วิสาหกิจเพื่อสังคม (social enterprise) หรือ องค์กรที่ประกอบธุรกิจเพื่อช่วยเหลือสังคม นับเป็นองค์กรประเภทหนึ่งที่มีบทบาทในนำแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (sustainable development) ไปปฏิบัติอย่างแท้จริงได้ ในช่วงเวลา ๒-๓ ทศวรรษที่ผ่านมา วิสาหกิจเพื่อสังคมในหลายประเทศทั่วโลกที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมพิสูจน์ให้เห็นว่า การประกอบธุรกิจขององค์กรสามารถช่วยเหลือสังคมได้จริง ตัวอย่างเช่น ธนาคารกรามีน (Grameen Bank) ในประเทศบังกลาเทศ ซึ่งก่อตั้งโดยมูฮัมหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ผู้ชนะรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ที่ได้ช่วยเหลือผู้ยากไร้ในประเทศไปแล้วเป็นจำนวนกว่า ๑๐ ล้านคน ผ่านการให้ “สินเชื่อรายย่อย” (micro credit) แก่ผู้ยากไร้ ทำให้ผู้ยากไร้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพสร้างรายได้ หรือ ซอฟต์ แลนดิ้ง (Soft Landing Mattress Recycling) วิสาหกิจเพื่อสังคมจากออสเตรเลียซึ่งทำธุรกิจการรีไซเคิล (recycle) เตียงที่นอนและฟูก โดยช่วยลดปริมาณขยะที่จะถูกนำไปกลบฝังแล้วมากถึง ๗,๕๒๕ ตันด้วยกัน
ในสังคมไทยในปัจจุบัน วิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นคำที่คุ้นหูผู้คนมากขึ้น ตัวอย่างวิสาหกิจเพื่อสังคมของประเทศไทยที่เป็นที่รู้จัก เช่น มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ฯลฯ ซึ่งมูลนิธิเหล่านี้มิได้ดำเนินการแบบองค์กรไม่แสวงหากำไร (non-profit) แบบดั้งเดิม ที่พึ่งพาเงินบริจาค หรือเงินสนับสนุนเพียงช่องทางเดียว แต่เมื่อมูลนิธิเหล่านี้กลายมาเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมแล้ว ก็จะมีการประกอบการจำหน่ายสินค้าต่างๆ เพื่อนำรายได้เข้าสู่องค์กรอีกหนึ่งช่องทาง และนำผลกำไรที่ได้กลับคืนสู่สังคม ช่วยเหลือสังคม รวมถึงสิ่งแวดล้อม (หากองค์กรมีวัตถุประสงค์ในการจ้างงานผู้ยากไร้ ผลกำไรก็จะถูกจัดสรรไปเป็นค่าจ้าง) ตามวัตถุประสงค์ที่องค์กรถูกจัดตั้งขึ้น อย่างไรก็ดี วิสาหกิจเพื่อสังคมไม่จำต้องอยู่ในรูปแบบขององค์กรไม่แสวงหากำไร อันที่จริงแล้ว วิสาหกิจเพื่อสังคมหลายแห่งในปัจจุบันก็มีที่มาจากการเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มาก่อน เช่น โลเคิล อไลค์ (Local Alike) ที่เป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมอันมุ่งเน้นการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชนด้วยการทำงานพัฒนาร่วมกันการชาวบ้าน
ประเทศไทยตราพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. ๒๕๖๒ เพื่อกำกับดูแล และส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศ โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวกำหนดให้องค์กรที่ประสงค์จะใช้ชื่อวิสาหกิจเพื่อสังคมต้องได้รับการรับรอง (certify) จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม (สวส.) ซึ่งในปัจจุบัน ตามข้อมูลของ สวส. ประเทศไทยมีวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการรับรองแล้ว จำนวน ๓๒๑ แห่ง โดยวิสาหกิจเพื่อสังคมเหล่านี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด ดังต่อไปนี้
· การสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม
· การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล
· การสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
· สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่น
ดั่งที่กล่าวไว้แล้ว วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม และสิ่งแวดล้อมได้ ในประเด็นนี้ หากพิจารณาจากกรอบของกฎหมายที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ดูราวกับว่า ภาครัฐไทยสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมเป็นอย่างดี วิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยก็น่าจะเติบโต และสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ อย่างไรก็ตาม การเติบโตของวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของขนาดธุรกิจกลับยังไม่เห็นวี่แววที่ชัดเจน
สาเหตุสำคัญเพราะรัฐบาลยังไม่ได้มีแนวทางการส่งเสริมอย่างจริงจัง ทุกวันนี้แม้ สวส. จะพยายามขับเคลื่อนการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม แต่หากกลไกการส่งเสริมตามกรอบของกฎหมายยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร การทำงานของ สวส. ก็ย่อมเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ตัวอย่างเช่น กองทุนวิสาหกิจเพื่อสังคม ยังขาดการอุดหนุนอย่างเพียงพอที่จะช่วยวิสาหกิจเพื่อสังคมได้อย่างแท้จริง ภาครัฐควรสนับสนุนเงินทุนตั้งต้นบางส่วน หรือมีมาตรการจูงใจให้ภาคเอกชนมาร่วมอุดหนุนในส่วนนี้ มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนั้น ก็เป็นสิทธิประโยชน์เฉพาะกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ไม่ปันผลกำไร (ตามกฎหมายไทยวิสาหกิจเพื่อสังคมสามารถเลือกได้ว่าจะปันผลกำไรหรือไม่) นอกจากนี้ ภาครัฐควรจัดให้มีมาตรการจูงใจทางภาษีอื่นๆ เช่น การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสองเท่าให้กับผู้บริจาคให้วิสาหกิจเพื่อสังคมในลักษณะเดียวกับผู้บริจาคให้โรงพยาบาล วัด หรือโรงเรียน ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี
ไม่เพียงที่กล่าวมาข้างต้น มาตรการสนับสนุนการจัดซื้อจัดจ้างก็ยังไม่ชัดเจน เพราะส่วนราชการหลายแห่งยังไม่รู้จักวิสาหกิจเพื่อสังคมเสียด้วยซ้ำ การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคมในส่วนราชการเองจึงเป็นสิ่งจำเป็น ทุกวันนี้เอง วิสาหกิจเพื่อสังคมของไทยที่ยังดำเนินการกิจกรรมต่างๆ อย่างกระตือรือร้น จึงจำกัดเพียงกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็นมูลนิธิซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างชัดเจน และดำเนินการมาเป็นเวลานาน และกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมที่เป็น SMEs มาก่อน เพราะผู้ประกอบการมีความเข้มแข็งในการต่อยอดกิจการ
การที่ภาครัฐจะส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อให้วิสาหกิจเพื่อสังคมช่วยเหลือสังคม นับเป็นแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอย่างมาก อย่างไรก็ดี จวบจนปัจจุบัน เป็นระยะเวลา ๕ ปีแล้วที่กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคมออกมาบังคับใช้ แต่วิสาหกิจเพื่อสังคมส่วนใหญ่ยังคงไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ และยังคงต้องรอคอยวันที่จะเติบโต ซึ่งถ้าภาครัฐยังไม่มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง วิสาหกิจเพื่อสังคมในประเทศไทยอาจเป็นเพียงกระแสที่ค่อยๆ จางหายไปในที่สุด
เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
รศ.ดร.ติญทรรศน์ ประทีปพรณรงค์
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล