ความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ-มองต่างมุม

เมื่อต้นปี 2567 มีหนังสือตีพิมพ์ใหม่เล่มหนึ่ง ชื่อ The Trading Game: A Confession ผู้เขียน คือ Gary Stevenson ได้รับความชมชอบจากผู้อ่าน (4.2 ดาว จาก website Goodreads) และมีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์อยู่ 2 ประเด็นว่า ผู้เขียนโอ้อวดเกินจริงว่าตนเป็นนักค้าเงินอันดับหนึ่งของโลก และอีกประเด็นในเรื่องแนวความคิดเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจที่ผู้เขียนมองว่า เป็นแนวความคิดใหม่ที่นักเศรษฐศาสตร์มองไม่เห็นมาโดยตลอด

 Gary Stevenson มาจากครอบครัวยากจนในย่าน Ilford ทางตะวันออกของลอนดอน บิดาเป็นพนักงานไปรษณีย์รายได้ต่ำ Gary ฝังใจมาตั้งแต่เด็กถึงความขัดสนยากลำบากของครอบครัว อายุ 12 เริ่มขายลูกกวาดหารายได้ อายุ 13 ปั่นจักรยานส่งหนังสือพิมพ์แลกกับค่าจ้างสัปดาห์ละ 13 ปอนด์ อายุ 16 โดนไล่ออกจากโรงเรียนมัธยมปลายเพราะถูกจับได้ว่าขายกัญชา แต่ด้วยความที่เป็นคนเรียนหนังสือเก่งโดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์ จนสามารถได้รับทุนเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ London School of Economics หรือ LSE ซึ่งเป็นที่ที่เขาเห็นถึงความแตกต่างของตนเองกับบรรดานักศึกษาส่วนใหญ่ซึ่งมาจากครอบครัวร่ำรวยและมีเครือข่ายที่ดี มองเขาด้วยสายตาในลักษณะที่เขาบรรยายในหนังสือว่า “คนรวยส่วนใหญ่ มองว่าคนจนจะต้องโง่” เขาจบการศึกษาสูงสุด ปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ จาก University of Oxford

ระหว่างปี 2008-2014 Gary ทำงานเป็นนักค้าเงินของธนาคาร Citibank ที่ลอนดอน สร้างโบนัสก้อนใหญ่จากการคาดคะเนที่สวนทางกับตลาด (Part 4 ของหนังสือ) หลังจากประเทศต่างๆ ประสบความสำเร็จในช่วง 2 ทศวรรษก่อนหน้าของการบริหารจัดการโดยใช้อัตราดอกเบี้ย เมื่อเกิดวิกฤติซับไพรม ปี 2008 ด้วยการเห็นพ้องต้องกันของนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยขนานใหญ่เป็นวิธีการที่ถูกต้อง ธนาคารกลางของประเทศร่ำรวยลดอัตราดอกเบี้ยลงเหลือร้อยละ 0 ต่อปี ซึ่งทุกคนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ภายในเวลา 2 ปีครึ่ง แต่ Gary ไม่เห็นด้วย 

Gary มีความเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ก่อให้เกิดการใช้จ่าย เพราะประชาชนไม่มีเงินที่จะใช้จ่าย ความเป็นคนรากหญ้าทำให้เขาเห็นครอบครัวของเพื่อนบ้านที่เขาเคยอยู่ ตกงานและสูญเสียบ้านหลังจากเกิดวิกฤติ แม้แต่รัฐบาลเองที่ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องสักวันหนึ่งก็จะตกอยู่ในสภาพเดียวกับเพื่อนบ้าน คือ สูญเสียความสามารถในการกู้ยืม สินทรัพย์ที่หายไปจากมือประชาชน และรัฐบาลหายไปไหน ขณะเดียวกันราคาหุ้น และทองคำก็สูงขึ้นทำ new high อย่างต่อเนื่อง 

ความเชื่อของเขา คือ ระบบการเงินจะต้องมีสมดุล สินทรัพย์ เงินทอง ที่หายไปต้องไปตกอยู่ในมือของใครสักคน คนๆ นั้น คือ พวกเศรษฐี ซึ่งเป็นทั้งเจ้าหนี้และรับดอกเบี้ยจากประชาชนและรัฐบาล มีกรรมสิทธิ์ในสินทรัพย์ที่ยึดมาจากลูกหนี้ มารับค่าเช่าจากการปล่อยเช่า นำเงินที่ได้สะสมสินทรัพย์เพิ่มขึ้นวนไป ประชาชนคนธรรมดาและรัฐบาลจนลง คนรวย รวยขึ้นจากดอกเบี้ย ค่าเช่า และกำไร สิ่งนี้ คือ ความไม่เท่าเทียมของความมั่งคั่ง (Wealth Inequality) ที่จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เลวร้ายลงเรื่อยๆ จนกระทั่งยึดครองและทำลายระบบเศรษฐกิจ 

สาเหตุที่นักเศรษฐศาสตร์ไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ได้พิจารณาโมเดลของตนในมุมที่ความมั่งคั่งจะถูกกระจายออกไปได้อย่างไร แต่เป็นโมเดลที่มองระบบเศรษฐกิจมวลรวมเสมือนค่าเฉลี่ยของคนทุกคน เป็นสิ่งที่ Gary มองว่า ทุกคนคิดผิด

หลังจากลาออกจากธนาคาร Citibank ในปี 2014 Gary เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่ Keble College, Oxford และทำวิทยานิพนธ์ เรื่อง The Impact of Inequality on Asset Prices When Households Care About Wealth หลังจากนั้นได้เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผ่านช่อง YouTube ชื่อ GarysEconomics (ข้อมูลจาก Wikipedia) เขาเขียนหนังสือ Trading Game: A Confession ขึ้นในปี 2024 เพราะคิดว่าจะเป็นช่องทางให้ผู้คนสนใจในเรื่องความไม่เท่าเทียมกันนี้ได้กว้างขวางยิ่งขึ้น

Gary ได้พูดถึงวิธีการที่จะบรรลุถึงเป้าหมายในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งใน YouTube GarysEconomics ว่า มีอยู่ 3 ขั้นตอน เริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจของผู้คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ถึงปัญหาและผลกระทบที่จะตกอยู่กับลูกหลานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นราคาที่อยู่อาศัยที่ไม่สามารถเป็นเจ้าของได้ การว่างงาน และขาดความมั่นคงทางการเงิน Gary เห็นว่าเป็นขั้นตอนที่ไม่ง่าย เพราะกลุ่มที่มีความมั่งคั่งสูงจะคอยขัดขวาง เนื่องจากไม่ต้องการการเปลี่ยนแปลง บางคนเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ บางคนใช้เงินจ้างนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังเพื่อที่จะมาให้ข้อมูลว่าความไม่เท่าเทียมทางความมั่งคั่งไม่ใช่สิ่งอันตราย ขั้นตอนที่สอง คือ สร้างความเคลื่อนไหวเพื่อให้มีผู้สนใจติดตามเป็นจำนวนมาก สร้างให้ผู้คนจำนวนมากเห็นในสิ่งเดียวกัน สื่อสารกับคนรอบตัว ส่งต่อข้อมูลอย่างแพร่หลาย และขั้นตอนสุดท้าย คือ การสร้างพลังต่อรองให้นักการเมืองเห็นคล้อยตาม ทั้งนี้ Gary ยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นสงครามระยะยาว เวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์ความจริง 

อย่างไรก็ดี ในโซเชียลมีเดียมีการวิพากษ์วิจารณ์แนวคิดของ Gary Stevenson อย่างกว้างขวาง เพราะมองว่าเป็นเพียงข้อสังเกตจากปรากฏการณ์ช่วงสั้นๆ เพียงช่วงเดียว ขาดข้อมูลและการวิเคราะห์ที่มากเพียงพอเพื่อมาสนับสนุน และขาดข้อเสนอแนะที่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือ ไม่มีเอกสารให้ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ การสื่อความเกือบทั้งหมดอยู่บนโซเชียลมีเดีย ทำให้ขาดความต่อเนื่อง และขาดน้ำหนักที่จะเกิดความเชื่อมั่นการนำไปสู่เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่ง ยอดผู้เข้าชม YouTube GarysEconomics ในหัวข้อ How do we fix Wealth Inequality? ที่เผยแพร่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มียอดผู้เข้าชมเพียง 6 พันคน และภายหลังหนังสือ The Trading Game ออกวางจำหน่ายเมื่อต้นปี 2024 และติดอันดับหนังสือขายดี ก็มีผู้เข้าชม Youtube ในหัวข้อ What We Fix Wealth Inequality เพิ่มขึ้นเป็น 98,000 คน แต่ก็ถือว่ายังมีผู้ให้ความสนใจไม่มาก

ก็คงต้องคอยติดตามกันต่อไปว่า แนวความคิดของ Gary Stevenson เกี่ยวกับความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่งนี้ จะเป็นเพียงแรงกระเพื่อมเล็กๆ ที่จะค่อยๆ จางหายไป หรืออาจขยายวงกว้างขึ้นได้ด้วยพลังของโซเชียลมีเดีย

แต่ประเด็นที่ Gary กล่าวอ้างว่า ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์กล่าวถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจนั้น ไม่ถูกต้องอย่างแน่นอน หนังสือ The Price of Inequality ผู้เขียน คือ Joseph Stiglitz ออกจำหน่ายเมื่อปี 2012 ได้นำเสนอสาเหตุของความไม่เสมอภาคในสหรัฐฯ ว่า เกิดจาก Rent-Seeking (ในทางเศรษฐศาสตร์อธิบายถึงการที่ผู้มีความมั่งคั่งที่เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตพยายามหาประโยชน์หรือความได้เปรียบจากกฎระเบียบของทางการที่เอื้อต่อตน) พร้อมทั้งยกตัวอย่างว่า มีแนวความคิดต่างๆ ในการพยายามแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกัน (แม้ว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ) มาอย่างต่อเนื่อง 

หนังสือ Power and Progress เขียนโดย Daron Acemoglu และ Simon Johnson 2 นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุด ออกจำหน่ายเมื่อปี 2023 พูดถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันซึ่งก่อให้เกิดความแตกต่างระหว่างชนชั้นแรงงานกับผู้เป็นเจ้าของเทคโนโลยี พร้อมทั้งพูดถึง 3 ขั้นตอนในการหลีกเลี่ยงความเหลื่อมล้ำ ที่คล้ายแนวทางแก้ปัญหาของ Gary คือ (1) การเปลี่ยนแนวความคิดให้ประชาชนเข้าใจว่าสังคมมีปัญหาอะไร (2) สร้างกลุ่มที่ท้าทายอำนาจเก่าได้ รวบรวมผู้คนอย่างเป็นระบบ เพื่อสร้างกลุ่มที่มีกำลังเพียงพอจะต่อต้านนายทุนและส่งเสียงที่ดังพอให้รัฐบาลได้ยิน (3) คิดหานโยบายที่จะเป็นทางออก

บทความเรื่อง ความจริงของความเหลื่อมล้ำ จากเพจ The Active ของ Thai PBS เผยแพร่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 ได้กล่าวถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของรายได้ของประเทศไทยในเชิงวิชาการได้อย่างชัดเจนและเป็นระบบ    

ย้อนกลับมาพูดถึงหนังสือ The Trading Game: A Confession ของ Gary Stevenson อีกครั้งหนึ่ง หนังสือเล่มนี้ติด Long List ของการประกวดหนังสือ Best Business Book ของหนังสือพิมพ์ Financial Times ประจำปี 2024 แต่ไม่ได้ไปต่อถึงรอบสุดท้าย 

เป็นหนังสือที่อ่านสนุกโดยไม่จำเป็นว่าต้องมีพื้นฐานด้านการเงินการธนาคาร (แต่ถ้ามีก็จะสนุกยิ่งขี้น) เหมาะกับหน่วยงานที่กำกับดูแลธนาคารพาณิชย์เพื่อความเข้าใจธุรกิจด้านการค้าเงินของธนาคารพาณิชย์

น่าจะติดเรทติ้ง น.13+ เรื่องของภาษาที่ใช้

Gary เล่าว่างาน “Sale&Trading” เป็นตำแหน่งงานที่นักศึกษา LSE ในสมัยนั้นนิยมเป็นอันดับหนึ่ง เพราะผลตอบแทนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับส่วนงานอื่นของธนาคารพาณิชย์ รองลงมาเป็น IB หรือ Investment Bank และสุดท้าย คือ งาน Consultant ส่วนในประเทศไทย เท่าที่สอบถามพบว่า ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และเป็นอาชีพเป้าหมาย ยกเว้น Trainee ที่เวียนดูงานในธนาคาร แต่ด้วยลักษณะเฉพาะของงานที่ต้องการทักษะเฉพาะ ทำให้แต่ละปีมีพนักงานใหม่น้อยหรือแทบไม่มีเลย

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า Gary ประสบความสำเร็จในการทำกำไรเพียงรอบเดียวของวงจรการเคลื่อนไหวของอัตราดอกเบี้ย ปี 2009-2011 หลังจากนั้นการที่เขาลาออกน่าจะเป็นเพราะมองไม่เห็นช่องทางทำกำไร

Gary อ้างว่าเขาเป็นนักค้าเงินที่ทำกำไรสูงสุดในโลก น่าจะเป็นจุดขายของหนังสือเพื่อดึงดูดคนให้มาสนใจในตัวเขา แต่ข้อเท็จจริงอันดับหนึ่งตลอดกาลยังเป็นพ่อมดการเงิน George Soros

ธุรกรรมเพื่อการค้าของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันลดความคล่องตัวลงด้วยปัจจัยหลายประการ ได้แก่ การ Disrupt ของเทคโนโลยี ทำให้ความจำเป็นในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศลดลง มาตรฐานการบัญชีในการบันทึกบัญชีธุรกรรมเพื่อการปิดความเสี่ยง การยกเลิกอัตราดอกเบี้ยลอยตัว Libor เหล่านี้ทำให้การพึ่งพาธนาคารพาณิชย์ในการทำธุรกรรมทางการเงินลดลง และธนาคารเองก็ขาดความคล่องตัวในการบริหารฐานะความเสี่ยง

เรียกได้ว่า Gary Stevenson ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งจากการเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในการสื่อความถึงการต่อสู้ของเขาในการแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นแนวคิดที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ทุกท่านสามารถสนับสนุนเขาได้ด้วยการเข้าชม YouTube ช่อง GarysEconomics และกด Like กด Share กด Subscribe เพื่อเป็นกำลังใจด้วยครับ   

วิจักษณ์ ศิริแสร์

กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศชาติจะเปลี่ยนไป เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลง 

ประเทศไทยจะอยู่กับวิกฤติการเมืองที่เลวร้าย หรือจะก้าวต่อไปสู่อนาคตที่ดีกว่า 2เส้นทางเดินสำคัญที่คนไทยจะต้องเลือกเดิน คือ…1.เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไป คนไทยต้องเปลี่ยนตาม(When the world changes and we change with it.) หรือ 2.เมื่อคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ประเทศไทยก็จะเปลี่ยนตาม(When we change, the world changes.)

ปฎิรูปการศึกษา: กุญแจสำคัญในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ไม่ทราบจะเรียกว่าเป็นวิกฤตได้ไหม เมื่อผลการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล หรือ PISA ประจำปี 2565 ของนักเรียนไทยออกมาต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี ในทุกทักษะ ทั้งด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่าน

สังคมไทยภายใต้กระบวน การยุติธรรมหลาย มาตรฐาน 

ต้องยอมรับว่าหลายๆ ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศเราในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานั้นทำให้ระบบสังคมโดยเฉพาะระบบย่อยหลายระบบ เช่น เศรษฐกิจ ครอบครัว สาธารณสุข ความเชื่อและศาสนามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเจริญเติบโตด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี รถยนต์ไฟฟ้า หรือการนำปัญญาประดิษฐมาประยุกต์ใช้งานและธุรกิจต่างๆ

โฉนดเพื่อเกษตรกรรมกับปัญหาการลักลอบเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน          

สืบเนื่องจากนโยบายปัจจุบันของรัฐบาล ที่ได้ผลักดันให้มีการออกโฉนดเพื่อเกษตรกรรมให้กับที่ดินเกษตรกรรม ส.ป.ก. โดยคาดหวังว่า นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มความมั่งคั่งทางทรัพย์สินให้กับเกษตรกรที่ยากจนได้ และในขณะเดียวกัน ก็จะสามารถอนุรักษ์รูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินเกษตรกรรมเอาไว้ด้วยนั้น

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรรอบใหม่ : ทำอย่างไรไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

นโยบายพักชำระหนี้เกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) รอบใหม่นี้นับเป็นครั้งที่ 14 ในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา คำถามคือการพักชำระหนี้ครั้งนี้จะช่วยลดยอดหนี้คงค้างของเกษตรกรลงสู่ระดับที่เกษตรกรสามารถผ่อนชำระได้ตามปรกติโดยไม่เดือดร้อนได้หรือไม่