17-18 ก.พ.อภิปรายทั่วไปไม่ลงมติ เปิดแผล-ชี้ข้อผิดพลาด 'รบ.ประยุทธ์'

การเมืองรอบสัปดาห์ต่อจากนี้มีเรื่องให้ต้องติดตาม นั่นคือการประชุมสภาผู้แทนราษฎรช่วงวันที่ 17-18  ก.พ.นี้ ตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน 173 คนเข้าชื่อกันเพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลในประเด็นต่างๆ เช่น ความผิดพลาดในการบริหารประเทศด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยฝ่ายค้านมีเวลาในการอภิปราย 22 ชั่วโมง

จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ที่ถูกจับตามองและถูกพูดถึงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา หลังลงเลือกตั้ง ส.ส.ร้อยเอ็ดครั้งแรกปี  2562 ก็ได้คะแนนสูงสุดของจังหวัด ขณะที่บทบาทในสภาถือว่าแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2564 โดยเฉพาะการอภิปรายประเด็น เหมืองทองอัครา ซึ่งในรอบนี้ จิราพร จะเป็น ส.ส.คนหนึ่งของฝ่ายค้านที่ลุกขึ้นอภิปรายรัฐบาลด้วย ซึ่งเธอได้กล่าวถึงภาพรวมการเตรียมความพร้อมของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลผ่านการอภิปรายทั่วไปรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นปลายสัปดาห์นี้

จิราพร ส.ส.ร้อยเอ็ด เพื่อไทย ย้ำว่า การที่ฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปครั้งนี้ เป็นเพราะฝ่ายค้านติดตามการบริหารงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชามาตลอด โดยหากเมื่อใดก็ตามที่พบว่ามีจุดบกพร่อง  มีความผิดพลาด มีเงื่อนงำที่ดูแล้วจะนำไปสู่การทุจริต ฝ่ายค้านจะอภิปรายในสภาเพื่อให้รัฐบาลได้มาชี้แจง และบางครั้งก็จะมีการนำเสนอข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อให้รัฐบาลนำไปดำเนินการเพื่อที่จะได้ปรับปรุงการดำเนินงานให้ดีขึ้น

สำหรับการขอเปิดอภิปรายทั่วไปไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ในครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยมีการเตรียมการมานานพอสมควร เช่นในเรื่องของการ เตรียมข้อมูลที่จะใช้ในการอภิปราย มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุนในเรื่องของข้อมูลที่จะให้ ส.ส.ของพรรคนำไปใช้ในการอภิปราย ซึ่งฝ่ายค้านมีเวลาในการอภิปราย 22  ชั่วโมง โดยจะอภิปรายวันละ 11 ชั่วโมง โดยจะมีการเกลี่ยเวลาจากพรรคฝ่ายค้านขนาดใหญ่เพื่อให้พรรคเล็กได้มีโอกาสขึ้นอภิปรายในครั้งนี้ด้วย

จิราพร เปิดเผยว่า ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเองก็มีการเตรียมพร้อม เช่นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาวันจันทร์ที่ 7  ก.พ. ก็มีการให้ ส.ส.ของพรรคที่แจ้งชื่ออภิปรายในครั้งนี้มานำเสนอเนื้อหาที่ต้องการอภิปราย เพราะการอภิปรายจะมีเนื้อหาส่วนกลางที่พรรคเตรียมไว้ และหาก ส.ส.ที่ต้องการอภิปรายก็สามารถนำเนื้อหาที่สนใจมานำเสนอเนื้อหาและโครงเรื่องกับพรรค เพื่อจะได้มาจัดสรรประเด็น เนื้อหาไม่ให้มีความซ้ำซ้อนกัน รวมถึงก็จะมีการนำเนื้อหาและหัวข้อที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเตรียมไว้ในการอภิปรายไปหารือร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้านพรรคอื่นๆ ว่ามีเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกับของพรรคร่วมฝ่ายค้านอื่นหรือไม่ เพื่อให้การอภิปรายในวันที่ 17-18 ก.พ.ครอบคลุมในทุกเนื้อหา

