ธรรมาภิบาลของปัญญาประดิษฐ์ (AI Good Governance)



ปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจเป็นหนึ่งในการปฏิวัติทางเทคโนโลยีที่ยิ่งใหญ่ที่สุด คำถามสำคัญ คือ มนุษย์จะปรับตัวอย่างไร กับอนาคตตรงหน้าที่เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ที่เกือบไร้ขีดจำกัด พร้อมกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง บทความนี้รวบรวมเนื้อหาในเรื่องดังกล่าวจากหนังสือที่ได้รับความนิยม 2 เล่ม เล่มแรกชื่อ GENESIS: AI, Hope, and The Human Spirit ผู้แต่ง คือ Henry A. Kissinger, Craig Mundie และ Eric Schmidt และเล่มที่สอง คือ SUPREMACY: AI, ChatGPT and the race that will change the world ผู้แต่ง คือ Parmy Olson นักข่าวสายเทคโนโลยีของ Bloomberg เป็นหนังสือที่ได้รับรางวัล Best Business Books ของหนังสือพิมพ์ Financial Times ประจำปี 2024

GENESIS เพิ่งวางจำหน่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2024 เป็นการสำรวจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง AI กับความรู้ อำนาจ และการเมือง โดยกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับความเสี่ยง และศักยภาพที่ AI มีต่อมนุษยชาติ บทบาทของมนุษย์จะเป็นอย่างไรในยุคแห่งปัญญาประดิษฐ์ การสำรวจเกี่ยวกับวิธีที่เราจะปกป้องศักดิ์ศรีและค่านิยมของมนุษย์ในยุคของเครื่องจักรอัตโนมัติ
Craig Mundie เคยเป็นผู้ประสานงานด้านเทคโนโลยีของ Microsoft กับรัฐบาลสหรัฐฯ และหลายประเทศ เป็นผู้ดูแลMicrosoft Research และให้คำปรึกษากับ OpenAI Eric Schmidt ผู้ร่วมก่อตั้งและอดีต CEO ของ Google และอดีตประธานกรรมการบริหารของAlphabet Inc (บริษัทแม่ของ Google และธุรกิจอื่นๆ ในเครือ) 

Henry A. Kissinger ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2023 หนึ่งปีก่อนหนังสือเล่มนี้วางตลาด บทความของคิสซิงเจอร์  “How the Enlightenment Ends” ตีพิมพ์ในนิตยสาร the Atlantic เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 สร้างความประหลาดใจแก่ผู้คนว่า รัฐบุรุษอาวุโสที่ขณะนั้นมีอายุถึง 95 ปี เป็นผู้ให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับ AI โดยในช่วงเวลาดังกล่าว AI ยังไม่ได้เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างแพร่หลาย และเป็นเวลาล่วงหน้าหลายปีก่อนที่ ChatGPT จะถูกปล่อยออกมาในช่วงปลายปี 2022 

หนังสือเล่มนี้ เป็นผลงานเล่มที่ 22 ของคิสซิงเจอร์ ที่ใช้เวลาทำงานในช่วงสุดท้าย จากการพบปะกับผู้แต่งร่วมทั้ง 2 คน เขายืนยันในช่วงเวลาไม่นานก่อนเสียชีวิตถึงความสำคัญของเรื่องนี้และมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่ต้องเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปให้สาธารณชนได้รับรู้ ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือเล่มนี้

หนังสือสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และ AI ในแง่มุมต่างๆ โดยตั้งคำถามสำคัญเกี่ยวกับอนาคตของมนุษยชาติและบทบาทของ AI ในการเปลี่ยนแปลงโลก โดยมุ่งเน้นไปที่ความท้าทาย และผลกระทบต่อจริยธรรม วิทยาศาสตร์ และ สังคม จากการพัฒนา AI มนุษย์ต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับความเร็วและความซับซ้อนของ AI โดยไม่สูญเสียคุณค่าความเป็นมนุษย์ เช่น ศักดิ์ศรี เสรีภาพ และจริยธรรม ซึ่งหนังสือได้กล่าวว่า การใช้ AI ควรคำนึงถึงการรักษาความสมดุลระหว่างการใช้ประโยชน์จากAI ในการพัฒนาสังคมและการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งรวมถึงการตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่อาจไม่สามารถควบคุมได้ หรือขาดความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ของมัน การตั้งคำถามเกี่ยวกับจริยธรรม และการสร้างกรอบการควบคุมเพื่อปกป้องคุณค่าทางมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่ไปกับการพัฒนา AI

หนังสือเน้นหลักการสำคัญ คือ การใช้ AI ในแบบที่สามารถเสริมสร้างและสนับสนุนมนุษย์โดยไม่ทำให้คุณค่าของมนุษย์ตกต่ำลง หรือทำให้เรากลายเป็นแค่ผู้ตามเทคโนโลยี แทนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจและผู้สร้างสรรค์ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อให้มั่นใจว่า AI จะกลายเป็นเครื่องมือที่ช่วยเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าของมนุษย์ แทนที่จะหลายเป็นภัยคุกคามต่ออนาคตของเราเอง

ในตอนท้ายของหนังสือผู้เขียนได้ทิ้งคำถามถามไว้ว่า ใครจะเป็นผู้ตัดสิน ในการหาจุดสมดุลระหว่างการใช้ AI เพื่อการตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ กับการรักษาความสามารถในการตัดสินใจที่สะท้อนถึงคุณค่าทางจริยธรรมและการควบคุมของมนุษย์ ที่เป็นเรื่องระหว่างผลประโยชน์ กับศีลธรรม จริยธรรมของมนุษย์ ใครเป็นผู้ตัดสินใจ ใครเป็นผู้จัดสรรทรัพยากร ใครเป็นผู้ประนีประนอมเมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้น   

หนังสือไม่ได้ให้ข้อมูลเชิงเทคนิค และหลายเรื่องเป็นที่รับรู้มาแล้ว แต่มีประโยชน์ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้อ่านตั้งคำถามและพิจารณาอนาคตของ AI อย่างรอบด้าน เป็นการสำรวจความลึกซังของผลกระทบจาก AI ที่หลายคนอาจยังไม่เคยพิจารณา
หนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เล่าถึงสถานการณ์การแข่งขันในการพัฒนา AI ซึ่งมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสี่ยงในการใช้ AI ในปัจจุบัน คือ หนังสือ SUPREMACY ที่ได้รับรางวัล Best Business Books ประจำปี 2024

ธีมหลักของหนังสือ คือ เรื่องการแข่งขันกันในการพัฒนา AGI* ระหว่าง Sam Altman ผู้ก่อตั้งบริษัท OpenAI และ Demis Hassabis ผู้ก่อตั้ง DeepMind ว่าใครจะสามารถพัฒนา AGI ขึ้นได้ก่อน ทั้ง 2 คนมีเจตนาดีในการพัฒนา AGI เพื่อประโยชน์ของมวลมนุษยชาติ 
[*AGI หรือ Artificial General Intelligence คือ รูปแบบของปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาในระดับเดียวกับมนุษย์อย่างแท้จริง ซึ่งแตกต่างจาก AI ทั่วไปที่มักถูกออกแบบมาเพื่อทำงานเฉพาะทาง เช่น การแปลภาษา หรือการวิเคราะห์ข้อมูล ปัจจุบันยังพัฒนาไม่ถึงขั้นนี้]

อย่างไรก็ดี การทดสอบโมเดลเพื่อพัฒนา AGI จำเป็นต้องใช้เงินทุนมหาศาลเพื่อเป็นค่าจ้างวิศวกร และใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่มหึมาในการประมวลผลทดสอบโมเดล  และใช้ข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งทรัพยากรเหล่านี้อยู่ในมือของคนไม่กี่คน ซึ่งก็ คือ  Big Tech ได้แก่ Microsoft, Google, Meta และ Amazon ที่มีเป้าหมายชัดเจน คือการสร้างผลกำไร และการขยายตัวของบริษัท ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของทั้ง Altman และ Hassabis แต่ในที่สุดทั้ง 2 ก็ไม่มีทางเลือก โดย Altman ได้ร่วมมือกับ Microsoft และ Hassabis ร่วมงานกับ Google ในการพึ่งพาทรัพยากรในการพัฒนา AGI การแข่งขันจึงไม่เพียงแต่ OpenAI กับ DeepMind แต่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่าง Microsoft และ Google ในสงคราม AI ระดับโลก

ทั้งสองบริษัทแข่งขันกันในแง่ของการสร้าง AI ที่ทรงพลัง เช่น OpenAI ที่ปล่อย ChatGPT ซึ่งเป็นโมเดลที่เข้าถึงได้ง่ายสำหรับคนทั่วไปโดยมีเป้าหมายระยะยาวที่จะสร้าง AI ที่ทำงานได้เหมือนมนุษย์ และพัฒนารูปแบบที่ช่วยแก้ปัญหาระดับโลก  ในขณะที่ DeepMind มุ่งเน้นไปที่การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน เช่น AlphaFold ที่ใช้ทำนายโครงสร้างโปรตีน โดยตั้งใจที่จะใช้ AI เพื่อขยายขอบเขตความรู้ในวิทยาศาสตร์ (Hassabis ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมี ในปี 2024)

การแข่งขันระหว่าง OpenAI และ DeepMind ได้สร้างบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความระมัดระวัง และความลับทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการพัฒนาและปล่อย AI Models ที่ล้ำสมัยออกสู่สาธารณะ ซึ่งทั้งสององค์กรได้เลือกที่จะไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับโมเดล AI ของตนในระดับที่เคยทำมาก่อน  นี่เป็นผลมาจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม AI 

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการไม่เปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวกับการออกแบบ การทดสอบ หรือกระบวนการพัฒนา ทำให้การตรวจสอบและวิจารณ์เกี่ยวกับความปลอดภัย จริยธรรม และอคติของ AI เป็นไปได้ยากขึ้น ตลอดจนการนำโมเดลไปใช้ต่อ ก็จะไม่ปลอดภัย หรือใช้ในทางที่ผิด

หนังสือยังได้สำรวจประเด็นทางสังคม เศรษฐกิจ และจริยธรรมที่เกิดจากการพัฒนา AI สร้างความเข้าใจเชิงลึกเกี่ยวกับการแข่งขันในโลก AI ซึ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ผลกระทบทางสังคมจากความไม่เท่าเทียมกันจากการเข้าถึง AI หนังสือช่วยสร้างภาพอนาคตของ AI และศักยภาพของมันในการเปลี่ยนแปลงโลก

หนังสือได้ทิ้งท้ายว่า การพัฒนา AI ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากนี้ไป เป็นการตัดสินใจของคนเพียงหยิบมือเดียว มีคำถามว่าเราจะสามารถวางใจ Altman, Hassabis, Microsoft ในการสร้างอนาคต AI ได้หรือไม่ ซึ่งหนังสือสรุปว่า เราแทบไม่มีทางเลือก Altman และ Hassabis ได้พานวัตกรรมของพวกเขาไปผูกติดกับ 2 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลกเพื่อความอยู่รอด ต้องรอดูว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนี้จะมีต้นทุนเป็นอย่างไร

สำหรับประเทศไทยที่ไม่ใช่เป็นผู้พัฒนา AI Model ใหม่ๆ แต่เป็นผู้ใช้งาน AI ที่ต่อยอดมาจากต่างประเทศ การสร้าง AI Governance ในประเทศไทยจึงควรเน้นการสร้างกรอบกำกับดูแลที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นที่การส่งเสริมการใช้งานอย่างรับผิดชอบ และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น การจัดตั้งองค์กรระดับชาติที่ดูแลเกี่ยวกับ AI โดยเฉพาะ เพื่อติดตามการพัฒนา AI ในภาคส่วนต่างๆ และประเมินผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจ กำกับดูแลจริยธรรมในการใช้ AI และตรวจสอบความโปร่งใสของระบบ AI กำหนดมาตรการป้องกันการใช้ AI ในทางที่ผิด  การส่งเสริมการศึกษาและการรู้เท่าทัน AI การส่งเสริมมาตรฐานและแนวปฏิบัติที่ดี

เป้าหมายหลัก คือ ทำให้ AI เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมความก้าวหน้าโดยที่ไม่สร้างความเสี่ยงเกินควบคุมต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง ประเทศไทยไม่ได้สร้าง AI เองในระดับใหญ่ แต่สามารถบริหารจัดการ AI ที่นำเข้ามาใช้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และลดผลกระทบเชิงลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วิจักษณ์ ศิริแสร์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘มานะ’ ชี้คอร์รัปชันเลวร้ายลงทุกวัน เหตุมี ‘ผู้นำ ‘ ที่ธรรมาภิบาลบกพร่องอยู่มาก

คอร์รัปชันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2568 เพราะไม่มีปัจจัยที่จะดึงให้คอร์รัปชันน้อยลงเลย นอกจากความตื่นตัวภาคประชาชนและภาคเอกชน

ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ-มองต่างมุม

เมื่อต้นปี 2567 มีหนังสือตีพิมพ์ใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ The Trading Game: A Confession ผู้เขียน คือ Gary Stevenson ได้รับความชมชอบจากผู้อ่าน (4.2 ดาว จาก website Goodreads) และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์อยู่ 2 ประเด็นว่า ผู้เขียนโอ้อวดเกินจริงว่าตนเป็นนักค้าเงินอันดับหนึ่งของโลก และอีกประเด็นในเรื่องแนวความคิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่ผู้เขียนมองว่า เป็นแนวความคิดใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์มองไม่เห็นมาโดยตลอด

เหรียญที่มีสองด้านของ AI ในสังคมไทย

ประเทศไทยมีการเติบโตด้านเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในหลายภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ บริการและในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆอันนำไปสู่ปัญหาของสังคมเช่น

นายกฯ นั่งหัวโต๊ะ ถกสภานโยบายอุดมศึกษาฯ หวังพัฒนาองค์ความรู้ขั้นสูง

น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2567 โดยมี น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)