เรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ล้อมรัฐบาลและตัวนายกฯ มันเยอะ และหลายคดีดูแล้วมันเหมือนกับคือ หากว่ากันเร็วก็อาจจบเร็วด้วยซ้ำ เพราะมันแก้ยาก แต่ว่าทั้งหมดนี้มันก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการว่ามันจะเร็วหรือช้า แต่หากว่ากระบวนการที่วิเคราะห์ตามสามัญสำนึกและตามหลักกฎหมาย ความเสี่ยงค่อนข้างจะสูง....ใครก็ตามที่เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ มันก็มี Learning Curve แล้วถ้ามีที่ปรึกษาที่ดีก็อาจทำได้เร็วขึ้น และพอเวลาผ่านไป เมื่อประสบการณ์เพิ่มขึ้น มันก็แก้ปัญหาโดยตัวของมันเองได้ แต่อย่างที่บอกที่มีคดีล้อมอยู่ การจะตีฝ่าออกไปจะทำได้หรือไม่ต้องคอยดู
เหลือเวลาอีกเพียง 3 สัปดาห์เศษ ปี 2567 ก็จะผ่านพ้นไปแล้วเพื่อเข้าสู่ปีใหม่ 2568 ซึ่งภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 เป็นอย่างไร และปีหน้า 2568 จะมีทิศทางเช่นไร เรื่องนี้มีมุมมองแนววิเคราะห์จาก "ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.การคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ" ที่ให้ความเห็นผ่านรายการ "ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" อีกทั้งยังได้กล่าวถึง จังหวะก้าวย่างทางการเมืองของ "พรรคพลังประชารัฐ" ภายใต้การนำของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่หลายคนจับตากันมากว่า เลือกตั้งรอบหน้า "บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร" พี่ใหญ่ของ 3 ป.ยังจะสามารถนำพาพรรค พปชร.ต่อไปได้หรือไม่
เริ่มด้วยการที่ "ธีระชัย" ในฐานะอดีต รมว.การคลัง มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 ไว้ว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 อยู่ในภาวะทรงๆ ประเทศไทยเราขาดพลังในการแข่งขัน ความสามารถในการแข่งขันของเราด้อยลงมาตลอดหลายปี ส่วนหนึ่งก็เพราะสินค้าที่ไทยผลิตกำลังล้าสมัย กำลังตกเวที เพราะกำลังมีสินค้าใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งไทยเราไม่ได้พัฒนาคนของเราขึ้นมารองรับ
แต่ประเทศอย่างมาเลเซีย มีการพัฒนาคนให้เรียนเรื่องคอมพิวเตอร์ จนสามารถดึงการผลิตของชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์บางส่วน เช่น ชิปคอมพิวเตอร์ ให้มาผลิตที่มาเลเซียได้ แต่ของเราการจะถึงขั้นให้มีการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) พวกคอมพิวเตอร์ชิปจะได้น้อยมาก
เดิมเรามีความชำนาญเรื่องการผลิตรถยนต์ที่เป็นรถยนต์สันดาป ที่เวลานี้ก็กำลังมีปัญหา เพราะตอนนี้การใช้รถยนต์กำลังเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นเรื่อยๆ
พอเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า ก็มีปัญหาว่าชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าใช้ชิ้นส่วนรถยนต์น้อยชิ้นกว่าเมื่อเทียบกับรถยนต์สันดาป เพราะรถยนต์สันดาปที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์มาก ทางญี่ปุ่นก็จะกระจายการผลิตมาให้โรงงานไทย ก็มีทั้งโรงงานขนาดกลางขนาดย่อม จนมีองคาพยพที่สนับสนุนการผลิตรถยนต์สันดาปเยอะ จนมีการจ้างงานร่วมสองล้านคน
แต่เมื่อตอนนี้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ก็เลยกลายเป็นว่า เวลาจีนมา ก็มาแบบที่เรียกว่ายานแม่ คือมาทั้งโรงงานที่ผลิตตัวรถยนต์ แล้วก็มาทั้งตัวลูกคือซัพพลายเออร์ เพราะโวลุม (volume) พอที่จะมาตั้งโรงงานในไทย ก็ทำให้ผู้ผลิตไทยถูกเบียดตกเวที การจ้างงานก็กำลังมีปัญหา เพราะว่าลักษณะการผลิตของรถไฟฟ้า ความที่มันใช้ชิ้นส่วนน้อย การผลิตก็เลยใช้โรบอต
ตรงนี้เป็นปัญหาที่มันกำลังส่ออาการ และที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ไทยเผชิญปัญหาโควิด ก็เลยทำให้ดึงเรื่องการท่องเที่ยวของเราลดลงไปบ้าง แต่ตอนนี้กำลังเริ่มฟื้นขึ้นมา แต่หากเราดูข้อมูลจากเครดิตบูโร เราจะเห็นปัญหาเลยว่ามันทำให้เกิดปัญหาหนี้สูญ ลูกหนี้หมดแรง
โดยข้อมูลล่าสุดตอนนี้มันไปตามลำดับของรายได้ อย่างกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่า 3 หมื่นบาทต่อเดือน ตอนนี้มันย้อนกลับขึ้น ยังไม่เท่าก่อนเกิดโควิดเลย อันนี้คือปัญหาเลย กลุ่มนี้กำลังในการกินการใช้ก็เลยน้อย แล้วก็เป็นหนี้ แล้วก็ต้องไปพึ่งหนี้นอกระบบ
ส่วนหนี้ในระบบก็เริ่มติดค้างการจ่ายดอกเบี้ย รายได้ไม่พอผ่อน ส่วนกลุ่มรายได้มากกว่า 3 หมื่นถึง 5 หมื่นบาท ก็ยังมีปัญหาเช่นกัน
-มองการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่ยุคนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน มาถึงรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่ต้นปีมาถึงตอนนี้ ตอบโจทย์ตรงปัญหาหรือไม่?
หากไปถามผู้ประกอบการธุรกิจก็จะได้คำตอบว่า มันยังไม่ค่อยขับเคลื่อน ตรงนี้ก็เป็นเรื่องยาก เพราะการที่อยู่ดีๆ เป็นรัฐบาลขึ้นมา คือต้องอธิบายก่อนว่าประเทศขับเคลื่อนด้วยคนในประเทศ เพราะฉะนั้นคนในประเทศมีความเก่ง มีความแข็งแรง แล้วเดินหน้า ประเทศก็จะเป็นมหาอำนาจได้ หน้าที่ของรัฐบาลคือให้เครื่องมือ ให้คนได้ทำงานเต็มที่ แต่ที่ผ่านมาผมดูแล้วนโยบายที่จะให้เครื่องมือ เพื่อเอื้ออำนวยให้คนได้ทำงานเต็มที่ เขายังไม่ได้ทำเต็มที่ ก็เลยกลายเป็นว่า ส่วนที่จะให้ก็คือการแจก แต่ไม่ใช่แจกเพื่อจะให้ไปพัฒนาประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ เพิ่มมูลค่าสินค้า แต่แจกไปเพื่อให้เอาไปอุปโภคบริโภค
ส่วนนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตก็แป้ก เพราะตอนคิดไม่ได้คิดให้ครบวงจร คือคุมการใช้จ่ายไม่ได้ อย่างที่แจกไปรอบแรก 14 ล้านคน ก็เป็นคนที่ฐานะด้อย พอแจกไปเขาก็จะไม่เก็บ ก็นำไปใช้ ส่วนหนึ่งที่ใช้เช่นเติมน้ำมันรถ พายุหมุนที่เกิดไปเกิดตะวันออกกลาง หรือส่วนหนึ่งที่ใช้ไปใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์มือถือ พายุหมุนที่เกิดไปเกิดที่จีน เกาหลีใต้ ส่วนหนึ่งนำไปเล่นพนันออนไลน์ก็ลงไปใต้ดิน พอไม่ได้ใช้ดิจิทัลอย่างแท้จริง มันก็คุมไม่อยู่ เอาไปใช้แล้วมันกระตุ้น แต่ไม่ได้ผลต่อประเทศไทยเท่าที่ควร ตัวเลขไตรมาส 3 ตัวเลขการบริโภคภาคเอกชนจะแผ่วลงมาเรื่อยๆ
มันสะท้อนว่า กระบวนการบริหารด้านเศรษฐกิจของเรา กระจายรายได้น้อยไป ตัวเลขจีดีพีที่เกิดมันบอกได้ว่าไส้ในมันมีปัญหา ผลประโยชน์ไปอยู่กับกลุ่มระดับชั้นบนมากเกินไป
ต้องหาวิธีถอยแล้วกระจายออกมา แต่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสหน้า (ไตรมาส 4) ที่จะออกมาก็จะดีขึ้น เพราะมีการแจกเงินให้ไปใช้อุปโภคบริโภค แต่มันก็เป็นไฟไหม้ฟางใช้แล้วก็หมดไป
ปัญหาที่สำคัญคือตัวเนื้อใน การบริโภคภาคเอกชนที่มันแผ่วลงมาเรื่อยๆ ก็เพราะว่าการใช้จ่ายมันมาจากระดับล่าง มาจากประชาชนที่มีหลายสิบล้านคน เงินมันไม่พอ รายได้มันไม่ได้กระจายลงไป นี่คือปัญหาใหญ่
-สรุปว่าเศรษฐกิจแย่หรือไม่แย่?
ตัวเลขต่างๆ ดูเหมือนโอเค แต่พอลงไปดูแล้วมันสะท้อนให้เห็นว่า การขับเคลื่อนมันมาจากการส่งออก มาจากธุรกิจใหญ่ ก็ทำให้การกระจายรายได้ไม่ดีเท่าที่ควร แม้ตัวเลขจีดีพีจะออกมาดี จนคนก็จะหวัง อย่างตัวเลขไตรมาสที่ 4 ที่จะออกมาก็จะสูงเพราะฐานปีที่แล้วมันต่ำ แต่สำหรับชาวบ้านร้านตลาดเขาก็จะมีความรู้สึเหมือนเดิมว่าแห้งเหี่ยว
แต่ที่รัฐบาลจะแจกเงินล็อตที่ 2 แก่กลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่คราวนี้จะขยายขึ้นมา จากเดิมรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ขยายขึ้นมาเป็น 8 แสน 4 หมื่นบาท เงินเดือน เดือนละ 7 หมื่นบาท และเดิมเงินฝากในธนาคารต้องไม่เกินหนึ่งแสน ก็ขยับขึ้นไปเป็นห้าแสนบาท ซึ่งการนำเงินไปแจกให้คนที่มีอันจะกิน ก็จะมีปัญหาคือเขาอาจจะไม่ need เงิน พอได้ไปเขาก็เก็บเข้ากระเป๋าเอาไปออม
ตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาอีกอัน เพราะไม่ใช่เป็นดิจิทัล ที่บังคับว่าหากได้ไปแล้วไม่ใช้ภายใน 6 เดือนก็จะใช้อีกไม่ได้ ซึ่งตรงนี้การนำเงินไปแจกให้กลุ่มคนที่พอจะช่วยเหลือตัวเองได้ ถ้าเป็นการแจกในกรณีเป็นงบประมาณเกินดุล เก็บภาษีมากไป ใช้น้อยไป เลยมีเงินเก็บในลิ้นชัก วันดีคืนดีก็ควักออกมาแล้วคืนให้ประชาชนแบบนี้โอเค แม้แต่คนรวยก็แจกได้ไม่มีปัญหา แต่ว่าเที่ยวนี้เงินในลิ้นชักก็ไม่มี เงินที่ไปแจก ก็กู้หนี้สาธารณะ มันไม่ต่างจากครอบครัวที่พ่อใจดี ลูกๆ ในบ้านไม่ต้องทำงาน อยากกินหรูอยู่สบาย คุณพ่อก็ไปรูดบัตร รูดการ์ด แบบนี้ก็จะทำได้ไม่นาน ก็ลักษณะเดียวกัน
เพราะฉะนั้น กฎหมายวินัยการเงินการคลังจึงล็อกไว้ว่า หากรัฐบาลจะไปก่อหนี้สาธารณะต้องดูให้คุ้มค่าและจำเป็น แต่เคสที่จะแจกเงินแบบนี้มันเป็นการไปก่อหนี้สาธารณะเพื่อนำเงินมาแจก มันไม่ได้มีความจำเป็น แบบนี้ทำไปมันจะยุ่ง จะเกิดปัญหากับฐานะการคลัง
-คิดว่าประเทศไทยตอนนี้ ปัญหาเศรษฐกิจที่วิกฤตที่สุดคืออะไร?
ที่วิกฤตที่สุดในขณะนี้คือขาด "หมัดเด็ด" ของประเทศในการที่จะเดินหน้าต่อไป หมัดเด็ดมันลดลงไป จากเดิมเรามีหมัดแย็บ หมัดฮุก แต่ตอนนี้มันแผ่วลงไป ก็เหลือแต่การท่องเที่ยว การรักษาพยาบาลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ และการเกษตร
-เป็นเพราะนโยบายที่ทำออกมาไม่ถูก ไม่โดนหรือเพราะตัวคนที่บริหาร?
มันมาด้วยกัน คือหากจะแก้ปัญหานี้มันต้องมองเห็นปัญหาตั้งแต่ต้น ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ 5 ปี 10 ปี และมันก็จะมองเห็นได้ว่าหากเราไม่ทำอะไร ตรงนี้ ก็จะเป็นแบบนี้ ก็เหมือนกับหากเรามองย้อนกลับไปสิบปีก่อนหน้านี้ ก็อาจมองไม่เห็นเรื่องของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าจะมาเร็วขนาดนี้ ลักษณะของการเปลี่ยนความชำนาญเราอาจมองไม่ทัน แต่สิ่งที่ควรได้ทำเมื่อมองย้อนกลับไปสักสิบปีในอดีต สิ่งที่ควรต้องทำก็คือต้องจัดโปรแกรมเรื่อง เงินกู้เพื่อเรียนหนังสือ และการให้เรียนฟรีใน 3-4 สาขานี้คือ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม คอมพิวเตอร์
ตลอดจนอาจต้องมีการแถมเงินเพื่อให้มีการเรียนด้านภาษา เพื่อจะได้เตรียมรับเทคโนโลยี AI คือหากทำวันนี้ กว่าจะออกดอกออกผลก็อีกหลายปี แต่ระหว่างนี้ยังไงก็ต้องเริ่มทำ โดยระหว่างนี้ก็ต้องตะกายน้ำเพื่อไม่ให้จม
-นโยบายเร่งด่วนด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ในด้านต่างๆ เห็นอย่างไร เช่นผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ?
อันนี้คือปัญหา ทางผมกับ ดร.อุตตม สาวนายน อดีตรมว.คลัง ซึ่งอยู่ที่พรรคพลังประชารัฐด้วยกัน เสนอแนวทางการแก้ปัญหาหนี้ โดยการลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF) เอามาครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี คือเอาลงมาเหลือ 0.23% เพื่อเอามาแก้ปัญหาหนี้โดยการแฮร์คัต ตัดยอดหนี้เลย เอามาลงขัน แต่เราบอกว่าเงินที่จะเอาไปช่วยลูกหนี้ ต้องขอเป็นภาระร่วมคือแบงก์พาณิชย์ต้องช่วยควักเงินจากกำไรสะสมเอามาร่วมด้วย 1 ใน 4 โดยเมื่อทำไปแล้ว ต้องให้โอกาสลูกหนี้ ที่จะเน้นกลุ่มลูกหนี้รายย่อย เพราะเรารู้ว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีปัญหา
แถลงเรื่องนี้ออกไปตั้งแต่เดือนมีนาคม รมว.คลังคนปัจจุบันนั่งอยู่ในตำแหน่งมา 5 เดือน 6 เดือน ยังไม่ทำอะไรเลย เท่าที่ฟังเหมือนกับว่ากลัวลูกหนี้จะเคยตัว จะไปช่วยลูกหนี้แล้วจะเคยตัว
สุดท้ายคุณทักษิณ ชินวัตร ไปขึ้นเวที (แสดงวิสัยทัศน์) แล้วก็เอ่ยถึงแนวคิดการลดเงินที่เก็บเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ จาก 0.46% เหลือ 0.23% โดยที่อาจไม่รู้ว่าเป็นข้อเสนอของพรรคพลังประชารัฐ ก็ลอกการบ้าน แต่เราก็โอเค ไม่ได้คิดค่าลิขสิทธิ์ แต่ปรากฏว่าคุณทักษิณลอกการบ้านไปพูดบนเวที ทางกระทรวงการคลังจะเดินหน้าตามนี้
แต่เท่าที่ผมดูการจัดกระบวนการต่างๆ เขายังอุ้มแบงก์พาณิชย์มากไป ผมถึงเคยบอกว่าถึงเวลาที่ รมว.คลังกดดันแบงก์ชาติ ให้ปรับปรุงเรื่องนโยบายสถาบันการเงิน ซึ่งผมเสนอแบบนี้คือให้เพิ่มคู่แข่งขัน โดยตั้งธนาคารท้องถิ่น เพื่อให้การแข่งขันในระบบสถาบันการเงินเข้มแข็ง แบงก์จะได้ลงไปหาลูกค้าระดับล่างลง ซึ่งแบงก์พาณิชย์ไม่มีทางเสียสละ แต่เป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังและแบงก์ชาติ ต้องไปตั้งสภาพแวดล้อมเพื่อไปกระตุ้นแกมการบีบ เพื่อให้เขาแข่งขันกัน และพอแข่งขันกันมากเขาก็จะลงรากลงไป ซึ่งก็ดูเหมือนกำลังจะเริ่มทำ แต่ดูเหมือนทำท่าจะไปผิดทาง
-นโยบายที่บอกจะมีการออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค?
อันนี้ผมนั่งรอแบบอ้าปากหวอ คือรอมานานแล้ว รมว.พลังงานก็บอกจะต้องมีการปรับโครงสร้าง แต่รู้สึกท่านจะรำมวย เช่นบอกว่าจะต้องมีการร่างกฎหมายอะไรต่างๆ ก็รอจนป่านนี้
-สร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษี ใช่กาสิโนไหม?
ก็ใช่กาสิโนและหวยใต้ดิน ตรงนี้ก็โอเค ถ้าทำเป็นกาสิโนและทำออกมาเป็นคอมเพล็กซ์ แล้วเอาไปเชื่อมโยงกับการจัดคอนเวนชัน จัดแสดงสินค้า จัดประชุมซัมมิต เช่น จัดประชุมซัมมิตเกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าเกษตรสมัยใหม่ ครอบครัวคนที่มา ฝ่ายพ่อก็เข้าประชุม ส่วนภรรยาก็ไปช็อปปิ้ง ลูกก็ไปสวนสนุก ตกเย็นก็ไปดูโชว์กันที่กาสิโน แบบนี้ผมว่าใช้ได้
-รวมความแล้วนโยบายเร่งด่วน นโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาล มีอะไรบ้างที่โดนใจ ที่พอจะเห็นแสงสว่างแวบๆ?
เราต้องให้ความสำคัญกับนโยบายที่ไปทำให้ประชาชนเพิ่มรายได้ ในเชิงเศรษฐศาสตร์สิ่งที่ต้องเน้นเป็นอันแรกเลยคือ อะไรที่จะทำแล้วทำให้เงินไหลเข้าไปในกระเป๋าประชาชน ตรงนี้ต้องทำให้มันเกิด
ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2568
-มองเศรษฐกิจไทยปีหน้าอย่างไร โดยเฉพาะหลัง โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็อาจมีนโยบาย เช่น การขึ้นกำแพงภาษีกับบางประเทศอย่างจีน ไทยก็อาจจะโดนหางเลขไปด้วย คิดว่าปีหน้าเรื่องเศรษฐกิจไทยปี 2568 ภาพรวมจะหนักหรือเบากว่าเดิม?
ผมว่าหนัก หากดูจากการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ เขาพูดชัดเจนว่าเขาจะขึ้นภาษี คือโดนัลด์ ทรัมป์ พยายามขายไอเดียว่าในอดีตเคยมีสมัยหนึ่ง ภาษีนำเข้ารัฐได้รายได้มากเสียจนไม่ต้องเก็บภาษีจากเงินเดือนประชาชน ภาษีจากห้างร้านต่างๆ คือเอาภาษีนำเข้าเป็นรายได้หลักของรัฐบาล ที่เขาก็กำลังคิด แม้ว่าวันนี้มันจะไม่เหมือนอดีต เพราะเขา (โดนัลด์ ทรัมป์) นึกอยู่ในใจว่าคนที่ขายของ ไม่ว่าจะเป็นในจีน ไทย เวียดนาม จะต้องยอมลดกำไรเพื่อให้สินค้ายังสามารถเข้ามาในสหรัฐฯ ได้ โดยขายในราคาเดิม พูดง่ายๆ คือขึ้นภาษีไป แต่ราคาสินค้ายังเท่าเดิม
เพราะคนที่เอาสินค้าเข้าไปขายยอมขาดทุนหรือยอมกำไรลดน้อยลง แต่เวลานี้ยอดกำไรสินค้าหลายอย่างที่ไปขายในสหรัฐฯ เองก็บางมาก บางเสียจนความคิดของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะไปออกนโยบายนี้มันจะไม่เกิด จะกลายเป็นว่าพอขึ้นภาษี ราคาสินค้าที่เอาไปแล้วไปขายในสหรัฐฯ ก็จะขึ้นราคา เงินเฟ้อก็จะกลับมาสูงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก็มีความเสี่ยงตรงนี้
อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีก็จะกระทบไปทั่วโลก แล้วหากดูประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ไทยเราอยู่อันดับ 12 อาจอยู่หลังเวียดนาม แต่ก็ถือว่าอยู่ในลำดับต้นๆ อยู่ ก็อยู่ในเป้าหมายของเขา สรุปแล้วสินค้าที่ผลิตในไทย ในอาเซียน ก็มีแนวโน้มจะโดน
-ในปีหน้า 2568 หากเราจะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกสักรอบ และหากให้พรรคพลังประชารัฐทำเรื่องนี้ จะมีวิธีการทำอย่างไร?
เริ่มต้นเลย ผมจะต้องเข้าไปรื้อโครงสร้างเรื่องพลังงานก่อน เพราะว่าโครงสร้างเรื่องพลังงาน ผมคิดว่าเราบีบเอากำไรจากผู้ประกอบการส่งคืนกลับไปให้ประชาชนได้บ้าง แต่ไม่ใช่การทำให้ผู้ประกอบการเขาเจ๊ง แต่ถึงเวลาต้องมีการขยับให้เกิดความสมดุล ให้มันมีความเป็นธรรมมากขึ้น
การไปอิงแบบนี้ ราคาน้ำมันต้องอิงหน้าโรงกลั่น ผมคิดว่าต้องเลิก ผมมีสูตรวิธีการที่จะทำเพื่อที่จะทำให้ประชาชน ซึ่งการรื้อโครงสร้างพลังงานก็จะทำให้ลดค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ ก็จะให้มีการเปิดเสรีเรื่องของโซลาร์รูฟท็อป และจะให้มีการซื้อไฟจากชาวบ้าน คือเวลานี้เขาซื้อไฟ 4 บาท ขายได้แค่ราคา 2 บาท ต้องขยับให้ราคามันใกล้ๆ กัน เพื่อทำให้เขาคุ้มในการที่จะติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป และในชุมชนก็ทำโซลาร์ฟาร์มก็จะคุ้ม โดยมีการจัดระบบสินเชื่อ ระบบแบงก์เข้าไปได้ง่ายเลย
ก็จะเกิด Passive Income ต่อครัวเรือน และจะเป็นลักษณะของ Disrupt ด้วย จะทำให้ครัวเรือนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้แบบสบายใจขึ้น
อย่างคนเมือง พอตอนเย็นกลับเข้าบ้านก็เสียบปลั๊กชาร์จ แล้วกลางวันก็ขับออกมาใช้ ก็ทำให้การนำเข้าน้ำมันก็จะลดลงอีก
นอกจากนี้ สิ่งที่ควรต้องทำอย่างเงินที่จะแจกดิจิทัลวอลเล็ต ผมว่าควรเอามาแจกลงไปในระดับท้องถิ่นแบบ อบต. โดยมีการให้เงินตามขนาดของ อบต.แต่ละแห่ง เช่นให้ อบต.ปีละ 5 ล้านบาท ติดต่อกัน 5 ปี แต่กระบวนการในการใช้งบดังกล่าวต้องผ่านการประชุม การทำประชาคมตัดสินใจร่วมกัน ว่างบที่ได้ดังกล่าวจะนำไปใช้ในเรื่องอะไร โดยห้ามเอาไปใช้เกี่ยวกับการจ้างบุคลากร หรือเอางบไปเที่ยวไปดูงาน แต่ให้เอาไปสร้างถาวรวัตถุ เอาไปทำอะไรก็ตามเพื่อไปเพิ่มมูลค่าสินค้าในพื้นที่ หรือทำแล้วไปลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การดำรงชีพ
ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นพื้นที่ซึ่งปลูกอ้อยก็อาจนำไปใช้จัดซื้อเครื่องตัดอ้อย ก็วางแผนการผลิต เอารถไปตัดอ้อย จะได้ไม่ต้องตัดอ้อย โดยรถตัดอ้อยดังกล่าวก็ให้เป็นของส่วนกลาง ส่วนค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการใช้รถตัดอ้อยก็เอามาจากงบส่วนที่ให้
หรือนำไปซื้อเครื่องอัดฟาง เพื่อจะได้ไม่ต้องเผา หรือบางแห่งอาจต้องการนำไปใช้ในเรื่องเกษตรอินทรีย์
คือคนท้องถิ่นเขาจะเข้าใจว่าจะเอาเงินไปใช้อะไร โดยแต่ละปีก็จะมีการสำรวจ และให้มีการแข่งขันกันโดยมีการให้รางวัล แต่หากทำไปแล้วพบว่ามีปัญหา มีทุจริต ก็ให้เบรกไว้ก่อน
ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบที่เคยทำมา เช่น คนละครึ่ง, เที่ยวทั่วไทย ผมว่าก็พอได้ แต่ต้องพอควร เพราะทำไปก็เสียรายได้รัฐบาล แต่ว่านโยบายอย่างเที่ยวทั่วไป คนละครึ่ง มันดีตรงที่ทำให้มีการใช้จ่าย ภาครัฐควักหนึ่งร้อยบาท ประชาชนก็ควักเงินตัวเองอีกหนึ่งร้อย ก็ทำให้เกิดการกระตุ้น และไม่ใช่พายุหมุนที่ทำแล้วไปเกิดที่ตะวันออกกลางหรือประเทศอื่น แต่การกินการใช้มันอยู่ในประเทศไทย ส่วนนี้ผมว่าไปได้
สำหรับพรรคพลังประชารัฐ การแถลงแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจต่างๆ ขอให้รอดู อย่างวันที่ 16 ธันวาคม จะมีการประชุมใหญ่พรรคที่เขาใหญ่ ก็จะมีเหมือนกับการจัดเวทีสัมมนาพรรค ระหว่าง สส.-อดีตผู้สมัคร สส. วันนั้นเราจะมีการแถลงข่าวอะไรบางอย่าง
-เท่าที่ได้เข้าไปร่วมงานการเมืองกับพรรคพลังประชารัฐมาปีกว่า คิดว่าปีหน้า 2568 พรรคจะยังเดินต่อไปหรือไม่?
ก็ต้องดูไปเรื่อยๆ คืออย่างนี้ผมเองไม่ได้มีความชำนาญทางการเมือง แต่เท่าที่สัมผัสได้ การเดินหน้าของหัวหน้าพรรคเต็มที่อยู่ และกระบวนการบริหารภายในพรรคก็เต็มที่ แต่ลักษณะการเมืองของไทย เท่าที่ผมดูคือบางทีมีการเปลี่ยน เหมือนอย่างเมื่อก่อนพรรคมี สส.อยู่ 40 คน แล้วอยู่ดีๆ หายไปเหลือ 20 คน อันนี้ผมไม่เข้าใจ
ผมนึกไม่ถึง ดังนั้นจะเกิดอะไรขึ้นผมเดาไม่ออก ตอนนี้ผมก็ดูเฉพาะในฝั่งวิชาการและนโยบายพรรค เราก็เดินเต็มที่ต่อในสมัยหน้า (การเลือกตั้ง)
เวลานี้เราพยายามวางจุดขายของพรรคให้มันชัดเจน ว่าเราไม่ใช่พรรคที่เน้นอุดมการณ์แบบลอยๆ หรือเอามาจากตำรา ไม่ใช่บอกว่าจะทำให้คนมีความสุข แต่ไม่ได้มีมาตรการอะไรมาบอกประกอบ แต่เราจะต้องทำตัวเป็นพรรคการเมืองที่รู้วิธีการทำงาน และมีแนวคิดทางเศรษฐกิจ สังคม ที่ชัดเจน
พล.อ.ประวิตรเวลานี้ดูจะมีความสุข ที่เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมของพรรคพลังประชารัฐ...เป็นพรรคการเมืองที่สำหรับเทคโนแครตอยู่ที่นี่แล้วสบายใจ เพราะ พล.อ.ประวิตรท่านปล่อยมือเยอะ ในทางแนวคิดเรื่องเทคนิค ท่านปล่อยมือเยอะ...ท่านยังสู้ ผมดูผมว่าไม่มีปัญหา...ในแง่ของการเป็นผู้นำพรรค สำหรับ พล.อ.ประวิตร คนที่เป็นเทคโนแครต ตราบใดที่ท่านให้เวทีกับเรา เราชกได้เต็มเวที หากเราคิดอะไรในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับประชาชน เราลุยเลย แล้วท่านไม่ล้วงลูก เทคโนแครตอยู่กับพรรคที่มีพลเอกประวิตรอยู่ด้วย ผมว่าสบายใจ
เชื่อ 'ลุงป้อม' ไม่ถอดใจ เดินหน้าพา พปชร.ลุยต่อ
-เท่าที่คุยกับลุงป้อม คิดว่าจะวางมือทางการเมืองหรือไม่ในสมัยหน้า?
อันนี้ผมก็ไม่รู้ แต่ผมเดาว่าคงไม่ เพราะเท่าที่ผมดูก็เห็นท่าน พล.อ.ประวิตรเวลานี้ดูจะมีความสุข ที่เป็นศูนย์กลางในการทำกิจกรรมของพรรค คือเป็นพรรคการเมืองที่สำหรับเทคโนแครต อยู่ที่นี่แล้วสบายใจ เพราะพลเอกประวิตรท่านปล่อยมือเยอะ ในทางแนวคิดเรื่องเทคนิค ท่านปล่อยมือเยอะ
-คือปล่อยมือแต่ไม่ปล่อยวาง ไหวหรือ?
ท่านยังสู้ ผมดู ผมว่าไม่มีปัญหา
-เป็นไปได้ไหม พล.อ.ประวิตรจะขยับขึ้นเป็นประธานที่ปรึกษาพรรค แล้วมีหัวหน้าพรรคคนใหม่?
อันนี้ผมไม่รู้ แต่ในแง่ของการเป็นผู้นำพรรค สำหรับ พล.อ.ประวิตร คนที่เป็นเทคโนแครต ตราบใดที่ท่านให้เวทีกับเรา เราชกได้เต็มเวที หากเราคิดอะไรในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับประชาชน เราก็ลุยเลย แล้วท่านไม่ล้วงลูก ซึ่งในเชิงนโยบายและการวางแผนอนาคตของประเทศ เทคโนแครตอยู่กับพรรคที่มี พล.อ.ประวิตรอยู่ด้วย ผมว่าสบายใจ
ประเมินรัฐบาลแพทองธาร อยู่บริหารประเทศไม่ครบปี
-คุณไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ บอกล่าสุดว่ายังเชื่อว่ารัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร จะอยู่ไม่ครบปี เชื่อแบบเดียวกันไหม?
ผมคิดว่าแนวโน้มค่อนข้างจะเป็นแบบนั้น อันนี้ผมวิเคราะห์ ที่ดูจากข้อกฎหมายในเรื่องร้องเรียนต่างๆ ที่ล้อมรัฐบาลและตัวนายกฯ มันเยอะ และหลายคดีดูแล้วมันเหมือนกับคือหากว่ากันเร็ว อาจจบเร็วด้วยซ้ำ เพราะมันแก้ยาก แต่ว่าทั้งหมดนี้มันก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการว่ามันจะเร็วหรือช้า แต่หากว่ากระบวนการที่วิเคราะห์ตามสามัญสำนึกและตามหลักกฎหมาย ผมว่าความเสี่ยงค่อนข้างจะสูง
-มีการมองกันว่าตัวนายทักษิณคงพยายามประคองรัฐบาลให้อยู่ไปได้อย่างน้อยสุดก็กลางปีหน้า เพราะเชื่อว่าถึงตอนนั้นนายกฯ จะเก่งขึ้น ดูแล้วเป็นไปได้หรือไม่ หลังเห็นการทำงานของนายกฯ ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา?
อันนั้นผมคงไม่วิจารณ์ แต่บอกตามตรง ใครก็ตามที่เข้ามาทำหน้าที่นายกฯ มันก็มี Learning Curve แล้วถ้ามีที่ปรึกษาที่ดีก็อาจทำได้เร็วขึ้น และพอเวลาผ่านไปเมื่อประสบการณ์เพิ่มขึ้น มันก็แก้ปัญหาโดยตัวของมันเองได้ แต่อย่างที่บอกที่มีคดีล้อมอยู่ การจะตีฝ่าออกไปจะทำได้หรือไม่ ต้องคอยดู.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
พรรคกล้าธรรม พร้อมรับ 20 สส.กลุ่มผู้กองธรรมนัส
นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคกล้าธรรม กล่าวภายหลังพรรคพลังประชารัฐเตรียมประชุมร่วมกรรมการบริหารพรรค และสส. เพื่อขอมติในขับสส. 20 คน ที่สังกัดกลุ่ม
ศาลรธน.สั่ง 'สมชาย เล่งหลัก' หยุดปฏิบัติหน้าที่สว.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต ) ผู้ร้อง ขอให้พิจารณาวินิจฉัยกร
ศาลรับฟ้อง 'บิ๊กป้อม' ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 'สิระ' เรียก 50 ล้าน
พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรค พปชร.ได้มอบอำนาจให้ตน ให้ทนายความ ฟ้อง
นายกฯ เผยข่าวดี ครม.ช่วยลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง ลดดอกเบี้ย ปรับโครงสร้างหนี้
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.ได้อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้
'แพทองธาร' บอกชัด 12 ธ.ค. เวลาไม่เหมาะสมตอบกระทู้สภาฯ ติดแถลงผลงานรัฐบาล
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีฝ่ายค้านเรียกร้องให้ไปตอบกระทู้ในสภาฯ มีแผนจะไปตอบบ้างหรือไม่ ว่าตนมีแพลนที่จะไปตอบอยู่แล้ว จริงๆอยากไป
'อิ๊งค์' ขอทุกฝ่ายใจเย็นๆ เห็นหนังสือ 'สนธิ' ค้านMOU44แล้ว ต้องพิจารณารอบคอบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย