สรรพากร ต้องตีความกฎหมายในทางที่แผ่นดินได้ประโยชน์ ไม่ใช่ไปตีความกฎหมายในทางที่ไปเอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์ ...มันต้องมีหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ให้ คนอาศัยช่องกฎหมาย เพราะภาษีมันวางแผนภาษีได้ อาจอาศัยช่องได้...การไม่มีการกำหนดเวลาการชำระหนี้คือสิ่งผิดปกติ และหากมีการชำระก็ควรมีดอกเบี้ย ที่จะสูงหรือมากไม่เป็นไร ความผิดปกติกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายฯ คือมันส่อให้เห็นเหมือนกับว่า มีการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ก็มีการซุกหุ้น
ถึงแม้ว่า"แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี"จะผ่านศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านไปได้ด้วยคะแนนเสียงโหวตไว้วางใจท่วมท้น 319 เสียง แต่ประเด็นข้อกล่าวของฝ่ายค้านที่ซักฟอกนายกฯกลางสภาฯ ยังมีอีกหลายประเด็นที่ฝ่ายค้าน เปิดแผลการเมืองนายกฯและครอบครัวชินวัตรกลางสภาฯ โดยสังคมมองว่า นายกฯยังแจงไม่เคลียร์-ชี้แจงไม่ได้ และคาดหวังให้ฝ่ายค้านเดินหน้าตรวจสอบนายกฯต่อไป เช่นประเด็นเรื่อง"ตั๋ว P/N"ที่ฝ่ายค้านกล่าวหานายกฯทำนิติกรรมอำพรางเพื่อเลี่ยงการเสียภาษี 218 ล้านบาทหรือ การขยายผลการอภิปรายเรื่อง นายกฯเคยถือหุ้นและ เป็นกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัทอัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ทคลับ ตั้งแต่ปี พศ 2544 -4 กันยายน2568 ที่ครอบครองที่ธรณีสงฆ์ ในช่วงก่อนเข้าสู่ตำแหน่งนายกฯ เป็นต้น
"จุลพงศ์ อยู่เกษ-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน"หนึ่งในทีมส.ส.พรรคฝ่ายค้านที่ร่วมอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และเป็นอดีตประธานคณะกรรมการ ธนาคาร RHB Bank ประเทศมาเลเซียสองสมัยคือ 2552-2554, 2557-2565 ทำให้มีความรู้-ประสบการณ์เรื่องเศรษฐกิจ-การเงินการธนาคาร-หุ้น
โดย"จุลพงศ์"ให้ความเห็นหลังถามว่า ในฐานะเคยทำงานธนาคาร คิดว่าเรื่องตั๋วP/N ของนายกฯ ชี้แจงได้หรือไม่ โดยกล่าวตอบว่า ชี้แจงไม่ได้ ไม่อย่างนั้น ต่อไป คนก็ออกตั๋ว P/N กันหมด กรมสรรพากร จะไม่มีภาษีเงินได้เลย
อย่างผมซื้อที่ดินจากคุณ หรือของอะไรสักอย่างที่มีมูลค่า เช่นที่ดิน มันต้องมีการเสียภาษี แต่ต่อไปบอก จะออกเป็น ตั๋ว P/N ที่ไม่มีวันถึงกำหนด หรืออาจจะเป็นอีกสิบปีข้างหน้า ก็แสดงว่า คุณที่เป็นคนขายไม่ได้เงินจากผม คุณไม่ต้องเสียภาษี กรมสรรพากร จะเอาแบบนี้หรือ ที่ฝ่ายค้านโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร อภิปรายเรื่องดังกล่าว นี้ถึงบอกว่าจะทำหนังสือถึงกรมสรรพากร ว่าหากกรมสรรพากรปล่อยให้ทำแบบนี้ มันจะไม่ได้ คือสรรพากร เขาจะดูว่า ที่ออก ตั๋ว P/N ให้กันมันมีเหตุผลหรือไม่ เช่น หนึ่งมีดอกเบี้ยหรือไม่ สอง ไม่มีกำหนดเวลาการชำระเงิน มันเป็นไปได้อย่างไร
-ที่นายกฯชี้แจงว่า ช่วงทำธุรกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องการปรับโครงสร้างหุ้นและที่ได้รับโอนหุ้นมา ตัวเองยังไม่พร้อมในการชำระเงิน แต่จะมีการชำระเงินภายในปีหน้า?
เรื่องปรับโครงสร้างหุ้น เรื่องปกติในการซื้อหุ้นทางธุรกิจ แต่การจ่ายค่าหุ้น ในแง่ของสรรพากร เขาจะดูว่า คุณเจตนาหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ที่ออกตั๋ว P/N เช่นการที่ไม่ให้มีดอกเบี้ย และอย่าลืม แม่ลูกให้กัน ก็ต้องเสียดอกเบี้ย พี่น้องให้กันก็เสียดอกเบี้ย ถ้าเกินยี่สิบล้านต้องเสียภาษี ไม่อย่างนั้นก็อ้างว่าให้ได้หมด แทนที่จะขายก็อ้างว่าให้ หลักการพิจารณาประเด็นดังกล่าว จะดูสองเรื่องคือ หนึ่ง มีดอกเบี้ยหรือไม่ คนที่รับเงิน ไม่มีกำหนดชำระ แล้วยังไม่มีดอกเบี้ยให้อีก มันผิดปกติ
"ผมเป็นหนี้คุณ 100 ล้านบาท ไม่มีกำหนดชำระ ไม่มีดอกเบี้ย มันผิดปกติหรือไม่ ใช่ไหม มันก็ผิดปกติ อันนี้ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนภาษี แต่มันต้องมีความสมเหตุสมผล"
-สังคมจะเชื่อมั่นกรมสรรพากรกรณีนี้ได้หรือไม่ เพราะคนที่ถูกอภิปรายเป็นนายกฯและตัวอธิบดีกรมสรรพากร ก็ถูกมองว่าเป็นลูกชายอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย?
ก็เคยมีกรณี อธิบดีกรมสรรพากร อดีตรองอธิบดีกรมสรรพากร ที่เคยไปเป็นรมช.คลัง (เบญจา หลุยเจริญ ) ก็เคยติดคุกไปแล้ว ที่ไปทำหนังสือออกความเห็นด้านภาษีในทางที่ไปเอื้อประโยชน์ ถ้าจะออกมาแบบนี้อีก ก็เอา
"สรรพากร ต้องตีความกฎหมายในทางที่แผ่นดินได้ประโยชน์ ไม่ใช่ไปตีความกฎหมายในทางที่ไปเอื้อให้เอกชนได้ประโยชน์"
หากถามว่า สรรพากร เขาตีความแฟร์ๆ ไหม ก็ไม่ เพราะสรรพากรมีหน้าที่เก็บภาษี ถ้าคุณถามว่าแฟร์ไหม ไม่มีคนเสียภาษีคนไหน ที่จะบอกว่าแฟร์ แต่ว่ามันต้อง มีหลักเกณฑ์ของกฎหมาย เพื่อที่จะไม่ให้ คนอาศัยช่องกฎหมาย เพราะภาษีมันวางแผนภาษีได้ อาจอาศัยช่องได้ หากว่ามันสมเหตุสมผล กฎหมายก็ยอมรับ แต่บางเรื่องมันไม่สมเหตุสมผล และเคสดังกล่าว เงินมันจำนวนเยอะ และมีการโอนขายหุ้นมาตั้งหลายปี แล้วเพิ่งมาบอกว่าปีหน้าจะชำระเงินหรือ หากฝ่ายค้านไม่เอามาอภิปราย ก็ไม่มีการชำระปีหน้าหรือ พอฝ่ายค้านนำมาอภิปราย จึงมาบอกว่าจะชำระปีหน้า
-แบบนี้เข้าข่ายนิติกรรมอำพรางแบบที่นายวิโรจน์อภิปรายในสภาฯ?
ถูกครับ จริงๆคือ"การฝากหุ้น" จะให้หุ้นหรือฝากหุ้น แต่ฝากหุ้น มันเหมือนกับให้ มันต้องเสียภาษีทันทีเลย ก็ใช้วิธีขาย แต่ทำ ตั๋ว P/N จ่ายราคา แต่นานๆ แบบไม่มีกำหนด ไม่มีดอกเบี้ย
-เรื่องนี้ หากมีคนไปยื่นเอาผิดนายกฯเรื่องฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม เอาผิดได้หรือไม่?
ภาษี เป็นเรื่องจริยธรรม เรื่องเสียภาษีสำคัญมาก ประชาชนต่างก็เสียภาษี แม่ค้าก็เสียภาษี แล้วทำไม นายกฯจะไม่เสีย ในต่างประเทศ ใครทำผิดเรื่องภาษี กระเด็นจากตำแหน่งทันทีเลย ต่างประเทศไม่ยอมเด็ดขาดเรื่องภาษี ตามหลักมาตรฐานสากล ความผิดเรื่องหลีกเลี่ยงภาษีรุนแรงมาก
"ตั๋ว P/N เป็นเรื่องปกติของธุรกิจ หากมีการชำระหนี้จริงๆ เช่นมีการกำหนดเวลาการชำระหนี้ในตั๋ว P/N แต่การไม่มีการกำหนดเวลาการชำระหนี้คือสิ่งผิดปกติ และหากมีการชำระก็ควรมีดอกเบี้ย ที่จะสูงหรือมากไม่เป็นไร เพราะฉะนั้นความผิดปกติกรณีที่ฝ่ายค้านอภิปรายฯ คือมันส่อให้เห็นเหมือนกับว่า มีการหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่ก็มีการซุกหุ้น สองอย่าง”
..คิดว่า นายกฯควรอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เพราะเรื่องภาษีไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ยิ่งโดยเฉพาะคนที่อยู่ในการเมืองหรือบุคคลสาธารณะ ผมยืนยันว่า ตั๋ว P/N ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายแต่เรื่องนี้มันผิดปกติตรงที่ เวลาการชำระหนี้ มีการชำระหนี้ล่าช้า และยังไม่มีดอกเบี้ย มันผิดปกติและระหว่างพี่น้องด้วยกัน มันก็ผิดปกติตรงที่ว่าเป็นการเลี่ยงภาษี หรือเป็นการซุกหุ้น เพราะพี่น้อง ให้หุ้นต่อกัน ก็ต้องเสียภาษี หากมูลค่ามันเกินยี่สิบล้านบาท อย่างที่วิโรจน์อภิปรายคือตอนนี้เลี่ยงภาษีได้สองร้อยกว่าล้านบาท
...ตอนนี้รอทางคุณวิโรจน์ ถามไปที่กรมสรรพากร แล้วรอกรมเขาตอบกลับมาเพราะเป็นหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ต้องรอดูว่า สรรพากร จะตอบกลับมายังไง โดยหากตอบว่า เรื่องปกติ ก็ทำกันแบบนี้ ถ้าแบบนั้น คนอื่นก็ทำได้หมด จะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ถ้านายกฯทำได้ คุณก็ทำได้ ผมก็ทำได้ บริษัทอื่นก็ทำได้ ทุกคนทำได้หมด มันจะเกิดการเลี่ยงภาษี
ทางออก ปมที่ดินอัลไพน์ กรมที่ดิน ต้องไม่เอื้อครอบครัวนายกฯ
"จุลพงศ์-ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน"ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี ในประเด็นที่ ก่อนหน้าจะเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ได้เคยถือหุ้น และเป็นกรรมการบริษัทและกรรมการบริหาร บริษัทอัลไพน์กอล์ฟแอนด์สปอร์ทคลับ ตั้งแต่ปี พศ 2544 -4 กันยายน2568 ก่อนจะโอนหุ้นไปให้คนในครอบครัวก่อนเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งบริษัทอัลไพน์ดังกล่าวครอบครองที่ธรณีสงฆ์ หรือที่เรียกกัน"ที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์" โดยเล่าถึงที่มาที่ไปของการอภิปรายเรื่องอัลไพน์ว่า ที่เข้าไปตรวจสอบและอภิปรายเรื่องที่ดินอัลไพน์ เพราะว่าอยากจะรู้ว่าเรื่องที่ธรณีสงฆ์ดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร ก็ต้องไปหาข้อมูลตั้งแต่ปี 2512 ก็ศึกษาและเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ โดยเฉพาะการเข้าไปดู"บัญชีบริษัท"( บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟ แอนด์ สปอร์ตคลับ จำกัด) พบว่ามีบันทึก-มีหมายเหตุในงบการเงินที่บ่งชี้ว่านายกฯทราบตั้งแต่เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ตอนอายุสามสิบกว่าปี ไม่ใช่ตอนที่มีการทำธุรกรรมตอนนายกฯอายุ 11 ขวบ ซึ่งคนที่เป็นกรรมการบริษัท จะเห็นงบดุลงบการเงิน บริษัท ซึ่งแม้ครอบครัวจะซื้อที่ดินดังกล่าว มาก่อนที่นายกฯจะเข้าสู่การเมือง
ผมคิดว่า เมื่อคนเข้ามาสู่การเมืองมาเป็นบุคคลสาธารณะ จะต้องมีความเสียสละประโยชน์ส่วนตน เพราะหากคุณไม่ได้เป็นนักการเมือง อาจไม่มีใครว่าคุณ แต่เมื่อคุณเข้ามาในสภาฯ เข้ามาการเมือง ประโยชน์สาธารณะต้องสำคัญกว่าประโยชน์ส่วนตัว
เมื่อผมเห็นข้อมูลจากที่ติดตามเรื่องที่ดินอัลไพน์ เช่นมีการไปวิ่งเต้นกับวัด(วัดธรรมิการามวรวิหาร) เพื่อเอาที่ดินซึ่งคนที่เกี่ยวข้อง หากไม่ได้เข้าสู่การเมือง ก็อาจเป็นเรื่องธุรกิจ ที่อาจจะถูกหรือไม่ถูก แต่ว่าในแง่ของการเมือง คนที่ทำงานการเมืองต้องมีมาตรฐานทางความประพฤติสูงกว่าคนปกติ กฎหมายอย่างเดียวอาจไม่พอ แต่คนที่ทำงานการเมืองต้องมีสูงกว่านั้น เพราะบางอย่างมันไม่ผิดกฎหมาย แต่มันไม่ถูก อย่างสมมุติ นายกฯผู้ชาย มีภรรยาสามคน มันก็ไม่ถูก
-นายกฯชี้แจงว่า การถือหุ้นของครอบครัวเกิดขึ้นมานานตั้งแต่ตนเองอายุ 11 ขวบ ครอบครัวซื้อที่ดินที่เป็นเอกสารของทางราชการอย่างถูกต้องดำเนินการตามกฎหมาย ฟังขึ้นหรือไม่?
นายกฯลืมชี้แจงไปอย่างหนึ่งว่า แล้วตอนนายกฯอายุสามสิบกว่าปี ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทที่ครอบครองที่ดินดังกล่าว นายกฯรู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินของวัด แล้วทำไม ไม่ทำอะไร ผมไม่เถียงเรื่องการถือหุ้นของครอบครัวตอนอายุ 11 ปี ที่ได้หุ้นมาจากบิดา แต่ผมก็ได้อภิปรายไปแล้วว่า แต่ตอนที่นายกฯเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ นายกฯอายุสามสิบกว่า นายกฯมีการลงนามรับรองหมายเหตุงบการเงิน นายกฯรู้ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่มรดก เป็นที่ธรณีสงฆ์ แล้วทำไม ไม่แก้ไข ให้มันถูกต้อง ถ้าตอนอายุ 11 ขวบ ผมไม่ได้ว่าอะไรตอนนั้น แต่เมื่อรู้แล้วตอนอายุสามสิบกว่า เหมือนอย่างบางกรณีเช่นเคสของคุณปารีณา ไกรคุปต์ อดีตส.ส.ราชบุรี (กรณีน.ส. ปารีณาได้ร่วมกับนายทวี ไกรคุปต์ บิดา เข้ายึดถือ ครอบครอง และทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐโดยมิชอบในพื้นที่หมู่ที่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 711-2-93 ไร่ เมื่อหลายปีก่อนเข้าสู่การเมือง) หรือคุณกนกวรรณ วิลาวัลย์ อดีตรมช.ศึกษาธิการ ทั้งสองกรณี ก็ถือครองที่ดินที่มีปัญหาตั้งนาน ก็ยังโดน(ตัดสินว่ามีความผิดในการครอบครอง)
ภาษี เป็นเรื่องจริยธรรม เรื่องเสียภาษีสำคัญมาก ประชาชนต่างเสียภาษี แม่ค้าก็เสียภาษี แล้วทำไม นายกฯจะไม่เสีย ในต่างประเทศ ใครทำผิดเรื่องภาษี กระเด็นจากตำแหน่งทันทีเลย ต่างประเทศไม่ยอมเด็ดขาดเรื่องภาษี ตามหลักมาตรฐานสากล ความผิดเรื่องหลีกเลี่ยงภาษีรุนแรงมาก
...ทั้งสองกรณี ก็คือ ครอบครองที่ดินโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย อัลไพน์ ก็เป็นที่ดินซึ่งไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้จะมีการออกเป็นโฉนด แต่เป็นโฉนดที่โอนจากวัด ให้กับเอกชนซึ่งทำไม่ได้ เพราะทั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาและศาลอาญาคดีทุจริตฯ (คดีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย) ตัดสินแล้วว่าเป็นการโอนที่มิชอบ ไม่ใช่เอกสารสิทธิ์ เพราะได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็เหมือนกับ คนไปขโมยของมา แล้วเอาของที่ขโมยไปขาย ที่ก็คือ มันผิดตั้งแต่แรก ก็คือ เมื่อสารตั้งต้นมันผิด ที่ภาษากฎหมายคือ ตัวผู้รับโอน ไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน เช่น ผมไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินนี้ แต่ผมเอาไปขายให้คนอื่น คนที่รับซื้อไป ก็ไม่มีสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวเช่นกัน อันนี้คือหลักซื้อขายปกติ ผู้รับโอนไม่มีสิทธิ์ดีกว่าผู้โอน
-ในเรื่องที่ดินอัลไพน์ ส.ส.ของพรรคประชาชน จะมีการยื่นเรื่องให้ตรวจสอบนายกฯในเรื่องประมวลจริยธรรมหรือไม่?
เรื่องการตรวจสอบจริยธรรม ในความคิดของพรรคประชาชน เราคิดว่าจริยธรรมของส.ส.ต้องตัดสินด้วยองค์กรของส.ส. ไม่ใช่คนอื่นมาตัดสินเช่นนักข่าว ฝ่ายที่จะตรวจสอบและตัดสิน ก็ควรเป็นสมาคมนักข่าวฯ หรือทนายความ ก็ต้องให้สภาทนายความตัดสิน ไม่ใช่เอาสถาปนิกมาตัดสินจริยธรรมทนายความ
เพราะฉะนั้นในแง่ของการไปยื่นตรวจสอบจริยธรรม ทางพรรคเราคงไม่ทำ แต่เราก็ไม่รู้ว่าใครจะทำ แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้านพรรคอื่นคือพลังประชารัฐ บอกไว้แล้วว่าจะทำ แต่ถ้าเป็นเรื่องทุจริต เราจะทำ แต่อันนี้มันเหมือนกับการผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเป็นไปตามนั้นคงมีคนไปยื่น ที่ก็สามารถนำเนื้อหาที่ผมอภิปรายไปประกอบการยื่นได้ เพราะมีข้อมูลเรื่องงบดุลบริษัท มีหลักฐาน
"เรื่องนี้ ผิดจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพราะว่า คุณมาทำงานการเมือง ยิ่งมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มันต้องมากกว่าคนธรรมดา เพราะประชาชนก็คาดหวังว่านายกฯ จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีมาตรฐานของการเป็นนักการเมืองที่สูงกว่ากฎหมายปกติ เพราะเรื่องอัลไพน์ สารตั้งต้นมันผิด เรื่องอัลไพน์ หากจะทำให้เบาลง นายกฯก็คืนที่ธรณีสงฆ์ ที่ผิดก็จะเบาลง"
-หากสุดท้าย กรมที่ดินจะมีการจ่ายค่าชดเชย ให้กับครอบครัวนายกฯ ที่มีข่าวว่าร่วมเจ็ดพันล้านบาท มองอย่างไร?
กรมที่ดิน เขาเตรียมไว้แล้วว่าค่าเสียหายประมาณเท่านี้ เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว เร็วหรือไม่ ตัวคุณทักษิณ ชินวัตร ก็พูดแบบนี้ มาแนวทางเดียวกันหมด แล้วจะไม่ให้คนสงสัยได้อย่างไร กรมที่ดินไม่ต้องรีบขนาดนั้นก็ได้ ที่ไปคิดแล้วว่าค่าเสียหายเท่าไหร่ ผู้เสียหายมีสิทธิ์มาร้อง แล้วจะได้ค่าชดเชยเท่าใด ไม่ต้องรีบร้อนขนาดนั้นก็ได้
หากต้องการรักษาผลประโยชน์ประเทศจริง ๆ ถ้ามีผู้เสียหาย ก็ให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาล ให้ศาลพิพากษาตัดสิน โดยหากตัดสินให้กรมที่ดินหรือกระทรวงมหาดไทยจ่ายค่าชดเชย กรมที่ดิน ก็ไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะทำตามคำสั่งศาล แต่ไม่ใช่มาสมยอม แล้วจ่ายเงินชดเลยให้ แบบนี้ไม่ได้ มันไม่สง่างาม ประชาชนจะดูได้ว่ามีการเกี้ยเซียะกัน
-ที่อภิปรายว่าอาจมีการนำเรื่องที่ดินอัลไพน์กับเขากระโดงมาต่อรองทางการเมืองกันคืออย่างไร?
คือเอาจริงๆ แล้วสองเรื่องนี้ ที่ผมอภิปรายคือดูเหมือนอาจไม่ถูกกัน(กระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงคมนาคม) หรือว่าเขาแชร์ผลประโยชน์กัน คือเขากระโดง กระทรวงคมนาคมที่ดูแลโดยเพื่อไทย ก็ทำเฉยๆ ไม่ทำอะไรกับเขากระโดง แต่เรื่องอัลไพน์ ดูแล้วอาจอั้นไว้ต่อไม่ได้ เพราะคุณชาดา ไทยเศรษฐ์ สมัยเป็นรมช.มหาดไทย เซ็นเรื่องไว้ให้มีการเพิกถอน ก็ต้องมีการเพิกถอน วิธีการหนึ่งก็คือ ก็จ่ายค่าเสียหายให้บริษัทอัลไพน์ไป คือมันมองได้ว่าอาจมีการต่อรองกันหรือเอามาประสานผลประโยชน์กัน คือ บอกว่าไม่แตะเรื่องเขากระโดง ดังนั้นเรื่องอัลไพน์ หากผมมีความเสียหาย คุณก็ต้องสั่งให้มีการชดเชยให้ผม
-เรื่องอัลไพน์ เคยมีเคสที่ทำให้นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตปลัดมหาดไทย ติดคุกมาแล้ว คิดว่าเรื่องอัลไพน์ หากกรมที่ดินทำแบบไม่ตรงไปตรงมาจะซ้ำรอยหรือไม่?
