เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่นั่งเขียนต้นฉบับ “ปักธงธรรม” เป็นวันพระใหญ่ ตรงกับวันตรุษจีนที่ ๑ ก.พ.๒๕๖๕ พำนักอยู่ที่วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน
ในช่วงเช้าของวันดังกล่าว.. นอกจากออกไปทำกิจรับบาตรด้านหน้าวัดแล้ว ยังต้องลงอุโบสถ ฟังพระสวดปาติโมกข์ ๒๒๗ สิกขาบท ที่เรียกว่า ศีลปาติโมกข์ของพระ ตามภาษาทั่วไปแบบเข้าใจกัน..
การฟังสวดสิกขาบท ๒๒๗ แทนการฟังสวดปาติโมกข์ ที่ทรงประกาศการแสดงโดยพระพุทธองค์นั้น.. เป็นไปตามพระบรมพุทธานุญาตที่สืบเนื่องมาจากสมัยพุทธกาล โดยการนำพระวินัยหรือศีล ๒๒๗ สิกขาบทมาสวดสาธยาย จึงเรียกปาติโมกข์ศีล ๒๒๗ สิกขาบท.. และพระผู้สวด เรียกสมมติตนว่า ภิกขุปาติโมกข์
เมื่อจบการฟังสวดปาติโมกข์ในยามเช้าก่อนจะรับภัตตาหารตามธรรมเนียมปฏิบัติของวัดป่าฯ ที่นิยมฉันมื้อเดียวตามวินัยพระอรัญวาสี จึงได้ มีการอัญเชิญพระพุทธรูปหิน (แกะจากหิน) ที่ศรัทธาชาวเนปาล ได้ถวายอาตมาครั้งสมัยอธิษฐานอยู่จำพรรษาที่ นิโครธารามมหาวิหาร แห่งพระนครกบิลพัสดุ์ ในสักกชนบท ชมพูทวีป เมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๐ อันเป็นแผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนของพระพุทธเจ้าของเรา ที่เรียกว่า.. เขตชาติภูมิ
“นิโครธารามมหาวิหาร” เป็นมหาวิหารหรือวัดแห่งที่สองในพระพุทธศาสนา สมัยพุทธกาลก่อนเข้าสู่พรรษาที่ ๒ ใน ๔๕ พรรษาของพระพุทธองค์ จึงเกิดร่วมสมัยกับ เวฬุวันมหาวิหาร ที่เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนา ณ พระนครราชคฤห์ แคว้นมคธ ชมพูทวีป.. มีอายุห่างกันประมาณ ๒ เดือนตามระยะเวลาที่พระพุทธองค์เสด็จสู่พระนครกบิลพัสดุ์.. เพื่อโปรดพระประยูรวงศาญาติ เหล่าศากยตระกูล โดยมีพระเจ้าสุทโธทนะ พระราชบิดาเป็นองค์ประธาน..
ในการจำพรรษาเมื่อปี ๒๕๕๐ ครั้งนั้น อาตมา.. ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการจาก LDT หรือ Lumbini Development Trust หน่วยงานกำกับดูแลพื้นที่โบราณสถานของพระพุทธศาสนาในเนปาล มีสำนักงานตั้งอยู่ที่พื้นที่สังเวชนียสถานที่ประสูติของพระพุทธองค์ ณ อุทยานลุมพินี.. ห่างจากพระนครกบิลพัสดุ์ ที่ปัจจุบันชาวเนปาลเรียกว่า ติเลาราโกต ประมาณ ๓๐ กิโลเมตร โดย ติเลาราโกต หรืออดีตพระนครกบิลพัสดุ์ ห่างจาก เทาลิฮาวา ๓ กิโลเมตร และห่างจาก นิโครธารามมหาวิหาร ในปัจจุบันตั้งอยู่ที่ หมู่บ้านคูดาน ๖ กิโลเมตร (โดยประมาณ)
ความเป็นอยู่ของชาวเนปาลในสมัยนั้นลำบากพอสมควร แต่ด้วยมีพื้นฐานชีวิตที่ดำรงอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ดี จึงอาศัยการทำการเกษตรกรรม.. กสิกรรม.. โครักขกรรม เป็นต้น ในการเลี้ยงตนเองและครอบครัว.. จึงได้เห็นความเป็นอยู่ที่มีความสุขตามอัตภาพ... แม้จะลำบาก ไม่สะดวกสบายแบบชาวเมืองที่เจริญ แต่ก็มีความสุขสงบ สมกับเป็นชุมชนที่เจริญรุ่งเรืองด้วยธรรมชาติแถบหิมาลัย...
ในวันแรกก่อนจะเข้าสู่การอธิษฐานจำพรรษา.. ยังจำได้ว่า ขณะที่เดินสำรวจพื้นที่ภายในเขตโบราณสถานนิโครธาราม.. ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของประเทศ พบแต่เศษซากปรักหักพังในพื้นที่อันบ่งบอกได้ว่า.. พื้นที่ดังกล่าวเคยรุ่งเรืองทางอารยธรรมทางพุทธศาสนาอย่างแน่นอน.!!
โดยมีซากสถูป.. และวิหารปรากฏอยู่เป็นประจักษ์พยานถึง ๓ แห่ง ที่ทราบว่าได้รับการฟื้นฟูดูแลจากนักโบราณคดีของเนปาล โดยหน่วยงาน LDT ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่ลุมพินี ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลเนปาล
เมื่อมองออกไปโดยรอบพื้นที่ พบว่ามีบ้านชาวเนปาลที่ประกอบอาชีพการเกษตร.. ฐานะค่อนข้างยากจน..เรียงรายรอบมหาวิหารดังกล่าว ซึ่งมีสภาพไม่แตกต่างไปจากสมัยอยู่จำพรรษาที่ถ้ำบำเพ็ญทุกกรกิริยาของพระพุทธองค์บนภูเขาดงคสิริ ในเขตอุรุเวลาเสนานิคมในอดีต ปัจจุบันอยู่ในเขตปกครองของคยา รัฐพิหาร อินเดีย
ภาพในยามเย็นของวันนั้น ยังจำได้ติดตาตราตรึงจิตมาจนถึงปัจจุบัน.. โดยเฉพาะเมื่อเดินไปถึงมหาวิหารที่เชื่อว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระราชบิดาและพระประยูรญาติชาวศากยะตระกูล จึงเกิดความปีติยินดีเป็นอย่างยิ่งต่อการได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ ให้เข้าอยู่จำพรรษา ณ มหาวิหารอันสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนาดังกล่าวได้ และนับเป็นภิกษุรูปแรกของพระพุทธศาสนา.. ที่เดินทางเข้าไปอยู่จำพรรษาอย่างเป็นทางการ โดยการรับรองของหน่วยงานรัฐบาลเนปาล.. ที่สมัยนั้นนับว่ายากยิ่งต่อการเดินทางเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว ที่นอกจากทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญแล้ว ยังเต็มไปด้วยภัยอันตรายหลายด้าน โดยเฉพาะจากการทำสงครามกลางเมืองระหว่างกลุ่มประชาชนปฏิวัติที่นิยมลัทธิเหมา เจ๋อตง ที่เรียกกันว่า กลุ่ม เหมาอิสต์ กับรัฐบาลเนปาล ภายใต้การกำกับดูแลของพระราชาธิบดีในขณะนั้น...
จึงไม่แปลกที่จะเป็นข่าวที่แพร่ไปทั่วในเนปาล.. เมื่อพบว่ามีภิกษุชาวต่างชาติเดินทางไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ดังต่อมาที่ได้มีสถานีโทรทัศน์วิทยุของหน่วยรัฐบาลมาขอบันทึกภาพเสียงเพื่อเผยแพร่ไปทั่วเนปาล.. พอๆ กับสถานีวิทยุเสียงประชาชนของกลุ่มเหมาอิสต์ที่สนใจเข้ามาติดต่อสัมภาษณ์ไปเผยแพร่ทางสถานีวิทยุท้องถิ่นของกลุ่มต่อต้านรัฐบาลเช่นเดียวกัน
ในวันแรกที่ไปถึง หลังจากที่ได้เดินตรวจตราพื้นที่.. เพื่อกำหนดเป็นสถานที่อยู่จำพรรษาในไตรมาสหรือสามเดือนนั้นแล้ว.. จึงได้ระลึกถึงหลวงปู่มั่นสมัยอยู่ป่าว่า.. ท่านได้แกะสลักไม้เป็นพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชา.. เป็นคติธรรมเพื่อระลึกถึงพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้าในทุกเช้า-ค่ำ เมื่อไหว้พระสวดมนต์.. ทำกิจภาวนาอบรมจิต.. ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอน..
จึงนึกในใจว่า.. น่าจะนำก้อนอิฐเก่าที่วิหารโบราณในนิโครธารามที่เชื่อกันว่า.. เป็น พุทธวิหาร ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปไว้กราบไหว้บูชา..
แต่ด้วยระลึกถึงพระวินัยจึงไม่กล้าที่จะหยิบก้อนอิฐเก่าๆ ที่ทิ้งไว้เกลื่อนพื้นดินไป.. ด้วยระลึกได้ว่า.. เป็นสถานที่ของรัฐบาล ด้วยการหยิบฉวยสิ่งของใดๆ แม้จะเป็นเศษซากอิฐปูนก็ไม่ควร เว้นแต่จะมีผู้ถวายด้วยเจตนา.. หรือได้รับอนุญาตจากเจ้าของ/ผู้ดูแล...
จึงเดินทางกลับเข้ากุฏิที่แปลงรูปมาจากบ้านพักของยามที่เฝ้าดูแลสถานที่ดังกล่าว ที่ยังพอมีสภาพเป็นที่พักอาศัยอยู่ได้บ้างและถูกต้องตามพระวินัยที่มีพุทธานุญาตไว้...
หลังจากผ่านค่ำคืนนั้นไป.. จนเข้าสู่รุ่งอรุณของวันใหม่ อาตมาก็ได้ออกบิณฑบาต.. ตามหมู่บ้านในละแวก นิโครธารามมหาวิหาร ที่เรียก บ้านคูดาน (Kudan) ซึ่งตั้งห่างจากชายแดนสาธารณรัฐอินเดียประมาณกว่า ๑๐ กิโลเมตร จึงได้ยินเสียงรถยนต์วิ่งผ่านถนนดินแบบบ้านนอกอยู่บ้าง.. เมื่อสอบถามชาวบ้านว่ารถยนต์เหล่านั้นมาจากไหน.. ก็ได้รับคำตอบว่า.. มาจากชายแดนที่ติดต่อกับตอนเหนือของอินเดีย..
การบิณฑบาตในยามเช้าในวันดังกล่าว.. ที่นิโครธาราม.. ยังจำบรรยากาศได้ดีที่นำมาสู่.. ความสุขใจ.. ด้วยรอยยิ้มและอาการพยักหน้าต้อนรับจากชาวบ้านในท้องถิ่นแทนภัตตาหาร.. ด้วยชาวบ้านยังไม่เข้าใจในกิจของภิกษุในพุทธศาสนา.. เพราะไม่เคยมีพระมาอยู่พักปฏิบัติศาสนกิจ จะมีบ้างที่มาเยี่ยมชมสถานที่พุทธสถาน ซึ่งมาแล้วก็จะรีบเดินทางกลับ ด้วยสมัยนั้นยังเกรงกลัวการรบกวนจากคนในท้องถิ่น.. และอันตรายจากการรบราฆ่าฟันกัน...
ถึงแม้ว่าจะบิณฑบาตได้เล็กน้อย ไม่ค่อยเป็นสาระ แต่ด้วยอำนาจธรรมในพระพุทธศาสนา จึงมิได้ลำบากเสียทีเดียว เพราะยังมีกลุ่มผู้สนับสนุนที่เดินทางมาจากลุมพินี เพื่อนำภัตตาหารมาถวาย.. แม้จะไม่สะดวกมากนัก แต่ก็พอดำรงชีวิตอยู่ได้....
ในเช้าวันแรกของการอยู่จำพรรษา ณ นิโครธาราม จึงมีความสุขกับการได้นั่งพิจารณาภัตตาหารในสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ของพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าเคยประทับอยู่จำพรรษา แวดล้อมพระสงฆ์สาวก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นพระอรหันตสาวกจำนวนหลายพันรูป...
ที่สำคัญยิ่งในวันนั้น ยังจำได้ว่า.. ในขณะที่นั่งพิจารณาภัตตาหารอยู่ด้านหน้าที่พัก ได้เห็นบุรุษชาวเนปาลคนหนึ่งเดินตรงเข้ามาในนิโครธารามมุ่งมาที่กุฏิ.. โดยมีเด็กผู้ชายเดินตามมาคนหนึ่ง ในมือถือถาดภัตตาหารแบบชาวเนปาล พร้อมกับ.. อีกถาดหนึ่ง.. มีสิ่งสำคัญยิ่งที่อาตมามีความต้องการดำริอยู่ในใจตั้งแต่เมื่อวานเย็น... คือ พระพุทธรูปที่แกะจากหินก้อนหนึ่ง ขนาดพอเหมาะ หน้าตักประมาณ ๓-๔ นิ้ว ที่นำมาถวายอาตมาในเช้านั้น.. ด้วยการพูดภาษาเนปาลีที่อาตมายังฟังไม่รู้เรื่อง.. แต่ทราบโดยเจตนาว่าชายชาวเนปาลผู้นี้ตั้งใจนำมาถวาย และทราบในต่อมาว่า.. ชายผู้นี้ได้แกะพระพุทธรูปจากหิน...
เขาได้เล่าให้ทราบต่อมาว่า.. เมื่อวานขณะที่เขาได้เห็นอาตมาเดินอยู่ในเขตมหาวิหาร.. “เขาได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า.. จึงเกิดความรู้สึกที่จะแกะสลักพระพุทธรูปหินมาถวาย..” และได้รีบดำเนินการโดยเร็ว.. ในเช้าวันนั้นจึงได้นำมาถวายแก่อาตมา.. ซึ่งต่อมาได้มีความสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องกับชาวเนปาลในท้องถิ่น.. จนนำไปสู่การมีความศรัทธาเลื่อมใสยิ่งขึ้น.. และเรียกขานอาตมาว่า.. “กูรูจี..” และเป็นกูรูจีของชาวเนปาลในพื้นที่ดังกล่าวแม้ถึงทุกวันนี้..
ดังนั้นในวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕.. ตรงกับวันพระใหญ่.. และตรงกับวันตรุษจีน จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปหินดังกล่าว.. ที่มีอายุยาวนานถึงปัจจุบันรวม ๑๕ ปี ขึ้นประดิษฐานตรง หน้าบรรณด้านหลังของอุโบสถวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน เพื่อจะได้เป็นธรรมานุสรณ์.. เป็นธัมมานุสติ.. และเป็นบุญกุศลแก่พวกเขาเหล่านั้น “คณะศรัทธาชาวเนปาล”
พระพุทธรูปเป็นคติธรรม.. เป็นนิมิตธรรมอันมีคุณค่ายิ่ง.. ที่จะนำพาจิตใจไปสู่การระลึกบูชาพระคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า.. ซึ่งทรงพระมหากรุณาธิคุณอันไม่มีประมาณในการช่วยสงเคราะห์ให้เวไนยสัตว์ทั้งหลาย ได้สดับ.. ได้ศึกษาปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน เพื่อการดับเพลิงกิเลส.. ดับเพลิงทุกข์ให้สิ้นไป.. ด้วยอำนาจแห่งพระสัทธรรม..
“ปักธงธรรม” ฉบับนี้.. จึงเห็นควรนำเรื่องดังกล่าวมาบอกกล่าวให้สาธุชนได้รับทราบ.. จะได้มีส่วนร่วมในบุญกุศลอันสำคัญนี้
..ด้วยในยามสังคมวุ่นวาย.. หมู่ชนแตกแยกเป็นฝักฝ่าย.. บ้านเมืองเร่าร้อนด้วยภัยอันตราย โดยเฉพาะจากไวรัสโควิด-๑๙.. คงไม่มีอะไรที่ควรยิ่งเท่ากับ.. การเผื่อแผ่บุญกุศลสรงรดจิตใจให้ทุกคนได้ สงบเย็นใจ ตื่นรู้ และตั้งมั่น.. อย่างมีสติปัญญาบารมี.. เพื่อผ่านพ้น.. ปลอดภัยจากภัยทั้งปวง!!.
เจริญพร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเสื่อม.. ที่ควรเห็น.. ก่อนตาย!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีคำกล่าวเป็นสุภาษิต ว่า ความเสื่อมของมนุษย์ ล้วนมีสาเหตุมาจากมนุษย์.. ความเสื่อมของสิ่งใดๆ .. ก็มีสาเหตุมาจากสิ่งนั้นๆ..
รัฐบาลแพทองธาร อยู่ไม่ครบปี บิ๊กป้อม ยังสู้-พปชร.เดินหน้าต่อ
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก
ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..
คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ขบวนการแพทย์ชนบท กับรางวัลแมกไซไซ ปี 2024 ทิศทางพัฒนาระบบสุขภาพไทย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา คือวันเสาร์ที่ 16 พ.ย. คณะผู้แทน”ขบวนการแพทย์ชนบท” ได้เดินทางไปรับรางวัลแมกไซไซ ประจำปี 2024