ฉากทัศน์-นิวนอร์มอลการเมืองไทย ม็อบ นศ.กลับมาพีกอีกได้หรือไม่?

ในช่วงอีกสองเดือนกว่าก็จะสิ้นปี 2564 โดยที่สถานการณ์วิกฤตโควิดในประเทศไทยเริ่มคลี่คลายมากขึ้น และเมื่อโฟกัสไปที่บริบท-สถานการณ์การเมืองไทยต่อจากนี้ กับการเมืองทั้งในรัฐสภาและนอกรัฐสภา ยังเป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป โดยในส่วนของ ม็อบการเมืองนอกรัฐสภา แม้แวดวงการเมืองจะประเมินว่า สถานการณ์ม็อบโดยเฉพาะม็อบนักศึกษา ไม่น่าจะกลับมาถึงจุดพีกได้แบบสมัยช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. ปี 2563 ได้แล้ว เพราะแกนนำหลายคนมีชนักติดหลังเรื่องคดีความจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เมื่อจุดปะทะทางความคิดระหว่างคนในสังคมยังคงมีอยู่โดยมีปัจจัยการเมืองเป็นเงื่อนไขสำคัญ การเคลื่อนไหวของม็อบการเมืองหลังจากนี้ จึงยังต้องเทน้ำหนักให้ความสนใจไว้เช่นกัน


ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประเมินสถานการณ์การเมืองโดยเฉพาะเรื่องการเคลื่อนไหวของ ม็อบการเมืองโดยเฉพาะม็อบที่ใช้สัญลักษณ์สามนิ้วในการเคลื่อนไหว โดยลำดับแรก เขาสรุปภาพรวมการเคลื่อนไหวดังกล่าว ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงสิงหาคม-ธันวาคม ปี 2563 โดยบอกว่า ภาพใหญ่ๆ จะเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน ตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษาจนถึงมหาวิทยาลัย โดยช่วงดังกล่าวยังไม่มีกลุ่มประชาชนหรือกลุ่มอาชีพอื่นเข้ามาร่วมเป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวมากนัก จะเรียกว่าเป็น ปรากฏการณ์ขบวนการนิสิตนักศึกษา ในอีกแบบหนึ่งก็ได้


....จุดที่น่าสนใจก็คือ ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงสามข้อเรียกร้องหลัก เช่นให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ลาออก-การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อมามีอยู่ช่วงหนึ่งมีความเคลื่อนไหวแบบกระชั้นในการที่จะขยับเพดานข้อเรียกร้อง เช่น การนัดชุมนุมใหญ่ 19 กันยายน 2563 ที่นัดชุมนุมใหญ่สนามหลวง และมีความพยายามจะไปยื่นหนังสือกับองคมนตรี โดยพบว่าการเคลื่อนไหวช่วงดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวโดยใช้วาจาจาบจ้วง โดยไม่ได้เคลื่อนไหวหรือพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ ภายใต้ข้อเรียกร้องสิบข้อที่เคยอ่านแถลงการณ์ไว้ในการชุมนุมที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อ 10 ส.ค.2563 แต่กลับย้อนไปถึงเรื่องราวในอดีตของสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้วาจารุนแรงหยาบคายและออกมาตั้งข้อกล่าวหากับสถาบันพระมหากษัตริย์ในบางเรื่องที่ก็ยังไม่มีมูล ไม่มีหลักฐาน


..... ทำให้เริ่มมองเห็นกันว่ามันไม่ใช่แค่เรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันเฉยๆ แต่เป็นการลดค่า-ด้อยค่าและหมิ่นประมาท ท้าทาย อย่างรุนแรง มีการขยับเพดานสูงขึ้น ซึ่งผมรู้สึกว่ามันผิดปกติ เพราะหากต้องการปฏิรูปสถาบันฯ ก็ควรยื่นเรื่องไว้แล้วก็อาจนัดชุมนุมเป็นระยะนานๆ ที เพื่อรอฟังผล แต่กลายเป็นว่าพอเสนอสิบข้อเรียกร้อง แล้วก็เลยขยับให้มันแรงขึ้น


ตอนนั้นผมมองว่าไม่ได้มีเป้าหมาย แค่ต้องการให้ปฏิรูปสถาบันฯ แต่มองว่ากำลังมีเป้าหมายต้องการยั่วยุ ให้ประชาชนที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ มีความโกรธแค้น และยั่วยุให้ฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังกับฝ่ายที่มาชุมนุมที่ใช้วาจาจาบจ้วงหรือใช้สัญลักษณ์ในการเคลื่อนไหวที่เกินเลย เพื่อนำไปสู่การใช้กำลังความรุนแรง และอาจกลายเป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง แม้ว่าฝ่ายผู้ชุมนุมจะถูกปราบหรือต้องยุติ แต่การใช้กำลังความรุนแรงหรือการทำรัฐประหาร ก็จะถูกอธิบายในเวลาต่อมาว่า พระมหากษัตริย์อยู่เบื้องหลัง เพราะทนไม่ได้กับข้อเรียกร้องและการด้อยค่า แต่ก็ดีที่ฝ่ายอนุรักษนิยมก็ไม่ออกมาเผชิญหน้า ซึ่งหากเป็นในอดีตคงออกมาแล้ว


ส่วนฝ่ายรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้กำลังทหาร ที่ถือเป็นนิวนอร์มอลทางการเมืองพร้อมๆ กับนิวนอร์มอลทางสาธารณสุข ที่คนในสังคมต้องมีความอดทนอดกลั้นต่อการแสดงออกทางการเมือง โดยหากใครทำผิดก็ว่าไปตามกระบวนการกฎหมาย ต้องยอมรับว่าคนในสังคมมีการขยับปรับตัวดีขึ้นเพราะหากเป็นในอดีต คนอาจออกมาตีกันเองแล้วสถานการณ์ก็จะบานปลายจนกลายเป็นการจลาจลที่ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้จนทำให้ฝ่ายทหารใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร


ที่บอกว่าเป็นนิวนอร์มอลทางการเมืองก็คือ จะมีการชุมนุมการเมืองก็ชุมนุมไป โดยประชาชนก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นสิทธิเสรีภาพของคนทุกฝ่ายที่จะออกมาชุมนุม โดยฝ่ายผู้ชุมนุม หากไม่ดำเนินการให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.การชุมนุมในที่สาธารณะฯ ก็ผิดกฎหมายไป ทุกอย่างว่าไปตามกฎหมาย ไม่มีการใช้กำลังโดยพลการ


..ปลายปี 2563 พบว่าหลังแนวร่วมการชุมนุมเคลื่อนไหวโดยใช้ท่าทีการแสดงออกที่หยาบคายเกินความจำเป็น พบว่าทำให้กระแสการชุมนุมเริ่มตกลง ผนวกกับสถานการณ์ในช่วงดังกล่าวก็มีส่วน เช่น กรณี ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากนิด้า ที่สามารถอธิบายเรื่องทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ตอนที่ไปออกทีวีร่วมกับรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โดย ดร.อานนท์สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี จนทำให้เห็นได้ว่าสิ่งที่นักศึกษากลุ่มผู้ชุมนุมมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อเรื่องราวของทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือกรณีหนังสือที่เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มเยาวชนผู้ร่วมชุมนุมที่เป็นหนังสือเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็มีการเปิดโปงให้เห็นว่ามีการบิดเบือน ทั้งหมดทำให้กระแสการชุมนุมเริ่มตกลง


"ทั้งที่จริงๆ ผมว่าคนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยและสนับสนุนเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ว่าอยากรู้ความจริงเป็นอย่างไร และยอมรับความกล้าหาญของเยาวชนนักศึกษารุ่นนี้ แต่ว่าการที่เขาขยับไปสู่ความหยาบคายอย่างไร้เหตุผล และขยายประเด็นในทุกเรื่อง ในลักษณะจะต่อต้านกฎ ระเบียบทุกเรื่อง เลยทำให้การเคลื่อนไหวขาดความชอบธรรม"
ศ.ดร.ไชยันต์-รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวต่อไปว่า จนเมื่อเข้ามาสู่ปี 2564 ที่โควิดเริ่มกลับมาระบาดหนักอีกรอบ ตอนนั้นก็เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการวัคซีน จนมีการนำประเด็นเรื่องต่างๆ เช่นที่ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ออกมาพูดเรื่องบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ ที่รับผลิตวัคซีน ทำให้กระแสเรื่องแบบนี้กลับมาอีก เพราะคนตอนนั้นเดือดร้อนและกังวลเรื่องการไม่มีวัคซีนที่เขาต้องการ แต่จังหวะที่กำลังจะกลับมา แนวร่วมการเคลื่อนไหวเช่น แอมมี่ The Bottom Blues ก็มีการทำอะไรที่รุนแรงเกิน เช่น การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ จังหวะนั้น ที่กลุ่มนิสิตนักศึกษาเริ่มหายไปจากการเคลื่อนไหวชุมนุม ก็จะเริ่มเห็นคนกลุ่มใหม่ๆ เข้ามาในการเคลื่อนไหวเช่น "กลุ่มอาชีวะ" หรือพวกฮาร์ดคอร์ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าเป็นนักเรียนนักศึกษาจริงหรือไม่ จนเกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวที่แยกดินแดงของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มทะลุแก๊ส ที่จะไม่เห็นภาพการเคลื่อนไหวของนักศึกษาแล้ว แต่จะเป็นกลุ่มเยาวชนอายุน้อยที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะยากลำบากที่มีแนวโน้มใช้ความรุนแรง โดยไม่มีความชัดเจนในเรื่องเป้าหมายทางการเมืองว่าต้องการเรียกร้องในการมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร หรือการเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปการเมือง-เศรษฐกิจ ก็พบว่าข้อเรียกร้องไม่มีความชัดเจนเท่าใดนัก
ผมก็ตั้งข้อสงสัยว่า กองทัพต้องเดินด้วยท้อง ทุกอย่างต้องมีเงินขับเคลื่อน การที่จะมีระเบิดลูกปิงปอง สิ่งของไว้ขว้างปา-การมาเคลื่อนไหวที่ใช้รถมอเตอร์ไซค์ก็ต้องมีค่าน้ำมัน-ค่าอาหาร ซึ่งหากคนออกมาโดยไม่มีใครจ้างเลย ก็คือเป็นการออกมาโดยมีอุดมการณ์ แต่หากออกมาแล้ว ทุกๆ วัน บ่อยๆ แล้วคนที่มาก็ต้องมีค่าใช้จ่าย ผมก็เลยคิดว่าเป็นเรื่องของการจ้างผสมกับการจ้างคนที่ถูกตัวพอดีคือ ไปเจอคนที่เขามีความโกรธอยู่ในใจกับเรื่องต่างๆ อยู่แล้ว คือโกรธสังคม ขณะเดียวกัน ผมกำลังนำแนวคิดเรื่อง lumpenproletariat ของคาร์ล มาร์กซ์ มาวิเคราะห์คนกลุ่มที่ว่านี้อยู่ครับ ไว้เสร็จแล้ว คงจะได้เผยแพร่ให้ทราบกัน
- ประเมินโอกาสที่กลุ่มม็อบซึ่งเคยเคลื่อนไหวปี 2563 ในการกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อโควิดคลี่คลาย ที่มีข่าวว่าอาจจะนัดเคลื่อนไหวช่วง 31 ต.ค.?


ช่วงนั้นโรงเรียนก็จะเริ่มกลับมาเปิดเรียนตามปกติ และอาจมีบางมหาวิทยาลัยเริ่มให้นักศึกษากลับมาเรียนในมหาวิทยาลัย เลยจะนัด 31 ต.ค. ส่วนว่ากระแสจะกลับมาแบบปีที่แล้วได้หรือไม่ เรื่องนี้อยู่ที่ว่าการเคลื่อนไหวต้องมีสาเหตุ มีประเด็นในการเรียกคนเข้ามาร่วมการเคลื่อนไหว เพราะหากยังใช้ประเด็นเดิมๆ เช่น เรื่องต่อต้านสถาบัน ก็จะพบว่าที่ผ่านมามีการวิพากษ์-หมิ่นประมาท-เปิดโปง จนแบบว่าจนไม่รู้ว่าจะหาไม้เด็ดมาเรียกร้องให้คนมาชุมนุมด้วยเหตุผลอะไรยังนึกไม่ออก เพราะหลายเรื่องก็กล่าวหากันไปแล้ว เช่น ร.9 กับกรณีสวรรคตของ ร.8 บอกว่า ร.9 อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร ก็ว่าไปแล้ว หรือการออกมาพูดเรื่องเบื้องหลังการอุ้มหายนักเคลื่อนไหว พวกนี้เขาก็ทำทุกอย่างไปหมดแล้ว แล้วหากจะเอาประเด็นพวกนี้มาเคลื่อนไหวอีก ถามว่าแล้วคนจะมาร่วมเคลื่อนไหวด้วยหรือ เพราะก็จะมีกระแส-มีคนตั้งคำถามตามมาว่าสิ่งที่พูดจริงหรือไม่ อันนี้กรณีเรื่องสถาบันฯ


