อุทธัจจะ .. ในวังวนแห่งการตื่นธรรม .. ยุคไอที!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระรัตนตรัย... สัทธายะ ตะระติ โอฆัง.. บุคคลข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา..

โอฆะ หมายถึง ห้วงน้ำ ที่มีกระแสเชี่ยวกราก พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ตกไปในกระแสน้ำนั้น ยากจะข้ามฝั่งไปได้

กระแสน้ำดังกล่าว คือ กิเลส.. ที่พัดพาสัตว์ให้ตกลงไปในกระแสน้ำที่หลาก ท่วมใจสัตว์ทั้งหลาย ด้วย กาม ภะวะ ทิฏฐิ และอวิชชา..

จริงๆ แล้ว ลำพัง อวิชชาตัวเดียว ก็แสดงกระแสกิเลสที่ครบสมบูรณ์ความอยู่แล้ว ว่า.. พัดพาสัตว์ทั้งหลายให้ไหลวนอยู่ในกระแสการเวียนว่ายตายเกิด.. มีแต่ความทุกข์อยู่ร่ำไป ไม่จบไม่สิ้น.. ตราบที่กิเลสยังประกอบอยู่ในกระแสจิต.. ก่อเกิด อวิชชา.. แต่เมื่อย้ำด้วย กาม ภพ และทิฏฐิ ยิ่งขยายความชัดเจนในความเป็นปัจจยาการ

เมื่อเข้าใจเช่นนี้.. ก็ย่อมเข้าใจได้อย่างเป็นธรรมดา ในการดิ้นรน ขวนขวาย แสวงหา ของสัตว์ทั้งหลาย ที่มีตัณหาเป็นปัจจัย..

อวิชชา ในรูปของ ตัณหา อุปาทาน.. จึงแสดงความเป็น ปัจจุบันธรรม ที่น่าศึกษายิ่ง เพราะเป็นเหตุของความทุกข์แท้จริง.. ดังสรุปรวมลงใน อริยสัจสี่ โดยพระสัพพัญญุตาญาณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า..

วันนี้ของความวุ่นวายในทุกมิติของโลก.. ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน..ชาววัด มีศาสนา..ไม่มีศาสนา ก็เพราะอำนาจของกิเลสที่นำพาไปให้สุดโต่งสู่ส่วนรัก ชัง.. หา มัชฌิมาปฏิปทา ไม่ได้เลย

จึงได้เห็นความถกเถียงวุ่นวาย แม้ในหมู่ผู้ศึกษาธรรม ผู้ปฏิบัติธรรมทั้งหลาย ที่อ้างว่า ตนตื่นรู้.. ตื่นธรรม แล้ว...

ความตื่นธรรม.. ความสิ้นคิด.. ที่มากับกระแสของกิเลส จึงทำให้เกิดความฟุ้งซ่านรำคาญจิต.. ความลังเลสงสัย.. ความชอบใจและไม่ชอบใจ...

การแสดงออกของผู้ตื่นรู้.. ผู้สิ้นคิดเหล่านั้น.. จึงไม่นิ่งสงบ ด้วยอาการตื่นของลักษณะแห่งสังขาร.. ที่แสดงออกด้วยปัญญา.. จึงได้เห็นความวุ่นวายในโลกโซเชียล ที่แพร่ภาพ.. คำพูด กิริยา ท่าทาง ผิดเพี้ยนไปจากบรรพชน.. ที่ดำเนินไปตามอริยประเพณี

สังคมชาวโลกโกลาหล.. จึงเกิดขึ้นในยุคกระแสวัตถุนิยมเป็นใหญ่เหนือชีวิตจิตวิญญาณ ด้วยระบบไอทีอันทรงประสิทธิภาพ.. จึงได้เห็นความเป็นจริงของสัจธรรมที่ว่า.. เมื่อไร วัตถุนิยมกล้าแข็ง มีอำนาจ เมื่อนั้น ธัมมนิยม (จิตนิยม) จะอ่อนแอ..

คนจำนวนมากจึงไหลไปตามกระแสวัตถุนิยมอย่างไม่รู้ตัว ตกเป็นทาสของเทคโนโลยีชั้นสูงในระบบไอที ไม่เว้นแม้ในเขตวัดวาอารามทั้งหลาย ที่พระภิกษุ สามเณร พากันถลกสบงกระโดดลงกระแสโลกไอทีกันเป็นทิวแถว.. เพื่อการแสวงหาอำนาจนิยมจากเทคโนโลยีชั้นสูงเหล่านั้น แทนการค้นหา ธรรมนิยม

ความแปลกใหม่จึงเกิดขึ้น.. ในดงขมิ้นที่เคยสงบ.. หันหลังให้กับโลกวัตถุ การปลุกปั่นให้มีบริวาร ลาภ ยศ ชื่อเสียง จึงเกิดปรากฏมากขึ้น ด้วยระบบเทคโนโลยีอันทรงประสิทธิภาพ.. เพื่อสนองความต้องการ.. ด้วยการแสวงหาให้ได้มาในทุกรูปแบบ..

เมื่อบรรพชิตละทิ้งถิ่นฐานความสงบ เข้าสู่โลกไอที จึงก่อเกิดความสัมพันธ์กับชาวบ้านอย่างใกล้ชิด กลายเป็นความผูกพันในเชิงตัวบุคคล ให้เกิดค่านิยมไปในแนว อาจารวาท หมายถึง อาจารย์กู .. จึงได้เห็นกองเชียร์จำนวนไม่น้อยในแต่ละฝ่ายออกมาห้ำหั่นกัน เมื่อครูบาอาจารย์เปิดศึกวิวาทะกันในหน้าสื่อออนไลน์

เคยทดลอง..ทดสอบกระแสโซเชียล ในแวดวงศรัทธาที่ฟุ้งซ่าน ด้วยการให้สามเณรที่ใช้ไอทีเป็น ตั้งชื่อธรรมลอยๆ ในบทแสดงธรรมทั่วไปว่า.. สิ้นคิด แต่ไม่สิ้นกิเลสปรากฏว่า ชั่วไม่กี่ชั่วโมง มีหมู่บริวารของนักบวชบางรูปแห่กันเข้ามาแสดงความเห็นทั้งเป็นธรรม.. และเป็นอธรรม.. ภายในวันสองวันว่าไปมากกว่าหมื่นวิว.. โดยมิได้สดับธรรมพิจารณาใคร่ครวญเรื่องราวภายในที่แสดง

มีการแสดงความเห็นถ่อยเถื่อนแบบชาวบ้าน ที่มีจิตใจต่ำกว่าศีลธรรม โดยส่วนใหญ่ไม่ใช้ชื่อจริง ซึ่งน่าจะเป็นส่วนจัดตั้งขึ้นเป็นกองกำลัง.. เพื่อตอบโต้ในทุกวิธี โดยไม่ใส่ใจว่าจะเป็นใคร.. อย่างไม่ได้รู้ชัดในรายละเอียดของธรรมว่าเป็นอย่างไร.. แค่เพียงกระทบกับชื่อเจ้าสำนักของเจ้ากู.. ตัวกูก็จะกำเริบเสิบสานแสดงความเป็นสัตว์ชั้นต่ำ สถุล น่ารังเกียจ.. โดยไม่น่าเชื่อว่า คนเหล่านี้เป็นชาวพุทธ.. ที่อ้างตนว่า ศรัทธาในพระศาสนา..

ที่สำคัญคือ การแสดงถึงความหลงที่ขาดสติปัญญา.. เอาทิฏฐิที่วิปลาสจากจิตและสัญญา เข้าไปบดบังเนื้อหาสาระธรรม จนมืดมัวมองไม่เห็นความเป็นจริง ให้สื่อสารออกไปอย่างผิดเพี้ยนและเป็นอคติธรรม.. นี่คือปรากฏการณ์ความเป็นจริงของหมู่ชน ที่ไหล เข้าไปในกระแสไอที ในปัจจุบัน..ส่วนหนึ่ง!!

จึงน่านำมาเป็นข้อศึกษาพิจารณาอย่างยิ่งว่า กระแสไอทีที่เป็นต้นเหตุเค้ามูลของวัตถุธรรม กับสัตถุธรรมที่เป็นสัจธรรม.. แท้จริงสามารถร่วมกันไปบนเส้นทางศึกษาปฏิบัติธรรม ได้หรือไม่.!!??

ในเมื่อสิ่งหนึ่งพยายามปิดบัง บิดเบือน สิ่งหนึ่ง และอีกสิ่งหนึ่งพยายามจะแสดงความเป็นจริงของสิ่งหนึ่ง ที่เป็นต้นเหตุของความวิปลาส อย่างตรงข้ามกัน.. ซึ่งการต่อสู้เพื่อค้นหาความจริงโดยธรรมวิธีดังกล่าว จักต้องใช้กำลังสติปัญญาและความเพียรชอบอย่างยิ่ง และต้องมากกว่ากำลังของอีกฝ่ายหนึ่ง จึงจะสามารถเข้าถึงประโยชน์โดยธรรมได้จริง.. ซึ่งเป็นวิธีการที่ยากยิ่งต่อการจะนำมาใช้เพื่อการศึกษาธรรม...

ดังนั้น การศึกษาในพระพุทธศาสนาตามแบบแผนสามัญ จึงเป็นไปในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป.. พัฒนาไปตามกำลัง เพื่อการวางรากฐานให้แข็งแรง ด้วยความรู้ ความเข้าใจ ที่เป็นไปตามลำดับ ไม่ก้าวกระโดด..

ดังที่พระพุทธองค์ทรงใช้หลัก อนุปุพพิกถา หมายถึง ทรงเทศนาเป็นลำดับ (ถ้อยคำที่กล่าวเป็นลำดับ) เพื่อฟอกอัธยาศัยของเวไนยสัตว์ให้หมดจดเป็นชั้นๆ ประกอบด้วย

.ทานกถา การพรรณนาทาน 

.สีลกถา การพรรณนาศีล

.สัคคกถา การพรรณนาสวรรค์

.กามาทีนวกถา การพรรณนาโทษของกาม

.เนกขัมมานิสังสกถา การพรรณนา         อานิสงส์ของเนกขัมมะ หรือการออกจากกาม..

จากหลักอนุปุพพิกถาแสดงถึงความเป็นจริงของการศึกษาธรรมในพระพุทธศาสนา ว่า ให้เป็นไปตามลำดับขั้นในประจำวัน ตามหลักอนุปุพพิกถา ขั้น.. เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติและให้ผลได้เป็นสามัญ ที่สามารถเห็นได้ด้วยตนเอง.. ไม่อยู่ภายใต้กาลเวลา.. เปิดเผยเป็นสาธารณะ โดยใช้สติปัญญาเป็นเครื่องมือในการน้อมเข้ามาพิจารณาโดยแยบคาย ที่เรียกว่า น้อมธรรมลงสู่จิต.. เพื่อน้อมจิตลงสู่กระแสธรรม.. ด้วยการโยนิโสมนสิการ

ดังเช่น การให้ทาน ด้วยวัตถุ สิ่งของ เงิน ทอง ด้วยความรัก ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน.. ที่นำไปสู่ การให้อภัยเป็นทานหรืออภัยทาน.. นับเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งต่อการวางรากฐานชีวิตในวิถีธรรม.. รู้ เข้าใจ และยอมรับอย่างเชื่อมั่น ที่เรียกว่า มีศรัทธาในกฎแห่งกรรม (กัมมัสสกตาสัทธา) ซึ่งนับเป็นการเริ่มต้นการปลูกฝัง สัมมาทิฏฐิ ที่จำเป็นอย่างยิ่งในความเป็น เมล็ดพันธุ์มนุษยชาติ.. ที่ต้องมีมนุษยธรรม.. ที่จะนำไปสู่ การมีศีล หรือ การรักษาศีล เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เข้าถึงขั้นที่ ๓ คือ ความสุข ได้จริง.. ด้วยตนเอง ทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า.. ที่เป็น สุคติ

เมื่อบรรลุถึงความสุข ที่เกิดจากการศึกษาปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง ตรงกับหลักธรรมคำสั่งสอน พระพุทธศาสนามิได้สั่งสอนให้ ติด ยึด ลุ่มหลงอยู่กับสุขนิยมที่อยู่ในระดับโลกียสุข ซึ่งยังตกอยู่ภายใต้อำนาจโลกธรรม..ตามกฎพระไตรลักษณ์

แต่กลับสอนให้ปล่อยวางความสุขขั้นพื้นฐานของชีวิต เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นไปกว่าเดิม เข้าสู่ขั้นที่ โดยสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้องกับความจริงที่มีอยู่ในธรรมชาติของชีวิตว่า.. ชีวิตในโลกียสุข.. ให้คุณชั่วขณะหนึ่ง ที่สุดหากยึดติดกลับแปรเป็นโทษ โดยชี้แจงแสดงให้เห็น โทษของกามสุข .. ของความไม่เที่ยง เพื่อปล่อยวาง และยกระดับคุณภาพชีวิต คือ การพัฒนาจิตใจ สู่ขั้นที่ คือ การออกจากกามคุณที่โลกกล่าวชื่นชมด้วยความลุ่มหลง ด้วยการออกบวช เพื่อเว้นวางบาปเศร้าหมองสู่ความสุจริตทั้งกาย วาจา ใจ.. เพื่อดำเนินชีวิตเข้าสู่ มัชฌิมาปฏิปทา ด้วยการเจริญสติปัฏฐานธรรม.. เพื่อบรรลุถึงสัตตสัมโพชฌงค์และอริยมรรคองค์ธรรม ๘ ประการ.. เพื่อบรรลุถึงวิชชาและวิมุตติ อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาชีวิตในพระพุทธศาสนาแท้จริง

วันนี้ สังคมชาวพุทธยุคไอที.. กลับถอยหลังไปติดกับดักทิฏฐิ.. ที่สร้างความวิปลาสทางสัญญาและจิตใจ.. จนที่สุดกลับไม่สามารถเข้าถึงความรู้ที่แท้จริง.. ที่มีสามัญลักษณะของความปล่อยวาง.. คลายออก หลุดพ้น และสงบแท้จริงได้จริง ดังเกิดปรากฏการณ์การศึกษาธรรม ตื่นธรรม แบบยึดมั่น ไม่ละวาง.. คิดแต่จะเอาชนะคะคานกัน... แม้กระทั่งกับตนเอง.. อย่างไม่รู้จักตนเอง!!.

 

เจริญพร

[email protected]

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำนูณ ผ่าปม 2 ได้ 3 เสีย ถ้าไม่ยกเลิก MOU 2544

ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยั

'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?

นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???

อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย

ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544

เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .

ไม่เลิก MOU 44 ได้สอง-เสียสาม !

คำถามของท่านนายกรัฐมนตรึเมื่อวันก่อนที่ว่าถ้าเราเลิก MOU 2544 แล้วจะ “ได้” อะไร ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเราจะ “ไม่ได้” อะไรเลยละกระมัง จึงสรุปว่าจะไม่เลิกและจะเดินหน้าต่อ