ใช่ ก็ฝากเตือนกรมที่ดินด้วยว่าหากจ่ายค่าชดเชยไปโดยไม่มีเหตุผล หรือไม่มีหลักฐานทางกฎหมาย เพราะคำว่าความเสียหาย มันพิสูจน์ยาก เพราะมันเป็นเรื่องมูลค่าของที่ดิน อาจมีข้อถกเถียงกันได้ ผมแนะนำกรมที่ดินว่าถ้าใครจะร้องหรือฟ้องอะไร ให้ไปฟ้องศาล รอให้ศาลตัดสิน แบบนี้คือความปลอดภัยของกรมที่ดินมากที่สุด หากมีคำตัดสินออกมา ก็เสนอเรื่องให้ครม.พิจารณาตั้งงบประมาณไปจ่ายชดเชย อย่าไปเที่ยวตกลงอะไร
อย่างไรก็ตาม ที่ดินเขากระโดงต้องกลับมาเป็นที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ส่วนว่าได้คืนกลับมาแล้ว การรถไฟแห่งประเทศไทย จะเอาที่ดินไปให้เช่า ก็อีกเรื่องหนึ่ง เช่นกันกับกรณีอัลไพน์ ก็เอากลับมาทำให้ถูกต้องก่อน แล้ววัดจะเอาที่ดินไปให้เช่าก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ไม่ควรมาเรียกค่าเสียหายกับราชการ ควรไปเรียกค่าเสียหายกับคนที่ขายที่ดินขายหุ้นให้"
-แม้นายกฯจะได้เสียงโหวตไว้วางใจไปแล้ว แต่จากที่ถูกอภิปรายหลายเรื่อง คิดว่าความสง่างามของนายกฯ เป็นอย่างไร?
สำหรับผม คิดว่านายกฯชี้แจงประเด็นที่ฝ่ายค้านอภิปรายไม่เคลียร์ แต่หลังจากนี้ คิดว่าฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลก็คงเกาะกันไปแบบนี้จนถึงที่สุด ไปจนถึงการเลือกตั้งรอบหน้า แต่ผมคาดการณ์ว่า คงจะมีคนไปร้ององค์กรต่างๆเช่น ศาลรัฐธรรมนูญ -ป.ป.ช. เพราะประเด็นที่อภิปรายเช่นเรื่อง ตั๋ว P/N เรื่องของภาษี มันมีอยู่ ที่เป็นคดีอาญา มันคนละเรื่องกับเรื่องที่ดิน ซึ่งที่ดินเป็นเรื่องจริยธรรม ที่มันอาจเกิดอุบัติเหตุการเมืองได้ ซึ่งผมมองว่า ปลายปีนี้หรือกลางปีหน้า อาจจะมีอุบัติเหตุทางการเมืองได้ โดยหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแบบกรณีของอดีตนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน จะทำให้นายกฯแพทองธาร ชินวัตร จะเข้าสู่การเมืองอีกไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติ
จากอดีตปธ.ธนาคารต่างประเทศ สู่เส้นทางการเมือง ก้าวไกล-ประชาชน
อ่านความเห็น-ทัศนะของ"จุลพงศ์"ข้างต้นทั้งเรื่องตั๋วP/N ของนายกฯและเรื่องที่ดินอัลไพน์ไปแล้ว แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า "เส้นทางการเมือง"ของ จุลพงศ์ ก่อนจะมาเป็นส.ส.ในสภาฯ สังกัดพรรคก้าวไกลและพรรคประชาชนอย่างในปัจจุบัน มีเส้นทางการเมืองอย่างไร ซึ่ง"จุลพงศ์"เล่าเรื่องนี้ให้ฟังโดยสังเขปว่า
... ช่วงก่อนการเลือกตั้งปี 2566 ผมทำงานเป็นกรรมการธนาคารพาณิชย์ระหว่างประเทศแห่งหนึ่งที่มีสำนักงานใหญ่ที่มาเลเซียและสิงคโปร์ และเป็นกรรมการบริษัทประกันภัย สัญชาติสหรัฐอเมริกาแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำงานในส่วนดังกล่าวประมาณสิบปี พอช่วงปลายปี 2565 ก็ครบเทอมการทำงานในส่วนดังกล่าว เลยเริ่มเข้ามาสู่การเมืองกับพรรคก้าวไกล แต่ว่าก่อนที่จะเข้าสู่การเมืองกับพรรคก้าวไกลในการเลือกตั้งปี 2566 จริงๆ ตอนก่อนช่วงเลือกตั้งปี 2562 ผมเคยไปร่วมกิจกรรมการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ช่วงก่อตั้งพรรค ก็ได้เจอกับคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ เขาก็ถามว่า หากจะส่งลงสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ สนใจหรือไม่ แต่ก็ได้ปฏิเสธไป เพราะตอนนั้นยังทำงานกับธนาคารต่างประเทศอยู่
..พอเริ่มจะเข้าสู่การเลือกตั้งปี 2566 ซึ่งช่วงปี 2565 พรรคการเมืองต่างๆ เริ่มเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้ง ทาง คุณศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล โทรศัพท์ติดต่อมาว่าสนใจลงสมัครส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งตัวผมเอง เป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้วตั้งแต่เรียนหนังสือ อย่างสมัยเรียนปริญญาตรีที่จุฬาฯ ก็เคยทำกิจกรรมกับสโมสรนิสิตนักศึกษาฯ เลยตอบรับไป
ช่วงการเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกล ให้ผมอยู่ในรายชื่อผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 36 ซึ่งตอนนั้นคิดว่า ลำดับส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภาฯ คงไม่ถึงชื่อผม แต่แม้จะคิดว่าอาจไม่ได้เป็นส.ส. แต่ก็ต้องการช่วยพรรคหาเสียงเต็มที่ และเป็นประสบการณ์ที่ดี โดยตอนเลือกตั้ง ผมไปช่วยพรรคก้าวไกลหาเสียงอย่างเต็มที่ในกรุงเทพฯ ไปขึ้นรถหาเสียงของพรรค ไปช่วยในงานปราศรัยต่างๆ ทำให้ได้ประสบการณ์ ได้รู้จักคน ได้เห็นวิธีการทำงานของพรรคการเมือง
แต่ผลเลือกตั้งออกมา ปรากฏว่าพรรคก้าวไกลได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หลายคน รวมถึงผมด้วยก็ได้เข้ามาทำหน้าที่ส.ส.ในสภาฯ ทางพรรคก้าวไกล ให้ผมเข้าไปเป็นกรรมาธิการสามัญของสภาฯสองคณะคือคณะกรรมาธิการต่างประเทศ กับคณะกรรมาธิการพาณิชย์ ฯ รวมถึงเข้าไปเป็นกมธ.วิสามัญชุดต่างๆ เช่น คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์). สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงการได้อภิปรายในสภาฯในเรื่องสำคัญหลายครั้งเช่นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 สมัยรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน รวมถึงอภิปรายกฎหมายสำคัญหลายฉบับที่เข้าสภาฯเช่นร่างพรบ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 เป็นต้น
ความตั้งใจในการทำงานการเมืองของผมคือต้องการนำประสบการณ์ต่างๆ ของผมไปสนับสนุนคนรุ่นใหม่ คนรุ่นหลังๆ อายุสัก 30-40 ปี เพราะในความคิดเห็นของผม ประเทศไทยควรมีนายกฯอายุสักประมาณสี่สิบต้นๆ เพื่อจะได้ไปแข่งขันต่อสู้กับต่างประเทศได้ แล้วผู้ใหญ่คนมีประสบการณ์ก็คอยสนับสนุน
-เหตุใดถึงสนใจเข้ามาทำงานการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ จนมาลงสมัครส.ส.กับพรรคก้าวไกล?
ผมคิดว่า ประเทศไทย จะเป็นแบบเดิมๆ ที่ผ่านมาไม่ได้ ผมเห็นว่าต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างประเทศในหลายด้านเช่น การปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปเรื่องกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น เพราะโครงสร้างเหล่านี้ เป็นรากฐานสำคัญของหลายเรื่องในประเทศไทย อย่างหากปล่อยให้มีการทุจริตคอรัปชั่นต่อไป ต่อให้มีการปฏิรูปวางระบบการศึกษาของประเทศไทยดีอย่างไร มีโครงการพัฒนาประเทศระดับหมื่นล้าน-แสนล้านบาท แต่หากยังมีการทุจริตคอรัปชั่น มันก็จะเป็นสนิมที่คอยเซาะกร่อนประเทศไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นเราต้องวางรากฐานโครงสร้างเรื่องต่างๆให้ดี เพราะหากรากฐานประเทศมันไม่ดี โดยเฉพาะ"การศึกษา"ก็จะทำให้ไม่สามารถผลักดันประเทศไทยได้
ผมเห็นว่า พรรคการเมืองเดิมๆ มันไม่สามารถจะเปลี่ยนประเทศไทยในลักษณะที่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงได้ แม้บางคนอาจจะเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงควรต้องค่อยๆ ทำไป แต่สำหรับผมเห็นว่า ประเทศไทยต้องเปลี่ยนแปลงเรื่องระบบกฎหมาย ปฏิรูปเชิงโครงสร้างเช่น ปฏิรูปตำรวจ ได้แล้ว ถึงจะผลักดันให้ประเทศไทยต่อสู้กับประเทศอื่นได้