แต่หากจะเคลื่อนไหวในประเด็นไล่นายกฯ การจะออกมาไล่ตอนนี้ยังไงพลเอกประยุทธ์ก็ไม่ลาออกอยู่แล้ว การจะเคลื่อนไหวประเด็นนี้ก็คงไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอะไรมาก เว้นแต่จะเคลื่อนไหวรวมตัวไล่นายกฯเพราะหวังให้เพื่อไทยตั้งรัฐบาล แต่ดูแล้วเงื่อนไขต่างๆ ของเพื่อไทยเวลานี้ก็ไม่ใช่ หรือแม้จะมีการเคลื่อนไหวแบบคาร์ม็อบมาร่วมด้วย แต่ก็คงไม่เกิดกระแสอะไรมาก หากไม่มีจุดที่จะทำให้คนออกมาร่วมชุมนุมจำนวนมากได้ เว้นแต่จะมีกรณีเช่น รัฐบาลบริหารงานผิดพลาดอะไรขึ้นมา ยิ่งในส่วนของม็อบนักศึกษาดูแล้ว คงยากที่จะกลับมาเคลื่อนไหวแล้วมีคนมาร่วมชุมนุมด้วยจำนวนมากแบบปีที่แล้ว


- จุดหนึ่งที่หลายคนมองก็คือการเคลื่อนไหวของม็อบนักศึกษา คนรุ่นใหม่ที่ออกมาเคลื่อนไหว เรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ก็ทำให้พื้นที่ในสังคมมีการพูด แสดงความเห็นในเรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ ได้มากขึ้นกว่าในอดีต?


ถูก-การเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ เหล่านี้พวกแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ก็อย่างที่เพนกวินเขาเคยพูด การชุมนุมของพวกเขาไม่ได้เสีย เขาประสบความสำเร็จ โดยเขาใช้คำว่า ลดความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันฯ แต่ผมก็มองว่าเขายกระดับเสรีภาพในการพูด สามารถตั้งคำถามกับสถาบันกษัตริย์ได้อย่างมีเสรีภาพมากขึ้น มากกว่าในอดีตที่พอพูดเรื่องนี้ทุกคนก็จะเงียบ แล้วก็อ้อมๆ แอ้มๆ บอกว่าอย่าพูดเรื่องนี้ดีกว่า


ตอนนี้ก็พูด-ถามกันหมด เช่นเรื่องการใช้งบประมาณต่างๆ ก็เป็นเรื่องดี แต่ว่าต้องอย่าหยาบคาย แล้วอย่าเอาเรื่องปั้นน้ำเป็นตัวมาพูด อะไรที่เป็นข้อสงสัย ก็ควรต้องบอกด้วยว่า ผมสงสัย ไม่ใช่กล่าวหาไปเลย เช่นผมสงสัยว่าตกลงเงินที่เจ้าฟ้าเจ้าหญิงพระองค์นั้นทรงใช้ไป ตกลงเป็นเงินของใคร ก็มีสิทธิ์ถามได้ โดยหากเป็นเรื่องปกติในต่างประเทศเขาก็ถามกัน เรื่องนี้หากเขาไม่หยาบคายจนเสียความชอบธรรม หากเขาต้องการปฏิรูป แล้วก็อย่าไปล้อเลียนอะไรท่านมาก แล้วถึงเวลา พอกลับมาชุมนุมในปี 2564 ผมว่าคนเขาก็อาจจะเอาด้วย หากชุมนุมแบบมีเหตุผลและมีสติ โดยไม่ได้ทำให้ดูเหมือนว่ามีเป้าหมายอื่น อย่างเป้าหมายล้มล้างฯ


- มองว่าสังคมไทยสามารถมีพื้นที่ในการพูดคุยหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องสถาบันฯ เช่นเรื่องการปฏิรูปได้แล้ว?


ใช่ครับ แม้กระทั่งอย่างประเทศสวีเดน ที่มีการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ก็พบว่าในกรุงสตอกโฮล์ม ก็มีสำนักงานของสาธารณรัฐยุโรปที่เป็นศูนย์กลางของฝ่ายฝักใฝ่นิยมสาธารณรัฐในยุโรป คือกลุ่มที่ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ในยุโรปทั้งหมดอยู่ที่นั่น ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะสวีเดนมีสถาบันกษัตริย์ แต่ก็มีสำนักงานใหญ่ที่รณรงค์ในเรื่องการให้มีระบอบสาธารณรัฐทั่วยุโรป เช่นการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลในเรื่องนี้ และพอถึงเวลามีพระราชพิธี เช่นที่อังกฤษ กลุ่มนิยมสาธารณรัฐในยุโรปก็ไปถือป้ายประท้วง ไม่เอาสถาบันฯ ก็ทำเท่านั้น โดยไม่ต้องใช้กำลัง ไม่ต้องด่าหยาบคาย เขาก็อยู่กันได้ โดยฝ่ายที่ต้องการรักษาสถาบันฯ ไว้ ก็อธิบายเหตุผลต่างๆ


ผมก็เลยคิดว่าต่อไปนี้เมืองไทยเราก็คงจะนิวนอร์มอลในหลายๆ เรื่อง เช่นหากเขาจะรณรงค์ในแง่ความคิดเห็น เช่นหากจะบอกว่าควรเป็นระบอบสาธารณรัฐ ก็เถียงกันด้วยเหตุด้วยผล โดยต้องไม่ใส่ร้ายป้ายสีสถาบันฯ เอาสิ่งที่ไม่จริงมาป้ายสี แต่ก็พูดมาว่าถ้าไม่มีสถาบันกษัตริย์แล้วคุณจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นอะไร ก็ให้พูดมา ไม่ใช่จะมาเคลื่อนไหวโดยบอกจะบุกเข้าไปในพระบรมมหาราชวัง ถามว่าจะบุกเข้าไปทำไม ก็ควรเผยแพร่คุยกับประชาชน


อย่างผมเอง ผมเชื่อว่าประเทศไทยเราปกครองด้วยระบอบปัจจุบันดีแล้ว กับระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่าหากจะเปลี่ยน มันจะยุ่งกว่า ถามว่าจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร จะเป็นแบบสหรัฐอเมริกาที่มีประธานาธิบดีที่เป็นทั้งประมุขของรัฐแล้วก็ควบรวมการเป็นหัวหน้ารัฐบาลด้วย ใหญ่โตมโหฬารอำนาจมหาศาล แถมเลือกตั้งก็แยกออกมาจากฝ่ายนิติบัญญัติอีก ก็ทำให้มีเสียงเต็มที่ จะเอาแบบนั้นไหม เมืองไทย หรือจะเอาแบบฝรั่งเศส ที่มีประธานาธิบดีและมีนายกฯ ด้วย ผมดูแล้วคิดว่ามันยุ่ง เพราะเรามีต้นทุนแบบนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็เปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เขาไม่เห็นด้วย เขาได้มีเสรีภาพในการคิดและแสดงออก และถ้าฝ่ายที่ต้องการรักษาการปกครองระบอบนี้ไว้ ก็ต้องมีเหตุผลที่ดีที่จะอธิบายให้เยาวชนฟัง ให้คนรุ่นใหม่ เพราะคนรุ่นใหม่ต่อไปก็จะขึ้นมาเป็นตัวหลักของประเทศชาติต่อไป


- ประเมินสถานการณ์การเมืองต่อจากนี้อย่างไร โอกาสที่นายกฯ จะยุบสภา อยู่ไม่ครบเทอมมีมากแค่ไหน และจากปัจจัยอะไร?


หากพลเอกประยุทธ์จะยุบสภา หากอยู่ดีๆ ไม่มีสาเหตุอะไร นายกฯ จะไปยุบสภาเองเลยไม่ได้ ซึ่งการยุบสภาต้องแบ่งออกเป็นสองกรณี คือ
1.ยุบสภา เมื่อสภาอยู่ครบสี่ปีตามวาระ โดยเมื่อสภาชุดนี้เข้ามาในการเลือกตั้งมีนาคม 2562 ที่จะครบวาระปี 2566 ไม่ยุบไม่ได้ ซึ่งการยุบสภาปกติ อาจจะยุบได้เมื่อย่างเข้าสู่ปีสุดท้ายของสภา ไม่จำเป็นต้องรอถึงวันสุดท้ายของวาระสภา ยกตัวอย่างเช่น หากช่วงสุดท้ายของสภาชุดนี้คือมิถุนายน 2566 พอเข้าสู่ช่วงมิถุนายน 2565 ก็สามารถอ้างได้แล้วว่าอยากยุบสภา โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีปัญหาความแตกแยกใดๆ ในสภา เขาเรียกว่าเป็นประเพณีการปกครอง ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำกันแบบนี้ โดยเมื่อย่างเข้าสู่ปีสุดท้าย นายกฯ ที่มีเสียงข้างมากในสภา ก็อาจจะดูว่า ตั้งแต่ปีแรกของปีสุดท้ายของวาระสภา ช่วงไหนรัฐบาลได้เปรียบที่สุดก็จะยุบสภา เพื่อหวังให้ประชาชนเลือกเขากลับมาต่อ ก็มีความเป็นไปได้ว่าตั้งแต่มิถุนายนกลางปีหน้า 2565 ก็อาจมีการยุบสภาด้วยเหตุผลนี้ ส่วนหากจะมีการยุบสภาก่อนหน้ามิถุนายน 2565 ก็อาจมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น ในการโหวตกฎหมายสำคัญในสภา ที่จะมีการเปิดประชุมสภากัน 1 พ.ย.นี้ หากกฎหมายสำคัญโหวตในที่ประชุมสภา แล้วรัฐบาลแพ้โหวต กฎหมายไม่ผ่าน ก็เป็นเหตุผลพอที่จะยุบสภาได้


2.คือกรณีเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านรัฐสภาไปแล้ว เรื่องเปลี่ยนระบบการลงคะแนนเสียง หรือกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ โดยหากมีการโปรดเกล้าฯ ลงมา จากนั้นมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.-พ.ร.บ.พรรคการเมือง หากแก้ไขทุกอย่างแล้วเสร็จ โดยหากในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า กฎหมายที่แก้ไขดังกล่าว จะให้บังคับใช้หลังประกาศใช้ภายในกี่วัน เช่น หากเขียนว่าให้บังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 30 วัน ก็หมายถึงเมื่อครบ 30 วันแล้ว ก็ควรต้องมีการยุบสภา เพราะเมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ใช้บัตรสองใบ แต่สภาชุดปัจจุบันมาจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว ดังนั้น ส.ส.ที่ทำหน้าที่ก็จะมีสภาพเหมือนกับ ส.ส.เถื่อน ก็ควรต้องยุบสภา


อย่างสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกฯ ที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งเสร็จ ก็ประกาศยุบสภา เพราะเห็นว่า ส.ส.ที่มีอยู่ตรงนั้นมาจากระบบการเลือกตั้งแบบเดิมไม่ใช่ตามที่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยุบสภา การยุบสภาของไทย แม้รัฐธรรมนูญจะเขียนมาตั้งแต่ปี 2475 แบบลอยๆ ว่า เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการทูลเกล้าฯ ถวายพระราชกฤษฎีกาให้มีการยุบสภา แต่ในความเป็นจริงมันมีเงื่อนไขของมันชัดเจนอยู่ จะมาอ้างว่านายกฯ จะยุบสภาเมื่อไหร่ก็ได้ มันไม่ใช่ ผมคิดว่าหากมีการโปรดเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายไปแล้ว ต่อมามีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จหมด ยังไงก็ต้องยุบสภา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก