ถ้าเรามองในแง่ดี สำหรับรัฐบาลชุดนี้ต้องถือว่ามีความใกล้ชิดกับผู้นำกัมพูชาค่อนข้างสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด การมีความใกล้ชิดกับผู้นำกัมพูชา มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมา 20-30 ปี มันก็สามารถที่จะมีไดอะล็อก มีแมสเสจถึงกันได้ว่าการหาทางแก้ปัญหานี้ นอกจากเดินหน้าต่อไปตามกรอบเดิมแล้ว มันมีหนทางใดที่ดีกว่าหรือไม่ ที่จะทำให้ปมประเด็นปัญหาต่างๆ สามารถลุล่วงไปได้มากกว่าเดิม สามารถพูดคุยกันได้ โดยที่อาจไม่ใช่การเจรจาหรือตกลงกันอย่างเป็นทางการ...อันที่จริงถ้าเรามองว่าต่างฝ่ายต่างก็รักชาติ แล้วต่างทำหน้าที่ด้วยเหตุผล ด้วยมุมมองของตน แล้วเป็นตัวช่วยซึ่งกันและกัน ผมว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ดี ดีกว่าที่จะมาประณามหยามเหยียดกันว่าคลั่งชาติ
ความเคลื่อนไหวและการแสดงความคิดเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เชื่อมโยงถึงเกาะกูด, การหาแหล่งพลังงานแห่งใหม่ในพื้นที่อ้างสิทธิไทย-กัมพูชา ที่มีการประเมินกันว่ามีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านล้านบาท ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีความเคลื่อนไหวและท่าทีการแสดงความเห็นจากหลายฝ่าย ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามการตั้ง คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ที่เป็นกรรมการชุดสำคัญที่จะมีบทบาทสำคัญในเรื่องการเจรจากับกัมพูชาในพื้นที่อ้างสิทธิดังกล่าว ที่คาดว่าคงจะมีการตั้งอย่างเป็นทางการในอนาคตอันใกล้นี้
ซึ่งเรื่อง "พื้นที่อ้างสิทธิ" และ MOU 2544 ดังกล่าว บุคคลหนึ่งที่ติดตามเรื่องนี้มาตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็คือ "คำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา" ที่เคยอภิปรายเรื่องดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งในที่ประชุมรัฐสภา รวมถึงการออกมาแสดงความคิดเห็นผ่านพื้นที่สื่อมวลชนและในเฟซบุ๊กส่วนตัว
รายการ "ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด" สัมภาษณ์ “คำนูณ-อดีต สว." ในประเด็นดังกล่าว โดยมีเนื้อหาบางส่วนที่น่าสนใจที่มีการผ่าแบบเจาะลึก MOU 2544 โดยมีเนื้อหาดังนี้
เริ่มต้นที่ "คำนูณ" กล่าวนำร่องว่า ที่ผ่านมาทำเรื่อง MOU 2544 และทำเรื่องนี้มาตั้งแต่เป็นสมาชิกวุฒิสภา เคยได้อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา ก็รู้สึกซาบซึ้งในพระปรีชาญาณของรัชกาลที่ 5 เพราะในวิกฤตการณ์สยาม-ฝรั่งเศส ในยุคสมัยของรัชกาลที่ 5 เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ซึ่งเริ่มจาก รศ. 112 และมาจบที่ รศ. 125 เกิดเป็นสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หรือ พ.ศ. 2450 ซึ่งประเด็นที่เราพูดกันและเกี่ยวข้องมาถึงทุกวันนี้ ก็คือพระองค์ทรงยินยอมแลกดินแดนที่ไทยยึดครองอยู่ ที่เป็นดินแดนเขมรที่ติดอยู่ตรงแนวชายแดนไทย ก็คือเสียมราฐ, พระตะบอง, ศรีโสภณ ที่เป็นสามมณฑลที่ใหญ่และมีความสำคัญ คือเป็นแหล่งอารยธรรม นครวัด นครธม มองในมุมหนึ่งถ้าเป็นของไทยจนทุกวันนี้ มันก็จะสร้างรายได้ให้มหาศาลตามสมควร แต่พระองค์ท่านทรงยินยอมที่จะแลกกับจันทบุรี ตราด รวมถึงเกาะกูด ด้วยเหตุผลเดียวคือพระองค์ท่านทรงมีพระทัยรักในประชาชนของพระองค์ คือพระองค์ท่านทรงเห็นว่าจันทบุรี ตราด ประชาชนที่อยู่เป็นคนเชื้อชาติไทย-สยาม พระองค์ท่านจึงมีพระราชดำริว่าไม่อยากเห็นคนไทยไปอยู่ใต้ร่มต่างชาติ ก็เลยทรงตัดสินใจนำดินแดนที่มีมากกว่า (เนื้อที่) กับดินแดนที่น้อยกว่า แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมาถึงทุกวันนี้ก็คือทำให้ ชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของแผนที่อ่าวไทยมันยาวเหยียด
การได้แผ่นดินมีแผ่นดินยาวเหยียดขนาดนี้ เป็นผลทำให้เมื่อมีการลากเส้นไหล่ทวีปในกฎหมายระหว่างประเทศในชั้นหลังๆ ต่อมา ทำให้ไทยมีอาณาเขตทางทะเลกว้างขวางมาก ก็คือครอบคลุมอ่าวไทยเกือบทั้งหมด ทำให้ทางกัมพูชาเองก็มีหนทางค่อนข้างน้อย เลยเกิดเป็นเส้นที่กัมพูชาลากเมื่อปี ค.ศ. 1972 หรือปี พ.ศ. 2515 ผ่าเกาะกูดมา
เพราะเขาต้องการที่จะมาบรรจบที่จุดกึ่งกลางอ่าวไทย ซึ่งหากปี ค.ศ. 1907 ไทยเราไม่ได้จันทบุรีและตราดคืนมา ก็ไม่ต้องเถียงกันถึงทุกวันนี้ สมัยนั้นยังไม่รู้ได้หรอกว่า พื้นที่ใต้ทะเลตรงไหล่ทวีปจะมีปิโตรเลียม และสมัยนั้นคำว่าไหล่ทวีปก็ยังไม่เกิด แต่ก็เป็นความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งที่พูดแล้วก็ขนลุก ที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานรุ่นเหลนต้องรักษาไว้
“คำนูณ" กล่าวต่อไปว่า สำหรับเรื่องที่มีการพูดกันตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา มีเรื่องที่พาดพันกันอยู่ 3 เรื่อง ประกอบด้วย
1.กรรมสิทธิ์ในเกาะกูดว่าเป็นของใคร
2.เรื่องทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทย เป็นของใคร หรือควรจะแบ่งกันอย่างไร
3.เรื่อง MOU 2544
ซึ่งทั้ง 3 เรื่องมันเกี่ยวพันกัน เรื่องแรกกับเรื่องที่ว่าเกาะกูดเป็นของใคร ไม่ต้องเถียงกันแล้ว จบสิ้นกระบวนความทั้งฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล เห็นตรงกันหมดเกาะกูดเป็นของไทย 2 หมื่นเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่สนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 หรือปี พ.ศ. 2450 คือเป็นการแลกแผ่นดินกัน แต่ในข้อใหญ่เกาะกูดเป็นของใคร เราจำเป็นที่ต้องพูดในจุดข้อย่อยว่า เมื่อไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด กรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูดเป็นของไทยแล้ว แต่อย่าไปเพียงเข้าใจว่าเกาะกูดหมายถึงเพียงแค่แผ่นดิน ที่มีน้ำล้อมรอบที่เรียกว่าเกาะเท่านั้น เพราะตามกฎหมายทางทะเลระหว่างประเทศ ที่บังคับใช้มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 และฉบับล่าสุดที่ออกมาปี ค.ศ. 1982 ที่ทั่วโลกยอมรับกัน เกาะยังมีอาณาเขตทางทะเลด้วย
เพราะฉะนั้นเมื่อเกาะมีอาณาเขตทางทะเล ที่จะเรียกกันว่าเช่นทะเลอาณาเขต เขตต่อเนื่อง เขตเศรษฐกิจจำเพาะหรือไหล่ทวีป ไทยเราที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เกาะกูด เราก็มีอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลและมีสิทธิอธิปไตยเหนืออาณาเขตทางทะเลนั้นๆ ด้วย เพราะฉะนั้นถึงเป็นประเด็นในกรณีที่กัมพูชาประกาศกฤษฎีกาเมื่อปี 2515 ที่ลากเส้นออกมาผ่ากลางเกาะกูด
"มันจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องด้วยประการทั้งปวง และไม่มีหลักกฎหมายระหว่างประเทศใดๆ รองรับ ไม่ว่าการลากเส้นนั้นจะเป็นการลากเขียนผ่านกลางเกาะกูดไปเลย หรือว่าเขียนมาหยุดที่ฝั่งตะวันออกของเกาะกูด แล้วออกจากขอบของเกาะกูดด้านทิศตะวันตกตรงไปกลางอ่าวไทย หรือจะเป็นการเขียนรูปไข่ตัวยู อ้อมเกาะกูดทางทิศใต้ ไม่ถูกทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเราต้องเข้าใจให้ตรงกันว่า เมื่อเราเป็นเจ้าของเกาะกูด เราก็ต้องเป็นเจ้าของทะเลอาณาเขต หรือน่านน้ำของเกาะกูดด้วยตามกฎหมายระหว่างประเทศตามข้อ 121 ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ UNCLOS 1982”
"คำนูณ-อดีต สว." กล่าวต่อไปว่า ส่วนประเด็นทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพยากรปิโตรเลียมใต้เกาะกูด ซึ่งเหตุมันเกิดขึ้นในปี 2515 ที่กัมพูชาประกาศเขตไหล่ทวีปผ่านการออกกฤษฎีกา ที่ลงนามโดย ลอน นอล ประธานาธิบดีกัมพูชาเวลานั้น (ดูภาพแผนที่ประกอบ) ที่มีการประกาศชัดเจนว่าเริ่มจากจุด A ที่ก็คือบนแผ่นดินชายหาดจังหวัดตราด ที่เป็นจุดที่ตั้งของหลักเขตที่ 73 ตรงมาที่จุดสูงสุดของเกาะกูด ตรงตัว S แล้วก็ลากตรงต่อมาตรงกึ่งกลางอ่าวไทย ที่จุด P ซึ่งแนว ASP ไม่ว่าจะเขียนแบบไหน จะเขียนแบบผ่าตรงกลางเกาะกูดโดยตรง หรือหยุดแล้วเว้นตรงตัวเกาะ หรือทำเป็นรูปตัว U โอบทางด้านทิศใต้ มันไม่ได้ทำให้แนว ASP ผิดไปจากเดิม อันนี้มันผิดและไทยยอมรับไม่ได้
พอมาถึงจุด P เขาก็ลากลงมาถึงทางใต้ มันก็โอบล้อมแหล่งทรัพยากรเอาไว้ตามสมควร โดยฝ่ายไทยไม่สามารถยอมรับได้ ก็มีการตอบโต้มาตามลำดับ โดยในวันที่ 18 พ.ค. 2516 ก็มีประกาศพระบรมราชโองการ กำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปของไทยเรา ที่ลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 1 มิถุนายน 2516 ก็เลยเกิดเป็นสองเส้นที่มีความแตกต่างกัน คือเส้น A-S-P เป็นของกัมพูชา ส่วนเส้นข้างล่างเป็นของไทย ที่ของไทยเรามีความยุติธรรมและถือตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ คือลากออกจากจุดเดียวกัน ที่หลักเขต 73 แต่ออกมากลางทะเลที่ตรงจุดระหว่างเกาะกูดของไทยกับเกาะกงของกัมพูชา
...ก็เป็นความแตกต่างกันของสองเส้น ที่กินพื้นที่รวม 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่เรียกว่า "พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน" หรือ "พื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน"
ไทยเราก็ตอบโต้ตั้งแต่ปี 2516 ความพยายามที่จะเอาปิโตรเลียมขึ้นมาใช้มันเกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2513 แต่อยู่ดีๆ ปี 2515 จอมพลลอน นอล ของกัมพูชา ก็ประกาศเส้นของกัมพูชาออกมาโต้งๆ ไทยเราก็ตอบโต้ในปี 2516 แต่การเจรจามันก็ตะกุกตะกัก เพราะกัมพูชาก็เกิดสงครามกลางเมือง กัมพูชาก็แตกในปี 2518 จอมพลลอน นอล ก็ลี้ภัยไป แล้ว กว่าสถานการณ์ในกัมพูชาจะเรียบร้อยก็ผ่านไปอีกหลายปี
มาเริ่มเจรจากันอีกทีก็ตอนปี 2530 กว่าๆ แต่การเจรจาก็ไม่คืบหน้า เพราะทางกัมพูชาไม่ประสงค์จะเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเล เขาประสงค์เพียงแต่จะเจรจาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ปิโตรเลียมในอ่าวไทย
ขณะที่่ฝ่ายไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศ อันนี้ต้องชื่นชม ก็คือพยายามยืนหยัดว่า ยังไงต้องพูดเรื่องเขตแดนที่กัมพูชาลากเข้ามารุกล้ำอธิปไตยของไทยเราด้วย ไม่ใช่ว่าจะเจรจาแบ่งผลประโยชน์อย่างเดียว ในขณะที่ฝ่ายต่างๆ ในประเทศไทยที่เห็นว่าการเจรจาเรื่องเขตแดนมันใช้เวลายาว สู้เจรจาเอาปิโตรเลียมแล้วเอามาใช้แล้วแบ่งกันก่อนดีกว่า ก็คิดกันตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ ที่บางคนก็ยังคิดแบบนั้นอยู่
อย่างข้าราชการในกระทรวงพลังงาน เขาก็จะคิดในมุมหนึ่ง ซึ่งอันนี้ก็ไม่ผิดกับความคิดแบบนี้ แต่ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศที่เป็นแม่งานในเรื่องนี้ เขาคิดว่าในเรื่องเขตแดน ยังไงต้องดำเนินการควบคู่กันไปด้วย ในที่สุดก็เกิด MOU 2544 ที่เป็นนวัตกรรมซึ่งกระทรวงการต่างประเทศคิดขึ้นมาแล้วลงนามสมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ ที่เข้ามารับตำแหน่งได้แค่ 2-3 เดือนก็ลงนาม ซึ่งมันเป็นพัฒนาการต่อเนื่องมา และคงต้องมีการหารือพูดคุยเป็นการภายใน จนเป็น MOU 2544
...โดยใน MOU ดังกล่าว ก็เกิดแผนที่ประกอบหรือแผนผังประกอบ ที่ฝ่ายไทยเราเองในยุคนั้นก็ภูมิใจ ที่แต่เดิมกัมพูชาลากเส้นผ่านเกาะกูด ก็กลายเป็นเส้นเว้าเป็นรูปไข่ทางด้านทิศใต้เพื่อโอมล้อมเกาะกูดมา หลายคนก็บอกว่าเห็นไหมกัมพูชาไม่ยุ่งแล้ว มันก็จริงไม่ปฏิเสธ แต่ว่าแนวเส้นทั้งหมด แนว A-S-P มันก็ยังคงอยู่
ซึ่งความเห็นเรื่อง MOU 2544 ที่เกิดขึ้นในเวลานี้ที่มีวิวาทะ ฝ่ายหนึ่งก็เห็นว่าควรเดินหน้า ก็เป็นฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายอดีต รมต.หลายคน กับอีกฝ่ายที่เห็นว่าถ้าเลิกก็จะดี แต่เราต้องทำความเข้าใจเรื่องดังกล่าวก่อนว่าลักษณะของ MOU 2544 เขาแบ่งพื้นที่อ้างสิทธิพื้นที่ทับซ้อน 26,000 ตารางกิโลเมตรออกเป็นสองส่วน โดยใช้เส้นตรง ละติจูดที่ 11 องศาเหนือ โดยเลือกมาแล้วก็แบ่งพื้นที่ออกเป็นสองส่วน โดยส่วนบนกำหนดให้เจรจาเฉพาะเรื่องเขตแดน ไม่เจรจาแบ่งผลประโยชน์ แต่ส่วนล่างให้เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ คือเป็นเขตพัฒนาทรัพยากรร่วมเรียกว่าเขต JDA ที่เป็นสาระสำคัญของ MOU ซึ่งการแบ่งเป็นสองเขต มันก็จะเกิดประเด็นคือ เจรจาแบ่งเขตแดนเฉพาะข้างบน แต่เจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ข้างล่าง แต่เขาก็เขียนไว้ดีคือบอกว่าการเจรจาทั้งสองอย่างจะต้องทำไปพร้อมกัน ชนิดจะแบ่งแยกจากกันไม่ได้ อันนี้เป็นข้อดี ข้อเสียก็มี
"เป็นข้อดีคือ เป็นหลักประกันว่าไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์แล้วไม่ตอบเรื่องเขตแดนเลย ที่กัมพูชามารุกล้ำอธิปไตยไทย อันนี้ไม่ได้ ต้องทำการเจรจาไปพร้อมกัน ที่หมายถึงว่ามันควรต้องจบลงพร้อมกัน มีข้อตกลงทั้งสองเขต บน 11 ล่าง 11 พร้อมกัน ที่มันก็ยากอยู่ แต่ก็เท่ากับว่ามันก็ทำให้เรื่องเขตแดนกลายเป็นเงื่อนไขจะไปต่อรองแบ่งประโยชน์กันในส่วนข้างล่างหรือไม่"
-หากเขียนให้ถูกต้อง MOU 2544 ดังกล่าวนี้ หากมีโอกาสได้แก้ไขใหม่ ก็เขียนใหม่ว่าให้เจรจาเรื่องเขตแดนให้เรียบร้อย แล้วจากนั้นค่อยแบ่งผลประโยชน์กันจะดีกว่าหรือไม่?
ก็เป็นสิ่งที่ผมเห็นด้วยและผมเชื่อว่าหลายคนก็เห็นด้วย คือเราไม่ปฏิเสธว่าจะต้องมีการอ้างพื้นที่สิทธิทับซ้อน เพราะว่าประเทศต่างๆ ในโลกนี้ก็จะมีมาหลายคู่เยอะแยะ เพราะต่างฝ่ายต่างก็ต้องเรียกร้องสูงสุดของตัวเองทั้งนั้น
เพียงแต่ว่าฝ่ายที่เห็นต่างจาก MOU 2544 เขาเห็นว่า เราไม่ควรด่วนไปรับรองเส้นของกัมพูชาที่ตีไว้เมื่อปี 2515 เร็วเกินไป เพราะเป็นเส้นที่ลากออกมาตามอำเภอใจ ไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ ก็คือเขาต้องเลิกเส้นที่ออกโดยพระราชกฤษฎีกาของเขาแล้วก็ไปกำหนดใหม่ โดยเส้นที่กำหนดใหม่ไม่ต้องมาเหมือนเส้นของไทยเราที่ออกมาในปี 2516 กัมพูชาก็ไปกำหนดของเขาเอง แต่ว่าการกำหนดใหม่ของกัมพูชาต้องไม่มารุกล้ำอธิปไตยของไทย และเป็นไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศมากที่สุด ซึ่งในที่สุดมันก็อาจมีพื้นที่ทับซ้อนที่เหลืออยู่บ้าง แต่จะไม่กว้างเหมือนตอนนี้ 26,000 ตารางกิโลเมตร คือโดยปกติหากมีการกำหนดเส้นที่แตกต่างกันแบบนี้ มันก็ควรเอามาแบกัน แล้วเจรจากันใช่หรือไม่ อันนี้คือโดยปกติทั่วไป แต่กรณีดังกล่าวที่มันไม่ปกติก็คือ กัมพูชาคุณทะลึ่งลากเส้นอะไรของคุณมาผ่ากลางเกาะกูดที่เป็นของไทยเรา ส่วนที่เรียกว่า เส้นตามอำเภอใจ ผมก็ไม่ได้เรียกเอง แต่ว่าก่อนหน้านี้นักวิชาการต่างๆ ที่เคยมีการสัมมนากัน เขาก็เรียกเส้นตามอำเภอใจ เส้นนอกกฎหมาย เส้นยโสโอหัง แต่ผมเรียกว่าเส้นฮุบปิโตรเลียม ก็คือเอาเส้นนี้ออกเสียก่อน ยิ่งมีความสนิทแนบแน่นกับผู้นำกัมพูชา ก็พูดกันเป็นการภายในว่า คุณไปทำให้ถูกตามกฎหมายให้มากที่สุดก่อน แล้วหากมีส่วนที่ต่างกับเส้นของไทยเราอย่างไร ตรงนั้นค่อยมาเจรจากัน เพราะฮุน เซน กับฮุน มาเนต ก็ไม่ได้เป็นคนกำหนดเส้นดังกล่าวที่ออกมาในปี พ.ศ. 2515 มันขีดเส้นออกมาตั้งแต่ยุคจอมพลลอน นอล แล้ว
“อันนี้คือแนวทางการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือกัมพูชาไปกำหนดเส้นมาใหม่ ไม่ให้มารุกล้ำเกาะกูดและทะเลอาณาเขตของเกาะกูดเรา และหากเส้นนั้นลากมาสุดทางแล้ว มันยังแตกต่างจากเส้นของเรา หากเหลือเป็นพื้นที่เท่าใด เช่น 5,000 6,000 7,000 ตารางกิโลเมตร ก็มาว่ากัน มาเจรจากัน ผมว่าอันนี้น่าจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุด”
-คิดว่าทำไมรัฐบาลไม่ริเริ่มทำ?
ก็ไม่ทราบ ความในต่างๆ ถ้าผมพูดไป ก็คือการพูดคุยอย่างชนิดไม่เป็นทางการ ผมเข้าใจว่ากระทรวงการต่างประเทศในแต่ละยุคแต่ละสมัย คนที่อยู่ในกรมสนธิสัญญาและกฎหมายมีความสามารถสูงมาก โดยเฉพาะอธิบดี หลายคนผมก็รู้จักเป็นการส่วนตัว เขาก็แบกรับความกดดัน ผมเชื่อว่าฝ่ายการเมืองที่ขึ้นมาบริหารประเทศในแต่ละยุคแต่ละสมัย ใครก็อยากได้ส่วนแบ่งจากปิโตรเลียมขึ้นมาโดยเร็วที่สุด เพราะคิดดูว่ามูลค่ามันเท่าใด อย่างสมมุติที่บอกกันว่ามีมูลค่า 10 ล้านล้านบาท ถ้าแบ่งกันแล้วไทยเราได้ 5 ล้านล้านบาท มันมีผลต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยแค่ไหนอย่างไร ก็มีมาก ใครๆ ก็อยากได้ และใครต่อใครก็รู้ว่าการเจรจาแบ่งเขตแดนไม่ว่าทางบกหรือทางทะเล สามชั่วคนบางทีก็ยังไม่จบ ถ้าจะรอถึงขนาดนั้นเห็นทีจะไม่ไหว
กระทรวงการต่างประเทศก็รับแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองทุกยุคทุกสมัย รับแรงกดดันจากภาคเอกชน รับแรงกดดันจากฝ่ายข้าราชการประจำด้วยกันจากฟากกระทรวงพลังงาน แต่กระทรวงการต่างประเทศก็ยังยืนหยัดว่ายังไง ต้องเอาเรื่องเขตแดนด้วย ในที่สุดมันก็เลยออกมาเป็นครึ่งๆ คนละครึ่ง คือกระทรวงการต่างประเทศบอก ถ้าจะเจรจากันเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์โดยไม่คุยเรื่องเขตแดน ก็ได้ เอาข้างล่างก็แล้วกัน แต่ข้างบนที่มายุ่งกับเกาะกูดของเรา เพื่อความสบายใจต้องเจรจากันให้จบก่อน แล้วก็ทำไปพร้อมกัน ซึ่งการทำไปพร้อมกันก็อาจจะได้ แต่ผมก็มองว่ามันยาก
วันก่อนนายกรัฐมนตรีแถลงข่าวว่า ยกเลิก MOU 2544 แล้วได้อะไร ซึ่งนายกฯ อาจมองว่ายกเลิกไปแล้วไม่ได้อะไร ก็คือจะเดินหน้าต่อ ก็เป็นสิทธิของนายกฯ ในฐานะเป็นนายกรัฐมนตรีและ ครม. และต่อไปคงเป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภา หากมีข้อตกลงอะไรที่ต้องไปขอมติจากที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งผมก็ใช้สิทธิในฐานะประชาชน จากเมื่อก่อนอภิปรายในฐานะ สว. ตอนนี้ก็ในฐานะประชาชน ผมก็มีความเห็นว่า MOU 2544 ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ที่เคยได้เขียนบทความเรื่องนี้ออกมาแล้ว ก็สุดแท้แต่รัฐบาลจะพิจารณา
หากไม่เลิก MOU 2544 เราได้อะไร เราเสียอะไร
"คำนูณ" กล่าวว่า แต่อยากตั้งประเด็นว่า "หากไม่เลิก MOU 2544 เราได้อะไร เราเสียอะไร" ผมคิดแล้วก็พบว่าได้ 2 เสีย 3
...ได้ที่หนึ่งคือ ได้ส่วนแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียมในพื้นที่ใต้เส้นแบ่ง 11 ที่จะเจรจากับกัมพูชาในขอบเขตสันฐาน อันนี้ได้แน่ๆ จะได้ทันทีหรือเกือบจะทันที ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการ หากจะคิดเป็นเงินเช่น ห้าล้านล้านบาท ที่อาจเป็นเฉพาะปิโตรเลียม อันนี้ยังไม่นับถึงข่าวที่ว่าจะมีการลงทุน ที่จะทำให้ภาพรวมทางเศรษฐกิจเติบโตอีก ก็ถือว่ามหาศาลพอสมควร
ส่วนได้อันที่สองคือ การที่จะต้องเจรจาเรื่องเขตแดนควบคู่กันไปด้วย เราก็คงได้เส้นใหม่ ที่เป็นเส้นใหม่ที่น่าจะดีกว่าเดิม มองในแง่ดีของเราก็คือ เราก็จะเกิดความสบายใจ จะไม่มีเส้น A-S-P เส้นของกัมพูชา ค.ศ. 1972 มารกสายตาหรือมาสร้างความสงสัยในเรื่องเกาะกูด เรื่องทะเลอาณาเขตของเกาะกูดอีกต่อไป แต่การได้ข้อที่สอง เป็นเพื่อความสบายใจเท่านั้น แต่ในทางกฎหมายระหว่างประเทศ ในทางข้อเท็จจริง กัมพูชาเขาไม่มีประตูสู้อยู่แล้ว แต่เราไปเอามาบรรจุไว้เพื่อให้เป็นเงื่อนไขกันและกัน เพราะเราเองในเขตพื้นที่สีเหลือง เราก็อยากได้ปิโตรเลียมเหมือนกัน ได้ที่สองของเรา กัมพูชาเขาเสีย แต่เป็นการเสียในสิ่งที่เขาไม่มีสิทธิ์จะได้อยู่แล้ว ผมยกตัวอย่างแบบนี้ สมมุติเราบ้านติดกัน มีสนามหญ้าหน้าบ้าน แต่เราไม่ได้ล้อมรั้ว เราก็มีหลักเขตอะไรของเรา แต่วันดีคืนดี เกิดผมไปอ้างสิทธิสนามหญ้าหน้าบ้านคุณครึ่งหนึ่ง คุณเป็นคนรักสงบรักสันติ ก็บอกว่าเรามาเจรจากัน แล้วเราเอาเขตที่คุณอ้างสิทธิกับเขตที่ผมอ้างสิทธิมาเจรจากัน สรุปแบ่งครึ่งกัน แล้วถามว่าใครได้ใครเสีย
-ผมก็เสียล้านเปอร์เซ็นต์?
อันนี้อาจไม่ใช่การยกตัวอย่างที่เหมาะสำหรับการมาพูดเรื่องการต่างประเทศ แต่เพื่อให้เข้าใจ
ส่วน 3 เสียคืออะไร อันที่หนึ่งคือเราเสียเขตแดนทางทะเลทันที เพราะ MOU 2544 กำหนดให้เจรจาในเขตพื้นที่เหนือเส้น 11 อันนี้เรื่องเขตแดน โอกาสที่เราจะไม่เสียคือกัมพูชายอมตามเส้นของไทยที่ออกมาปี 2516 ถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ก็เป็นไปไม่ได้ การเจรจาก็มีความเป็นไปได้ว่า คงมีเส้นใดเส้นหนึ่งที่อยู่ระหว่างกลางหรือไม่กลางก็ได้ ระหว่างเส้นไทยกับเส้นของกัมพูชา แต่ไม่ว่าเราจะไปยอมตกลงเส้นใด นอกเหนือจากเส้น 2516 ของไทย ก็หมายถึงว่าเราเสียเขตแดนทางทะเล จากเส้นที่เราลากในปี 2516 ไปจำนวนหนึ่ง เฉพาะพื้นที่ส่วนสีส้มที่อยู่บนของเส้น 11 องศาเหนือ อันนี้แน่นอนเสียทันที
..เสียทันที ข้อที่สอง เป็นอีกด้านหนึ่งของเหรียญที่เราบอกว่าเราได้ผลประโยชน์จากส่วนแบ่งของปิโตรเลียม ก็คือเสียในส่วนที่ควรจะเป็นของเรามากกว่านี้ ในกรณีที่เส้นไหล่ทวีปของกัมพูชาเขาลากตามกฎหมายระหว่างประเทศมากกว่านี้ คือเราไปดีใจที่เราได้ตรงนี้ ในพื้นที่สีเหลือง (ตามแผนที่ประกอบ) ที่เราได้ห้าล้านล้านบาท ที่เป็นตัวเลขสมมุติ เพราะเราไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปของเขาทางด้านซ้ายมือ เพราะเท่ากับเราไปยอมรับมาเป็นเส้นกรอบของเขตพัฒนาร่วมทางทิศตะวันตก พอเราไปยอมรับตรงนั้น มันก็ทำให้พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลเมตร ตรงพื้นที่สีเหลืองของแผนที่มันกว้าง แต่ขณะเดียวกันหากกัมพูชา ลากเส้นใหม่ มันอาจไม่ไปถึงแนวทางทิศตะวันตกของแผนที่ มันอาจมาอยู่กลางๆ รูปพรรณสัณฐานใหม่ ซึ่งมันจะไม่ได้เป็นพื้นที่ซึ่งต้องแบ่งถึง 16,000 ตารางกิโลเมตร อาจจะเป็น 7,000 หรือ 5,000 เมื่อพื้นที่ลดน้อยลง เราก็จะแบ่งเขาได้น้อยกว่านี้ มันอาจไม่ใช่ 50-50 เมื่อเราแบ่งเขาน้อยกว่านี้ เราก็ต้องได้มากขึ้น แต่เมื่อเรายอมแบ่งตามกรอบขณะนี้ ที่บอกว่าเราจะได้มหาศาล เราก็ต้องคิดอีกด้านของเหรียญว่า เราก็เสียส่วนที่ควรจะเป็นของเราตามสมควร แต่จะเป็นเท่าไหร่เรายังไม่รู้
ส่วนเสียที่ 3 คืออาจเสียเขตแดนทางทะเลในอนาคต เพราะขณะนี้ตาม MOU 2544 มันไม่มีการเจรจาเรื่องเขตแดนทางทะเลในเขตพื้นที่สีเหลือง คือใต้เส้น 11 ที่หากสมมุติเจรจาตกลงกันได้ ก็จะเป็นเส้นเขตแดนทางทะเลเหนือเส้น 11 คือสีส้ม (ดูแผนที่ประกอบ) แต่พื้นที่ตรงสีเหลือง ใต้เส้น 11 มันไม่มีการเจรจา ถ้าชั่วชีวิตของมนุษยชาติไม่มีการเจรจาเลย เราก็ไม่เสีย แต่ถ้ารุ่นลูกรุ่นหลาน อีกสิบปีร้อยปี หากมีเหตุจำเป็นต้องเจรจา สิ่งนี้ไม่ค่อยมีใครพูด เพราะ MOU44 มันเจรจาเฉพาะผลประโยชน์ใต้ทะเลเท่านั้น แต่ทรัพยากรในเขตที่ยังคลุมเครือว่าเป็นของใครแน่ มันยังมีในน้ำ สัตว์น้ำ สิทธิในการเดินเรือ อะไรต่างๆ สมมุติในอนาคตจำเป็นต้องเจรจาเขตแดนทางทะเล การที่เราไปยอมรับเอาเส้นของกัมพูชามาเป็นเส้นขอบของเขตแบ่งผลประโยชน์ และการที่กัมพูชาไม่ยอมรับเส้นของเรา มันก็ทำให้เห็นว่าการแบ่งเขตทางทะเลคงจะไม่ใช้สองเส้นนี้ มันก็มีแนวโน้มเป็นเส้นใดเส้นหนึ่งระหว่างสองเส้นนี้ เราก็เสียอีก นี้คือเสียที่สาม
"จากที่ผมกล่าวข้างต้นที่แบ่งออกเป็น 3 ก้อน คือ หนึ่ง-กรรมสิทธิ์ในเกาะกูดว่าเป็นของใคร สอง-เรื่องทรัพยากรปิโตรเลียมในอ่าวไทย เป็นของใครหรือควรจะแบ่งกันอย่างไร สาม-เรื่อง MOU 2544 ซึ่งในข้อที่หนึ่งที่ว่าเกาะกูดเป็นของไทย เราไม่ได้เถียงกันตรงนี้ แต่ต้องลงลึกว่าเกาะกูดเป็นของไทย ไม่ใช่เฉพาะตัวที่เป็นแผ่นดิน แต่ยังมีทะเลอาณาเขตของเกาะกูดด้วย อันนี้คือจุดสำคัญ ไม่เช่นนั้นจะคุยกันไม่รู้เรื่อง"
ส่วนเรื่องทรัพยากรปิโตรเลียม ก็เจรจาไปตามกรอบดังกล่าว แต่ว่าในเมื่อเราเดินหน้ามาถึงขนาดนี้แล้ว ก็ควรจับเข่าคุยกับกัมพูชา เอาเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลให้มันรู้เรื่องเสียก่อนจะดีหรือไม่ มาคุยกัน เอาทั้งเส้นตลอดแนวให้เรียบร้อยก่อนดีกว่าหรือไม่
-ข้อเสนอนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ แต่ก็ไม่แน่หากใช้สัมพันธภาพอันดีคุยกัน?
มันคงเป็นไปไม่ได้แล้วเพราะไปยึดกรอบ MOU 2544 และผู้นำของเราแทบทุกรัฐบาลก็เดินตามแนวนี้ กระทรวงการต่างประเทศก็เดินตามแนวนี้ กัมพูชาก็เก็บบันทึกไว้ ถ้าเราจะไปปรับอะไรมันก็ยากแล้ว
-นายทักษิณเคยไปพูดว่า พลังงานฟอสซิลกำลังจะหมดอายุแล้ว แหล่งพลังงานตรงพื้นที่ดังกล่าวควรรีบนำมาใช้ก่อน เรื่องเขตแดนค่อยไปตกลงกันวันหลัง?
ผมอยู่ในสกุลความคิด ที่ไม่อยากตอบอะไรที่เป็นการฟันธงไป ผมแจกแจงให้เห็นว่า ได้สอง เสียสาม ซึ่งได้หนึ่ง มันได้มหาศาลจริง แต่เมื่อเทียบกับเสียสาม ชั่งน้ำหนักกันแล้วมันคุ้มค่ากันหรือไม่
สำหรับคนบางคนก็อาจตอบว่าคุ้มแน่นอน เพราะมันได้ทันที (พลังงาน) แล้วเรื่องเสียเขตแดนทางทะเลค่อยไปคุยกันอนาคต แต่ว่าอนาคตเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ อาจไม่มีเลย ตลอดอายุมนุษยชาติก็ได้ แต่ห้าล้านล้านบาทหรืออาจมากกว่านี้ มันเห็นๆ เขาก็จะบอกว่ามันคุ้ม
-การมีอยู่ของ MOU 2544 เท่ากับว่าเรายอมรับกลายๆ เส้นของกัมพูชาที่ออกมาปี 2515 ใช่หรือไม่?
ผมพูดเหมือนกระทรวงการต่างประเทศก็แล้วกันว่า เรายอมรับในฐานะที่จะต้องเอามาเจรจากัน แต่ไม่ใช่ยอมรับความถูกต้อง อย่ามาว่าผมคลั่งชาติ ผมไม่เคยกล่าวหาว่ายอมรับความถูกต้อง เราไปยอมรับความถูกต้องไม่ได้แต่แค่การยอมรับการคงมีอยู่ มันก็มีผลตามสมควร จะแค่ไหนอย่างไรไม่รู้ แต่เราไปดูคำพิพากษาของศาลโลกปี พ.ศ. 2505 กรณีเขตแดนทางบก กรณีปราสาทเขาพระวิหาร มันก็จะเห็นเค้าลางระดับหนึ่งที่สมควรพิจารณาไว้ ส่วนที่ว่าสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ที่สำคัญที่สุดก็คือ เราไม่ได้ยอมรับความถูกต้องของเส้นเขตแดน กระทรวงการต่างประเทศพูดแบบนี้ แต่ทำไมเราไปยอมรับเส้นเขตแดนของกัมพูชาในแผนที่พื้นที่สีเหลือง คือเราไม่ได้ยอมรับว่าเป็นเส้นเขตแดน แต่เรายอมรับว่ามันเป็นเส้นขอบทางซ้ายมือหรือทิศตะวันตกของเขตพัฒนาร่วม ลองตอบผมด้วยว่าเราเอาฐานอะไรไปยอมรับตรงนั้น
แนะรัฐบาลใช้ความสัมพันธ์อันดี กับผู้นำกัมพูชา คุยแบบไม่เป็นทางการ หาทางออก พื้นที่อ้างสิทธิ-MOU 2544
-สุดท้ายแล้วเรื่อง MOU 2544 ถ้าคุยกันสองประเทศจะสามารถแก้ไขได้หรือไม่?
ถ้าทั้งสองประเทศดำเนินการพูดคุยกัน ผมว่าสามารถทำได้ทั้งนั้น เพราะว่า MOU ก็เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ไม่ได้สูงถึงขั้นเป็นหนังสือสัญญาอะไร แปลเป็นไทยก็คือบันทึกความเข้าใจ เป็นบันทึกที่อาจเห็นว่าจะทำได้มากกว่านี้ มีทางที่ดีมากกว่านี้ ซึ่งถ้าทั้งสองประเทศตกลงกันก็สามารถทำได้ และการลงนามใน MOU ตามรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่น่าจะต้องผ่านรัฐสภา ก็เหมือนกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ไปลงนามตอนปี 2544 ก็ไม่ต้องผ่านรัฐสภา เพียงแต่ในรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 190 ต้องผ่าน หากเป็นกรอบการเจรจา แต่ว่าในกรณีที่มีความซีเรียสขนาดนี้ ถ้าจะมี MOU ใหม่ รัฐบาลก็คงน่าจะนำเข้าที่ประชุมรัฐสภาเพื่อความรอบคอบ แม้จะไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 187
-รัฐสภาสามารถทำอะไรได้บ้างกรณี MOU 2544?
ก็ขอเสนอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ก็ทำได้ ก็ทำได้เท่านั้น หรือรัฐบาลเองเล็งเห็นว่าไม่อยากให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่พูดจากันนอกรัฐสภามากเกินไป รัฐบาลจะเสนอขอปรึกษาหารือกับสมาชิกรัฐสภา ก็ทำได้ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่มีการลงมติอะไร ก็สามารถทำได้ หรือหากไม่ทำแล้วจะเดินหน้าต่อไป มันก็ไม่ได้แปลว่ามันจะจบลงง่ายๆ แล้วสมมุติว่ารัฐบาลที่กำลังจะตั้งคณะกรรมการ JTC ไปเจรจากัน มีความคืบหน้าอย่างไร แล้วครม.เห็นชอบด้วย ก็ไม่จบแค่นั้น ก็ต้องมาขอมติจากรัฐสภา ที่ผมก็มองว่าสื่อมวลชนหรือใครหลายคนที่ยังไม่เคยติดตามเรื่องนี้มา แล้วมาติดตามช่วงนี้แต่ยังอาจเข้าใจไม่ครบถ้วน ก็เก็บเป็นข้อมูลไว้ เพราะเรื่องนี้ยังไม่จบง่ายๆ สังคมก็ตื่นตัวในเรื่องนี้มากขึ้น การตัดสินใจของ ครม.และสมาชิกรัฐสภาในอนาคต ผมเชื่อว่าฟังมติพรรคอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องฟังความคิดเห็นประชาชนวงกว้างด้วย ก็เป็นเรื่องที่ดี
-หากมีการยกเลิก MOU 2544 จะทำให้เกิดความตึงเครียดระหว่างสองประเทศอย่างที่คนหวั่นเกรงกันหรือไม่?
มันก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันระหว่างไทยกับกัมพูชา ถ้าเรามองในแง่ดี สำหรับรัฐบาลชุดนี้ต้องถือว่ามีความใกล้ชิดกับผู้นำกัมพูชาค่อนข้างสูง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ผิด การมีความใกล้ชิดกับผู้นำกัมพูชา มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันมา 20-30 ปี มันก็สามารถที่จะมีไดอะล็อก มีแมสเสจถึงกันได้ว่าการหาทางแก้ปัญหานี้ นอกจากเดินหน้าต่อไปตามกรอบเดิมแล้ว มันมีหนทางใดที่ดีกว่าหรือไม่ ที่จะทำให้ปมประเด็นปัญหาต่างๆ สามารถลุล่วงไปได้มากกว่าเดิม ก็สามารถพูดคุยกันได้ โดยที่อาจไม่ใช่การเจรจาหรือตกลงกันอย่างเป็นทางการ เพราะว่าในเรื่่องการต่างประเทศ มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ไม่เคยพูดจากันเลย แล้วมานั่งบนโต๊ะเจรจา มันก็คงต้องมีไดอะล็อก มีการพูดคุยกันอยู่ตามสมควร เพราะฉะนั้นความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างผู้นำสองประเทศ มันก็เป็นฐานอันดี และความคิดเห็นของประชาชนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประชาชนธรรมดา สื่อมวลชน สมาชิกรัฐสภา ก็สามารถเป็นข้ออ้างอิงให้กับรัฐบาลนำไปพูดคุยกับผู้นำของประเทศเพื่อนบ้าน หรือในการเจรจาได้
อันที่จริงถ้าเรามองว่าต่างฝ่ายต่างก็รักชาติ แล้วต่างก็ทำหน้าที่ด้วยเหตุผล ด้วยมุมมองของตน แล้วเป็นตัวช่วยซึ่งกันและกัน ผมว่าก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี ดีกว่าที่จะมาประณามหยามเหยียดกันว่าคลั่งชาติ
-MOU 2544 ได้สอง เสียสาม ส่วนตัวแล้วเอาหรือไม่?
ถ้าให้ผมเลือก ผมก็เลือกแนวทางที่ผมเสนอมาตลอดในช่วงล่าสุด คืออยากให้กัมพูชากลับไปลากเส้นมาใหม่ เอาเส้น 2515 ลงเสีย แล้วก็ประกาศเส้นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศใหม่ โดยหากแตกต่างจากเส้นของไทยปี 2516 เราก็มาเจรจากันตรงนั้น
"กรอบของ MOU 2544 ที่ให้เจรจาเรื่องเขตแดนครึ่งหนึ่ง เจรจาเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ครึ่งหนึ่ง ผมยังค่อนข้างไม่เห็นด้วย แต่ควรเอาเรื่องเขตแดนทางทะเลให้ชัดเจน ที่ยอมรับกันได้ทั้งสองประเทศก่อน แล้วที่เห็นต่างกันคือพื้นที่ทับซ้อน แต่สิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลยก็คือการเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเดียว โดยละเว้นที่จะเจรจาเรื่องเขตแดน ซึ่งอันนี้ก็ต้องยอมรับว่าขัดกับ MOU 2544".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'แก้วสรร' แพร่บทความ 'นิติสงคราม' คืออะไร?
นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการอิสระ อดีตรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ออกบทความเรื่อง “นิติสงคราม” คืออะไร???
'ดร.อานนท์' ยก MOU ไทย-มาเลเซีย เทียบ MOU44 ขัดรธน. เป็นโมฆะ การก้าวล่วงพระราชอำนาจ
ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า
อย่าได้ประมาทในธรรม.. “เมื่อใจตรง .. จะตรงใจ”..
เจริญพรสาธุชนผู้มีจิตศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา.. เดินทางกลับมาจากอินเดีย เมื่อ ๗ พ.ย.๒๕๖๗.. ถึงกรุงเทพฯ ๘ พ.ย.๒๕๖๗ หลังจากไปร่วมประชุม “The First Asian Buddhist Summit 2024” ที่นิวเดลี งานนี้จัดโดยกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวของรัฐบาลอินเดีย
'วีระ' จี้รัฐบาลตอบคำถามตรงๆ ต่อประชาชนทำไมไม่กล้ายกเลิก MOU44
นายวีระ สมความคิด ประธานเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน
19 พ.ย. 'มาริษ' ชงตั้งJTC 'รัศม์' ซัดคนบิดเบือนMOU44เป็นพวกไม่หวังดี!
ผู้ช่วย รมต.กต.แจงยังไม่เคยมีการยกเลิก MOU44 - ย้ำ MOU44 เป็นกลไกเจรจารักษาประโยชน์ประเทศที่ดีที่สุด ซัดคนบิดเบือนไม่ปรารถนาดีต่อชาติ เผย กต.เตรียมชง ครม.ตั้ง JTC 19 พ.ย.นี้
ขึ้นต้นก็(เขียน)ผิดแล้ว ! ว่าด้วยเส้น “ละติดจูด” ที่ 11° “E” ในเอกสารแนบท้าย MOU 2544
เขียนและพูดเรื่อง MOU 2544 มาหลายปี หลากมุมมอง ล่าสุดช่วงนี้ก็จำแนกข้อดีข้อเสีย รวมทั้งส่วนที่จะได้และส่วนที่จะเสียหากเจรจาสำเร็จ ล้วนหนัก ๆ ทั้งนั้น .