ผมจะไม่ให้เกิดขึ้นเลย แต่ถ้ารู้ว่าผู้บัญชาการหรือผู้บังคับการคนใด ใช้หน้าที่และอำนาจที่มีอยู่ ไปทำเช่นนั้น สิ่งแรกที่ผมจะทำคือจะย้ายมาไว้ที่ตร.เลย เพราะผมต้องการให้เรื่องนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ...หลักคิดของผม..ผ่านชีวิตตำรวจมา 36 ปี ตำรวจที่กินเลือดตำรวจ เป็นตำรวจที่มีพฤติกรรมที่เลวร้าย ถือว่าแย่ที่สุด...คิดว่าผู้บังคับบัญชาในอดีต พยายามแก้ไขเรื่องนี้ แต่ว่าในยุคผม ต้องไม่ให้มีเลย
ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ -ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์กับ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"ไว้ในหลายประเด็นสำคัญ ทั้งมุมชีวิตส่วนตัว เส้นทางชีวิตรับราชการตำรวจก่อนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผบ.ตร.คนที่ 15 ,นโยบายการทำงานในฐานะผู้นำหน่วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีกำลังพลทั่วประเทศร่วมสองแสนกว่าคน และความคืบหน้าคดีสำคัญๆบางส่วน ที่เกิดขึ้นช่วงปลายปี 2567 แล้วหลังจากนี้ คดีต่างๆ จะเดินต่อไปอย่างไร เป็นต้น
ส่วนเนื้อหา บทสัมภาษณ์มีอะไรน่าสนใจบ้าง ติดตามอ่าน ได้ตั้งแต่บรรทัดต่อจากนี้
เริ่มต้นคุยกันเบาๆ กับความรู้สึกที่ได้รับฉายา “กัปตันเรือกู้”ที่สมาคมผู้สื่อข่าวและช่างภาพอาชญากรรมแห่งประเทศไทย ตั้งให้ในช่วงการเผยแพร่ฉายาตำรวจ ประจำปี 2567 โดย"บิ๊กต่าย-ผบ.ตร."กล่าวว่า ฉายาเป็นอะไรที่เหนือความคาดหมายว่าวันหนึ่งเราจะมีฉายากับเขาด้วย แต่การเป็นกัปตันเรือ ก็คือการเป็นผู้นำ อย่างภาพยนต์เรื่องPirates of the Caribbean มีกัปตันเรือ ซึ่งเป็นบทบาทตัวเองเลย และพอเห็นฉายานี้(กัปตันเรือกู้) และผมเป็นกัปตันเรือที่ต้องนำนาวานี้ พาไปก็คือ องค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตัวฉายามีคำว่ากู้ด้วย ตอนแรกก็คิดว่าคือกู้อะไร แต่ก็เข้าใจได้ ว่าอยากให้ตำรวจหันกลับมาช่วยกันทำงานเพื่อประชาชนและทำให้ประชาชน มีความศรัทธาและเชื่อมั่นตำรวจ และกู้สิ่งที่ประชาชนต้องการกลับคืนมา
-ในชีวิตเคยคิดไว้หรือไม่ว่าจะได้เป็นผบ.ตร.?
เอาแค่พ.ต.อ. สมัยยังเด็ก ตอนเป็นตำรวจระดับ ร.ต.ต.-ร.ต.ท.-ร.ต.อ. ซึ่งพอได้เห็น สารวัตรใหญ่ ที่คือยศพ.ต.ท.ในยุคนั้น ช่วงปี 2532-2533 เราก็เห็นรุ่นพี่ตำรวจ ดูมีพลังอำนาจสูงมาก และพอขยับขึ้นไปเป็นพ.ต.อ. ผมก็คิดว่าชีวิตคงไม่ถึงตรงนั้น เราก็เป็นเด็กบ้านนอก พอเห็นผู้บังคับบัญชายศ พ.ต.อ. ก็บอกตรงๆว่าไม่เคยฝันถึงตรงนั้น ที่มาอยู่ตรงจุดนี้ ไม่เคยอยู่ในความคิดเลย ยิ่งกว่าเกินฝันอีก อันนี้จริงๆ ไม่เคยคิดเลย
-อยู่ในตำแหน่งสองปี เสียดายไหมเวลาน้อยไปหน่อย แล้วหากไม่ครบทำยังไง?
ผมว่านานครับ ก็ต้องตั้งใจทำ ในเมื่อเราได้รับการพิจารณา คัดเลือกจากคณะกรรมการก.ตร. และยิ่งได้รับพระมหากรุณาธิคุณ มีพระบรมราชโองการฯ โปรดเกล้าฯให้รับตำแหน่ง ผมถือว่า เป็นมงคลกับชีวิตและเป็นหน้าที่ซึ่งยิ่งใหญ่มาก กับการเป็นผู้นำองค์กรที่มีกำลังพลถึงสองแสนหนึ่งหมื่นกว่าคน ถือว่าเป็นองค์กรและส่วนราชการที่มีขนาดใหญ่ จึงต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
-ที่มอบนโยบายตอนเข้ารับตำแหน่งผบ.ตร. สิบห้าข้อ ภายใต้วิสัยทัศน์คือการเป็นตำรวจมืออาชีพ?
เป็นตำรวจมืออาชีพ ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส เพื่อความผาสุขของประชาชน
-ที่ให้นโยบายสิบห้าข้อ เป็นการเอาเคล็ดหรือไม่ เพราะเป็นผบ.ตร.คนที่สิบห้า?
ประมาณนั้น(ยิ้ม) สิบห้าข้อดังกล่าว หลักสำคัญคือการเป็นข้าราชการตำรวจ คือตั้งแต่เด็กไม่เคยคิดเลยว่าจะเป็นตำรวจ แต่คุณพ่อเป็นตำรวจ แต่ท่านเป็นระดับชั้นประทวน ตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว โดยเสียชีวิตตอนเป็นดาบตำรวจ ตอนที่ผมสอบติดโรงเรียนเตรียมทหาร ท่านขอลาออก เออรี่รีไทร์ ซึ่งด้วยการที่สัมผัสชีวิตคุณพ่อมา ต้องยอมรับว่าคุณพ่อก็ลำบาก คุณแม่ก็เป็นแม่บ้าน ดูแลลูกๆ ทำอาหารให้ลูก
จากการได้สัมผัสชีวิตของคุณพ่อกับชีวิตราชการตำรวจชั้นประทวน มันก็ติดฝังอยู่ในใจ ด้วยความที่ชีวิตราชการตำรวจดูจะลำบาก ก็เลยไม่อยากเป็นเลย ตอนแรกไม่ได้คิดอยากจะเป็น แต่พ่อก็บอกว่าให้ลองสอบดู ก็สอบติด แล้วก็รับราชการตำรวจ
พอรับราชการตำรวจ ความคิดที่เป็นรากฐานของการเป็นลูกตำรวจ และการรับราชการตำรวจตั้งแต่ยศร.ต.ต.จนก้าวขึ้นมาเป็นรองผบ.ตร. ยศพล.ต.อ. เราได้เรียนรู้ประสบการณ์ในแวดวงตำรวจและที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นในหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายบุ๋น-ฝ่ายบู๊ ทุกอย่าง การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างด้วยกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ก็ต้องถือว่าเรารับราชการจริงๆ มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2531 ถึงปัจจุบันก็ประมาณ 36 ปี
พอเราก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กร ก็เลยทำให้ผมเห็นว่าเรื่องต่างๆ ที่เราจะถ่ายทอดสู่ข้าราชการตำรวจทั้งหมด โดยเฉพาะรองผบ.ตร.-ผู้ช่วยผบ.ตร. -จเรตำรวจแห่งชาติ ลงไปถึงผู้บัญชาการ-ผู้บังคับการ และหัวหน้าสถานีตำรวจ ผมคิดว่าจากที่ได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ ก็อยากถ่ายทอดออกมาให้เข้าใจได้ง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายกันยาว ผมให้นโยบายไป ผู้รับนโยบายก็นำไปปฏิบัติ
นโยบายแต่ละข้อจากสิบห้าข้อ ก็ถือว่าเยอะ แต่หากจะทำเพื่อประชาชน ผมคิดว่าสิบห้าข้อยังน้อยไปด้วยซ้ำ แต่จะคัดเฉพาะเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ โดยมีเป้าประสงค์คืออยากให้ตำรวจเข้าใจความคิดของเรา และนำไปปฏิบัติเพื่อทำให้ผลลัพธ์ออกมา ประชาชนรู้สึกอุ่นใจ เชื่อใจตำรวจมากขึ้น
เมื่อถามถึง 15 นโยบายบริหารราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ประกาศไว้เช่น 1. ปกป้อง เทิดทูน และพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ 2 เปลี่ยนแนวคิด ค่านิยม และกรอบความคิด (MINDSET) ให้ตำรวจเป็นที่พึ่งของประชาชน จนข้อสุดท้าย 15. จัดสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ที่ตำรวจพึงมีอย่างเต็มที่ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้สินของตำรวจ การสร้างอาชีพเสริมรายได้โดยสุจริต และไม่กระทบกับงานประจำ
กับคำถามดังกล่าว"พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ"ย้ำว่า ก็คิดอยู่ในหัวตลอด ผมคิดว่า ตำรวจต้องเปลี่ยนไป จากที่เราจะเรียกร้องเงินเดือนเพิ่มขึ้น เราพึ่งตัวเองก่อน
... อย่างตอนผมเป็นผบช.กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ก็ได้มีแนวคิดเรื่องนี้ เพราะเราโตมาเราก็รู้ คือคุณพ่อเงินเดือนน้อย แล้วเราเห็นตำรวจตั้งแต่ชั้นเล็กๆ จนถึงระดับชั้นกลางๆ ก็จะมีปัญหาเรื่องเงินเดือนกับการไม่สัมพันธ์กับหน้าที่การงานที่เราทำ ที่เราทำหน้าที่อย่างหนักหน่วง
.... ผมเข้าใจตำรวจดี เลยคิดว่าการที่เราจะไปปรับเปลี่ยนเรื่องเงินเดือน ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะราชการก็คือราชการ แต่ถ้าเราใช้จุดแข็งของแต่ละคน ของแต่ละครัวเรือนของตำรวจ ผมคิดว่าเราควรให้เขาได้ประกอบอาชีพเสริมในสิ่งที่ตัวเองมี ไม่ว่าจะเป็นเช่นที่ดิน ความสามารถส่วนตัว หรือการเรียนรู้ด้านอาชีพ ก็จะมีรายได้เพิ่มเอง แต่ต้องไม่ให้กระทบกับหน้าที่ประจำของตัวเอง
ส่วนการที่ผู้บัญชาการ/ผู้บังคับการ จะต้องเป็น อินฟลูเอนเซอร์ ด้วยตนเองเพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชน ก็เป็นเรื่องที่คิดขึ้นมาเอง จากที่เราเห็นผู้จัดรายการหลายๆคน เราสงสัยว่าทำไมเวลามีเรื่องอะไรต้องไปพบบุคคลที่เขาจัดรายการเช่นนั้น แต่ถือว่าทุกคนมีส่วนร่วมในสังคมไทย ซึ่งในนโยบายสิบห้าข้อ ข้อที่หนึ่ง คือสิ่งที่เป็นสูงสุด ในการเป็นข้าราชการแผ่นดินนี้ แต่หลังจากข้อหนึ่ง อีกสิบสี่ข้อ ทุกข้อมีความสำคัญเท่ากันหมด เพียงแต่เราคิดอะไรออกก่อนก็เรียงลำดับมาเรื่อยๆ
...มีบางคนถามว่าทำไมเรื่องสวัสดิการตำรวจไปอยู่ในข้อสุดท้าย ผมยืนยันว่าสำคัญทุกข้อและเราจะทำไปพร้อมๆกัน
ในเรื่องของ อินฟลูเอนเซอร์ ผมคิดว่าทำไมคนที่รับเรื่องราวที่กระทบต่อความเป็นอยู่หรือเจอการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ทำไมเขาไม่มาหาตำรวจ เหตุใดไปหาบุคคลอื่นที่จัดรายการหรือรับเรื่องร้องทุกข์ ยังไง เขาก็ต้องมาประสานตำรวจ อันนี้คือความคิดที่อยู่ในหัวใจ
พอได้มีโอกาสตรงนี้ ผมเลยคิดว่า เราจะต้องผันตัวเองไปเป็นผู้มีอิทธิพลในด้านความคิดและการช่วยเหลือหรืออินฟลูเอนเซอร์ให้ได้ ผมเลยคิดว่า คนที่จะเป็นตรงนี้ ต้องเป็นผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ และลงไปท้ายสุดคือหัวหน้าสถานีตำรวจเพราะว่า ถ้าคนที่เขามีความทุกข์ร้อนแล้วเขามาหาเรา และเราสามารถทำได้
...อย่างนักจัดรายการ เราคิดว่าเราก็เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ได้ เพียงแต่ ต้องปรับMindset ตำรวจก่อนที่อยู่ในนโยบายข้อที่สองให้เข้าใจว่าเราคือตำรวจ เราสวมเครื่องแบบอันมีเกียรติ ต้องมีความคิดในใจว่าเรากินเงินเดือนของประชาชน และเงินเดือนตัวเองด้วยเพราะเราเสียภาษี แต่ผมต้องการให้ความรู้สึกในตัวของตำรวจ คิดว่าเราคือเจ้าหน้าที่ของรัฐ และเราเป็นองค์กรที่ใกล้ชิดประชาชนที่สุดมากกว่าข้าราชการในส่วนอื่น
ดังนั้นความเป็นตัวตนของตัวเองต้องถูกดึงออกมา แล้วหันหน้าเข้าหาประชาชน ทุกข์ร้อนต่างๆ ต้องถือเป็นความทุกข์ร้อนของเรา ถ้าเราคิดว่าคนที่มาหาเขาเป็นญาติของเรา เราจะปฏิบัติกับเขาเช่นใด ก็ต้องปฏิบัติเหมือนญาติเรา ทั้งการบริการ การดูแล การติดตาม ทำทุกอย่างเหมือนญาติเรา หรือคนที่เรารู้จัก ทำให้เหมือนกัน เสมอภาคกัน
.. ผมต้องการปรับความคิดนี้ให้เกิดขึ้นกับตำรวจ ซึ่งต้องใช้เวลา จะทำให้เร็วที่สุดเรื่องปรับmind-set เพราะการทำMindsetให้เกิดขึ้น ต้องเดินคู่ขนานกับตำรวจที่ทำดี แล้วเรายกย่องสรรเสริญ แต่ตำรวจคนไหนที่ทำไม่ดี ทำให้องค์กรเราเสียหาย เดินผิดเส้นทาง แล้วยังจะคิดว่าจะใช้หน้าที่การงานกับเครื่องแบบ ไปหาผลประโยชน์ อันนี้คือจะคู่ขนานกับMindsetที่เราจะลงโทษอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้ามาอยู่ในกรอบที่ผมคิดว่าจะเป็นตำรวจที่ดี
จุดยืน-หลักเกณฑ์ ทำโผบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กสีกากี
-ในการเป็นผบ.ตร.เรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจโดยเฉพาะระดับนายพล มีจุดยืนอย่างไร โดยเฉพาะที่มีข่าวเช่นมีตั๋วการเมือง แล้วตัวผบ.ตร.ทำอย่างไร?
สำหรับผมไม่อยากใช้คำว่า"ตั๋ว"คือจริงๆ ตำรวจเราก็ต้องทำงานภายใต้นโยบายของรัฐบาล และของนายกรัฐมนตรี แต่จุดยืนที่ผมคิด คือการบริหารงานบุคคลที่มีกฎหมาย ที่มีการเปลี่ยนแปลง จากพรบ.ตำรวจแห่งชาติปีพ.ศ. 2547 มาเป็นพรบ.ตำรวจแห่งชาติ ฉบับปัจจุบันพ.ศ. 2565 ที่มีการประกาศใช้เมื่อ 17 ตุลาคม 2565 นับถึงตอนนี้ก็คือ สองปีหลังการประกาศใช้กฎหมาย แต่ระหว่างที่มีการเปลี่ยนแปลง อันนี้คือจุดยืนที่มีกฎหมายเป็นหลักการและเป็นแบ็คอัพไว้ อีกอันหนึ่งที่สำคัญคือ "กฎก.ตร."ที่ออกมารองรับกฎหมายพรบ.ตำรวจแห่งชาติฯ
จุดยืนของผมก็คือ อยู่บนกฎหมายสองฉบับดังกล่าว แต่ก็มีอีกเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นใหม่ตามพรบ.ตำรวจแห่งชาติปี 2565 คือการมีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ (ก.พ.ค.ตร.)
เมื่อกฎหมายประกาศใช้ปี 2565 จนมาปี 2566 หลังมีคณะกรรมการฯ ก็มีการบริหารงานบุคคลขึ้นมา พบว่าก็มีการร้องทุกข์ จากการแต่งตั้งหรือการเรียงลำดับอาวุโส ซึ่งคำวินิจฉัยเหล่านั้น มาเกิดในยุคผมเป็นผบ.ตร. พอเกิดในยุคผม นั่นก็คือ "จุดหลัก" คือจุดยืน ก็คือ พรบ.ตำรวจแห่งชาติฯ กับกฎก.ตร. แต่จุดหลักคือคำวินิจฉัยที่เกิดขึ้นมาแล้วเราต้องให้ความสำคัญ และกฎหมายบอกว่าต้องปฏิบัติตามด้วย คือคำวินิจฉัยเป็นเหมือนแนวคิด ที่ทำให้เราเห็นว่าการบริหารงานบุคคลจะไปในทิศทางใด
ดังนั้นเมื่อมีกฎหมาย มีกฎก.ตร. และมีคำวินิจฉัยของ คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เลยทำให้การผสมผสานระหว่างราชการกับการเมือง จริงๆ แล้วเป็นไปได้ด้วยดี
ในการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเราไปหักหรือขัดแย้ง เอาตรงๆ ผมพูดตรงๆ ว่าไม่มีอะไรเลย แล้วทุกคนยอมรับในสิ่งที่เกิดการเปลี่ยนแปลงด้วยกฎหมาย -กฎก.ตร.และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เลยทำให้การพิจารณาของคณะกรรมการแต่งตั้งตามกฎหมายฯหรือที่เรียกกันคณะกรรมการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือคณะกรรมการตร. ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายตามมาตรา 78 (3) และมาตรา 81กฎหมายมี เราก็เดินไปตามนั้น
พอเดินไปตามนั้น เมื่อเรานำคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯ นำมาตั้ง เราก็เอาคำวินิจฉัยมาดูเหมือนฎีกา แล้วมาดูเป็นคู่เทียบกัน ดูลำดับอาวุโสและความสามารถประกอบกันในการพิจารณา และผลงานที่จะอยู่ในส่วนของเรื่องความรู้ความสามารถ เลยออกมาเป็นการพิจารณาที่ทำให้สังคมเห็นว่าออกมาแบบนั้น
-เห็นอดีตตำรวจหลายคนบอกว่า การแต่งตั้งระดับนายพลที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่ไม่มีการเมืองเข้าไปบีบ เข้าไปแทรก?
ถ้ามองโดยทั่วไป เหมือนจะเป็นอาวุโสเกือบหมดเลย แต่จริงๆ การพิจารณาใช้หลักสองหลักนั้น(อาวุโส-ความรู้ความสามารถ)
และมีจุดที่เราต้องนำมาพิจารณาด้วยคือคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ การพิจารณาถึงออกมา โดยที่คนที่ได้รับการพิจารณา เหมือนกับว่า หากคนทั่วไปมองคือเรียงลำดับอาวุโสเลย แต่จริงๆ เราดูตัวบุคคลที่คณะกรรมการฯเสนอแนะ ตามกฎหมายแล้วก็เทียบกัน เทียบระหว่างอาวุโสมากกับอาวุโสน้อย แล้วก็มาดูความรู้ความสามารถประกอบกับกฎหมาย ผลก็เลยออกมาตามนั้น
-โผแต่งตั้งโยกย้ายนายพลรอบสุดท้ายระดับรองผบช.ลงมาถึงผบก.ที่เลื่อนการพิจารณาออกไป สาเหตุเพราะอะไร?
เดิมทีคิดว่า 15 ธ.ค. 2567 (นำรายชื่อเข้าที่ประชุมก.ตร.) เราคิดว่าเราจะสามารถดำเนินการได้ไปตามกระบวนการ แต่เนื่องจากว่า มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ เป็นเหตุผลที่หนึ่ง ที่มีคำวินิจฉัยออกมาจากคำร้องทุกข์ ของกลุ่มที่คิดว่าจะได้รับการพิจารณาจากกลุ่มสายงานด้วย รวมถึงมีการให้เยียวยาด้วยจากคำสั่งครั้งที่แล้ว คือหมายถึงกลุ่มที่ต้องได้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ประกอบกับกระบวนการขั้นตอนการแต่งตั้งตามกฎหมาย และกฎก.ตร.ต้องเดินหน้าไป แต่ด้วยเหตุจากคำวินิจฉัยที่ออกมา เมื่อนำมาเทียบแล้ว เราจำเป็นต้องให้เวลากับหน่วยในระดับพื้นที่ คือ กองบังคับการ หรือภูธรจังหวัด ที่ต้องเสนอชื่อผู้เหมาะสม จากนั้นจะเป็นการพิจารณาของคณะกรรมการในระดับ กองบัญชาการ
ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนดังกล่าว ตามมาตรา 81 ของพรบ.ตำรวจแห่งชาติฯ ส่วนเรื่องการร้องเรียนไม่มี แต่เป็นเรื่องเดิม แต่มาออกคำวินิจฉัยในช่วงปัจจุบัน ซึ่งเราต้องนำมาพิจารณาประกอบในเรื่องของขั้นตอนและกระบวนการแต่งตั้ง
เลยทำให้จากเดิมที่เคยคิดว่าจะพิจารณาได้ 15 ธ.ค. 2567 ดูแล้วไม่ทันแน่ จึงมีการเสนอเรื่องให้ที่ประชุมก.ตร.อนุมัติมีมติให้ขยายเวลาการพิจารณาออกไปอีกครั้งหนึ่ง
ดูแล้วขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ เรามั่นใจว่าจะพิจารณาได้ภายในไม่เกิน 15 มกราคม 2568 โดยการพิจารณารอบนี้ ถ้าระดับผู้บังคับการก็ประมาณ 78 ตำแหน่ง (แต่งตั้งใหม่) ส่วนผู้บังคับการขึ้นรองผบช.จะมี 41 ตำแหน่ง ก็มีการแข่งขันกันเยอะมาก
-กล่าวได้ไหมว่าในยุคผบ.ตร. พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ค่าของคน จะไม่ใช่อยู่ที่ว่าเป็นคนของใคร มันจะเหลือน้อยลงใช่หรือไม่?
ด้วยกฎหมายที่บัญญัติขึ้นมาใหม่ เราต้องมองถึงบุคคลคือข้าราชการตำรวจที่มี คุณสมบัติเหมาะสมและครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ เพื่อไปพิจารณาใส่ในตำแหน่งว่าตำแหน่งดังกล่าวเหมาะสมกับคนที่จะพิจารณาหรือไม่ เพราะเราถูกกำหนดด้วยกฎหมายที่บัญญัติเรื่องอาวุโสประกอบกับความรู้ความสามารถ
-ในอดีตอาจจะเคยมีข่าวทำนองว่า ตำแหน่งผู้กำกับ ต้องกี่ล้าน ตำแหน่งผู้บังคับการต้องกี่ล้าน คาดว่าในยุคปัจจุบันและยุคต่อๆไปจะเบาบางลงใช่หรือไม่?
