จาก “วันมาฆบูชา” สู่.. “พระอุโบสถแห่งเวฬุวันมหาวิหาร”..!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา

สีละสะมาธิคุณานัง  ขันตี  ปะธานะการะณัง

สัพเพปิ  กุสะลา  ธัมมา  ขันตะยาเยวะ  วัฑฒันติ  เต.

แปลว่า ขันติเป็นประธาน เป็นเหตุแห่งคุณ คือ ศีลและสมาธิ

กุศลธรรมทั้งปวง ย่อมเจริญ เพราะขันติเท่านั้น!

นับตั้งแต่ ๗ กุมภาพันธ์ ได้เดินทางออกจาก วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน เพื่อล่องลงใต้สู่เกาะภูเก็ตฝั่งทะเลอันดามัน ที่มีกำหนดหมายว่า จะประกอบศาสนกิจเนื่องใน วันมาฆบูชา ที่ตรงกับ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕

รวมเป็นเวลา ๑๓ ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๓ ที่ได้จัดงานมาฆบูชาโลก ณ เวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ชมพูทวีป.. ปัจจุบันตั้งอยู่ในรัฐพิหาร อินเดีย มาโดยตลอด

แต่ด้วยวิกฤตการณ์ไวรัสโควิด-๑๙.. จึงทำให้ต้องยุติการเดินทางไปประกอบศาสนกิจสำคัญดังกล่าว.. แม้ว่าในปีนี้จะเริ่มมีการบรรเทาวิกฤตการณ์ลงไปบ้าง แต่ก็ยังไม่สะดวกต่อการเดินทาง จึงได้มอบหมายให้ชาวอินเดียช่วยประสานการจัดงานวันมาฆบูชาที่เวฬุวันมหาวิหาร ด้วยการนิมนต์คณะสงฆ์ที่ยังพำนักอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเข้าร่วมงาน.. เพื่อสืบสานเจตนารมณ์การฟื้นฟูวันมาฆบูชาให้มีการดำเนินสืบต่อไป จนนับเข้าสู่ปีที่ ๑๓ ในปีนี้

สำหรับทางอาตมาเอง.. ได้เดินทางเข้าร่วมประกอบศาสนกิจวันมาฆบูชาที่พระธาตุภูหว้ารัตนคีรี (ธ) ที่ตั้งอยู่บนป่าต้นน้ำภูเขานาคเกิด อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต อันเป็นสัปปายสถานที่ควรแก่การเจริญสมณธรรม บำเพ็ญสมณกิจ...

ในปีนี้จึงมีคณะศรัทธาเดินทางไปร่วมกันปฏิบัติธรรมพอสมควรกับสถานที่ โดยพิธีสำคัญนอกจากรักษาศีล ฟังธรรม เจริญภาวนา ร่วมกันแล้ว.. ยังมีการถวายเครื่องบูชา โดย หม่อมหลวงสราลี กิติยากร แด่ “พระพุทธมงคลทะเลใต้” พระประธานขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานตระหง่านอยู่บนขุนเขาป่าต้นน้ำ เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนทุกหมู่เหล่าในปัจจุบัน.. เพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ” โดยเริ่มกำหนดการตั้งแต่เย็นวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์.. ไปจนถึงเช้าวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์.. สำหรับในวันมาฆบูชา ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ จะมีการทำบุญ ปฏิบัติธรรม.. กันตลอดทั้งวันคืน.. ทั้งนี้โดยมี คุณณรงค์ วุ่นซิ้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และภรรยา เข้าร่วมประกอบศาสนกิจในฐานะเจ้าภาพร่วมในการจัดงานดังกล่าว... จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งของการจัดงานมาฆบูชาบนเกาะภูเก็ตในปีนี้

หากย้อนรอยถอยเวลากลับไปปีพุทธศักราช ๒๕๕๓.. ในอินเดีย ไม่เคยมีการจัดงานวันมาฆบูชาที่เวฬุวันมหาวิหารและที่อื่นใดอย่างเป็นทางการในภาพรวมของความเป็น “วันมาฆบูชาโลก”.. ในสมัยนั้น ชาวพุทธในอินเดียถามว่า.. วันมาฆบูชา.. คือวันอะไร.. มีความสำคัญหรือความหมายอย่างไร พวกเขาไม่รู้จัก..

จนเมื่อเกิดการจัดงาน วันมาฆบูชาโลกครั้งแรกในอินเดีย ทั้งที่นาคปุระ รัฐมหาราษฏระ และเวฬุวันมหาวิหาร แห่งพระนครราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดีย จึงได้นำไปสู่การเข้าใจความสำคัญและความหมายของวันมาฆบูชา.. จากการบรรยายธรรมบอกเล่าความสำคัญของวันดังกล่าว โดยเฉพาะการยกพระพุทธภาษิต.. “พระโอวาทปาติโมกข์” ขึ้นสวดประกาศและอธิบายขยายความกันหลายครั้ง หลายหน หลายสถานที่.. และเมื่อได้รับอนุญาตให้อยู่จำพรรษาในเวฬุวันมหาวิหารอย่างเป็นทางการได้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๗ จึงนำไปสู่การสร้างลานหินอ่อนโอวาทปาติโมกข์ขึ้นตรงใจกลางเวฬุวันมหาวิหาร...

ต่อมาได้นำความสำคัญเรื่อง การจัดสร้างลานหินอ่อนโอวาทปาติโมกข์ ขึ้นบอกกล่าวในที่ประชุมพุทธศาสนานานาชาติ ที่จัดประชุมใหญ่ ณ นาลันทา รัฐพิหาร อินเดีย โดยมีผู้นำศาสนาพุทธทุกนิกาย .. จากประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุมในครั้งนั้น จึงได้ชักนำไปสู่ความสำคัญและความหมายของ วันมาฆบูชาและเวฬุวันมหาวิหาร.. ซึ่งเป็นวันสำคัญและวัดหรือมหาวิหารแห่งแรกในพระพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าประทับถึง ๕ พรรษา เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปในชมพูทวีป และที่เวฬุวันมหาวิหารแห่งนี้ที่ได้ทรงประกาศพระโอวาทปาติโมกข์.. เกิด สงฆ์สันนิบาต ที่มารวมกันโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา.. ที่บรรลุอรหัตผล ครบถ้วนด้วยปฏิสัมภิทาญาณ.. ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการสถาปนาพุทธศาสนาให้มั่นคงสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การที่พระพุทธองค์ทรงนำภิกษุสงฆ์กระทำสังฆกรรม.. ประกอบสังฆอุโบสถ.. จึงนำไปสู่การยกเขตพื้นที่เวฬุวันมหาวิหารเป็น มหาอุโบสถ แห่งแรกในพระพุทธศาสนา นอกเหนือจากการเป็นมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่พักหรือมหาวิหารของภิกษุสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน.. จากการน้อมถวายของพระเจ้าพิมพิสาร จอมกษัตริย์แห่งแคว้นมคธ.. ที่ประกาศตนเป็นอุบาสกในพระพุทธศาสนาตลอดชีวิต

เวฬุวันมหาวิหาร.. จึงมีความหมายที่เหนือความหมายทั้งปวง อันเรา..ท่านทั้งหลาย ยากที่จะสำเร็จความเข้าใจได้ด้วยความคิดนึก...

จำได้ว่า ครั้งหนึ่ง.. ในขณะที่อาตมากำลังบรรยายในเรื่องดังกล่าว.. “องค์ทะไล ลามะ” ท่านได้ให้ความสนใจสอบถามเพิ่มเติมเรื่อง เวฬุวันมหาวิหาร.. จากคนใกล้ชิด.. และโดยเฉพาะในความสำคัญของวันมาฆบูชา.. ที่เกี่ยวเนื่องกับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้

ต่อมาจึงได้เห็นการประสานงานขอจัดสร้างสถูปเล็กๆ แบบทิเบตขึ้นในเขตเวฬุวันมหาวิหาร ตรงตำแหน่ง Meditaion Hut เดิม.. ที่บัดนี้ถูกพัฒนาเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ดังกล่าวไปจากเดิมหมดแล้ว.. ตามแผนงานการสร้างอุทยานเวฬุวันของรัฐบาลท้องถิ่นแห่งรัฐพิหาร

วันนี้ของ “เวฬุวันมหาวิหาร” .. ของชาวพุทธ หรือสวนอุทยานเวฬุวันของชาวอินเดีย จึงเปลี่ยนโฉมไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง.. สวยงาม ไฉไล แบบแขกอินเดีย.. จนขาดความน่ารื่นรมย์ในแบบพุทธศาสนาไป.. โชคดีที่ยังคงเว้นไว้ซึ่ง “ลานหินอ่อนโอวาทปาติโมกข์” ที่คณะสงฆ์ธรรมยุต นำโดยวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน ได้สร้างไว้.. และได้ทำการกระทำสังฆกรรมตามพระวินัยนิยมบรมพุทธานุญาต สวดถอนและสมมติสีมา.. ฝังพัทธ์ตัดลูกนิมิตไว้สมบูรณ์ทุกประการ.. เมื่อวันวิสาขบูชา ที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๑.. ดังในปัจจุบันที่ได้เห็นคณะสงฆ์ในอินเดียได้ไปใช้พระอุโบสถลานหินอ่อนดังกล่าว ประกอบสังฆกรรม กระทำการบรรพชา-อุปสมบทมาอย่างต่อเนื่อง.. ท่ามกลางความยินดีของชาวพุทธในอินเดีย.. และชาวฮินดูในท้องถิ่น...

บัดนี้ เมื่อวันมาฆบูชาเวียนมาบรรจบครบรอบอีกครั้งหนึ่ง จึงให้ระลึกถึงการประกอบสังฆกรรม.. กระทำการสวดถอนและสมมติสีมาในครั้งนั้น.. โดยเฉพาะการสวดทักนิมิตของภิกษุสงฆ์ ๕ รูป.. ตามทิศต่างๆ ที่มีญาติโยมสมมติตนเป็นก้อนหินพูดได้.. ร้องบอกกล่าวทิศนั้นๆ ตามก้อนหินที่เป็นนิมิตหมาย จึงเป็นที่มาของ ลูกนิมิต ที่แสดงเขตอุโบสถตามทิศนั้นๆ... ก่อนที่จะยกใบเสมาที่หล่อได้อย่างสวยงาม โดยคณะสงฆ์วัดป่าพุทธพจน์ฯ (ธ) ลำพูน ขึ้นตั้งเหนือนิมิตหมายดังกล่าว.. ดังปรากฏอยู่เป็นใบสีมาในปัจจุบัน...

ในงานวันดังกล่าว.. นับเป็นประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาสมัยปัจจุบัน.. ที่คณะสงฆ์และชาวพุทธในอินเดียได้จดจำบันทึกไว้และร่วมกันสาธุการด้วยความยินดียิ่ง.. ซึ่งบุคคลที่ควรจารึกชื่อไว้ เพื่อควรแก่ถวายสาธุการ.. ในการสืบอายุพระพุทธศาสนาจนสัมฤทธิผลด้วยดี.. ให้ได้พระอุโบสถของพระพุทธองค์กลับคืนมาประดิษฐานบนแผ่นดินเกิด พระมหาอุโบสถ ของพระพุทธศาสนาอีกครั้ง ได้แก่

๑.พระพรหมวชิรเมธาจารย์ (หลวงปู่อิ่ม) วัดโสมนัสราชวรวิหาร (ธรรมยุต)..

๒.พระพรหมวชิรากร (หลวงพ่อสุนทร) วัดราชผาติการามวรวิหาร (ธรรมยุต)..

๓.คณะสงฆ์วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธรรมยุต) ในพระราชูปถัมภ์ จ.ลำพูน ของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา..

๔.คณะสงฆ์สายพระป่าธรรมยุตทุกรูปที่เข้าร่วมสังฆกรรมในวันนั้น

๕.ศิษย์ศรัทธาในวัดป่าพุทธพจน์ฯ (ธ) ลำพูน ทุกคน

ในวันมาฆบูชาปีนี้.. ตรงกับวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕.. จึงใคร่ขอระลึกถึงอธิการกุศลที่สำเร็จด้วยดีแล้วนั้น อันเกิดจากการฟื้นฟูวันมาฆบูชาให้กลับคืนมาในชมพูทวีป.. และการร่วมกันสร้างลานหินอ่อน เพื่อยกฐานะเป็นเขตอุโบสถ.. ที่สัมฤทธิผลด้วยการกระทำสังฆกรรมของภิกษุสงฆ์ไทย ที่ได้ร่วมกันประกอบศาสนกิจถูกต้องตามพระธรรมวินัย ในการสวดถอนและสมมติสีมา.. ประกาศเขตยกอุโบสถขึ้นให้ปรากฏ.. ในเวฬุวันมหาวิหารอีกครั้ง.. เพื่อแสดงถึงการคืนกลับมาของพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป.. อันชาวพุทธควรจารึกไว้ เพื่อร่วมกันอนุโมทนาในอธิการกุศลครั้งนี้ที่คณะสงฆ์ได้กระทำสังฆกรรม เพื่อน้อมถวายบูชาคุณของ “องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค .. ผู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้น.....”.

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก