’ห้าพันตารางกิโลเมตร‘ เท่ากับกี่ตารางนิ้ว ? เงื่อนตายของ MOU 2544 ?

คำนูณ สิทธิสมาน
18 พฤศจิกายน 2567

MOU 2544 ไม่ใช่กรอบการเจรจาเพื่อหาข้อตกลง ”แบ่งผลประโยชน์(ปิโตรเลียม)“ เท่านั้น แต่หาข้อตกลง “แบ่งเขตแดน(ทะเล)“ ด้วย !
.
สารัตถะสำคัญที่สุดของอยู่ในข้อ 2 คือกำหนดให้เจรจา 2 เรื่อง ”2 แบ่ง“ ใน 2 พื้นที่ส่วนใต้และส่วนเหนือละติจูด 11° N ไปพร้อมกัน (to simultaneously) เป็นแพคเกจในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้ (as an indivisible package) ขอยกฉบับภาษาไทยมาให้พิจารณากันชัด ๆ ฉบับภาษาอังกฤษอยู่ในภาพประกอบ
.
“2. เป็นเจตนารมณ์ของภาคีผู้ทำสัญญา โดยการเร่งรัดการเจรจา ที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ไปพร้อมกัน
.
“(ก) จัดทำความตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมซึ่งอยู่ในพื้นที่พัฒนาร่วม ดังปรากฎในเอกสารแนบท้าย (สนธิสัญญาพัฒนาร่วม) และ
.
“(ข) การตกลงแบ่งเขตซึ่งสามารถยอมรับได้ร่วมกันสำหรับทะเลอาณาเขต ไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในพื้นที่ที่ต้องแบ่งเขต ดังปรากฏตามเอกสารแนบท้าย
.
“เป็นเจตนารมณ์ที่แน่นอนของภาคีผู้ทำสัญญาที่จะถือปฏิบัติบทบัญญัติของข้อ (ก) และ (ข) ข้างต้นในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้”
.
วันนี้มาโฟกัสเฉพาะเรื่องแบ่งที่ 2 คือแบ่งเขตแดนทางทะเลในข้อ 2 (ข) กัน
.
การเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนเหนือละติจูด 11° N ตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ข) ในช่วงปี 2544 - 2548 จบภาคแรกลงด้วยภาพที่นำมาแสดงกันในข้อพูดคุยวันนี้ โดยนำมาจากภาพประกอบสุดท้ายของบทความทางวิชาการเรื่อง “พื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา : ปัญหาและพัฒนาการ“ ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย เป็นผู้เขียน ดร.สุรชาติ บำรุงสุข เป็นบรรณาธิการ ตีพิมพ์ในจุลสารความมั่นคงศึกษาฉบับที่ 92 พฤษภาคม 2554 สนับสนุนการพิมพ์โดยสถาบันการข่าวกรอง สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้เขียนเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศระหว่างปี 2544 - 2548 เป็นผู้ลงนามใน MOU 2544 เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2544 ที่กรุงพนมเปญ และเป็นประธานคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ฝ่ายไทย
.
เป็นภาพที่ขีดเส้นเพิ่มเติมในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
.
เป็นเส้นประแทยงมุมจากหลักเขตที่ 73 บนแผ่นดินทางทิศตะวันออก ลากตรงมาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ไปจรดแนวเส้นเขตไหล่ทวีป 2515 เดิมของกัมพูชาเหนือละติจูด 11° N เล็กน้อย
.
ได้คัดเฉพาะส่วนแยกออกมาให้เห็นชัด ๆ ในอีกภาพหนึ่งแล้ว
.
เป็นข้อเสนอจากคณะเจรจาฝ่ายไทยถึงฝ่ายกัมพูชาในระดับรัฐมนตรีต่อรัฐมนตรี โดยรัฐมนตรีกัมพูชายังไม่ได้ให้คำตอบ ได้แต่รับไปและแจ้งว่าจะนำไปเสนอผู้นำสูงสุด
.
ไม่ปรากฏว่ามีคำตอบใด ๆ มายังฝ่ายไทยจนถึงทุกวันนี้
.
หากกัมพูชาตกลงตามข้อเสนอ รัฐบาลไทยโดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศคงจะยินดีมาก โดยจะถือว่าเป็นความสำเร็จใหญ่หลวง เพราะเพียงกัมพูชายอมตกลงลงนามใน MOU 2544 ที่มีข้อกำหนดให้คู่เจรจาต้องเจรจาแบ่งเขตแดนทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนเหนือละติจูด 11° N ไปพร้อม ๆ กันเป็นแพคเกจในลักษณะที่ไม่อาจแบ่งแยกได้กับการเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนส่วนใต้ละติจูด 11° N และยอมให้เอกสารแนบท้ายเป็นแผนผังแสดงเส้นเขตไหล่ทวีปตามกฤษฎีกา 2515 ของเขาเป็นเส้นเว้าเกาะกูดทางทิศใต้รูปตัว U กระทรวงการต่างประเทศก็ถือเป็นความสำเร็จครั้งประวัติศาสตร์ที่น่ายินดียิ่งแล้ว
.
แม้ข้อเสนอนี้มีอายุ 20 ปีแล้ว แต่หากมีการเจรจาต่อตามกรอบ MOU 2544 จนประสบผลสำเร็จ การแบ่งเขตแดนตามข้อ 2 (ข) ไม่ว่าจะปรับเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตาม แต่ในหลักการก็จะไม่ต่างไปจากข้อเสนอนี้มาก เพราะเมื่อกำหนดให้ “แบ่ง(เขต…)“ ก็เป็นไปไม่ได้ที่แต่ละฝ่ายจะไปยอมรับเส้นอ้างสิทธิของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เส้นที่แต่ละฝ่ายจะยอมรับกันได้ก็จะอยู่ระหว่างเส้นอ้างสิทธิของทั้งสองนั่นแหละ การหันไปศึกษาภาพนี้อีกครั้งอย่างรอบด้านจึงมีความสำคัญยิ่ง
.
ในกรณีสมมติว่าถ้าตกลงกันได้ตามภาพนี้ ถามว่าประเทศไทยเราจะได้หรือเสีย ?
.
ตอบว่าเราจะทั้งได้และเสีย !
.
ขณะที่กัมพูชามีแต่เสีย !!
.
ที่ว่าประเทศไทย ”ได้“ คือได้อะไร ?
.
ได้เส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลใหม่ที่ไม่รุกล้ำทั้งตัวเกาะกูด และทะเลอาณาเขตของเกาะกูดบางส่วน เท่ากับเป็นการยุติปัญหาเกาะกูดลงอย่างสิ้นเชิง เพราะการที่กัมพูชายอมตกลงย่อมมีค่าเท่ากับเป็นการถอนข้ออ้างสิทธิเดิมที่ทำมาตั้งแต่ประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปของตนเมื่อปี 2515
.
หลักคิดของกระทรวงการต่างประเทศนั้น แม้จะมั่นใจเกิน 100 ว่าเกาะกูดเป็นของไทยจริงแท้แน่นอนตามสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 2 จะต่อสู้ทางกฎหมายหรือทางใด ๆ กับรัฐอื่นที่อ้างสิทธิกันอย่างไรก็ไม่มีปัญหา แต่หากรัฐคู่กรณียอมถอนข้ออ้างสิทธินั้นอย่างเป็นทางการจะไม่เป็นการดีกว่าหรือ ไม่ต้องทิ้งปัญหาไว้ในอนาคต


.
ก่อนปี 2544 กัมพูชาเชื่อว่าเกาะกูดเป็นของเขาอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง นอกจากกฤษฎีกาเลขที่ 439-72/PRK ประกาศเมื่อ 1 กรกฎาคม 2515 จะเป็นหลักฐานที่ปรากฎชัดแจ้งแล้ว ในการพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการในคณะเจรจา เจ้าหน้าที่กัมพูชาก็มักจะพูดทำนองนี้ เรื่องนึ้ผมไม่ได้จินตนาการขึ้นเอง หากมาจากข้อเขียนของอดีตประธานกรรมการร่วมด้านเทคนิกฝ่ายไทยเมื่อ 13 ปีที่แล้วตามอ้างเบื้องต้น
.
MOU 2544 คือการผูกเอา 2 เรื่องเข้าด้วยกัน เสมือนเป็นการบีบกัมพูชา คือถ้าคุณอยากได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมมาก คุณก็ต้องยอมถอนข้ออ้างสิทธิรบกวนเกาะกูดเสียให้สิ้น
.
ที่ว่าประเทศไทย “เสีย“ คือเสียอะไร ?
.
เสียเขตแดนทางทะเลในส่วนพื้นที่เหนือละติจูด 11° N ไปจากประกาศพระบรมราชโองการกำหนดเขตไหล่ทวีปเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2516
.
เสียไม่ใช่น้อย
.
ดูจากภาพเอกสารแนบท้าย MOU 2544 เส้นตามประกาศพระบรมราชโองการ 2516 ของเราคือเส้นทางทิศตะวันออกอยู่ขวามือ
.
พื้นที่ระหว่างเส้นขวามือกับเส้นประแทยงมุมคะเนด้วยสายตามันถึงครึ่งหรือกว่าครึ่งของพื้นที่ 10,000 ตารางกิโลเมตรที่ MOU 2544 ข้อ 2 (ข) กำหนดให้เจรจาแบ่งเขตแดน
.
ไม่ต่ำกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตร !
.
การต้องเสียเขตแดนทางทะเลจากที่เคยอ้างสิทธิไว้อย่างแข็งขันมากว่า 51 ปีในระดับกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตรนี่ไม่ใช่เรื่องเล็กนะครับ แม้จะแลกมาด้วยข้อได้อื่นก็ตาม
.
5,000 ตารางกิโลเมตรเท่ากับกี่ตารางนิ้ว ?
,
ท่านนายกรัฐมนตรีหรือท่านรองนายกรัฐมนตรีที่ไปเยี่ยมเกาะกูดมาแล้วช่วยคิดคำนวณให้หน่อย !
.
ท่านจะอธิบายกับรัฐสภาและประขาขนอย่างไร ?
.
ในอีกด้านหนึ่งหากหันไปทางฟากฝั่งกัมพูชาก็จะพบว่าตกชะตากรรมเดียวกัน หรือหนักหนาสาหัสกว่าด้วยซ้ำ
.
เพราะเมื่อพูดถึงเฉพาะผลการเจรจาตามข้อ 2 (ข) หากเป็นไปตามข้อเสนอของฝ่ายไทยหรือต่อรองกันให้ได้แนวใกล้เคียงเส้นแทยงมุมตามภาพ กัมพูชาก็จะมีแต่เสีย ไม่ได้อะไรเลย คือเสียเขตแดนทางทะเลจากที่เคยประกาศไว้อย่างแข็งขันในกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปปี 2515 เป็นพื้นที่ประมาณ 5,000 ตารางกิโลเมตรเช่นกัน หรือต่อให้น้อยกว่าก็ไม่มีนัยสำคัญนัก
.
และยังต้องถอนข้ออ้างสิทธิรบกวนเกาะกูดที่อ้างมากว่า 52 ปีเช่นกันอีก แม้ประตูสู้ทางกฎหมายจะมีน้อยมาก แต่การคงบทอ้างสิทธิไว้แม้จะไม่ได้มีสิทธิจริงย่อมจะดีกว่าถอนข้ออ้างสิทธินั้นเลยมิใช่หรือ
.
รัฐบาลกัมพูชาจะอธิบายให้รัฐสภาและประชาชนกัมพูชายอมรับได้อย่างไร
.
รวมทั้งที่จะหนักกว่ารัฐบาลไทยก็ตรงที่มีบทบัญญัติมาตรา 2 และมาตรา 55 ของรัฐธรรมนูญกัมพูชา ค.ศ. 1993 กำหนดห้ามเปลี่ยนแปลงเขตแดนและบูรณภาพเหนือดินแดนไว้ ซึ่งอาจตีความได้ว่ารวมถึงเขตแดนทางทะเลด้วย เรื่องนี้ผมไม่ได้คิดเองหรือคิดแทน หากแต่ตัวแทนกัมพูชาเคยพูดไว้ในการเจรจารอบปี 2538 พล.ร.อ.ถนอม เจริญลาภ หนึ่งในคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคฝ่ายไทย เคยเล่าไว้ในการเสวนาสาธาณะที่สยามสมาคมเมื่อ 13 ปีที่แล้ว
.
แค่มาลงนามใน MOU 2544 พรรคฝ่ายค้านกัมพูชาก็ยังโจมตีรัฐบาลมาจนทุกวันนี้
.
จึงยากมากที่จะจบ


.
จริง ๆ แล้วมีโอกาสจบได้อยู่ทางเดียวคือรัฐบาลกัมพูชาปัจจุบันประกาศกฤษฎีกากำหนดเขตไหล่ทวีปเสียใหม่ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศและไม่ละเมิดสิทธิอธิปไตยไทย เส้นแนวเขตไหล่ทวีปด้านบนจะเบนลงทิศตะวันตกเฉียงใต้พ้นเกาะกูดทันที หากยังมีพื้นที่อ้างสิทธิแตกต่างกับเขตไหล่ทวีปตามประกาศ 2516 ของไทยเหลืออยู่ เพราะการให้ค่าเกาะหรือโขดหินของแนวชายฝั่งต่างกัน ค่อยเจรจากันตามนั้น แต่สมมติฐานนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ยากง่ายแค่ไหน ตอบยาก เพราะมันไม่มีโอกาสทดลองเสนอมาอย่างน้อยก็กว่า 23 ปีแล้ว เนื่องจากขัดกับกรอบ MOU 2544 เต็ม ๆ
.
จริงอยู่ ผลประโยชน์มหาศาลที่ทั้งไทยและกัมพูชาจะได้แน่ ๆ หากตกลงแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมใต้ละติจูด 11° N ตาม MOU 2544 ข้อ 2 (ก) จะมาเป็นตัวช่วยสำคัญให้รัฐบาลทั้ง 2 ประเทศนำมาขยายใหญ่เพื่อชี้แจงกับรัฐสภาและประชาขนของตนก็มีน้ำหนักอยู่
.
แต่จะหนักมากพอถ่วงตาชั่งวิจารณญาณของรัฐสภาและประชาชนได้หรือไม่ ?
.
จึงจะเห็นได้ว่ารัฐบาลของทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็จะมีข้อจำกัดอย่างยิ่งในการเดินหน้าต่อตามกรอบ MOU 2544 ข้อ 2 ที่ “มัดรวม“ การเจรจา 2 เรื่อง “2 แบ่ง” เข้าไว้ด้วยกันจนเป็น “เงื่อนปม” แน่น
.
ใช่หรือไม่ว่านี่คือเงื่อนปมที่เป็น “เงื่อนตาย” ของ MOU 2544 ?
.
ใช่หรือไม่ว่ารัฐบาลปัจจุบันก็ “ติดกับดัก” MOU 2544 โดยไม่รู้ตัวไปแล้ว ?

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลียวหลังแลหน้า การเมืองไทย จาก 2567 สู่ 2568 ส่องจุดจบ ระบอบทักษิณภาค 2

รายการ"ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด"สัมภาษณ์ นักวิชาการ-นักการเมือง สองคน เพื่อมา"เหลียวหลังการเมืองไทยปี 2567 และแลไปข้างหน้า

จี้รัฐบาลประท้วงกัมพูชา

"สนธิรัตน์" นำทีมพลังประชารัฐลงพื้นที่ตราด "ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์" ชี้อันตรายมาก แนวสันเขื่อนดินที่กัมพูชาสร้างต่อเติมออกไป หากไม่มีการประท้วงหรือไม่มีข้อคัดค้านใดๆ ก

พปชร. ลงตราด ชวนชาวบ้านในพื้นที่ร่วมคัดค้าน MOU 44

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานร่วมศูนย์นโยบาย และวิชาการ และ ดร.ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กรรมการบริหาร พรรคพลังประชารัฐ ได้เดินทางมาเยี่ยมพี่น้องประชาชนในจังหวัดตราด โดยได้รับการประสานงานจากประชาชนในพื้นที่

'อดีตบิ๊กทอ.' ไล่บี้นายกฯอิ๊งค์ ใช้กฎหมายรักษาผลประโยชน์ทางทะเล ลบล้าง MOU 44

พลอากาศโทวัชระ ฤทธาคนี หรือ เสธ.นิด อดีตนายทหารนักบินกองทัพอากาศ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า ผมไม่แน่ใจว่า “นายกรัฐมนตรี อ.อ.” เคยรู้เห็นเรื่องเกี่ยวกับ พรบ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ปี ๒๕๖๒ หรือไม่

วิปริตธรรม .. ในสังคม!!

เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธาในพระพุทธศาสนา.. เลียบบ้านแลเมือง มองดูเข้าไปในหมู่ชนของบ้านเรา.. ในยามที่นักการเมืองเป็นใหญ่ มีอำนาจวาสนาบริหารราชการแผ่นดิน จึงได้เห็นความไหลหลงวกวนของหมู่ชน ที่สาละวนอยู่กับการแสวงหา เพื่อให้ได้มาใน ลาภ สักการะ ยศ สรรเสริญ สุข.. ไม่เว้นแม้ในแวดวงนักบวชที่มุ่งแสวงหามากกว่าละวาง

ธุรกิจคาสิโนถูกกฎหมาย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มักเกี่ยวพันผู้มีอำนาจทางการเมือง

เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเผยแพร่ผลการศึกษาผลกระทบของคาสิโนถูกกฎหมายต่อการฆาตกรรมและการข่มขืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้