สำหรับคนรุ่นผม ต้องการต่อสู้ต้องการทำเพื่อคนรุ่นลูกรุ่นหลาน ยังเชื่อว่าคนไทยเก่ง ผมเห็นข้าราชการรุ่นใหม่ๆ มีความรู้ความสามารถ เพียงแต่หากระบบยังเป็นแบบนี้ เขาก็จะขาดการสนับสนุนในการเติบโตและการทำงานโดยใช้ความคิดของพวกเขาเอง เพราะระบบเราปลูกฝังมาไม่ให้มีความคิดอ่านใหม่ๆ มันเลยทำให้ผมสนใจการเมือง เพราะตอนนี้ถือว่ามีความพร้อม ลูกๆ โตเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว เลยอยากทำงานเพื่อสนับสนุนคนรุ่นหลังๆ โดยไม่ต้องมีตำแหน่งอะไรก็ได้ เช่นสนับสนุนให้เขาชนะการเลือกตั้ง สนับสนุนให้เขาได้ทำงานเพื่อประเทศ เพราะหากจะให้ผมไปเดินเข้าพรรคการเมืองบางพรรคในสภาฯเวลานี้ ซึ่งไม่ใช่ว่าเขาไม่ดี แต่ผมไม่เชื่อว่า พรรคเหล่านั้นจะทำอะไรให้กับประเทศไทยได้ คือพรรคเหล่านั้น เขาอาจบอกว่า มันต้องค่อยๆ เปลี่ยน แต่ผมถามกลับว่า แล้วจะต้องรอกี่ปีที่บอกว่าค่อยๆเปลี่ยน เพราะประชาธิปไตยประเทศไทยก็เกือบจะร้อยปีแล้ว แต่ก็ไม่ใช่หมายถึงว่าให้เปลี่ยนภายในค่ำคืน แต่มันต้องมีคนกล้าลงมือทำ ต้องกล้าประกาศนโยบายตั้งแต่เลือกตั้งให้ประชาชนเห็นเลยว่า พรรคมีนโยบายแบบนี้ เช่นปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปการปราบคอรัปชั่น
...สิ่งเหล่านี้ ต้องมีคนที่เอาจริง ต้องมี political view ไม่เช่นนั้น ไม่มีทางสำเร็จ อย่างเรื่องปฏิรูประบบราชการ เราก็ได้มีการไปคุยกับคนในหน่วยราชการสำคัญๆ -นักวิชาการ ทุกคนบอกเหมือนกันหมดว่าต้องมีความมุ่งมั่นทางการเมือง ต้องกล้าที่จะทำ ไม่เช่นนั้น ไม่มีทางสำเร็จ
"จุลพงษ์"กล่าวว่าการเมืองไทย ตั้งแต่หลังปี 2566 ประเทศไทยเสียโอกาสดีๆ ไปมาก เช่นเสียโอกาสในเรื่องการขับเคลื่อนประชาธิปไตย -เสียโอกาสในเรื่องการปรับโครงสร้างของประเทศ ซึ่งหากตอนนั้น(หลังการเลือกตั้ง) พรรคเพื่อไทยร่วมกับพรรคก้าวไกล เราน่าจะผลักดันประเทศไทยให้ไปได้ไกลกว่านี้ แต่ก็ไปติดเงื่อนไขบางประการที่อ้างกันเช่นเรื่องมาตรา 112 แต่การเลือกตั้งครั้งหน้า เช่นหากเลือกตั้งหลังสภาฯครบวาระในปี 2570 เรื่องแก้ 112 ทางพรรคเราเองก็คงเบาไปแล้ว จะไปเน้นเรื่องต่างๆเช่นปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปตำรวจ เชื่อว่า ประชาชนจะเข้าใจพรรคเรามากขึ้น
โดยวรพล กิตติรัตวรางกูร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปชน. ส่ง 'ณัฐกิตต์' ชิงเลือกตั้งซ่อมนครศรีฯ คาใจเคาะวันเลือกตั้งกระชั้นชิด
นายศรายุทธิ์ ใจหลัก เลขาธิการพรรคประชาชน กล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อมนครศรีธรรมราช เขต 8 แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 2-6 เมษายน และกำหนดวันเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2568 ว่า พรรคประชาชนจะส่ง
'พรรคพร้อม' เคาะ 'ว่าที่พันตรีกวี ไกรทอง' สู้ศึกเลือกตั้งซ่อมสส. เขต 8 เมืองคอน
กก.บห.พรรคพร้อม เคาะ “ว่าที่พันตรีกวี ไกรทอง" ลงสู้ศึกเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 8 จังหวัดนครศรีธรรมราช "แม่เลี้ยงส้ม-หัวหน้าพรรค" ขอโอกาศชาวเมืองคอน เลือกลูกหลานเข้าสภาฯรับใช้พี่น้อง
เสือปืนไว! ปชน. ชิงตั้งคณะทำงานสางปมแผ่นดินไหว จัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
พรรคประชาชน ตั้ง 6 ทีมภารกิจย่อยติดตาม-ตรวจสอบเหตุแผ่นดินไหว สร้างความเชื่อมั่นผู้ประสบภัย 'เท้ง' มองรัฐบาลเปิดให้ตรวจสอบเหตุอาคาร สตง. ถล่ม เป็นก้าวแรกที่ดี
LIVE เหล็กตกเกรด!! | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2568
ปชน. หวังรัฐบาลให้อภิปรายเรื่องแผ่นดินไหว ข้องใจเร่งผลักดันกม.กาสิโนเข้าสภาฯ
นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการที่รัฐบาลเตรียมดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment Complex เข้าสู่สภา