บทเรียนจากญี่ปุ่นในการรับมือสังคมสูงวัยสำหรับประเทศไทย

ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่าในปี 2035 ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็น 28% ของประชากรทั้งหมด สถานการณ์นี้คล้ายคลึงกับประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ทศวรรษ 1970 และปัจจุบันมีสัดส่วนผู้สูงอายุมากกว่า 28% ของประชากรทั้งหมด (World Bank, 2021) อย่างไรก็ดี ประเทศญี่ปุ่นได้พัฒนากลยุทธ์และนโยบายหลายด้านเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้

ทั้งนี้หากประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางประชากรที่กำลังเกิดขึ้นก็จะส่งผลให้ประเทศไทยมีเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างสมดุลภายใต้สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ

ผลกระทบของสังคมสูงวัยต่อเศรษฐกิจ

ประสบการณ์การเข้าสู่สังคมสูงวัยของญี่ปุ่นทำให้เห็นผลกระทบในแต่ละด้านอย่างชัดเจน และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยแล้วจะพบว่าแนวโน้มของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมี 3 ประการที่สำคัญ ประการแรก คือ การลดลงของประชากรวัยทำงาน ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับการลดลงของประชากรวัยทำงานตั้งแต่ปี 1990 โดยคาดว่าจะลดลงอีก 20% ภายในปี 2040 (Japan Ministry of Health, Labour and Welfare, 2020) สำหรับประเทศไทย ในปี 2021 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 13 ล้านคน หรือ 20% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าในปี 2035 จะเพิ่มเป็น 28% (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2021) การขาดแคลนแรงงานส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและเครื่องจักรมากขึ้น อาจเกิดภาวะที่แรงงานไร้ทักษะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีในที่สุด ประการที่สอง ภาระด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น ประเทศญี่ปุ่นใช้งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมสูงถึง 24% ของ GDP ในปี 2020 (OECD, 2020) ขณะที่ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมเพียง 5% ของ GDP ในปี 2020 แต่คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ของ GDP ในปี 2020 เป็น 4% ของ GDP ในปี 2035 (World Bank, 2021)

หากไม่มีการปฏิรูประบบสวัสดิการ ไทยอาจเผชิญกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณและหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้น และประการที่สาม การบริโภคที่ชะลอตัว ในปี 2020 การบริโภคภายในประเทศของญี่ปุ่นเติบโตเพียง 0.5% เทียบกับช่วงก่อนปี 2000 ที่เติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี (IMF, 2021) สำหรับประเทศไทย การบริโภคภายในประเทศของไทยในปี 2020 เติบโตเพียง 1.2% และคาดว่าจะชะลอตัวลงเรื่อย ๆ เมื่อสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2021) การชะลอตัวของการบริโภคอาจส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกและบริการต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น การพัฒนาสินค้าและบริการเฉพาะกลุ่ม

แนวทางการพัฒนาของญี่ปุ่นกับความท้าทายของไทยที่ต้องเผชิญ

 จากผลกระทบดังที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ประเทศญี่ปุ่นได้กำหนดแนวทางการพัฒนาทั้งด้านผลิตภาพแรงงาน สวัสดิการและการอยู่ร่วมกันทางสังคมที่สอดคล้องกับโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังจะเผชิญกับความท้าทายแทบจะทุกด้านที่จะเป็นโจทย์ให้ทุกภาคส่วนควรร่วมกันแก้ไข เริ่มจาก การเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ประเทศญี่ปุ่นเป็นผู้นำในการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยในปี 2020 มีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมมากกว่า 300,000 ตัว (International Federation of Robotics, 2020) สำหรับ ประเทศไทยมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมประมาณ 3,000 ตัว ในปีเดียวกันซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค (IFR, 2020) การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ ในปี 2020 ผู้สูงอายุญี่ปุ่นอายุ 65-69 ปี ยังทำงานอยู่ถึง 50% (Japan Ministry of Health, Labour and Welfare, 2020) ส่วนประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่ยังทำงานแม้จะไม่ทัดเทียมกับประเทศญี่ปุ่นแต่ค่อนข้างสูงหรือประมาณ 30% ของผู้สูงอายุทั้งหมด การปฏิรูประบบสวัสดิการสังคม ประเทศญี่ปุ่นใช้งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมสูงถึง 24% ของ GDP ในปี 2020 (OECD, 2020) ขณะที่ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมเพียง 5% ของ GDP ในปี 2020 การพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ มูลค่าตลาดดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นสูงถึง 1.5 ล้านล้านเยน (ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2020 (Japan Aging Society Research Institute, 2020) สำหรับประเทศไทย ตลาดดูแลผู้สูงอายุในไทยมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาทในปี 2020 และคาดว่าจะเติบโตเป็น 50,000 ล้านบาทในปี 2030 (สำนักงานพัฒนาธุรกิจบริการ, 2021) ซึ่งยังถือว่ามีสัดส่วนค่อนข้างต่ำมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ

 ทางออกของประเทศไทยเพื่อรองรับสังคมสูงวัย

ประสบการณ์ของญี่ปุ่นในการรับมือกับสังคมสูงวัยแสดงให้เห็นว่า แม้สังคมสูงวัยจะสร้างความท้าทาย แต่ก็สามารถเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ได้ หากมีการวางแผนที่ดีและใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ กรณีประเทศไทย การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยเป็นความท้าทายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็เป็นโอกาสในการปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยเร่งดำเนินการถอดประสบการณ์ของญี่ปุ่นที่ได้พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ เช่น การเพิ่มผลิตภาพแรงงานผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงอายุ การพัฒนาอุตสาหกรรมสุขภาพและการดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ประเทศไทยควรปฏิรูประบบสวัสดิการสังคมให้มีความยั่งยืน โดยอาจเพิ่มอายุเกษียณหรือส่งเสริมการออมระยะยาว เพื่อรองรับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ไทยต้องเร่งดำเนินการ จะเห็นได้จากญี่ปุ่นได้ลงทุนในระบบขนส่งสาธารณะที่เข้าถึงได้ง่ายและปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ เช่น รถไฟและรถโดยสารที่ปรับสภาพเพื่อรองรับผู้สูงอายุและผู้พิการ (Japan Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism, 2020) สำหรับไทย การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับผู้สูงอายุ เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและลดภาระของครอบครัว การสร้างจิตสำนึกและวัฒนธรรมการเตรียมตัวสำหรับวัยชรา ก็เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ไทยควรนำมาใช้ จะเห็นได้จากประเทศญี่ปุ่นเริ่มส่งเสริมให้ประชาชนเตรียมตัวสำหรับวัยชรา ทั้งด้านการออมและการดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ (Japan Ministry of Health, Labour and Welfare, 2020) สำหรับประเทศไทย การรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออมและการดูแลสุขภาพจะช่วยลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมของประเทศในอนาคต การเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการ เนื่องจากประเทศไทยมีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมยังน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค การเพิ่มจำนวนหุ่นยนต์จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดการพึ่งพาแรงงานมนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในยุคสังคมสูงวัย

กล่าวโดยสรุป ญี่ปุ่นถือได้ว่าเป็นประเทศแบบอย่างที่ดีในการรับมือสังคมสูงวัยสำหรับประเทศไทย โดยเร่งผลิตภาพด้านแรงงาน ส่งเสริมเทคโนโลยี และพัฒนาสินค้าหรือบริการสำหรับผู้สูงอายุ ปฏิรูปสวัสดิการสังคม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มการใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันควรสนับสนุนสภาพแวดล้อมให้สอดคล้องกันโครงสร้างประชาชนที่กำลังเปลี่ยนไป เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุด้วยเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่สมดุลสามารถรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เหมาะสม ลดภาระงบประมาณด้านสวัสดิการสังคม และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพในยุคสังคมสูงวัยต่อไป.

บทความ คอลัมน์ พิจารณ์นโยบายสาธารณะ

ปราณีต โชติกรีติเวช
นภัทร พัฒนปรีชา
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แผ่นดินไหวญี่ปุ่นเขาทำกันอย่างไร หากเกิดใกล้กรุงเทพ เราจะรับมือไหวหรือ?

อดีตนายกวิศวกรรมฯ แชร์โพสต์เก่าเมื่อ 2 มกราคม 2567 หลังแผ่นดินไหวใหญ่ที่อิชิกาวะ พร้อมเผยวิธีการรับมือของญี่ปุ่น และตั้งคำถามหากเกิดใกล้กรุงเทพฯ เราจะรับมือไหวหรือ?

รัฐบาลโวไทยคว้ารางวัลจุดหมายปลายทางยอดเยี่ยมกลุ่ม LGBTQ 

นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ประเทศไทยสร้างชื่อเสียงระดับโลกอย่างต่อเนื่อง ด้วยการได้รับรางวัล “Best LGBTQ Destination” จากผลโหวตของผู้อ่าน Spartacus Magazine นิตยสารท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ชื่อดังของเยอรมนีสำหรับกลุ่ม LGBTQ+  

'วราวุธ' สรุปผล ร่วมประชุม กมธ.ว่าด้วยสถานภาพสตรี ที่ UN แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หลายประเทศชื่นชม พม.-ขอนำตัวอย่างไปขยายผล

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยถึงผลการนำคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยสถานภาพสตรีสมัยที่ 69 (Commission on the Status of Women) หรือการประชุม CSW 69 ซึ่งปี 2568 เป็นวาระครบรอบ 30 ปี ปฏิญญาปักกิ่ง ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ (UN) นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

ดร.เสรี วิจารณ์ 'แพทองธาร' แต่งตัวตามแฟชั่นขาดรสนิยม แนะลด 'อีโก้' พัฒนาทักษะ

ดร.เสรี วงษ์มณฑา วิจารณ์การแต่งกายของนายกฯแพทองธาร โดยมองว่าแต่งตามสมัยนิยมไม่เหมาะสมกับรูปร่างตัวเอง และเสี่ยงที่จะดูแย่ แนะนำลดอีโก้และพัฒนารสนิยมเพื่อให้ประเทศดูดีขึ้น