ผมเห็นว่าคดีผมนั้น คำพิพากษาถึงที่สุดให้รอลงอาญา จึงไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครตุลาการฯ แต่ปัญหาไม่น่าจะหมดเพียงแค่นี้ เพราะเชื่อว่าผมจะถูกถามว่าทำไมถึงฉีกบัตร จากทั้งคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ส่วนคำตอบของผมจะเป็นอย่างไรนั้น คนที่ติดตามคำอธิบายของผมหรืองานวิจัยของผมเรื่อง ประเพณีการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้าจะทราบดี ซึ่งผมจะไม่กล่าวในทีนี้ เพราะอาจจะดูเป็นการใช้สื่อหรือสังคมกดดันการพิจารณาของคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการ
การรับสมัครเพื่อสรรหาและคัดเลือก "ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ" ใหม่สองคน เพื่อมาแทน ศ. ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และนายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ครบวาระการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ปิดรับสมัครไปแล้วเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา
โดยในส่วนของผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในสาขา "ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์ ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์" ที่จะมาแทน ศ. ดร.นครินทร์ ประธานศาล รธน.
หนึ่งในผู้สมัครที่เป็นที่สนใจและถูกจับตามองก็คือ "ศ. ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ที่เป็นนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์-การเมืองการปกครอง ที่มีชื่อเสียง คนรู้จักทั้งประเทศ โดยเขาได้ยื่นใบสมัครเข้ารับการสรรหาในครั้งนี้ด้วย
“ศ. ดร.ไชยันต์" ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "ไทยโพสต์" ถึงการลงสมัครคัดเลือกเป็นตุลาการศาล รธน.ในครั้งนี้ว่า เหตุผลที่ลงสมัครประการแรกเลยคือ ผมเกษียณอายุราชการเดือนกันยายนปีที่แล้ว ถ้าไม่เกษียณผมก็คงไม่สมัครแน่นอน เพราะผมชอบงานสอนหนังสือมาก
ขณะที่นี่ผมเป็นอาจารย์พิเศษ วิชาที่ยังสอนอยู่ในเทอมนี้มีอยู่ 2 วิชา โดย รศ. ดร.แก้วคำ ไกรสรพงษ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง ได้กรุณาเปิดวิชาสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทยสมัยใหม่ ซึ่งเป็นวิชาเลือก ที่ผมเป็นคนเปิดวิชานี้ขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีที่แล้ว และอาจารย์แก้วคำก็ให้ผมได้สอนวิชานี้ ซึ่งผมเห็นว่ามีความสำคัญยิ่งในช่วงเวลาที่มีการบิดเบือนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในการเมืองไทยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รวมทั้งเรายังขาดความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและพัฒนาการของประเทศต่างๆ ที่ประสบความสำเร็จหรือล้มเหลวในการปกครองด้วยระบอบนี้ ซึ่งในวิชานี้จะให้ความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของระบอบการปกครองของอังกฤษ สวีเดน ฝรั่งเศส (ล้มเหลว) เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ เบลเยียม เดนมาร์ก รวมทั้งเนปาล (ล้มเหลว) และภูฏานที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเมื่อปี พ.ศ. 2551 นี้เอง และอีกวิชาคือความรู้เบื้องต้นทฤษฎีการเมืองและสังคม ซึ่งเป็นวิชาบังคับคณะ ที่รองคณบดีฝ่ายวิชาการ ผศ. ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง ได้กรุณาให้ผมสอนต่อไป
"ศ. ดร.ไชยันต์" กล่าวต่อไปว่า เมื่อผมอยู่ในสถานะอาจารย์พิเศษ ผมจะได้สอนวิชาที่ทางคณะเชิญผมสอนไปได้อีกนานแค่ไหนก็ไม่รู้ เพราะยังไงก็คงต้องรับสมัครอาจารย์ใหม่มาแทนผมในที่สุด ผมจึงเห็นว่าถ้ามีงานอะไรที่ผมพอทำได้ ในขณะที่ยังมีกำลังวังชาและใช้วิชาความรู้และประสบการณ์ได้ โดยที่สมองยังไม่เสื่อมก็น่าจะทำ
บังเอิญหลังที่ผมเกษียณ ทราบว่าจะมีการเปิดรับสมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อปีที่แล้ว แทนท่านอาจารย์นครินทร์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญที่จะหมดวาระ ผมก็คิดไตร่ตรองอยู่และเตรียมตัวสมัคร เตรียมเอกสารทุกอย่างไว้แล้ว แต่เมื่อทราบว่าท่านศาสตราจารย์ ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ลงสมัคร ผมก็ตัดสินใจไม่สมัคร เพราะไม่อยากจะแข่งกับคนกันเองในภาควิชาการปกครอง รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งท่านก็เป็นนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถ มีงานวิจัยที่ได้รับรางวัล แต่เมื่อทางวุฒิสภาลงมติไปเช่นนั้น (ไม่ให้ความเห็นชอบ ศ. ดร.สิริพรรณ) และเมื่อมีการเปิดรับสมัครอีกครั้ง ผมก็ตัดสินใจสมัคร เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ หลังจากที่สอนหนังสือมา 30 กว่าปี เปลี่ยนมาทำงานที่ความรู้ของเราจะก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมชัดเจน
-เรื่องคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม ในการเป็นตุลาการศาล รธน. เป็นอย่างไรบ้างครับ ประเด็นข้อกฎหมายต่างๆ ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาหลังปิดรับสมัคร?
หลายคนพูดถึงคดีฉีกบัตรเลือกตั้งของผม ว่าศาลฎีกาตัดสินให้ผมติดคุก 2 เดือน แต่ให้รอลงอาญา ปรับสองพันบาท ตัดสิทธิทางการเมืองห้าปี ซึ่งโทษติดคุก 2 เดือนไม่ใช่ลหุโทษ เพราะลหุโทษต้องไม่เกิน 1 เดือน ดังนั้นจึงเข้าข่ายลักษณะต้องห้าม ซึ่งตอนแรกผมก็คิดเช่นนั้น แต่เมื่อมีผู้รู้ทางกฎหมายอธิบายความมาตรา 202 (3) ซึ่งมาตรา 202 (3) ในรัฐธรรมนูญ 2560 จะว่าด้วยคุณสมบัติของผู้สมัครตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ก็พบว่ากำหนดไว้ว่า
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (3) เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำ โดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ จากมาตรา 202 (3)
“ผมเห็นว่าคดีผมนั้น คำพิพากษาถึงที่สุดให้รอลงอาญา จึงไม่เข้าข่ายลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครตุลาการฯ แต่ปัญหาไม่น่าจะหมดเพียงแค่นี้ เพราะเชื่อว่าผมจะถูกถามว่าทำไมถึงฉีกบัตร จากทั้งคณะกรรมการสรรหาและคณะกรรมาธิการวุฒิสภา ส่วนคำตอบของผมจะเป็นอย่างไรนั้น คนที่ติดตามคำอธิบายของผมหรืองานวิจัยของผมเรื่อง ประเพณีการปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้าจะทราบดี ซึ่งผมจะไม่กล่าวในที่นี้ เพราะอาจจะดูเป็นการใช้สื่อหรือสังคมกดดันการพิจารณาของคณะกรรมการและคณะกรรมาธิการ”
...และนอกจากประเด็นเรื่องฉีกบัตรเลือกตั้งแล้ว ผมเชื่อว่าการให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนในปี พ.ศ. 2554 จะเป็นประเด็นที่ผมจะถูกถาม ซึ่งในปี 2554 ที่ขณะนั้นคณะนิติราษฎร์เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 112 เมื่อมาถามผม ผมเสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาแยกแยะความแตกต่าง ระหว่างการหมิ่นประมาทกับการวิพากษ์วิจารณ์ และเมื่อเข้าใจแล้วว่าต่างกันอย่างไร ก็ให้ประชาชนตัดสินว่าจะยกเลิก หรือจะแก้ หรือจะคงไว้อย่างเดิม
ผมไม่ต้องการให้นักการเมืองในสภาเป็นคนตัดสินว่าจะแก้หรือไม่แก้ เพราะผมเห็นว่าการแก้หรือไม่แก้กฎหมายสำคัญมาตรานี้ในสภา ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนเข้าใจถึงเหตุผลที่สมควรแก้หรือคงไว้หรือยกเลิก ปัญหาจะไม่มีทางจบสิ้น การให้ประชาชนได้ถกเถียงแลกเปลี่ยนและใช้เหตุผล แม้ว่าจะเสียเวลา แต่ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นที่ยอมรับมากกว่าจะให้นักการเมืองในสภาตัดสิน บางคนเห็นว่าเป็นการเสี่ยงมากๆ เพราะประชาชนอาจจะตีกันในการถกเถียง แต่ผมเห็นว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่จะยกระดับคุณภาพวิจารณญาณของประชาชน และที่สำคัญคือ มันเป็นประชาธิปไตยมากกว่าประชาธิปไตยในสภา
"ผมก็ตัดสินใจสมัคร เพื่อที่จะได้ใช้ความรู้ให้เป็นประโยชน์ หลังจากที่สอนหนังสือมาสามสิบกว่าปี เปลี่ยนมาทำงานที่ความรู้ของเราจะก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรมชัดเจน เป็นเสียงหนึ่งของคณะผู้ตัดสิน"
-ที่ผ่านมา มีความสนใจและติดตามการวินิจฉัยคดีของศาล รธน.ในช่วงที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง?
ที่จริงก็ติดตามมาโดยตลอด ตั้งแต่สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีซุกหุ้น ที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่า บกพร่องโดยสุจริต และผมได้เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์เรื่อง บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการเมืองไทย (พ.ศ. 2541-2557) ของคุณชาย ไชยชิต ซึ่งขณะนี้คือ ผศ. ดร.ชาย ไชยชิต แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่างานวินิจฉัยคดีของศาล รธน.มีมากมายกว่าที่คนทั่วไปรู้ ถือเป็นงานหนักมากเลยทีเดียว ใครสนใจใคร่รู้ บทบาทของศาลรัฐธรรมนูญในการเมืองไทยในช่วง 16 ปีแรก ก็น่าจะไปหาวิทยานิพนธ์ฉบับนี้อ่านได้ไม่ยาก เพราะเป็น e-thesis ด้วย ให้เข้าไปที่ https://library.car.chula.ac.th/search/a?search=%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A2%20%E0%B9%84%E0%B8%8A%E0%B8%A2%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0%B8%95
แต่ที่เด่นๆ ในช่วงไม่นานมานี้ ขอกล่าวแค่สองคดี ไม่งั้นจะยืดยาวมาก
คดียุบพรรคไทยรักษาชาติในปี พ.ศ. 2562 กรณีที่ไปเชิญทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี มาเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ซึ่งโดยผิวเผินคนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าท่านเป็นสามัญชนแล้ว มีบัตรประชาชนแล้ว น่าจะไม่ขัด แต่พบว่าบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมทั้งฉบับปัจจุบัน มีหมวดว่าด้วยพระมหากษัตริย์เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รองรับสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่เหนือการเมืองและทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
ซึ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมครอบคลุมถึงพระราชินี พระรัชทายาทและพระบรมราชวงศ์ซึ่งมีความใกล้ชิดกับพระมหากษัตริย์ ดังที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจร่วมกับพระองค์หรือแทนพระองค์อยู่เป็นนิจ ดังนั้นพระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ทุกพระองค์ จึงอยู่ในหลักการเกี่ยวกับการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ด้วย และไม่สามารถดำรงตำแหน่งใดๆ ในทางการเมืองได้ เพราะจะเป็นการขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
อีกทั้งทูลกระหม่อมยังเป็นที่เคารพในสังคมเหนือสามัญชนทั่วไป และก็ยังเรียกท่านว่าทูลกระหม่อม ซึ่งฝรั่งอาจจะไม่เข้าใจ แต่การไปเชิญท่านมาเป็นแคนดิเดตนั้นย่อมไม่เหมาะสม และพูดตรงๆ คือไม่แฟร์ทางการเมือง เพราะใครจะไปกล้าแข่งกับท่าน หรือหาเสียงวิพากษ์วิจารณ์ท่าน และหากท่านได้เป็นนายกรัฐมนตรีจริงๆ ก็จะยุ่งกันใหญ่ นี่ถ้าไม่มีพระบรมราชโองการลงมาในคืนวันที่ทูลกระหม่อมสมัคร คนอาจจะคิดไปกันว่าในหลวงท่านทรงไฟเขียวให้มาสมัคร ก็จะโกลาหลทางการเมืองเลยทีเดียว และสถาบันฯ จะไม่เป็นกลางทางการเมืองทันที อีกทั้งคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 6/2543 ก็ชี้ว่ามาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญ 2540 ไม่ใช้กับพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 22 และมาตรา 23
...อีกคดีหนึ่งคือ คดียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่คำแก้ต่างของพรรคอนาคตใหม่ทำให้ผมไปทำวิจัยเรื่องเงินการเมืองในประเทศต่างๆ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า งานวิจัยนี้ดูว่า ประเทศไหนเขาให้พรรคกู้ยืมเงินหัวหน้าพรรคตัวเองบ้าง ก็พบว่าหลายประเทศไม่ให้ห้าม แต่มีเงื่อนไขการกู้ยืมที่ชัดเจน เช่น ต้องตามอัตราการกู้พาณิชย์ปกติ (commercial rate) ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ มีกำหนดการชำระหนี้ที่ชัดเจนแน่นอน บางประเทศกำหนดให้กู้ไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ แต่รวมๆ พบว่าในประเทศที่ไม่ให้ห้าม ไม่มีประเทศไหนเข้ากู้เงินหัวหน้าพรรคตัวเองเจ้าเดียวเป็นจำนวนมากขนาดเกือบ 200 ล้านบาท เพราะประเทศที่เจริญทางการเมืองแล้ว เขายึดหลักการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการรวมศูนย์อำนาจในพรรค และต้องการให้ สส.ในพรรคมีความเป็นอิสระ ไม่ใช่อยู่ใต้บังคับบัญชาของหัวหน้าพรรค
...แม้ว่าพรรคอนาคตใหม่จะทำอะไรเปิดเผย แต่ก็ดันผิดกติกาตรงที่เมื่อกู้มาแล้ว ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมาก ชำระไปได้สองสามเดือน ก็มาแก้สัญญาจากชำระต่อเดือนมาเป็นชำระต่อปี และไม่มีหลักเกณฑ์ตามการกู้ปกติทั่วไป จึงกลายเป็นการกู้อำพราง เมื่อไม่ใช่การกู้ ก็ตีว่าเป็นการบริจาค ทีนี้กฎหมายกำหนดว่า ต่อคนให้บริจาคได้ไม่เกินเท่าไร ปรากฏว่าจำนวนเงินกู้อำพรางที่กลายเป็นเงินบริจาคมันเกินจำนวนที่กำหนดไว้ ก็เลยเป็นความผิด ทีนี้ก็ไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองอื่นๆ ที่ไม่ได้กู้แบบนี้ สส.จะมีความเป็นอิสระ อย่างที่รู้ๆ กันว่าหลายพรรคมีเจ้าของ และ สส.ก็อยู่ใต้อาณัติเจ้าของหรือนายใหญ่ แต่ที่ไม่เกิดเรื่องแบบอนาคตใหม่ ก็เพราะว่าเขารู้หลบรู้หลีก รู้ว่าทำเรื่องเงินอย่างไรจะไม่ผิดกฎหมาย ไม่ถูกยุบ ก็ไม่รู้ว่าทำไมพรรคอนาคตใหม่ถึงตัดสินใจทำแบบนั้น จะว่าเพื่อโปร่งใสก็ได้ แต่ก็ดันกู้ดอกเบี้ยต่ำและไม่เข้าเกณฑ์การกู้ปกติ แถมมาเปลี่ยนเงื่อนไขการชำระหนี้ หรือจะว่าหัวหน้าพรรคใจไม่ถึงเหมือนนายทุนหัวหน้าพรรคการเมืองรุ่นเก่า
-จากประสบการณ์ด้านการสอนหนังสือสาขารัฐศาสตร์ หากเข้าไปเป็นตุลาการศาล รธน. คิดว่าจะนำประสบการณ์ต่างๆ ไปใช้ในเรื่องการวินิจฉัยคดีอย่างไรบ้าง?
ผมศึกษาเรื่องประเพณีการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งของไทยและต่างประเทศ พบว่าประเพณีการปกครองมีความสำคัญมาก และไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญ เช่นการยุบสภา รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่จะกำหนดว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจยุบสภา แต่ไม่ได้บอกรายละเอียด แต่ความจริงมันมีแบบแผน ไม่ใช่อยู่ดีๆ อยากจะยุบก็ยุบได้ตามใจนายกรัฐมนตรี อย่างกรณีคุณทักษิณยุบสภาปี 2549 มันยุบไม่ได้ ไม่มีเหตุให้ยุบ เมื่อยุบสภาไม่ชอบ การเลือกตั้งที่ตามมาก็ไม่ชอบ ถ้านายกรัฐมนตรียุบสภาได้โดยไม่มีเงื่อนไข ก็จะไม่ต่างจากพระมหากษัตริย์ยุโรปในครั้งที่ยังเป็นราชาธิปไตย อยากจะยุบเมื่อไร ไม่อยากฟังเสียงสภา ก็ยุบมันไปเฉยๆ
ดังนั้น เรื่องประเพณีการปกครองนี่มีความสำคัญไม่น้อยเลย ที่เยอรมนีนายกรัฐมนตรียุบสภา มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และเห็นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทีนี้หากเป็นกรณีบ้านเรา ถ้าใครจะไปร้องศาลรัฐธรรมนูญว่า นายกฯ ยุบสภาไม่ชอบ และพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยไปแล้ว จะทำได้ไหม? ผมว่าทำได้ และไม่ถือว่าเป็นการหมิ่นพระองค์ด้วย อย่างในกรณีของอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ปิดประชุมสภา และขยายระยะเวลาการเปิดประชุมสภาออกไปจากกำหนดเวลาปกติ (prorogation) มีคนไปร้องต่อศาลสูง
จนที่สุดศาลตัดสินว่า การปิดประชุมสภาและขยายเวลาออกไปของจอห์นสันนั้นไม่มีเหตุผลเพียงพอ และการปิดประชุมสภานานไปถือว่าเป็นการละเมิดประชาธิปไตย เพราะสภาในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญคือ หัวใจสำคัญของการทำงานของตัวแทนของประชาชน ศาลสูงตัดสินว่าการขยายเวลานั้นไม่ถูกต้อง แม้ว่าควีนเอลิซาเบธที่สองจะลงพระปรมาภิไธยแล้วก็ตาม
ขณะเดียวกัน กรณีมาตรา 5 ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ จะเกี่ยวกับการให้เป็นไปตามประเพณีการปกครองหากไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ตามประเพณีการปกครองไม่ได้หมายความว่า ให้พระราชอำนาจพระมหากษัตริย์แต่งตั้งใครเป็นนายกรัฐมนตรีได้เลย หรือที่ในปี 2549 พากันเรียกว่า “นายกฯ พระราชทาน” ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ที่เสนอให้ผ่าทางตันโดยใช้มาตรา 7 ท่านไม่ได้หมายความเช่นนั้น แต่มันมีแบบแผนของมันอยู่ ซึ่งเคยกล่าวไปอธิบายไปหลายครั้งแล้ว และอยู่ในหนังสือประเพณีการปกครองฯ ของผม นอกจากนี้ ผมยังศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศในยุโรป ในช่วงแรกเริ่มที่เข้าสู่ระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 พบว่าของเราก้าวหน้ากว่าประเทศในยุโรปมากๆ คือเปลี่ยนการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่และฉับพลันในเรื่องการโอนถ่ายอำนาจ ในขณะที่ประเทศในยุโรปเขาจะค่อยๆ เปลี่ยนตามเงื่อนไขที่เป็นจริง อีกทั้งหลายประเทศมีการเปลี่ยนการปฏิบัติจนลงตัว แล้วค่อยมาแก้รัฐธรรมนูญตามสิ่งที่เกิดขึ้นและลงตัวแล้ว เป็นต้น
และที่น่าสนใจในเอเชีย คือภูฏาน ที่รัฐธรรมนูญของเขาออกแบบการเลือกตั้งที่บีบให้เหลือสองพรรคเท่านั้น คือรอบแรกจะมีพรรคการเมืองลงแข่งขันกี่พรรคก็ได้ รอบสองให้พรรคที่ได้ที่หนึ่งกับที่สองลงแข่ง คราวนี้ใครชนะก็ได้จัดตั้งรัฐบาล อีกพรรคก็เป็นฝ่ายค้าน คือเขาใช้รัฐธรรมนูญกำหนดให้การเมืองเป็นระบบสองพรรค ในขณะที่อังกฤษและอเมริกา ระบบสองพรรคเกิดขึ้นตามธรรมชาติทางการเมืองของเขา ที่จริงระบบสองพรรคนี้ถือเป็นเรื่องพิเศษจริงๆ เพราะส่วนใหญ่ในยุโรปเป็นระบบหลายพรรค รัฐบาลจึงเป็นรัฐบาลผสม และจัดตั้งยาก ใช้เวลานาน
นอกจากนี้ที่น่าสนใจคือ ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่หลังเลือกตั้งจะมีการโปรดเกล้าฯ ตั้งนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ต้องให้มีการยกมือลงคะแนนโดย สส.ในสภา ซึ่งอย่างมาเลเซียไม่นานมานี้ หลังเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้ สส.เกินครึ่งสภา และก็ตกลงเป็นรัฐบาลผสมไม่ได้ พระราชาธิบดีของเขามีส่วนในการทำให้พรรคต่างๆ ตกลงกันได้ ของไทยเราก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 ก็เหมือนประเทศที่ปกครองด้วยระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ คือหลังเลือกตั้ง โปรดเกล้าฯ หลังจากหัวหน้าพรรคต่างๆ ตกลงกันได้ เพราะเรามีพรรคการเมืองที่ได้เสียงเกินครึ่งอยู่สองครั้งเท่านั้นในประวัติศาสตร์การเลือกตั้ง
นอกนั้นจะต้องมีการตกลงกันระหว่างหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม หลังโปรดเกล้าฯ แล้ว นายกรัฐมนตรีค่อยไปแถลงนโยบายและให้สภาลงมติไว้วางใจหรือไม่อีกที แต่หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 หลังเลือกตั้งจะเปิดประชุมสภา แล้วลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี แล้วค่อยไปทูลเกล้าฯ ซึ่งในแง่ดีก็คือ ผลการลงมติของสภาเป็นตัวกำหนดนายกรัฐมนตรีไปเลย ซึ่งประเทศที่ใช้แบบนี้ น่าจะมีอยู่แค่สามประเทศเท่าที่ค้นมาคือ ไทย สวีเดนและญี่ปุ่น
ขณะเดียวกัน จากการศึกษารัฐธรรมนูญประเทศต่างๆ พบว่า ประเทศนอร์เวย์เป็นประเทศเดียวในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ไม่ให้มีการยุบสภาตลอดสี่ปีเลย เขามีสาเหตุที่มาตามประวัติศาสตร์ของเขา ซึ่งผมก็ได้ศึกษาไว้และเขียนเป็นบทความเป็นตอนๆ ลงในผู้จัดการรายสัปดาห์.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
LIVE ตายยกเข่ง..!? '4จตุรเทพ' งัดม.144 เชือดครม.-สภา | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2568
'ธรรมนัส' อ้างข้อมูลวงใน ยังไม่ถึงเวลาปรับครม.จ่อดัน 'อรรถกร' คัมแบ็กแทนพ่อ
ร.อ.ธรรมนัส เผยได้ข้อมูลจากคนในรัฐบาล ยืนยันยังไม่ถึงเวลาปรับ ครม. เหตุเศรษฐกิจยังน่าห่วง แย้ม “อรรถกร” มีลุ้นคัมแบ็กนั่งรมต.แทนบิดา ส่วน “ไผ่” รอเคลียร์คุณสมบัติ พร้อมแย้ม สส.ฝ่ายค้านเตรียมย้ายซบกล้าธรรม สัปดาห์หน้า
ดร.เสรี ถามกลับคนเคยด้อยค่า 'ลุงตู่' แล้ว ผู้นำไถ iPad อ่านโพยผิดๆ ควรเรียกอะไร
ดร.เสรี วงษ์มณฑา ซัดคนที่เคยดูแคลน พล.อ.ประยุทธ์ ว่าไร้ศักยภาพ เปรียบเหมือนได้ รปภ.ขับเครื่องบิน ลั่น “ลุงตู่” มีผลงานเป็นรูปธรรม แต่กลับมี “ผู้นำบางคน” อ่านโพยผิด พูดไม่รู้เรื่อง พาประเทศขายหน้า ซ้ำเจอผู้นำต่างประเทศเลี่ยงไม่เสวนาด้วย
ความโลภ ที่น่ากลัว...... ความเลว ที่น่ารังเกียจ..!!
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... นับเป็นห้วงเวลาแห่งการบำเพ็ญเพียร ประพฤติธรรม ที่ให้คุณค่ายิ่งต่อการพัฒนาจิต.. ในวิถีสติปัฏฐานธรรม รวม ๑๗ วัน ที่ให้ประโยชน์ทั้งต่อตน.. ต่อภิกษุ อุบาสก-อุบาสิกา.. และต่อการสืบอายุพระพุทธศาสนา บนภูเขาในเขตเสนาสนะป่า พระธาตุภูหว้ารัตนคีรี ที่ตั้งอยู่กลางทะเลอันดามัน เกาะภูเก็ต
LIVE ข้าศึกประชิดรั้ว | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน 2568
วางมือตรงหน้า ซ่อนไพ่ไว้ข้างหลัง: รัฐบาลที่ไม่กล้าชนภูมิใจไทย
กล้องทุกตัวจับภาพ ภูมิธรรม เวชยชัย ควงแขน อนุทิน ชาญวีรกูล เดินลงจากตึกไทยคู่ฟ้า พร้อมรอยยิ้มและคำหยอกว่า “เดี๋ยวหอมแก้ม” ท่ามกลางเสียงแซวว่าจะจับมือกันถึงปี 70