...สำหรับกรอบใหญ่ๆ ในการอภิปรายครั้งนี้ที่พรรคเพื่อไทยวางไว้ก็จะมีสี่กรอบใหญ่ คือ 1.การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผิดพลาดล้มเหลว 2.การบริหารจัดการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิดที่ล้มเหลว 3. เรื่องการทุจริต 4.ด้านอื่นๆ

อย่างเรื่องการบริหารจัดการด้านเศรษฐกิจที่ล้มเหลว  วันนี้ก็เห็นชัดเจนมาตลอดว่า ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช.ที่ทำการรัฐประหารเมื่อปี 2557 จนมาถึงปัจจุบันที่มาตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งปี 2562 เราจะเห็นได้ว่าสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยย่ำแย่มาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด แล้วพอมาเจอการแพร่ระบาดของโควิด มันก็เหมือนกับยิ่งมาซ้ำเติมเข้าไปอีก เพราะฉะนั้นในประเด็นด้านเศรษฐกิจ การอภิปรายคงจะเน้นไปในเรื่องของสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน เช่นเรื่องการกู้เงินของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา จนตอนนี้หนี้สาธารณะของเราเกือบจะทะลุ 10  ล้านล้านบาท ซึ่งเฉพาะรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ทำให้เกิดหนี้สาธารณะครึ่งหนึ่งของยอดหนี้สาธารณะ ที่หมายถึงเยอะกว่าที่รัฐบาลหลายชุดรวมกัน แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา กลับไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้เลย เพราะไปเน้นเรื่องการแจกเงิน ที่เราเป็นห่วงว่าตรงนี้จะทำให้ประเทศไทยไม่สามารถที่จะหลุดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจไปได้ รวมถึงปัญหาเรื่องสินค้าราคาแพงที่กระทบกับปากท้องประชาชน ทางฝ่ายค้านก็จะหยิบยกประเด็นด้านเศรษฐกิจลักษณะดังกล่าวมาอภิปรายในครั้งนี้

ส่วนประเด็นเรื่อง การทุจริต จะเป็นประเด็นที่ค่อนข้าง ปิดลับ สักเล็กน้อย เพราะพรรคเพื่อไทยจะมีคณะทำงานในเรื่องนี้โดยเฉพาะ ก็ฝากประชาชนติดตามการอภิปรายที่จะมีขึ้นว่าพรรคเพื่อไทยจะมีการกระทุ้งรัฐบาลในเรื่องใดบ้าง ส่วนกรอบที่สี่เรื่องประเด็นอื่นๆ ก็จะเป็นประเด็นการอภิปรายที่ ส.ส.แต่ละคนนำมาอภิปราย เพราะพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มี ส.ส.ระบบเขตทั้งหมด ทำให้ ส.ส.แต่ละคนจะพบปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ทาง ส.ส.ของพรรคก็จะนำเสนอข้อมูลเพื่อซักถามรัฐบาล แล้วก็นำเสนอแนะรัฐบาลในการดำเนินการต่อไป

-ในทางการเมืองคาดหวังอย่างไรบ้าง จะสามารถเปิดแผลรัฐบาลได้หรือไม่?

การอภิปรายครั้งนี้รูปแบบของการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามและเสนอแนะโดยไม่มีการลงมติ ที่จะไม่เหมือนกับการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะฉะนั้นจุดมุ่งหวังอาจไม่สามารถล้มรัฐบาลได้โดยทันที แต่ว่าข้อมูลที่เรานำเสนอ  แม้ว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นการอภิปรายทั่วไป แต่ว่า การบริหารจัดการของรัฐบาลชุดนี้ที่ล้มเหลวมาตลอด รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจและการทุจริตต่างๆ เชื่อว่าข้อมูลในการอภิปรายครั้งนี้ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

        "คิดว่าจะเป็นการเปิดแผล ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ประชาชนอยากรับรู้รับทราบ อะไรที่รัฐบาลซุกไว้ใต้พรมก็อาจจะสามารถนำมาเปิดเผยในครั้งนี้ และอาจจะสั่นคลอนรัฐบาลได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน  เพราะขณะนี้รัฐบาลเองก็ค่อนข้างจะมีปัญหาความขัดแย้งภายใน ยิ่งหากฝ่ายค้านนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริง  นำเสนอประเด็นต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งหลังจากนี้หากมีอุบัติเหตุทางการเมือง เช่นมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจากการยุบสภา ก็จะเป็นชุดข้อมูลสำคัญที่ให้ประชาชนรับไปพิจารณาในการตัดสินใจเข้าคูหาเลือกตั้งครั้งต่อไป"

พท.จัดเต็ม 50 ส.ส.ขอร่วมอภิปราย

จิราพร กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดทัพเตรียมพร้อมของพรรคเพื่อไทยนั้น  พบว่ามี ส.ส.เพื่อไทยแจ้งความจำนงที่จะอภิปรายในครั้งนี้ประมาณร่วม 50 คน ที่ถือว่าเยอะมาก แต่เนื่องจากเวลาที่จำกัดและพรรคก็มีขั้นตอนการคัดเลือกผู้อภิปราย ต้องนำโครงสร้างข้อมูลและเนื้อหาในการอภิปรายของแต่ละคนมาพิจารณาว่ามีเนื้อหาที่ซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และนำไปสู่การกำหนดผู้อภิปราย เพื่อให้เนื้อหาการอภิปรายครอบคลุมหลากหลายที่สุด ไม่มีประเด็นที่ซ้ำกัน สิ่งเหล่านี้พรรคเพื่อไทยก็จะคุยกันในพรรคและในพรรคร่วมฝ่ายค้านต่อไป

บุคคลหลักที่จะอภิปรายของพรรคเพื่อไทยก็จะประกอบด้วย อาทิ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและผู้นำฝ่ายค้าน, นายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ขณะเดียวกันตัวเราเองก็ได้แจ้งความประสงค์กับทางพรรคไว้เช่นกันว่าจะอภิปรายในครั้งนี้ด้วย

-จะนำประเด็นเหมืองทองอัคราที่บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดฯ มีข้อพิพาททางคดีในชั้นอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศมาอภิปรายในครั้งนี้ด้วยหรือไม่?

เรื่องเหมืองทองอัคราเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมาก หลังเพื่อไทยมีการเปิดประเด็นไว้ครั้งแรกโดยนายสุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้าน ที่อภิปรายเปิดประเด็นไว้ครั้งแรกตอนสมัยอภิปรายเรื่องคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี ที่ทำให้ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก ซึ่งเวลานั้นก็ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้ามากเท่าใดนัก เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น และหลังเกิดข้อพิพาทขึ้น  รัฐบาลไม่เคยเปิดเผยข้อมูลออกมาเลยถึงรายละเอียดข้อพิพาทดังกล่าว ว่าเอกชนฟ้องเรียกค่าเสียหายในประเด็นใดบ้าง และเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินเท่าใด

จนต่อมา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ได้อภิปรายชี้ประเด็นเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่ภาคเอกชนจะฟ้องร้อง โดยเทียบเคียงกับกรณีบริษัทเอกชนในประเทศแคนาดาแห่งหนึ่งที่ไปลงทุนที่ประเทศเวเนซุเอลา ที่ลักษณะก็คล้ายกันคือถูกรัฐออกคำสั่งปิดเหมือง และปรากฏว่าบริษัทเอกชนได้รับชัยชนะในการฟ้องร้อง จึงมีการนำเคสดังกล่าวมาเทียบเคียงกับประเทศไทย จนทำให้เห็นว่าผลกระทบเกิดขึ้นตามมาเยอะมากหากแพ้คดีแล้วต้องชดใช้ให้บริษัทเอกชน

และต่อมาดิฉันได้อภิปรายประเด็นเรื่องเหมืองทองอัคราในช่วงการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์  2564 ที่ประเด็นมีความคืบหน้าไปอีกลำดับหนึ่งว่า หลังมีการนำข้อพิพาทดังกล่าวไปสู่กระบวนการของคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

เราพบความผิดปกติตรงที่ว่าคดีดังกล่าวยังไม่จบ แต่ทางรัฐบาลไทยกับบริษัทคิงส์เกตฯ ได้มีการเจรจาระหว่างกัน และระหว่างที่ข้อพิพาทอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ก็พบว่ามีการนำพื้นที่ 4 แสนไร่ให้บริษัทคิงส์เกตฯ เพื่อที่จะเข้ามาสำรวจแร่ทองคำเพิ่มเติม สิ่งนี้คือความผิดปกติอย่างหนึ่งที่เราเคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า เหตุใดข้อพิพาทยังไม่จบ  ยังไม่มีการชี้ขาดว่าใครถูกใครผิด เพราะรัฐบาล คสช.เวลานั้นอ้างว่าที่ใช้มาตรา 44 ไปปิดเหมืองทองคำเพราะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำชี้ขาดออกมาว่า การที่ออกคำสั่งปิดเหมืองดังกล่าวถูกหรือผิด  ใครเป็นฝ่ายถูก ใครเป็นฝ่ายผิด แต่มีการเริ่มให้สัมปทานเพิ่ม มีการให้สิทธิพิเศษในการสำรวจเพิ่ม จึงเป็นสิ่งที่เราต้องติดตามเพิ่มเติม

และจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ยังเหลือที่ดินอีกประมาณหกแสนไร่ในอีกหลายจังหวัด ที่ทางบริษัทคิงส์เกตฯ ประกาศไว้ในเว็บไซด์ของบริษัท ว่าเขาได้ขอมายังประเทศไทยว่าจะอนุญาตให้บริษัทสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งบริษัทคิงส์เกตฯ ระบุด้วยว่า ผลการเจรจาออกมาในทาง  positive เป็นไปในทางบวก น่าจะได้ตามที่ขอทั้งหมด  โดยหากรวมสี่แสนไร่กับหกแสนไร่ ก็เท่ากับจะได้รวมประมาณเกือบหนึ่งล้านไร่ในการได้สิทธิพิเศษเข้ามาสำรวจแร่ในประเทศไทย

      "ซึ่งในขณะนี้คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเลื่อนการชี้ขาดข้อพิพาทดังกล่าวออกไปแบบไม่มีกำหนด เราก็สงสัยว่าในระหว่างนี้จะมีการทยอยให้สิทธิพิเศษอะไรอีกหรือไม่ จุดนี้คือประเด็นที่เรากำลังจับจ้องอยู่"

ล็อกเป้าปมประทานบัตร บ.คิงส์เกตฯ

-การที่ให้ประทานบัตรสำรวจสี่แสนไร่ดังกล่าวแก่บริษัทคิงส์เกตฯ ในช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา มองว่าเหมือนกับเพื่อให้บริษัทถอนฟ้องหรือยุติเรื่องหรือไม่?

เราเชื่อว่าเป็นเช่นนั้นเพราะอย่างที่บอก สี่แสนแปลงดังกล่าวเป็นการต่อประทานบัตร เพราะบริษัทเอกชนดังกล่าวเคยทำอยู่แล้วแต่ต่อมาหมดอายุไป แล้วก็ถูกระงับการทำเหมืองไป แต่ปรากฏว่าข้อพิพาททางคดียังไม่จบ แต่มีการต่อประทานบัตรให้เอกชนไปก่อนแล้ว และเป็นพื้นที่เดิมซึ่งเคยปิดไปโดยตอนนั้นอ้างว่าเป็นเพราะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตรงนี้จะอธิบายความว่าอย่างไรในเมื่อคดียังไม่จบ แต่มีการต่ออายุให้เขาได้ทำต่อไปแล้ว

เพราะฉะนั้นเราจึงเชื่อว่ามันเข้าข่ายการเจรจาแลกเปลี่ยน เพื่อให้บริษัทดังกล่าวทยอยกลับมาทำเหมืองได้อีกครั้ง เพื่อแลกกับการที่ถอนคดีหรือถอนฟ้องออกไป ซึ่งหากสุดท้ายเป็นแบบนั้นก็เท่ากับว่า ก่อนหน้านี้ที่พลเอกประยุทธ์ใช้มาตรา 44 ไปปิดเหมือง ตอนนั้นสุดท้ายแล้วไปปิดทำไม เพราะในความเป็นจริงก็สามารถใช้กฎหมายปกติได้ เช่น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม, พ.ร.บ.เหมืองแร่ ที่สามารถขอให้เอกชนระงับการดำเนินการแล้วก็เข้าไปตรวจสอบตามขั้นตอนตามกระบวนการปกติได้ โดยไม่ต้องใช้มาตรา 44 ที่เป็นคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่อารยประเทศไม่ยอมรับ และการใช้มาตรา 44 ดังกล่าวมันก่อให้เกิดผลกระทบแล้ว แม้ต่อไปหากเอกชนถอนฟ้อง  แล้วถามว่าที่ผ่านมาจะเยียวยาอย่างไร เพราะพอไปออกคำสั่งปิดเหมือง คนที่ทำงานในเหมืองเขาก็ตกงาน ที่มีการรายงานว่าน่าจะมีเป็นพันครอบครัว

