คนชนะเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด...ส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นบ้านใหญ่หมด โมเดล อบจ.เท่าที่เห็นมา พอบ้านใหญ่รวมพลังกับพรรคใหญ่ได้เมื่อใด มันกลายเป็นสูตรสำเร็จ โอกาสชนะสูงมาก ซึ่งเราจะเห็นบ้านใหญ่ในจังหวัด หากไม่จับมือกับสีแดงก็จับมือกับสีน้ำเงิน หรือภาคใต้ถ้าไม่จับกับสีฟ้าก็จับกับสีอื่น มันไม่มีแบบบ้านใหญ่อิสระ เพราะเขาก็กลัว บ้านใหญ่อิสระจริงๆ จึงไม่มี ยังไงต้องมีพรรคการเมืองคอยแบ็กอัป...ต้องเลือกว่าจะอยู่กับแดงหรือจะอยู่กับสีน้ำเงิน
ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค แต่ก็มีเครือข่ายนักการเมืองในจังหวัดคอยสนับสนุน ก็ยิ่งเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อบางจังหวัดมีระดับแกนนำพรรคเข้าไปช่วยหาเสียงให้ เช่นการที่ทักษิณ ชินวัตร ไปช่วยหาเสียงทั้งที่เชียงใหม่และเชียงราย รวมถึงหลังจากนั้นอีกหลายจังหวัด ก็ยิ่งทำให้การเลือกตั้งนายก อบจ.ยิ่งอยู่ในความสนใจของแวดวงการเมืองมากขึ้น
"ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า" ซึ่งติดตามเรื่องการเมือง-การเลือกตั้งท้องถิ่นมายาวนาน กล่าวถึงภาพรวมสนามเลือกตั้ง อบจ.ในครั้งนี้ว่า ภาพรวมการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั้ง 47 จังหวัดทั่วประเทศ ต้องถือว่าคึกคักดีและน่าสนใจดี แม้พบว่าจะไม่ได้มีการเลือกตั้งนายก อบจ.และ สจ.ครบทั้ง 76 จังหวัดในรอบเดียวกันนี้ (มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ไปก่อนหน้านี้ 29 จังหวัด) ในส่วนของพรรคเพื่อไทยที่ส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ.ในนามพรรคเพื่อไทย 14 จังหวัด และในนามสมาชิกพรรคเพื่อไทย 2 จังหวัด ซึ่งเท่าที่ดูก็เชื่อว่าเพื่อไทยน่าจะชนะได้เกือบหมด อาจจะมีลุ้นหนักก็ประมาณ 2-3 จังหวัด เช่น นครพนม, ศรีษะเกษ ที่เพื่อไทยชนกับคนในเครือข่ายของพรรคภูมิใจไทย ทำให้เพื่อไทยเหนื่อยพอสมควร จนนายทักษิณ ชินวัตร ต้องลงมาช่วยพรรคเพื่อไทยหาเสียงในพื้นที่ด้วยตัวเอง แต่สำหรับจังหวัดที่คนของเพื่อไทยสู้กับผู้สมัครของพรรคประชาชนเป็นหลักดูแล้วไม่น่ายาก
อย่างที่จังหวัดเชียงราย ที่นายทักษิณไปช่วยหาเสียงให้เมื่อวันอาทิตย์ที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของเนื้อหาคำปราศรัยที่นายทักษิณกล่าวบนเวที จริงๆ แล้วจะพบว่าเป็นสิ่งที่เคยได้เห็นมาแล้วตอนนายทักษิณไปช่วยหาเสียงให้ที่อุดรธานีและอุบลราชธานี ที่เป็นสไตล์การหาเสียงของนายทักษิณ ที่มันก็ทำให้ภาพชัดขึ้นว่าเพื่อไทยเลือกที่จะเล่นในสนามท้องถิ่นแบบนี้ คือพยายามสื่อว่าท้องถิ่นเองจะทำอะไรไม่ได้มาก หากไม่ได้เชื่อมโยงกับรัฐบาลกลาง ดังนั้นหากเลือกผู้สมัครนายก อบจ.ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาล จะมีประโยชน์กับจังหวัดมากกว่าไปเลือกคนที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับรัฐบาลเพื่อไทย ก็เลือกที่จะใช้วิธีการหาเสียงแนวนี้ จนหาเสียงด้วยประเด็นระดับชาติเป็นหลัก และขณะเดียวกันก็มองไปถึงผลการเมืองที่ว่า เมื่อชวนให้คนคล้อยตามว่ารัฐบาลกับท้องถิ่น ต้องเชื่อมกัน เขาก็จะประสบความสำเร็จ คือได้ท้องถิ่นมาเป็นฐาน และนำไปต่อยอดในการเลือกตั้งระดับชาติปี 2570 จะได้สองต่อ
การที่นายทักษิณเข้ามาช่วยหาเสียงนายก อบจ.ให้เพื่อไทยอย่างที่เห็น จะพบว่าจะไปในพื้นที่เลือกตั้งซึ่งพรรคเพื่อไทยหวังผลได้ และพอเป็นสนามการเมืองท้องถิ่นที่ต้องทำการเมืองกับบ้านใหญ่ของแต่ละจังหวัด หากไม่เอานายทักษิณเข้ามาช่วยหาเสียงให้ มันก็มีโอกาส (ไม่ชนะ) เพราะต้องยอมรับว่าช่วงที่ผ่านมา บ้านใหญ่ก็ปีกกล้าขาแข็งกันพอสมควร หากมีพรรคการเมืองอื่นไปจีบบ้านใหญ่ แล้วดีลกันลงตัว บ้านใหญ่ก็อาจไปคุยกับพรรคการเมืองอื่นไม่ใช่พรรคเพื่อไทย แต่พอคุณทักษิณลงมาช่วยหาเสียงด้วยตัวเอง มันทำให้เกิดความเกรงใจจากพรรคการเมืองอื่น มีทั้งบารมีและทรัพยากรที่ทำให้เชื่อมั่นได้
อีกทั้งก็ถืออำนาจรัฐอยู่ในมือ มีลูกสาวเป็นนายกรัฐมนตรี เลยได้เปรียบทุกประตู หากบ้านใหญ่บ้านไหนมาขอเปิดดีลกับนายทักษิณได้ มันการันตีผลเลือกตั้งได้ บวกกับความเป็นบ้านใหญ่ของตัวเอง แถมยังได้พลังอำนาจรัฐและบารมีนายทักษิณมาช่วย มันก็น่าจะชนะได้แน่ ย่อมดีกว่าลงเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วต้องมาแข่งกับทีมของนายทักษิณ มันหนักกว่ากันเยอะ
"ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า" กล่าวต่อไปว่า หากดูจากจังหวัดที่มีข่าวนายทักษิณจะไปช่วยปราศรัยหาเสียง เทียบกับเมื่อไปดูผลการเลือกตั้ง สส.เมื่อปี 2566 หลายจังหวัดที่เพื่อไทยเคยชนะยกจังหวัดหรือเกือบยกจังหวัดเช่นเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แต่เลือกตั้งที่ผ่านมาถูกพรรคก้าวไกลเจาะหลายเขต รวมถึงจังหวัดภาคอีสานเช่น นครพนม อำนาจเจริญ มุกดาหาร ที่ช่วงหลังเป็นสีน้ำเงินหลายเขต ซึ่งเท่าที่เห็นก็พบว่าบางจังหวัดเพื่อไทยชนสีน้ำเงิน อันนี้ชัดเจนว่า คงหวังผลถึงการเลือกตั้ง สส.รอบหน้า ก็คือเล่นสองต่อเลย เพราะเขาคงเชื่อว่าหากเล่นเกมบ้านใหญ่ ยังไงก็ให้บ้านใหญ่ยึดท้องถิ่นไว้ แล้วก็ให้บ้านใหญ่เป็นฐานไว้สำหรับไปสู้การเมืองระดับชาติต่อไป
...จากนั้นพอถึงช่วงเลือกตั้ง เพื่อไทยค่อยไปสร้างกระแสสู้กับพรรคประชาชน เพราะมีฐานการเมืองท้องถิ่นตุนไว้แล้ว อย่างน้อยๆ เขตเลือกตั้งหนึ่งเขต 15,000 คะแนน ถึง 20,000 คะแนน ต้องมีอยู่แล้ว จากบ้านใหญ่และเครือข่ายการเมืองท้องถิ่นในพื้นที่ ที่เหลือก็ไปสู้เรื่องกระแสเอาตอนเลือกตั้งใหญ่
...อย่างที่เชียงใหม่เอง การที่นายทักษิณไปช่วยหาเสียงให้หนักขนาดนี้ ทำให้อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ก็มีโอกาสชนะ เพราะนายทักษิณคงรู้ว่าหากให้อดีตนายก อบจ.เชียงใหม่คนเดิมเป็นคนนำในการหาเสียง ก็คงเหนื่อย เพราะคนเชียงใหม่อาจลังเลใจไปเลือกผู้สมัคนายก อบจ.เชียงใหม่สีส้ม อยากลองของใหม่ แต่เมื่อนายทักษิณลงมาเอง แล้วกระชับแน่นๆ ก็ทำให้บรรดาเครือข่ายในพื้นที่ไม่กล้าปันใจไปทางสีส้ม
คราวนี้ต้องไปรอวัดว่าคนที่เขามาทางกระแส เขาจะรู้สึกโอเคด้วยหรือไม่ คืออาจไม่ได้มองที่ตัวคุณชูชัย แต่มองเห็นเงาของนายทักษิณแล้วเกิดความรู้สึกโอเค ด้วยว่าเมื่อเป็นคนของเพื่อไทยมาบริหาร อบจ.เชียงใหม่ต่อ มันก็น่าจะดี เพราะอาจมีโปรเจกต์ต่างๆ ของรัฐบาลมาลงในพื้นที่ ก็อาจได้ภาพแบบนั้น ซึ่งนายทักษิณคงหวังแบบนั้น คือยึดเชียงใหม่คืน เอาเครดิตคืนกลับมาก่อน เช่นเดียวกับที่เชียงรายที่บ้านใหญ่ชนกันเอง เพราะเชียงรายเพื่อไทยหวังได้ นายทักษิณเลยไปลุย
"ที่เพื่อไทยส่งลงสมัครนายก อบจ.ดูแล้วก็น่าจะเกือบๆ ชนะได้ทั้งหมด หากบางจังหวัดจะแพ้ก็คงแพ้ให้กับภูมิใจไทย ไม่ใช่แพ้คนของพรรคประชาชน" ดร.สติธร กล่าวตอบหลังเราถามว่า จากที่เพื่อไทยส่งทั้งหมด 16 จังหวัดมีโอกาสจะชนะทั้งหมดหรือไม่
พรรคส้มโอกาสริบหรี่ ปักธงนายก อบจ.!
หลังจากวิเคราะห์ถึงพรรคเพื่อไทยกับสนามเลือกตั้ง อบจ.แล้ว "ดร.สติธร" กล่าววิเคราะห์โอกาสของพรรคประชาชน ที่เป็นพรรคก้าวไกลเดิม ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ครั้งนี้เป็นลำดับต่อมาว่า เท่าที่เห็นพรรคประชาชนจะเน้นส่งผู้สมัครนายก อบจ.ในจังหวัดที่ตอนเลือกตั้ง สส.เมื่อปี 2566 คะแนนของผู้สมัคร สส.ระบบเขตกับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ทั้งจังหวัดของพรรคก้าวไกล มีคะแนนชนะทั้งสองระบบในจังหวัดเป็นหลัก คือบางจังหวัดที่ชนะคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ก็ไม่ได้การันตีได้ แต่หากมีคนอยากลงสมัครในนามพรรคประชาชน จะพบว่าพรรคเขาก็ส่งคนลงสมัคร เช่นที่อุบลราชธานีที่เลือกตั้งกันไปก่อนหน้านี้ แต่หากพรรคประชาชนจะหวังชนะจริงๆ เขาจะหวังในจังหวัดที่คะแนนสส.เขตและคะแนนบัญชีรายชื่อมาอันดับหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ก็จะพบว่าพรรคประชาชนค่อนข้างคาดหวังในจังหวัดขนาดเล็ก เพราะอย่างจังหวัดใหญ่ที่คะแนนของพรรคก้าวไกลชนะ แม้เขาจะส่งคนลงสมัครเช่นกัน แต่ดูแล้วพรรคคาดหวังน้อยกว่าจังหวัดขนาดเล็กที่พรรคชนะทั้งสองระบบ โดยจังหวัดขนาดเล็กดังกล่าวก็คือจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่มาก เช่นมีแค่ 3 เขต ที่สมัยเป็นพรรคก้าวไกลก็ชนะมาแล้ว ทำให้พรรคก็จะลุ้นเยอะกว่าจังหวัดใหญ่ เพราะคิดว่ามีความหวัง เช่นตราดที่มี สส.แค่คนเดียว แล้วสมัยพรรคก้าวไกลก็ชนะได้ สส.เขตจังหวัดตราดมา เขาก็ย่อมคิดว่าเมื่อจังหวัดมี สส.คนเดียวของพรรคก้าวไกลยังชนะได้ นายก อบจ.ก็น่าจะชนะได้ หรือสมุทรสาครที่ตอนเลือกตั้งที่ผ่านมามี 3 เขต คนของพรรคก้าวไกลก็ชนะหมดทั้งสามเขต พรรคประชาชนก็คงคิดว่าพอหวังได้ หรือบางจังหวัดก็อาจมีเหตุผลอื่นเพิ่มเติม เช่นนครนายก ที่พรรคประชาชนได้อดีตนายก อบจ.นครนายกสมัยที่แล้วมาลงสมัคร (จักรพันธ์ จินตนาพากานนท์)
ส่วนบางจังหวัดเช่นสมุทรปราการ ที่ก็ถือว่าเป็นจังหวัดใหญ่ มีเขตเลือกตั้งเยอะ แต่พรรคประชาชนก็หวังไว้เช่นกัน แต่ที่หวังคงเพราะคิดว่ามีฐานของ "จึงรุ่งเรืองกิจ" อยู่ในจังหวัด และเป็นเมืองอุตสาหกรรม เขาก็คงหวังว่าปีกอุตสาหกรรม พวกกลุ่มคนที่ย้ายถิ่นมาน่าจะลงคะแนนให้พรรคประชาชน เลยทำให้พรรคคิดว่าที่สมุทรปราการน่าจะพอสู้ไหว และบ้านใหญ่อัศวเหมก็โรยราแล้ว ไม่ได้ส่งคนของตระกูลลงสมัครโดยตรง
"ดร.สติธร" กล่าวต่อไปว่า ส่วนโซนจังหวัดตะวันออก ที่พรรคประชาชนคาดหวังเช่นกัน ก็เพราะหลายจังหวัดตอนเลือกตั้งปี 2566 ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลก็ชนะยกจังหวัดในบางพื้นที่ อีกทั้งเป็นโซนจังหวัดที่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ สังคม มีการพัฒนาเชิงอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว ภาคบริการ ทำให้มีคนย้ายถิ่นฐานเข้ามาในจังหวัดภาคตะวันออก ทำให้ระบบอุปภัมภ์ที่จะมีกับคนกลุ่มเหล่านี้จะมีน้อยกว่าที่อื่น เพราะเป็นคนที่ทำงานแบบเป็นอิสระ ทำให้จะมีความแตกต่างจากระบบอุปภัมภ์แบบดั้งเดิม พรรคก้าวไกลเลยเข้าไปเจาะได้ตอนเลือกตั้งใหญ่ ทำให้รอบนี้เขาก็คาดหวังว่าความผูกพันกับระบบบ้านใหญ่ หรือพวกที่เคยเป็นอดีตนายก อบจ.หลายสมัยในจังหวัดจะมีไม่มาก จนเปิดใจที่จะรับทางเลือกใหม่ๆ ไม่เหมือนกับคนที่อยู่ติดพื้นที่ ซึ่งเขามีความรู้สึกว่าเขาได้รับการดูแลจากอดีตนายก อบจ. 5 สมัยและสามารถเข้าถึงได้ เพราะความเป็นท้องถิ่นของการเมืองท้องถิ่นหลายจังหวัดคือการเข้าถึงได้ ด้วยความที่เป็นอดีตนายก อบจ.หลายสมัย เลยมีการวางเครือข่ายไว้ทั้ง สจ.ในพื้นที่ต่างๆ ส่วนในพื้นที่เมืองก็มีคนของเขาอยู่ในเทศบาล มีสมาชิกสภาเทศบาลมาคอยดูแลคนในชุมชน บ้าน ก็ทำให้ฐานเสียงแข็งปึ้ก
แต่ในพื้นที่โซนตะวันออกพวกระยอง จันทบุรี ตราด รวมถึงชลบุรีที่มีคนย้ายถิ่นเข้ามา ความผูกพันอย่างที่กล่าวข้างต้นจะน้อยกว่า แต่จังหวัดอย่างชลบุรี ที่ตามข่าวคือกลุ่มเสี่ยเฮ้ง-สุชาติ ชมกลิ่น มาบวกกับกลุ่มบ้านใหญ่ตระกูลคุณปลื้ม ก็ทำให้ฝ่ายสีส้มเจาะได้ยากขึ้น เพราะแม้การเลือกตั้งสส.เขาจะได้เยอะ (สมัยพรรคก้าวไกล) ที่ส่วนหนึ่งก็เพราะฝ่ายนั้นเขาแข่งแล้วตัดคะแนนกันเยอะ (กลุ่มสุชาติ ชมกลิ่น กับกลุ่มสนธยา คุณปลื้ม) แต่รอบนี้พอเขารวมทีมกันได้ก็ทำให้พรรคประชาชนจะเจองานลำบาก เพราะถ้าเทียบชลบุรี กับระยอง จันทบุรี ตราด คนชลบุรี ยังมีคนติดพื้นที่เยอะกว่า แล้วสนามท้องถิ่นคนในพื้นที่มักจะออกมาเลือกตั้งมากพอจะเป็นฐานให้บ้านใหญ่ได้
ส่วนในพื้นที่ภาคกลาง ที่พรรคก้าวไกลชนะเลือกตั้ง สส.ยกจังหวัดตอนปี 2566 เช่นนนทบุรี ที่ผมรู้สึกว่าพอมองเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคตะวันออก แล้วทำไมยังหวังยากกว่า จะเห็นได้ว่าพรรคเขาไม่ค่อยพูดว่าหวังในพื้นที่นนทบุรีมากเท่าใดนัก
เหตุเพราะท้องถิ่นนนทบุรีค่อนข้างแพ็กกันแน่น อย่างนายสมนึก ธนเดชากุล (นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี) ก็ยึดพื้นที่เทศบาลนครนนทบุรีไว้นานแล้ว ส่วน พ.ต.อ.ธงชัย เย็นประเสริฐ จากทีมผึ้งหลวง อดีตนายก อบจ.ที่ดูแล อบจ. เขาก็เหมือนทีมเดียวกัน ก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสนามท้องถิ่นของนนทบุรี ซึ่งด้วยการที่อยู่กันมานาน ประชาชนเลยรู้สึกว่าเข้าถึงได้ คนในเมืองนนทบุรีก็นึกชื่อจำได้ นายกสมนึกด้วยการที่เขาเชื่อมท้องถิ่นขนาดเล็กได้ เพราะที่นนทบุรีมีสท.เยอะ ทั้งเทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล ซึ่งเครือข่ายพวกนี้หากช่วยกันเป็นทีมเดียวกัน ก็ยังดึงฐานเสียงมาสู้ได้เยอะ ทำให้คู่แข่งเจาะแล้วเหนื่อยในการเมืองท้องถิ่น ต้อง build ให้เกิดกระแส จนคนออกมาเลือกตั้งกันเยอะๆได้จริงๆ เหมือนตอนเลือกตั้งระดับชาติ ถึงจะโค่นได้
รอบนี้พรรคประชาชนก็เหนื่อย เพราะไปแข่งกับคู่แข่งที่เหมือนจะแข่งตัวต่อตัว แต่จริงๆ คู่แข่งเขาแพ็กกันได้ มีหลบให้กัน เลยยากกว่าการเลือกตั้งในสนามระดับชาติ...ที่ผมเคยพูดว่าเขาจะไม่ได้เลย ที่พูดไว้ล่วงหน้าประมาณปีหนึ่งแล้ว แต่พอเปิดสนามมา พอเห็นว่าเขาก็พอมีโอกาสอยู่ แต่โอเค ไหนๆ เคยพูดไว้แล้ว ยืนยันคำเดิมว่าถึงแม้จะได้ลุ้น แต่ก็ไม่น่าจะได้
ส่วนพื้นที่ภาคใต้ อย่างเช่นที่พรรคประชาชนส่งผู้สมัครนายก อบจ.ภูเก็ต ซึ่งแม้ตอนเลือกตั้งปี 2566 พรรคก้าวไกลจะชนะ สส.เขตยกจังหวัด แต่ถ้าไปดูคะแนนเลือกตั้ง ก็จะพบว่าเป็นเพราะพรรคการเมืองอื่นเขาแย่งกันเยอะ มีทั้งภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เลยไปตัดคะแนนกันเองรัวๆ พอมารอบนี้อีกฝั่งก็เหมือนจะหลบๆ ให้กัน เพราะรู้ว่าแข่งกันไปก็เจ็บตัวไปด้วยกัน เลยเหมือนจะไปแบ่งเค้กกันดีกว่า เช่นกลุ่มนี้เอา อบจ.ไปอีกกลุ่มไปรอตอนเลือกตั้งเทศบาล
"ทำให้รอบนี้พรรคประชาชนก็จะเหนื่อย เพราะไปแข่งกับคู่แข่งที่เหมือนจะแข่งตัวต่อตัว แต่จริงๆ คู่แข่งเขาแพ็กกันได้แล้ว มีหลบให้กันแล้ว ก็เลยยากกว่าการเลือกตั้งในสนามระดับชาติ"
ส่วนสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ที่เชียงใหม่ พรรคประชาชนก็ยังมีโอกาส แต่ต้องพยายามไปบิวด์ในโซเชียลมีเดียให้ได้ ผมเห็นเขาพยายามทำอยู่ ที่ก็น่าสนใจเพราะของแบบนี้มันก็ไม่แน่ คือผมสังเกตเห็นว่า พรรคประชาชน พยายามใช้สิ่งที่เคยทำสำเร็จสมัยเป็นพรรคก้าวไกลตอนเลือกตั้ง สส. ปี 2566 คือโซเชียลมีเดีย พวก TikTok ก็เลยอาจเป็นที่มาที่ทำให้นายทักษิณเลยไปบ่นที่เชียงราย เพราะตอนนี้จะเห็นได้เลยว่าพรรคประชาชนใช้ TikTok กว้างขวางมาก และหลายตัวอาจทำให้คนเกิดความรู้สึกว่าน่าจะเลือกผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคประชาชน คือต่อให้เขาไม่ได้นายก อบจ. แต่เขาก็จะได้ สจ. เขาก็หวังแบบนี้ คือให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
"ซึ่งหากบิวด์ขึ้นจริงๆ ก็ไม่แน่ เจอพลังเงียบในโซเชียลมีเดีย ที่ออกจากบ้านไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันเยอะๆ ขึ้นมา พวกฝ่ายพลังจัดตั้งอาจจะงงได้เหมือนกัน"
-การเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ฟันธงได้ไหมว่า พรรคส้ม มีโอกาสปักธงนายก อบจ.?
ผมฟันธงไปหลายรอบว่าเขาจะไม่ได้เลย ก็เลยไม่อยากฟันใหม่ แม้ว่าพรรคเขาจะมีโอกาสเท่าที่วิเคราะห์ไว้ ซึ่งพอสนามเลือกตั้ง อบจ.มันเปิดจริงๆ ที่ผมเคยพูดว่าเขาจะไม่ได้เลย ที่ผมพูดไว้ล่วงหน้าประมาณปีหนึ่งแล้ว แต่พอเปิดสนามมา ก็พอเห็นว่าเขาก็พอมีช่องมีโอกาสอยู่ แต่ก็โอเคไหนๆ ก็เคยพูดไว้แล้ว ก็ยืนยันคำเดิมว่าถึงแม้จะได้ลุ้น แต่ก็ไม่น่าจะได้ แต่ว่ายุทธศาสตร์เขา เขาขอปักธงสักจังหวัดหนึ่งให้ได้สำหรับนายก อบจ.
-แต่ก็มีข่าวว่าพรรคประชาชน หวังไว้อย่างน้อยภาคละหนึ่งคน?
แต่เอาจริงๆ ในใจ ขอสักหนึ่งคนจากทั้งประเทศ ผมก็เชื่อว่าเขาสามารถเอาไปขยายผลต่อได้เยอะ ได้สักหนึ่งที่ก็จุดพลุฉลองแล้ว แล้วก็บิวด์กระแสต่อ แต่สำหรับ สจ.ผมว่าพรรคเขาน่าจะได้หลายที่ กระจายๆ ไปหลายจังหวัดที่พรรคส่ง แต่ได้มากหรือได้น้อยต้องไปลุ้นกัน
เครือข่ายสีน้ำเงิน ได้ลุ้นชนะหลายจังหวัด
เมื่อถามถึงผู้สมัครสาย "สีน้ำเงิน" ที่คนมองว่าเป็นเครือข่ายภูมิใจไทย ซึ่งแม้พรรคภูมิใจไทยจะไม่ได้ส่งคนลงสมัครอย่างเป็นทางการ แต่หลายคนในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะภาคอีสาน เช่น นครพนม ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ บึงกาฬ ก็ถูกมองว่าเป็นคนของสีน้ำเงิน คิดว่ายุทธศาสตร์ของพรรคเป็นอย่างไรกับสนาม อบจ. "ดร.สติธร-นักวิชาการจากสถาบันพระปกเกล้า" วิเคราะห์ว่า ผมคิดว่ารอบนี้ของเขาที่ส่งโดยเฉพาะที่อีสานและภาคใต้ เขาก็หวังเยอะ อย่างที่อีสานที่แพ้ไม่ได้ก็คือบุรีรัมย์ ส่วนจังหวัดอื่นๆ ผมคิดว่าเขาก็คงคิดว่าแพ้ก็ไม่เป็นไร แต่ก็จะสู้เต็มที่ไว้ก่อน อย่างน้อยปักเอาคนของตัวเองเดิมชนะให้ได้ เพื่อไปต่อยอดในสนามเลือกตั้งระดับชาติ ไม่อย่างนั้นจะเสียสองต่อ เขาจะไม่ปล่อยคนที่เป็นคนของเขาดั้งเดิม แม้จะโดนรุกหนักจากพรรคเพื่อไทย ลองสังเกตดูอาการของนายอนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยตอนช่วงปีใหม่ได้ว่า ภูมิใจไทยโดนรุกหนักแน่ แต่เชื่อว่าในจังหวัดภาคอีสานที่เขาหมายมั่นปั้นมือ เช่นบุรีรัมย์ เขาก็ต้องชนะให้ได้ ส่วนจังหวัดอื่นๆ เช่น บึงกาฬ นครพนม ศรีสะเกษมุกดาหาร อำนาจเจริญ ที่บางจังหวัดเขาเคยกวาด สส.ทั้งจังหวัด ก็คงต้องการเอาชนะให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
เมื่อถามถึงว่า หากช่วงโค้งสุดท้ายบางจังหวัดในอีสาน ถ้าเพื่อไทยกับนายทักษิณรุกหนัก จะส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างสองพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ "ดร.สติธร" มองว่าคงไม่เกิด เขาก็คงล็อกคนของเขาไว้ ถ้าแพ้เลือกตั้งรอบนี้ก็คงไปลุยต่อในการเลือกตั้ง สส. เพราะเขาคงมองว่า พอถึงการเลือกตั้งระดับชาติเกมจะเปลี่ยน ประชาชนจะเลือกรัฐบาล จะเลือกพรรคการเมือง เลือกที่กระแส หรือเลือกคนเข้าไปเป็นนายกรัฐมนตรี โอกาสที่ส้มจะมาแบ่งคะแนนแดง เหมือนครั้งที่แล้วมันจะกลับมาอีก แล้วภูมิใจไทยก็เก็บพวกที่แพ้นายก อบจ.ที่คะแนนมาอันดับสอง ก็ส่งลง สส.เพื่อให้เอาชนะในเขตได้ หากแดงตัดคะแนนกับส้มเยอะๆ เขาก็หวังเกมในสนามระดับชาติต่อไป
"ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า" ยังได้กล่าวถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.อีกว่า เท่าที่ดูบางพรรคเช่น "ประชาธิปัตย์" ก็จะเน้นแค่บางจังหวัดคือสงขลา ส่วนที่สุราษฎร์ธานีก็น่าจะหลบ มองว่าคงเพราะป้องกันการเจ็บตัว เพราะตอนเลือกตั้งใหญ่ที่ผ่านมา ภาคใต้หลายพรรคเจ็บตัวกันไปเยอะ ทำให้รอบนี้หากหลบกันได้ รวมกันได้ เขาก็เซฟตัวเองได้ เพราะอย่างที่สงขลา พอนายถาวร เสนเนียม ไม่ลงสมัคร ก็เลยกลายเป็นว่าสองตระกูลในจังหวัดรวมกันได้ ก็เลยทำให้สนามเลือกตั้งที่สงขลา ไม่ค่อยมีอะไรตื่นเต้น บางจังหวัดเลยน่าสนใจกว่า เช่นที่สุราษฎร์ธานี ที่พรรคสีส้มก็ดูจะคิดว่าตัวเองพอมีความหวังเล็กๆ หลังมีการสู้กันเอง
-คิดว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.ใน 47 ครั้งนี้ เครือข่ายบ้านใหญ่จะได้ชัยชนะเกินครึ่งหนึ่งหรือไม่?
ผมว่าส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นบ้านใหญ่หมด วันนี้โมเดล อบจ. เท่าที่เห็นมา พอบ้านใหญ่รวมพลังกับพรรคใหญ่ได้เมื่อใด มันกลายเป็นสูตรสำเร็จ โอกาสชนะสูงมาก ซึ่งเราจะเห็น บ้านใหญ่ในจังหวัด หากไม่จับมือกับสีแดงก็จับมือกับสีน้ำเงิน หรือภาคใต้ ถ้าไม่จับกับสีฟ้าก็จับกับสีอื่น มันไม่มีแบบบ้านใหญ่อิสระเพราะเขาก็กลัว คืออิสระไม่จริง อิสระจริงๆ ไม่มี ยังไงต้องมีพรรคการเมืองคอยแบ็คอัพ เพราะหากเป็นบ้านใหญ่ที่พยายามวางตัวอิสระ ไม่โยงกับพรรคการเมือง มันมีบทเรียนแล้วในการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ขอนแก่น ก่อนหน้านี้
เพราะอดีตนายก อบจ.ขอนแก่นคนที่แล้ว ที่ผ่านมาเขาพยายามวางตัวไม่อยู่กับพรรคการเมืองใดแบบชัดเจน เขาก็รอดมาตลอด การเลือกตั้งที่ผ่านมาเขาพยายามจะใช้โมเดลเดิม แต่พอมาเจอกับเพื่อไทยที่ไปรวมกับบ้านใหญ่-บ้านใหม่ ตระกูลช่างเหลา เลยทำให้อดีตนายก อบจ.ขอนแก่นคนที่แล้วแพ้เลือกตั้ง ทำให้วันนี้เมื่อบ้านใหญ่เห็นตัวอย่างที่ขอนแก่น เลยทำให้ไม่มีบ้านใหญ่อิสระอย่างแท้จริง ยังไง ต้องเลือกว่าจะอยู่กับแดง หรือจะอยู่กับสีน้ำเงิน
-ในเชิงวิชาการ ระบบบ้านใหญ่กับการเมืองท้องถิ่น มีผลดีผลเสียอย่างไร?
วันนี้ต้องยอมรับว่าด้วยโครงสร้างอำนาจ ที่หากดูเรื่องเชิงการจัดสรร การแบ่งทรัพยากรของรัฐ ที่วันนี้ท้องถิ่นดูแลแค่ประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ที่อยู่ในรูปของงบประมาณ จากหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ของงบรายจ่ายประจำปีของประเทศแต่ละปี ทำให้ศักยภาพของท้องถิ่นมันก็มีจำกัด อย่างมักจะมีคำกล่าวที่ว่า อบจ.ดูแลทั้งจังหวัด แต่ อบจ.ใหญ่ๆ งบแต่ละปีก็แค่หลักพันล้านบาท เทียบกับระดับชาติแล้วห่างไกลมาก
ด้วยโครงสร้างแบบนี้ ก็เลยต้องการผู้นำที่มีศักยภาพในการไปประสานเชื่อมโยงผลประโยชน์ เช่นเมื่อ อบจ.จังหวัด ได้งบมาลงก้อนหนึ่งอยู่ที่ตัวเลขเท่านี้ หากจะทำให้จังหวัดพัฒนาได้ก็ต้องพึ่งพางบจากส่วนกลาง การเชื่อมโยงกับรัฐบาลกลางจึงเป็นเรื่องสำคัญ หรือหากไม่เอาเรื่องทรัพยากรเงินทองที่เป็นทางกลาง การดูแลนอกระบบ ด้วยความเป็นบ้านใหญ่ที่ไม่ใช่แค่มีตัวบ้านใหญ่อย่างเดียว ก็ต้องมีทรัพยากรของเขา เช่นเขาเป็นธุรกิจภูมิภาคประจำจังหวัด เขามีคอนเน็กชัน เขาดูแลคน วางเครือข่ายในหมู่เครือข่ายของตัวเอง ซึ่งมันดูแลคนได้ ไม่ใช่แค่ดูแลอุปถัมภ์ช่วยเหลือในเรื่องส่วนตัว แต่เรื่องเศรษฐกิจอื่นๆ การทำให้มีการจ้างงานในพื้นที่บ้านใหญ่ยิ่งมีศักยภาพ มันก็มีประโยชน์กับคน คนก็เลยยิ่งรู้สึกโอเค ครอบครัวนี้เป็นบ้านใหญ่ก็จริง แต่ธุรกิจก็หล่อเลี้ยงจังหวัด
เลยกลายเป็นว่า คนก็มองว่าบ้านใหญ่เชื่อมโยงกับทรัพยากรภายนอก เป็นผู้คุมผลประโยชน์ภายในจังหวัด เราก็เลยได้เห็นว่าที่คนเขาเลือกบ้านใหญ่ไม่ใช่เพราะสนามท้องถิ่น คนต้องการคนแบบใจถึงพึ่งได้ เช่นช่วยเหลือเรื่องส่วนตัวกัน ฝากลูกอะไรกัน อันนั้นก็ส่วนหนึ่ง ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เช่นไม่มีคนมาเก็บขยะหน้าบ้าน ร้องเรียนไปที่นายกฯ ก็มีคนมาจัดการให้ ความใกล้ชิดแบบนี้มันก็มีอยู่ แต่ผมมองภาพใหญ่ว่า นอกจากภาพที่ดูแลใกล้ชิด มันยังมีภาพความเชื่อมโยงกับทรัพยากรภายนอก และความที่เป็นบ้านใหญ่ได้ เขาสยายอาณาจักรของเขา ที่มันดูแลวิถีชีวิตผู้คนได้ สนามท้องถิ่น มันเลยกลายเป็นว่าที่คนเขาเลือกบ้านใหญ่ ก็ไม่แปลก เพราะมันจับต้องได้จริง
-กรณีที่เกิดกับจังหวัดปราจีนบุรี ยิ่งทำให้คนมองบ้านใหญ่ในทางลบมากขึ้นหรือไม่ จากเดิมคนก็อาจมองแบบเทาๆ?
ภาพรวมๆ ผมเชื่อว่าคนข้างนอกโดยเฉพาะคนจากส่วนกลางคงตกใจ ที่สมัยนี้แล้วยังทำแบบนี้กันได้อีกหรือ ยังอุกอาจได้ขนาดนี้อีกหรือ เพราะเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงหลังซาลงไปเยอะ จนเกิดเหตุที่ปราจีนบุรีที่อุกอาจขนาดนี้ เลยทำให้ดูเหมือนว่าภาพลักษณ์เดิมๆ ของการเมืองท้องถิ่น ในสายตาคนข้างนอก คนจากส่วนกลางที่มองไปที่จังหวัดอาจตกใจ แต่ผมเชื่อว่าหากเป็นคนในจังหวัดนั้นๆ เช่นปราจีนบุรี ผมก็เชื่อว่าเขาคงรู้สึกเฉยๆ แค่อาจตื่นเต้นว่ายังกล้าทำกันอีกหรือ แต่ว่าสิ่งนี้มันคาราคาซังมานานแล้ว เพราะความเป็นบ้านใหญ่ด้านหนึ่งของหลายพื้นที่ มันก็คือการใช้อำนาจอิทธิพลเอาเปรียบคนอื่น เช่นคุณเป็นบ้านใหญ่ร่ำรวยขึ้นมาได้ เพราะรับงานประมูลโครงการของรัฐ ก็ใช้ความรุนแรงไปข่มขู่คู่แข่งเวลายื่นประมูลงานภาครัฐให้ถอนตัว มันก่อตัวมาแบบนี้แต่ดั้งแต่เดิม ซึ่งก็มีหลายพื้นที่ที่เป็นแบบนี้ ความรู้สึกเวลาเห็นความรุนแรงจากบ้านใหญ่บางบ้านในหลายจังหวัด สำหรับคนในพื้นที่ก็รู้สึกว่าบ้านใหญ่บ้านนี้ก็เป็นแบบนี้.
โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร
งานหิน กกต.-ตั้งเป้าคนใช้สิทธิ์ 65%
เปิดอำนาจหน้าที่ 'นายก อบจ.-สจ.'
ในส่วนของการเตรียมความพร้อมของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำหรับการเลือกตั้ง อบจ.ในครั้งนี้ พบว่าเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ที่ผ่านมา อิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรม Kick Off การเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด สร้างสรรค์ประเทศไทย พร้อมใจไปเลือกตั้ง เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวเข้ามามีส่วนร่วม
โดยการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ สำนักงาน กกต.ตั้งเป้าผู้มาใช้สิทธิ์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และแสดงความเชื่อมั่นว่า การที่เลือกตั้งวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. จากปกติที่การเลือกตั้งในประเทศไทยจะเลือกวันอาทิตย์ จะไม่กระทบต่อจำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.ให้องค์ความรู้เรื่อง "องค์การบริหารส่วนจังหวัด" ไว้ว่า อบจ.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ มีจังหวัดละ 1 แห่ง มีเขตพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมทั้งจังหวัด โครงสร้างการบริหารประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นฝ่ายบริหาร และสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยมีหน้าที่และอำนาจคือ ดำเนินกิจการภายในเขตองค์การบริการส่วนจังหวัด เช่น ตราข้อบัญญัติโดยไม่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมาย, จัดทำแผนพัฒนาองค์การบริการส่วนจังหวัด และประสานการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดตามระเบียบที่คณะรัฐมนตรีกำหนด, บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น, จัดการ ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดการศึกษา รวมทั้งการจัดการหรือสนับสนุนการดูแลและพัฒนาเด็กเล็ก, ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนในการดูแลการจราจรและการรักษาความสงบเรียบร้อย ฯลฯ
ส่วนการกำกับดูแล ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจกำกับดูแลการปฏิบัติราชการขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ และระเบียบข้อบังคับของทางราชการ
สำหรับการได้มาซึ่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จะมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยมีที่มาดังนี้ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง ส่วน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด ใช้เขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง ในกรณีที่อำเภอใดมีสมาชิกเกิน 1 คน ให้แบ่งเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง เท่ากับจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่จะพึงมีในอำเภอนั้น แต่ละจังหวัดจะมีสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดจำนวนเท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนราษฎรของจังหวัดนั้น
ด้านวาระการดำรงตำแหน่ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้ ในกรณีดำรงตำแหน่งไม่ครบ 4 ปีก็ให้ถือว่าเป็น 1 วาระ และเมื่อได้ดำรงตำแหน่ง 2 วาระติดต่อกันแล้วจะดำรงตำแหน่งได้อีกเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปีนับแต่วันพ้นตำแหน่ง ส่วนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด อายุของสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด มีกำหนดคราวละ 4 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง
หน้าที่และอำนาจของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ต้องกำหนดนโยบายให้ไม่ขัดต่อกฎหมาย รับผิดชอบในการบริหารราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อบัญญัติ และนโยบาย สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ และเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยมีปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนจังหวัด รองจากนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดให้เป็นไปตามนโยบาย และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามที่นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด มอบหมาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันเด็กพรรคประชาชนคึกคัก 'ดช.ไอติม' ปลื้มร่างพ.ร.บ.ไม่ตีเด็กผ่านสภาฯ
พรรคประชาชนจัดกิจกรรมวันเด็ก “เมื่อทุกคนเลือกห้องเรียนเองได้” โดยบรรยากาศที่อาคารอนาคตใหม่เป็นไปอย่างคึกคัก เด็ก ผู้ปกครอง และประชาชนเดิ
'พิธา' ให้สัมภาษณ์งานแต่งข้ามขั้ว ครม.ครอบครัวสำคัญที่สุดในชีวิต
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางเข้าร่วมงานพิธีสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร สส.ลำปางพรรคเพื่อไทย และนางสาวรภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง พรรคประชาชน
ชื่นมื่น! 'ทักษิณ-พิธา' ร่วมงานแต่ง สส.ลำปาง เพื่อไทย-ประชาชน
นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร
ประธาน กกต. ไม่ฟังธง 'ทักษิณ' ช่วยหาเสียงชูนโยบายรัฐบาลเกินอำนาจ อบจ. ผิดหรือไม่
"อิทธิพร" เผยบัตรเลือกตั้งอบจ. เตรียมส่งถึงทั่วประเทศ เตือนผู้สมัคร หลีกเลี่ยงให้เงินแตะเอีย-สิ่งของในช่วงตรุษจีน
'สว.พิสิษฐ์' เตรียมจัดเวทีชำแหละร่างแก้รธน. หั่นเสียงวุฒิสภา ขัดปชต.-การถ่วงดุล
นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว. ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิสภา) กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256
กสม. ประณาม 'ทักษิณ' ปราศรัยเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน ย้ำไทยอยู่ภายใต้ CERD
กสม.ซัด 'ทักษิณ' จ้อเหยียดเชื้อชาติคนแอฟริกัน อบรมคนมีอิทธิพลทางสังคมไม่ควรทำ หวั่นโดนขยายความรุนแรง ซ้ำรอยความสูญเสียในอดีต