ผมจะไม่ให้เกิดขึ้นเลย แต่ถ้ารู้ว่าผู้บัญชาการหรือผู้บังคับการคนใด ไปใช้หน้าที่และอำนาจที่มีอยู่ แล้วไปทำเช่นนั้น สิ่งแรกที่ผมจะทำคือจะย้ายมาไว้ที่ตร.เลย อันนี้พูดแบบเปิดใจเลยครับ เพราะผมต้องการให้เรื่องนี้เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยที่ไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง
หลักคิดของผม ที่ได้บอกแล้วว่าผมเติบโตมาจากครอบครัวตำรวจ และผ่านชีวิตตำรวจมา 36 ปี ตำรวจที่กินเลือดตำรวจ ผมคิดว่าเป็นตำรวจที่มีพฤติกรรมที่เลวร้าย มากกว่าที่ไปทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อองค์กรอีก ถือว่าแย่ที่สุด ผมคิดว่าผู้บังคับบัญชาในอดีต ก็พยายามแก้ไขเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ว่าในยุคผมเองต้องไม่ให้มีเลย
ความหลัง-ความรู้สึกตอนเซ็นคำสั่ง ให้บิ๊กโจ๊กออกจากราชการไว้ก่อน
-ตอนช่วงรักษาการผบ.ตร. ตอนที่เซ็นคำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนและตั้งคณะกรรมการสอบวินัย กรณีบิ๊กโจ๊ก (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล) ตอนนั้นใจสั่นไหม?
ใจไม่สั่น แต่มีความรู้สึกว่า ทำไม เราต้องมาอยู่ ณ จุดนี้ ทำไมเราต้องมาพิจารณาเรื่องแบบนี้ คือเป็นตำรวจด้วยกันและเป็นข้าราชการตำรวจระดับผู้ใหญ่ด้วย แต่ ณ เวลานั้น ตั้งแต่นั่งรักษาการตั้งแต่วันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 อันนี้ผมจำได้เลย ตอนรับหน้าที่รักษาการ ผมเองก็เซอร์ไพรส์ เพราะผมเอง ตอนนั้นลำดับอาวุโสอยู่อันดับสาม ตอนนั้นมีท่านพล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ อดีตรองผบ.ตร. อาวุโสอันดับหนึ่ง แล้วท่าน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อาวุโสอันดับสอง ผมกำลังอบรมหลักสูตร นิติธรรมเพื่อประชาธิปไตย (สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ) ก็มีคำสั่งออกมาให้ผมรักษาการผบ.ตร. (แทนพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อดีตผบ.ตร.)
พอมีคำสั่งออกมา เราแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่พอเห็นหนังสือที่ให้ข้าราชการตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ ที่สำนักนายกรัฐมนตรีเราก็คิดว่าคงเกิดอะไรขึ้นแล้ว ก็ไม่ค่อยอยากไปยุ่งอะไร
คือผมเป็นคนไม่ค่อยไปยุ่งอะไรกับใคร ขอทำงานแบบมีความสุขให้องค์กรกับตำรวจ ผมพอใจแล้ว และเติบโตมาจนถึงเป็นรองผบ.ตร. มันเกินความคิด ปรากฏว่าเนื้องาน ผมไม่ค่อยกังวลอะไร แต่ปรากฏว่าได้รับรายงานในเรื่องของวินัยกับอาญา จำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ และต้องตัดสินใจที่จะต้องออกคำสั่งตามที่ได้ถามข้างต้นสองคำสั่ง(คำสั่งให้ข้าราชการตำรวจออกจากราชการไว้ก่อนกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบวินัย)
ซึ่งเราพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และรอบคอบ หากไม่ดำเนินการใดๆ ผมเองอาจจะโดนมาตรา 157 (ประมวลกฎหมายอาญา)ด้วย แต่ถ้าดำเนินการอะไรออกไป ก็รู้อยู่ว่า อะไรจะเกิดกับเรา แต่ไม่มีใจสั่งหรือวิตกกังวล ก็เลือกในสิ่งที่ถูกต้อง ก็เป็นหน้าที่ซึ่งต้องดำเนินการ
ที่ออกสองคำสั่งเมื่อ 18 เมษายน 2567 และก่อนเรื่องจะไปที่คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯ ก็มีหลายขั้นตอนก่อนหน้านั้น ทั้งการพิจารณาของคณะอนุกรรมการวินัยฯ ของก.ตร. จนไปถึงคณะกรรมการก.ตร. จนไปถึงคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมฯ (พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ยื่นอุทธรณ์)
แต่เมื่อถึงตอนนี้ ผมก็ต้องพูดตรงๆ จากใจเหมือนกัน แบบเปิดใจเลยว่า ผมไม่เคยคิดที่จะไปกำจัดคู่แข่ง หรือคู่เทียบ หรือแคนดิเดต แม้แต่คนเดียว เพราะผมไม่ได้คิดอยู่ในหัวเลยว่า วันหนึ่งจะต้องเป็น(ผบ.ตร.) เพราะผมรู้ว่าการเป็นนั้นเป็นเรื่องที่หนักหนาในภารกิจและความรับผิดชอบ อย่างที่บอกคืออยากอยู่เงียบๆ แบบสงบๆ
-เคยได้พบปะพูดคุยกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์บ้างหรือไม่?
ไม่เคยได้คุยเลยครับ
ความคืบหน้าคดีสำคัญ หลังเข้ารับตำแหน่งผบ.ตร.
-ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งผบ.ตร.มีคดีสำคัญๆ เกิดขึ้นหลายคดี?
ก็ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง 1 ตุลาคม 2567 ก็เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้รถบัสเด็กนักเรียน
วันนั้นกำลังจะไปร่วมประชุมกับนายกฯ ที่นนทบุรี ก็อยู่บนโทล์เวยได้ครึ่งทางก็ได้รับแจ้งเหตุ รถบัสเด็กนักเรียนที่มาจากอุทัยธานีที่เดินทางมาทัศนศึกษาแล้วเกิดเหตุไฟไหม้ ผมก็ตัดสินใจตอนนั้นให้เปลี่ยนเส้นทางไปดูที่เกิดเหตุทันที ก็พยายามคิดในหัวและประมวลว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ให้การบริหารเหตุการณ์เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
-หลังจากนั้น ก็มีคดีสำคัญๆเกิดขึ้นเยอะเช่นคดีดิไอคอน คดีทนายตั้ม คดีการเสียชีวิตของสจ.โต้ง เอาอยู่ไหม เพราะคนก็มองว่า ส่วนใหญ่เติบโตมาจากสายบริหาร เคยเป็นผบช.ภาค 8 ก็ช่วงปีกว่าๆ ?
คือเรามองภาพคดีออกเนื่องจากผ่านประสบการณ์การทำงานมา 36 ปี ซึ่งเราผ่านทั้งงานบุ๋นและบู๊มา ที่หลายคนอาจจะไม่รู้ แต่ตอนที่อยู่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 ก็บุ๋นและบู๊ ประกอบกัน แต่ผมโชคดีที่พอขึ้นเป็นระดับนายพล ตอนที่ขึ้นจากรองผู้บังคับการขึ้นไป ก็ได้มีโอกาสดูแลงานบริหาร ซึ่งผสมผสานกัน
และในช่วงที่เป็นผช.ผบ.ตร. ผมทำงานกับท่านพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข อดีตผบ.ตร.ซึ่งถือว่าท่านเป็นยอดนักสืบ ปรมาจารย์นักสืบจริงๆ และก่อนหน้านั้น ผมก็ทำงานสัมผัสกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงเยอะ ที่มีทั้งบุ๋นและบู๊ ก็ได้เห็นอะไรมาก็ปรากฏว่าพอมันเกิดคดี ในความคิดของเรา เราก็ต้องบริหารคดีกับบริหารสื่อ เพราะเราคิดว่าใครก็ตามที่เกิดเรื่อง มันจะหลบสื่อ ก็ไม่รู้จะหลบทำไม มีอะไรก็พูดตรงๆกัน ตอนนั้นก็มีทั้งคดีดิไอคอนฯ คดีขายทองตั๊ก และคดีต่างๆ
โดยเฉพาะคดีดิไอคอน เป็นคดีใหญ่ ผมไม่ได้คิดอะไรเลย นอกจากอยากจะไปดูผู้ใต้บังคับบัญชาที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางว่าทำคดีเป็นอย่างไร ก็เลยไปที่กองปราบปราม ก็เจอผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในห้องรับแจ้งความ ก็ไปพูดคุยด้วย ก็ได้ข้อเท็จจริงมาบ้าง ว่าเขาถูกหลอก แล้วเป็นทุกข์ เราก็สงสาร ก็ดูการทำงานของพนักงานสอบสวนที่นั่งสอบสวนกัน ก็รู้ว่าเหนื่อย ผู้เสียหายก็เป็นทุกข์ เดินออกมาก็เจอผู้เสียหายที่รอแจ้งความ ก็พอเข้าห้องประชุมเล็กหรือวอร์รูม ก็เลยเขียนเป็นชาร์จออกมา ว่าการบริหารคดีควรทำอย่างไร ทั้งการรับแจ้งความ เช่นจะทำอย่างไรให้คนที่แจ้งความ แจ้งได้ตรงประเด็น เช่น คดีนี้ทำความผิดตามฐานกฎหมายใด มาตราใด
ทุกอย่างเป็นองคาพยพที่เราคิดและเราเขียนออกมา เป็นเรื่องการบริหารคดี ที่เป็นโมเดลที่คิดว่าไปได้ดี ในส่วนของคดีดิไอคอนฯ ที่มีการโอนคดีให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพราะเป็นคดีที่มีผู้เสียหายเข้าองค์ประกอบ รวมถึงมูลค่าความเสียหายเข้าองค์ประกอบของคดีพิเศษ แต่ผมมองว่าในช่วงเวลานั้น เราบริหารคดีได้แล้ว และทุกวันก็มีการให้ข้อมูลคดีกับสื่อ ผมไปก็จะมีการทิ้งระยะ เพื่อไปติดตามความคืบหน้า และต่อมาก็มีการเปิดศูนย์รับแจ้งความทั่วประเทศก่อนส่งสำนวนคดีให้ดีเอสไอ ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นเรารู้แล้วว่าคดีดิไอคอนฯ เข้าองค์ประกอบคดีพิเศษ ซึ่งการจะส่งไปที่ดีเอสไอ ก็มีกรอบเวลาที่เราต้องส่งสำนวนไป แต่เราทำทุกอย่าง ผมมีการเร่งรัด เพราะยังไงคดีดิไอคอนฯ ต้องส่งไปเพราะจำนวนผู้เสียหาย มูลค่าความเสียหาย และฐานความผิดของกฎหมายแต่ละฉบับ เข้าเงื่อนไขตามพรบ.คดีพิเศษ ฯ และข้อบังคับของกรมสอบสวนคดีพิเศษ
ก่อนส่งสำนวนไปให้ดีเอสไอ เรารู้แล้วว่าต้องส่งให้ดีเอสไอ แต่หากโดยทั่วไป ก็อาจไม่อยากทำแล้วส่งไปเลยดีกว่า แต่ผมบอกว่า เราต้องทำให้ถึงสุดทาง -แน่นหนาและรอบคอบก่อนส่งไป ซึ่งมีการร่วมมือกันระหว่าง ตำรวจ-ดีเอสไอและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
ส่วนคดีนพ.บุญ วนาสิน ตอนนี้ หมอบุญหนีคดีอยู่ แต่ด้วยการที่ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางและกองบัญชาการตำรวจนครบาล เป็นสองหน่วยงานที่รับแจ้งความ ผมเองก็เข้าไปดูเรื่องนี้เอง โดยนครบาลกับสอบสวนกลางก็ทำไป แต่ในหลักของการบริหารคดี ก็ต้องดูว่าแต่ละหน่วยทำไหวหรือไม่ ต่อมาพบว่าผู้เสียหายเริ่มมากขึ้น วงเงินที่ถูกหลอกลวงและเสียหายเริ่มสูงขึ้น ผมก็เลยตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของตร.โดยมีพล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผช.ผบ.ตร.เป็นหัวหน้าคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนของตร. ภายใต้การดูแลของพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผบ.ตร. ที่คุมงานสืบสวนสอบสวน ซึ่งตอนนี้คดีไปที่ดีเอสไอแล้ว แต่ทุกอย่างต้องทำให้สมบูรณ์และสุดทางก่อนเราถึงส่งสำนวนไป ซึ่งดีเอสไอ ก็ให้เป็นคดีพิเศษ โดยหลังปีใหม่ นายกฯกับท่านภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ จะเรียกหารือว่า ทิศทางของคดีนี้ เราจะร่วมมือกันระหว่าง ตำรวจ-ดีเอสไอ-ปปง. อย่างไร ซึ่งเรามีโมเดลอยู่แล้ว
-คดีเหตุยิงนายชัยเมศร์ สิทธิสนิทพงศ์ หรือ สจ.โต้ง เสียชีวิตภายในบ้านพัก นายสุนทร วิลาวัลย์ อดีตนายก อบจ.ปราจีนบุรี ที่อาจจะมีเรื่องทำนองสีสันการเมืองด้วย หนักใจหรือไม่?
ไม่มีอะไรหนักใจ และไม่เคยคิดถึงเรื่องการเมืองเลยแม้แต่นิดเดียว ตอนแรกที่ได้รับแจ้งเหตุจาาก ผบก.ตำรวจภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเดียวกัน
หลักคิดของเราคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร พฤติการณ์รายละเอียดเบื้องต้นเป็นอย่างไร ก็ขอรู้เบื้องต้น พอรู้แล้ว เราก็คุยกับพล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผช.ผบ.ตร. เราก็หารือกัน เสร็จแล้ว เราก็แนะนำ ผบช.ภาค 2 พล.ต.ท.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ กับผบก.ภูธรจังหวัดปราจีนบุรี ทางโทรศัพท์ ว่าให้เดินตามทิศทางรูปคดีที่เกิดขึ้น การบริหารคดีคือ เกิดเหตุอย่างไร มีพยานหลักฐานอะไร เก็บให้หมดแล้วก็เรียกตำรวจพิสูจน์หลักฐานเข้าไป
คดีนี้ไม่มีอะไรซับซ้อนเลยคือเป็นคดีฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามทิศทางที่เกิดขึ้น การบริหารคดีก็คือ ใครเป็นผู้กล่าวหา ใครเป็นผู้ต้องหา ก็อยู่ในที่เกิดเหตุทั้งหมด บวกกับอีกหนึ่งคนคือ อดีตนายกฯอบจ.ปราจีนบุรี นายสุนทร ก็อยู่ด้วยกันหมด จึงเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรยุ่งยากสลับซับซ้อน ซึ่งคดีก็โอนมาที่กองปราบปรามแล้ว ก็ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ในคดีที่ตำรวจปราจีนบุรีและกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ได้ทำคดีนี้อย่างดีแล้ว ทั้งการสอบสวน การเก็บรวบรวมพยานหลักฐาน การดำเนินการร่วมกับพิสูจน์หลักฐานประจำจังหวัดปราจีนบุรี แต่การที่โอนคดีมาที่กองปราบปราม ก็เป็นความสบายใจของคนในพื้นที่และตำรวจ เพราะตำรวจไม่ได้ขึ้นอาณัติกับใคร แต่ผมคิดว่า มีกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นอาวุธที่ทรงประสิทธิภาพ อีกทั้งญาติของอดีตสจ.โต้ง ร้องขอมาด้วย
-จะกลายเป็นโมเดลหรือไม่ หากต่อไปเกิดคดีแบบนี้อีก แล้วมีการร้องขอให้ตำรวจจากส่วนกลางไปทำคดี จนผู้บังคับการจังหวัดอาจไม่ได้โชว์ฝีมือ?
เอาที่ปราจีนบุรีก่อน อันนี้พูดแบบไม่ได้เพราะว่าเป็นเพื่อนกัน แต่ผมคิดว่า ผบก.ปราจีนบุรี เก่งงานสอบสวนและเริ่มต้นการทำคดีได้ดี
ดังนั้น เขาได้โชว์ฝีมือให้เห็นจริงๆ ว่าทำได้ดี และหากเป็นจังหวัดอื่นเกิดขึ้น ดุลยพินิจในการโอนคดีอยู่ที่อำนาจของผบ.ตร. ถ้าเรามองว่าเป็นคดีที่พื้นที่ทำได้ และสามารถดำเนินการได้เองโดยขีดความสามารถของพนักงานสอบสวน และฝ่ายสืบสวน เราก็ต้องให้เขาทำต่อ แต่หากเป็นคดีใหญ่ เป็นที่สนใจ มีความสลับซับซ้อน ผมคิดว่าเพื่อไม่ให้เกิดความเคลือบแคลงใดๆ เราก็จะพิจารณาเป็นเคสๆ ไป
-หลังเกิดเหตุที่ปราจีนบุรี ก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการปราบปรามผู้มีอิทธิพล ซึ่งในส่วนของตร.ก็มี ปฏิบัติการยุทธการ 767 ปราบปราม ผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง และแก๊งอาชญากรรม ทั่วประเทศ ซึ่งการกวาดล้างผู้มีอิทธิพลแบบเอาจริงเอาจัง หรือจะแค่คำรามเฉยๆ ในปี 2568?
คดีที่ปราจีนบุรี ก็เหมือนเป็นบททดสอบตำรวจเหมือนกัน ว่าจะทำอย่างไร ว่าจะเป็นเรื่องของการเมืองหรือไม่ เป็นคำถามที่ทุกคนถามว่าเป็นเรื่องการเมืองใช่หรือไม่
ผมเองก็ตอบว่าเบื้องต้นเราเชื่อว่าเป็นความขัดแย้งการเมืองท้องถิ่น แต่ผมคุยกับผช.ผบ.ตร. พล.ต.ท.อัคราเดช ในวันรุ่งขึ้นหลังวันเกิดเหตุว่า ผมไม่พอใจในพฤติการณ์ที่เกิดเหตุแบบนี้ คือรู้สึกเป็นทุกข์ เป็นร้อนแทนชาวบ้าน คือจะฆ่ากันแบบในหนังแบบนี้หรือ แล้วเราจะปล่อยให้เหตุการณ์เป็นแบบนี้หรือ ใครจะมาเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือกฎหมายได้อย่างไร
ผมเองจึงสั่งพล.ต.ท.อัคราเดชว่าให้แจ้งพล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ตำรวจสอบสวนกลางให้จัดทีม กองปราบปรามไปบูรณาการการทำงานกับกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 และตำรวจสืบสวนจังหวัดปราจีนบุรี เพื่อไปเอาข้อมูลทั้งหมดที่มีอยู่ว่าใครที่มีอาวุธในครอบครอง ค้นให้หมด แต่ไม่ใช่การแสดงความเป็นใหญ่ในการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ต้องการแสดงให้เห็นถึงเรื่องกฎหมายนำ ที่ทุกคนต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย การต่อสู้กันในเรื่องการเมืองท้องถิ่น ก็สู้กันด้วยการเป็นการเมือง แต่ไม่ใช่มาใช้ความรุนแรงประหัตประหารกัน
-คือในยุคผบ.ต่าย จะไม่มีการจัดฉาก สร้างอีเวนต์การปราบปรามผู้มีอิทธิพล?
ใช่ครับ ผมอาจจะถูกเกลียดชัง อาจจะถูกกากบาท แต่ความเป็นเลือดตำรวจ ผมไม่เคยหวั่นวิตกในเรื่องเหล่านี้
ผมพูดกับผู้บริหารของตร.ทั้งพล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ และ พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข ที่รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามและงานสืบสวนฯ ว่า เราจะปล่อยให้มีการใช้อาวุธเช่นนี้ต่อไปหรือไม่ และจะปล่อยให้ผู้ที่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อยู่ในสังคมต่อไปหรือไม่ ขอฝากฝ่ายป้องกันและปราบปรามกับฝ่ายสืบสวนฯ ไปคิด
ตัวผมเองก็คิดตลอดเวลา ผมจึงมีแนวคิดตั้งศูนย์ปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้างขึ้นมา โดยมีพล.ต.อ.ประจวบ เป็นผอ.ศูนย์ฯ -พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี ผช.ผบ.ตร.เป็นรองผอ.ศูนย์ฯ ให้ประกอบกำลังกัน แล้วเอาเคสที่ปราจีนบุรี ซึ่งก็ไม่อยากใช้คำว่าโมเดล ขอใช้คำว่า "เหตุที่เกิดขึ้น" เป็นอุทาหรณ์ในฐานะที่เราเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ชาวบ้านเขาจะอยู่อย่างไรในเมื่อยิงกันขนาดนี้ เขาจะระแวงไหมว่า วันดีคืนดี ไม่เอาปืนมายิงกระหน่ำกันข้างนอกบ้านหรือ จะเดินไปไหนมาไหนต้องคอยระวังลูกหลงหรือไม่
ดังนั้นการเมืองท้องถิ่นที่กำลังจะเกิดขึ้นจะต้องไปในวิถีของการเมืองที่ถูกต้องและดีงาม แต่พวกที่ใช้อาวุธแล้วมีแนวโน้มเกิดความขัดแย้ง จะต้องไม่มีในสังคมไทยเด็ดขาด
"การได้เป็นผบ.ตร.ก็คือต้องนำ กำลังคนถึงสองแสนหนึ่งหมื่นกว่านายมาทำงาน แต่โดยหลักคิดก็คือเพื่อพี่น้องประชาชน ผมได้พูดเสมอว่าขอโอกาสให้ตำรวจ ที่อยากให้ประชาชนได้เชื่อมั่น ได้อุ่นใจและเชื่อถือเรา ผมต้องการให้ตำรวจไปที่ไหน ประชาชนก็จะบอกว่า ตำรวจเขาเปลี่ยนแปลงไป ขอถ่ายรูปด้วย ดีใจเหลือเกินที่เป็นแบบนี้ ผมจะทำทุกสิ่งทุกอย่าง อย่างเต็มกำลังความสามารถในขณะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ เพื่อให้ความคิดที่เราได้กำหนดไว้ว่า ตำรวจที่ไม่ดี เราก็จะดำเนินการทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อไม่ให้อยู่ในสังคมตำรวจ ดังนั้น ตำรวจทุกคนต้องอยู่ในกรอบที่เราควรให้เป็น"พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร. กล่าวทิ้งท้าย หลังการสัมภาษณ์เสร็จสิ้นลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปธ.กมธ.ตำรวจ จี้ ผบ.ตร. สอบด่วน! หลักสูตรอบรมตำรวจจีนเทา ท้าทายกฎหมายไทย
นายชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ตร.) กล่าวถึงกรณีมีกระแสข่าวการจัดอบรมอาสาสมัครตำรวจต่างชาติคนจีน โดยมีการเก็บเงินค่าอบรม 38,000 บาทต่อคน
ผบ.ตร.เสียใจ เหตุเพลิงไหม้โรงแรม ชาวต่างชาติเสียชีวิต-บาดเจ็บ
30 ธ.ค.2567 - พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีเพลิงไหม้โรงแรมบนถนนตานี แขวงตลาดยอด เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อคืนวันที่ 29 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ชาวต่างชาติเสียชีวิต 3 ราย
2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง
กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น
'บิ๊กต่อ' รวย 209 ล้าน เลิกซุกบ้านอังกฤษ โชว์ 2 หลัง 103 ล. ไม่เจอเงินกู้
ป.ป.ช. เปิดเซฟ 'บิ๊กต่อ' พ้น ผบ.ตร. ทรัพย์สิน 209 ล้านบาท มีบ้านพร้อมที่ดินที่อังกฤษ 2 หลัง มูลค่า 103 ล้าน ไม่พบเงินกู้ยืม 20 ล.
ฝาก 'บิ๊กต่าย' ขันน็อตตำรวจ คุมเข้มชายแดนสกัดยาเสพติด ช่วงเทศกาล
'ธนกร' ฝาก 'ผบ.ตร.' ขันน็อตตำรวจ สั่งปฏิบัติการพิเศษ ร่วมฝ่ายความมั่นคง คุมเข้มชายแดนสกัดยาเสพติด หวั่นแก๊งค้ายาฉวยโอกาสขนถ่ายช่วงเทศกาลปีใหม่
ผวาหายนะ! บี้ '2พ่อลูกชินวัตร' ทบทวนพฤติกรรม บ้านเมืองไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราข โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ทักษิณ คุณเป็นใคร? หลังจากนายทักษิณ ชินวัตร