ประมาทไม่ได้เลย คือ จิตของเรา!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. มีพระภาษิตบทหนึ่งกล่าวว่า..

ทีฆรตฺตํ วต โภ

อหํ อิมินา จิตฺเตน

นิกโต วญฺจิโต ปลุทฺโธ..

นานหนอ ท่านผู้เจริญ เราได้ถูกจิตนี้ คดโกง ลวงล่อ ปลิ้นปล้อน

ทุนฺนิคฺคหสฺส ลหุโน      ยตฺถ กามนิปาติโน

จิตฺตสฺส ทมโถ สาธุ       จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ

จิตควบคุมยาก เปลี่ยนแปลงเร็ว ใฝ่ในอารมณ์ตามที่ใคร่

ฝึกจิตเช่นนั้นเป็นการดี เพราะจิตที่ฝึกได้แล้วย่อมนำความสุขมาให้..

จิต... จึงเป็นสภาวธรรมที่น่าศึกษายิ่ง เพราะเมื่อเข้าใจ เข้าถึง ลักษณะธรรมของจิตแล้ว ย่อมสามารถฝึกฝนอบรมจิตนั้นได้.. สรุปว่า จิตเป็นสภาวธรรมที่ปรับปรุง เปลี่ยนแปลง.. พัฒนาได้ ด้วยการฝึกฝนตามหลักธรรมวิธีที่ถูกต้อง อันได้แก่ การเจริญสติปัฏฐาน ๔

ก่อนจะฝึกฝนจิต.. จึงต้องอ่านจิตออก บอกจิตได้ เพื่อใช้จิตเป็น.. ด้วยการเข้าใจในธรรมชาติของจิต ว่า มีลักษณะนึกคิด เก็บ สั่งสม.. วิจิตรหลากหลาย อย่างไร!?

จึงต้องเข้าใจว่า.. ธรรมชาติของจิตนั้นประภัสสร คือ ผุดผ่องปกติเหมือนน้ำที่ใสสะอาด เพราะเป็นเพียงแต่สภาวะการเข้าไปรู้ในทางช่องทางการรับรู้ที่เรียกว่าอายตนะนั้นๆ.. แม้ภาวะการนึกคิดที่เกิดจากมโนเข้าไปรู้ในอารมณ์ ก็เป็นเพียงอาการคิดนึก.. ส่วนจะคิดนึกไปในทางดีชั่ว-บาปบุญคุณโทษ.. มีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ ล้วนเป็นเรื่องของสิ่งที่เข้ามาประกอบกับจิตเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ที่เรียกว่า เจตสิก

แม้เจตสิก ที่เป็นสภาวะปรุงแต่งจิต ก็จำแนกเป็นฝ่ายดำและฝ่ายขาว ซึ่งหากจิตประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดำ ก็จะเศร้าหมองขุ่นมัว เหมือนน้ำสะอาดที่เปื้อนโคลนตม แต่หากจิตประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายขาว ก็จะสดใส สว่างไสว.. สิ้นไปซึ่งความมืดมัว เศร้าหมอง

การพัฒนาจิต.. จึงเกิดขึ้นเพื่อการเปลี่ยนแปลงจิตให้เข้าสู่ความเป็น กุศลจิต มี สติปัญญาและความเพียรชอบ เป็นเครื่องประกอบ โดยยึดหลักที่ว่า.. ขึ้นว่ากุศลนั้น ย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลด้วย การระวังจิต การเปลี่ยนจิต ความเคยชิน และการพิจารณาด้วยปัญญา ทั้งนี้ จะต้องเข้าใจให้ตรงธรรมที่ว่า..

การระวังจิต คือ การน้อมจิตลงในอารมณ์ที่เป็นกุศลอยู่เนืองๆ.. โดยดำริในการทำกุศลและหลีกเลี่ยงอกุศล ไม่ว่าจะคิด พูด ทำ.. ต้องตั้งมั่นใน สุจริต ๓ เสมอ.. เมื่ออินทรีย์สมบูรณ์

การเปลี่ยนแปลงจิต คือ การเปลี่ยนจากอกุศลจิตให้เป็นกุศลจิต ซึ่งหมายถึง การปหานะอกุศลจิตที่เกิดขึ้นให้สิ้นไป.. และพัฒนาจิตให้ดำรงอยู่ในกุศลส่วนเดียวอย่างสืบเนื่อง จนสามารถรักษากุศลจิตนั้นไว้ได้อย่างแน่วแน่มั่นคง จนเคยชิน รวมลงเป็น จิตสันดาน คือ จิตที่ทำหน้าที่เก็บสั่งสมการกระทำบ่อยๆ จนเป็นสันดาน.. เป็นอัชฌาสัย ที่ไม่ทำให้อกุศลมีโอกาสเกิดขึ้นมาได้เลย ด้วยการสั่งสมกุศลจนเคยชิน ที่เกิดจากการเข้าไปรู้ในอารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ อยู่เสมอ

สุดท้าย คือ การรู้จักโยนิโสมนสิการ ด้วยวิธีพิจารณาด้วยปัญญา ในทุกขณะที่พบกับอารมณ์ทั้ง ๖ เพื่อให้กุศลจิตเกิดอยู่เสมอตลอดไปด้วยปัญญา

จึงเกิดกุศลจิต.. คือ จิตที่มีปัญญาประกอบเกิดขึ้น เพื่อความรู้รอบในสภาวธรรมตามความเป็นจริง.. รู้รอบด้วยการพิจารณาให้รู้ชัดในสภาวธรรมนั้นๆ ว่า มีสามัญลักษณะเป็นอย่างไร.. เพื่อนำไปสู่การรู้เพื่อละจากความยึดถือยึดมั่นในสภาวธรรมทั้งหลาย ว่าเป็นของเรา.. เป็นเรา.. เป็นตัวตนของเรา.. ที่เรียกว่า ปหานปริญญา..

ความรู้.. ที่เรียกว่า รู้ธรรมในธรรม จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาจิต.. ให้เกิด ญาณทัสสนวิสุทธิ ขึ้นมา เพื่อเห็นธรรมชาติแท้จริงของจิตรู้.. และสภาวธรรมที่ถูกรู้ ว่าแท้จริงประกอบด้วยรูปนามหรือขันธ์ ๕ อันเกิดขึ้นพร้อมกัน ด้วยการอิงอาศัยกันก่อเป็นรูปนาม.. ไปตามกระแสไหลวนอยู่ในวัฏสงสาร.. ที่ปรากฏมีแต่การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะหรือวนเวียนแห่งชีวิตนี้..

จึงต้องเรียนรู้เรื่อง กฎเกณฑ์กรรม.. ที่ควบคุมจิตให้อยู่ภายใต้กฎความจริงของธรรมชาติ ที่เรียกว่า ธรรมนิยาม

กฎเกณฑ์กรรม.. มีความสลับซับซ้อนไปตามความลึกล้ำของจิต.. ที่คนโดยทั่วไปยากจะเข้าใจด้วยอำนาจของกิเลสที่ขวางกั้น (อวิชชา) และห่อหุ้มผูกรัดอยู่ (ตัณหา)..

การดำเนินไปของจิตตามกระแส.. ในรูปของ กฎแห่งกรรม จึงมีความซับซ้อนแต่มีเหตุผลเชื่อมโยงกันอย่างน่าศึกษายิ่ง โดยพบว่าในคัมภีร์พุทธศาสนาได้กล่าวจำแนกเรื่องกรรมไว้ ๑๒ ประการ โดยแบ่งเป็น ๓ หมวด หมวดละ ๔ ข้อ ได้แก่

หมวดที่ ๑ ว่าด้วยกรรมที่ให้ผลตามกาล มี ๔ ข้อ

หมวดที่ ๒ ว่าด้วยกรรมที่ให้ผลตามหน้าที่ มี ๔ ข้อ

หมวดที่ ๓ ว่าด้วยกรรมที่ให้ผลตามลำดับ มี ๔ ข้อ

การศึกษาเรื่องของกรรมที่ให้ผลตามกาล ตามหมวดที่ ๑ จึงพบว่า พุทธศาสนายอมรับความจริงในเรื่องของกรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน เป็นข้อแรก..  กรรมที่ให้ผลในชาติหน้าหรือชาติถัดไป เป็นข้อที่ ๒.. กรรมที่ให้ผลในชาติต่อๆ ไป เป็นข้อที่ ๓..  และข้อที่ ๔ กรรมที่ให้ผลสำเร็จแล้ว หรือกรรมไม่มีผลแล้ว

โดยการเชื่อมโยงเรื่องของกรรมตามกาลไปสัมพันธ์กับการทำงานของจิต.. ที่เรียกว่า วิถีจิต.. เมื่อเกิดชวนจิต ๗ ดวงขึ้นในขณะที่ จิตก่อเกิดการกระทำตามเจตนา หรือที่กล่าวว่า เมื่อคนเราทำกรรม.. วิถีจิตจะเคลื่อนไหลไปตามกระแส ๑๗ ชวนจิตใน ๑๗ ขณะจิต มีจิตอยู่ ๗ ดวง ที่เรียกว่า ชวนจิต จะเป็นตัวแสดงว่าเกิดผลเป็น บุญ บาป จากการกระทำที่จิตได้เสพคบกับอารมณ์นั้นแล้ว ก่อนที่จะนำไปบันทึกและจัดเก็บไว้ใน ภวังคจิต เพื่อติดตามให้ผลในโอกาสเวลาที่เหมาะสมต่อไป ตามกำลังและความเร็วของชวนจิตใน ๗ ดวงนั้น ที่จะเป็นตัวแสดงการให้ผลว่าจะเป็นปัจจุบัน หรือภายภาคหน้า.. ในลำดับไหน อย่างไร

โดยเฉพาะกรรมที่ให้ผลแล้ว.. ที่เรียกว่า “อโหสิกรรม” จะเป็นตัวแสดงความเป็นจริงว่า.. กรรมทุกกรรม.. ไม่ว่าดีหรือชั่ว ต้องติดตามให้ผล.. จนกว่าจะเข้าสู่ “อโหสิกรรม” ที่แปลว่า กรรมให้ผลเสร็จแล้ว.. ไม่ว่าการให้ผลแล้วนั้นจะก่อเกิดผลเป็นอย่างไรก็ตาม.. เช่น กรรมให้ผลตรงๆ เสร็จแล้ว หรือกรรมบางอย่างรอโอกาสที่จะให้ผล.. จนหมดวาระของกรรมนั้นไปโดยอัตโนมัติ กลายเป็นอโหสิกรรมไป เหมือนยาที่เก็บไว้จนหมดอายุ.. ก็ย่อมสิ้นไปเช่นเดียวกับที่ใช้หมดไป..

ที่น่าศึกษายิ่ง.. คือ การเข้าถึงความเป็น อโหสิกรรม และไม่มีเหตุปัจจัยใดๆ ที่จะก่อให้เกิดการรับผลกรรมอีกต่อไป ด้วยการเข้าถึงพระนิพพานของบุคคลนั้นๆ

ตรงนี้ เปรียบเทียบคือ การเตรียมเพาะปลูกด้วยเมล็ดพันธุ์ชั้นดี.. แต่ไม่มีพื้นที่จะให้เพาะปลูกอีกต่อไป เมื่อเพาะปลูกไม่ได้.. ก็ต้องหมดสิ้นไปในเมล็ดพันธุ์ดังกล่าวนั้น.. ดุจเดียวกับเป็นหมัน.. พืชนั้นได้สิ้นไปแล้วเช่นเดียวกัน..

นอกจากกรรมชุดที่ ๑ แล้วนั้น ยังมีกรรมชุดที่ ๒ ที่ให้ผลตามหน้าที่.. มี ๔ อย่าง แสดงความสัมพันธ์กับจิตที่ดำเนินไปตามวิถี

การแสดงกรรมตามหน้าที่.. เพื่อแสดงความเป็นจริงของเจตนาแห่งจิต ที่เข้าไปรับผัสสะ.. เกิดเวทนาขึ้น ให้จิตเข้าไปเสพคบความรู้สึกนั้น ทั้งชอบ ไม่ชอบ เฉยๆ.. ที่แปรเป็นรูป สุข ทุกข์ อทุกขมสุข.. หรือราคะ โทสะ โมหะ.. ก่อเกิดความจำหมายในความรู้สึกนั้น.. นำเข้ามาปรุงแต่งด้วยการคิดนึกไปในอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งของธรรมนั้นๆ ว่าเป็นกุศลหรืออกุศล.. ที่วิญญาณเข้าไปรับรู้ ยึด ถือ พึงใจ.. เข้าถึง นึกคิดปรุงแต่ง ตั้งขึ้น เพื่อก่อเกิดชาติ หรือภาวะความยึดมั่นว่าเป็นตัวเรา ของเรา.. ขึ้น

การเกิดขึ้นจึงสำเร็จผลจากการกระทำตามเจตนาของจิตก่อให้เกิดขึ้น.. มีภาวะการไปสนับสนุนการเกิดขึ้น และมีภาวะการเข้าไปบีบคั้นและตัดรอน.. อันเป็นไปตามกฎธรรมชาติในความเป็นกฎเกณฑ์กรรม ที่มีทั้งแรงผลักและแรงดึง.. เพื่อความเคลื่อนไปของโลกนี้ให้เป็นตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ ที่เรียกว่า ความไม่เที่ยง ไม่คงทน.. ยากต้านทาน และไร้อัตตาตัวตนบังคับบัญชา

ประการสุดท้าย คือ กรรมที่ให้ผลไปตามลำดับ.. ในหมวดที่ ๓ ที่แสดงกระบวนการของกฎเกณฑ์กรรม.. ที่มีระบบ ระเบียบแบบแผน อันเป็นไปเพื่อการเชิดชู อำนาจแห่งธรรม ว่าเป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ในโลกนี้ ที่ว่าด้วย อำนาจแห่งกรรม ที่จะจัดลำดับการให้ผลไปตามความหนักเบา.. ได้แก่ ครุกรรม อาจิณณกรรม

สำหรับกรรมที่กระทำเมื่อใกล้ตาย หรือกรรมที่ระลึกได้เมื่อจวนเจียนจะตาย.. ก็จะตามติดมาให้ผลอย่างต่อเนื่อง รวดเร็ว ในกาลที่ใกล้จะจุติเพื่อปฏิสนธิจิตใหม่นั้น อันเป็นไปตามสภาพธรรมที่เสพคุ้นเคยก่อนใกล้จุติหรือตาย ที่จะมีผลยิ่งรองลงมาจาก ครุกรรม และ อาจิณณกรรม... ที่เรียกว่า อาสันนกรรม

ในหมวดกรรมที่ให้ผลไปตามลำดับนี้.. กรรมที่สักแต่ว่าทำ.. โดยมิได้เจตนา จะติดตามให้ผลเมื่อกรรม ๑-๒-๓.. ไม่ให้ผลแล้ว.. แสดงให้เห็นร่องรอยของกรรม แม้มิได้เจตนาก็ยังติดตามให้ผลได้..

สำคัญ คือ มีการรู้ในอารมณ์ทั้งหลาย เป็นปกติ จึงควรรู้อย่างมีสติปัญญา.. เพื่อประกอบความเพียรชอบ สร้างความเห็นชอบในทุกขณะจิต.... อย่าปล่อยให้ไหลหลงไปตามอารมณ์ โดยคิดว่า ไม่เป็นไร.. เพราะเรื่องของจิต..นั้น ต้องเป็นแน่นอน.. ส่วนจะเป็นอย่างไรนั้น.. ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยในขณะจิตนั้นๆ เป็นสำคัญ.. ที่ต้องอบรมจิตกันตลอดเวลา.. ปล่อยไม่ได้.. ประมาทไม่ได้เลย คือ จิต..ของเราเอง!!.

เจริญพร

dhamma_araya@hotmail.com

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด บ้านใหญ่ รอเข้าวิน พท.กวาดเยอะ-พรรคส้ม เสี่ยงร่วง

ยิ่งใกล้ถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ. พบว่าการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.ทั้งที่ลงในนามพรรคการเมือง และไม่ได้ลงในนามพรรค

ร้อยใจไทย สืบสานราชธรรม .. ณ จังหวัดนครปฐม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. ในวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ โครงการร้อยใจธรรม สืบสานราชธรรม ทั้งแผ่นดิน ถวายเป็นพระราชกุศลฯ ที่ดำเนินการโดย สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและวัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย (ธ) ในพระราชูปถัมภ์ฯ จ.ลำพูน

ลึกสุดใจ. ”พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ ผบ.ตร.” ยึดกฎกติกา ไม่กลัวทุกอิทธิพล

ถึงตอนนี้ "พลตํารวจเอก กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ หรือ บิ๊กต่าย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ" ได้ทำหน้าที่ ผบ.ตร.อย่างเป็นทางการมาร่วมสามเดือนเศษ ส่วนการทำงานต่อจากนี้ ในฐานะ"บิ๊กสีกากี เบอร์หนึ่ง-รั้วปทุมวัน"จะเป็นอย่างไร?

2 สว. “ชาญวิศว์-พิสิษฐ์” ปักธงพิทักษ์รธน. ปกป้องสถาบันฯ พวกเราเป็นอิสระ ไม่มีรับใบสั่ง

กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อนำไปสู่การให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูยเพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อไทย ที่ต้องการทำให้เสร็จก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น

ก้าวย่างออกจากปัญหา .. ของประเทศ!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา... คำกล่าวที่ว่า.. “เมื่อสังคมมนุษยชาติขาดศีลธรรม.. ย่อมพบภัยพิบัติ.. เสื่อมสูญสิ้นสลาย..” นับว่าเป็นสัจธรรมที่ควรน้อมนำมาพิจารณา.. เพื่อการตั้งอยู่ ดำรงอยู่ อย่างไม่ประมาท...

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า