โอกาสและความท้าทาย จากเส้นทางขนส่งระหว่างประเทศ

หลังการเปิดให้บริการรถไฟลาวจีนต้นเดือนธันวาคม 2564 สังคมได้เริ่มตั้งคำถามถึงคุณค่าที่ไทยจะได้จากเส้นทางรถไฟสายนี้ ดังนั้น เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมแผนการใช้ประโยชน์จากรถไฟลาวจีนสายนี้ จึงใคร่ขอแบ่งปันข้อค้นพบที่ได้จากการถอดบทเรียนการใช้เส้นทางถนน R3A ที่เชื่อมโยงระหว่างไทยกับจีนตอนใต้ เป็นบทสรุปผลการศึกษาของโครงการวิจัย “การใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการเกษตร  ภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการโลจิสติกส์” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ  (วช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีผู้เขียนเป็นหัวหน้าโครงการ

เส้นทาง R3A เป็นเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ ภายใต้กรอบความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Sub-region) เชื่อมการขนส่งทางถนนระหว่างนครคุนหมิง มณฑลยูนนานของจีน กับกรุงเทพมหานครของไทย  ผ่านสามประเทศคือ จีน-สปป.ลาว-ไทย ได้เปิดใช้งานอย่างเป็นทางการมาระยะเวลาหนึ่งแล้วตั้งแต่ปี  พ.ศ.2551 จึงเป็นโอกาสดีที่จะศึกษาวิจัยว่า เส้นทางขนส่งเชื่อมโยงระหว่างประเทศอย่างเช่น เส้นทาง R3A ได้สร้างประโยชน์เกิดกับภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการค้า  และภาคบริการโลจิสติกส์ของไทยอย่างไรบ้าง

​การเปิดให้บริการของเส้นทาง R3A เปลี่ยนพื้นที่อำเภอเชียงของ กลายเป็นเพียง “ทางผ่าน” ของนักท่องเที่ยวและสินค้า ในอดีตชาวต่างชาติเดินทางข้ามระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ได้ที่ท่าเรือในตัวเมืองเชียงของ จึงพำนักในตัวเมืองเชียงของก่อนที่จะเดินทางข้ามแม่น้ำโขง เมื่อเส้นทาง R3A ถูกสร้างห่างจากตัวเมืองประมาณ 10 กิโลเมตร พร้อมกับการกำหนดการผ่านด่านด้วยพาสปอร์ตดำเนินการได้ที่สะพานเท่านั้น ไม่สามารถทำได้ที่ท่าเรือในเมืองอีกต่อไป ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของเมืองเชียงของลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งสินค้าระหว่างไทยกับลาวที่เคยต้องส่งสินค้าข้ามแม่น้ำโขงผ่านท่าเรือ ก็หันไปใช้สะพานซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 10 กิโลเมตรแทน 

ทั้งนี้ เส้นทาง R3A อาจให้ประโยชน์กับพื้นที่เชียงของ จากการดึงการลงทุนงบประมาณจากส่วนกลาง มาสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งอยู่บ้าง แต่การลงทุนนั้นส่งผลให้ราคาที่ดินที่เส้นทางพาดผ่านสูงขึ้นไปมาก เจ้าของที่ดินเดิมที่เป็นคนในพื้นที่อาจได้ประโยชน์อยู่บ้างจากราคาที่ดินที่สูงขึ้น แต่คนที่ได้ประโยชน์มากจริงๆ กลับเป็นนักธุรกิจต่างถิ่นที่เข้ามาซื้อที่ดินในรุ่นแรกๆ และทำการปั่นราคาที่ดินจนสูงขึ้นมาก จนทำให้นักลงทุนเปลี่ยนใจไม่กล้าเข้าไปลงทุนเพิ่มตามแนวเส้นทาง  

ในฝั่ง สปป.ลาว การลงทุนตลอดเส้นทาง R3A ในแขวงบ่อแก้วและแขวงหลวงน้ำทาเป็นการขยายตัวอย่างรวดเร็วของทุนจีน จนสามารถสร้างอิทธิพลอย่างมีนัยสำคัญเข้าไปในเศรษฐกิจของ สปป.ลาวในทุกระดับ ในทางตรงกันข้าม นักธุรกิจไทยลังเลที่จะเข้าไปลงทุนในลาว ถึงแม้ภาคเอกชนลาวประสงค์อยากให้นักลงทุนไทยเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว เพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจกับนักลงทุนจากจีน โดยอยากให้ร่วมลงทุนกับคนท้องถิ่นในธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและกสิกรรม อีกทั้งอยากให้ไทยเข้ามามีบทบาทช่วยสนับสนุนด้านการพัฒนาการศึกษา วิชาการ และวิชาชีพ

ในขณะที่ไทยหวังการใช้เส้นทางเพียงเพื่อการอำนวยความสะดวกแก่การขนส่งเท่านั้น ขาดวิสัยทัศน์ที่จะผลักดันให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A ในมิติอื่นๆ ได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้าม ผู้ที่เกี่ยวข้องฝั่งจีนในมณฑลยูนนานได้ดำเนินการพัฒนาทุกๆ ด้านพร้อมกันอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการพัฒนาการเชื่อมโยงด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ บูรณาการควบคู่ไปกับการสนับสนุนผู้ประกอบการจีนให้มีศักยภาพในการแข่งขัน จีนได้จัดวางการพัฒนาให้มณฑลยูนนานเปิดกว้างและสานสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้มแข็งในสามเส้นทาง ได้แก่

 1) พื้นที่ชายแดนยูนนาน-เมียนมา เชื่อมสู่เอเชียใต้ 2) พื้นที่ชายแดนยูนนาน-เวียดนาม เชื่อมเวียดนามออกทะเล หรือเชื่อมเวียดนามสู่กัมพูชา และ 3) พื้นที่ชายแดนยูนนาน-ลาว เชื่อมสู่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งมณฑลยูนนานมีสภาพภูมิอากาศที่สามารถเพาะปลูกผลผลิตทางเกษตรกรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะมากมาย ได้ผลักดันให้มีการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในภาคการเกษตร ซึ่งตามแนวเส้นทาง R3A ในมณฑลยูนนาน จะเห็นถึงการนำเทคโนโลยีทางด้านการเกษตรสมัยใหม่ เช่น โรงเรือน (ดูภาพประกอบ) มาใช้กันอย่างอย่างแพร่หลายในพื้นที่เพาะปลูกที่อยู่ริมทาง ซึ่งสินค้าเกษตรเหล่านี้ใช้เส้นทาง R3A เป็นเส้นทางขนส่งเข้าสู่ประเทศไทย และเชื่อมต่อไปยังตลาดอาเซียน

ในประเด็นการค้าสินค้าเกษตรระหว่างไทยกับจีนบนเส้นทาง R3A วิถีการค้าของผู้ประกอบการจีน สามารถขับเคลื่อนให้ทุนจีนได้รับประโยชน์สูงสุดจากการค้าผ่านเส้นทางนี้ ไม่ว่าจะเป็นการค้าที่เป็นการนำเข้าผลผลิตจีนมาไทย หรือการค้าที่เป็นการส่งออกผลผลิตไทยไปจำหน่ายในจีน อาศัยศักยภาพของผู้ประกอบการจีนในการขยายอิทธิพลตลอดห่วงโซ่ของการค้า โดยในการนำเข้าผักจีนมาไทย ผู้ค้าจีนได้พัฒนาศักยภาพจนสามารถมีอิทธิพลกำกับการค้าตั้งแต่หน้าสวนในจีนมาจนถึงตลาดค้าส่งในไทย ในการส่งออกผลไม้ไทยไปจีน เดิมล้งไทยเคยเป็นผู้เล่นหลักในการส่งออกไปจีน แต่ในปัจจุบันล้งจีนและทุนจีนได้แผ่อิทธิพลเข้ามาในการรับซื้อผลไม้ในไทยมากขึ้น ทำให้ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งที่เคยตกเป็นของล้งไทย ถูกเปลี่ยนมือตกไปเป็นของผู้ประกอบการจีน

บทเรียนข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ​เพื่อให้ได้คุณค่าสูงสุดจากเส้นทางการขนส่งระหว่างประเทศ เราไม่ควรจำกัดความคิดการใช้เส้นทางเพียงเพื่อประโยชน์แต่ด้านการขนส่งเท่านั้น แต่ควรคิดถึงการใช้เส้นทางขนส่งเป็นเครื่องมือที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าระหว่างประเทศและสร้างโอกาสทางธุรกิจการค้าใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ที่สำคัญ ภาครัฐควรเร่งส่งเสริมความเข้มแข็งของธุรกิจไทย ให้สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะให้ทันกับวิวัฒนาการของรูปแบบการขยายอิทธิพลทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเปลี่ยนผ่านมา 4 ระยะหรือรูปแบบแล้ว ดังนี้

1) ระยะ/รูปแบบ ที่ 1: เป็นการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ โดยมีฐานการผลิตในประเทศ และพึ่งพาผู้นำเข้าที่อยู่ในต่างประเทศ

2) ระยะ/รูปแบบ ที่ 2: ขยายอิทธิพลด้วยการส่งออกฐานการผลิตสินค้าไปยังต่างประเทศ พร้อมกับจัดตั้งสำนักงานขายในต่างประเทศ อาศัยความโดดเด่นของแบรนด์สินค้าเป็นตัวขับเคลื่อนการขาย

3) ระยะ/รูปแบบ ที่ 3: ส่งออกพ่อค้าไปต่างประเทศ เพื่อไปคุมช่องทางนำเข้าและกระจายสินค้าในต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องอาศัยความเข้มแข็งของแบรนด์สินค้า แต่อาศัยการควบคุมกลไกการตลาดในต่างประเทศ

4) ระยะ/รูปแบบ ที่ 4: ส่งออก Platform สร้างอำนาจในการกำกับทิศทางตลาดอย่างสมบูรณ์ โดย Platform ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกการค้าขายระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย พร้อมๆ กับควบคุม และกำกับธุรกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้า เช่น การสั่งซื้อสินค้า การจัดส่ง และการชำระเงิน เจ้าของ Platform จึงสามารถใช้ Platform เป็นเครื่องมือในการสร้างอิทธิพลควบคุมทิศทางการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกของการค้าขายและตลาดในต่างประเทศ

ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการค้าระหว่างประเทศของไทยยังย่ำจมอยู่กับรูปแบบที่ 1 ที่เน้นการส่งสินค้าออกไปต่างประเทศ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้ก้าวข้ามการพึ่งพาแต่เส้นทางขนส่งไปสร้างอิทธิพลในระดับที่ 4 แล้ว.

(หมายเหตุ ความเห็นในรายงานนี้เป็นของผู้วิจัย โดย วช. หรือ สกว. ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป)

สมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์

สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อภิสิทธิ์-อดีตนายกรัฐมนตรี มอง 'จุดเสี่ยง' รัฐบาลเพื่อไทย ระเบิดการเมือง วางไว้เองหลายลูก

แม้ขณะนี้จะไม่ได้มีตำแหน่งทางการเมืองใดๆ แต่สำหรับ "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์" การแสดงทัศนะหรือความคิดเห็นทางด้านการเมือง

ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..

รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ

เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก