สุวัจน์-34 ปีบนถนนการเมือง มองอดีต-ส่องปัจจุบัน-วิเคราะห์อนาคต

หากจะอยู่ครบเทอมเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องเสถียรภาพให้ได้ ปัญหาเรื่องเสถียรภาพเป็นเรื่องภายในของการบริหารจัดการของรัฐบาล ต้องไปดูว่าปัญหาอยู่ที่จุดไหน แล้วไปทำความเข้าใจที่จุดนั้น เพราะการที่สภาประชุมไม่ได้ เสียงไม่ครบ เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเองก็ไม่สบายใจ

หนึ่งในนักการเมืองระดับคีย์แมนที่มีชื่อเสียงและอยู่ในวงการการเมืองมาหลายสิบปี นั่นก็คือ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ซึ่งในวันพุธที่ 9 ก.พ.เป็นวันครบรอบวันเกิดของ สุวัจน์-อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย โดย สุวัจน์ เปิดบ้านพักย่านถนนราชวิถีให้สัมภาษณ์พิเศษกับ ไทยโพสต์ เพื่อสะท้อนมุมมองการเมืองในอดีตกับปัจจุบัน รวมถึงวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในเวลานี้ หลังโลดแล่นบนถนนการเมืองมายาวนานร่วม 34 ปี ตั้งแต่เป็น ส.ส.นครราชสีมาครั้งแรกตอนปี 2531 จนปัจจุบันเป็นคีย์แมนของพรรคชาติพัฒนา พรรคการเมืองที่อยู่บนถนนการเมืองมา30 ปีแล้วในปี 2565 หลังพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ตั้งพรรคมาตั้งแต่ปี 2535 ภายใต้ภารกิจทางการเมืองที่รออยู่ยามเมื่อการเลือกตั้งใหญ่มาถึง ที่สุวัจน์ย้ำว่าจะทำให้พรรคชาติพัฒนาคัมแบ็ก กลับมายิ่งใหญ่มากกว่าปัจจุบันให้ได้

สุวัจน์ บอกว่า จากประสบการณ์การเมืองที่เข้ามาเป็น ส.ส.สมัยแรกตั้งแต่ปี 2531 เมื่อดูสภาพการเมืองปัจจุบันเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไป สภาพการเมืองในอดีตกับการเมืองปัจจุบัน พบว่ามีนักการเมืองรุ่นใหม่เกิดขึ้นเยอะ ผมดูการอภิปรายในสภา เห็น ส.ส.รุ่นใหม่ทำการบ้านมาอย่างดี มีการค้นคว้า ทำงานแบบวิชาการ มีข้อมูลต่างๆ มาประกอบการอภิปรายในสภา ถือว่าเป็นการพัฒนาการเมืองที่มีทิศทางที่ดีขึ้น

..อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่คิดว่าแตกต่างจากการเมืองสมัยก่อนคือเรื่อง "ความขัดแย้ง" ทางการเมืองที่ยังต่อเนื่องมาสิบกว่าปี ทำให้เกิดขั้วทางการเมือง เกิดการเผชิญหน้าทางการเมืองจนเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ เพราะว่าจัดตั้งรัฐบาลยาก ทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ

...ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้มีการผสมผสานกันได้ คือมีทั้งวัฒนธรรมการเมืองแบบเดิมที่เปิดกว้าง เป็นพรรคเป็นพวก เป็นเพื่อนฝูงกัน แต่แบ่งบทบาทหน้าที่การทำงาน มีการให้อภัยกัน เข้าใจกัน แต่ขณะเดียวกันก็ได้คนรุ่นใหม่เข้ามาระดมความเห็นให้วิสัยทัศน์ เพราะคนเหล่านี้เขาจะทันเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ คือเป็นการเมืองแบบไฮบริดหน่อย มีทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ที่หากทำได้จะทำให้มีองค์ประกอบการเมืองที่ดี

นอกจากนี้ การเมืองสมัยก่อนที่นอกจากจะมีความเข้าอกเข้าใจกัน มีความประนีประนอม มีน้ำใจให้กัน แบ่งกันทำหน้าที่ของตัวเองแล้ว ยังมีเรื่องของ ระบบความอาวุโส คือมีผู้ใหญ่ทางการเมือง มีคนรุ่นกลาง คนรุ่นใหม่

...ยกตัวอย่างเช่น การเมืองสมัยก่อน ส.ส.คนไหนที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ต้องเป็น ส.ส.อย่างน้อย 4-5 สมัย อย่าง ส.ส.สมัยแรกอาจยังไม่ได้เป็นอะไร พอสมัยที่สองก็ไปเป็นเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ พอเป็น ส.ส.สมัยที่สามเป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการฯ สมัยที่สี่ก็เป็นประธานกรรมาธิการฯ ของสภา จากนั้นสมัยที่ห้าก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ การเมืองสมัยก่อนเขาจะเทรนด์คน เพราะบางทีเรามาจากการเลือกตั้ง แต่ประสบการณ์อาจจะยังน้อย

สุวัจน์-ที่คว่ำหวอดอยู่ในการเมืองไทยมาร่วม 34 ปี ให้มุมมองว่า การใช้ระบบอาวุโสทางการเมืองเป็นการสร้างประสบการณ์ให้นักการเมืองก่อนไปเป็นรัฐมนตรี เพราะจากประสบการณ์ที่ค่อยๆ สะสมมาทำให้เขามีความเป็นผู้ใหญ่ มีวุฒิภาวะที่เพียงพอ ทำให้การครองตนในฐานะรัฐมนตรีจะสง่า เข้าใจปัญหาของประเทศและประชาชน จะไม่มีความขัดแย้งเพราะมีความเป็นผู้ใหญ่ที่เพียงพอ

สิ่งเหล่านี้คือการเมืองในอดีตที่เป็นระบบที่สั่งสมกันมา ดังนั้นระบบวัฒนธรรมของการเมืองไทยในการมีผู้ใหญ่ มีอาวุโส มีการไต่เต้าขึ้นมาในแต่ละพื้นฐานของการเป็นนักการเมือง มันเหมือนกับเป็นเกราะป้องกันนักการเมืองคนนั้นให้ปฏิบัติตนได้ด้วยความเรียบร้อย มีวุฒิภาวะที่เหมาะสมกับสังคมไทย พอมาทำงานก็ประสบความสำเร็จ ไม่สร้างปัญหา ไม่สร้างความแตกแยก ทำให้การบริหารจัดการมีความราบรื่น

นอกจากนี้ หากมองย้อนกลับไปที่การเมืองในอดีต มีความร่วมมือและเสียสละกันเพื่อส่วนรวม การเมืองตอนนั้นมีสปิริตและน้ำใจนักกีฬาต่อกัน มีผู้ใหญ่ ผู้อาวุโสทางการเมืองช่วยกันประคับประคองสถานการณ์ของประเทศ

ผมจำได้ในช่วงที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2540 ตอนนั้นเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งทางเศรษฐกิจ และมีการลดค่าเงินบาท พลเอกชวลิตท่านก็เสียสละด้วยการลาออก เพื่อเปิดทางให้พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ผู้มีความชำนาญทางด้านเศรษฐกิจ และเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ได้เข้ามาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองแทนท่าน แต่เมื่อท่านพลเอกชวลิตลาออก ก็ได้มีการจัดตั้งรัฐบาลแข่งกัน ในที่สุด ท่านชวน หลีกภัย ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทนพลเอกชวลิต แม้ว่าจะแข่งขันกันมาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชายได้บอกให้ผมต่อสายโทรศัพท์ถึงท่านชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรีคนใหม่ แล้วท่านพลเอกชาติชายก็เรียนสายทางโทรศัพท์เพื่อแสดงความยินดีกับท่านชวน และเป็นกำลังใจในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมืองให้สำเร็จ

-ประเมินสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันอย่างไรบ้าง?

มองว่าปัจจุบัน อย่างสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันที่มาจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่จะครบสามปีในเดือนมีนาคมและเข้าสู่ปีที่สี่ หากเป็นวิ่ง 4 คูณ 400 เมตร ถือว่าเป็นไม้สุดท้ายแล้ว ก็ต้องอย่าทำไม้หล่น พยายามทำให้ได้ วิ่งให้ครบรอบ ให้ครบเทอม เพราะปัจจุบันรัฐบาลก็มีภารกิจสำคัญเยอะ อย่างเรื่องการรับมือกับผลกระทบโควิด ที่รัฐบาลกู้เงินมาเป็นงบประมาณไปร่วม 2.4 ล้านล้านบาท จนต้องมีการขยายเพดานหนี้จาก 60 เปอร์เซ็นต์เป็น 70 เปอร์เซ็นต์ ที่เป็นการกู้เงินมาเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ในช่วงโควิด

ผมก็อยากให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาของประเทศ เพราะประชาชนเดือดร้อนจริงๆ แต่การเมืองก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะกำลังเข้าสู่ช่วงปีสุดท้ายของสภา ที่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่ารัฐบาลจะประคองไปจนอยู่ครบเทอมได้หรือไม่ อีกทั้งประเทศไทยเรายังมีงานใหญ่ของประเทศรออยู่คือ การที่ไทยต้องเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ แต่การเมืองก็เป็นเรื่องของการเมือง รัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะนี้หากรัฐบาลสามารถสร้างเสถียรภาพการเมืองให้อยู่ได้ ให้เข้มแข็ง รัฐบาลก็อยู่ได้ เพราะรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยจะอยู่ได้ด้วยปัจจัยสองอย่างคือ หนึ่ง ความสำเร็จในการบริหารประเทศได้รับการยอมรับหรือไม่ และสอง การมีเสียงข้างมากในสภาที่จะผลักดันกฎหมายหรือทำให้ชนะในการลงมติเรื่องสำคัญในสภาหรือไม่

"ตอนนี้ผมคิดว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องเสียงในสภาให้มาก หากต้องการจะอยู่ครบเทอม สิ่งนี้ก็น่าเป็นห่วง เพราะจะเห็นได้ว่าระยะหลังจะเกิดขึ้นตลอด เกือบทุกสัปดาห์ที่มีการประชุมที่เสียงจะไม่ครบ บางทีเวลาจะโหวตกฎหมายสำคัญ พอเริ่มนับองค์ประชุมต้องปิดประชุม เพราะเสียงไม่พอ องค์ประชุมไม่ครบ แบบนี้จะเป็นอุปสรรคแล้ว โอกาสที่จะอยู่ครบเทอมมันก็จะลำบากมากขึ้น”

สุวัจน์-ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ระบุว่า หากจะอยู่ครบเทอมเพื่อแก้ไขปัญหาประเทศ ต้องแก้ไขปัญหาเรื่องเสถียรภาพให้ได้ ซึ่งปัญหาเรื่องเสถียรภาพเป็นเรื่องภายในของการบริหารจัดการของรัฐบาล โดยต้องไปดูว่าปัญหาอยู่ที่จุดไหน แล้วไปทำความเข้าใจที่จุดนั้น เพราะการที่สภาประชุมไม่ได้ เสียงไม่ครบ เป็นสิ่งที่ทำให้ประชาชนเองก็ไม่สบายใจ เพราะองค์ประกอบของสภาเป็นองค์ประกอบที่จะสร้างกฎเกณฑ์ กฎหมาย สร้างข้อตกลง ในการที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประเทศ ที่ต้องการความร่วมมือ ต้องการมติของสภาในการผ่านกฎหมาย แต่วันนี้กลไกนี้ไม่เวิร์ก

ดังนั้นผมว่านอกจากทำให้รัฐบาลมีปัญหาเรื่องประสิทธิภาพในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ผมว่าประชาชนจะรู้สึกเหมือนกับผิดหวังกับการเมือง ผิดหวังกับการเลือกตั้ง ผิดหวังกับการทำงานของสภา เหมือนกับสภาไม่สามารถประชุมกันได้ ที่ผมคิดว่าไม่เป็นผลดีต่อระบอบประชาธิปไตย เหมือนกับว่าทำให้ประชาชนมีความรู้สึกว่ากลไกของสภายังไม่สามารถช่วยประชาชนได้

คิดว่ารัฐบาลก็ต้องรีบแก้ไขเรื่องนี้ เรื่องเสถียรภาพรัฐบาล หากคิดว่าอยากจะอยู่ครบเทอม แต่ว่าการเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เราก็ไม่รู้ แต่วันนี้บรรยากาศเหมือนกับว่าทุกคนต่างเตรียมการเลือกตั้งกันอยู่แล้ว แต่ละพรรคก็เปิดตัวนโยบาย เปิดตัวแคนดิเดตใหม่ๆ มีการเปิดตัวพรรคการเมืองจัดตั้งใหม่

สิ่งที่ผมอยากเห็นในการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีขึ้นรอบหน้า ก็คือปัจจุบันเราเห็นแล้วว่าวันนี้บ้านเมืองเราเสียหายเยอะ ประชาชนเดือดร้อนกันมาก กลไกที่สำคัญตามระบอบประชาธิปไตยก็คือการเมืองที่ประกอบด้วย ส.ส.-รัฐบาล-สภา

การเลือกตั้งครั้งหน้าควรต้องเป็นการเลือกตั้งที่ทำให้สภาเข้มแข็ง การเมืองเข้มแข็ง ต้องเป็นการเลือกตั้งที่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็ง เพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างวิกฤตโควิด เพราะอย่างหากโควิดจบกลางปีนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้าจะเป็นการเลือกตั้งเพื่อทำให้รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศหลัง post-covid ที่เราต้องปรับเปลี่ยนฐานเศรษฐกิจของประเทศ ต้องปรับตัวให้ทันกับเรื่องของเทคโนโลยี ต้องปรับฐานการผลิตของประเทศให้ทันกับเทคโนโลยีต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงปรับฐานของประเทศให้ทันกับนักลงทุนรุ่นใหม่ เศรษฐกิจดิจิตอลและปรับฐานด้านการท่องเที่ยว

สุวัจน์ ให้ทัศนะอีกว่า รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งต้องมาแก้ไขปัญหาวิกฤตทุกอย่าง เราจึงต้องการการเมืองที่มีเสถียรภาพ ซึ่งหากว่าเลือกตั้งแล้วการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ไม่ได้คนเก่งๆ ไม่ได้เลือดใหม่ๆ ไม่ได้ระดับมันสมองเข้ามาสู่ระบบการเมือง หรือไม่ได้นโยบายดีๆ เข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศได้ มันจะเป็นการเลือกตั้งที่สร้างความผิดหวังให้กับประชาชน และหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ประเทศอาจจะมีวิกฤตมากยิ่งขึ้น ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันคิดแล้ว การเลือกตั้งครั้งหน้ามันเหมือนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์อีกครั้งหนึ่ง ที่จะต้องมาช่วยกันหา Exit ให้กับประเทศไทย

...การเลือกตั้งครั้งหน้า สภาต้องเข้มแข็ง การเมืองต้องเข้มแข็ง รัฐบาลต้องมีเสถียรภาพ เราจะย้อนกลับไปสู่แบบที่รัฐบาลมีเสียง ส.ส. 254 เสียง ฝ่ายค้านมี 247 เสียง ไม่ได้ เราจะย้อนกลับไปสู่การที่องค์ประชุมสภาไม่ครบจนลงมติออกกฎหมายไม่ได้ จะแบบนั้นอีกไม่ได้ เราต้องมีรัฐบาลที่มีเสถียรภาพ มีประสิทธิภาพ และมีการยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผมเองอยู่กับการจัดตั้งรัฐบาลมาเยอะ โดยหากถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ให้มี ส.ส. 500 เสียง จะอยู่กันอย่างไรเพื่อทำให้บ้านเมืองนิ่ง การเมืองมีเสถียรภาพ ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่ต้องมีเสียง ส.ส. 300 เสียงขึ้นไป ยิ่งจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพมากที่สุดมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากเท่านั้น จึงไม่ควรต่ำกว่า 300 เสียง เพราะหากมีสัก 300 เสียง เท่ากับเกินกึ่งหนึ่งมา 50 เสียง ปัญหาเรื่ององค์ประชุมก็จะไม่มี ทำให้สภาทำงานได้

...การเมืองจึงต้องพร้อม คือพร้อมที่จะมีความร่วมมือกัน อย่างคราวที่แล้วเราจะเห็นชัดเจนว่าการเมืองเหมือนกับเรามีขั้ว เอาคนนี้ ไม่เอาคนนี้ แล้วการที่มีขั้วการเมือง แบบหากจะเอาคนนี้ต้องไม่เอาคนนั้น มันทำให้เกิดความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาล เพราะหากจะจัดตั้งรัฐบาลร่วมกันไม่ได้ มันควรเป็นเพราะว่านโยบายไปด้วยกันไม่ได้ เช่น นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของพรรคคุณเป็นแบบนี้ แต่นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของพรรคผมเป็นอีกแบบหนึ่ง มันไปกันไม่ได้ ดังนั้นคุณก็เป็นรัฐบาลไป ผมก็เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งทุกประเทศจะเป็นลักษณะแบบนี้ แต่ไม่ควรเป็นเรื่องการเมืองแบบขั้ว คือพรรคผมไม่คุยกับพรรคคุณ แล้วก็ปิดช่องจนประตูไม่มีพื้นที่เหลือเลย

ผมว่าหากเราเปิดกว้างๆ กันเอาไว้ จะชอบหรือไม่ชอบ มี conflict กันโดยส่วนตัวบ้าง ก็เก็บไว้ก่อน เอาเรื่องของประเทศชาติมาก่อน เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแล้ว เคยมีคำพูดของพลเอกชาติชาย ท่านเคยพูดว่า ก่อนการเลือกตั้งเขาเรียกว่าการเมือง แต่พอเลือกตั้งจบแล้วไม่มีการเมืองแล้ว มีแต่เรื่องของบ้านเมือง หมายถึงก่อนวันเลือกตั้ง คุณอาจขัดแย้งอะไรกัน ตอนหาเสียงเลือกตั้งก็ระบายออกได้บอกกับประชาชน แต่เมื่อประชาชนเขาตัดสินมาแล้วกับผลการเลือกตั้ง ถือว่าจบ แล้วมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ มาพูดถึงเรื่องบ้านเมืองเพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดีที่สุด แล้วยิ่งในช่วงที่บ้านเมืองเรามีวิกฤต ซึ่งยิ่งวิกฤตเท่าไหร่ เสถียรภาพการเมืองยิ่งสำคัญ

สุวัจน์-ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติพัฒนา ย้ำตอนท้ายว่า หากเรามองย้อนหลังไปจะเห็นว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาให้ประชาชน ก็คือการเมืองที่เราเผชิญหน้ากัน การเมืองที่เราแบ่งขั้วกันอย่างรุนแรง การเมืองที่เรายังติดในเรื่องความรู้สึกส่วนตัวต่อกัน วันนี้เราก็ควรถอยกันคนละก้าวบ้าง ให้อภัยกันบ้าง ต้องลดความขัดแย้ง ต้องประนีประนอมกัน เพื่อให้ประเทศชาติได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วก็เปิดประตูกว้างๆ ให้การจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดีที่สุดสำหรับประชาชน โดยให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปโดยธรรมชาติทางการเมือง จนได้รัฐบาลและการเมืองที่มีเสถียรภาพ ดีกว่าที่จะเผชิญหน้ากันตลอด แบบผมไม่จับมือกับคุณ ไม่คุยกับคุณ แล้วก็ระดมนโยบาย นำมากองตรงกลางด้วยความใจกว้าง นโยบายไหนที่ดีที่สุดหยิบออกมาเพื่อนำมาเป็นนโยบายของรัฐบาลใหม่ เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน.

................................................

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .