อุตสาหกรรมจัดการลงทุนกับโจทย์ Climate Finance: กรณีศึกษาจากยุโรป

เดือนตุลาคมปีที่แล้ว สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาสาธารณะประจำปี 2567 ในหัวข้อ “ปรับประเทศไทย … ให้อยู่รอดได้ในยุคโลกเดือด” ผมติดภารกิจไม่ได้ไปร่วมงาน เพิ่งมีโอกาสตามอ่านบทความและดูคลิปย้อนหลังในช่วงปิดปีใหม่ที่ผ่านมา (https://tdri.or.th/tdri-annual-public-conference-2024/)

งานสัมมนานี้ดีมากๆสำหรับผู้ที่สนใจผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประเทศไทยและแนวทางในการปรับตัวที่เป็นรูปธรรม ก็ต้องขอขอบคุณทีดีอาร์ไอที่จัดงานสัมมนาดีๆให้กับประเทศ

ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านไม่ทราบว่า ประเทศไทยติดอันดับ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ(ข้อมูลจาก Germanwatch) โดยในงานได้พูดถึงภัยพิบัติหลัก 4 ประการ “ทะเลสูง-แผ่นดินต่ำ น้ำท่วมแรง แห้งแล้งจัด วิบัติคลื่นร้อน” ว่า ก่อให้เกิดความเสียหายถึงปีละ 260,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่รวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น ฝุ่น PM2.5

บทความเรื่องการเงินประกันภัยปรับตัวอย่างไรรับโลกรวน?” ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนปรับตัวที่เหมาะสมสามารถลดความสูญเสียได้อย่างคุ้มค่า เช่น ยุโรปลงทุนในระบบเตือนภัยน้ำท่วม 63 ล้านยูโร คาดว่าจะสามารถลดความสูญเสียได้ถึง 3 หมื่นล้านยูโร แต่ไทยติดกับดักมองสั้นไม่เห็นความเสี่ยงและประโยชน์ระยะยาวและกับดักงบจำกัดทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน จึงลงทุนปรับตัวน้อย

ในการก้าวข้ามกับดักงบจำกัดบทความเสนอให้รัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัวโดยใช้เงินทุนจากการเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon tax) และการใช้รูปแบบการลงทุนแบบลงขัน (Blended finance) โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรช่วยเหลือต่างประเทศ อย่างไรก็ดีผมคิดว่าลำพังทั้งสองข้อเสนอยังไม่เพียงพอหากไม่ได้รับแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาคธนาคารพาณิชย์และตลาดทุนซึ่งเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนให้กับระบบเศรษฐกิจ

สำหรับสถานการณ์ล่าสุด ในส่วนของภาคธนาคารพาณิชย์ ในปีที่แล้ว ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง เปิดตัวโครงการ “Financing the Transition” นำเสนอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ต้องการเงินทุนสำหรับการปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าสินเชื่อรวมภายในสิ้นปีนี้ที่ 100,000 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 10 มกราคม ที่ผ่านมา ธปท. เพิ่งปิดการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง Thailand Taxonomy (มาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม) ระยะที่ 2 ซึ่งขยายผลจากภาคพลังงานและการขนส่งในมาตรฐานระยะที่ 1 ไปสู่ภาคเกษตร ภาคก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคการจัดการของเสีย เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ใช้ประกอบการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยสนับสนุนธุรกิจไปสู่เส้นทางที่เป็นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ในส่วนของตลาดทุน ผู้อ่านหลายท่านคงคุ้นเคยกับกองทุนลดหย่อนภาษี Thai ESG ซึ่งในปีที่ผ่านมา รัฐบาลให้ลดหย่อนได้สูงสุดถึง 300,000 บาท นโยบายการลงทุนของกองทุน Thai ESG กำหนดให้ลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืนตามหลัก ESG ซึ่งประกอบด้วยมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) โดยสภาพภูมิอากาศจัดอยู่ในด้านสิ่งแวดล้อม

จากข้อมูลของบริษัท Morningstar ในปี 2567 มีเงินไหลเข้ากองทุน Thai ESG สุทธิ 2.8 หมื่นล้านบาท ประมาณร้อยละ 60 เป็นการลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และที่เหลือในกองทุนหุ้นและกองทุนผสม ในเรื่องของการลงทุนเพื่อความยั่งยืน การแบ่งตราสารออกเป็นตราสารหนี้และหุ้นมีนัยสำคัญ เพราะตราสารหนี้จะมีโครงการรองรับชัดเจน ขณะที่การลงทุนในหุ้นเป็นการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ratings ดี ตามเกณฑ์ของ ตลท. ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีโครงการลงทุนรองรับ

แม้กลไกทางภาษีจะช่วยตอบโจทย์การระดมเงินทุนสำหรับการลงทุนเพื่อการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศโดยตลาดทุนได้ในระดับหนึ่ง แต่ตลาดทุนสามารถสนับสนุนการปรับตัวด้านสิ่งแวดล้อมได้มากกว่านี้อีกมากผ่านบทบาทของบริษัทจัดการลงทุน ในปีที่แล้ว ผมได้ส่งทีมงานไปประชุมแลกเปลี่ยนความรู้กับบริษัทจัดการลงทุนที่ประเทศประเทศนอร์เวย์ เดนมาร์ก และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ถือได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกการลงทุน ESG มีหลายประเด็นที่ผมคิดว่าเป็นทิศทางอนาคตให้กับอุตสาหกรรมจัดการลงทุนของไทยได้

ทุกบริษัทที่เราไปพบจะมีทีมงาน ESG โดยเฉพาะ ทำหน้าที่ศึกษากรอบแนวคิด จัดการข้อมูล พัฒนาแบบจำลอง และแนะนำประเด็นที่เกี่ยวกับ ESG ให้กับผู้จัดการกองทุน โดยทีมงานไม่ได้ลงทุนเอง รวมถึงการเข้าไปมีบทบาทในฐานะผู้ถือหุ้น (Active ownership) ของบริษัทที่เข้าไปลงทุน และมีคณะกรรมการความยั่งยืนที่มีซีอีโอของบริษัทเป็นประธานดูแลภาพรวมของทั้งองค์กร

ในมิติด้านสิ่งแวดล้อม ยุโรปไม่ได้ให้ความสำคัญแค่เรื่องสภาพภูมิอากาศเพียงอย่างเดียว แต่มีเรื่องอื่นด้วย เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (ความยั่งยืนทางทะเล) เป็นต้น

สำหรับรูปแบบการดำเนินการแบ่งออกเป็น การซื้อตราสารหนี้ ESG และการงดเว้นการลงทุน (Exclusion) ในส่วนของตราสารหนี้ การงดเว้นการลงทุน การเลือกลงทุนในบริษัทที่มี ESG ratings ดี และการเข้าไปมีบทบาทในฐานะของผู้ถือหุ้นในส่วนของตราสารทุน

สำหรับการงดเว้นการลงทุนในมิติของสิ่งแวดล้อม เท่าที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นการงดเว้นการลงทุนในบริษัทน้ำมันหรือบริษัทถ่านหิน แต่เรื่องของสิ่งแวดล้อมไม่ได้จำกัดแค่พลังงานฟอสซิล ผมลองคิดต่อเล่นๆว่า ถ้าบริษัทจัดการลงทุนในไทยทั้งหมดงดเว้นการลงทุนในบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยฝุ่น PM2.5 เราคงจะมีอากาศที่บริสุทธิ์ขึ้น

อย่างไรก็ดี ทุกบริษัทบอกว่า การงดเว้นการลงทุนและการลงทุนในบริษัทที่มี ESG ratings ดีอยู่แล้วเป็นวิธีการที่ผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนได้น้อยกว่าการเข้าไปมีบทบาทในฐานะของผู้ถือหุ้น ได้แก่ การลงคะแนนเสียงในการประชุมผู้ถือหุ้น การสนทนากับผู้บริหาร และการเสนอแนะนโยบายเพื่อให้บริษัทดำเนินงานในทิศทางที่บริษัทจัดการลงทุนอยากเห็น โดยถ้าเป็นบริษัทจัดการลงทุนขนาดเล็กจะใช้วิธีร่วมมือกับบริษัทอื่นเพื่อให้ได้น้ำหนักในการผลักดันมากขึ้น

ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งที่อุตสาหกรรมจัดการลงทุนในยุโรปไปไกลกว่าเรามากในเรื่องของการลงทุน ESG เป็นเพราะได้รับแรงกดดันจากลูกค้าที่จริงจังกับเรื่องความยั่งยืน อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่าไทยก็สามารถไปถึงจุดนั้นได้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงความเชื่อในสังคม ผมโตมาในยุคที่คนไทยทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง แต่ประโยคเด็ด “อ๊ะ อ๊ะ อย่าทิ้งขยะ ตาวิเศษเห็นนะ” ในบทเพลงจาก “โครงการตาวิเศษ (2527)” เปลี่ยนจิตสำนึกการทิ้งขยะลงถังให้กับคนจำนวนมากในสังคม ประเทศไทยจึงได้สะอาดขึ้นถึงทุกวันนี้

ส่งบทความคอลัมน์ เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
ดร ดอน นาครทรรพ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

นักวิชาการ 'ทีดีอาร์ไอ' วิพากษ์ 'ดิจิทัลวอลเล็ต' แค่ฉีดสเตียรอยด์กระตุ้นศก.พอหมดฤทธิ์ก็หมดไป

ดร. นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวถึงเป้าหมายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ที่ประกาศหลายครั้งจะทำให้เศรษฐกิจไทยตั้งแต่ปี 2567 จีดีพีอยู่ที่ปีละ 5 เปอร์เซ็นต์ โดยจะใช้ดิจิทัลวอลเล็ตเป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญว่า