ศึกเลือกตั้ง อบจ. 1 ก.พ. 68 Generation War พท.-ปชน. บารมีบ้านใหญ่ ขลังหรือเสื่อม?

บ้านใหญ่ยังคงมี ยังไม่หมด บางจังหวัดดีขึ้น บางจังหวัดทรงตัว บางจังหวัดอ่อนลง แต่ยังไม่หมดไป ยังเชื่อว่าไม่หมดไปง่ายๆ การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นจะมีมุมมองใหม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการสู้กันด้วยนโยบายใหม่ๆ ที่ไม่ได้เป็นนโยบายเหมาโหล อย่างนโยบายน้ำประปาดื่มได้ อย่างที่เห็นกันมันเริ่มใกล้ชีวิตชาวบ้าน ไม่ใช่นโยบายขายฝันอย่างเดียว แต่เป็นนโยบายที่สะท้อนคุณภาพชีวิตชาวบ้านมากขึ้น จับต้องได้เห็นผลได้จริง

การเมืองท้องถิ่นกับการเลือกตั้ง "นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด" (นายก อบจ.) ซึ่งที่ผ่านมามีการเลือกตั้งกันไปหลายจังหวัด ได้รับความสนใจจากแวดวงการเมืองอย่างมาก เพราะการหาเสียงเลือกตั้งบางจังหวัด พบว่าเข้มข้นดุเดือดยิ่งกว่าการเลือกตั้ง สส.เสียอีก และบางจังหวัด ก็เป็นศึกแห่งศักดิ์ศรีการเมืองระดับชาติไปแล้ว เห็นได้จากล่าสุดกับการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานีที่ผ่านมา ที่เป็นการสู้กันของสองพรรคใหญ่คือ เพื่อไทยกับประชาชน 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. และสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ สจ.ทั่วประเทศ ในวันเสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ซึ่งแม้บางจังหวัดจะมีการเลือกตั้งนายก อบจ.ไปแล้ว แต่ก็จะต้องเลือกตั้ง สจ.กันในวันที่ 1 ก.พ.นี้ด้วยเช่นกัน ถือเป็นอีกหนึ่งปฏิทินการเมืองร้อนในปีหน้า 2568 ที่การหาเสียงและผลการเลือกตั้งจะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติไม่มากก็น้อย

“รศ. ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ซึ่งเป็นหนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามและทำงานด้านวิชาการเรื่องการเมืองท้องถิ่น -การคลังท้องถิ่นและการกระจายอำนาจมายาวนาน จนได้รับการยอมรับอย่างมากในแวดวงวิชาการด้านการเมืองท้องถิ่น” กล่าวถึงการเลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศที่จะมีขึ้น ตลอดจนการสู้ศึกเลือกตั้งนายก อบจ.ที่ผ่านมาหลายจังหวัดก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะบทบาทของ "บ้านใหญ่-ตระกูลการเมืองในแต่ละจังหวัดต่อผลการเลือกตั้งนายก อบจ."

โดย “รศ. ดร.วีระศักดิ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" กล่าวถึงการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศร่วม 47 จังหวัดในปีหน้าว่า เป็นการจัดการเลือกตั้งตามหลักปกติ เพราะเมื่อผู้บริหารคือนายก อบจ.และฝ่ายนิติบัญญัติของ อบจ.คือ สจ.อยู่ครบวาระ ก็ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 

...แต่สิ่งที่เห็นที่เป็นข้อดีก็คือ ผู้คนให้ความสนใจกับการเมืองท้องถิ่นในระดับ อบจ.มากขึ้น ที่ก็ทำให้ อบจ.มีอำนาจอันชอบธรรมที่จะไปแก้ไขปัญหาของจังหวัด ทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการพัฒนาจังหวัดให้เจริญเติบโตขึ้น เพราะวันนี้ อบจ.เข้าไปมีบทบาทดูแลการแก้ไขปัญหาพื้นที่เยอะขึ้นกว่าในอดีต เช่นเรื่องการดูแลเรื่องระบบสุขภาพของท้องถิ่น ที่มีความโดดเด่นมากขึ้นตั้งแต่หลังโควิดเป็นต้นมา จากเมื่อก่อนถูกมองว่า อบจ.ดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่วันนี้ อบจ.ดูทั้งเรื่องการจัดการเกี่ยวกับการบรรเทาสาธารณภัย ระบบสุขภาพ รวมถึงทำเรื่องการศึกษาเยอะขึ้น ข้อดีก็คือ กำหนดให้คนในพื้นที่เข้ามากำหนดทิศทางของตัวเองได้มากขึ้น

"รศ. ดร.วีระศักดิ์" ให้มุมมองว่า การเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัดที่มีการเลือกตั้งก่อนครบวาระ สิ่งที่ผมเห็นชัดขึ้นกว่าแต่ก่อนก็คือ เริ่มเห็นนโยบายต่างๆ ในการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของผู้สมัครนายก อบจ.ที่เป็นรูปธรรมมากกว่าเดิม เพราะมีชิ้นงานมากขึ้น จากเมื่อก่อนเราอาจไม่รู้ว่า อบจ.ทำอะไร เป็นแค่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นลอยๆ บางคนก็เรียก อบจ.ว่าเป็นเหมือนสำนักงบประมาณ ใครมีปัญหาอะไรก็มาของบ อบจ.เพื่อขอรับการสนับสนุน อบจ.ไม่ได้มีบทบาทอะไรในเชิงนโยบาย เชิงยุทธศาสตร์ แต่วันนี้ผมว่าไม่ใช่แล้ว อบจ.มีภาพของภารกิจ หน้าที่ ความรับผิดชอบที่ชัดขึ้นกว่าแต่ก่อน

"การเลือกตั้ง อบจ.รอบนี้ แม้จะเป็นการเลือกตั้งตามปกติเหมือนเดิม แต่ความสำคัญในเชิงคุณภาพ เชิงเนื้อหา และนโยบายมีมากขึ้น เข้มขึ้นมากกว่าการเลือกตั้งทั่วประเทศก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563"

-การเลือกตั้งนายก อบจ.ก่อนหน้านี้หลายจังหวัด ผลการเลือกตั้งพบว่าคนที่เป็นนายก อบจ.แล้วลาออกก่อนครบวาระ และเป็นเครือข่ายบ้านใหญ่ในจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ยกเว้นบางจังหวัดเช่น ขอนแก่น?

ไม่แปลก ที่นายก อบจ.บางคนชิงลาออกก่อนครบวาระ  เป็นเรื่องของการชิงความได้เปรียบ เพราะการลงสมัครคือการเตรียมนโยบาย เตรียมประเด็นที่จะหาเสียง ใครเตรียมก่อน มีเรื่องที่น่าสนใจ ถือโอกาสชิงพูดก่อน มีโอกาสทำการบ้าน ศึกษาข้อมูล ตัวนโยบายหาเสียงก็จะคมชัดขึ้น

และการชิงลาออกก่อนครบวาระก็ตีความได้อีกหลายอย่าง บางคนบอกว่าเพราะกลัวสีส้มก็เป็นเรื่องเข้าใจได้ คือกลัวฐานของสีส้ม เพราะฐานของสีส้มมาแรง สิ่งที่สีส้มได้เปรียบก็คือกระแสของพรรค ที่เราจะเห็นปรากฏการณ์นี้ชัดมากในการเมืองระดับชาติ ที่เป็นการเลือก สส. แต่การเมืองท้องถิ่นสีส้มก็ยังใหม่ อาจจะแค่ไม่เกินสิบปี พอยังใหม่ทำให้ยังไม่มีฐานที่ยึดโยงกับคนในพื้นที่มากนัก เขาไม่มีระบบหัวคะแนน ทำให้การเตรียมตัวผู้สมัคร เตรียมทีมผู้สมัครท้องถิ่น ก็เสียเปรียบ เพราะเริ่มต้นล่าช้า ทำให้นายก อบจ.หลายคนชิงลาออกก่อนครบวาระ เพื่อให้มีการเลือกตั้งภายใน 30 วัน เพราะมีการเซตนโยบายรอไว้อยู่ก่อนแล้วตั้งแต่ก่อนลาออก พอลาออกเสร็จ กกต.เปิดรับสมัคร ไปสมัครเสร็จก็ไปหาเสียงได้ทันที

ขณะที่บางพื้นที่ ทางพรรคสีส้มเพิ่งตั้งหลักจะเอาใครเป็นผู้สมัคร ก็เป็นเรื่องการชิงความได้เปรียบ ที่เป็นแบบนี้หลายพื้นที่ จึงไม่แปลกใจที่เหตุใดนายก อบจ.บางจังหวัดชิงลาออกก่อนครบวาระ ก็เพื่ออาศัยกรอบระยะเวลาสร้างความได้เปรียบทางการเมือง ทำให้เตรียมตัวไม่ทัน ผลก็เลยออกมาคือบ้านใหญ่หรือนายก อบจ.คนเดิมมักจะได้ (ชนะเลือกตั้ง) 

-ก็ทำให้บางจังหวัด อดีตนายก อบจ.ลงสมัครคนเดียวแบบไม่มีคู่แข่ง เช่นที่อุทัยธานี?

อันนี้ก็ต้องแฟร์ทั้งสองฝ่าย คือแม้จะเป็นการเลือกตั้งตามปกติ อยู่ครบวาระ บางจังหวัดก็อาจไม่มีคู่แข่งก็ได้

 ถามว่าทำไม หากผมจะวิเคราะห์ ก็คือการเมืองท้องถิ่น มันไม่ใช่การเมืองเรื่องของกระแสหรืออุดมการณ์มากนัก กระแสพรรค กระแสนิยมอย่างเดียวบางทีมันไม่พอ การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันของชาวบ้าน เป็นเรื่องที่ชาวบ้านต้องการคนที่เข้าถึงง่าย ไว้ใจ เห็นหน้าบ่อยๆ หรือเจอประสบการณ์ว่าเวลาเขามีปัญหา แล้วคนนี้วิ่งมาดูแลแก้ปัญหาให้ มันสร้างความผูกพัน ความไว้วางใจ ชื่อเสียง ศรัทธา บารมี คนที่เป็นบ้านใหญ่จะมีต้นทุนตรงนี้ อาจจะสร้างมาด้วยตัวของเขาเองในช่วง 10-20 ปี หรือสร้างมาจากตระกูลการเมืองของท้องถิ่น ก็สะสมมา ก็ทำให้มีความได้เปรียบ จะลงสมัครก่อนครบวาระก็อาจมีความได้เปรียบ หรือลงสมัครอีกครั้งเมื่อครบวาระ เขาก็อาจไม่มีคู่แข่งก็ได้

ถามว่ากลุ่มสีส้มรู้เรื่องนี้หรือไม่-ก็รู้ เขาประเมินได้ว่าฐานของตัวเองในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดมีมากน้อยขนาดไหน ควรจะส่งผู้สมัครลงแข่งขันหรือไม่ สามารถประเมินก่อนได้เบื้องต้น แต่ท้ายที่สุดก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าบ้านใหญ่จะชนะได้ทุกครั้ง ซึ่งที่ไม่ได้ชนะทุกครั้ง จริงๆ ก็อาจมาจากหลายสาเหตุ เช่นชาวบ้านเบื่อแล้ว อยู่มานานไม่มีไอเดียใหม่ๆ ไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เลยเบื่อ ลองคนใหม่ดีกว่า ซึ่งคนใหม่อาจจะดีกว่า หรือไม่รู้ว่าคนใหม่ดีกว่าหรือไม่แต่ก็ขอลองเปลี่ยน เพราะว่าไม่ขาดทุน เลือกคนเดิมไปก็ไม่ได้อะไรอยู่แล้ว เลยขอเลือกคนใหม่ เพราะบางทีหากมีอะไรใหม่ๆ มันคือกำไร ที่ชาวบ้านก็ได้ เขาก็ตัดสินใจเอา ไม่ใช่เรื่องน่าตกใจว่าคนที่เป็นนายก อบจ.มาก่อนจะได้ แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งไม่ได้ (ชนะเลือกตั้ง)

อย่างผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ขอนแก่นเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2567 ซึ่งปรากฏว่าอดีตนายก อบจ.ขอนแก่นไม่ชนะการเลือกตั้ง ผมว่าก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมาขอนแก่นเติบโตเร็วในช่วงสิบปีหลัง แต่ช่วง 2-3 ปีหลังสปีดช้าลง ตั้งแต่เกิดโควิดระบาด แต่ก็ต้องแฟร์กับทุกฝ่ายด้วย โควิดทำให้หลายอย่างสะดุด ทั้งเรื่องรถไฟฟ้า เรื่อง Smart ซึ่งขอนแก่นขึ้นชื่อเรื่องโครงการ Smart City ต่างๆ มาก

 ประชาชนอาจรู้สึกว่าทำไมเลือกได้นายก อบจ.ขอนแก่นคนเดิม (พงษ์ศักดิ์ ตั้งวานิชกพงษ์) แล้วมันสะดุดลงในช่วง 2-3 ปีหลัง มันอาจไปผนวกกับเรื่องโควิดและระบบเศรษฐกิจยังฟื้นไม่เต็มที่ สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจบ้านเราก็ไม่ดี เมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน

ชาวบ้านก็อาจสรุปแบบรวบรัดว่า คนเดิมโตช้า ไม่ได้มีอะไรบกพร่อง แต่รู้สึกไม่ทันใจ ก็เลยขอลองคนอื่นและคนใหม่ (วัฒนา ช่างเหลา) ที่ทำเรื่องกีฬาฟุตบอลด้วย เลยลองคนอื่นเพราะคิดว่าอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น

-มองภาพรวมการเลือกตั้งนายก อบจ.ทั่วประเทศวันที่ 1 ก.พ.ปีหน้าอย่างไรบ้าง อย่างในส่วนของพรรคการเมือง เช่นภูมิใจไทย ก็ไม่ได้ส่งคนลงในนามพรรค แต่สนับสนุนผู้สมัครบางคนที่ลงอิสระ หรือประชาธิปัตย์ ที่ภาคใต้ก็อาจไม่ได้ส่งในนามพรรค?

ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล ที่ไม่ส่งคนลงในนามพรรคลงสมัครนายก อบจ. สาเหตุหนึ่งเพราะเขาร่วมรัฐบาลกันอยู่ การไม่ส่งคนลงในนามพรรค ก็เป็นการเลี่ยงไม่ให้เกิด conflict ระหว่างพรรค มันก็เป็นทางออก

 อย่างการเลือกตั้งนายก อบจ.สุรินทร์ที่ผ่านมาเมื่อ 23 พ.ย.ที่ผ่านมาก็ชัดเจน แต่ในบางทีเขาให้เกียรติกัน เป็นเรื่องมารยาททางการเมือง ในเมื่อวันนี้การเมืองระดับชาติ ภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ก็เกาะอยู่กับเพื่อไทย เขาก็ไม่เปิดศึกโดยตรง เป็นการลดข้อขัดแย้ง มีพื้นที่ทางออก ให้เกิดการแก้ตัวได้ว่าใครชนะเป็นเรื่องตัวบุคคล กลุ่มการเมือง ไม่ได้เป็นเรื่องของพรรค อันนี้ผมว่าชัดมาก ไม่ได้น่าแปลกใจอะไร

ส่วนในซีกของพรรคประชาชน ก็ชัดเจนการประกาศส่งผู้สมัครนายก อบจ.บางพื้นที่ เป็นเรื่องที่พรรคมองเชิงยุทธศาสตร์เป้าหมาย คือมองว่าพื้นที่ตรงไหนที่พรรคมีฐานเสียง ทำให้พรรคเลยส่งแค่บางจังหวัด เพราะอย่าลืมการส่งในนามพรรค ทางพรรคต้องออกหน้า ต้องมี Resource คนที่มีบารมี สร้างความน่าเชื่อถือเยอะหรือไม่ ในพรรคประชาชน คำตอบคือมีไม่กี่คน ดังนั้นหากส่งผู้สมัครเยอะจะเกิดการดึงคนกันในการลงพื้นที่หาเสียง

ดูได้จากตัวอย่างการเลือกตั้งนายก อบจ.ที่อุดรธานีที่ผ่านมา แค่จังหวัดเดียวพรรคประชาชนยังแบ่งทีมช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครเป็น 3-4 ทีม ในการเดินสายใครรับผิดชอบพื้นที่ใด โซนไหน เขาแบ่งกันเพื่อให้มันทั่วถึง ดังนั้นหากจากที่จะมีการเลือกตั้ง 47 จังหวัด หากจะส่งสักเช่น 30 จังหวัด ก็ไม่มีแรงคนที่จะไปช่วยหาเสียง ก็เท่ากับว่าปล่อยให้ผู้สมัคร ลุยกันเอง ซึ่งถ้าแพ้เลือกตั้งมันก็เสียเชิงในทางการเมือง

เพราะฉะนั้นสำหรับพรรคประชาชน ผมวิเคราะห์ว่าการส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. เขามองในเชิงยุทธศาสตร์ ส่งลงสมัครในพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพและมีทีมพอที่จะไปช่วยกันในการหาเสียง และเขาเป็นพรรคฝ่ายค้าน ก็ไม่ต้องเกรงใจอะไร ไม่ได้จะต้องปะทะกับใครในการเปิดตัวผู้สมัครลงในนามพรรค ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีขาดทุนในทางการเมืองที่จะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติ ส่วนการที่พรรคประชาชนประเมินแล้วส่งเฉพาะบางพื้นที่ ก็เพราะเขาไม่มีฐานต้นทุนเดิมมากนัก แต่เขาดูจากเรตติงของพรรค ที่มันโยงไปถึงการที่อย่างกรณีตัวพ่อของพรรคต้องลงไปเล่นที่อุดรธานี เขามีเรตติงของพรรค มีสถิติการเลือกตั้งย้อนหลัง จากการเลือกตั้ง สส. ทั้งคะแนนผู้สมัคร สส.อุดรธานีแต่ละเขต คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ที่พรรคได้ในการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้เขาประเมินได้ว่าโซนนี้คะแนน Popularity ของพรรคได้เท่าใด พรรคก็รู้แล้วว่ามีคะแนนนิยมเดิม มีฐานอยู่เท่าใด หากดูแล้วคะแนนขาดกับคู่แข่งค่อนข้างมากก็ต้องปล่อย แต่หากดูแล้วขาดแต่ทว่ากระแสดี แนวโน้มเทรนด์มันดีอาจจะขอสู้

อย่างที่อุดรธานี คะแนนนิยมในอดีตของพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ชื่อเดิม (ไทยรักไทย) อยู่ที่ประมาณ 5 แสนคะแนนบวกลบ โดยคะแนนคงที่แบบนี้มาสักพัก จนเมื่อมีพรรคอนาคตใหม่ในการเลือกตั้งปี 2562 ปรากฏว่า 5 แสนคะแนนคงที่ของเพื่อไทย มันดรอปลงมาเหลือ 3 แสนคะแนน โดยพรรคสีส้มเปิดตัวมาครั้งแรก (พรรคอนาคตใหม่) ก็ได้หนึ่งแสนกว่าคะแนนทั้งจังหวัดอุดรธานี ถัดมาปี 2566 คะแนนพรรคส้มจาก 1 แสนกว่ากลายมาเป็น 2 แสนกว่า อีกซีกหนึ่งเหลืออยู่ประมาณ 3 แสนกว่า แล้วก็คงที่อยู่ประมาณนี้  เขาเรียก Margin หรือส่วนต่างมันมีลุ้น ทำไมเขาจึงจะไม่สู้  เพราะอีกฝ่ายคะแนนนิ่งอยู่ที่ 3 แสนกว่าคะแนน 5-6 ปีแล้ว พรรคส้มเลยสู้

โดยที่การหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งสองฝ่ายต่างส่งตัวพ่อลงไปช่วยหาเสียงทั้งสิ้น จากเท่าที่จะหาได้เพราะทั้งสองฝ่ายต่างแพ้ไม่ได้ เพราะผลระยะยาวคือการวัดเรตติงของพรรค เพราะการเลือกตั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2570 ใครจะไปรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การส่งคนลงสมัครรับเลือกตั้งจึงทำให้ได้รู้เรตติงของพรรคเป็นระยะ เลือกตั้งบ่อยก็รู้เรตติงบ่อย ที่ใกล้เคียงความเป็นจริง เช่นพรรคส้มเขาอาจคิดว่าส่งคนลงเลือกตั้งนายก อบจ. แพ้ก็ไม่เป็นไร แต่จะได้เห็นเรตติงพรรคว่าขึ้นหรือลง แล้วเอาข้อมูลที่ได้ไปประเมินผลการเลือกตั้งครั้งต่อไปในการเลือกตั้งระดับชาติ หรือเวทีท้องถิ่นลำดับต่อไปที่เขาอาจจะส่งต่อในอนาคต

เพราะพอเลือกตั้ง อบจ.เสร็จ ก็จะมีการเลือกตั้งระดับเทศบาลและตามด้วย อบต. เช่นสมมุติผลเลือกตั้ง อบจ.ออกมา พรรคสีส้มได้คะแนนชนะในเขตเมือง แต่แพ้ในพื้นที่เขตรอบนอก เขาอาจนำข้อมูลนี้ไปใช้ต่อวางแผนเลือกตั้งระดับเทศบาล นำข้อมูลมาพิจารณาว่าใครเหมาะสมที่จะส่งลงสมัครนายกเทศมนตรีอุดรธานีได้ คือไม่ขาดทุน นี้คือข้อมูลที่ไม่ต้องเสียเงินซื้อ แต่ใช้ประสบการณ์จริงจากการเลือกตั้งจริงมาเป็นตัวบ่งชี้ พรรคส้มเขาก็เลยต้องสู้เพราะได้ประโยชน์ทั้งระยะสั้นและระยะยาว อันนี้เกมการเมืองที่ไม่ได้ถึงกับซับซ้อนหรือตีความไม่ได้ว่าเขาคิดอะไร ผมคิดว่ามันชัดพอสมควรอยู่

พรรคส้ม เป็นไปได้ ปักธงนายก อบจ.สำเร็จ หรืออาจไม่ได้สักคนเดียว!

-เห็นพรรคประชาชนตั้งเป้าไว้สำหรับการเลือกตั้งนายก อบจ. คืออย่างน้อยได้ภาคละ 1 คน ซึ่งก็มี 5 ภาค  หากทำได้พรรคประชาชนก็จะมีนายก อบจ. 5 คน เป็นไปได้หรือไม่ หรือว่าอาจจะได้มากกว่านั้น?

ต้องลุ้นเลย พื้นที่ซึ่งพรรคประชาชนเขาหวังมากก็เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต อย่างภูเก็ตทางพรรคเขามั่นใจมากเพราะ สส.เขตภูเก็ต 3 คนเป็น สส.พรรคประชาชนหมด ความมั่นใจของพรรคประชาชนมาจากไหน ก็ต้องมาจากฐานการเลือกตั้งในอดีต ถึงจะเป็นคนละเวที แต่บางทีมันบอกกระแสนิยมพรรคได้

แต่ก็อย่าลืมว่าความแตกต่างของการเมืองท้องถิ่นก็คือ  ต้องมีตัวบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือด้วย เพราะการเมืองท้องถิ่นไม่ใช่แค่กระแสพรรค แต่มันยังมีเรื่องของตัวบุคคล ที่ชาวบ้านบอกคนนี้เขาเคยเห็น คนนี้เคยช่วยเขามาก่อน คนนี้เขาไว้ใจ คนนี้คุยภาษากับชาวบ้านเป็น สิ่งที่ผมกังวล อย่างพรรคประชาชนก็เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่มาแล้ว  (พันธุ์อาจ ชัยรัตน์) เป็นอดีตอาจารย์ เคยเป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

สิ่งที่ต้องประเมินก็คือ ความใหม่กับพื้นที่ของตัวคน  ความที่มีภาพความเป็นนักวิชาการ จะชนะใจชาวเชียงใหม่ได้หรือไม่ เพราะอย่างที่ผมมอง สมมุติเกิดน้ำท่วม เกิดภัยพิบัติ  นักวิชาการที่ตัวผมก็เป็นนักวิชาการ จะลงไปขลุกอยู่กับชาวบ้านได้ขนาดไหน จะสลัดภาพความเป็นนักวิชาการ แล้วเปลี่ยนตัวเองเป็นคนของชาวบ้านได้ขนาดไหน ที่วันนี้ผู้สมัครที่เขาเลือกมา ซึ่งตามที่ปรากฏชื่อ ผมยังรู้สึกว่าการเข้าถึงหัวอกหัวใจชาวบ้านยังไม่เยอะ คือกระแสพรรคก็เรื่องหนึ่ง  แต่ตัวบุคคลมีความสำคัญสำหรับการเมืองท้องถิ่น ชื่อหรือแม้กระทั่งนามสกุลมีความหมายทั้งสิ้น แต่หากเป็นผู้สมัคร สส.  สำหรับพรรคสีส้มชื่อหรือนามสกุลแทบไม่มีความหมาย กระแสพรรคล้วนๆ

 ทำให้ตรงนี้ยังประมาทไม่ได้ ถึงแม้ว่าจังหวัดนั้นพรรคประชาชนจะเหมา สส.ชนะมาทั้งหมดก็ยังประมาทไม่ได้ คืออาจจะแพ้ก็ได้ ผมเชื่อว่าวันนี้ประชาชนเรียนรู้ทางการเมืองเยอะขึ้น แยกเวทีการเลือกตั้งแต่ละส่วนได้ และก็จะมีชุดความคิด คือหลักเกณฑ์การตัดสินใจคนละแบบกัน

เพราะจากที่เห็น การเมืองท้องถิ่นตัวบุคคลมีความสำคัญ คือคนในพื้นที่ต้องรู้ว่าหากไปเลือกแล้ว คนที่จะมาดูแลรอบๆ บ้านของเขา ชุมชนของเขาคือใคร ไว้ใจได้ขนาดไหน เข้าถึงได้ขนาดไหน ปวดหัวตัวร้อนโทรศัพท์หานายก อบจ. ตัวคนนั้นเคยมีประวัติว่าเข้าถึงได้หรือไม่ หากมีประวัติว่าเข้าไม่ถึง มักปฏิเสธชาวบ้าน ก็เรียบร้อยหมดเลย ดังนั้นรอบนี้ยังต้องลุ้น ถึงแม้พรรคสีส้มจะบอกว่าส่งแค่ไม่กี่จังหวัด เอาเฉพาะที่มั่นใจ แต่ก็ชะล่าใจไม่ได้

-แล้วโอกาสที่ผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคประชาชนจะไม่ชนะเลือกตั้งเลยมีหรือไม่ ซ้ำรอยตอนเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2563?

ก็เป็นไปได้ ขนาดเชียงใหม่ผมว่ายังต้องลุ้นเลย ผมรู้สึก ภูเก็ตมีโอกาสสูงก็จริง แต่ก็ประมาทไม่ได้ แล้วยิ่งเชียงใหม่ บ้านเกิด เป็นต้นกำเนิดของไทยรักไทยในอดีต ดูแล้วเมื่อถึงคิว เราก็อาจจะได้เห็นนายทักษิณ ชินวัตร ออกโรงอีกแน่นอน เพียงแต่ว่าจะไปหาเสียงให้ด้วยตัวเอง หรือจะใช้วิธีเขียนจดหมายน้อยไปสื่อสารกับประชาชน ก็แล้วแต่วิธีการ  แต่เขายอมไม่ได้เหมือนกัน เหมือนกับที่อุดรธานี ซึ่งการที่มีการเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานีก็มีข้อดี ทำให้รู้ว่าเรตติงพรรคยังดีอยู่หรือไม่ รวมถึงที่นายทักษิณออกโรงเอง ทำให้รู้ว่าเรตติงนายทักษิณยังดีอยู่หรือไม่ ผมว่าพวกนี้มีกลยุทธ์ คิดสะระตะบวกลบคูณหาร ถึงมีการกระทำแบบนี้เกิดขึ้น

-คือก็มีโอกาสที่พรรคประชาชนอาจจะได้นายก อบจ. หรืออาจจะไม่ได้เลยสักคนก็ยังได้?

ก็ได้ทั้งนั้น และอย่าลืมว่าวันนี้ตัวแปรก็คือ เพื่อไทยเอาเบอร์หนึ่งออกมาแล้ว พรรคประชาชนก็พยายามเอาเบอร์หนึ่งออกมา ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ก็ไปช่วย รวมถึงชัยธวัช ตุลาธน คือหัวหน้าพรรค (ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ) ยังไม่เด่น บารมีพรรษายังน้อย และอย่าลืมว่าหัวหน้าพรรคคนปัจจุบันยังมีภาพความเป็นคนเมืองอยู่เยอะ ต้องปรับตัว ซึ่งการปรับตัวนายทักษิณก็ทำ กลยุทธ์นี้ไม่ได้ยากเลย เจอหน้าประชาชน ทักทายพี่น้องประชาชน พูดภาษาท้องถิ่นของเขาก่อน

 คุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตรก็ทำ เวลาไปที่ไหนก็ต้องพูดภาษาท้องถิ่นเขาก่อน ที่เหลือจะพูดภาษากลางก็ว่าไป เมื่อก่อนนายพิธาไม่ได้เลย แต่ต่อมาเรียนรู้เป็น พอไปได้สักพัก 2-3 เดือนเริ่มอิน มันต้องมีแอ็กติงบ้างทางการเมือง พูดภาษาถิ่น ทักทาย อะไรต้องดุดันก็ต้องดุดัน ท่อนไหนพูดภาษาท้องถิ่นแล้วมันอิน โดนใจชาวบ้าน ก็ต้องเรียนรู้ทางการเมือง อันนี้เป็นเรื่องประสบการณ์ทางการเมืองล้วนๆ

พิธา อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลผ่านจุดนี้มาแล้ว ถึงได้คะแนนในช่วงท้ายๆ ของการเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 ความเป็น Local People ต้องปรับตัวเป็น คุณณัฐพงษ์ยังขาดต้องเรียนรู้ ต้องสปีดเร็วกว่านี้ ทำให้เห็นว่าเป็นคนพวกเดียวกัน พูดภาษาเดียวกัน ไปอีสานผูกผ้าขาวม้าเหมือนกัน ก็ต้องผูกผ้าขาวม้า มันคือการจัดฉากทางการเมือง เรารู้แหละว่ามันคือการแสดง แต่ถามว่าจำเป็นหรือไม่-ก็จำเป็น หากอยากได้ใจชาวบ้าน

Generation War เพื่อไทย-ทักษิณ VS พรรค ปชน.

-แล้วพรรคเพื่อไทยประเมินว่าในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.จะเป็นอย่างไร ผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้งมากน้อยแค่ไหน รวมถึงบทบาทของนายทักษิณในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง?

ยังมีความได้เปรียบ ส่วนการที่พรรคเพื่อไทยต้องเข็นนายทักษิณมาช่วยหาเสียง ก็เพราะเบอร์รองๆ ในพรรคเพื่อไทยที่จะมีบารมีแทบไม่เหลือแล้ว คำถามคือเพื่อไทยเหลือใคร อย่างนายภูมิธรรม เวชยชัย ที่เป็นเบอร์รอง แต่ชาวบ้านไม่รู้จัก แต่การเมืองระดับบนคนรู้จักดี เป็นพวกวางยุทธศาสตร์การเมือง แต่การเมืองท้องถิ่นชาวบ้านไม่รู้จัก  หรือหากจะให้ลูกสาวคือนายกฯ ออกโรง ก็มีข้อจำกัดทางกฎหมาย เพื่อไทยจึงไม่มีเบอร์รอง

อีกทั้งหากเพื่อไทยไม่เอาเบอร์ใหญ่ออกมา แล้วขยักเอาเบอร์รองๆ เข้ามาช่วยหาเสียง ซึ่งหากพลาดเกิดเพลี่ยงพล้ำ มันก็หมดเครดิตเลย ต่อให้นายทักษิณไปช่วยทีหลังก็อาจกู้คืนไม่ได้

ถามว่าผมประเมินจากอะไร ผมคาดเดาว่าก็เหมือนที่เพื่อไทยอาจจะพลาดตอนหาเสียงเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 คือเรื่องจุดยืนต่อทหาร พูดไปแล้วแบบหนึ่ง แล้วมาตามแก้ทีหลัง เครดิตมันไม่ได้แล้ว ขณะที่สีส้มจุดยืนวันนั้นชัดเจนเลยว่าจุดยืนต่อทหารเป็นอย่างไร จบเลย ไม่ต้องมานั่งแก้ข่าว วัดดวงเลยพูดง่ายๆ จะใช้กลยุทธ์แบบทีละขยักๆ ผมว่าไม่พอ เขาอาจเรียนรู้จากตรงนี้

เพราะฉะนั้นส่งตัวใหญ่ไปช่วยเลย จบ วัดดวงไปเลย ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ แล้วถ้าไม่ได้จังหวัดนี้ ค่อยไปแก้เกมใหม่ในจังหวัดอื่น ก็ไม่ติดลบ แต่หากส่งเบอร์รองของพรรคไปก่อน หากเกิดพลาด คุณทักษิณก็ต้องออกโรงอยู่ดี ซึ่งมันอาจกู้คืนไม่ได้ ก็เลยให้คุณทักษิณออกโรงมาเลย

ถามว่าใครที่มีบารมีเหนือคุณทักษิณบ้าง ณ วันนี้ เอาจริงๆ ผมว่าไม่มี ถึงแม้ไม่อยู่เมืองไทยมา 17 ปี แต่ก็ยังมีคนรักแกทั่วบ้านทั่วเมืองในนามส่วนตัวบุคคล ก็มีเยอะแยะ คุโณปการแกก็มีเยอะ ก็ต้องยอมรับ เช่นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน การหาแหล่งสินเชื่อเพื่อทำให้คนลืมตาอ้าปากได้ แล้วตอนนั้นมันบูมจริงๆ คนยังมีภาพจำนั้นอยู่ ยังไม่มีใครมีผลงานเด่นพอที่จะมาลบภาพตรงนั้น ธนาธรก็สู้ไม่ได้ แต่แน่นอนสิ่งที่ผมพูดอาจหมายความเฉพาะคนที่มีอายุ 40-50 ปีขึ้นไปจะเห็นภาพนั้น แต่เด็กรุ่นใหม่ๆ นิวโหวตเตอร์ที่เราพูดกัน ที่อยู่ในช่วงอายุ 20 ปีบวกลบ จนถึงอายุ 30 ปี เขาไม่เห็นภาพแบบนั้น ทำให้หากกระแสเพื่อไทยยังดี ก็ยังได้แค่ส่วนที่คนกลุ่มอายุ 30 ปีขึ้นไป แต่ถ้ากลุ่มคนอายุ 20-30 ปีจะไม่ค่อยได้ ก็เป็นไปได้ คนกลุ่มนี้จะไปทางสีส้ม แต่อันนี้ถามว่าเพื่อไทยรู้หรือไม่ พรรคเพื่อไทยเขาก็รู้ แล้วก็แก้เกม โดยการสร้างนโยบายที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

ถามว่าผมประเมินจากอะไร ที่ผมอาจประเมินผิดก็ได้ ก็ดูจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตเฟสต่อไป ที่ก่อนหน้านี้มีการออกมาพูดไว้ว่า เฟสต่อไปจะทดลองกับคนรุ่นใหม่ก่อนที่มีสมาร์ทโฟน แต่ปรากฏว่าเขาอาจประเมินแล้วหรือมองข้ามเลย ก็เลยตัดออกไปก่อน ก็เปลี่ยนเป็นการให้เงินกับผู้สูงอายุ ที่รายชื่ออาจตกหล่นจากการแจกเงินรอบแรก ประมาณ 4-5 ล้านคน ที่ตามข่าวบอกว่าอาจให้ก่อนการเลือกตั้ง อบจ. ที่ก็อาจเป็นไปได้ว่าผูกกัน หากไม่ผูกจริงทำไมไม่เลื่อนไปให้หลังการเลือกตั้ง อบจ. แจกหลังวันที่ 1 ก.พ. 2568 ถ้าแน่จริง หากยืนยันว่าไม่เกี่ยวกัน แจกวันที่ 2 ก.พ.ก็ยังได้ ให้เลือกตั้งจบก่อน กล้าทำหรือไม่ ก็คงไม่กล้า เพราะประกาศไปแล้วว่าจะให้ก่อนตรุษจีน

รวมถึงกำหนดเลือกตั้งให้เป็นวันเสาร์ ก็อาจมีนัยทางการเมือง ถามว่าใครกลับบ้านวันเสาร์ กลุ่มคนรุ่นใหม่ถ้าอยู่กรุงเทพฯ เดินทางกลับบ้านก็หนึ่งวัน ไปวันเสาร์ ถ้าทันก็เลือกตั้งได้ แต่ถ้าเป็นวันอาทิตย์ย่อมคล่องตัวกว่า แล้วประเพณีการเลือกตั้งบ้านเรา ส่วนใหญ่ก็วันอาทิตย์ทั้งนั้น พอมาวันเสาร์ก็ช็อกเลย ก็ไม่รู้อาจจะมีความได้เปรียบเสียเปรียบกันก็ได้ ต้องประเมินดู

ตอนนี้มันเป็น Generation War คือหากผมแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ 1.นิวโหวตเตอร์ ตีเสียว่าอายุประมาณ 18-30 ปี กลุ่มนี้ความผูกพันกับเพื่อไทยมีไม่มากนัก 2.กลุ่มอายุระหว่าง 30-60 ปี กลุ่มคนวัยทำงาน ก็ยังมีส่วนที่ยังผูกพันกับเพื่อไทยอยู่ และ 3.กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งในบ้านเราที่ก็มีไม่น้อย ก็ประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ของคน 60 ล้านคน ก็ประมาณ 14-15 ล้านคน ส่วนกลุ่มนิวโหวตเตอร์ก็น่าจะมีราวๆ 10 ล้านคนบวกลบ ที่เหลือเป็นวัยทำงานและวัยกลางคน

ผมเดาว่าวันนี้เขาอาจยอมปล่อยกลุ่มนิวโหวตเตอร์ก็ได้ เพราะยังไงก็เปลี่ยนใจกลุ่มนี้ไม่ได้ ก็เลยทุ่มไปที่กลุ่มวัยทำงานและผู้สูงอายุไปเลย ก็อาจมีข้อได้เปรียบมากกว่าที่จะไปทุ่มแรงไปที่กลุ่มนิวโหวตเตอร์ แล้วสุดท้ายอาจไม่ได้ผลอะไร  สถานการณ์เพื่อไทยวันนี้พอคุณทักษิณกลับมา ที่ช่วยเรียกกระแสของผู้สูงอายุ เรียกกระแสจากกลุ่มคนวัยทำงานได้ดีกว่า ซึ่งตรงนี้ยังเป็นจุดอ่อนของพรรคประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึง

ผมมองเกมถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป เพื่อไทยไม่สะดุดตัวเอง ไม่ว่าจะสะดุดด้วยตัวบุคคลหรือสะดุดด้วยจากการเป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคร่วมรัฐบาลต่างๆ ที่เป็นตัวแปรได้เช่น  ภูมิใจไทย รวมไทยสร้างชาติ หากรัฐบาลประคองรอดอยู่ไปจนถึงจัดให้มีการเลือกตั้งใหญ่ปี พ.ศ. 2570 แต้มต่อของเพื่อไทยจะกลับมา เขาถึงต้องสร้างฐานให้ดี คือฐานท้องถิ่น แล้วการเมืองระดับชาติก็ต้องผูกกันไว้ อย่าขัดแข้งขัดขากัน

เลือกตั้ง อบจ.ทั่วประเทศ บ้านใหญ่ยังมีมนตร์ขลัง-บารมี

-บทบาทของบ้านใหญ่ ตระกูลการเมืองในแต่ละจังหวัด จะมีบทบาทมากน้อยแค่ไหนในการเลือกตั้งนายกฯ อบจ.-สจ.ปีหน้า?

ยังคงมี ยังไม่หมด บางจังหวัดดีขึ้น บางจังหวัดทรงตัว  บางจังหวัดอ่อนลง แต่ยังไม่หมดไป ผมยืนยัน ยังเชื่อว่าไม่หมดไปง่ายๆ และอย่าลืมมันอาจเดจาวูก็ได้ สมมุติลองคิดกลับกัน พรรคประชาชนเป็นกลุ่มใหม่ก็จริง แต่ใครจะรู้ว่าเขาจะกลายเป็นบ้านใหญ่ต่อไปหรือไม่ในอนาคต ให้เวลาเขาหน่อย มันจะพิสูจน์ตัวตนเขามากขึ้นก็ได้ เขาอาจไม่ได้เป็นบ้านใหญ่ หรืออาจจะกลายเป็นบ้านใหญ่คนใหม่กลุ่มใหม่ก็ได้ กลุ่มการเมืองมันเปลี่ยนได้ตลอด

อย่างที่นครศรีธรรมราช เมื่อก่อนตระกูลเดชเดโชก็ไม่ใช่ตระกูลใหญ่ เมื่อก่อนอาจจะมีตระกูลเสนพงศ์คุมหมด ทั้งการเมืองระดับชาติ สส. และการเมืองท้องถิ่น ของเขาหมด 3 พี่้น้อง แล้ววันนี้หายไปไหนแล้ว อาจจะสะดุดขาตัวเอง เจอคดีอะไรต่างๆ กลุ่มใหม่ก็โผล่ขึ้นมาแทน ก็เป็นไปได้ ถึงจะร่มใหญ่ร่มเดียวกัน แต่มันก็เป็นก๊ก ก็เหมือนสงขลาก็เป็นก๊ก  หรือกระบี่เมื่อก่อนประชาธิปัตย์ก็คุม แต่ดูวันนี้อย่างเท่าที่ผมทราบ เอ่งฉ้วนก็ไปอยู่ภูมิใจไทยจำนวนหนึ่ง แต่เอ่งฉ้วนอีกส่วนหนึ่งก็ยังอยู่กับประชาธิปัตย์ ส่วนที่หายไปก็พันธุ์วิชาติกุล ก็เป็นเรื่องธรรมชาติ มนุษย์เรามีเกิดแก่เจ็บตาย กลุ่มการเมืองก็มีเกิดแก่เจ็บตายได้ ใครจะบริหารเก่งหรือไม่เก่งก็แล้วแต่ ก็อยู่ที่ความสามารถของแต่ละกลุ่ม

-เลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด แนวโน้มบ้านใหญ่จะชนะเกินครึ่งหรือไม่ หรือว่าสักประมาณ 3 ใน 4?

ผมว่าครึ่งหนึ่งเป็นไปได้ แต่บางจังหวัดก็ต้องลุ้น อย่างเชียงใหม่ก็ต้องลุ้น แต่ถ้าแถบอีสานผมว่าบ้านใหญ่ยังคงเหนียวแน่น

-อย่างสมุทรปราการเป็นยังไง อัศวเหม คุณนันทิดา แก้วบัวสาย เพราะตอนเลือกตั้งใหญ่ก้าวไกลก็ชนะยกจังหวัด?

ยังคงมีบารมีอยู่ ถ้าผมสันนิษฐาน ที่อาจจะผิดก็ได้ เช่นกระสุนยังหนักอยู่ ใช้ได้อยู่ ชื่อเสียงตระกูลยังคงมีบารมีอยู่ หัวคะแนนยังคงเกาะเกี่ยวกันแน่น กลุ่มใหม่ๆ ยังอาจจะเจาะยากอยู่ ทุกฝ่ายเรียนรู้หมดจากผลการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566

-มีจังหวัดไหนที่น่าจับตาหรือไม่ว่าการแข่งขันจะเข้มข้นรุนแรง เช่นเชียงใหม่, ชลบุรี?

เชียงใหม่แน่นอน ส่วนที่ชลบุรีเขาคงพยายาม แต่คงเจาะยาก คือกลุ่มคุณปลื้มยังคงมีบทบาทอยู่ ยังคงเสียงดัง ถึงแม้ตอนนี้จะเป็นกลุ่มเล็กลง แต่ก็คงเป็นกลุ่มที่มีอำนาจต่อรองกับพรรคได้พอสมควร เขาอาจกลับมามีบทบาทมากขึ้น  อันนี้ผมคาดเดา คือสันนิษฐานว่า ถ้านโยบายเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์มันเกิด กลุ่มนี้จะกลับมาคึกคัก แล้วก็จะมีเครือข่ายการเมืองที่ครั้งหนึ่งอาจจะเคยห่างๆ กันไปจะกลับมาแพ็กกันมากขึ้น เพราะกาสิโนมันเป็นแหล่งผลประโยชน์มหาศาล เพราะหากเศรษฐกิจโตจะทำให้ธุรกิจของกลุ่มเครือข่ายโตไปด้วย แล้วเป็นเรื่องที่เอาไปหาเสียงได้ด้วย เช่น ผมที่เป็นผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมจะ support นโยบายรัฐบาล เรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ที่เม็ดเงินจะลงมาที่จังหวัด จะเกิดการจ้างงานนับหมื่นคน ใครจะไม่เอาเรื่องดีทั้งนั้น ผมก็เชื่อว่าบ้านใหญ่ แม้อาจจะมีแผ่วไปแต่ก็อาจปรับตัวได้ตามสถานการณ์

-ประเมินว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.และ สจ.ทั่วประเทศในวันที่ 1 ก.พ. 2568 แนวโน้มจะรุนแรงหรือไม่ กระสุนดินดำ การใช้อำนาจรัฐ เกมบนดินและใต้ดิน?

ยังคงมีอยู่ ไม่หมดไป คือสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยเห็น ผมว่าไม่หมดไป แต่ข้อดีก็คือจะมีมุมมองใหม่เกิดขึ้น เป็นเรื่องของการสู้กันด้วยนโยบายใหม่ๆ ที่ไม่ได้เป็นนโยบายเหมาโหล  อย่างนโยบายน้ำประปาดื่มได้ อย่างที่เห็นกัน มันเริ่มใกล้ชีวิตชาวบ้าน ไม่ใช่นโยบายขายฝันอย่างเดียวแล้ว แต่เป็นนโยบายที่สะท้อนคุณภาพชีวิตชาวบ้านมากขึ้น และจับต้องได้ เห็นผลได้จริง

สิ่งนี้คือเหตุผลว่า ทำไมพรรคประชาชนถึงอยากทำงานการเมืองท้องถิ่น เพราะงานท้องถิ่นมันจับต้องได้ ถ้าเขาทำสำเร็จหนึ่งแห่ง ก็นำไปโชว์เคสได้ เป็นมาร์เก็ตติงได้ในทางการเมือง แล้วพรรคเขาทำจริงๆ อย่างน้ำประปาดื่มได้ ก็มีที่ร้อยเอ็ด ตรงเทศบาลตำบลอาจสามารถ ของพรรคเขาถ้าจำไม่ผิด อันนี้ผมว่าเป็นมิติใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งผมว่ามันดี ดีกับประชาชนที่ได้มีทางเลือกในนโยบายที่ใหม่ หรือแตกต่างจากเดิม หรือเป็นนโยบายที่เป็นของท้องถิ่นจริงๆ ไม่ใช่เป็นนโยบายที่เอามาจากส่วนกลาง เอามาจากพรรคแบบเหมาโหล แต่ถึงเวลาจริงๆ ทำอะไรไม่ได้ ก็ไม่เกิดประโยชน์อะไร  ผมว่าถึงเวลามันจะแข่งกันแบบนี้มากขึ้น ที่สุดท้ายประชาชนจะได้ประโยชน์

-คิดว่าการเลือกตั้งนายก อบจ.และ สจ. สุดท้ายแล้วการลงคะแนนเสียง เรื่องของระบบอุปถัมภ์จะมีส่วนหรือไม่?

ยังคงมีอยู่ อย่างที่ผมบอก คือไม่ใช่เรื่องแย่นะ เป็นเรื่องข้อเท็จจริง การเมืองท้องถิ่นเป็นเรื่องวิถีชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องไม่ซ้ำซ้อน เช่น ต้นไม้ล้ม ถนนขาด ถนนพัง น้ำท่วม มันไม่ได้มีอะไรซ้ำซ้อน แต่ต้องการการแก้ไขปัญหาที่รวดเร็ว ดังนั้นใครใกล้ชิดก็ได้เปรียบ จะเรียกว่าอุปถัมภ์หรือไม่ อุปถัมภ์คือเกื้อกูลให้ชีวิตประจำวันของชาวบ้านเดินไปได้ การเมืองท้องถิ่นจึงหนีไม่พ้น ไม่ใช่เรื่องเสียหายด้วย เป็นเรื่องจริงที่เราต้องยอมรับ แต่ว่าถ้าอุปถัมภ์มากไป จนเกิดการเอื้อประโยชน์ที่ไม่ควร ทุจริตคอร์รัปชัน อันนี้ก็ไม่ดี ต้องแยก คืออุปถัมภ์เพื่อเกื้อกูลชีวิตชาวบ้านให้ดีขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่เราต้องเข้าใจ ต้องยอมรับมัน

-การที่ใส่เสื้อพรรคการเมืองลงสมัครนายก อบจ. จะมีโอกาสดีกว่าหรือไม่ หากเทียบกับผู้สมัครอิสระ ยกเว้นผู้สมัครอิสระเด่นจริงๆ?

การใส่เสื้อพรรคลงสมัครมีทั้งข้อดีและข้อจำกัด ถ้ากระแสของพรรคในพื้นที่ดี การลงในนามพรรคก็เป็นเรื่องที่ดีสำหรับผู้สมัคร แต่ถ้ากระแสไม่ดี ก็พร้อมจะถอดเสื้อพรรคลงในนามอิสระ มันก็จะเป็นเรื่องตัวบุคคลแล้ว อย่างเคสคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ตอนลงสมัครผู้ว่าฯ กทม. ตอนนั้นกระแสเพื่อไทยก็ไม่ใช่ว่าจะดี คุณชัชชาติก็อาจจะรู้ เลยลงอิสระดีกว่า แต่ก็ไม่ได้เป็นศัตรูกัน อยู่กับแบบหลวมๆ แต่ถามว่าใครจะไม่รู้หรือ คุณชัชชาติก็เคยลงกับเพื่อไทยมาก่อน (แคนดิเดตนายกฯ ตอนเลือกตั้งปี 2562) ก็เห็นอยู่ เพียงแต่ว่าเขาต้องประเมินว่า การลงสมัครแล้วใส่เสื้อพรรคกับไม่ใส่เสื้อพรรค อันไหนดีกว่า แล้วก็ตัดสินใจ และได้คะแนนมาร่วม 1 ล้าน 4 แสนคะแนน.

โดย วรพล กิตติรัตวรางกูร

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คานถล่ม ผู้บริสุทธิ์จบชีวิต 6 ราย กับ สำนึกของนักการเมืองไทย!

เช้าตรู่วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกิดโศกนาฏกรรมคานเหล็กยักษ์ที่ใช้สำหรับก่อสร้างทางยกระดับถนนพระราม 2 ถล่ม คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์จำนวน 6 ราย

'พิพัฒน์' ปัด ภท.-รทสช. ฮั้วกันหนุน 'ถาวร' ชิงนายก อบจ.สงขลา

'พิพัฒน์' ปัดข่าว ภท.-รทสช. จับมือส่ง 'ถาวร' ชิง นายก อบจ.สงขลา ยันไม่เคยคุย 'พิมพ์ภัทรา' หลังลือจ่อย้ายซบพรรคนํ้าเงิน รับภูมิใจไทยอยากครองภาคใต้เพิ่ม แต่ไม่ใช้วิธีฮั้วรวมกันตี

พ่อนายกฯ ติดใจ! วางแผนช่วยหาเสียงนายก อบจ. 'อุบลฯ-เชียงใหม่-ศรีสะเกษ'

เปิดกำหนดการ 'ทักษิณ' เดือนธ.ค. ลุยช่วยหาเสียงนายก อบจ.เพื่อไทย เตรียมลง 'อุบลฯ' พบปะแกนนำเขตเลือกตั้ง 11 ธ.ค.นี้ ก่อนไป 'เชียงใหม่' บ้านเกิด ปิดจ็อบ 'ศรีสะเกษ' ไร้ 'อิ๊งค์' ร่วม ป้องกันข้อครหา

อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา.. โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้