กรุงเทพมหานครกับความท้าทาย สำหรับผู้ว่าฯ คนใหม่

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องจากคนกรุงเทพฯ เป็นจำนวนไม่น้อย ให้รีบมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันเสียที หลังจากที่ห่างหายไปนานนับจากปลายปี พ.ศ.2559 ก็กว่า 5 ปีเต็มแล้ว ทำให้รัฐบาลอยู่เฉยไม่ได้และกำลังจะให้จัดการเลือกตั้งประมาณกลางปีนี้ 

ดังนั้น วันนี้เราลองมาทบทวนความรู้และปัญหาเกี่ยวกับ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นเมืองขนาดใหญ่ระดับมหานคร (Metropolitan) ที่มีความโดดเด่นแห่งหนึ่งในโลก เช่น ใหญ่เป็นอันดับที่ 73 ของโลก เป็นเมืองดีที่สุดของโลกอันดับที่ 37 และเคยเป็นเมืองอันดับ 1 ที่ผู้คนเคยมาเยือนมากที่สุดในโลก เป็นต้น

​กรุงเทพฯ มีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นหมู่บ้านตำบลที่เรียกว่า “บางกอก” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ไม่ไกลจากปากน้ำที่ออกสู่ทะเล จึงค่อยๆ เจริญกลายเป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านสำคัญ 

จนเมื่อปี พ.ศ.2325 ได้มีการก่อสร้างเป็นเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและสถาปนาเป็นราชธานีโดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี นับจากนั้นเป็นต้นมากรุงเทพฯ ก็มีวิวัฒนาการเติบโตเรื่อยมาจวบสองร้อยสี่สิบปีแล้ว ในทางการจัดระเบียบการปกครองได้มีการปรับปรุงมาจนถึง พ.ศ.2514 มีการรวมจังหวัดกรุงเทพฯ จังหวัดธนบุรี เป็น “จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” บริหารซ้อนกันทั้งราชการภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น

ต่อมา พ.ศ.2515 ได้รวมจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง และสุขาภิบาลทุกแห่งในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เข้าเป็นองค์กรเดียวกันเรียกว่า “กรุงเทพมหานคร” แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ จนถึงฉบับล่าสุดคือ ฉบับ พ.ศ.2528 ได้ทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีการแยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติ โดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็นหลักการถ่วงดุลที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง (Strong Executive)

แต่ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครยังคงอยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสอดคล้องกับหลักความเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary State)

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีพื้นที่รับผิดชอบ 1,569 ตารางกิโลเมตร มีประชากรในทะเบียนบ้าน ประชากรแฝง และแรงงานต่างด้าว รวมกันไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน กทม.มีภาระหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไม่น้อยกว่า 40 อย่าง โดยมีหน่วยงานรองรับภารกิจเป็นระดับสำนักซึ่งเป็นงานฝ่ายอำนวยการ 17 สำนัก และสำนักงานเขตซึ่งเป็นงานฝ่ายปฏิบัติการ 50 เขต มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง โรงพยาบาล 10 แห่ง สถานีดับเพลิงและกู้ภัย 37 แห่ง โรงขนถ่ายขยะและโรงกำจัดขยะ 6 แห่ง โรงบำบัดน้ำเสีย 20 แห่ง มีข้าราชการกรุงเทพมหานคร ครู บุคลากรทางการศึกษา ลูกจ้างประเภทต่างๆ รวมกันทั้งหมดเกือบ 100,000 คน มีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท 

กรุงเทพมหานครตามประสาเมืองหลวงขนาดใหญ่ย่อมต้องมีปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันหรือในอนาคตอยู่ไม่น้อย ซึ่งอาจจะไล่เรียงดูได้ ดังนี้

1) ปัญหาด้านผังเมือง จากอดีตถึงปัจจุบันกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางแทบจะทุกอย่างของประเทศ ทำให้กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว ผูกขาดความเจริญ ผู้คนหลั่งไหลมาทำงานและอยู่อาศัย การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง การใช้ที่ดินไม่มีประสิทธิภาพ กฎหมายผังเมืองตามไม่ทัน มีการบุกรุกแม่น้ำลำคลองและที่สาธารณะอยู่ทั่วไป ส่งผลถึงทัศนียภาพของเมือง 

2) ปัญหาการจราจร เกิดรถติดและการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร สถิติอุบัติเหตุทางถนนนับว่าสูงมาก แม้จะเป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นด้วย เช่น ตำรวจ หรือกรมการขนส่งทางบก แต่ กทม.ก็มีส่วนรับผิดชอบในการสร้างถนนหนทาง ตรอก ซอก ซอย และดูแลทางเท้า รวมทั้งป้ายสัญญาณต่างๆ

3) ปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่เกิดจากน้ำฝน น้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำ เนื่องจากน้ำเหนือไหลมาหรือน้ำทะเลหนุน รวมทั้งการทรุดตัวของพื้นดินและการกัดเซาะของน้ำทะเล

4) ปัญหามลภาวะ (1) ขยะมูลฝอยกว่า 10,000 ตันต่อวัน และน้ำเสียเนื่องจากมีคลองใน กทม.กว่า 1,100 คลอง (2) อากาศเสีย ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์จากยานพาหนะและก๊าซอื่นๆ จากโรงงาน รวมทั้งฝุ่นผงที่ลอยมาจากการเผาซากพืชในบางพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง 

5) ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สถิติอาชญากรรมใน กทม.มีประมาณ 2-3 หมื่นคดีต่อปี ที่น่าเป็นห่วงคือ คดียาเสพติด คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ รวมทั้งยังมีปัญหาไฟไหม้อาคารอยู่บ่อยครั้ง

6) ปัญหาสุขภาวะและคุณภาพชีวิต ถ้าไม่นับโรคอุบัติใหม่อย่างโรคโควิด-19 กรุงเทพฯ ก็ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ไม่น้อย เช่น โรคท้องร่วง โรคไข้เลือดออก และโรคจากการดำเนินชีวิตในเมือง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหืด โรคอ้วน ต้องเร่งรัดการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้เจริญหูเจริญตา การเพิ่มจำนวนและพื้นที่สวนสาธารณะให้เข้าเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งการบริหารจัดการปัญหาผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น คนจรจัดและคนไร้บ้าน 

7) ปัญหาอำนาจหน้าที่ตามระเบียบกฎหมาย และการทับซ้อนพื้นที่ในการบริหารจัดการกับหน่วยราชการอื่นและรัฐวิสาหกิจ ทำให้อำนาจในการบริหารจัดการของ กทม.มีจำกัด ไม่อาจแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างมีเอกภาพได้ อีกทั้งงบประมาณก็ยังไม่เพียงพออีกด้วย ตัวอย่างจากการเป็นหนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รถไฟฟ้า BTS) 

8) ปัญหาการมีส่วนร่วมของพลเมือง ตามหลักปรัชญาของการปกครองท้องถิ่น ผู้ว่าฯ และผู้อำนวยการเขตดูจะอยู่ห่างไกล ไม่ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่เหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นๆ ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่น้อย 

9) ปัญหาทางการเมือง ในกรณีที่ผู้ว่าฯ มาจากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามกับพรรครัฐบาล การสนับสนุนและการประสานงานอาจจะไม่สู้ราบรื่นนัก อันเป็นธรรมชาติของการต่อสู้ทางการเมือง

เมื่อเมืองแห่งนี้มีความสำคัญ แต่มีปัญหารอการแก้ไขอยู่มากมาย การเลือกตัวผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเป็นพิเศษ อย่าเลือกเพียงเพราะ “ชอบ” แต่ต้องเลือกเพราะ “ใช่” ด้วย กรุงเทพฯ ถึงจะมีโอกาสเป็นเมืองแห่งเทพสมกับชื่อมหานครแห่งนี้.                                                                               โดย ​“พงศ์โพยม วาศภูติ” กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดร.วิรไท อดีตผู้ว่าฯ ธปท. ดิจิทัลวอลเล็ต กับค่าเสียโอกาส ทำนโยบายสาธารณะต้องรอบคอบ

รัฐบาลของ "แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี" อยู่ในช่วงกำลังจัดตั้งคณะรัฐมนตรีเพื่อรอการเข้าบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ โดยหนึ่งในโจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลอยู่ก็คือ

“ทศพิธราชธรรม”.. อำนาจธรรม... ต้องเคารพ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ระหว่าง วันที่ ๑๘-๒๔ สิงหาคม ๒๕๖๗ ได้รับนิมนต์จากวัดป่าญาณสัมปันโนอารยาราม (ธ) อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และจากฝ่ายปกครองอำเภอเชียงแสน .. แม่สาย .. แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ในโครงการร้อยใจธรรม ...

ณัฐพงษ์ หน.พรรคประชาชน ฝ่ายอนุรักษนิยม อย่าระแวงเรา กับจุดยืน 'สถาบันฯ-แก้ 112'

บทบาทของ "พรรคประชาชน" พรรคการเมืองที่ขึ้นมารับไม้ต่อจากพรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไป นับจากนี้ถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง

ความยุติธรรม .. สร้างได้ .. หากเข้าใจ (สาระธรรม)!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา ฤดูกาลฝนแม้เพิ่งเริ่มต้น กาลจำพรรษาแม้เพิ่งเข้าสู่ช่วงแรกของไตรมาส แต่สภาวธรรมที่ปรากฏไม่ได้อ่อนด้อยจืดจางลงไปเลย มิหนำซ้ำกลับเข้มข้นในการแสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติของดินฟ้าอากาศ ที่พร้อมใจกัน แสดงพลังสัจธรรมว่า.. “อำนาจแห่งความจริงเหนืออำนาจความนึกคิดปรุงแต่งเสมอ..”

ศาลรธน.กับคำตัดสินอันตราย ยุบ ”ก้าวไกล” สร้างดาบสองคม เอาผิดยาก 44 ส.ส.เสนอแก้ 112

แม้ตอนนี้ พรรคก้าวไกล ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลเป็นเวลาสิบปีไปเมื่อ 7 ส.ค.