อีกทั้งเรื่องของภาพลักษณ์ประเทศไทยตอนนั้น ที่เรามีความตกลงเขตการค้าเสรี ไทย-ออสเตรเลีย หรือ  TAFTA ที่ไทยเราทำกับต่างประเทศ แต่ก็ยังกล้าไปใช้มาตรา 44 เพื่อทำลายข้อตกลงดังกล่าว ก็ทำให้เสียภาพลักษณ์ของประเทศจนกระทบกับระบบเศรษฐกิจของประเทศมหาศาลในเวลานั้น

รวมถึงพอมีเรื่องเกิดขึ้นมา เราต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อไปต่อสู้คดี ที่มีการตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่ายของประเทศร่วม 700 กว่าล้านบาทในการต่อสู้คดีที่เป็นเงินภาษีของประชาชน สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่เห็นตรงหน้า แล้วมาวันนี้จะมาบอกว่าที่เคยใช้มาตรา 44 ก็ให้ยกเลิกไป แล้วก็คืนสิทธิเดิมให้บริษัทไป อีกทั้งยังจะให้สิทธิใหม่เพิ่มเติมอีก โดยสิทธิเดิมก็คือ บริษัทดังกล่าวเคยทำเหมืองอยู่แค่ประมาณสามพันกว่าไร่ แต่วันนี้ให้สิทธิเพิ่มในการสำรวจแร่เพิ่มอีกสี่แสนไร่ คือได้มากกว่าเดิม แล้วยังมีสิทธิอีกหกแสนไร่ที่รอการอนุมัติอยู่

จึงเท่ากับว่าประเทศไทยสูญเสียมากกว่าเดิมที่ควรจะเป็น เพราะไม่อย่างนั้นก็ไม่ต้องไปปิดแต่แรก ก็ให้ชะลอแล้วก็ใช้วิธีการสำรวจแทน เพราะหากใช้กฎหมายปกติเข้าไปจัดการไม่ต้องใช้มาตรา 44 หากพบว่าเอกชนทำละเมิดหรือสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจริง อาจเป็นเราที่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทได้ด้วยซ้ำ

-เห็นว่าฝ่ายค้านก็พยายามใช้กลไกของรัฐสภาในการหาข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ผ่านช่องทางกรรมาธิการชุดต่างๆ ของสภา แต่ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือเท่าใดนัก?

ก็เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยสบายใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องของข้อพิพาทระหว่างบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ดฯ กับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาเราเคยเรียกร้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่บริษัทเอกชนต่างชาติฟ้องร้อง เรียกร้องค่าเสียหายจากประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ โดนปกปิดข้อมูล อย่างคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม สภาผู้แทนราษฎร มีการประชุมเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ โดยเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่มาชี้แจงกรณีเหมืองทองอัครา แต่กรมได้ส่งตัวแทนที่ไม่ได้เป็นคณะเจรจาหรือคณะทำงานในการระงับข้อพิพาทมา จึงไม่สามารถตอบรายละเอียดในประเด็นที่มีข้อพิพาทกันอยู่ เราเลยคิดว่าเหมือนกับพยายามบ่ายเบี่ยงในการจะให้ข้อมูลด้านนี้หรือไม่

ที่ผ่านมาในการอภิปรายเรื่องนี้หลายครั้ง รวมถึงในการตรวจสอบขอข้อมูลในชั้นคณะกรรมาธิการของสภา พบว่าหน่วยงานภาครัฐไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าที่ควร หรืออาจเป็นเพราะรัฐบาลสั่งปิดให้เป็นเรื่องความลับสุดยอดหรือไม่ เพราะตัวรัฐบาลเองทั้งตัวนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ที่ฝ่ายค้านเราเคยตั้งประเด็นคำถามไป พบว่าก็ไม่เคยชี้แจงให้ตรงกับประเด็นที่ถามไป ดังนั้นในการอภิปรายทั่วไปในช่วง 17-18 ก.พ.นี้ จะมีการอภิปรายย้ำอีกครั้งหนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลไม่เคยตอบคำถามกับประชาชนเลย และเราจะมีการเปิดประเด็นใหม่ที่จะเป็นการให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับประชาชนด้วย

จิราพร กล่าวต่อไปว่า เรื่องของเหมืองทองอัคราในส่วนของภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ที่ได้เคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยก่อนหน้านี้ก็มายื่นเรื่องต่อพรรคร่วมฝ่ายค้านเมื่อต้นเดือน ก.พ.ที่่ผ่านมา เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านการกลับมาเปิดเหมืองทองอีกครั้งหนึ่ง ที่ต้องขอบอกว่าในเรื่องการทำเหมืองเราเองก็เห็นด้วย ในเรื่องที่รัฐบาลจะเข้าไปดูแลจัดการในเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แต่ว่าเราไม่เห็นด้วยที่จะใช้ กฎหมายเถื่อน อย่างมาตรา 44 เข้าไปจัดการ แต่ควรใช้กฎหมายปกติ เพราะสุดท้ายมันพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การใช้มาตรา 44 มันทำให้เกิดผลกระทบมหาศาล และในรายละเอียดที่ภาคประชาชนยื่นเรื่องมา พบว่ามีข้อมูลที่น่าสนใจหลายอย่าง ที่เราจะหยิบยกขึ้นมาอภิปราย โดยนำมาผนวกกับข้อมูลที่ทางพรรคเพื่อไทยเตรียมเอาไว้ ก็ขอฝากติดตามการอภิปรายประเด็นดังกล่าวที่จะมีข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ประชาชนได้รับรู้ถึงข้อพิพาทที่เกิดขึ้น

-เรื่องนี้สุดท้ายแล้วหากเกิดอะไรขึ้น จะเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองของใคร พลเอกประยุทธ์ที่ใช้มาตรา 44 หรือนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม หรือรัฐมนตรีคนใด?

จากข้อมูลเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นที่ได้ติดตามมาจากหลักฐาน เอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวข้องที่เราได้แสดงต่อสภา จะพบว่ามาตรา 44 ถูกใช้โดยพลเอกประยุทธ์เพียงผู้เดียว และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นหน่วยงานผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ได้เคยเตือนไว้แล้วว่าหากใช้มาตรา 44 โดยที่ไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนว่า บริษัทอัคราสร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างไร เราอาจสุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องและอาจเป็นฝ่ายเสียเปรียบเอกชนได้ แต่พลเอกประยุทธ์ก็ยังเลือกที่จะใช้มาตรา 44

 อันหมายความว่า คนที่ต้องรับผิดชอบคือพลเอกประยุทธ์ แต่ว่าในระหว่างทางที่มีการอนุมัติสิทธิพิเศษต่างๆ เราพบว่า คณะรัฐมนตรีเองก็รับรู้รับทราบถึงการเอาทรัพย์สินของประเทศ การเอาแผ่นดินของประเทศไปชดเชยให้เพื่อที่จะให้มีการถอนฟ้อง ดังนั้นนอกจากพลเอกประยุทธ์แล้ว คณะรัฐมนตรีเองก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งคณะบุคคลที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบเรื่องนี้ด้วย และพลเอกประยุทธ์ก็เคยประกาศไว้แล้วว่าเรื่องนี้จะรับผิดชอบเอง  โดยประกาศไว้ตอนช่วงปลายปี 2562 ดังนั้นเมื่อประกาศไว้แบบนี้ เงินภาษีประชาชนที่ใช้ในการสู้คดี เช่น ค่าทนาย ค่าเดินทางต่างๆ ร่วมเจ็ดร้อยกว่าล้านบาท ก็ไม่ควรเป็นเงินงบประมาณแผ่นดิน แต่น่าจะเป็นเงินของพลเอกประยุทธ์เองหรือไม่  

-คิดว่าจะเป็นการอภิปรายรัฐบาลรอบสุดท้ายหรือไม่ เพราะคนวิเคราะห์กันว่าอาจจะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจตอนสมัยประชุมสภารอบหน้ากลางปีนี้ เพราะอาจมีการยุบสภาก่อน มองสถานการณ์การเมืองเวลานี้อย่างไร ?

ช่วงจังหวะขณะนี้อุบัติเหตุทางการเมืองอาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะพอมีปัญหาการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ จนมี ส.ส.กลุ่มหนึ่งออกมาจากพรรค ก็ทำให้เสถียรภาพค่อนข้างจะต่ำและเกิดวิกฤต เห็นได้จากกรณีสภาชุดปัจจุบันล่มไปแล้วถึง 16 ครั้ง ที่เป็นสิ่งซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยแม้ก่อนหน้านี้กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส  พรหมเผ่า จะเปิดช่องให้มีการเจรจา แต่พลเอกประยุทธ์ นายกฯ ก็ยืนยันจะไม่ปรับ ครม.ในเร็ววันนี้ ก็ทำให้หลายคนวิเคราะห์ไปในทางว่าอาจเป็นไปได้ที่อาจจะมีการยุบสภา ก่อนการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงการประชุมสภาสมัยหน้าที่จะเริ่มช่วงเดือน พ.ค.ปีนี้ ที่ฝ่ายค้านจะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งด้วยเสถียรภาพรัฐบาลในเวลานี้  จึงทำให้มีความเป็นไปได้ที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองได้ตลอดเหมือนกัน คืออาจเป็นไปได้ที่อาจจะมีการยุบสภาหรือลาออกก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีการยุบสภาหรือไม่ยุบสภา  นายกฯ จะลาออกหรือไม่ลาออก จะช้าหรือเร็วก็ตาม แต่ระหว่างนี้ที่รัฐบาลไร้เสถียรภาพ ไม่สามารถบริหารประเทศจนไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ คนที่เสียประโยชน์ก็คือประชาชน  อันเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยก็กังวลในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมที่จะบริหารประเทศแล้ว ยืนยันว่าหากยุบสภาเมื่อใด พรรคเพื่อไทยก็พร้อมที่จะเลือกตั้งทันที เพราะที่ผ่านมาพรรคมีการเตรียมความพร้อมเรื่องการเลือกตั้งมาตลอด มีคณะทำงานด้านนโยบายที่ตั้งมานานแล้วและทำงานอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น หากเลือกตั้งเมื่อใดพรรคเพื่อไทยจะมีนโยบายนำเสนอประชาชนทันที และการที่พรรคเพื่อไทยออกแคมเปญ เพื่อไทยแลนด์สไลด์ ก็เป็นแคมเปญที่จะสู้กับอำนาจสมาชิกวุฒิสภา 250 คน ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบทเฉพาะกาลให้ ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ที่เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน เราจึงพยายามที่จะออกแคมเปญและนำเสนอนโยบายต่อประชาชนให้เลือกพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคการเมืองที่อยู่กับประชาชนมานานตั้งแต่ไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาพรรคเพื่อไทย ที่เป็นพรรคซึ่งออกนโยบายที่ทำได้จริง โดยหากประชาชนเลือกเพื่อไทยให้ได้ 253 เสียงเป็นอย่างต่ำ เชื่อว่าจะเป็นฉันทามติของประชาชนที่ชัดเจน ที่จะไปกดดันไม่ให้ ส.ว.กล้าบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน.                          

            โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ? (ตอนที่ 53)

ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร

'จิรายุ' ตีปาก 'สส.โรม' อย่าพูดให้ประเทศเสียหาย ปมยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้รับรายงานจาก พลตำรวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีมีอดีต สส. ของกัมพูชา ถูกยิงเสียชีวิตในประเทศไทยแล้ว

นายกฯ ยันไร้แผนปรับครม. ตอนนี้พรรคร่วม-รมต.ไม่มีใครดื้อ ไม่เสียใจ 'ทักษิณ' พูดนำก่อน

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงนโยบายปรับลดค่าไฟตรงนี้ถือเป็นหลักประกันเก้าอี้ของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานด้วยหรือไม่ ว่า อันนี้ไม่ทราบเลยว่าทำไม