รองศาสตราจารย์ ดร.ชิดตะวัน ชนะกุล
อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก วันเดียวกัน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมครม.สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ เกี่ยวกับการประกาศจัดการชุมนุมครั้งสุดท้ายของนายสนธิว่า “เราต้องรักษาความสงบในประเทศให้ได้มากที่สุด เพราะหากเราจะไปประเทศไหนแล้วมีม็อบ เราอาจไม่อยากไป ซึ่งจะกระทบกับการท่องเที่ยว และประเทศอย่างแน่นอน”
ส่วนกรณีอุบัติเหตุคานเหล็กก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ถล่ม จากการรายงานของสื่อ นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์เพียงว่า “ได้มีการพูดคุยกัน ซึ่งนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กำลังจะเดินทางไปดูในพื้นที่” จึงเป็นเรื่องน่าฉงนว่า เหตุใดนายกรัฐมนตรีจึง take action หรือให้สัมภาษณ์ถึงโศกนาฏกรรมคานยักษ์ถล่ม น้อยกว่าเรื่องม็อบของนายสนธิที่“ยังไม่ทันเกิดขึ้น”
ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็ยังมิได้แสดงความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนเอง มีเพียงสั่งตรวจสอบเหตุคานถล่ม เยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้าน และจะคุยกับกรมบัญชีกลาง เพื่อออกมาตรการคุมผู้รับเหมา นอกจากนี้ จากสกู๊ปข่าวของสื่อบางสำนักพบว่า อธิบดีกรมทางหลวงคนที่ 34 นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย สร้างตำนานทำป้ายอธิบดีใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ในวันที่คานถล่มถนนพระราม 2 ทั้งหมดนี้เป็นปฏิกิริยาของบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ ต่อเหตุการณ์ร้ายแรงที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของตน ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่น
อาทิ วันเดียวกันนี้ Louise Haigh รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสหราชอาณาจักรประกาศลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบจากเหตุการณ์ในปี 2556 ที่เธอเคยให้การกับตำรวจว่าโทรศัพท์หายไป แต่ความจริงมิได้เป็นเช่นนั้น ซึ่งกรณีความผิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมของสหราชอาณาจักร ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์เมื่อเช้าตรู่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่ประเทศเซอร์เบีย ภายหลังเหตุการณ์หลังคาคอนกรีตของสถานีรถไฟเมือง Novi Sad ที่พึ่งได้รับการปรับปรุงใหม่ถล่ม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 15 ราย Goran Vesic รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ Tomislav Momirović รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้า ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในช่วงที่มีการปรับปรุงสถานีรถไฟดังกล่าว ได้แสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากตำแหน่ง
เชื่อกันว่า โศกนาฏกรรมหลังคาคอนกรีตถล่มมีต้นเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งโครงการดังกล่าวกลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอำนาจในรัฐบาลชนะการประมูล แล้วขายงานให้ผู้รับเหมาช่วงดำเนินการ ชาวเซอร์เบียจำนวนมากให้สโลแกนเหตุการณ์ความสูญเสียครั้งนี้ว่า “corruption kills” นั่นคือ ความตายของประชาชนเกิดจากการทุจริตคอร์รัปชัน เบื้องต้นมีผู้ถูกควบคุมตัว 11 คน รวมทั้ง Vesic อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่พึ่งลาออกจากตำแหน่ง ฐานเป็นผู้ต้องสงสัยกระทำความผิดทางอาญาต่อความปลอดภัยของสาธารณะ
เซอร์เบียเป็นประเทศที่มีการแพร่หลายของการทุจริตคอร์รัปชันใกล้เคียงกับประเทศไทย การจัดอันดับประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุด โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติพบว่า ปี 2566 เซอร์เบียและไทยอยู่ลำดับที่ 104 และ 108 จากจำนวน 177 ประเทศ ส่วนประเทศพัฒนาแล้ว เช่น เดนมาร์ก เยอรมนี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำที่สุดในโลกลำดับที่ 1, 9, 20 และ 24 ตามลำดับ เป็นที่น่าสนใจว่า เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ประเทศเหล่านี้ไม่ค่อยเกิดโศกนาฏกรรมจากโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี เซอร์เบียมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ต่ำลง เพราะนอกจากจะมีการควบคุมตัวอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและผู้เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงทีแล้ว ประธานาธิบดี Aleksandar Vucic ยังให้สัมภาษณ์อย่างชัดเจนว่า โศกนาฏกรรมหลังคาสถานีรถไฟถล่มครั้งนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ และกล่าวว่า “15 people did not die because of their own fault, but because someone didn’t do their job properly.” หมายความว่า “ผู้บริสุทธิ์ 15 ชีวิต ต้องจบชีวิตจากคนที่ไม่ทำหน้าที่ของตนอย่างถูกต้องเหมาะสม”
สำหรับประเทศไทย แม้ปรากฏเหตุการณ์คานถล่มระหว่างการก่อสร้างทางยกระดับ หรือรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในหน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม ทำให้เกิดการบาดเจ็บ ล้มตาย และความเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็หามีสักครั้งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจะแสดงความรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิตผู้บริสุทธิ์ อันเกิดจากการละเลยเอาใจใส่ตามอำนาจหน้าที่ แม้เพียงการลาออกดังเช่นนานาอารยประเทศ
นอกจากนี้ การให้สัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับม็อบของนายสนธิ ซึ่งเป็น“เรื่องในอนาคต ยังไม่มีความชัดเจน” ว่าจะกระทบประเทศ แต่ให้ความสำคัญค่อนข้างน้อยกับเหตุการณ์คานถล่มที่มีผู้บริสุทธิ์บาดเจ็บล้มตาย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับท่าทีผู้นำประเทศอื่นในเหตุการณ์คล้ายคลึงกัน ย่อมทำให้ประชาชนเกิดความกังขาว่า ผู้บริหารประเทศเป็นห่วงการดำรงคงอยู่ของตำแหน่ง และความอยู่รอดของรัฐบาล มากกว่าชีวิตและความปลอดภัยของประชาชนผู้บริสุทธิ์...หรือไม่!?
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไม่ทน! ฟ้อง 'อธิบดีทางหลวง-รมว.คมนาคม' เหตุเครนถล่มพระราม 2
'ศรีสุวรรณ' เตรียมยื่นฟ้องศาลปกครอง เอาผิด 'อธิบดีทางหลวง-รมว.คมนาคม' เหตุเครนถล่มพระราม 2 หลังเกิดขึ้นซ้ำซาก
นักการเมืองไทยอย่าทะลึ่ง! ยก 4 เคส บัวแก้วเคยประท้วงกัมพูชา อ้างสิทธิ 'เกาะกูด'
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า คนกัมพูชาจำนวนไม่น้อยเคยเชื่อหรือยังเชื่อว่าเกาะกูดเป็นของเขา ไม่ทั้งหมดก็อย่างน้อยกึ่งหนึ่ง!
ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?
การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก
ฟัน ‘หวานใจบิ๊ก’! ‘เต่า’ จ่อออกหมายคดีรุกส.ป.ก.10ล้านพัน ‘สามารถ’
"นฤมล" ขึงขัง ใครทำผิดรุกที่ ส.ป.ก.ฟันไม่เลี้ยง แต่ยังไม่ได้รับรายงานปมหวานใจอดีตรองนายกฯ เอี่ยวรีสอร์ตรุกที่ "บิ๊กเต่า" จ่อออกหมายเรียก-หมายจับ "หวานใจ" อดีตรองนายกฯ หลังพบเส้นทาง
ไม่หวั่นเจอตอ! 'บิ๊กเต่า' ลั่นคิวต่อไป คดีรุกที่ดิน สปก. สาวคนสนิท บิ๊กเนมการเมือง
พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รองผบ.ช.ก.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีกระแสข่าว “หวานใจอดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มีเส้นเงินเกี่ยวข้องกับรีสอร์ทรุกที่ดิน ส.ป.ก. ในส่วน
สังเวยอีก 6 ชีวิต ‘เครน’ ก่อสร้าง พระราม 2 ถล่ม
อีกแล้ว! คานปูนและเครนก่อสร้างถนนยกระดับถล่มบนถนนพระราม 2 บริเวณแยกต่างระดับเอกชัย คนงานดับแล้ว 6 เจ็บจำนวนมาก "สุริยะ" จ่อ