในบทความนี้ขอมุ่งเน้นกับ “หลักความรับผิดชอบ” ซึ่งขอเรียกว่า “หลักความสำนึกรับผิดชอบ” (Accountability) อันมีความหมายกว้างและลึกซึ้งกว่าคำว่า ความรับผิดชอบ (Responsibility) อย่างมีนัยสำคัญ

ตัวอย่างให้เห็นถึงความแตกต่างที่สำคัญคือ เมื่อใดที่เราได้รับมอบหมายให้กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นั้น เราจะต้องมีความรับผิดชอบในการได้รับมอบหมายและดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปโดยถือเป็นความรับผิดชอบ (Responsibility) เฉพาะคน เฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่อง โดยยึดถือความสำเร็จของงานนั้นๆ เป็นที่ตั้ง

แต่หากเป็นเรื่องของ ความสำนึกรับผิดชอบ (Accountability)    ภายใต้หลักธรรมาภิบาลแล้ว จะต้องเป็นการตระหนักรู้ถึงสิทธิหน้าที่และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมโดยรวม รวมถึงการกระทำใดๆที่จะกระทบต่อสิทธิ ความปลอดภัยหรือการตระหนักรู้ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น และหากมีการกระทำไปแล้ว ผู้กระทำจะต้องรับผิดรับชอบต่อผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำของตนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวอย่างชัดเจน เช่น การปกปิดหรือไม่ให้ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ครบถ้วนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อโควิด การจอดรถในที่ห้ามจอด การขับขี่รถสวนเลน ขับขี่บนทางเดินเท้า การแซงคิว การเปิดวิทยุ หรือส่งเสียงดังรบกวนเพื่อนบ้าน การเลี้ยงสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงอื่นจำนวนมาก ขาดการดูแล ปล่อยให้เห่าหอนรบกวนผู้คนในหมู่บ้านชุมชนและก่อความเดือดร้อนรำคาญ หรือการขับรถโดยประมาท การไม่หยุดรถให้คนข้ามในทางม้าลาย จนเกิดโศกนาฏกรรมหลายครั้งหลายหน เป็นต้น ประเด็นปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นในสังคมอยู่ทุกวันและหากเราย้อนกลับไปหาสาเหตุของปัญหาเหล่านั้นแล้วจะพบว่า ผู้คนส่วนใหญ่อาจมองเพียงว่าเป็นการกระทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบและต้องถูกลงโทษเพื่อให้หลาบจำ แต่ผู้เขียนอยากเสนอมุมมองเช่นเดียวกับที่ศาตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์  ปรมาจารย์ทางกฎหมาย ได้เคยกล่าวไว้ว่า “กฎหมายมิใช่สิ่งที่จะกำหนดสภาพของสังคมเพราะสังคมเป็นผู้กำหนดกฎหมายขึ้น กฎหมายมีไว้เพื่อบังคับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานที่สังคมกำหนดขึ้นเท่านั้น” หมายความว่าผู้คนในสังคมควรต้องใช้ชีวิตความเป็นอยู่ภายใต้ “มาตรฐานกลาง”ที่สังคมกำหนดขึ้นจาก ทัศนคติ คุณธรรม  จริยธรรม ความเชื่อระหว่างการทำความดีและงดเว้นการทำความชั่วหรือความผิด เป็นต้น

การสร้างหลักความสำนึกรับผิดชอบ (Accountability)  ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะปฏิบัติเพราะหากการกระทำใดที่ยึดถือประโยชน์ส่วนตนเป็นหลัก เชื่อว่าตนถูกต้องในทุกเรื่อง  ไม่เคารพสิทธิผู้อื่นแล้ว ความสำนึกรับผิดชอบก็จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้

ตัวอย่างสำคัญที่อยากย้ำเตือนและเสนอแนะคือ การที่เราทุกคนต้องเคารพสิทธิของผู้อื่นเมื่อไปอยู่ในที่สาธารณะหรือสถานที่อื่นใดที่มีการรวมตัวกัน โดยต้องปฏิบัติตนให้สม่ำเสมอในการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง การตรวจอุณหภูมิ และการแจ้งข้อมูลเพื่อใช้ในการติดตามตัว มาตรการต่างๆ เหล่านี้นอกจากจะเป็นการปฎิบัติตามมาตรฐานกลางของสังคมแล้ว ยังถือเป็นการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) เพื่อให้ตนเอง  ครอบครัว และผู้อื่นมีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดได้ไม่มากก็น้อยในยามที่ประเทศชาติของเราต้องการความร่วมมือร่วมใจและความสำนึกรับผิดชอบของพวกเราทุกคน

 เทวัญ   อุทัยวัฒน์    

  กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศชาติจะเปลี่ยนไป เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลง 

ประเทศไทยจะอยู่กับวิกฤติการเมืองที่เลวร้าย หรือจะก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 2เส้นทางเดินสำคัญที่คนไทยจะต้องเลือกเดิน คือ…1.เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องเปลี่ยนตาม(When the world changes and we change with it.) หรือ 2.เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม(When we change, the world changes.)

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน 

ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ

โฉนดเพื่อเกษตรกรรมกับปัญหาการลักลอบเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน          

สืบเนื่องจากนโยบายปัจจุบันของรัฐบาล ที่ได้ผลักดันให้มีการออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมให้กับที่ดินเกษตรกรรม ส.ป.ก. โดยคาดหวังว่า นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางทรัพย์สินให้กับเกษตรกรที่ยากจนได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะสามารถอนุรักษ์รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมเอาไว้ด้วยนั้น

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรรอบใหม่ : ทำอย่างไรไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รอบใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 14 ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา คำถามคือการพักชำระหนี้ครั้งนี้จะช่วยลดยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรลงสู่ระดับที่เกษตรกรสามารถผ่อนชำระได้ตามปรกติโดยไม่เดือดร้อนได้หรือไม่